ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 17อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 36.2 / 84อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ ทุกนิทเทส

               อรรถกถาทุกนิทเทส               
               อธิบายบุคคล ๒ จำพวก               
               อรรถกถาบุคคลผู้มักโกรธเป็นต้น               
               บุคคลผู้มีการโกรธเป็นปกติ คือผู้โกรธมาก ชื่อว่าผู้มักโกรธ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ตรัสถามบุคคลอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงบุคคลโดยธรรม จึงตรัสคำว่า "ตตฺถ กตโม โกโธ" ซึ่งแปลว่า ความโกรธในข้อนั้น เป็นไฉน? ดังนี้เป็นต้น.
               แม้ในนิเทศแห่งอุปนาหีบุคคล บุคคลผู้ผูกโกรธเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำเป็นต้นว่า "โกโธ กุชฺฌนา" มีเนื้อความที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. คำเป็นต้นว่า "โกโธ" มีเนื้อความที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในกาลก่อนในอุปนาหีนิเทศเป็นต้นเหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ โกโธ อฺปปหีโน" ความว่า ยังละไม่ได้ด้วยวิกขัมภนปหาน หรือด้วยตทังคปหาน หรือด้วยสมุจเฉทปหาน.
               แม้ในบุคคลผู้ผูกโกรธเป็นต้นข้างหน้า ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาอหิริกบุคคล คือผู้ไม่มีหิริเป็นต้น               
               พึงทราบวินิจฉัยในอหิริกนิเทศต่อไป.
               สองบทว่า "อิมินา อหิริเกน" ความว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม คือความไม่ละอายนี้ อันมีประการอย่างนี้. แม้ในคำเป็นต้นว่า "อโนตฺตปฺเปน" ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "อชฺฌตฺตสญฺโญชโน" ได้แก่ มีเครื่องผูกในภายใน.
               สองบทว่า "พหิทฺธา สญฺโญชโน" ได้แก่ ผู้มีเครื่องผูกในภายนอก.
               เครื่องผูกแม้ทั้ง ๒ เหล่านี้ บัณฑิตพึงแสดงการอุปมาด้วยโรงลูกโค.
               จริงอยู่ พระโสดาบันและพระสกทาคามี ที่ดำรงชีวิตอยู่ในกามโลกนี้ เปรียบเหมือนลูกโคที่เขาผูกให้นอนอยู่ภายในโรงลูกโคนั่นแหละ. เครื่องผูกคือสังโยชน์แห่งพระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านี้ ตั้งอยู่ในกามโลกนี้ แม้ตัวท่านก็ดำรงอยู่ในภพนี้เหมือนกัน.
               ถ้าพระโสดาบันและพระสกทาคามีดำรงอยู่ในรูปภพหรืออรูปภพ ก็เปรียบเหมือนกับลูกโคที่เขาผูกไว้ในภายใน ณ โรงแห่งลูกโค แต่ตัวลูกโคนอนอยู่ภายนอกโรง เพราะว่าเครื่องผูกแห่งพระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านั้น ตั้งอยู่ในกามโลกนี้ แต่ท่านอยู่ในพรหมโลก.
               พระอนาคามีผู้อยู่ในรูปภพ เปรียบเหมือนกับลูกโคที่เขาผูกไว้ภายนอกโรงตัวก็นอนอยู่ภายนอกโรง เพราะว่า เครื่องผูกคือสังโยชน์แห่งพระอนาคามีนั้นอยู่ในภายนอกจากกามโลก แม้ตัวท่านก็ดำรงอยู่ในภายนอกจากกามโลกเหมือนกัน. ส่วนพระอนาคามีผู้สถิตอยู่ในกามโลกนี้ เปรียบเหมือนกับลูกโคที่เขาผูกไว้ภายนอกโรง แต่ตัวนอนอยู่ภายในโรง. เพราะว่า เครื่องผูกของอนาคามีนั้นอยู่ในรูปภพ อรูปภพ แต่ท่านอยู่ในกามภพนี้.


               อรรถกถาอักโกธนบุคคลคือบุคคลผู้ไม่โกรธเป็นต้น               
               บทว่า "ปหีโน" ได้แก่ ความโกรธที่บุคคลละได้แล้วด้วยวิกขัมภนปหาน หรือด้วยตทังคปหาน หรือด้วยสมุจเฉทปหาน.

               อรรถกถาบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ จำพวก               
               บทว่า "ทุลฺลภา" ได้แก่ มิใช่บุคคลที่หาได้โดยง่าย.
               บทว่า "ปุพฺพการี" ได้แก่ ผู้กระทำอุปการะก่อนนั่นเทียว.
               บทว่า "กตเวที" ได้แก่ ประกาศอุปการคุณที่บุคคลอื่นกระทำแล้ว คือกระทำอุปการคุณให้ปรากฏ.
               บัณฑิตพึงแสดงบุคคลทั้ง ๒ พวกนั้น ด้วยอาคาริยบุคคลและอนาคาริยบุคคล คือคฤหัสถ์และบรรพชิต. ก็บรรดาคฤหัสถ์ทั้งหลาย มารดาและบิดาชื่อว่าบุพพการี (ผู้กระทำอุปการะก่อน) ส่วนบุตรและธิดาผู้ปฏิบัติมารดาบิดา และกระทำการอภิวาทเป็นต้นแก่บิดามารดา ชื่อว่ากตเวที (ผู้รู้อุปการคุณอันบุพพการีชนกระทำแล้ว)
               สำหรับบรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์และอุปัชฌาย์ชื่อว่าบุพพการี. อันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกทั้งหลาย (ลูกศิษย์และผู้อยู่ร่วม) ที่ปฏิบัติอาจารย์และอุปัชฌาย์ ชื่อว่ากตเวที เพื่อประกาศบุคคลทั้ง ๒ พวกนั้นให้แจ่มแจ้ง บัณฑิตพึงกล่าวถึงเรื่องของพระโสณเถระผู้เลี้ยงดูอุปัชฌาย์ เป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง บุคคลใด เมื่อผู้อื่นยังมิได้กระทำอุปการะเลย ไม่เพ่งเล็งถึงอุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน แล้วกระทำการอุปการะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบุพพการี เปรียบเหมือนบิดามารดาพวกหนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์พวกหนึ่ง บุพพการี บุคคลนั้นชื่อว่าหาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหาครอบงำไว้.
               บุคคลใดรู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ากตัญญูกตเวที เปรียบเหมือนบุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดาและบิดา หรือในอาจารย์ และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย. กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ชื่อว่าหาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้เมตตารักใคร่ โดยไม่มีเหตุ ชื่อว่าบุพพการี. บุคคลเมตตารักใคร่ โดยมีเหตุ ชื่อว่ากตัญญูกตเวที.
               บุคคลผู้กระทำประโยชน์ โดยไม่เพ่งเล็งถึงเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า "ผู้นี้จักกระทำอุปการะแก่เรา" ชื่อว่าบุพพการี. บุคคลผู้กระทำประโยชน์ โดยเพ่งเล็งถึงสาเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า "ผู้นี้จักกระทำอุปการะแก่เรา" ชื่อว่ากตัญญูกตเวที.
               ผู้มืดมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่าบุพพการี. ผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่ากตัญญูกตเวที.
               ผู้แสดงธรรม ชื่อว่าบุพพการี. ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่ากตัญญูกตเวที.
               พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าบุพพการีในโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก. พระอริยสาวก ชื่อว่ากตัญญูกตเวที.
               ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาแห่งทุกนิบาต ท่านกล่าวคำไว้มีประมาณเท่านี้ว่า (ผู้กระทำอุปการะก่อน ชื่อว่าบุพพการี. ผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วกระทำตอบในภายหลัง ชื่อว่ากตเวที).
               บรรดาบุคคลทั้ง ๒ พวกนั้น บุพพการีชนย่อมกระทำความสำคัญว่า "เราให้หนี้" บุคคลผู้กระทำตอบแทนในภายหลัง ย่อมทำความสำคัญว่า "เราใช้หนี้".

               อรรถกถาบุคคลผู้ให้อิ่มได้ยาก ๒ จำพวก               
               บทว่า "ทุตฺตปฺปยา" ได้แก่ ผู้ให้ตนอิ่ม คือผู้ที่ใครๆ ไม่อาจให้อิ่มได้.
               ก็ภิกษุใด อาศัยตระกูลอุปัฏฐาก หรือตระกูลของญาติอยู่ เมื่อจีวรที่ให้เก่าแล้ว ก็เก็บจีวรที่ตระกูลเหล่านั้นถวายเสียไม่ใช้สอย ถือเอาจีวรที่ตระกูลเหล่านั้นถวายแล้วบ่อยๆ แล้วก็เก็บเสียนั่นแหละ.
               อนึ่ง ภิกษุใดสละจีวรที่ตนได้แล้วๆ โดยนัยนั้นนั่นแหละถวายแก่ภิกษุอื่น แม้ได้จีวรบ่อยๆ ก็กระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               บุคคล ๒ พวกนี้ใครๆ น้อมนำปัจจัยเข้าไปถวายตั้งเล่มเกวียนก็ไม่อาจเพื่อให้อิ่มได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ทุตตัปปยา แปลว่า อันใครๆ ให้อิ่มได้โดยยาก.

               อรรถกถาบุคคลผู้ให้อิ่มได้ง่าย               
               คำว่า "น วิสชฺเชติ" ได้แก่ กระทำให้เป็นของๆ ตน ไม่ให้แก่ผู้อื่น แต่เมื่อมีอดิเรกลาภ (ของเหลือ) ก็ไม่เก็บไว้ ย่อมถวายแก่ภิกษุอื่นเสีย ข้อนี้ มีคำอธิบายไว้ดังนี้ คือ.
               ก็ภิกษุใดแลมีจีวรเก่าแล้ว ได้ผ้าสาฎกจากตระกูลอุปัฏฐาก หรือตระกูลญาติ กระทำให้เป็นจีวร ใช้ไม่ยอมทิ้ง แม้ปะแล้วก็ยังใช้ห่มอยู่ เมื่อตระกูลเหล่านั้นถวายให้ใหม่ก็ไม่รีบรับโดยเร็ว (หมายถึงมีการพิจารณา) นี้พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง นั้นคือ ภิกษุใดใช้จีวรที่ได้แล้วๆ ด้วยตนเอง ย่อมไม่ถวายแก่ภิกษุเหล่า อื่นภิกษุแม้ทั้ง ๒ พวกนี้ใครๆ ก็อาจให้อิ่มได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สุตตัปปยา แปลว่า อันผู้อื่นให้อิ่มได้โดยง่าย.
               คำว่า "อาสวา" ได้แก่ กิเลสทั้งหลาย.
               คำว่า "น กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ กุกฺกุจฺจายติ" ความว่า ย่อมประพฤติรังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจ เช่น ภิกษุได้เนื้อสุกรแล้วประพฤติรังเกียจว่า เป็นเนื้อหมี, ได้เนื้อมฤคแล้วประพฤติรังเกียจว่า เป็นเนื้อเสือเหลือง, เมื่อกาล (แห่งภัต) ยังมีอยู่ ย่อมประพฤติรังเกียจว่า กาลไม่มี, ไม่ถูกห้าม แต่ประพฤติรังเกียจว่า เราถูกห้ามเสียแล้ว เมื่อละอองธุลียังไม่ตกไปในบาตรเลย ย่อมประพฤติรังเกียจว่าละอองธุลีตกไปแล้ว, เมื่อเขายังไม่กระทำเนื้อปลาอุทิศต่อตน ก็ประพฤติรังเกียจว่า เขากระทำเนื้อปลาอุทิศต่อเรา.
               คำว่า "กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ น กุกฺกุจฺจายติ" ความว่า ย่อมไม่ประพฤติรังเกียจสิ่งที่ควรประพฤติรังเกียจ เช่น ภิกษุได้เนื้อหมีแล้วย่อมไม่ประพฤติรังเกียจว่า เป็นเนื้อหมี ฯลฯ ครั้นเมื่อเขากระทำเนื้อปลาอุทิศ คือเจาะจงตน ย่อมไม่ประพฤติรังเกียจว่า เขาทำเนื้อปลาอุทิศ คือเจาะจงซึ่งเรา.
               ส่วนในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ท่านกล่าวคำไว้มีประมาณเท่านี้ว่า
               คำว่า "กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ" ได้แก่ การไม่ตั้งไว้ การไม่พิจารณาซึ่งส่วนอันเป็นของสงฆ์ ชื่อว่า อันใครๆ ไม่พึงรังเกียจ ย่อมรังเกียจสิ่งนั้น.
               คำว่า "กุกฺกุจฺจายิตพฺพํ" ความว่า การตั้งไว้ การพิจารณาซึ่งสิ่งอันเป็นของสงฆ์นั้นนั่นแหละ ย่อมไม่รังเกียจของนั้น.
               คำว่า "อิเมสํ" ความว่า อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแน่นอนแก่บุคคลทั้ง ๒ พวกเหล่านี้ ทั้งในกลางวัน ทั้งในกลางคืน ดุจหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น งอกงามเจริญอยู่ในภูมิภาคอันดี.
               ในธรรมขาว บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า ภิกษุใดได้กัปปิยมังสะ คือเนื้อที่สมควรแล้วก็รับ เอาเนื้อที่สมควรนั่นแหละ ชื่อว่าย่อมไม่ประพฤติรังเกียจสิ่งที่ไม่ควรประพฤติรังเกียจ.
               คำว่า "หีนาธิมุตฺโต" ได้แก่ ผู้มีอัชฌาสัยอันเลว.
               คำว่า "ทุสฺสีโล" ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล.
               คำว่า "ปาปธมฺโม" ได้แก่ ผู้มีธรรมอันลามก.
               คำว่า "ปณีตาธิมุตฺโต" ได้แก่ ผู้มีอัชฌาสัยอันประณีต.
               คำว่า "กลฺยาณธมฺโม" ได้แก่ ผู้มีธรรมอันเจริญ คือมีธรรมอันสะอาด มีธรรมอันงาม.
               คำว่า "ติตฺโต" แปลว่า อิ่มแล้ว ได้แก่ผู้ตั้งตนไว้ดีแล้ว คือถึงที่สุดแล้ว.
               คำว่า "ตปฺเปตา" แปลว่า ผู้ยังบุคคลอื่นให้อิ่ม ได้แก่ผู้กระทำบุคคลทั้งหลายอื่นให้อิ่ม.
               ในคำนี้ว่า "ปจฺเจกสมฺพุทฺธา เย จ ตถาคตสาวกา" พึงทราบคำอธิบายว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายท่านอิ่มแล้ว คือบริบูรณ์แล้วด้วยโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ประการ แต่ไม่สามารถเพื่อให้บุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นอิ่มได้ เพราะว่า การตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลายด้วยธรรมกถาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นย่อมไม่มี.
               แต่ว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไม่มีประมาณมีการตรัสรู้ธรรมด้วยธรรมกถาแห่งพระสาวกทั้งหลาย. พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อแสดงธรรมมิได้แสดงให้เป็นถ้อยคำของตนเอง แต่แสดงธรรมกถากระทำให้เป็นถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้บริษัทที่นั่งประชุมกันเพื่อจะฟังธรรม ก็กระทำความเคารพว่า พระภิกษุรูปนี้มิได้แสดงธรรมที่ตนเองแทงตลอดแล้ว ย่อมกล่าวธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น การกระทำความเคารพยำเกรงจึงมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเทียว.
               บรรดาบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ชื่อว่ายังบุคคลอื่นให้อิ่ม ด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างว่า "เมื่อพระราชารับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงให้ของสิ่งนี้และสิ่งนี้แก่บุคคลชื่อโน้น ราชบุรุษนำของมาแล้วให้แก่บุคคลชื่อโน้นก็จริง ถึงอย่างนั้น พระราชาเท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ให้ของนั้น ของแม้อันชนทั้งหลายเหล่าใดได้แล้ว ชนเหล่านั้นย่อมรับเอาด้วยคิดว่า ฐานันดรอันพระราชาพระราชทานแล้วแก่เรา สมบัติ คืออิสริยยศอันพระราชาพระราชทานแล้วแก่เรา เท่านั้น แต่ถือเอาด้วยความคิดว่า ฐานันดรเป็นต้นอันราชบุรุษทั้งหลายให้แก่พวกเราหามิได้ ฉันใด ข้ออุปมาเป็นเครื่องยังคำอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาทุกนิทเทส ว่าด้วยบุคคล ๒ จำพวก เพียงเท่านี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ บุคคลบัญญัติ ทุกนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 17อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 36.2 / 84อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=2940&Z=3224
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1375
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1375
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :