ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 36.1 / 167อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์
นิทเทส ๑. สังคหาสังคหปทนิทเทส

               อรรถกถาสังคหาสังคหปทนิทเทส               
               อรรถกถาขันธปทนิทเทส               
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงมาติกาตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ ด้วยสามารถแห่งปัญจขันธ์เป็นต้น ประกอบกับบท นยมาติกา ทั้งหลาย มีคำว่า "สงฺคโห อสงฺคโห" เป็นอาทิ พระผู้มีพระภาคเจ้าเริ่มนิทเทสวาระโดยนัยเป็นต้นว่า "รูปกฺขนฺโธ กตีหิ ขนฺเธหิ" ดังนี้.
               บรรดามาติกาเหล่านั้น เพราะนยมุขมาติกา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ว่า "ตีหิ สงฺคโห" (คือการสงเคราะห์ด้วยธรรม ๓ คือ โดยขันธ์ อายตนะและธาตุ) ตีหิ อสงฺคโห (คือการสงเคราะห์ไม่ได้ด้วยธรรมทั้ง ๓) ด้วยนยมาติกาว่า "สงฺคโห อสงฺคโห" เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อแสดงการนับสงเคราะห์รูปขันธ์เป็นต้น ท่านจึงยกบททั้ง ๓ คือขันธ์ อายตนะ และธาตุนั่นแหละขึ้นแสดงว่า "ธรรมเหล่านี้นับสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์เท่าไร ได้ด้วยอายตนะเท่าไร ได้ด้วยธาตุเท่าไร" ดังนี้ บรรดาธรรมทั้งหลายมีสัจจะ ๔ เป็นต้น แม้อย่างหนึ่งไม่เป็นปรามัฏฐะ (คือไม่เป็นอารมณ์ของปรามาส).
               ก็ลักขณมาติกา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้อย่างนี้ว่า "สภาโค วิสภาโค" ดังนี้ ฉะนั้น ในการวิสัชนาปัญหานี้ จึงตรัสว่า "รูปขันธ์นับสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์หนึ่ง" เป็นต้น เพราะว่า ธรรมมีขันธ์เป็นต้นเหล่านี้เป็นสภาคะของลักขณมาติกานั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า "เอเกน ขนฺเธน" ได้แก่ (นับสงเคราะห์ได้) ด้วยรูปขันธ์เท่านั้น.
               จริงอยู่ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมถึงการนับสงเคราะห์ว่าเป็นรูปอย่างเดียว เพราะความเป็นธรรมเสมอกับรูปขันธ์. เพราะฉะนั้น รูป ท่านจึงสงเคราะห์ด้วยรูปขันธ์นั่นแหละ กำหนดเอาด้วยรูปขันธ์นั่นแหละ.
               สองบทว่า "เอกาทสหิ อายตเนหิ" ได้แก่ เว้นจากมนายตนะ. เพราะรูปขันธ์แม้ทั้งปวงเป็นอายตนะ ๑๐ และเป็นส่วนหนึ่งแห่งธัมมายตนะ ฉะนั้น รูปขันธ์นั้น ท่านจึงนับเอาแล้ว กำหนดแล้วด้วยอายตนะ ๑๑.
               สองบทว่า "เอกาทสหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ด้วยธาตุ ๑๑ เว้นจากวิญญาณธาตุ ๗. ด้วยว่า ชื่อว่ารูปที่มิได้นับเนื่องในธาตุเหล่านั้นย่อมไม่มี.
               ในนิทเทสแห่งอสังคหนัย ทรงทำคำถามโดยย่อไว้ว่า "กตีหิ อสงฺคหิโต" ดังนี้ แต่เพราะในการวิสัชนาแห่งปัญหานั้น อรูปขันธ์ ๔ มนายตนะ ๑ วิญญาณธาตุ ๗ เป็นวิสภาคะของรูปขันธ์ ฉะนั้น จึงตรัสว่า "จตูหิ ขนฺเธหิ" เป็นต้น.
               บัณฑิตพึงทราบบท สงฺคโห อสงฺคโห ในบททั้งปวงโดยนัยนี้.
               อนึ่ง ในคำว่า "รูปกฺขนฺโธ กตีหิ ขนฺเธหิ" เป็นต้น ในขันธนิทเทสนี้ ทรงแสดงคำปุจฉา ๕ และวิสัชนา ๕ ในสังคหนัยอันเป็นเอกมูลไว้โดยย่อก่อน.
               ในอสังคหนัย ก็แสดงคำปุจฉา ๕ และคำวิสัชนา ๕ โดยย่อ. แม้ในมูลทั้งหลายมีทุกมูลเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบคำปุจฉาและคำวิสัชนาทั้งหลายโดยอุบายนี้.
               ก็ในนิทเทสนี้ ทรงแสดงทุกะติกะและจตุกกมูลไว้ในรูปักขันธมูลนั่นแหละ. แต่ในปัญจกมูลทรงทำปุจฉาวิสัชนาไว้ ๒ อย่าง คือโดยเภทะ (หมายถึงการแยก) อย่างนี้ว่า "รูปกฺขนฺโธ จ ฯเปฯ วิญฺญาณกฺขนฺโธ จ" และโดยอเภทะ (คือการไม่แยก) อย่างนี้ว่า "ปญฺจกฺขนฺธา กตีหิ ขนฺเธหิ" ดังนี้.
               บัณฑิตพึงทราบนัยแห่งพระบาลีดังพรรณนามาฉะนี้.
               จบอรรถกถาขันธปทนิทเทสแห่งอัพภันตรมาติกา.               

               อรรถกถาอายตนปทนิทเทสเป็นต้น ข้อ [๑๘]-[๓๕]               
               ในนิทเทสทั้งหลายมีอายตนปทนิทเทสเป็นต้น พึงทราบอายตนปทนิทเทสก่อน.
               คำว่า "จกฺขฺวายตนํ เอเกน ขนฺเธน" ความว่า จักขวายตนะ พึงทราบว่า นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ ๑ ด้วยจักขวายตนะ ๑ ด้วยจักขุธาตุ ๑. แม้ในโสตายตนะเป็นต้นก็พึงทราบการนับสงเคราะห์ได้ และสงเคราะห์ไม่ได้ โดยนัยนี้เทียว.
               แต่ในคำว่า "อสงฺขตํ ขนฺธโต ฐเปตฺวา" นี้เพราะอสังขตะคือนิพพาน ชื่อว่าธัมมายตนะ ก็ธัมมายตนะ คือนิพพานนั้น ไม่ถึงซึ่งการนับสงเคราะห์ว่าเป็นขันธ์ ฉะนั้น จึงตรัสว่า "ขนฺธโต ฐเปตฺวา" ยกเว้นโดยความเป็นขันธ์ ดังนี้.
               สองบทว่า "จตูหิ ขนฺเธหิ" ได้แก่ (สงเคราะห์ได้) ด้วยขันธ์สี่คือ รูป เวทนา สัญญาและสังขารขันธ์. เพราะว่าธัมมายตนะเว้นนิพพานแล้ว นับสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์ทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้นเหล่านี้. ส่วนอายตนะนั้น เว้นธัมมายตนะและธัมมธาตุแล้ว นับสงเคราะห์ไม่ได้ด้วยวิญญาณขันธ์ อายตนะและธาตุที่เหลือ. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า "ธัมมายตนะ นับสงเคราะห์ไม่ได้ด้วยขันธ์ ๑ (คือวิญญาณขันธ์) ด้วยอายตนะ ๑๑ (คือโอฬาริกายตนะ ๑๐ และมนายตนะ ๑) ด้วยธาตุ ๑๗ (คือโอฬาริกธาตุ ๑๐ และวิญญาณธาตุ ๗)" ดังนี้. ก็นัยทั้งหลายที่มีรูปขันธ์เป็นมูลในหนหลัง ฉันใด พึงทราบนัยทั้งหลายที่มีจักขวายตนะเป็นมูลแม้ในที่นี้ ฉันนั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงบาลีทุกะ (คือเภทสุทธะและเภทเอกมูลาทิ) พอควรแล้ว จึงทำคำปุจฉาวิสัชนาโดยอเภทะว่า "ทฺวาทสายตนานิ" ดังนี้ แม้ในธาตุนิทเทสก็นัยนี้นั่นแหละ.
               จบอรรถกถาอายตนปทนิทเทสเป็นต้น.               

               อรรถกถาสัจจนิทเทส ข้อ [๓๖]-[๔๕]               
               ในสัจจนิทเทส ทุกะติกะจตุกกะแม้ทั้งปวง ทรงแสดงไว้ชัดแล้วในพระบาลี. แต่เพราะคำวิสัชนา แม้ในมัคคสัจจะในทุกะติกะทั้งหลายเช่นกับสมุทัยสัจจะนั่นแหละ ฉะนั้นจึงตรัสมัคคสัจจะนั้น ในลำดับแห่งสมุทัยสัจจะ.
               จบอรรถกถาสัจจนิทเทส.               

               อรรถกถาอินทริยนิทเทส ข้อ [๔๖]-[๕๖]               
               ใน นิทเทสแห่งอินทรีย์ คำว่า "ชีวิตินฺทฺริยํ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ" ความว่า รูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ อรูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์. พึงทราบอินทรีย์ที่เหลือโดยทำนองแห่งนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ส่วนการกำหนดพระบาลีในนิทเทสนี้เช่นกับอายตนนิทเทสและธาตุนิทเทสนั่นแล.
               อรรถกถาปฏิจจสมุปปาทนิทเทส.               

               อรรถกถาปฏิจจสมุปปาทนิทเทส ข้อ [๕๗]-[๖๘]               
               ในปฏิจจสมุปปาทนิทเทส๑- พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงเริ่มคำปุจฉาว่า "อวิชฺชา กตีหิ ขนฺเธหิ" แต่ทรงแสดงคำวิสัชนาอย่างนี้เทียวว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เอเกน ขนฺเธน" เป็นต้น.
____________________________
๑- บาลีข้อ ๕๗ - ๖๘.

               ในคำเหล่านั้น คำว่า "สงฺขารปจฺจยาวิญฺญาณํ" อธิบายว่า เมื่อปฏิสนธิเป็นไปแล้ว วิปากวิญญาณแม้ทั้งปวงก็เป็นไป. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "สตฺตหิ ธาตูหิ สงฺคหิตํ". แม้ในนามรูป ก็พึงทราบด้วยสามารถแห่งความเป็นไปของปฏิสนธินั่นแหละ. ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงรวบรวมแม้ซึ่งสัททายตนะ แล้วแสดงการนับสงเคราะห์ไว้ด้วยอายตนะ ๑๑ ในปฏิจจสมุปปาทนิทเทสนี้.
               พึงทราบขันธเภทะ (คือการแยกขันธ์) ในธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น.
               จริงอยู่ ผัสสะนับสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์อย่างหนึ่ง เวทนาขันธ์ก็นับสงเคราะห์ได้ด้วยขันธ์อย่างหนึ่ง. สำหรับตัณหา อุปาทาน กรรมภพ นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์เท่านั้น.
               อนึ่ง บทแห่งภพ ทรงจำแนก ๑๑ อย่างด้วยสามารถแห่งกัมมภพเป็นต้นไว้ในนิทเทสนี้. บรรดาภพเหล่านั้น กรรมภพทรงแสดงรวมกับภพเหล่านั้น เพราะความเป็นคำวิสัชนาเช่นกับผัสสะเป็นต้น. อุปปัตติภพ กามภพ สัญญาภพ ปัญจโวการภพทั้งหลาย ทรงแสดงรวมกัน เพราะความเป็นคำวิสัชนาเช่นกับเป็นของกันและกัน. แต่เพราะสภาวธรรมอันกรรมเข้าไปยึดถือไว้โดยความเป็นผลเทียว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เอกาทสหายตเนหิ สตฺตรสหิ ธาตูหิ"
               จริงอยู่ สัททายตนะอันกรรมมิได้ยึดไว้โดยความเป็นผล (คือ มิใช่เป็นกัมมชรูป) สัททายตนะนั้น พระองค์จึงไม่ได้ทรงถือเอาในที่นี้.
               ในรูปภวนิทเทส สองบทว่า"ปญฺจหิ อายตเนหิ" ได้แก่ ด้วยจักขวายตนะ โสตายตนะ มนายตนะ รูปายตนะและธัมมายตนะ.
               สองบทว่า "อฏฺฐหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ธาตุ ๘ คือจักขุธาตุ โสตธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ รูปธาตุ ธัมมธาตุ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ. ภพทั้ง ๓ แม้มีอรูปภพเป็นต้น แสดงรวมกัน เพราะความเป็นคำวิสัชนาทำนองเดียวกัน. อสัญญีภพ เอกโวการภพก็ฉันนั้น.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า "ทฺวีหิ อายตเนหิ" ได้แก่ อายตนะ ๒ คือรูปายตนะและธัมมายตนะ. แม้ในธาตุทั้งหลายก็นัยนี้นั่นแหละ.
               อนึ่งในนิทเทสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกรูปายตนะขึ้นแสดง เพราะความที่รูปายตนะแห่งพรหมนั้นเป็นอารมณ์แก่พรหมทั้งหลายที่เหลือผู้อยู่ ในพื้นพิภพเดียวกัน เพราะการเกิดขึ้นแห่งจักขุ.
               คำว่า "ชาติ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ" ได้แก่ รูปชาติ นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ อรูปชาตินับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์.
               แม้ในชราและมรณะก็นัยนี้.
               คำว่า "เอเกน ขนฺเธน" แม้ในธรรมมีโสกะเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบขันธ์ที่แปลกกันอย่างนี้ว่า
                         โสกทุกขโทมนัสสะ นับสงเคราะห์ได้ด้วยเวทนาขันธ์
                         ปริเทวะ นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์
                         อุปายาสะเป็นต้น นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์.
               คำว่า "อิทฺธิปาโท ทฺวีหิ ขนฺเธหิ" เป็นต้น ได้แก่ นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ด้วยมนายตนะ ธัมมายตนะ ด้วยธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ.
               คำว่า "ฌานํ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ" ได้แก่ ด้วยเวทนาขันธ์และสังขารขันธ์. ธรรมทั้งหลายมีอัปปมัญญาเป็นต้น อธิบายไว้รวมกัน เพราะความเป็นคำวิสัชนาทำนองเดียวกัน. แต่จิตแม้ตั้งไว้ในลำดับแห่งเจตนา ก็ทรงแสดงในภายหลัง เพราะมีคำวิสัชนาไม่เหมือนกัน.
               บรรดาบททั้งหลายมีอัปปมัญญาเป็นต้นเหล่านั้น คำว่า "เอเกน ขนฺเธน" ได้แก่ เวทนานับสงเคราะห์ได้ด้วยเวทนาขันธ์ สัญญานับสงเคราะห์ได้ด้วยสัญญาขันธ์ ธรรมที่เหลือนับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์ ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบขันธ์ที่แปลกกันด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสังคหาสังคหบทในอัพภันตรมาติกาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงพาหิรมาติกา๒- จึงเริ่มคำว่า "กุสลา ธมฺมา" เป็นอาทิ.
               บรรดามาติกาเหล่านั้น ในเวทนาติกะ๓- คำว่า "ตีหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ด้วยกายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุและธัมมธาตุ.
               คำว่า "สตฺตหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ด้วยธาตุ ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ.
               ในวิปากติกะ๔- คำว่า "อฏฺฐหิ ธาตูหิ" ได้แก่ ด้วยธาตุทั้ง ๗ เหล่านั้นนั่นแหละ กับด้วยกายวิญญาณธาตุ ๑. แต่วิปากธัมมธัมมา ถือเอารวมกัน เพราะคำวิสัชนาเช่นเดียวกันกับด้วยสังกิลิฏฐสังกิเลสิกะทั้งหลาย. ก็แลนิทเทสเหล่านั้นแสดงไว้ฉันใด ในบทติกะและทุกะทั้งปวง (ในพาหิรมาติกานี้) ก็ฉันนั้น คือว่า บทใดๆ เป็นคำวิสัชนาร่วมกับบทใดๆ บทนั้นๆ แม้ไม่เป็นไปตามลำดับ ท่านก็ถือเอาคำวิสัชนาพร้อมกับด้วยบทนั้นๆ. สังคหาสังคหนัยในที่นี้ พึงทราบโดยทำนองที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแล.
____________________________
๒- บาลีข้อ ๗๓-๗๔.
๓- บาลีข้อ ๗๕-๗๖.
๔- บาลีข้อ ๗๗-๗๙.

               จบอรรถกถาสังคหาสังคหปทนิทเทส.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์ นิทเทส ๑. สังคหาสังคหปทนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 1อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 36.1 / 167อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=68&Z=656
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=74
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=74
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :