ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 452อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 7อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
อุทเทสวาร บัญญัติ ๖

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาปัญจปกรณ์               
               อรรถกถาปุคคลปัญญัติปกรณ์               
               อารัมภกถา               
                         พระศาสดา ผู้ทรงประกาศประเภทแห่งธาตุ ครั้นทรงแสดง
               ธาตุกถาปกรณ์ ซึ่งมีอรรถอันละเอียดในสุราลัยเทวโลกจบแล้ว
               พระชินเจ้าผู้เป็นอัครบุคคลในโลก ตรัสคัมภีร์ปุคคลปัญญัติใดไว้
               อันแสดงถึงประเภทแห่งบัญญัติ ในลำดับแห่งธาตุกถานั้น.
                         บัดนี้ ถึงโอกาสแห่งการพรรณนาคัมภีร์ปุคคลปัญญัตินั้นแล้ว
               เพราะฉะนั้นข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จักพรรณนาปกรณ์นั้น
               ท่านทั้งหลายจงมีจิตตั้งมั่น สดับพระสัทธรรมนั้นเทอญ.

               พรรณนามาติกา               
               (อุทเทสวาระ)               
               อุทเทสนี้แห่งบุคคลบัญญัติว่า ฉปญญฺตฺติโย ฯเปฯ ขนฺธปญฺญตฺติ ปุคฺคลปญฺญตฺติ ดังนี้ก่อน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เป็นการกำหนดจำนวน.
               ด้วยคำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะบัญญัติธรรมเหล่าใด ในปกรณ์นี้ จึงทรงแสดงการกำหนดบัญญัติธรรมเหล่านั้น ด้วยการนับโดยสังเขป.
               บทว่า ปญฺญตฺติโย เป็นคำแสดงไขธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดไว้.
               ในบทมาติกาเหล่านั้น การบัญญัติ การแสดง การประกาศในอาคตสถานว่า ตรัสบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ชื่อว่าบัญญัติ. การแต่งตั้ง การวางไว้ ในอาคตสถานว่า เตียงและตั่งที่เขาตกแต่งไปไว้ดีแล้ว ดังนี้ ก็ชื่อว่าบัญญัติ. บัญญัติทั้งสองในที่นี้ย่อมสมควร.
               จริงอยู่ คำว่า ฉปญญฺตฺติโย ได้แก่ การบัญญัติ ๖ การแสดง ๖ การประกาศ ๖ ดังนี้ก็ดี การตั้งไว้ ๖ การวางไว้ ๖ ดังนี้ก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในที่นี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรม (บัญญัติ ๖) เหล่านั้นประกอบด้วยนามบัญญัติบ้าง ย่อมทรงตั้งธรรมเหล่านั้นไว้ โดยโกฏฐาสนั้นๆ บ้าง.
               คำว่า ขันธบัญญัติ เป็นต้น เป็นคำแสดงสรุปบัญญัติเหล่านั้นไว้โดยย่อ.
               บรรดาบัญญัติ ๖ เหล่านั้น การบัญญัติ การแสดง การประกาศ การตั้งไว้ การวางไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นหมวดหมู่กันซึ่งเป็นขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่าขันธบัญญัติ.
               การบัญญัติ การแสดง การประกาศ การตั้งไว้ การวางไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นบ่อเกิดแห่งอายตนะทั้งหลาย ชื่อว่าอายตนบัญญัติ.
               การบัญญัติ... ซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาพทรงไว้ซึ่งเป็นธาตุทั้งหลาย ชื่อว่าธาตุบัญญัติ.
               การบัญญัติ... ซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นจริง ชื่อว่าสัจจบัญญัติ.
               การบัญญัติ... ซึ่งธรรมที่เป็นใหญ่ทั้งหลาย ชื่อว่าอินทริยบัญญัติ.
               การบัญญัติ... ซึ่งบุคคลทั้งหลายว่า เป็นบุคคล ชื่อว่าบุคคลบัญญัติ.

               บัญญัติ ๖ นอกพระบาลี               
               ก็ว่าโดยนัยแห่งอรรถกถาบาลีมุตตกะ คือนอกจากพระบาลี มีบัญญัติ ๖ อื่นอีก คือ
                         ๑. วิชชมานบัญญัติ
                         ๒. อวิชชมานบัญญัติ
                         ๓. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ
                         ๔. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ
                         ๕. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ
                         ๖. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ.
               บรรดาบัญญัติ ๖ เหล่านั้น การบัญญัติธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลอันเป็นของมีอยู่ เป็นอยู่ เกิดตามความเป็นจริงนี้แหละ ด้วยอำนาจแห่งสัจฉิกัตถะและปรมัตถะ ชื่อว่าวิชชมานบัญญัติ.
               อนึ่ง การบัญญัติคำทั้งหลายมีคำว่า หญิง ชายเป็นต้น อันล้วนแต่คำเป็นภาษาของชาวโลก อันไม่มีอยู่ (โดยแท้จริง) ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ.
               แม้บัญญัติ คำว่า สัจจะที่ห้าเป็นต้น หรือคำว่า บุรุษตามปรกติของพวกเดียรถีย์ซึ่งสักว่าเป็นถ้อยคำและวัตถุอันค้นหามิได้ โดยประการทั้งปวงทีเดียว ก็ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ. บัญญัติที่กล่าวนี้ไม่มีใช้ในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือเอาในที่นี้. พึงทราบบัญญัติที่เหลือ (อีก ๔) ด้วยสามารถการกำหนดซึ่งวิชชมานะและอวิชชมานะเหล่านี้ต่อไป.
               จริงอยู่ วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ มีอยู่ (โดยแท้จริง) ส่วนบุคคลไม่มีอยู่ (โดยแท้จริง) ในประโยคว่า บุคคลมีวิชชา ๓ บุคคลมีอภิญญา ๖ เป็นต้น เพราะฉะนั้น บัญญัติเห็นปานนี้ จึงชื่อว่า วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ เพราะบัญญัติอวิชชมานะ (สิ่งที่ไม่มีอยู่) ร่วมกับวิชชมานะ (สิ่งที่มีอยู่) อย่างนี้ว่า บุคคลชื่อว่ามีวิชชา ๓ เพราะอรรถว่า วิชชา ๓ ของเขามีอยู่ บุคคล ชื่อว่ามีอภิญญา ๖ เพราะอรรถว่าอภิญญา ๖ ของเขามีอยู่เป็นต้น.
               ก็หญิงและชาย ไม่มีอยู่ (โดยแท้จริง) รูป มีอยู่ (โดยแท้จริง) ในคำที่ว่า รูปหญิง รูปชายเป็นต้น เพราะฉะนั้น บัญญัติเห็นปานนี้ จึงชื่อว่า อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ เพราะบัญญัติวิชชมานะร่วมกับอวิชชมานะอย่างนี้ว่า รูปของหญิง ชื่อว่ารูปหญิง, รูปของชาย ชื่อว่ารูปชายเป็นต้น.
               ธรรมทั้งหลายมีจักษุเป็นต้นก็ดี ผัสสเจตสิกก็ดี มีอยู่โดยแท้จริง ในคำทั้งหลายมีคำว่า จักษุสัมผัส โสตสัมผัสเป็นต้น เพราะฉะนั้น บัญญัติเห็นปานนี้จึงชื่อว่า วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ เพราะบัญญัติซึ่งวิชชมานะร่วมกับวิชชมานะ อย่างนี้ว่า สัมผัสในจักษุ สัมผัสเกิดแต่จักษุ สัมผัสเป็นผลของจักษุ ชื่อว่าจักษุสัมผัสเป็นต้น.
               อิสสริยะทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นก็ดี ไม่มีอยู่ (โดยแท้จริง) บุตรของเขาก็ดี ก็ไม่มีอยู่ (โดยแท้จริง) ในคำทั้งหลาย มีคำว่า บุตรของกษัตริย์ บุตรของพราหมณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น บัญญัติปานนี้จึงชื่อว่า อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ เพราะบัญญัติซึ่งอวิชชมานะร่วมกับอวิชชมานะอย่างนี้ว่า บุตรของกษัตริย์ชื่อว่าขัตติยบุตรเป็นต้น.
               ในปกรณ์ปุคคลบัญญัตินี้ บรรดาบัญญัติทั้ง ๖ นั้น ได้ ๓ บัญญัติข้อแรกเท่านั้น.
               จริงอยู่ ได้ชื่อว่า วิชชมานบัญญัติ เพราะบัญญัติสภาวะที่มีอยู่จริงเท่านั้น ในฐานะนี้ว่า ขันธบัญญัติ ฯลฯ อินทริยบัญญัติเป็นต้น.
               ในบทว่า ปุคคลบัญญัติ ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า แต่ในคำทั้งหลาย มีคำว่า บุคคลมีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ เป็นต้นได้ วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ.

               บัญญัติ ๖ ตามนัยของอาจารย์               
               ก็ว่าโดยนัยของอาจารย์อันเป็นอรรถกถามุตตกะ (นอกไปจากอรรถกถา) มีบัญญัติ ๖ อื่นอีก คือ.
                         ๑. อุปาทาบัญญัติ
                         ๒. อุปนิธาบัญญัติ
                         ๓. สโมธานบัญญัติ
                         ๔. อุปนิกขิตตบัญญัติ
                         ๕. ตัชชาบัญญัติ
                         ๖. สันติบัญญัติ
               บรรดาบัญญัติ ๖ เหล่านั้น บัญญัตินี้ว่า "ธรรมใดแม้เป็นสภาวะที่ค้นหาไม่ได้ด้วยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะ เหมือนธรรมทั้งหลายมีรูปและเวทนาเป็นต้น โดยความเป็นอย่างเดียวกัน หรือเป็นคนละอย่าง โดยเป็นรูปและเวทนาเป็นต้น สมมติกันว่าเป็นสัตว์ เพราะเข้าไปอาศัย คืออาศัยขันธ์ทั้งหลายอันต่างด้วยรูปและเวทนาเป็นต้นกระทำให้เป็นเหตุ ชื่อว่า รถ บ้าน กำมือ เตาไฟ เพราะอาศัยส่วนทั้งหลายเหล่านั้นๆ ดังนี้ และ ชื่อว่าแผ่นผ้า เพราะอาศัยธรรมทั้งหลายมีรูปและรสเป็นต้นเหล่านั้นๆ นั่นแหละ ชื่อว่ากาลเวลา ชื่อว่าทิศทั้งหลาย เพราะอาศัยการหมุนเวียนแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้น ชื่อว่าอุคคหนิมิต ชื่อว่าปฏิภาคนิมิต อันเป็นของสมมติซึ่งปรากฏด้วยอาการนั้นๆ เพราะเข้าไปอาศัย คืออาศัยซึ่งนิมิตแห่งภูตรูปนั้นๆ และอานิสงส์แห่งภาวนากระทำให้เป็นเหตุ" บัญญัติเห็นปานนี้ ชื่อว่าอุปาทาบัญญัติ.
               อนึ่ง บัญญัตินี้ ชื่อว่าบัญญัติ เพราะอรรถว่าอันบุคคลควรรู้ มิใช่เพราะอรรถว่าอันบุคคลไม่ควรรู้และอุปาทาบัญญัตินี้ ก็คืออวิชชมานบัญญัตินั้นนั่นแหละ.
               บัญญัติอันใดมีคำเป็นต้นว่า "ที่สอง ที่สาม" ดังนี้ เพราะตั้งไว้ซึ่งฌานที่หนึ่ง และที่สองเป็นต้น และมีคำเป็นต้นว่า "ยาว สั้น ใกล้ ไกล" ดังนี้ เพราะการตั้งไว้อาศัยซึ่งกันและกัน บัญญัตินี้ ชื่อว่าอุปนิธาบัญญัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง อุปนิธาบัญญัตินี้มีอเนกประการ โดยประเภทเป็นต้นว่า
                         ตทัญญาเปกขูปนิธาบัญญัติ
                         หัตถคตูปนิธาบัญญัติ
                         สัมปยุตตูปนิธาบัญญัติ
                         สมาโรปิตูปนิธาบัญญัติ
                         อวิทูรคตูปนิธาบัญญัติ
                         ปฏิภาคูปนิธาบัญญัติ
                         ตัพพหุลูปนิธาบัญญัติ
                         ตัพพิสิฏฐูปนิธาบัญญัติ
               บรรดาบัญญัติเหล่านั้น คำว่า ที่สอง ที่สาม เป็นต้นนั่นแหละ ชื่อว่าตทัญญาเปกขูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวเพ่งเล็งธรรมอื่นจากนั้น.
               บัญญัติมีคำว่า บุคคลมีร่มในมือ มีศัสตราในมือเป็นต้น ชื่อว่าหัตถคตูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งการใช้มือ.
               บัญญัติมีคำว่า บุคคลมีกุณฑล มีดอกไม้ประดับศีรษะ มีมงกุฏเป็นต้น ชื่อว่าสัมปยุตตูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งเอาของที่สัมปยุต (ประกอบกับบุคคล).
               บัญญัติคำว่า เกวียนข้าวเปลือก หม้อเนยใสเป็นต้น ชื่อว่าสมาโรปิตูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งเอาวัตถุที่ยกขึ้น.
               บัญญัติคำว่า ถ้ำใกล้ต้นอินทสาละ ถ้ำใกล้ต้นประยงค์ วิมานใกล้ต้นซึกเป็นต้น ชื่อว่าอวิทูรคตูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งถึงสถานที่ไม่ไกลกัน.
               บัญญัติคำว่า มีผิวพรรณเหมือนทองคำ แม่โคเหมือนโคผู้เป็นต้น ชื่อว่าปฏิภาคูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งเอาส่วนเปรียบเทียบ.
               บัญญัติคำว่า สระปทุม บ้านพราหมณ์เป็นต้น ชื่อว่าตัพพหุลูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งเอาวัตถุมีมากของสิ่งนั้น.
               บัญญัติคำว่า กำไลมือทำด้วยเพชรเป็นต้น ชื่อว่าตัพพิสิฏฐูปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวมุ่งเอาวัตถุของสิ่งนั้นประเสริฐ.
               ก็บัญญัติใดมีคำว่า ไม้ ๓ อัน บท ๘ บท กองข้าวเปลือก กองดอกไม้เป็นต้น เพราะมุ่งการประชุมของวัตถุเหล่านั้นๆ บัญญัตินี้ ชื่อว่าสโมธานบัญญัติ.
               บัญญัติใดมีคำว่า ๒, ๓, ๔ เป็นต้น เพราะมุ่งยกบทต้นๆ ขึ้นก่อนแล้วบัญญัติ นี้ชื่อว่าอุปนิกขิตบัญญัติ.
               บัญญัติใดมีคำว่า ปฐวี เตโช ความแข็ง ความร้อนเป็นต้น เพราะเพ่งสภาวธรรมนั้นๆ บัญญัตินี้ ชื่อว่าตัชชาบัญญัติ.
               ก็บัญญัติใดมีคำเป็นต้นว่า คนมีอายุ ๘๐ ปี คนมีอายุ ๙๐ ปี ดังนี้ เพราะเพ่งความเป็นของสืบต่อกันไม่ขาดสาย บัญญัตินี้ ชื่อว่าสันตติบัญญัติ.
               อนึ่ง ในบรรดาบัญญัติ ๖ เหล่านั้น ตัชชาบัญญัติ ก็คือวิชชมานบัญญัตินั่นเอง. บัญญัติที่เหลือย่อมรวมเป็นพวกอวิชชมานบัญญัติ และอวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ.

               อีกนัยหนึ่งบัญญัติ ๖ ของอาจารย์               
               อีกนัยหนึ่ง บัญญัติ ๖ ตามนัยของอาจารย์ นอกจากอรรถกถา คือ
                         ๑. กิจจบัญญัติ
                         ๒. สัณฐานบัญญัติ
                         ๓. ลิงคบัญญัติ
                         ๔. ภูมิบัญญัติ
                         ๕. ปัจจัตตบัญญัติ
                         ๖. อสังขตบัญญัติ
               บรรดาบัญญัติ ๖ เหล่านั้น การบัญญัติด้วยสามารถแห่งกิจมีคำว่า นักธรรมกถึก เป็นต้น ชื่อว่ากิจจบัญญัติ.
               การบัญญัติด้วยสามารถแห่งทรวดทรง มีคำว่า ผอม อ้วน กลม สี่เหลี่ยมเป็นต้น ชื่อว่าสัณฐานบัญญัติ.
               การบัญญัติ ด้วยสามารถแห่งเพศ มีคำว่า หญิง ชาย เป็นต้น ชื่อว่าลิงคบัญญัติ.
               การบัญญัติ ด้วยสามารถแห่งภูมิ มีคำว่า กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ชาวโกศล ชาวมาธุระเป็นต้น ชื่อว่าภูมิบัญญัติ.
               การบัญญัติ ด้วยสามารถสักว่าการตั้งชื่อเฉพาะมีคำว่า ท่านติสสะ นาคะ สุมนะเป็นต้น ชื่อว่าปัจจัตตบัญญัติ.
               การบัญญัติอสังขตธรรม มีคำว่า นิโรธ คือพระนิพพานเป็นต้น ชื่อว่าอสังขตบัญญัติ.
               บรรดาบัญญัติเหล่านั้น ภูมิบัญญัติบางอย่าง และอสังขตบัญญัติ ก็คือวิชชมานบัญญัตินั่นแหละ. กิจจบัญญัติ จัดเข้าเป็นพวกวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ. บัญญัติที่เหลือ ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงจำแนกบัญญัติที่พระองค์ทรงสรุปไว้โดยย่อในอุทเทสวาระนั้นแล้วแสดง ด้วยสามารถแห่งการแสดง จึงตรัสคำว่า กิตฺตาวตา เป็นต้น. ในอุทเทสวาระนั้น บัญญัติพึงทราบเนื้อความแห่งคำถามอย่างนี้ก่อนว่า การบัญญัติ การแสดง การแต่งตั้งซึ่งธรรมที่เป็นกองทั้งหลายว่า เป็นขันธ์ อันใดนี้ การบัญญัติ การแสดง การแต่งตั้งนั้น มีประมาณเท่าไร ดังนี้ เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา (ถามเพื่อจะตอบเอง).
               แม้ในคำทั้งหลายมีคำว่า กิตฺตาวตา อายตนานํ เป็นต้น ข้างหน้าก็นัยนี้แหละ.
               ส่วนในคำวิสัชนา บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า คำว่า ขันธ์ ๕ โดยสังเขป หรือว่า โดยประเภท คือ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ หรือว่า ในขันธ์ ๕ แม้นั้น รูปขันธ์เป็นกามาวจร ขันธ์ ๔ ที่เหลือเป็นไปในภูมิ ๔ เป็นต้น การบัญญัติเห็นปานนี้ย่อมมีด้วยบัญญัติมีประมาณเท่าใด การบัญญัติธรรมทั้งหลายที่เป็นกองว่า เป็นขันธ์ มีอยู่โดยประมาณเท่านี้.
               บัญญัติเห็นปานนี้ว่า อายตนะมี ๑๒ โดยสังเขป หรือว่า โดยประเภทว่า จักขวายตนะ ฯลฯ ธัมมายตนะ หรือว่า ในอายตนะแม้เหล่านั้น อายตนะ ๑๐ เป็นกามาวจร อายตนะ ๒ เป็นไปในภูมิ ๔ ดังนี้ ย่อมมีด้วยบัญญัติมีประมาณเท่าใด การบัญญัติธรรมทั้งหลายอันเป็นบ่อเกิดว่า เป็นอายตนะ ย่อมมี ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               ก็บัญญัติเห็นปานนี้ว่า ธาตุ ๑๘ โดยสังเขป หรือว่า โดยประเภทว่า จักขุธาตุ ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุ หรือว่า บรรดาธาตุแม้เหล่านั้น ธาตุ ๑๖ เป็นกามาวจร ธาตุ ๒ เป็นไปในภูมิ ๔ ดังนี้ ย่อมมีด้วยบัญญัติมีประมาณเท่าใด การบัญญัติธรรมทั้งหลายอันเป็นสภาวะทรงไว้ว่า เป็นธาตุ ย่อมมีด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บัญญัติเห็นปานนี้ว่า สัจจะมี ๔ โดยสังเขป หรือว่า โดยประเภทว่า ทุกขสัจจะ ฯลฯ นิโรธสัจจะ หรือว่า บรรดาสัจจะแม้เหล่านั้น สัจจะ ๒ เป็นโลกิยะ สัจจะ ๒ เป็นโลกุตตระ ดังนี้ ย่อมมีด้วยคำบัญญัติมีประมาณเท่าใด การบัญญัติธรรมทั้งหลายที่เป็นจริงว่า สัจจะ ย่อมมีด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               บัญญัติเห็นปานนี้ว่า อินทรีย์มี ๒๒ โดยสังเขป หรือโดยประเภทว่า จักขุนทรีย์ ฯลฯ อัญญาตาวินทรีย์ หรือว่า บรรดาอินทรีย์แม้เหล่านั้น อินทรีย์ ๑๐ เป็นกามาวจร อินทรีย์ ๙ เป็นมิสสกะ อินทรีย์ ๓ เป็นโลกุตตระ ดังนี้ ย่อมมีด้วยคำบัญญัติมีประมาณเท่าใด การบัญญัติธรรมทั้งหลายที่เป็นใหญ่ว่าเป็นอินทรีย์ย่อมมีด้วยคำมีประมาณเท่านี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแนกเรื่องบัญญัติโดยสังเขป ด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล้วจึงทรงแสดงบัญญัติ ๕ ด้วยสามารถแห่งการแสดงต่อไป.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกเรื่องบัญญัติโดยพิศดารแล้ว เพื่อจะทรงแสดงปุคคลบัญญัติ (บัญญัติว่าด้วยบุคคล) ด้วยสามารถแห่งการแสดง สมยวิมุตโต อสมยวิมุตโต เป็นต้น.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นดุจบุคคลผู้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ และบุคคลผู้กำลังเป็นไป ตรัสขันธ์เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องบัญญัติ ๕ เหล่านี้ไว้โดยพิศดารในวิภังคปกรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น ในปกรณ์ปุคคลบัญญัตินี้ จึงตรัสธรรมมีขันธ์เป็นต้นเหล่านั้นโดยเอกเทสเท่านั้น.
               ปุคคลบัญญัติที่ ๖ ก็มิได้ตรัสไว้ในหนหลังเลย ในอุทเทสวารแม้นี้ ก็ตรัสไว้โดยเอกเทสเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีความประสงค์จะตรัสปุคคลบัญญัติอันเป็นบัญญัติที่ ๖ นั้น โดยพิศดาร จึงทรงตั้งมาติกาไว้ว่า สมยวิมุตฺโต อสมยวิมุตฺโต เป็นต้น จำเดิมแต่บุคคลหนึ่งพวกจนถึงบุคคลสิบพวก แล.

               จบพรรณนาบทมาติกา.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ อุทเทสวาร บัญญัติ ๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 452อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 7อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=2268&Z=2358
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=594
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=594
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :