ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 849อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 860อ่านอรรถกถา 35 / 908อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ เอกกนิเทศ

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               เนมิตติกตานิทเทส               
               อธิบายการแสดงนิมิต               
               คำว่า นิมิตฺตํ ได้แก่ กายกรรม วจีกรรมอันประกอบพร้อมด้วยการให้ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ชนเหล่าอื่น.
               คำว่า นิมิตฺตกมฺมํ ได้แก่ ความเป็นผู้ฉลาดในการทำนิมิต.
               ในข้อนี้ มีเรื่องดังนี้
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งถือบิณฑบาตเป็นวัตรไปถึงประตูบ้านนายช่างทองผู้อุปัฏฐาก ผู้อันช่างทองถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านต้องการอะไร ดังนี้. เธอจึงนำมือออกจากภายในระหว่างจีวร แล้วได้แสดงอาการ คือการนำมีดไป. ช่างทองทราบลักษณะอาการนั้น แล้วเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นั่นมีดของกระผม ดังนี้ แล้วได้ถวายมีดไป.
               คำว่า โอภาโส ได้แก่ กล่าวถ้อยคำอันเกี่ยวด้วยปัจจัย.
               คำว่า โอภาสกมฺมํ อธิบายว่า ภิกษุเห็นบุคคลผู้เลี้ยงลูกโค จึงถามว่า ลูกโคเหล่านี้เป็นลูกโคนม หรือเป็นลูกโคเปรียง (ตักกโควัจฉา) เมื่อเด็กเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นลูกโคนม ดังนี้ เธอก็จะพูดเป็นนัย อันยังมารดาบิดาของเด็กเลี้ยงโคนั้นให้ทราบ อันเป็นเหตุให้เขาถวายนมเป็นต้น โดยนัยว่า ผิว่า พึงเป็นลูกโคนม แม้ภิกษุทั้งหลายก็พึงได้น้ำนม ดังนี้.
               คำว่า สามนฺตชปฺปา ได้แก่ การกระซิบ คือพูดใกล้.
               ในข้อนี้ บัณฑิตพึงกล่าวถึงเรื่องพระเถระผู้เรียนชาดก.
               ได้ยินว่า พระเถระผู้เรียนชาดกรูปหนึ่ง เป็นผู้ใคร่จะฉันอาหาร เข้าไปสู่บ้านอุปัฏฐายิกา แล้วนั่งอยู่. อุปัฏฐายิกานั้นไม่ประสงค์จะถวายอะไรจึงกล่าวว่า ข้าวสารไม่มี ดังนี้ แล้วไปสู่บ้านของเพื่อนบ้าน เป็นราวกะว่าต้องการจะนำข้าวสารมา. ทีนั้นภิกษุก็เข้าไปภายในห้อง แลดูอยู่ เห็นอ้อยพิงอยู่ที่มุมประตูหน้าต่าง เห็นน้ำอ้อยงบที่ภาชนะ เห็นปลาเค็มในกระจาด เห็นข้าวสารในหม้อใหญ่ เห็นจอกน้ำในหม้อน้ำ แล้วก็ออกมานั่ง.
               หญิงแม่เรือนมาแล้วก็กล่าวว่า เราไม่ได้ข้าวสาร ดังนี้. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสิกา วันนี้ ภิกษาเห็นจักไม่ถึงพร้อม แล้วกล่าวว่า อาตมาได้เห็นนิมิตก่อนนั่นแหละ. หญิงนั้นถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมิตเป็นอย่างไร ดังนี้.
               พระเถระกล่าวว่า อาตมาแลดูอยู่ด้วยคิดว่า เราจักประหารงูอันเห็นแล้วนั้น ซึ่งเป็นราวกะว่าอ้อยที่วางไว้ที่มุมใกล้หน้าต่าง เห็นแผ่นหินราวกะก้อนน้ำอ้อยงบที่วางไว้ในภาชนะ เห็นพังพานงูแผ่ออกแล้ว เพราะถูกขว้างปาด้วยก้อนดิน เช่นกับการผ่าปลาใส่เกลือวางไว้ในกระจาด เห็นฟันของงูนั้นผู้ไล่กัดก้อนดินนั้น เช่นกับข้าวสารในหม้อ ลำดับนั้น เห็นเขฬะอันเจือด้วยพิษออกไปจากปากงูผู้โกรธแล้วนั้น เช่นกับจอกน้ำที่ในหม้อน้ำ ดังนี้.
               หญิงแม่บ้านนั้นถวายอ้อยแล้ว ด้วยคิดว่า เราไม่อาจเพื่อลวงสมณะโล้นได้ ดังนี้ แล้วหุงข้าวถวายพร้อมกับน้ำอ้อยงบในหม้อและปลา ดังนี้
               บัณฑิตพึงทราบการพูดด้วยอาการอย่างนี้ว่า เป็นการพูดใกล้ๆ ดังนี้. คำว่า การพูดแวดล้อม หว่านล้อมโดยประการที่ตนจะได้ อย่างนั้นแล.

               นิปเปสิกตานิทเทส               
               อธิบายการพูดติเตียน               
               คำว่า การด่า ได้แก่ การด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ.
               คำว่า การข่ม ได้แก่ การกล่าวเย้ยหยัน.
               คำว่า การนินทา ได้แก่ การพูดยกโทษขึ้นโดยนัยว่า เขาไม่มีศรัทธา ไม่น่าเลื่อมใส.
               คำว่า การพูดตำหนิโทษ ได้แก่ การยกวาจาขึ้นว่า ท่านอย่าได้กล่าววาจาเช่นนี้ ในที่นี้. การพูดตำหนิโทษอันเป็นไปกับด้วยวัตถุ เป็นไปกับด้วยเหตุ โดยส่วนทั้งปวง เรียกว่าการพูดเหยียดหยาม.
               อีกอย่างหนึ่ง การพูดยกโทษขึ้นอย่างนี้ว่า โอ ท่านทานบดี ไม่ให้อะไรๆ ชื่อว่าติเตียน. การพูดด้วยดีอย่างนี้ว่า ท่านทานบดีใหญ่ ดังนี้ เรียกว่าการพูดเหยียดหยาม.
               คำว่า การพูดเหยียดหยาม ได้แก่การพูดเยาะเย้ยอย่างนี้ว่า ชีวิต (ความเป็นอยู่) ของท่านผู้นี้ กินพืชเป็นอาหารมิใช่หรือ ดังนี้ ชื่อว่าการพูดเยาะเย้ย. ย่อมพูดให้ยิ่งกว่านี้ว่า ท่านทั้งหลายย่อมกล่าวว่าบุคคลนี้มิใช่ทายกเป็นต้น บุคคลใดย่อมให้วาจาแก่บุคคลทั้งปวงตลอดกาลเป็นนิจว่า ไม่มี ดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าพูดเยาะเย้ย หรือเหยียดหยามให้เสียชื่อเสียง.
               การพูดว่า ทานบดีไม่ให้ หรือตำหนิให้เสียชื่อเสียงโดยอาการทั้งปวง ชื่อว่าการพูดให้เสียชื่อเสียงอย่างแรง. การนำเรื่องไปติเตียนจากบ้านโน้นไปสู่บ้านนี้ จากชนบทโน้นไปสู่ชนบทนี้ ว่า บุคคลย่อมประสบ แม้ความกลัวแต่การติเตียนของเรา อย่างนี้ชื่อว่าการนำเรื่องไปเที่ยวติเตียน. การพูดวาจาไพเราะต่อหน้า ในภายหลังพูดนินทา ชื่อว่าการพูดไพเราะต่อหน้านินทาลับหลัง.
               จริงอยู่ บุคคลผู้พูดอย่างนี้ เมื่อไม่อาจแลดูเฉพาะหน้า ย่อมเป็นราวกะการเคี้ยวกินเนื้อในที่ลับหลัง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า พูดไพเราะต่อหน้าลับหลังนินทา ดังนี้.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ นิปฺเปสิกตา ได้แก่ บุคคลนี้ย่อมไม่นำ คือย่อมไม่กล่าวคุณของผู้อื่นอันมีอยู่ในภายในราวกะบุคคลบดคันธชาติ คือบดขยี้คุณของผู้อื่นให้แหลกเป็นจุณ ย่อมเป็นราวกะการแสวงหาคันธชาตินั้น วาจาเช่นนี้ย่อมเป็นวาจาแสวงหาลาภ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า พูดติเตียน (อุบายโกง) ดังนี้.

               ลาเภนลาภังนิชิคิงสนตานิทเทส               
               อธิบายการแลกเปลี่ยนลาภด้วยลาภ               
               การแสวงหา (ด้วยอำนาจแห่งความอยาก) ชื่อว่าการมุ่งลาภสักการะและชื่อเสียง.
               คำว่า อิโต ลทฺธํ ได้แก่ ลาภ สักการะ ชื่อเสียงอันตนได้แล้วจากบ้านนี้.
               คำว่า อมุตฺรา ได้แก่ ในบ้านชื่อโน้น.
               คำว่า เอฏฺฐิ ได้แก่ การปรารถนา. คำว่า คเวฏฐิ ได้แก่ การเสาะหา.
               คำว่า ปริเยฏฺฐิ ได้แก่ การแสวงหาบ่อยๆ. ก็ในเรื่องนี้ บัณฑิตพึงกล่าว เรื่องของภิกษุผู้ให้ภิกษาอันตนได้แล้วๆ จำเดิมแต่ต้น แก่ทารกในตระกูล ในที่นั้นๆ แล้วจึงได้น้ำนมและข้าวยาคูในที่สุด แล้วจึงไป.
               คำว่า เอสนา เป็นต้น เป็นคำไวพจน์ของคำว่าความปรารถนาเป็นต้น เพราะฉะนั้นในที่นี้พึงทราบการประกอบ อย่างนี้ว่า คำว่า เอฏฺฐิ ได้แก่ กิริยาที่หา.
               คำว่า คเวฏฺฐิ ได้แก่ กิริยาที่เที่ยวหา. คำว่า ปริเยฏฺฐิ ได้แก่ กิริยาที่เที่ยวแสวงหาดังนี้.

               เสยยมานนิทเทส               
               อธิบายว่าความสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา               
               คำว่า ชาติยา (แปลว่า โดยชาติ) ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยชาติมีความเป็นกษัตริย์ เป็นต้น.
               คำว่า โคตฺเตน (โดยโคตร) ได้แก่ ด้วยโคตรอันสูงสุด มีโคตมโคตรเป็นต้น.
               คำว่า โกลปุตฺติเยน (โดยความเป็นผู้มีสกุล) ได้แก่ ด้วยความเป็นตระกูลใหญ่.
               คำว่า วณฺณโปกฺขรตาย (โดยความเป็นผู้มีรูปงาม) ได้แก่ โดยความเป็นผู้มีสรีระอันถึงพร้อมด้วยวรรณะ.
               จริงอยู่ สรีระ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกว่า โปกขระ. อธิบายว่า เพราะความที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีรูปงามด้วยวรรณสมบัติ.
               คำว่า ธเนน เป็นต้น (คือโดยทรัพย์ โดยความเป็นใหญ่ โดยหน้าที่การงาน โดยศิลปะ โดยวิทยฐานะเป็นต้น) มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               ในคำว่า มานํ ชปฺเปติ (ย่อมถือตัว คือย่อมยังมานะให้เกิด) เหล่านี้.
               อธิบายว่า ในบรรดาวัตถุเหล่านี้ย่อมให้มานะเป็นไปว่าเราเลิศกว่าเขา คือย่อมกระทำด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้.

               สทิสมานนิทเทส               
               อธิบายความสำคัญตนว่าเสมอเขา               
               ในคำว่า มานํ ชปฺเปติ นี้นั่นแหละ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมให้มานะ (ความสำคัญตน) ว่า เราเป็นผู้เช่นเดียวกับเขา ด้วยวัตถุ (เหตุ) อย่างใดอย่างหนึ่ง. ก็ในนิทเทสแห่งความสำคัญตนว่าเสมอเขานี้ มีเนื้อความแปลกกันโดยอรรถ แต่ในพระบาลีไม่มีการกระทำที่แตกต่างกัน.

               หีนมานนิทเทส               
               อธิบายความสำคัญตนว่าเลวกว่าเขา               
               คำว่า โอมานํ ชปฺเปติ ได้แก่ ยังมานะให้เป็นไปในฝ่ายต่ำ.
               มานะอันลามกอันต่ำช้า ชื่อว่าโอมานะ.
               คำว่า โอมญฺญิตตฺตํ ได้แก่ การแสดงความเป็นไปแห่งอาการ.
               คำว่า หีฬนา ได้แก่ การดูหมิ่นตนเอง (การรังเกียจตนเอง) โดยฐานะทั้งหลายมีโดยชาติเป็นต้น.
               คำว่า โอหีฬนา ได้แก่ การดูถูกอย่างยิ่งเกินเปรียบ.
               คำว่า โอหีฬตตฺตํ ได้แก่ เป็นการแสดงออกแห่งความเป็นไปของบุคคลนั้นนั่นแหละ.
               คำว่า อตฺตุญฺญา ได้แก่ ความเข้าใจตนเองว่าต่ำช้า (ดูถูกตนเอง).
               คำว่า อตฺตาวญฺญา ได้แก่ การเหยียดหยามตน.
               คำว่า อตฺตปริภโว ได้แก่ ความเย้ยหยันตน (การดูแคลน) โดยสำคัญว่า พวกเราต่ำกว่าเขาโดยสมบัติ มีชาติเป็นต้น.
               มานะ ๓ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งวัตถุมีชาติเป็นต้นมิได้อาศัยบุคคล ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ในมานะ ๓ เหล่านั้น มานะหนึ่งๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสำคัญตนว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา แม้ทั้ง ๓. ในมานะเหล่านั้น มานะว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าเขา เป็นมานะแท้จริงของบุคคลผู้เลิศกว่าเขา ส่วนมานะที่เหลือไม่ใช่. มานะว่า เราเสมอเขา เป็นมานะแท้จริงของบุคคลผู้เสมอกับผู้อื่นนั่นแหละ ที่เหลือไม่ใช่. มานะว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา เป็นมานะของบุคคลผู้เลวนั่นแหละ ที่เหลือไม่ใช่.
               บรรดามานะเหล่านั้น ก็คำว่า กตโม เสยฺยสฺส เสยฺโยหมสฺมิ (แปลว่า ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เป็นไฉน?) เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมานะ ๙ อย่าง โดยอาศัยบุคคล. ในมานะเหล่านั้น มานะอย่างละ ๓ ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้หนึ่ง.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ทหติ (แปลว่า ย่อมถือตัว) ได้แก่ ย่อมตั้งไว้.
               คำว่า ตํ นิสฺสาย ได้แก่ อาศัยการถือตัวโดยความเป็นผู้เลิศกว่าเขานั้น.
               ก็มานะในข้อว่า ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ดังนี้ มานะนี้ย่อมเกิดแก่พระราชาทั้งหลายและบรรพชิตทั้งหลาย.
               จริงอยู่ พระราชาย่อมทำมานะนี้ว่า ใครๆ เสมอเรา ด้วยแว่นแคว้น หรือด้วยทรัพย์ หรือด้วยพาหนะ มีอยู่หรือ ดังนี้. แม้บรรพชิตก็ย่อมทำมานะนี้ว่า ใครๆ เช่นกับเรา ด้วยศีลและธุดงค์เป็นต้นมีหรือ ดังนี้.
               แม้มานะว่า ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา ดังนี้ ก็ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นนั่นแหละ.
               จริงอยู่ พระราชาย่อมทำมานะนี้ว่า อะไรๆ เป็นการกระทำที่ต่างกันของเรา กับด้วยพระราชาเหล่าอื่น โดยแว่นแคว้น หรือโดยทรัพย์ หรือโดยพาหนะมีหรือ ดังนี้. แม้บรรพชิตก็ย่อมทำมานะนี้ว่า อะไรๆ เป็นการกระทำที่ต่างกันของเรากับด้วยภิกษุอื่น ด้วยคุณทั้งหลายมีศีลและธุดงค์เป็นต้นหรือ ดังนี้.
               แม้มานะในข้อว่า ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าต่ำกว่าเขา ก็ย่อมเกิดแก่บุคคลเหล่านั้นนั่นแหละ. จริงอยู่ แว่นแคว้น หรือทรัพย์ หรือพาหนะเป็นต้น ย่อมไม่สมบูรณ์แก่พระราชาใด พระราชานั้นย่อมทำเหตุสักว่าอาศัยความสุขอันเป็นโวหารว่าผู้นั้นเป็นราชาของเรา ดังนี้ ให้เป็นมานะว่า เราชื่อว่าเป็นราชาได้อย่างไร ดังนี้.
               แม้บรรพชิตผู้มีลาภสักการะน้อย ย่อมทำมานะอันสักว่าถ้อยคำว่า เป็นพระธรรมกถึก เป็นพหูสูต เป็นมหาเถระนั่นแหละ ให้เป็นมานะนี้ว่า เราชื่อว่าเป็นพระธรรมกถึก หรือเป็นพหูสูต หรือเป็นมหาเถระอย่างไร เพราะลาภสักการะไม่มีแก่เรา ดังนี้.
               มานะว่า ผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขาเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้น.
               จริงอยู่ อำมาตย์ย่อมทำมานะทั้งหลายเหล่านี้ว่า ราชบุรุษอื่น (อำมาตย์) เช่นกับเรา ด้วยแว่นแคว้น หรือโดยโภคะ ยานพาหนะเป็นต้นมีอยู่หรือ ดังนี้. หรือทำมานะว่า การกระทำอันแตกต่างกันของเรากับอำมาตย์เหล่าอื่น มีอยู่หรือ ดังนี้ หรือทำมานะว่า สักว่า ชื่อว่าอำมาตย์นั่นแหละแม้สักว่ารสนิยมในการเคี้ยวกินอาหาร ย่อมไม่มีแก่เรา หรือว่า เราชื่อว่าเป็นอำมาตย์ได้อย่างไร ดังนี้.
               มานะในคำว่า ผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เป็นต้นย่อมเกิดแก่ทาสทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ทาสย่อมทำมานะทั้งหลายเหล่านี้ว่า เราเป็นทาสเพราะมารดาบิดา ชื่อว่าทาสอื่นเสมอเรา มีหรือ คนอื่นไม่สามารถเพื่อเป็นอยู่เพราะอาศัยท้องเป็นเหตุ จึงเป็นทาส ส่วนเราชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่า เพราะมาตามประเพณี หรือว่าทำมานะว่า การทำที่แตกต่างกันของเรากับทาสผู้โน้น ผู้เป็นทาสมาตามประเพณี ผู้เป็นทาสบริสุทธิ์โดยส่วนสอง ดังนี้ หรือว่าทำมานะว่า เราเข้าถึงความเป็นทาส ด้วยสามารถแห่งปากท้อง แต่ตำแหน่งทาสของเราไม่มีตั้งแต่มารดาบิดา เราชื่อว่าเป็นทาสได้อย่างไร ดังนี้. ก็ทาสย่อมทำมานะฉันใด แม้คนเทขยะและคนจัณฑาลเป็นต้น ก็ย่อมทำมานะทั้งหลายเหล่านี้ ฉันนั้นนั่นแหละ.
               อนึ่ง มานะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในข้อว่า ผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เป็นของบุคคลผู้เลิศกว่าเขาเท่านั้น มานะ ๒ นอกนี้ไม่ใช่. มานะว่า ผู้เสมอเขา มีความสำคัญตนว่าเสมอเขา ดังนี้ก็เหมือนกัน มานะ ๒ นอกนี้ไม่ใช่. มานะว่า ผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา ก็เกิดแก่บุคคลผู้เลวนั้นนั่นแหละ มานะ ๒ นอกนี้ไม่ใช่.
               ในมานะเหล่านั้น มานะอันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง เป็นธรรมอันพระอรหัตมรรคพึงฆ่า มานะอันไม่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เป็นธรรมอันโสดาปัตติมรรคพึงฆ่า.
               พระศาสดา ครั้นตรัสมานะทั้งหลายอันเป็นไปกับด้วยวัตถุอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อแสดงมานะซึ่งเกิดขึ้นอันไม่มีวัตถุ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตตฺถ กตโม มาโน (แปลว่า บรรดาคำเหล่านั้น มานะ (ความถือตัว) เป็นไฉน?) เป็นต้น.
               ในนิเทสแห่งอติมานะ (ความดูหมิ่น) พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงถือเอาบุคคลด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้เลิศเป็นต้น แต่ทรงชี้แจงด้วยสามารถแห่งวัตถุมีชาติเป็นต้นนั่นแหละ.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อติมญฺญติ (แปลว่า ย่อมดูหมิ่น) ได้แก่ ย่อมสำคัญตนเลยไปว่า ผู้อื่นเช่นกับเราโดยชาติเป็นต้น ย่อมไม่มี ดังนี้.

               มานาติมานนิทเทส               
               อธิบายความถือตัว ความเย่อหยิ่ง               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โย เอวรูโป อย่างนี้ เพื่อแสดงว่า มานะอันเกิดขึ้นในเบื้องต้นว่า บุคคลใดเป็นผู้เช่นกับเรา แต่มาบัดนี้ เราเป็นผู้ประเสริฐกว่า ผู้นี้ต่ำกว่า ดังนี้ ชื่อว่าความถือตัวและความเย่อหยิ่ง โดยอาศัยมานะว่าผู้อื่นเช่นกับตนในกาลก่อนนั้น บุคคลนี้ย่อมเป็นราวกะบุคคลมีภาระหนักยิ่งกว่าภาระหนัก ดังนี้.
               นิทเทสแห่งโอมานะ (มานะอันลามก) เช่นกับนิทเทสแห่งมานะอันเลว (หีนมานะ) นั่นแหละ. แต่เมื่อว่าโดยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้พอแนะนำได้) ชื่อว่ามานะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้มีความสำคัญว่า เราเป็นคนเลว ดังนี้ มานะนี้ ชื่อว่าโอมานะ. อีกอย่างหนึ่ง ในมานะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มานะนี้ชื่อว่าโอมานะ ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปโดยกระทำตนให้ต่ำอย่างนี้ว่า ท่านมีชาติ แต่ชาติของท่านเหมือนชาติของกา ท่านมีโคตร แต่โคตรของท่านเหมือนโคตรของคนจัณฑาล เสียงของท่านมีอยู่ แต่เสียงของท่านเหมือนเสียงของกา ดังนี้.

               อธิมานนิทเทส               
               อธิบายความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ               
               คำว่า อปฺปตฺเต ปตฺตสญฺญิตา (แปลว่า ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง) ได้แก่ มีความสำคัญว่าถึงสัจจะ ๔ อันตนยังไม่บรรลุว่า บรรลุแล้ว.
               คำว่า อกเต (แปลว่า ในกิจที่ยังไม่ได้ทำ) ได้แก่ มีความสำคัญในกิจที่ตนพึงกระทำ อันมรรค ๔ ยังมิได้กระทำ.
               คำว่า อนธิคเต (แปลว่า...ในธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ) ได้แก่ ยังไม่บรรลุสัจธรรมทั้ง ๔.
               คำว่า อสจฺฉิกเต (แปลว่า ในธรรมที่ตนยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง) ได้แก่ ธรรมอันอรหัตมรรคยังมิได้กระทำให้แจ้ง.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ อธิมาโน ได้แก่ บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ผู้มีความสำคัญว่าตนได้บรรลุธรรมวิเศษ.
               ถามว่า ก็ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนี้ ย่อมเกิดแก่ใคร ย่อมไม่เกิดแก่ใคร.
               ตอบว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก ก่อน.
               จริงอยู่ พระอริยสาวกนั้นมีโสมนัส (ความพอใจ) อันเกิดขึ้นดีแล้วในขณะแห่งการพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ท่านละแล้วและยังมิได้ละทีเดียว ไม่มีการสงสัยในการแทงตลอด (ในปฏิเวธ) ซึ่งเป็นอริยคุณ เพราะฉะนั้น ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดแก่พระโสดาบันเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งความสำคัญว่า เราเป็นพระสกทาคามี เป็นต้น.
               ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้ทุศีล.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลนั้นไม่มีความปรารถนาในการบรรลุอริยคุณเลย. ความสำคัญตนย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้มีศีลผู้มีกรรมฐานอันสละแล้ว ผู้ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ยินดีในการนอนเป็นต้น.
               ก็แต่ว่า ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนั้น ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ไม่ประมาทในกรรมฐาน ผู้กำหนดนามรูป ข้ามความสงสัยได้ด้วยการกำหนดปัจจัย ผู้ยกนามรูปขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลาย ผู้มีความเห็นแจ้ง มีความเพียร.
               อนึ่ง เมื่อมีความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เกิดขึ้นแล้ว บุคคลผู้ได้สมถะอย่างเดียว (สุทธสมถลาภี) หรือผู้ได้วิปัสสนาอย่างเดียว (วิปัสสนาลาภี) ย่อมพักกรรมฐานไว้ในระหว่าง เพราะว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่เห็นความปรากฏเกิดขึ้นแห่งกิเลสสิ้นเวลา ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง จึงเกิดความสำคัญตนว่า เราเป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ดังนี้.
               ส่วนพระโยคีผู้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา เมื่อมีความสำคัญว่าได้บรรลุพระอรหัตเท่านั้น จึงพักกรรมฐานเสีย เพราะว่า กิเลสทั้งหลายอันบุคคลนั้นข่มไว้แล้วด้วยกำลังแห่งสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเธอกำหนดดีแล้วด้วยกำลังแห่งวิปัสสนา ฉะนั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นสิ้น ๖๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง. ความไม่สงสัย (คือไม่มีความสำคัญตน) ย่อมมีแก่พระขีณาสพเท่านั้น.
               พระโยคีผู้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนานั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดขึ้นแห่งกิเลสสิ้นกาลนานอย่างนี้ จึงพักกรรมฐานไว้ในระหว่างเทียว ย่อมสำคัญว่า เราบรรลุพระอรหันต์ ดังนี้ เหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในอุจจตลังกะ เหมือนพระมหาทัตตเถระผู้อยู่ในหังกนกะ และเหมือนพระจูฬสุมเถระผู้อยู่ในเรือนเป็นที่กระทำความเพียร ชื่อว่านิงกโปณณะ ใกล้ภูเขาชื่อจิตตลบรรพต.
               ในข้อนั้น พึงทราบการชี้แจงสักเรื่องหนึ่ง ดังนี้.

               เรื่องพระมหานาคเถระ               
               ได้ยินว่า พระธัมมทินนเถระผู้อาศัยอยู่ในตลังกะรูปหนึ่ง เป็นพระขีณาสพผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ในวันหนึ่ง ท่านนั่งพักในที่พักในเวลากลางวันของตน นึกถึงอาจารย์ของท่านว่า กิจแห่งสมณะของพระมหานาคเถระผู้อาศัยอยู่ในอุจจตลังกะ อาจารย์ของเราถึงที่สุดแล้ว หรือไม่หนอ ดังนี้ เห็นแล้วซึ่งความที่อาจารย์ของตนนั้นยังเป็นปุถุชน และทราบว่า เมื่อเราไม่ไปอยู่อาจารย์ของเราจักกระทำกาลกิริยาด้วยความเป็นปุถุชนนั่นแหละ ดังนี้ จึงเหาะขึ้นไปสู่เวหาสด้วยฤทธิ์ หยั่งลงแล้วในที่ใกล้พระมหานาคเถระซึ่งนั่งพักอยู่ในที่เป็นที่นั่งพักในเวลากลางวัน ไหว้แล้ว แสดงวัตรแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ก็เมื่ออาจารย์ถามว่า ดูก่อนธัมมทินนะผู้มีอายุ เพราะเหตุไร เธอจึงมาในเวลาอันไม่สมควร ดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมาเพื่อจะถามปัญหาขอรับ ดังนี้. ลำดับนั้น เมื่ออาจารย์กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เธอจงถาม เมื่อผมทราบก็จักตอบ ดังนี้ จึงถามปัญหาพันข้อ. พระเถระผู้อาจารย์ไม่ติดอยู่ซึ่งปัญหานั้นอันพระธัมมทินนะถามแล้วๆ ก็กล่าวแก้แล้วๆ.
               ทีนั้นครั้นเมื่อคำอันพระธัมมทินนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ญาณของท่านคมยิ่งนักธรรมนี้ ท่านบรรลุในกาลไร ดังนี้ ท่านก็กล่าวว่า ผู้มีอายุ ในกาลแห่งพรรษา ๖๐ แต่กาลนี้ ดังนี้. พระธัมมทินนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านยังใช้สมาธิอยู่หรือ ดังนี้ พระเถระอาจารย์ตอบว่า ผู้มีอายุ ข้อนี้ไม่หนักใจเลย ดังนี้.
               พระธัมมทินนะจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงนิรมิตช้างเชือกหนึ่งดังนี้. ท่านก็เนรมิตช้างเผือกแล้ว. พระธัมมทินนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ช้างนี้มีหูกาง (ผึ่ง) ออกแล้ว มีหางเหยียดออกแล้ว เอางวงใส่ในปาก ส่งเสียงร้องโกญจนาท (เสียงกึกก้อง) มุ่งหน้าเฉพาะต่อท่านมาอยู่ โดยอาการที่ท่านสร้างมันขึ้นมาอย่างนั้น ดังนี้. พระเถระผู้อาจารย์ ครั้นนิรมิตอย่างนั้นแล้ว เห็นแล้วซึ่งอาการกิริยาเสียงร้องของช้างมาโดยเร็ว ท่านก็ลุกขึ้นเริ่มเพื่อจะหนีไป.
               พระธัมมทินนะผู้เป็นพระขีณาสพ จึงเหยียดมือออกไปจับชายจีวรของพระอาจารย์แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ความกลัวย่อมมีแก่พระขีณาสพด้วยหรือ ดังนี้. พระอาจารย์จึงทราบความที่ตนยังเป็นปุถุชนอยู่ในกาลนั้น จึงกล่าวว่า ดูก่อนธัมมทินนะผู้มีอายุ ท่านจงเป็นที่พึ่งแก่กระผม ดังนี้ แล้วนั่งกระโหย่งใกล้เท้าของพระธัมมทินนะ.
               พระธัมมทินนะเถระกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมาด้วยประสงค์ว่าจักเป็นที่พึ่งแก่ท่าน ขอท่านอย่าได้วิตก ดังนี้ แล้วบอกกรรมฐาน. พระเถระผู้อาจารย์เรียนกรรมฐานแล้วก็ก้าวขึ้นสู่ที่เป็นที่จงกรม ในก้าวที่สามก็บรรลุพระอรหัตผลอันเลิศ ได้ยินว่า พระเถระนี้เดิมท่านเป็นผู้มีโทสจริต.

               อัสมิมานนิทเทส               
               อธิบายความสำคัญว่ามีอัตตา               
               คำว่า รูเป อสฺมีติ มาโน (แปลว่า ความสำคัญในรูป ว่าเป็นตัวเรา) ได้แก่ มีความสำคัญเกิดขึ้นว่า รูปเป็นเรา ดังนี้. คำว่า ฉนฺโท (แปลว่า ความพอใจ) ได้แก่ เป็นผู้มีฉันทะไปตามมานะ (มานะคือความสำคัญว่ามีอัตตา) นั่นแหละ. ความเข้าใจพอใจอันนอนเนื่องอยู่ในรูปว่าเป็นตัวเราก็เหมือนกัน แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.

               มิจฉามานนิทเทส               
               อธิบายความถือตัวผิด               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปาปเกน วา กมฺมายตเนน เป็นต้น.
               การงานของพรานเบ็ด ชาวประมงและผู้ฆ่าสัตว์เป็นต้น ชื่อว่าหน้าที่การงานอันลามก. ความฉลาดเฉียบแหลมในการทำแหและชุดดักปลา และทำหลาวแทงปลาเป็นต้น ชื่อว่าศิลปะอันลามก.
               วิชชา ในการทำร้ายสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิทยฐานะอันลามก. การประกอบพร้อมเฉพาะด้วยเรื่องเล่า มีเรื่องภารตยุทธและเรื่องชิงนางสีดาเป็นต้น ชื่อว่าการศึกษาอันลามก. ความเฉียบแหลมในกาพย์กลอน การฟ้อนรำ การรำพันเป็นต้นอันประกอบด้วยทุพภาษิต ชื่อว่าปฏิภาณอันลามก.
               อัชชศีล (มีความประพฤติอย่างแพะ) โคศีล (การประพฤติอย่างโค) ชื่อว่าศีลอันลามก. ทิฏฐิ ๖๒ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทิฏฐิอันลามก.
               ในนิทเทสแห่งความวิตกถึงญาติ (ความคิดถึงญาติ) เป็นต้น.
               ชื่อว่า คิดถึงญาติ คือมีวิตกอันเกิดขึ้นปรารภญาติทั้งหลาย ด้วยความรักใคร่อันเกี่ยวข้องกันในบ้าน อาศัยกามคุณ ๕ อย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเราเป็นอยู่สบาย มีทรัพย์สมบัติ ดังนี้. แต่ว่าบุคคลนั้นมีความตรึกเป็นไปอย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเรามีศรัทธา มีความเลื่อมใส ถึงความสิ้นไป ถึงความเสื่อมไปแล้ว ดังนี้ ไม่ชื่อว่าตรึกถึงญาติ.
               ความตรึกอันเกิดขึ้นแก่ผู้ยินดีอยู่ว่า ชนบทของเราทั้งหลายมีภิกษาหาได้โดยง่าย มีข้าวกล้าสมบูรณ์ ดังนี้ ด้วยสามารถแห่งความรักอันอาศัยเรือน (เคหสิตเปมํ) ชื่อว่าความตรึกถึงชนบท. แต่ว่า บุคคลมีความตรึกเป็นไปอย่างนี้ว่า มนุษย์ทั้งหลายในชนบทของพวกเรา มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ถึงความสิ้นไป ถึงความเสื่อมไปแล้ว ดังนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าความตรึกถึงชนบท.
               ความตรึกเพื่อความต้องการไม่ให้ตาย หรือว่าความตรึกอันไม่ตาย ชื่อว่าอมรวิตก ความตรึกอันไม่ตายตัว. ในข้อนั้น ความตรึกอันเกี่ยวด้วยความพอใจในการทำสิ่งที่ทำได้โดยยากของผู้ทำทุกรกิริยาโดยตรึกว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นด้วยความเพียรมีการนั่งกระโหย่งเป็นต้น ซึ่งทำจนหมดแรงแล้ว อัตตาย่อมเกิดเป็นสุข ย่อมไม่ตายในภพเบื้องหน้า ดังนี้ ชื่อว่าความตรึกเพื่อความต้องการไม่ตายตัว.
               ก็บุคคลผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น ถูกผู้อื่นถามปัญหาว่า ท่านย่อมกล่าวว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็นต้น ท่านก็จะกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัวว่า สิ่งนี้ย่อมปรากฏแก่เราว่า.
                         เอวนฺติปิ เม โน แปลว่า แม้อย่างนี้ ก็ไม่ใช่.
                         ตถาติปิ เม โน แปลว่า แม้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่.
                         อญฺญถาติปิ เม โน แปลว่า แม้อย่างอื่น ก็ไม่ใช่.
                         โนติปิ เม โน แปลว่า แม้สิ่งที่ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่.
                         โน โนติปิ เม โน แปลว่า แม้สิ่งที่ไม่ใช่ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ ดังนี้.
               ย่อมถึงความสับสน. ความตรึกอันประกอบด้วยทิฏฐิคตะของบุคคลนั้น เปรียบเหมือนปลาไหลโจนลงน้ำไปแล้ว ใครๆ ไม่อาจเพื่อให้ตาย บุคคลผู้จับปลาไหลนั้น ย่อมวิ่งไป ข้างนี้ๆ ก็ไม่สามารถเคลื่อนไปจับมันได้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าความตรึกไม่ตายตัว เพราะอรรถว่าไม่คงที่และเพราะไม่ตั้งมั่นอยู่ในฝ่ายหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความตรึกอันไม่ตายตัวนี้ โดยรวมเอาความตรึกแม้ทั้งสองชนิดนั้น.
               คำว่า ปรานุทฺทยตาปฏิสํยุตฺโต (แปลว่า ความคิดเกี่ยวด้วยความเอ็นดูผู้อื่น) ได้แก่ ความตรึกประกอบด้วยความรักอาศัยเรือนอันเหมาะสมกับความเอ็นดู.
               คำว่า สหนนฺทิ เป็นต้น (แปลว่า มีความรื่นเริงร่วมกัน) ได้แก่ ครั้นเมื่ออุปัฏฐากทั้งหลายมีความยินดีร่าเริงหรือมีความเศร้าโศก เธอก็ย่อมร่าเริงเป็นทวีคูณ หรือย่อมเศร้าโศกทวีคูณร่วมกับด้วยอุปัฏฐากเหล่านั้น เมื่ออุปัฏฐากเหล่านั้นมีความสุขหรือทุกข์ เธอก็จะเป็นผู้มีความสุขทวีคูณ หรือมีทุกข์ทวีคูณ ร่วมกับอุปัฏฐากเหล่านั้น.
               คำว่า อุปฺปนฺเนสุ กิจฺจกรณีเยสุ (แปลว่า เมื่อมีกิจที่พึงทำเกิดขึ้น) ได้แก่ เมื่อบุคคลอื่นเหล่านั้นมีการงานใหญ่น้อยเกิดขึ้นแล้ว.
               คำว่า อตฺตนา วา โยคํ อาปชฺชติ (แปลว่า พยายามทำด้วยตนเอง) ได้แก่ เมื่อภิกษุยังกิจเหล่านั้นๆ ให้สำเร็จอยู่ ย่อมก้าวล่วงพระบัญญัติ (วินัย) ย่อมละเมิดธรรมอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส.
               คำว่า โย ตตฺถ (แปลว่า ในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์เหล่านั้น) ได้แก่ ความตรึกใดอันเป็นเคหสิตมีอยู่ในวิหารอันคลุกคลีกันนั้น หรือว่า ในการละเลยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส. ความตรึกนี้ ชื่อว่าความคิดเกี่ยวด้วยความเอ็นดูผู้อื่น.
               คำว่า ลาภสกฺการสิโลกปฏิสํยุตฺโต (แปลว่า ความคิดเกี่ยวด้วยลาภสักการะและชื่อเสียง) ได้แก่ ความตรึกอันประกอบด้วยความสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ กับการได้ปัจจัย ๔ มีการได้จีวรเป็นต้น กับด้วยสักการะ กับด้วยกิตติศัพท์ (ชื่อเสียง).
               คำว่า อนวญฺญตฺติปฏิสํยุตฺโต (แปลว่า ความคิดด้วยความไม่อยากให้ใครดูหมิ่น) ได้แก่ ความตรึกอันเกิดขึ้นพร้อมกับความปรารถนาไม่ให้ใครดูหมิ่นอย่างนี้ว่า โอหนอ บุคคลอื่นๆ ไม่พึงดูหมิ่นเรา ไม่กล่าวร้ายเรา ไม่พึงพูดเบียดเบียนเรา.
               คำว่า โย ตตฺถ เคหสิโต ได้แก่ เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า บุคคลเหล่าอื่นอย่าดูถูกเรา ดังนี้ ย่อมเป็นผู้อาศัยเรือน กล่าวคือกามคุณ ๕ ชื่อว่ามีวิตกอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ปรากฏชัดแจ้งแล้วแล.

               เอกกนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ เอกกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 849อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 860อ่านอรรถกถา 35 / 908อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=11821&Z=12173
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=11827
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=11827
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :