ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 789อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 795อ่านอรรถกถา 35 / 801อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ญาณวิภังค์ มาติกา

               อรรถกถาญาณวิภังค์               
               อธิบายบทมาติกา               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกา (แม่บท) ไว้ในญาณวิภังค์ในลำดับแห่งปฏิสัมภิทาวิภังค์นั้น ด้วยปริจเฉททั้ง ๑๐ ซึ่งมีแม่บทหมวด ๑ เป็นต้น มีแม่บทหมวด ๑๐ เป็นปริโยสานก่อน โดยนัยมีคำเป็นต้นว่า เอกวเธน ญาณวตฺถุ ดังนี้ (แปลว่า ญาณวัตถุหมวดหนึ่ง) แล้วทำอธิบายโดยลำดับแห่งบททั้งหลายที่พระองค์ทรงตั้งไว้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เอกวิเธน ได้แก่ โดยประการหนึ่งหรือโดยส่วนหนึ่ง. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ญาณวตฺถุ นี้ ชื่อว่าญาณวัตถุ เพราะอรรถว่าญาณนั้นด้วย วัตถุนั้นด้วย มีอยู่แก่สมบัติทั้งหลายมีประการต่างๆ. แม้คำว่า ชื่อว่าวัตถุแห่งญาณ เพราะอรรถว่าเป็นการปรากฏ (โอกาสฏฺเฐน) ดังนี้ก็ชื่อว่า ญาณวัตถุ. แต่ในที่นี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าญาณวัตถุ เพราะอรรถอันมีนัยก่อนเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้นแหละ ในที่สุดแห่งการกำหนดญาณวัตถุหมวดหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยาถาวกวตฺถุวิภาวนาปญฺญา เอวํ เอกวิเธน ญาณวตฺถุ ดังนี้ (แปลว่า ปัญญาที่แสดงเรื่องของวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริงดังกล่าวมานี้ ญาณวัตถุหมวด ๑ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้).
               คำว่า ปญฺจวิญฺญาณา ได้แก่ วิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น.
               บัณฑิตพึงทราบคำทั้งหลาย มีคำว่า น เหตุ เป็นต้น (คำว่า น เหตุ แปลว่า ไม่ชื่อว่าเหตุ) โดยนัยที่กล่าวแล้วในอรรถกถาธัมมสังคหะในหนหลังนั่นแหละ. แต่เมื่อว่าโดยสังเขป (โดยย่อ) แล้ว คำใดที่จะพึงกล่าวในที่นี้ คำนั้นจักแจ่มแจ้งในวาระแห่งนิทเทส.
               อนึ่ง ในแม่บทญาณวัตถุหมวดหนึ่งนี้ ฉันใด แม้ในบทแห่งทุกมาติกาเป็นต้น ก็ฉันนั้น คือว่าคำใดที่ข้าพเจ้าจะพึงกล่าว คำนั้นก็จักแจ่มแจ้งในนิทเทสวาระนั้นนั่นแหละ. ก็บัณฑิตพึงทราบคำอย่างนี้ ในแม่บทแห่งญาณวิภังค์นี้ สักว่าเป็นเครื่องกำหนดซึ่งบทตั้ง.
               จริงอยู่ ในญาณวิภังค์นี้ พระผู้มีภาคเจ้าทรงตั้งมาติกา (แม่บท) แห่งธรรมหมวดที่หนึ่ง มี ๗๘ บท โดยแยกออกเป็น ๒ โดยย่อ คือ ด้วยสามารถแห่งธัมมสังคหมาติกา มีคำว่า (วิญญาณ ๕) เป็น นเหตุ เป็น อเหตุกะ เป็นต้นก่อน และด้วยสามารถแห่งธรรมมิใช่แม่บท มีคำว่า (วิญญาณ ๕) เป็นอนิจจะ เป็นชราภิภูตะเป็นต้น.
               สำหรับทุกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๒ ด้วยทุกะ มี ๓๕ หมวดซึ่งสมควรแก่ธรรมหมวด ๒
               ติกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๓ มี ๘๘ หมวด คือ
               พาหิรติกะ ๔ หมวด มีคำว่า จินฺตามยาปญฺญา เป็นต้น อันสมควรแก่ธรรมหมวด ๓ มาติกาติกะ ๑๔ หมวด ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งอนิยมิตปัญญา (ปัญญาอันไม่แน่นอน) มีคำว่า วิปากาปญฺญา เป็นต้น ด้วยบท ๑๓ บท ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งนิยมิตปัญญา (ปัญญาอันแน่นอน) อันเป็นบทที่หนึ่งในวิตักกติกะด้วยบท ๗ บท ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งปัญญาอันแน่นอน อันเป็นบทที่ ๒ ด้วยบท ๑๒ บท ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งปัญญาอันแน่นอน อันเป็นบทที่ ๓ ด้วยบท ๑๓ บท ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งปัญญาอันแน่นอน อันเป็นบทที่หนึ่งในปีติติกะ ด้วยบท ๑๒ บท ที่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งปัญญาอันแน่นอน อันเป็นบทที่ ๒ และที่ ๓ ในปีติติกะนั่นแหละ.
               ก็จตุกกมาติกา ทรงตั้งไว้โดยหมวด ๔ มี ๒๑ บท มีคำว่า กมฺมสฺสกตญฺญาณํ เป็นต้น.
               ปัญจกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๕ มี ๒ หมวด.
               ฉักกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๖ มี ๑ หมวด.
               สัตตกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๗ มี ๑๑ หมวด ที่ตรัสไว้โดยย่ออย่างนี้ว่า "สตฺตสตฺตติ ญาณวตฺถุ" (แปลว่า ญาณวัตถุ ๗๗) ดังนี้.
               อัฏฐมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๘ มี ๑ หมวด.
               นวกมาติกา ทรงตั้งไว้หมวดละ ๙ มี ๑ หมวด.
               ทสกมาติกา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้หมวดละ ๑๐ มีเพียงหมวดเดียวเท่านั้นซึ่งมีคำว่า "ทส ตถาคตสฺส ตถาคตพลานิ" ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ๑๐ เป็นคำกำหนดจำนวน.
               คำว่า ตถาคตสฺส (แปลว่า ของพระตถาคต) ได้แก่ พระฤาษีทั้งหลายในปางก่อน มีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เป็นต้น เสด็จมาแล้วฉันใด พระตถาคตพระองค์นี้ก็เสด็จมาแล้วฉันนั้น.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเสด็จไปแล้วฉันใด พระตถาคตพระองค์นี้ก็เสด็จไปแล้วฉันนั้น.
               คำว่า ตถาคตพลานิ ได้แก่ กำลังของพระตถาคตนั้น มิได้ทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง. อธิบายว่า กำลังทั้งหลายของพระพุทธเจ้าในปางก่อนผู้เสด็จมาแล้ว ด้วยอุปนิสสัยสมบัติคือบุญ ฉันใด แม้กำลังแห่งพระตถาคตพระองค์นี้ผู้เสด็จมาแล้วก็ฉันนั้น.
               กำลังของพระตถาคตในที่นี้มี ๒ อย่าง คือกำลังของกายอย่างหนึ่ง กำลังของญาณอย่างหนึ่ง.
               ในกำลัง ๒ อย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบกำลังกายของพระตถาคตได้โดยทำนองแห่งตระกูลของช้างทีเดียว.

               ว่าด้วยกำลังกายของพระตถาคต               
                         กาฬาวกญฺจ คงฺเคยฺย  ปณฺฑรํ ตมฺพปิงฺคลํ
                         คนฺธํ มงฺคลเหมญฺจ   อุโปสถํ ฉทฺทนฺติเม ทสาติ
                         อิมานิ หิ ทส หตฺถิกุลานิ.
               แปลว่า สมจริงดังโปราณาจารย์กล่าวไว้ว่า ตระกูลแห่งช้างทั้งหลาย ๑๐ ตระกูลเหล่านี้ คือ
               ๑. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า กาฬาวกะ (กายสีดำ)
               ๒. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า คังเคยยะ (สีน้ำไหล)
               ๓. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า ปัณฑระ (สีขาวดังเขาไกรลาส)
               ๔. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า ตัมพะ (สีทองแดง)
               ๕. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า ปิงคละ (สีเหลืองอ่อน)
               ๖. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า คันธะ (สีไม้กฤษณามีกลิ่นตัวหอม)
               ๗. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า มังคละ (สีนิลอัญชันกิริยาท่าทางงดงาม)
               ๘. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า เหมะ (สีเหลือง)
               ๙. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า อุโบสถ (สีทองคำ)
               ๑๐. ตระกูลแห่งช้าง ชื่อว่า ฉัททันตะ (สีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง ปากและเท้าแดง)
               บรรดาตระกูลแห่งช้างเหล่านั้น คำว่า ตระกูลแห่งช้างชื่อว่ากาฬาวกะ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นตระกูลช้างธรรมดา (ปกติหตฺถิกุลํ).
               พึงเทียบกำลัง ดังนี้
               กำลังบุรุษ ๑๐ คน เท่ากับกำลังช้างตระกูล กาฬาวกะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง กาฬาวกะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล คังเคยยะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง คังเคยยะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล ปัณฑระ ๑ เชือก
               กำลังช้าง ปัณฑระ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล ตัมพะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง ตัมพะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล ปิงคละ ๑ เชือก
               กำลังช้าง ปิงคละ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล คันธะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง คันธะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล มังคละ ๑ เชือก
               กำลังช้าง มังคละ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล เหมะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง เหมะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล อุโบสถ ๑ เชือก
               กำลังช้าง อุโบสถ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังช้างตระกูล ฉัททันตะ ๑ เชือก
               กำลังช้าง ฉัททันตะ ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังของพระตถาคตพระองค์หนึ่ง
               กำลังนี้นั่นแหละ ท่านเรียกว่า "กำลังของพระโพธิสัตว์พระนามว่านารายณ์๑-" ดังนี้บ้าง. กำลังของพระตถาคตนั้น เท่ากับกำลังของช้างตระกูลกาฬาวกะหนึ่งพันโกฏิเชือก และเท่ากับกำลังของบุรุษ ๑๐ พันโกฏิคน.
               นี้เฉพาะกำลังกายของพระตถาคตพุทธเจ้าก่อน.
____________________________
๑- ในปรมัตถทีปนี อุทานวรรณนา กล่าวว่า กำลังกายของช้างตระกูลฉัทททันต์ ๖๐ ตัว เท่ากับกำลังกายของพระโพธิสัตว์ในปัจฉิมภพ (พระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ๑๐ องค์ คือพระศรีอาริยเมตไตรย พระราม พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พระยามาราธิราช พระยาอสุรินทราหู โสณพราหมณ โตไทยพราหมณ์ ช้างนาฬาคีรี ช้างปาลิไลยกะ

               ว่าด้วยกำลังแห่งญาณของพระตถาคต               
               ก็กำลังคือ พระญาณของพระตถาคตนี้ ทสพลญาณอันมาแล้วในพระบาลีนี้ก่อนนั่นแหละ ก็พันแห่งพระญาณแม้อื่นอีกมิใช่น้อย คือ
               ทสพลญาณ (ญาณอันเป็นกำลัง ๑๐) ในมหาสีหนาทสูตร
               เวสารัชชญาณ ๔
               อกัมปนญาณ (ญาณอันไม่หวั่นไหว) ในบริษัท ๘
               ญาณอันกำหนดรู้ซึ่งกำเนิด ๔
               ญาณอันกำหนดรู้คติ ๕
               ญาณ ๗๓ อันมาแล้วในสังยุตตกะ
               ญาณทั้งหลายมี ๗๗ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               นี้ชื่อว่าญาณพละ (กำลังคือพระญาณ). ญาณพละเท่านั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               จริงอยู่ ญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่ากำลัง เพราะอรรถว่าเป็นภาวะอันไม่หวั่นไหว และเพราะอรรถว่าเป็นการอุปถัมภ์ค้ำชู.
               คำว่า เยหิ พเลหิ สมนฺนาคโต (แปลว่า พระตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด) ได้แก่ พระตถาคตนั้นทรงเข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ด้วยกำลังแห่งพระญาณ ๑๐ เหล่าใด.
               คำว่า อาสภณฺฐานํ ได้แก่ ฐานะอันประเสริฐ ฐานะอันสูงสุด. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อนผู้ยิ่งใหญ่มีอยู่ (พระตถาคต) ทรงเข้าถึงฐานะเหมือนพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนโคอุสภะ (โคจ่าฝูง) ตัวที่เจริญที่สุดในจำนวนโค ๑๐๐ ตัว โควสภะตัวที่เจริญที่สุดในจำนวนโค ๑,๐๐๐ ตัว หรือว่าโคอุสภะตัวที่เจริญที่สุดในจำนวนโคลาน ๑๐๐ ตัว หรือโควสภะตัวที่เจริญสุดในจำนวนโคลาน ๑,๐๐๐ ตัว โคนิสภะเป็นโคผู้อดทนต่ออันตรายทั้งปวง มีสีขาว น่ารัก นำภาระไปได้มาก ไม่หวั่นไหว แม้ด้วยเสียงอสนีบาตตั้ง ๑๐๐ ครั้ง เป็นจ่าฝูงของโคทั้งหมด ในที่นี้ประสงค์เอาโคอุสภะ (โคเผือก) นั้น.
               จริงอยู่ แม้คำว่าโคอุสภะเผือกนี้ ก็เป็นคำเปรียบเทียบซึ่งฐานะอันประเสริฐนั้น. ชื่อว่าอาสภะ ประเสริฐ เพราะอรรถว่าคำนี้เป็นชื่อของโคอุสภะนั้น. คำว่า ฐานะ ได้แก่ ฐานะอันไม่หวั่นไหวของโคอุสภะ ผู้ใช้เท้าทั้ง ๔ ยันแผ่นดิน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาสภะ สูงสุด เพราะอรรถว่าฐานะนี้ ราวกะว่าการดำรงอยู่ของโคผู้เป็นหัวหน้า. เหมือนอย่างว่า โคอุสภะ คือโคนิสภะประกอบด้วยกำลังของโคอุสภะ ใช้เท้าทั้ง ๔ ยันแผ่นดินไว้ ย่อมยืนมั่นคงไม่หวั่นไหวฉันใด แม้พระตถาคตก็ฉันนั้น ประกอบด้วยกำลังของพระตถาคต ๑๐ (ทสพลญาณ) ใช้พระบาทคือเวสารัชชญาณ ๔ (ญาณอันทำความแกล้วกล้า) ยันซึ่งแผ่นดินคือบริษัท ๘ ทรงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยปัจจามิตร อันมีประโยชน์ขัดกันไรๆ ในโลกนี้ทั้งเทวโลก ชื่อว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะอันไม่หวั่นไหว.
               ก็เมื่อทรงดำรงอยู่อย่างนี้ จึงทรงปฏิญาณคือทรงเข้าถึงฐานะความเป็นผู้เลิศประเสริฐนั้นอยู่ ย่อมไม่กล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง และทรงยกฐานะอันเลิศประเสริฐนั้นไว้ในพระองค์. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ ดังนี้ (แปลว่า ทรงปฏิญาณฐานะอันเลิศประเสริฐ).
               คำว่า ปริสาสุ ได้แก่ ในบริษัท ๘.#-
____________________________
#- บริษัท ๘ คือ ขัตติยบริษัท, พราหมณบริษัท, คหบดีบริษัท, สมณบริษัท, จาตุมหาราชิกาบริษัท, ดาวดึงสบริษัท, มารบริษัท, พรหมบริษัท (จากมหาปรินิพพานสูตร)

               คำว่า สีหนาทํ นทติ ได้แก่ ทรงบันลือ คือทรงเปล่งพระสุรเสียงอันองอาจ (หมายความว่า ทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไม่เกรงภัย). อีกอย่างหนึ่ง ทรงเปล่งพระสุรเสียงเช่นกับสีหนาท (คือเช่นกับการบันลือของสีหราช). เนื้อความนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยพระสูตรชื่อว่าสีหนาทสูตร.
               อีกอย่างหนึ่ง สีหะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก สีหะ เพราะอดทนและเพราะการฆ่าฉันใด พระตถาคตก็ฉันนั้น ทรงพระนามว่าสีหะ เพราะอดทนต่อโลกธรรมทั้งหลายได้ และเพราะการฆ่าซึ่งลัทธิอื่นๆ. การแผดเสียงคือการบันลือของสีหะอันกล่าวแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าสีหนาท. ในที่นี้ สีหะผู้ประกอบแล้วด้วยกำลังของสีหะ เป็นผู้แกล้วกล้าในที่ทั้งปวง เป็นผู้มีขนชูชันไปปราศแล้ว ย่อมบันลือสีหนาทฉันใด แม้สีหะคือพระตถาคตก็ฉันนั้น ประกอบแล้วด้วยกำลังของพระตถาคต เป็นผู้แกล้วกล้าในบริษัท ๘ ไม่เป็นผู้มีขนพองสยองเกล้า. ย่อมทรงบันลือซึ่งสีหนาทอันถึงพร้อมแล้วด้วยความงามของเทศนามีวิธีต่างๆ โดยนัยมีคำว่า อิติ รูปํ เป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปริสาสุ สีหนาทํ นทติ (แปลว่า ทรงบันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย) ดังนี้.
               คำว่า พฺรหฺมํ ในข้อว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ นี้ ได้แก่ ประเสริฐ สูงสุดคือบริสุทธิ์แล้ว.
               ก็แลศัพท์ว่า จักกะ (จักกศัพท์) นี้ย่อมปรากฏในอรรถว่าสมบัติ ในลักขณะ ในส่วนแห่งรถคือล้อ ในอิริยาบถ ในทาน ในรัตนะ ในธรรม ในจักรอันคมกล้าเป็นต้น ในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบศัพท์ว่า ธรรมจักร (ล้อรถคือพระธรรม) แล้วพึงยังคำว่า ธรรมจักรนั้นให้แจ่มแจ้ง โดยแยกออกเป็น (ดังนี้).
               จักกะศัพท์นี้ย่อมปรากฏในอรรถว่าสมบัติ (การถึงพร้อม) อันมาแล้วในคำว่า จตฺตารีมานิ ภิกฺเว จกฺกานิ เยหิ สมนฺนาคตานํ เทวมนุสฺสานํ เป็นต้น (แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักร ๔##- เหล่านี้ ย่อมเป็นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ประกอบพร้อมแล้ว ... ย่อมถึงความไพบูลย์อันใหญ่ในโภคะ๓- ทั้งหลาย).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าลักขณะ อันมาแล้วในคำว่า เหฏฺฐา ปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ นี้ (แปลว่า จักรทั้งหลายเกิดขึ้นที่พื้นฝ่าพระบาททั้งสอง).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าส่วนแห่งรถคือล้อ (ล้อรถ) อันมาในคำว่า จกฺกํว วหโต ปทํ นี้ (แปลว่า เพียงดังล้อหมุนไปตามอยู่ซึ่งรอยเท้าแห่งโคพลิพัท).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอิริยาบถ อันมาแล้วในคำว่า จตุจกฺกํ นวทฺวารํ นี้ (แปลว่า ยนต์คือสรีระอันมีล้อ ๔ มีทวาร ๙).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าทาน อันมาแล้วในคำว่า ขาท ภุญฺช มา จ ปมาโท จกฺกํ วตฺตสฺสุ นี้ (แปลว่า ท่านจงเคี้ยว จงบริโภค ก็จงอย่าประมาท ยังจักร (จักรคือทาน) ให้เป็นไป.
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าจักกรัตนะ (รัตนะคือจักร) อันมาแล้วในคำว่า ทิพฺพจกฺกรตนํ ปาตุรโหสิ นี้ (แปลว่า รัตนะคือจักรอันเป็นทิพย์ ปรากฏแล้ว).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าธรรมจักร (จักรคือพระธรรม) อันมาแล้วในคำว่า มยา ปวตฺติตํ จกฺกํ นี้ (แปลว่า จักรคือพระธรรมอันเราให้เป็นไปแล้ว).
               จักกะศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถว่าจักรคมกล้า อันมาแล้วในคำว่า อิจฺฉาหตสฺส โปสสฺส จกฺกํ ภมติ มตฺถเก นี้ (แปลว่า จักรย่อมหมุนไปบนศีรษะของบุรุษผู้ถูกความอยากนำมาแล้ว).
               ย่อมปรากฏในอรรถว่าจักร เครื่องประหารในคำว่า ขุรปริยนฺเตน เจปิ จกฺเกน นี้ (แปลว่า ด้วยจักรมีคมกล้าโดยรอบ) ย่อมปรากฏในอรรถว่า อสนิมณฺฑเล (บริเวณแห่งสายฟ้า) ในคำว่า อสนิจกฺกํ นี้ (แปลว่า ฟ้าผ่า).
____________________________
##- จักร ๔ คือ ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๒. สับปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ ๓. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน. ธรรม ๔ นี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๑/หน้า ๔๑.)
๓- โภคะทั้งหลาย หมายถึงมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ.

               แต่ในที่นี้ จักกะศัพท์ บัณฑิตทราบแล้วว่า จักร คือพระธรรมทั้งหลาย.
               ก็จักร คือพระธรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ
               ๑. ปฏิเวธญาณ (ญาณในการแทงตลอด)
               ๒. เทสนาญาณ (ญาณในเทศนา)
               ใน ๒ อย่างนั้น ปฏิเวธญาณอันนำมาซึ่งอริยผลของตนอันปัญญาอบรมแล้ว. เทสนาญาณอันนำมาซึ่งอริยผลของพระสาวกทั้งหลายซึ่งเพิ่มพูนแล้วด้วยกรุณา.
               บรรดาญาณเหล่านั้น ปฏิเวธญาณ มี ๒ คือ
               ๑. อุปปัชชมานะ (ปฏิเวธญาณอันกำลังเกิดขึ้น)
               ๒. อุปปันนะ (ปฏิเวธญาณอันเกิดขึ้นแล้ว)
               จริงอยู่ ปฏิเวธญาณอันกำลังเกิดขึ้น นับจำเดิมตั้งแต่การออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระพุทธเจ้า จนถึงอรหัตตมรรค. ในขณะแห่งผล ชื่อว่าปฏิเวธญาณอันเกิดขึ้นแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ปฏิเวธญาณชื่อว่าอันกำลังเกิดนับจำเดิมแต่เสด็จอยู่ภพดุสิต จนถึงพระอรหัตมรรค ที่มหาโพธิบัลลังก์. ในขณะแห่งผล ปฏิเวธญาณชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง นับจำเดิมแต่การทรงพยากรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร จนถึงพระอรหัตตมรรค ปฏิเวธญาณชื่อว่าอันกำลังเกิดขึ้น. ในขณะแห่งผล ปฏิเวธญาณชื่อว่าอันเกิดขึ้นแล้ว.
               แม้เทสนาญาณก็มี ๒ คือ
               ๑. ปวัตตมานะ (เทสนาญาณอันกำลังเป็นไป)
               ๒. ปวัตตะ (เทสนาญาณอันเป็นไปแล้ว)
               จริงอยู่ เทสนาญาณนั้นชื่อว่ากำลังเป็นไป นับจำเดิมแต่โสดาปัตติมรรคของพระอัญญาโกณฑัญญะ ในขณะแห่งผล เทสนาญาณชื่อว่าเป็นไปแล้ว.
               ในเทสนาญาณเหล่านั้น ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ เทสนาญาณเป็นโลกิยะ.
               ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้น เป็นโอรสญาณ (ญาณที่เกิดขึ้นในพระอุระ) ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่ทั่วไปกับชนเหล่าอื่น.

               วรรณนากำลัง ๑๐ ของพระตถาคต               
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงกำลังแห่งพระตถาคตที่ทรงตั้งไว้ว่า เยหิ ทสหิ พเลหิ สมนฺนาคโต ตถาคโต อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ ยานิ อาทิโต จ ทส ตถาคตสฺส ตถาคตพลานิ ดังนี้ (แปลว่า พระตถาคตประกอบด้วยกำลัง ๑๐ เหล่าใด จึงทรงปฏิญาณฐานะอันประเสริฐ และกำลังเหล่าใด ชื่อว่ากำลัง ๑๐ ของพระตถาคต จำเดิมแต่ต้น) โดยพิสดาร จึงตรัสคำว่า กตมานิ ทส อิธ ตถาคโต ฐานญฺจ ฐานโต เป็นอาทิ (แปลว่ากำลัง ๑๐ ของพระตถาคตเป็นไฉน คือ พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบธรรมที่เป็นฐานะ โดยความเป็นฐานะเป็นต้น)

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๑               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ฐานญฺจ ฐานโต ได้แก่ ทรงทราบธรรมอันเป็นเหตุ โดยความเป็นเหตุ. ก็เหตุ ย่อมให้ผลตั้งขึ้นในที่นั้น คือย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นไปด้วย เพราะการเข้าไปอาศัย และความเป็นไปในกาลนั้น ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ฐานะ.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบซึ่งฐานะนั้นโดยความเป็นฐานะ และอฐานะโดยความเป็นอฐานะ คือ ย่อมทรงทราบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่าใดๆ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่ธรรมเหล่าใดๆ เพราะอาศัยซึ่งธรรมนั้นๆ อันเป็นฐานะ และทรงทราบว่า ธรรมเหล่าใดๆ มิใช่เหตุ มิใช่ปัจจัยของธรรมเหล่าใดๆ เพราะเข้าไปอาศัยซึ่งธรรมนั้นๆ อันมิใช่ฐานะ ดังนี้.
               คำว่า ยมฺปิ (แปลว่า แม้ใด) ได้แก่ ด้วยญาณใด.
               คำว่า อิทมฺปิ ตถาคตสฺส (แปลว่า แม้ข้อนี้ ก็เป็นกำลังของพระตถาคต) อธิบายว่า ฐานาฐานญาณของพระตถาคตแม้นี้ ชื่อว่าเป็นกำลังของพระตถาคต. บัณฑิตพึงทราบการประกอบในบททั้งปวงอย่างนี้.

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๒               
               คำว่า กมฺมสมาทานํ ได้แก่ กรรมอันเป็นกุศลและอกุศล อันตั้งใจกระทำแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง กรรมนั่นแหละ ชื่อว่ากรรมสมาทาน.
               คำว่า ฐานโส เหตุโส แปลว่า โดยฐานะ โดยเหตุ. ได้แก่ โดยปัจจัยและโดยเหตุ.
               ในคำเหล่านั้น คติ อุปธิ กาลและปโยคะ ชื่อว่าฐานะของวิบาก. กรรม ชื่อว่าเหตุ.

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๓               
               คำว่า สพฺพตฺถคามินึ (แปลว่า ไปสู่ภูมิทั้งปวง) ได้แก่ ไปสู่คติทั้งปวงและไปสู่อคติ.
               คำว่า ปฏิปทํ ได้แก่ ทาง (คือมรรค).
               คำว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ได้แก่ ย่อมทรงทราบสภาวะการปฏิบัติ กล่าวคือเจตนาอันเป็นกุศลและอกุศลโดยไม่วิปริต (ไม่ผิด) แม้ในวัตถุหนึ่ง โดยนัยนี้ว่า ครั้นเมื่อมนุษย์ทั้งหลายแม้มีจำนวนมากฆ่าอยู่ซึ่งสัตว์หนึ่งนั่นแหละ เจตนาของเขาผู้นี้จักไปสู่นิรยะ และเจตนาของผู้นี้จักถึงกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ดังนี้.

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๔               
               คำว่า อเนกธาตุํ ได้แก่ ทรงทราบธาตุมากมายมีจักขุธาตุเป็นต้น หรือกามธาตุเป็นต้น.
               คำว่า นานาธาตุํ ได้แก่ ธาตุนานัปการ (มีประการต่างๆ) เพราะความที่ธาตุเหล่านั้นนั่นแหละมีลักษณะต่างกัน.
               คำว่า โลกํ ได้แก่ โลก คือขันธ์ อายตนะและธาตุ.
               คำว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ได้แก่ ทรงแทงตลอดซึ่งธาตุเหล่านั้นๆ โดยไม่วิปริต.

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๕               
               คำว่า นานาธิมุตฺติกตํ (แปลว่า มีอัธยาศัยต่างๆ กัน) ได้แก่ ทรงทราบซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน คือมีอัธยาศัยอันเลวเป็นต้น.

               วรรณนากำลังของพระตถาคตข้อที่ ๖               
               คำว่า ปรสตฺตานํ (แปลว่า ของสัตว์เหล่าอื่น) ได้แก่ ของสัตว์ผู้เป็นใหญ่.
               คำว่า ปรปุคฺคลานํ (แปลว่า ของบุคคลเหล่าอื่น) ได้แก่ สัตว์ต่ำช้า.
               อีกอย่างหนึ่ง บททั้งสองที่กล่าวมานี้ มีอรรถอย่างเดียวกัน การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้สองอย่างด้วยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่ควรแนะนำ.
               คำว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตํ (แปลว่า ความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์)
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบซึ่งความเป็นไปแห่งสัตว์อื่นๆ และทรงทราบความเสื่อมแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น.

               วรรณนากำลังพระตถาคตข้อที่ ๗               
               คำว่า ฌานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ (แปลว่า แห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ) ได้แก่ ทรงทราบความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกแห่งฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น ... แห่งวิโมกข์ ๘ มีคำว่า รูปารูปานิ ปสฺสติ เป็นต้น ... แห่งสมาธิ ๓ อันเป็นไปกับด้วยวิตกและวิจารเป็นต้น ... แห่งอนุปุพสมาบัติ ๙ มีปฐมฌานสมาบัติเป็นต้น.
               คำว่า สงฺกิเลสํ (แปลว่า ความเศร้าหมอง) ได้แก่ ธรรมอันเป็นส่วนแห่งความเสื่อม.
               คำว่า โวทานํ (แปลว่า ความผ่องแผ้ว) ได้แก่ธรรมอันเป็นส่วนวิเศษ คือฝ่ายดี.
               คำว่า วุฏฺฐานํ (แปลว่า ความออก) ได้แก่ ย่อมออกจากฌานเป็นต้น ด้วยเหตุใด ย่อมทราบซึ่งเหตุนั้น.

               วรรณนากำลังพระตถาคตข้อที่ ๘, ๙, ๑๐               
               คำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสตึ (แปลว่า ความระลึกชาติหนหลัง) ได้แก่ ทรงระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยแล้วในกาลก่อน. การจุติและการอุปบัติ ชื่อว่าจุตูปปาตะ พระองค์ทรงทราบทั้งความตายและความเกิดขึ้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย. คำว่า อาสวานํ ขยํ (แปลว่า ความสิ้นอาสวะ) ได้แก่ พระนิพพานอันดับเสียซึ่งอาสวะ กล่าวคือความสิ้นไปแห่งกามาสวะเป็นต้น. คำว่า อิมานิ (แปลว่า กำลังเหล่านี้) ได้แก่ ญาณ ๑๐ เหล่าใดที่กล่าวแล้วในหนหลังว่าเป็นกำลังของพระตถาคตเหล่านี้ ก็คือญาณ ๑๐ เหล่านั้นแล.
               บัดนี้ บัณฑิตทราบการวรรณนาบทมาโดยลำดับในมาติกานี้อย่างนี้แล้ว พึงทราบอีกว่า
               พระตถาคตย่อมทรงเห็นซึ่งเวไนยสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสาวรณ์ (คือมีกิเลสเป็นเครื่องกั้น) อันเป็นฐานะและอฐานะของสัตว์ผู้จะบรรลุและไม่บรรลุซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยฐานาฐานญาณก่อน เพราะทรงเห็นฐานะคือโลกิยสัมมาทิฏฐิ และทรงเห็นซึ่งความไม่มีฐานะคือนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               ต่อจากนั้น ก็ทรงเห็นซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นมีวิบากเป็นเครื่องกั้นมิให้บรรลุคุณวิเศษ ด้วยกัมมวิปากญาณ (คือญาณรู้ผลของกรรม) เพราะทรงเห็นสัตว์ผู้ปฏิสนธิมาด้วยติเหตุกะ. ย่อมทรงเห็นซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยสัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (คือญาณหยั่งรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง) เพราะทรงเห็นความไม่มีแห่งอนันตริยกรรม. ทรงเห็นคุณวิเศษแห่งความประพฤติ เพื่อแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่สัตว์ผู้ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้นอย่างนี้ ด้วยอเนกธาตุนานาธาตุญาณ (ญาณหยั่งรู้โลกอันเป็นอเนกธาตุและนานาธาตุ) เพราะทรงเห็นความต่างกันแห่งธาตุ.
               ลำดับนั้น ทรงเห็นซึ่งอธิมุตติ (คืออัธยาศัยของสัตว์เหล่านั้น) ได้ ด้วยนานาธิมุตติกตญาณ (ญาณหยั่งรู้อัธยาศัยต่างๆ กัน) จึงมิได้ทรงถือเอาพิธีการเพื่อแสดงธรรมด้วยอำนาจแห่งอัธยาศัย.
               ต่อจากนั้น ทรงเห็นความหย่อนและความยิ่งแห่งอินทรีย์ เพื่อแสดงธรรมตามสติ ตามกำลังแห่งสัตว์ผู้มีอัธยาศัยที่จะรู้ได้ด้วยอินทริยปโรปริยัตติญาณ เพราะทรงเห็นความที่ศรัทธาเป็นต้น เป็นธรรมแก่กล้าและอ่อน. ก็ถ้าว่า ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์อันสัตว์พึงรู้ได้อย่างนี้เป็นธรรมชาติแก่กล้าไซร้ อินทรีย์เหล่านั้นย่อมเข้าถึงได้เร็วพลัน ด้วยคุณวิเศษแห่งฤทธิ์ เพราะความที่ตนเป็นผู้ชำนาญแล้วในฌานเป็นต้นด้วยญาณในฌานเป็นต้น.
               ก็แลครั้นเข้าถึงแล้ว จึงทรงแสดงธรรมซึ่งความที่สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้มีอัธยาศัยอันเกิดในกาลก่อน ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เพราะอานุภาพแห่งทิพยจักษุ ทรงเห็นอยู่ซึ่งความวิเศษแห่งจิตที่ถึงพร้อมด้วยเจโตปริยญาณ ด้วยอานุภาพแห่งอาสวักขยญาณ จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะสัตว์เหล่านั้นมีความหลงใหลไปปราศแล้ว ด้วยทางอันให้ถึงอาสวักขยญาณ ฉะนั้น โดยลำดับนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสญาณ ๑๐ เหล่านี้ว่าเป็นกำลัง.
               นี้เป็นการวรรณนาเนื้อความในมาติกาก่อน.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ มาติกา จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 789อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 795อ่านอรรถกถา 35 / 801อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=10597&Z=10828
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10004
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10004
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :