ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 594อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 599อ่านอรรถกถา 35 / 600อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ฌานวิภังค์ มาติกา

               อรรถกถาฌานวิภังค์               
               วรรณนามาติกา               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในฌานวิภังค์ อันเป็นลำดับต่อจากมัคควิภังค์นั้นดังต่อไปนี้.
               เบื้องต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกา (แม่บท) แห่งสุตตันตภาชนีย์ทั้งสิ้นก่อน.
               ในมาติกาเหล่านั้น คำว่า อิธ เป็นคำแสดงไขถึงคำสั่งสอนอันเป็นจริงโดยอิงอาศัยบุคคล ผู้สมบูรณ์ด้วยความถึงพร้อมในกรณียกิจอันเป็นส่วนเบื้องต้น ซึ่งยังฌานมีประการทั้งปวงให้เกิดขึ้นด้วย ทั้งเป็นการปฏิเสธความเป็นจริงของศาสนาอื่นด้วย. ข้อนี้ สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ฯลฯ ลัทธิอื่นว่างเปล่าจากสมณะ ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า ภิกฺขุ เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ยังฌานเหล่านั้นให้เกิดขึ้น.
               คำว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต นี้ เป็นคำชี้แจงถึงความที่ภิกษุนั้นตั้งมั่นในปาฏิโมกขสังวร.
               คำว่า วิหรติ นี้ เป็นคำอธิบายถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยการอยู่อันสมควรแก่ความเป็นอย่างนั้น.
               คำว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน (แปลว่า ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร) นี้ เป็นการแสดงถึงอุปการธรรมของภิกษุนั้น ซึ่งมีปาฏิโมกขสังวรในเบื้องต้น และมีการประกอบเนืองๆ ในฌานเป็นที่สุด.
               คำว่า อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี (แปลว่า เห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย) นี้ เป็นคำไขถึงความที่ภิกษุนั้น มีความไม่เคลื่อนจากปาฏิโมกข์เป็นธรรมดา.
               คำว่า สมาทาย (แปลว่า สมาทานแล้ว) นี้ เป็นคำแสดงถึงการถือเอาสิกขาบททั้งหลายของภิกษุนั้นโดยไม่เหลือ.
               คำว่า สิกฺขติ นี้ (แปลว่า ประพฤติหรือศึกษาอยู่) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิกขา.
               คำว่า สิกฺขาปเทสุ นี้ (แปลว่า ในสิกขาบททั้งหลาย) เป็นคำแสดงถึงธรรมอันภิกษุนั้นพึงศึกษา.
               คำว่า อินฺทฺริเยสุ นี้ เป็นคำแสดงถึงภูมิ (ภูมิปฏิบัติ) เพราะความที่ภิกษุนั้นมีทวารอันคุ้มครองแล้ว. อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า คำนี้เป็นคำแสดงถึงโอกาสที่บุคคลควรรักษา ดังนี้ก็มี.
               คำว่า คุตฺตทฺวาโร นี้ เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอารักขาอันสำรวมดีแล้วในทวารทั้ง ๖.
               คำว่า โภชเน มตฺตญฺญู (แปลว่า รู้ประมาณในโภชนะ) นี้ เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นมีคุณธรรมมีความสันโดษเป็นต้น.
               คำว่า ปุพฺพรตฺตาปรรตฺตํ ชาคริยานุโยคมนุยุตฺโต (แปลว่าประกอบความเพียรตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม) นี้ เป็นคำแสดงถึงความเป็นการณะของภิกษุนั้น.
               คำว่า สาตจฺจํ เนปกฺกํ (แปลว่า ประกอบความเพียรอันเป็นไปติดต่อและประกอบด้วยปัญญาอันรักษาตน) นี้ เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้กระทำความพยายามให้ติดต่อกันไปด้วยความเพียร ซึ่งสำรวจแล้วด้วยปัญญา.
               คำว่า โพธิปกฺขิกานํ ธมฺมานํ ภาวนานุโยคมนุยุตฺโต (แปลว่าประกอบความเพียรเจริญโพธิปักขิยธรรม) นี้ เป็นคำแสดงถึงความรู้อันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอดด้วยการปฏิบัติของภิกษุนั้น.
               คำว่า โส อภิกฺกนฺเต ฯเปฯ ตุณฺหีภาเว สมฺปชานการี โหติ นี้ (แปลว่า ภิกษุนั้นรู้ชัดอยู่โดยปกติในการก้าวไปข้างหน้า ฯลฯ เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูดและนิ่ง) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยสติสัมปชัญญะในที่ทั้งปวง.
               คำว่า โส วิวิตฺตํ เสนาสนํ ภชติ นี้ (แปลว่า ภิกษุนั้นอาศัยเสนาสนะอันสงัด) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นถือเอาเสนาสนะอันสมควร.
               คำว่า อรญฺญํ ฯเปฯ ปฏิสลฺลานสารูปํ นี้ (แปลว่า ภิกษุนั้นอาศัยเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า ฯลฯ สมควรแก่การหลีกเร้น) เป็นคำแสดงถึงประเภทเสนาสนะอันไม่มีโทษและมีอานิสงส์.
               คำว่า โส อรญฺญคโต วา นี้ (แปลว่า ภิกษุนั้นไปสู่ป่าก็ตาม) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยเสนาสนะมีประการตามที่กล่าวแล้วนั้น.
               คำว่า นิสีทติ นี้ (แปลว่า นั่งอยู่) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอิริยาบถอันสมควรแก่การประกอบความเพียร.
               คำว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา นี้ (แปลว่า ตั้งสติมุ่งต่อกรรมฐาน) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เริ่มประกอบความเพียร.
               ก็คำว่า โส อภิชฺฌํ โลเก ปหาย เป็นต้น (แปลว่า ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก คือขันธ์ ๕ ได้แล้ว) เป็นคำแสดงถึงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ละนิวรณ์ ด้วยการประกอบความเพียรเนืองๆ ในกรรมฐาน.
               คำว่า ตสฺเสว ปหีนนีวรณสฺส วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นต้น (แปลว่า ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้อันทำให้ใจเศร้าหมอง ทำปัญญาให้ทรามได้แล้ว สงัดจากกามทั้งหลาย) เป็นคำแสดงถึงการบรรลุฌานโดยลำดับ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อิธ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ยังฌานให้เกิดขึ้นในศาสนานี้. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุผู้ยังฌานให้เกิดขึ้น พึงชำระศีล ๔ ให้บริสุทธิ์ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต นี้ว่าเป็นศีลหมดจดวิเศษแล้วในปาฏิโมกข์สังวร ในบัดนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงอาชีวปาริสุทธิศีล ด้วยคำว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน เป็นต้น. ย่อมทรงแสดงศีลทั้งสองของภิกษุนั้นโดยไม่เหลือ ด้วยคำว่า สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ นี้. ย่อมทรงแสดงอินทรียสังวร ด้วยคำว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร นี้. ย่อมทรงแสดงปัจจยสันนิสสิตศีล ด้วยคำว่า โภชเน มตฺตญฺญู นี้.
               ย่อมทรงแสดงธรรมทั้งหลายอันมีอุปการะแห่งการเจริญฌานของภิกษุผู้ตั้งอยู่แล้วในศีล ด้วยคำว่า ปุพฺพรตฺตาปรรตฺตํ เป็นต้น. ย่อมทรงแสดงการประกอบด้วยดีในสติสัมปชัญญะโดยการไม่เสื่อมไปแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น และทั้งความไม่เสื่อมสูญแห่งกรรมฐาน ด้วยคำว่า โส อภิกฺกนฺเต เป็นต้น.
               ย่อมทรงแสดงการถือเอาเสนาสนะอันสมควรแก่ภาวนา ด้วยคำว่า โส วิวิตฺตํ เป็นต้น. ย่อมทรงแสดงอิริยาบถอันสมควรแก่ฌาน และการเริ่มเจริญฌานของภิกษุผู้เข้าถึงแล้วซึ่งเสนาสนะนั้น ด้วยคำว่า โส อรญฺญคโต วา เป็นต้น. ย่อมทรงแสดงการละธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ฌาน โดยการเริ่มเจริญฌาน ด้วยคำว่า โส อภิชฺฌํ เป็นต้น. ย่อมแสดงลำดับการบรรลุฌานทั้งหมด ของภิกษุผู้มีธรรมอันเป็นข้าศึกแก่ฌานอันละแล้วอย่างนี้ ด้วยคำว่า โส อิเม ปญฺจ นีวรเณ ปหาย เป็นต้น ฉะนี้แล.

               วรรณนามาติกา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มาติกา จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 594อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 599อ่านอรรถกถา 35 / 600อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=7826&Z=7870
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=8208
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=8208
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :