ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 189อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 36.1 / 302อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์
นิทเทส ๖. สัมปโยควิปปโยคปทนิทเทส

               อรรถกถาสัมปโยควิปปโยคปทนิทเทส               
               บัดนี้ เพื่อจำแนกบท สัมปโยคะ วิปปโยคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำว่า "รูปกฺขนฺโธ" เป็นอาทิ. ในนิทเทสนั้น บทใดย่อมได้ บทใดย่อมไม่ได้ บททั้งหมดนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเพื่อปุจฉา. แต่ในการวิสัชนา บทใดย่อมไม่ได้ บทนั้นพระองค์ปฏิเสธว่า "นตฺถิ" (ไม่มี). การประกอบซึ่งกันและกันของรูปขันธ์ทั้งหลายนั่นแหละ อันเกิดขึ้นในสันดานหนึ่ง ในขณะหนึ่ง อันมีส่วนเสมอด้วยอรูปขันธ์ ๔ นั่นแหละ ย่อมได้จากพระบาลีว่า "จตูหิ สมฺปโยโค จตูหิ วิปฺปโยโค สภาโค วิสภาโค" ดังนี้.
               ก็ชื่อว่าสัมปโยคะ (คือการประกอบ) ของรูปทั้งหลาย กับด้วยรูปหรือด้วยนิพพาน และสัมปโยคะของนิพพานกับด้วยรูป ย่อมไม่มี. โดยทำนองเดียวกัน การประกอบของรูป และนิพพานกับด้วยอรูปขันธ์ทั้งหลาย ก็ย่อมไม่มี เพราะว่า ธรรมเหล่านั้นมีส่วนไม่เสมอกันกับธรรมเหล่านั้น.
               ก็การประกอบอรูปขันธ์ทั้งหลาย กับด้วยรูปหรือนิพพาน ย่อมไม่มีฉันใด การประกอบอรูปขันธ์ทั้งหลาย กับแม้ด้วยอรูปธรรมทั้งหลาย อันมีสันดานแยกกัน มีขณะต่างๆ กัน ก็ไม่มีนั่นแหละ. ด้วยว่า ธรรมแม้เหล่านั้นเป็นวิสภาคะแก่ธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นวิสภาคะโดยสันดานและขณะนั่นแหละ. ก็แต่ความเป็นวิสภาคะนี้ ไม่มีในสังคหนัย (คือนัยที่สงเคราะห์เข้ากันได้) เพราะผิดด้วยอรรถแห่งการสงเคราะห์.
               จริงอยู่ เหตุสักว่าการเข้าถึงซึ่งการนับ จัดเป็นอรรถแห่งการสงเคราะห์. แต่ในสัมปโยคนัย มีอยู่. ก็เพราะลักษณะแห่งความเกิดขึ้นเป็นต้น เป็นอรรถแห่งสัมปโยคะ ฉะนั้น ความเป็นวิสภาคะนั้นจึงไม่ประกอบลักษณะแห่งสัมปโยคะในที่นี้แม้ด้วยธรรมหนึ่งแห่งบทใดอย่างนี้ เพื่อปุจฉาซึ่งบทนั้นแม้กระทำการสงเคราะห์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ปฏิเสธว่า "ไม่มี" ธรรมของบทใด ย่อมประกอบลักษณะแห่งวิปปโยคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงวิปปโยคะของธรรมบทนั้น.
               ก็บทเหล่าใดย่อมแสดงถึงมิสสกธรรมทั้งหลาย อันไม่เป็นวิปปยุตด้วยธาตุแม้หนึ่งในวิญญาณธาตุ ๗ ด้วยรูปหรือด้วยนิพพาน บทเหล่านั้นแม้โดยประการทั้งปวง ย่อมไม่ประกอบไว้ในนิทเทสนี้ เพราะฉะนั้น บทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงไม่ถือเอา.
               พึงทราบอุทานแห่งบทเหล่านั้น ดังนี้
                         "ธมฺมายตนํธมฺมธาตุ   ทุกฺขสจฺจญฺจ ชีวิตํ
                         สฬายตนํ นามรูปํ      จตฺตาโร จ มหาภวา.
                         ชาติ ชรา จ มรณํ       ติเกเสกูนวีสติ
                         โคจฺฉเกสุ จ ปญฺญาส     อฏฺฐ จูฬนฺตเร ปทา.
                         มหนฺตเร ปณฺณรฺส      อฏฺฐารส ตโต ปเร
                         เตวีสปทสตํ เอตํ         สมฺปโยเค น ลพฺภติ".
               แปลว่า ธัมมายตนะ ๑ ธัมมธาตุ ๑ ทุกขสัจจะ ๑ ชีวิต ๑ สฬายตนะ ๑ นามรูป ๑ ภพใหญ่ ๔ (คืออุปปัตติภวะ กามภวะ สัญญีภวะ ปัญจโวการภวะ) ชาติ ชรา มรณะในติกะ ๑๙ บท ในโคจฉกะ ๕๐ บท ในจูฬันตรทุกะ ๘ บท ในมหันตรทุกะ ๑๕ บท ต่อจากนั้นอีก ๑๘ บท รวมเป็น ๑๓๒ บท บทเหล่านั้นไม่ได้ในสัมปโยคะ.
               จริงอยู่ ธัมมายตนะอันใครๆ ไม่อาจกล่าวว่า "สัมปยุต" แม้ด้วยวิญญาณ ไม่นับเนื่องในนิทเทสนั้น เพราะความที่ธัมมายตนะเหล่านั้นเป็นสภาพเจือด้วยรูปและนิพพาน. ก็เพราะในนิทเทสนี้ ธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นสัมปยุตด้วยวิญญาณ ฉะนั้น จึงไม่อาจเพื่อกล่าวว่าเป็นวิปปยุต.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้นั่นแหละ.
               บทเหล่านั้นแม้ในที่ทั้งปวง ย่อมไม่ประกอบกันด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น บทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงถือเอาในที่นี้. บทที่เหลือมีขันธ์เป็นต้น ย่อมประกอบกันได้ ฉะนั้น พระองค์จึงถือเอาบทเหล่านั้นทำปัญหาและวิสัชนา ด้วยสามารถแยกแต่ละบทและโดยรวมบทนั้นๆ ไว้.
               บรรดาปัญหาเหล่านั้น ปัญหาที่ ๑ บทว่า "เอเกนายตเนน" ได้แก่ ไม่ประกอบด้วยมนายตนะ.
               บทว่า "เกหิจิ" ได้แก่ ไม่ประกอบด้วยเวทนา สัญญา สังขาร อันนับเนื่องด้วยธัมมายตนะและธัมมธาตุ.
               ในปัญหาที่ ๒ บทว่า "ตีหิ" ได้แก่ ด้วยขันธ์ที่เหลือทั้งหลาย ยกเว้นขันธ์ที่ถามแล้วและถามแล้ว. สองบทว่า "เกหิจิ สมฺปยุตฺโต" ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัมปยุตด้วยสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์. แม้ขันธ์นอกนี้ ยกเว้นตัวเองแล้วก็สัมปยุตด้วยขันธ์นอกนี้ได้.
               สองบทว่า "เกหิจิ วิปฺปยุตฺโต" ได้แก่ (ไม่ประกอบ) ด้วยรูปและนิพพาน. อรูปในธัมมายตนะและธัมมธาตุ พึงเห็นในการไม่ประกอบด้วยรูป และรูปก็พึงเห็นในการไม่ประกอบด้วยอรูปในบททั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
               ในปัญหาที่ ๓ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               ในปัญหาที่ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสคำว่า "กตีหิ ขนฺเธหิ" เป็นอาทิ แต่ตรัสว่า "สมฺปยุตฺตํ" และคำว่า "นตฺถิ" ดังนี้. บทนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้น.
               ในปัญหาทั้งหลายอันมีรูปอย่างนี้แม้ข้างหน้าก็นัยนี้นั่นแหละ. พระบาลีข้างหน้าทรงย่อไว้ เพราะแสดงโดยสรุปไว้ในปัญหาต้น. บัณฑิตพึงทราบการประกอบเนื้อความในบททั้งปวงโดยนัยนี้. ก็แต่ในที่ใด ปัญหายังไม่ปรากฏ ข้าพเจ้าจักทำปัญหานั้นให้ปรากฏเป็นไปในที่นั้นนั่นแหละ.
               สองบทว่า "โสฬสหิ ธาตูหิ" อธิบายว่า จักขุวิญญาณธาตุ ยกเว้นตัวเองก่อนแล้ว ไม่ประกอบด้วยวิญญาณธาตุ ๖ และรูปธาตุ ๑๐. แม้ในธาตุที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้นั่นแหละ.
               สองบทว่า "ตีหิ ขนฺเธหิ" ได้แก่ (สัมปยุต) ด้วยขันธ์ที่เหลือทั้งหลาย ยกเว้นสังขารขันธ์.
               สองบทว่า "เอกาย ธาตุยา" ได้แก่ ด้วยมโนวิญญาณธาตุ. เพราะว่า สัมปโยคะของสมุทัยและมรรคด้วยธาตุอื่น ย่อมไม่มี.
               สองบทว่า "เอเกน ขนฺเธน" ได้แก่ ด้วยสังขารขันธ์.
               บทว่า "เอเกนายตเนน" ได้แก่ ด้วยธัมมายตนะ.
               สองบทว่า "เอกาย ธาตุยา" ได้แก่ ด้วยธัมมธาตุ. เพราะบรรดาสัจจะเหล่านั้น สัจจะ ๒ สัมปยุตได้ด้วยธัมมธาตุบางอย่าง.
               ในปัญหาว่าด้วยสุขินทรีย์เป็นต้น บทว่า "ตีหิ" ได้แก่ สัมปยุตด้วยขันธ์ คือสัญญา สังขารและวิญญาณ.
               สองบทว่า "เอกาย ธาตุยา" ได้แก่ (สัมปยุต) ด้วยกายวิญญาณธาตุและมโนวิญญาณธาตุ.๑-
               สองบทว่า "ฉหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ไม่ประกอบด้วยวิญญาณธาตุทั้งหลาย ยกเว้นกายวิญญาณธาตุ.
               ในปัญหาว่าด้วยรูปภพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "น เกหิจิ" ดังนี้ เพราะความที่อรูปขันธ์ และอรูปายตนะแม้ทั้งหมดมีอยู่. แต่ตรัสว่า "ตีหิ ธาตูหิ วิปฺปยุตฺโต"๒- ดังนี้ เพราะความที่ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณธาตุทั้งหลาย ไม่มีอยู่.
____________________________
๑- คำว่า ด้วยมโนวิญญาณธาตุ ไม่น่าจะมี เพราะบาลีว่า "เอกาย ธาตุยา" แปลว่า สัมปยุตด้วยธาตุ ๑ และธาตุหนึ่งในที่นี้ ได้แก่ กายวิญญาณธาตุเท่านั้น.
๒- ในอรรถกถาแห่งธาตุกถาบาลี ตอนสัปโยควิปปโยคปทวรรณนานี้ หน้า ๘๕ บรรทัดที่ ๖ นับลงว่า "อรูปภวปณฺเห ฆานชิวหากายวิญญาณธาตูนํ ปน นตฺถิตาย ตีหิ ธาตูหิ วิปฺปยุตฺโตติ วุตฺตํ" แปลแล้วไม่ตรงสภาวะ แต่ในบาลีอรรถกถาของพม่า ไม่มีคำว่า "อรูปภวปญฺเห" ซึ่งถ้าแปลตามบาลีอรรถกถาพม่าแล้วตรงกับสภาวะ ในที่นี้จึงแปลตามบาลีอรรถกถาพม่า โดยตัดคำว่า "อรูปภวปญฺเห" ออก.

               ในปัญหาว่าด้วยอธิโมกข์ สองบทว่า "ทฺวีหิ ธาตูหิ" ได้แก่ สัมปยุตด้วยมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ. บทว่า "ปณฺณรสหิ" ได้แก่ วิปปยุตด้วยรูปธาตุ ๑๐ ที่เหลือ และวิญญาณธาตุ ๕ มีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น.
               ในปัญหาว่าด้วยกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธสัมปโยคะ เพราะความที่ขันธ์แม้ทั้ง ๔ เป็นภาวะอันกุศลทั้งหลายถือเอาแล้ว.
               ในปัญหาว่าด้วยเวทนาติกะ สองบทว่า "เอเกน ขนฺเธน" ได้แก่ ด้วยเวทนาขันธ์เท่านั้น.
               บทว่า "ปณฺณรสหิ" ได้แก่ วิปปยุตด้วยจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ#- มโนธาตุและรูปธาตุทั้งหลาย.
____________________________
#- อรรถกถาบาลีหน้า ๒๑ บรรทัดที่ ๑๒ นับลงว่า ปณฺณรสหีติ จกขุโสตฆานชิวหากายวิญฺญาณธาตุ มโนธาตูหิ เจว รูปธาตูหิ จ. แปลแล้วได้ธาตุเกินกว่า ๑๕ ตรวจดูบาลีอรรถกถาของพม่า ไม่มีคำว่า กาย หน้าคำว่าวิญญาณธาตุ ซึ่งเมื่อแปลตามบาลีอรรถกถาของพม่าแล้วได้ครบ ๑๕ ถูกต้องตามสภาวะ.

               บทว่า "เอกาทสหิ" ได้แก่ ด้วยรูปธาตุทั้งหลาย (คือโอฬาริกธาตุ ๑๐) กับกายวิญญาณธาตุ ๑.
               ในปัญหาว่าด้วยเนววิปากนวิปากธัมมธรรม (คือธรรมที่มิใช่วิบากและมิใช่เป็นเหตุแห่งวิบาก)
               บทว่า "ปญฺจหิ" ได้แก่ ด้วยปัญจวิญญาณธาตุ ๕ มีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น.
               ในปัญหาว่าด้วยอนุปาทินนุปาทานิยะ (คือสภาวธรรมทั้งหลายที่กรรมไม่ได้ยึดไว้โดยเป็นผล และไม่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน)
               บทว่า "ฉหิ" ได้แก่ ด้วยธาตุ ๖ ยกเว้นมโนวิญญาณธาตุ.
               ในปัญหาว่าด้วยสวิตักกสวิจาระ บทว่า "ปณฺณรสหิ" ได้แก่ ด้วยรูปธาตุทั้งหลายกับปัญจวิญญาณธาตุ.
               ในปัญหาว่าด้วยอวิตักกวิจารมัตตา สองบทว่า "เอเกน ขนฺเธน" เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งสังขารขันธ์.
               จริงอยู่ เว้นวิจารในทุติยฌาน ธรรมที่เหลือ ชื่อว่าไม่มีวิตกมีแต่เพียงวิจาร. ยกเว้นปีติแล้ว ธรรมที่เหลือชื่อว่าเกิดพร้อมกับปีติ. ในปัญหานี้ วิจารไม่สัมปยุตกับด้วยวิจาร ปีติก็ไม่สัมปยุตกับด้วยปีติ เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านี้จึงชื่อว่าสัมปยุตด้วยธรรมบางอย่างในสังขารขันธ์ ธัมมายตนะและธัมมธาตุ.
               บทว่า "โสฬสหิ" ได้แก่ ด้วยธาตุทั้งหลาย ๑๖ ยกเว้นธัมมธาตุและมโนวิญญาณธาตุ.
               ในปัญหาว่าด้วยอวิตักกอวิจาระ สองบทว่า "เอกาย ธาตุยา" ได้แก่ ด้วยมโนธาตุ.
               สุขสหคตธรรมและอุเปกขาสหคตธรรม ตรัสไว้ในเวทนาติกะนั่นแหละ. ทัสสเนนปหาตัพธรรมเป็นต้น เช่นกับด้วยกุศลนั่นแหละ. ปริตตารมณ์เช่นกับด้วยวิปากธรรม.
               สองบทว่า "เอกาย ธาตุยา" ได้แก่ ด้วยธัมมธาตุ.
               บทว่า "เกหิจิ" ความว่า ธรรมเหล่าใดเป็นปริตตารมณ์ไม่มีในบทนั้น วิปปยุตกับด้วยธรรมเหล่านั้น หามิได้. ก็แต่ว่า ธัมมธาตุย่อมแยกปฏิเสธในบทแรกเท่านั้น เพราะความที่ปริตตารมณ์เป็นสภาพอันสงเคราะห์ด้วยขันธ์ทั้ง ๔ ได้ ด้วยสามารถแห่งจิตตุปบาท ๖ ดวง. มหัคคตารมณ์เป็นต้นเป็นเช่นกับธรรมอันเป็นกุศลนั่นแหละ. ในอนุปปันนธรรม (คือสภาวธรรมที่ยังไม่เกิด) ทั้งหลาย.
               สองบทว่า "ปญฺจหิ ธาตูหิ" ได้แก่ วิปปยุตด้วยวิญญาณธาตุ ๕ มีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น.
               ก็แล วิญญาณธาตุ ๕ เหล่านั้นย่อมไม่แยกส่วนที่เกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นอุปปาทิธรรม (คือสภาวธรรมที่สำเร็จแล้วอันจะเกิดขึ้น) โดยส่วนเดียว แม้แต่ส่วนแห่งอุปปันนธรรม (คือธรรมที่กำลังเกิดขึ้น หรือกำลังถึงขณะทั้ง ๓).
               ธรรมที่เป็นปัจจุปปันนารมณ์เป็นต้น เช่นเดียวกับธรรมที่เป็นปริตตารมณ์. ธรรมที่เป็นเหตุเป็นต้นเช่นกับธรรมที่เป็นสมุทัย. ธรรมที่มีสัมปยุตตเหตุ แต่ไม่ใช่เหตุ เช่นกับปีติสหคตธรรม. ปรามาสสัมปยุตตธรรม ก็ฉันนั้น. อนุปาทินนธรรม (คือธรรมอันกรรมมิได้ยึดถือไว้โดยความเป็นผล) เช่นเดียวกับอนุปปันนธรรมนั่นแหละ.
               ธรรมที่เหลือในบททั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสัมปโยควิปปโยคปทนิทเทส.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์ นิทเทส ๖. สัมปโยควิปปโยคปทนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 189อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 36.1 / 302อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=960&Z=1299
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=360
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=360
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :