ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 16อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 36.2 / 58อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ เอกกนิทเทส

               อรรถกถาเอกกนิทเทส               
               อรรถกถาสมยวิมุตตบุคคล               
               บัดนี้ เพื่อจะจำแนกมาติกา ตามที่ได้ตั้งไว้แต่ต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นอาทิว่า "กตโม จ ปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" แปลว่า ก็สมยวิมุตตบุคคล เป็นไฉน? ในคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ได้แก่ ในสัตวโลก.
               คำว่า เอกจฺโจ ปุคฺคโล ได้แก่ บุคคลคนหนึ่ง. ในคำว่า กาเลน กาลํ นี้ พึงทราบเนื้อความด้วยสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า ในกาลหนึ่งๆ คำว่า "สมเยน สมยํ" นี้เป็นไวพจน์ของคำก่อนนั้นแหละ (คือเป็นไวพจน์ของคำว่า กาเลน กาลํ)
               คำว่า "อฏฺฐ วิโมกฺเข" ได้แก่ สมาบัติ ๘ อันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรฌาน.
               จริงอยู่ คำว่า วิโมกข์ นี้เป็นชื่อของสมาบัติ ๘ เหล่านั้นเพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย. คำว่า "กาเยน" ได้แก่ นามกายที่เกิดพร้อมกับวิโมกข์. คำว่า "ผุสิตฺวา วิหรติ" ได้แก่ ได้สมาบัติแล้ว จึงผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่.
               ถามว่า ก็สมยวิมุตตบุคคลนี้ ถูกต้องวิโมกข์ แล้วอยู่ในกาลไหน?
               ตอบว่า ก็ธรรมดาว่า กาลของท่านผู้ปรารถนาจะเข้าสมาบัติมีอยู่ แต่ชื่อว่าอกาล หามีไม่.
               บรรดา กาลและอกาล คือ สมัย มิใช่สมัยทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็กาลที่กำลังปฏิบัติสรีระแต่เช้าตรู่ ๑ กาลที่กำลังทำวัตร ๑ ชื่อว่าสมัยมิใช่กาล ของท่านผู้เข้าสมาบัติ. กาลเป็นที่ปฏิบัติสรีระ และทำวัตรเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสู่ที่อยู่ พักอยู่จนกระทั่งถึงเวลาจะไปบิณฑบาต ในระหว่างนี้ ชื่อว่ากาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ.
               ก็กาลเป็นที่วันทาพระเจดีย์ของภิกษุ ผู้กำหนดเวลาไปบิณฑบาตแล้วออกไป ๑ กาลเป็นที่ยืนอยู่ในโรงวิตกของภิกษุ ผู้ที่แวดล้อมด้วยหมู่แห่งภิกษุ ๑ กาลเป็นที่เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ๑ กาลเป็นที่เที่ยวไปในบ้าน ๑ กาลเป็นที่ดื่มข้าวยาคูในโรงฉันภัต ๑ กาลเป็นที่กระทำวัตร ๑ กาลทั้งหมดนี้ ชื่อว่าอกาล คือสมัยมิใช่กาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ. ก็เมื่อโอกาสอันสงัดในโรงฉันภัตมีอยู่ และยังไม่ถึงเวลาฉันภัตตาหาร ในระหว่างเวลาแม้นี้ ก็ชื่อว่ากาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ.
               อนึ่ง เวลาฉันภัตตาหาร ๑ เวลาไปสู่วิหาร ๑ เวลาเก็บรักษาบาตรและจีวร ๑ เวลากระทำวัตรในเวลากลางวัน ๑ เวลาในการสอบถาม ๑ กาลทั้งหมดนี้ ก็ชื่อว่าอกาล คือสมัยมิใช่กาลของท่านผู้เข้าสมาบัติ. กาลใดมิใช่กาล กาลนั้นนั่นแหละ มิใช่สมัย.
               กิจนั้นแม้ทั้งหมด ยกเว้นกาลที่เหลือ สมัยที่เหลือ ท่านเรียกว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ได้วิโมกข์ ๘ มีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยสหชาตนามกายอยู่ ฯลฯ
               อีกประการหนึ่ง บุคคลนี้ ชื่อว่าถูกต้องสหชาตธรรมทั้งหลาย พร้อมกับผัสสะ. ชื่อว่าถูกต้องอัปปนา ด้วยอุปจาระ ชื่อว่าย่อมถูกต้องอัปปนาอื่นอีก ด้วยอัปปนาแรก. ก็ธรรมเหล่าใด เกิดพร้อมกับธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นธรรมอันท่านได้แล้วกับธรรมนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าถูกต้องแล้วแม้ด้วยผัสสะ. แม้อุปจาระก็เป็นเหตุแห่งการได้อัปปนานั่นแหละ อัปปนาแรกก็เป็นเหตุให้ได้อัปปนาอื่นๆ อีกเหมือนกัน ในอุปจาระและอัปปนาเหล่านั้น พึงทราบการถูกต้องสหชาตธรรมทั้งหลาย ด้วยสหชาตธรรมทั้งหลายของพระโยคีบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ปฐมฌานมีองค์ ๕ มีวิตกเป็นต้น เว้นองค์ฌานทั้ง ๕ เสียแล้ว ธรรมที่เหลือเกิน ๕๐ เรียกว่านามขันธ์ ๔. พระโยคีบุคคลถูกต้อง คือได้เฉพาะปฐมฌานสมาบัติวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้น แล้วจึงอยู่.
               ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือปีติ สุขและเอกัคคตา. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือสุขและเอกัคคตา. จตุตถฌานมีองค์ ๒ คืออุเบกขาและเอกัคคตา.
               อนึ่ง อากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีองค์ ๒ เหมือนกับจตุตถฌาน. ในฌานเหล่านั้น คือตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ยกเว้นองค์ฌานเหล่านั้นเสียแล้ว ธรรมทั้งหลายที่เหลือเกิน ๕๐ เรียกว่านามขันธ์ ๔. พระโยคีบุคคลถูกต้อง คือได้เฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้นแล้วจึงอยู่.
               คำว่า "ปญฺญาย จสฺส ทิสฺวา" อธิบายว่า เพราะเห็นความเป็นไปแห่งสังขารด้วยวิปัสสนาปัญญา เห็นสัจธรรมทั้งสี่ ด้วยมรรคปัญญา. คำว่า "เอกจฺเจ อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ" อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายอันปฐมมรรคเป็นต้น พึงฆ่าส่วนหนึ่งๆ สิ้นไปแล้ว บุคคลนี้ ท่านเรียกว่า "สมยวิมุตฺโต" แปลว่า ผู้พ้นแล้วโดยสมัย.
               ในข้อว่า "ปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" นี้จะกล่าวว่า บุคคลผู้ได้สมาบัติ ๘ ถูกต้องวิโมกข์ ด้วยนามกายนั้นแล้ว จึงอยู่ก็ควร แต่ในพระบาลีท่านกล่าวไว้ว่า "เอกจฺเจ อาสวา ปริกฺขีณา" แปลว่า อาสวะบางอย่างสิ้นไปแล้ว จริงอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่าอาสวะทั้งหลายของปุถุชนสิ้นไปแล้วย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงประสงค์เอาปุถุชน ที่ถูกควรจะกล่าวว่า แม้พระขีณาสพ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ถูกต้องวิโมกข์ด้วยนามกายนั้นแล้วอยู่ แต่ว่า ธรรมดาว่าอาสวะทั้งหลายของพระขีณาสพนั้นยังไม่สิ้นไปมิได้มี เพราะฉะนั้น พระขีณาสพนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงพระประสงค์เอา.
               ก็คำว่า "สมยวิมุตฺโต" นี้ พึงทราบว่าเป็นชื่อของพระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี รวม ๓ จำพวกเท่านั้น.
               จบอรรถกถาสมยวิมุตตบุคคล.               

               อรรถกถาอสมยวิมุตตบุคคล               
               ก็ในนิเทศว่า "อสมยวิมุตฺโต" พึงทราบเช่นกับคำก่อน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเทียว.
               อนึ่ง คำว่า "อสมยวิมุตฺโต" นี้ ในที่นี้เป็นชื่อของพระอรหันต์สุกขวิปัสก แต่ว่าพระอรหันต์สุกขวิปัสสก พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ ๘ และปุถุชน ย่อมไม่ได้ในทุกะนี้ (ทุกะนี้ คือสมยวิมุตฺโต อสมยวิมุตฺโต) ฉะนั้น จึงชื่อว่าทุกมุตตกบุคคล. เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงรวบรวมบุคคลทั้งหลายที่พระองค์ทรงถือเอา และไม่ทรงถือเอาในหนหลังแล้วยกขึ้นสู่แบบแผนพร้อมกับด้วยปิฏฐิวัฏฏกบุคคลทั้งหลาย คือผู้หมุนไปข้างหลัง เพราะความที่พระองค์เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้แล้วด้วยดี จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "สพฺเพปิ อริยปุคฺคลา" แปลว่า แม้ทั้งหมด เป็นพระอริยบุคคล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "อริยวิโมกฺเข" ได้แก่ วิโมกข์อันเป็นโลกุตตระอันถึงซึ่งการนับว่าเป็น "อริยะ" เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย.
               ข้อนี้ มีคำอธิบายไว้ว่า
               สมัยก็ดี อสมัยก็ดี ของท่านผู้เข้าสมาบัติ ๘ ภายนอกพระพุทธศาสนา มีอยู่, สมัยหรืออสมัยของท่านผู้พ้นด้วยมรรควิโมกข์ย่อมไม่มี. ศรัทธาของบุคคลใดมีกำลังและวิปัสสนาอันบุคคลใดปรารภแล้ว มีอยู่ แต่การแทงตลอดมรรคและผลของผู้นั้น ซึ่งกำลังเดิน, ยืน, นั่ง, นอน, เคี้ยวและบริโภค ไม่มี เพราะฉะนั้น สมัยหรืออสมัยของผู้พ้นด้วยมรรควิโมกข์ จึงไม่มี.
               ดังนั้น ข้อว่า "มคฺควิโมกฺเขน วิมุจฺจนสฺส สมโย วา อสมโย วา นตฺถิ" นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชา ทรงรวบรวมบุคคลทั้งหลายที่พระองค์ทรงถือเอาและไม่ทรงถือเอาในหนหลัง แล้วยกขึ้นสู่แบบแผนอันเป็นปิฏฐิวัฏกะนี้. ทั้งปุถุชนผู้ได้สมาบัติ ๘ พระองค์ก็มิได้ ทรงพระประสงค์เอาด้วยแบบแผนนี้เลย แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกบุคคลผู้ได้สมาบัติ ๘ นั้น ก็พึงจำแนกซึ่งความเป็นสมยวิมุตตบุคคลด้วยอำนาจกิเลสที่ท่านข่มไว้แล้วด้วยสมาบัติ.

               [ฉบับมหาจุฬาฯ]
               [๒] ก็ในนิทเทสว่า อสมยวิมุตฺโต พึงทราบเช่นกับคำก่อน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเทียว
               อนึ่ง คำว่า อสมยวิมุตฺโต นี้ ในที่นี้เป็นชื่อของพระอรหันต์สุกขวิปัสสก แต่ว่าพระอรหันต์สุกขวิปัสสก พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ผู้ได้สมาบัติ ๘ และปุถุชน ย่อมไม่ได้ในทุกะนี้ (ทุกะนี้คือ สมยวิมุตฺโต อสมยวิมุตฺโต) ฉะนั้น จึงชื่อว่าทุกมุตตกบุคคล เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงรวบรวมบุคคลทั้งหลายที่พระองค์ทรงถือเอา และไม่ทรงถือเอาในหนหลังแล้วยกขึ้นสู่แบบแผนพร้อมกับด้วยปิฏฐิวัฏฏกบุคคลทั้งหลาย คือ ผู้หมุนไปข้างหลัง เพราะความที่พระองค์เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้แล้วด้วยดี จึงตรัสคำเป็นต้นว่า แม้ทั้งหมด เป็นพระอริยบุคคล (สพฺเพปิ อริยปุคฺคลา)
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อริยวิโมกข์ (อริเย วิโมกฺเข) ได้แก่ วิโมกข์อันเป็นโลกุตตระอันถึงซึ่งการนับว่าเป็นอริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย
               ข้อนี้มีคำอธิบายไว้ว่า
               สมัยก็ดี อสมัยก็ดี ของท่านผู้เข้าสมาบัติ ๘ ภายนอกพระพุทธศาสนา มีอยู่ สมัยหรืออสมัยของท่านผู้พ้นด้วยมรรควิโมกข์ย่อมไม่มี ศรัทธาของบุคคลใดมีกำลัง และวิปัสสนาอันบุคคลใดปรารภแล้วมีอยู่ แต่การแทงตลอดมรรคและผลของผู้นั้น ซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอน เคี้ยว และบริโภคไม่มี เพราะฉะนั้น สมัยหรืออสมัยของผู้พ้นด้วยมรรควิโมกข์ จึงไม่มี
               ดังนั้น ข้อว่า มคฺควิโมกฺเขน วิมุจฺจนสฺส สมโย วา อสมโย วา นตุถิ นี้ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมราชา ทรงรวบรวมบุคคลทั้งหลายที่พระองค์ทรงถือเอาและไม่ทรงถือเอาในหนหลัง แล้วยกขึ้นสู่แบบแผนอันเป็นปิฏฐิวัฏฎกะนี้ ทั้งปุถุชนผู้ได้สมาบัติ ๘ พระองค์ก็มิได้ทรงพระประสงค์เอาด้วยแบบแผนนี้เลย แต่ว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงจำแนกบุคคลผู้ได้สมาบัตินั้น ก็พึงจำแนกซึ่งความเป็นสมยวิมุตตบุคคลตัวยอำนาจกิเลสที่ท่านข่มไว้แล้วด้วยสมาบัติ
               จบอรรถกถาอสมยวิมุตตบุคคล.               

               อรรถกถากุปปธรรมบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่ง "กุปปธรรมบุคคล" เป็นต้น.
               สมาบัติธรรมอันบุคคลใด บรรลุแล้ว ย่อมกำเริบ ย่อมพินาศ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า "กุปฺปธมฺโม" แปลว่า ผู้มีธรรมอันกำเริบ.
               บทว่า "รูปสหคตานํ" อธิบายว่า สมาบัติที่สหรคตด้วยรูปนั้น กล่าวคือ ที่มีรูปเป็นนิมิต คือเป็นไปพร้อมกับรูปนั้น หมายความว่า ไม่ยกเว้นรูปาวจรฌานทั้ง ๔ ที่มีรูปเป็นอารมณ์.
               บทว่า "อรูปสหคตานํ" อธิบายว่า สิ่งอื่นเว้นจากรูปไม่ชื่อว่ารูป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอรูป สมาบัติที่สหรคตด้วยอรูป คือที่เป็นไปพร้อมกับอรูปนั้น ไม่ยกเว้นอรูปาวจรฌานทั้ง ๔ ที่มีอรูปเป็นอารมณ์.
               คำว่า "น นิกามลาภี" ความว่า ชื่อว่า มิใช่เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา เพราะไม่ได้ด้วยอาการที่ปรารถนา โดยความเป็นผู้ไม่ชำนาญในการประพฤติมาแล้วโดยอาการ ๕ อย่าง.
               อธิบายว่า ผู้ไม่ชำนาญเข้าสมาบัติ.
               คำว่า "น อกิจฺฉลาภี" ได้แก่ ได้โดยลำบาก คือได้โดยยาก.
               อธิบายว่า ผู้ใดข่มกิเลสทั้งหลายไว้ด้วยอาคม บรรลุอุปจาระ บรรลุอัปปนา ได้อยู่ซึ่งจิตตมัญชุสา (หีบคือจิต คงหมายถึงการสั่งสมสุขวิหารธรรม) ลำบากด้วยสัมปโยคะ คือความเพียรอันเป็นสสังขารอันยากลำบาก ย่อมไม่อาจเพื่อบรรลุสัมปทานั้น บุคคลนี้ชื่อว่ามิใช่เป็นผู้ได้โดยลำบาก.
               คำว่า "น อกสิรลาภี" ได้แก่ เป็นผู้ได้ไม่บริบูรณ์.
               อธิบายว่า เข้าสมาบัติแล้วไม่อาจเพื่อจะแผ่ไปตลอดกาลนานได้ คือให้เป็นไปได้เพียงหนึ่งวาระจิต หรือสองวาระจิต แล้วก็ออกโดยเร็วพลันนั่นเทียว.
               บทว่า "ยตฺถิจฺฉกํ" ได้แก่ ความปรารถนาเพื่อจะเข้าสมาบัติในโอกาสใด.
               บทว่า "ยทิจฺฉกํ" ความว่า ย่อมปรารถนาเพื่อจะนั่งเข้าสมาบัติใดๆ คือฌานมีกสิณเป็นอารมณ์ หรือฌานมีอานาปานะเป็นอารมณ์ หรือฌานมีอสุภะเป็นอารมณ์.
               บทว่า "ยาวติจฺฉกํ" ความว่า ย่อมปรารถนากาลมีประมาณเท่าใด โดยการกำหนดเวลายาวนาน.
               ข้อนี้คำอธิบายไว้ว่าดังนี้
               พระโยคีย่อมปรารถนาจะเข้าบ้าง ออกบ้างซึ่งสมาบัติใดๆ ในที่ใดๆ ตลอดกาลนานมีประมาณเท่าใด ย่อมไม่อาจเพื่อจะเข้าบ้าง ออกบ้างซึ่งสมาบัตินั้นๆ ในที่นั้นๆ ตลอดกาลนานมีประมาณเท่านั้น คือ แลดูพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์แล้วกำหนดว่า "เมื่อพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์นี้ไปสู่ที่มีประมาณเท่านี้แล้ว ข้าพเจ้าจะออกจากสมาบัติ" แล้วก็เข้าฌาน ย่อมไม่อาจเพื่อจะออกตามที่กำหนดไว้ ย่อมออกในระหว่างเทียว เพราะตนเป็นผู้ไม่ชำนาญในสมาบัติ.
               บทว่า "ปมาทมาคมฺม" ได้แก่ อาศัยความประมาท.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ได้แก่ บุคคล ๓ จำพวก คือปุถุชนผู้ได้สมาบัติ ๘ พระโสดาบัน พระสกทาคามี บุคคลเหล่านี้ ท่านเรียกว่า "กุปฺปธมฺโม" แปลว่า ผู้มีธรรมอันกำเริบ.
               ก็คำว่า "กุปฺปธมฺโม" นี้เป็นชื่อของบุคคล ๓ จำพวกนั้น. ก็ธรรมทั้งหลาย อันเป็นข้าศึกต่อสมาธิ และวิปัสสนาของท่านเหล่านั้น ท่านข่มไว้ไม่ดี ชำระล้างไว้ไม่ดี เพราะฉะนั้นสมาบัติของท่านเหล่านั้นจึงพินาศไป เสื่อมไป.
               อนึ่ง สมาบัตินั้น พินาศไป เสื่อมไป เพราะศีลขาด หรือเพราะการไม่ก้าวล่วงอาบัติเท่านั้นก็หาไม่. ก็นาคริกโปกขธรรมนี้ ย่อมพินาศไป เพราะกรณียกิจ หรือเพราะเหตุสักว่าการแตกแห่งวัตร มีประมาณเล็กน้อย.
               ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้ เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า พระเถระรูปหนึ่งใช้สมาบัติ คือใช้สถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่สมาบัติ เมื่อท่านไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต พวกเด็กเล่นอยู่ที่บริเวณแล้วก็พากันหลีกไป พระเถระมาแล้วคิดว่า "พวกเด็กคงกวาดบริเวณ" ท่านจึงไม่กวาด เข้าไปสู่วิหารด้วยคิดว่า "เราจักเข้าสมาบัติ" ท่านไม่อาจเพื่อจะเข้าได้ จึงรำพึงถึงศีลว่า "อะไรหนอเป็นเครื่องกั้น" ไม่เห็นการก้าวล่วง แม้มีประมาณเล็กน้อย จึงตรวจดูว่า "วัตตเภทการแตกแห่งวัตรของเรามีอยู่หรือ ทราบว่าไม่ได้กวาดบริเวณ จึงกวาดแล้ว ก็เข้าไปนั่งเข้าสมาบัติ.
               จบอรรถกถากุปปธรรมบุคคล.               

               อรรถกถาอกุปปธรรมบุคคล               
               นิเทศแห่ง "อกุปปธรรมบุคคล" บัณฑิตพึงทราบด้วยความสามารถแห่งปฏิปักษ์นัย ของกุปธรรมบุคคล ที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ. ก็คำว่า "อกุปฺปธมฺโม" เป็นชื่อของพระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือพระอนาคามีผู้ได้สมาบัติ ๘ และพระขีณาสพ.
               จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกต่อสมาธิ และวิปัสสนาของท่านเหล่านั้น ท่านข่มไว้ดีแล้ว ชำระล้างไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านั้น แม้ยังกาลให้ล่วงไปด้วยกิจ มีการสนทนา และความเป็นผู้ยินดีด้วยหมู่คณะเป็นต้น หรือด้วยความประมาทอันไม่สมควรแก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่งอื่นๆ สมาบัติก็ไม่กำเริบ ไม่พินาศ แต่ว่า พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระขีณาสพผู้สุกขวิปัสสกะ ย่อมไม่ได้ในทุกะนี้ ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่าทุกมุตตกบุคคล.
               เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงรวบรวมบุคคลทั้งหลายที่พระองค์ทรงถือเอาและไม่ทรงถือเอาในหนหลัง แล้วยกขึ้นสู่แบบแผนกับด้วยปิฏฐิวัฏฏกบุคคลทั้งหลายไว้ในทุกะแม้นี้ เพราะพระองค์มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดี จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "สพฺเพปิ อริยปุคฺคลา" พระอริยบุคคลแม้ทั้งหมด.
               อนึ่ง หากความกำเริบ ความพินาศแห่งสมาบัติ ๘ ของท่านจะพึงมีขึ้น แต่โลกุตตรธรรมที่ท่านแทงตลอดแล้วครั้งเดียวหากำเริบและพินาศไปไม่. คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาผู้บรรลุโลกุตตรธรรมนั้น.
               จบอรรถกถาอกุปปธรรมบุคคล.               

               อรรถกถาปริหานธรรมบุคคลและอปริหานธรรมบุคคล               
               แม้นิเทศแห่งปริหานธรรมบุคคลและอปริหานธรรมบุคคลทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งกุปปธรรมบุคคลและอกุปปธรรมบุคคล นั่นแหละ.
               ก็ในที่นี้ คำนี้ว่า ความเสื่อมก็ดี ความไม่เสื่อมก็ดีแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยความประมาทของบุคคล ท่านประสงค์เอาอย่างเดียว จึงเป็นอันว่าแตกต่างกันเพียงแต่ปริยายเทศนาเท่านั้น ธรรมที่เหลือทั้งหมดเหมือนกันนั่นแหละ.
               จบอรรถกถาปริหานธรรมบุคคลและอปริหานธรรมบุคคล.               

               อรรถกถาเจตนาภัพพบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งเจตนาภัพพบุคคล.
               คำว่า "เจตนาภพฺโพ" ได้แก่ ควรเพื่อจะถึงความไม่เสื่อมรอบแห่งเจตนา.
               คำว่า "สเจ อนุสญฺเจติ" ได้แก่ ถ้าเข้าสมาบัติ. อธิบายว่า ก็พระโยคีเมื่อเข้าสมาบัติ ชื่อว่าย่อมเอาใจใส่ ท่านจึงไม่เสื่อม พระโยคีนอกจากนี้ย่อมเสื่อม.
               จบอรรถกถาเจตนาภัพพบุคคล.               

               อรรถกถาอนุรักขนาภัพพบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งอนุรักขนาภัพพบุคคล.
               คำว่า "อนุรกฺขนาภพฺโพ" ได้แก่ ควรเพื่อจะพึงถึงความไม่เสื่อมรอบแห่งการตามรักษา.
               คำว่า "สเจ อนุรกฺขติ" ความว่า ถ้าพระโยคีสละธรรมที่ไม่มีอุปการะ เสพธรรมที่มีอุปการะเข้าสมาบัติ. ก็เมื่อท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าตามรักษา ท่านจึงไม่เสื่อม พระโยคีนอกจากนี้ ย่อมเสื่อม พระโยคีแม้ทั้งสองพวกเหล่านี้ เป็นผู้สามารถเพื่อตั้งสมาบัติกระทำให้ถาวร แต่พระโยคีที่ชื่อว่าอนุรักขนาภัพพบุคคลเท่านั้น มีความสามารถมากกว่า พระโยคีผู้ชื่อว่าเจตนาภัพพบุคคล เพราะว่า เจตนาภัพพบุคคล ไม่รู้ธรรมที่มีอุปการะและไม่มีอุปการะ เมื่อไม่รู้จึงบรรเทา คือย่อมนำธรรมที่มีอุปการะออกไปแล้วเสพธรรมอันไม่มีอุปการะ เมื่อเสพธรรมอันไม่มีอุปการะเหล่านั้น ท่านย่อมเสื่อมจากสมาบัติ.
               แต่อนุรักขนาภัพพบุคคลย่อมรู้ธรรมอันมีอุปการะและไม่มีอุปการะ เมื่อรู้ก็ย่อมบรรเทา คือนำธรรมอันไม่มีอุปการะออกไป เสพธรรมอันมีอุปการะทั้งหลาย เมื่อท่านเสพธรรมอันมีอุปการะเหล่านั้นจึงไม่เสื่อมจากสมาบัติ.
               เปรียบเหมือนชาวนาผู้รักษานา ๒ คน เป็นอุทาหรณ์ ดังนี้.
               คนหนึ่งมีโรคผอมเหลือง ทนต่อความหนาวเป็นต้นไม่ได้ คนหนึ่งไม่มีโรคอดทนต่อความหนาวเย็นเป็นต้นได้ คนที่มีโรคไม่ลงจากกระท่อมไปข้างล่าง เขาละทิ้งการรักษานา ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน พวกนกแขกเต้า นกพิลาปและนกยูงเป็นต้น พากันมาสู่นาของเขาในเวลากลางวัน จิกกินรวงข้าวสาลี ในเวลากลางคืน พวกเนื้อและสุกรเป็นต้น เข้าไปสู่ลานนาคุ้ยเขี่ย ราวกะที่อันตนทำไว้เอง ครั้นคุ้ยเขี่ยแล้วก็ไป เขาย่อมไม่ได้แม้สักว่าข้าวปลูกอีก เพราะเหตุแห่งความประมาทของตน.
               ส่วนบุคคลผู้ไม่มีโรคไม่ละทิ้งการรักษานาตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เขาย่อมได้ข้าวประมาณ ๔ เกวียนบ้าง ๘ เกวียนบ้าง จากที่ประมาณกรีสหนึ่ง เพราะความไม่ประมาทของตน.
               ในพระโยคี ๒ รูปนั้น บัณฑิตพึงเห็นพระโยคีผู้เจตนาภัพพบุคคล เหมือนคนขี้โรครักษานา พึงเห็นพระโยคีผู้อนุรักขนาภัพพบุคคล เหมือนคนไม่มีโรค.
               บัณฑิตพึงทราบความเสื่อมจากสมาบัติของเจตนาภัพพบุคคล ผู้ไม่รู้ธรรมมีอุปการะและไม่มีอุปการะ แล้วละธรรมอันมีอุปการะ เสพธรรมอันไม่มีอุปการะอยู่ เหมือนกับการไม่ได้เมล็ดพืชที่จะปลูกอีกของคนมีโรค เพราะความประมาทของตน พึงทราบความไม่เสื่อมจากสมาบัติของอนุรักขนาภัพพบุคคลผู้ รู้ธรรมมีอุปการะและไม่มีอุปการะ แล้วละธรรมอันไม่มีอุปการะ เสพอยู่ซึ่งธรรมมีอุปการะ เปรียบเหมือนกับการได้ข้าว ๔ เกวียน ๘ เกวียน จากที่ประมาณกรีสหนึ่ง ของบุคคลผู้ไม่มีโรคเพราะความไม่ประมาทของตน. อนุรักขนาภัพพบุคคลเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มีความสามารถกว่า กว่าเจตนาภัพพบุคคลในการทำสมาบัติให้มั่นคง ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาอนุรักขนาภัพพบุคคล.               

               อรรถกถาปุถุชนบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งปุถุชนบุคคล.
               คำว่า "ตีณิ สญฺโญชนานิ" ได้แก่ ทิฏฐิสัญโญชน์ ๑ สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ ๑ และวิจิกิจฉาสัญโญชน์ ๑ ก็สัญโญชน์เหล่านั้นชื่อว่า ท่านละได้แล้วในขณะแห่งผลจิต. พระองค์ย่อมแสดงว่า ก็ปุถุชนนี้ย่อมไม่มีแม้ในขณะแห่งผลจิต.
               คำว่า "เตสญฺจ ธมฺมานํ" ได้แก่ สัญโญชนธรรมเหล่านั้น.
               ก็ปุถุชน ชื่อว่าผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อละสัญโญชน์เหล่านั้น ในขณะแห่งมรรคจิต. แต่ปุถุชนนี้ย่อมไม่มีแม้ในขณะแห่งมรรคจิต ถูลพาลปุถุชนผู้โง่หยาบนั่นแหละ ผู้สละกรรมฐานแล้ว บัณฑิตทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปุถุชนนิเทศนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเพียงเท่านี้.
               จบอรรถกถาปุถุชนบุคคล.               

               อรรถกถาโคตรภูบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งโคตรภูบุคคล.
               สองบทว่า "เยสํ ธมฺมานํ" ได้แก่ กุศลธรรมเกิน ๕๐ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับโคตรภูญาณเหล่าใด.
               บทว่า "อริยธมฺมสฺส" ได้แก่ โลกุตตรมรรค.
               สองบทว่า "อวกฺกนฺติ โหติ" ได้แก่ ย่อมก้าวลง คือบังเกิด ปรากฏ.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า โคตรภูบุคคล เพราะก้าวล่วงญาณของปุถุชน โคตรของปุถุชน มณฑลของปุถุชนและบัญญัติของปุถุชนทั้งปวงแล้วจึงก้าวลงสู่ญาณของพระอริยะ โคตรของพระอริยะ มณฑลของพระอริยะ บัญญัติของพระอริยะได้ ด้วยญาณอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
               จบอรรถกถาโคตรภูบุคคล.               

               อรรถกถาภยูปรตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งภยูปรตบุคคล.
               บุคคลใดงดเว้นความชั่วเพราะความกลัว เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าภยูปรโต ผู้งดเว้นความชั่วเพราะความกลัว.
               อธิบายว่า ก็พระเสกขบุคคล ๗ พวกกับปุถุชนทั้งหลายผู้มีศีล กลัวแล้วย่อมงดเว้นจากบาป คือไม่กระทำบาป.
               บรรดาพระอริยะและปุถุชนทั้งหลาย ย่อมกลัวภัย ๔ อย่างคือ
                         ๑. ทุคคติภัย
                         ๒. วัฏฏภัย
                         ๓. กิเลสภัย
                         ๔. อุปวาทภัย
               ในภัยเหล่านั้น ภัย คือการไปสู่คติชั่ว ชื่อว่าทุคคติภัย เพราะอรรถว่าอันบุคคลพึงกลัว. แม้ในภัยทั้ง ๓ ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ในท่านเหล่านั้นปุถุชนกลัวทุคคติภัยด้วยคิดว่า ถ้าท่านจักทำบาปไซร้ อบายทั้ง ๔ จักเป็นเช่นกับงูเหลือม กำลังหิวกระหายอ้าปากคอยท่าอยู่ ท่านเมื่อเสวยทุกข์อยู่ ในอบายเหล่านั้นจักทำอย่างไร? จึงไม่ทำบาป.
               ก็สังสารวัฏมีเบื้องต้นและที่สุดอันรู้มิได้นั่นแหละ ชื่อว่าวัฏฏภัย. อกุศลแม้ทั้งปวงชื่อว่ากิเลสภัย. การติเตียน ชื่อว่าอุปวาทภัย.
               ปุถุชนกลัวภัยเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำบาป แต่พระเสกขะ ๓ จำพวกคือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ทั้ง ๓ นี้ล่วงพ้นจากทุคคติภัยได้แล้ว จึงยังกลัวภัยทั้ง ๓ ที่เหลืออยู่ ย่อมไม่กระทำบาป. พระเสกขะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ชื่อว่าผู้งดเว้นจากภัย ด้วยอำนาจแห่งการบรรลุ หรือเพราะความเป็นผู้ตัดภัยยังไม่ขาด.
               พระขีณาสพ ชื่อว่าอภยูปรตบุคคล ท่านไม่กลัวภัยแม้สักอย่างหนึ่ง ในภัยทั้ง ๔ เหล่านั้น.
               จริงอยู่ พระขีณาสพ ท่านตัดภัยได้ขาดแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อภยูปรโต" ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่ เพราะความกลัวภัย.
               ถามว่า ท่านก็ย่อมไม่กลัวแม้แต่ อุปวาทภัย ภัยคือการติเตียนหรือ?
               ตอบว่า ไม่กลัว แต่ไม่ควรกล่าวว่า ท่านรักษาอุปวาทภัย ข้อนี้ บัณฑิตพึงเห็นเหมือนพระขีณาสพเถระในบ้านโทณุปปลวาปี เป็นตัวอย่าง.
               จบอรรถกถาภยูปรตบุคคลและอภยูปรตบุคคล.               

               อรรถกถาอภัพพาคมนบุคคลและภัพพาคมนบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งอภัพพาคมนบุคคล.
               ผู้ใดไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมมัตตนิยาม เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่าอภัพพาคมนบุคคล.
               บทว่า "กมฺมาวรเณน" แปลว่า ด้วยกรรมอันเป็นเครื่องกั้น ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ อย่าง.
               บทว่า "กิเลสาวรเณน" แปลว่า ด้วยกิเลสเป็นเครื่องกั้น ได้แก่นิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               บทว่า "วิปากาวรเณน" แปลว่า ด้วยวิบากเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกะและทวิเหตุกจิต.
               บทว่า "อสทฺธา" แปลว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ได้แก่เป็นผู้เว้นจากความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.
               บทว่า "อจฺฉนฺทิกา" แปลว่า ผู้ไม่มีฉันทะ ได้แก่ผู้เว้นจากความพอใจ ในกัตตุกัมยตากุศล. เว้นชาวชมพูทวีปเสียแล้ว บุคคลเหล่านั้น พึงทราบว่าผู้อยู่ในทวีปทั้ง ๓ นอกจากนี้ ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น มนุษย์ทั้งหลายชื่อว่า เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีฉันทะ.
               บทว่า "ทุปฺปญฺญา" แปลว่า มีปัญญาทราม ได้แก่เว้นจากภวังคปัญญา.
               บทว่า "อภพฺพา" แปลว่า ผู้ไม่ควร ได้แก่ไม่ได้อุปนิสัยแห่งมรรคและผล.
               บทว่า "นิยามํ" ได้แก่ มรรคนิยาม.
               บทว่า "โอกฺกมิตุํ" ความว่า ไม่ควรเพื่อจะก้าวล่วง คือก้าวลงไปสู่นิยาม กล่าวคือสัมมัตตะในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเพื่อจะตั้งมั่นในมรรคผลนั้นได้.
               นิเทศแห่งภัพพาคมนบุคคล บัณฑิตพึงทราบโดยปฏิปักษ์นัยจากคำที่กล่าวแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทุกะนี้ อย่างนี้ว่า
               "บุคคลใดกระทำปัญจานันตริยกรรม ๑ เป็นผู้นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑ ผู้ถือปฏิสนธิมาด้วยอเหตุกะและทวิเหตุกจิต ๑ ผู้ไม่เชื่อพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ๑ ความพอใจเพื่อจะทำกุศลของผู้ใดไม่มี ๑ ผู้มีภวังคปัญญาไม่บริบูรณ์ ๑ อุปนิสัยมรรคผลของผู้ใดไม่มี ๑ บุคคลเหล่านั้น แม้ทั้งหมดเป็นผู้มีภัพพวิปริตไม่พึงก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามธรรม คือมรรคผลและนิพพาน" ดังนี้.
               จบอรรถกถาอภัพพาคมนบุคคลและภัพพาคมนบุคคล.               

               อรรถกถานิยตบุคคลและอนิยตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งนิยตานิยตบุคคล.
               บทว่า "อนนฺตริกา" ได้แก่ ผู้พรั่งพร้อมด้วยอนันตริยกรรม.
               บทว่า "มิจฺฉาทิฏฺฐิกา" ได้แก่ ผู้พรั่งพร้อมด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               ก็บุคคลเหล่านั้น แม้ทั้งหมดชื่อว่านิยตะ (เที่ยง) เพราะเป็นผู้เที่ยงเพื่อประโยชน์แก่นรก. ส่วนพระอริยบุคคล ๘ จำพวก ชื่อว่าเที่ยง เพราะเป็นผู้เที่ยง เพื่อประโยชน์แก่มรรคและผลในเบื้องบน โดยความเป็นผู้เจริญปัญญาโดยชอบ และเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน.
               ส่วนบุคคลที่เหลือมีคติไม่เที่ยง เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลขว้างไปในอากาศ เมื่อจะตกลงบนแผ่นดิน ใครๆ ก็ไม่ทราบว่า ทางปลายหรือกลางหรือโคนจะตกลงก่อนฉันใด บุคคลเหล่านั้นก็เหมือนกัน บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าผู้ไม่เที่ยง เพราะการกำหนดแน่นอนไม่ได้ว่า ผู้นี้จะเกิดในคติชื่อโน้น ฉันนั้น.
               ก็ตามที่ชนชาวอุตตรกุรุทวีปมีคติเที่ยงตามที่พระองค์ตรัสไว้นั้น หาใช่ตรัสด้วยอำนาจนิยตธรรมไม่ แท้จริง มิจฉัตตธรรมและสัมมัตตธรรมเท่านั้น ชื่อว่านิยตะ. ก็บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า "ปุคฺคลนิยโม" ด้วยอำนาจแห่งมิจฉัตตะและสัมมัตตธรรมเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถานิยตบุคคลและอนิยตบุคคล.               

               อรรถกถาปฏิปันนกบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งปฏิปันนกบุคคล.
               บทว่า "มคฺคสมงฺคิโน" แปลว่า ผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ได้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค. ก็บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเหล่านั้น ชื่อว่าปฏิปันนกบุคคล เพราะเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อต้องการผล.
               บทว่า "ผลสมงฺคิโน" ได้แก่ ผู้พร้อมเพรียงด้วยผล เพราะเป็นผู้พร้อมเพรียงในการได้ผล. อันที่จริง นับตั้งแต่การได้ผลไปแล้ว ท่านเหล่านั้นแม้ยังไม่เข้าผลสมาบัติ ก็ชื่อว่าตั้งอยู่ในผลนั่นเทียว.
               จบอรรถกถาปฏิปันนกบุคคล.               

               อรรถกถาสมสีสีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งสมสีสีบุคคล.
               สองบทว่า "อปุพฺพํ อจริมํ" ได้แก่ ไม่ก่อนไม่หลัง. อธิบายว่า พร้อมกันนั่นเอง.
               บทว่า "ปริยาทานํ" ได้แก่ ความสิ้นไปรอบ.
               บทว่า "อยํ" ความว่า บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกชื่อว่าสมสีสี.
               ก็สมสีสีบุคคลนี้มี ๓ พวก คือ
                         ๑. อิริยาปถสมสีสี
                         ๒. โรคสมสีสี
                         ๓. ชีวิตสมสีสี.
               บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลใดกำลังจงกรมอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต ยังจงกรมอยู่นั่นแหละ ย่อมปรินิพพานเหมือนพระปทุมเถระ. บุคคลใดกำลังยืนอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตกำลังยืนอยู่นั่นแหละ ย่อมปรินิพพานเหมือนพระติสสเถระผู้อยู่ในวิหารโกฏบรรพต. บุคคลใดกำลังนั่งอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตกำลังนั่งนั่นแหละ ย่อมปรินิพพาน. บุคคลใดกำลังนอนอยู่ เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตกำลังนอนนั่นแหละ ย่อมปรินิพพาน. บุคคลทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าอิริยาปถสมสีสีบุคคล.
               อนึ่ง บุคคลใด เกิดโรคอย่างหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาภายในโรคนั่นแหละ แล้วบรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพานด้วยโรคนั้นนั่นแหละ ท่านผู้นี้ชื่อว่าโรคสมสีสีบุคคล.
               ถามว่า บุคคลผู้ชื่อว่า ชีวิตสมสีสี เป็นไฉน?
               ตอบว่า คำว่า "สีสะ" มี ๑๓ อย่าง คือ
                         ๑. ตัณหา ชื่อว่าปลิโพธสีสะ
                         ๒. มานะ ชื่อว่าพันธนสีสะ
                         ๓. ทิฏฐิ ชื่อว่าปรามาสสีสะ
                         ๔. อุทธัจจะ ชื่อว่าวิกเขปสีสะ
                         ๕. อวิชชา ชื่อว่ากิเลสสีสะ
                         ๖. ศรัทธา ชื่อว่าอธิโมกขสีสะ
                         ๗. วิริยะ ชื่อว่าปัคคหสีสะ
                         ๘. สติ ชื่อว่าอุปัฏฐานสีสะ
                         ๙. สมาธิ ชื่อว่าอวิกเขปสีสะ
                         ๑๐. ปัญญา ชื่อว่าทัสสนสีสะ
                         ๑๑. ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่า ปวัตตสีสะ
                         ๑๒. วิโมกข์ ชื่อว่าโคจรสีสะ
                         ๑๓. นิโรธ ชื่อว่าสังขารสีสะ.
               บรรดาสีสะเหล่านั้น อรหัตมรรคย่อมครอบงำอวิชชา คือกิเลสสีสะ จุติจิตย่อมครอบงำชีวิตนทรีย์ คือปวัตตสีสะ จิตที่ครอบงำอวิชชาย่อมไม่อาจเพื่อจะครอบงำชีวิตนทรีย์ได้ จุติจิตที่ครอบงำชีวิตนทรีย์ก็ไม่อาจเพื่อจะครอบงำจิตที่มีอวิชชาได้ จิตที่ครอบงำอวิชชาก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตที่ครอบงำชีวิตนทรีย์ก็เป็นอย่างหนึ่ง. สีสะทั้งสองอย่างนี้ของบุคคลใด ถึงความสิ้นไปพร้อมๆ กัน บุคคลนั้นจึงชื่อว่าชีวิตสมสีสี.
               ถามว่า สีสะทั้ง ๒ อย่างนี้ มีพร้อมๆ กันได้อย่างไร?
               ตอบว่า เพราะมีพร้อมๆ กันได้ด้วยวาระ.
               อธิบายว่า การออกจากมรรคย่อมมีในวาระใด วาระนั้นชื่อว่ามีพร้อมๆ กัน คือว่า บุคคลใดตั้งอยู่ในปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง คือปัจจเวกขณะในโสดาปัตติมรรค ๕ อย่าง ในสกทาคามิมรรค ๕ อย่าง ในอนาคามิมรรค ๕ อย่าง ในอรหัตตมรรค ๔ อย่าง แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน ความสิ้นไปแห่งสีสะทั้งสองอย่างนี้ จึงชื่อว่าพร้อมๆ กัน เพราะความพร้อมๆ กันด้วยวาระเหล่านั้น เพราะฉะนั้น บุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตสมสีสี.
               ก็บุคคลนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในสมสีสีนิเทศนี้.
               จบอรรถกถาสมสีสีบุคคล.               

               อรรถกถาฐิตกัปปีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่ง ฐิตกัปปีบุคคล.
               ๑-กัปตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ฐิตกปฺโป. กัปตั้งอยู่ของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ฐิตกปฺโป แปลว่า ผู้มีกัปอันตั้งอยู่. อธิบายว่า เป็นผู้สามารถ เพื่อจะให้กัปดำรงอยู่ได้.
____________________________
๑- มหากัปหนึ่ง มีอายุเท่ากับ ๒๕๖ อันตรกัป อสังขัยกัปหนึ่ง เท่ากับ ๑ ใน ๔ ของมหากัป.
               ท่านแบ่งมหากัปออกเป็น ๔ ภาค คือ ก. สังวัฏฏอสังขัยกัป ได้แก่ โลกที่กำลังถูกทำลาย ข. สังวัฏฏฐายีอสังขัยกัป ได้แก่ โลกที่ถูกทำลายเสร็จแล้ว ค. วิวัฏฏอสังขัยกัป ได้แก่ โลกที่กำลังก่อสร้าง ฆ. วิวัฏฏฐายีอสังขัยกัป ได้แก่ โลกที่สร้างเสร็จแล้ว.
               อันตรกัป ได้แก่ ระยะเวลาที่ท่านประมาณไว้ดังนี้ คือ เมื่อมนุษย์มีอายุอยู่ถึง ๑ อสังขัยปี แล้วก็ลดลงมา คือร้อยปีลดหนึ่งปี จนถึง ๑๐ ปี และกลับทับทวีเพิ่มขึ้นไปทุกชั่วระยะชีวิต จนถึง ๑ อสังขัยปีอีก จึงนับเป็นอันตรกัปหนึ่ง ๖๔ อันตรกัปจึงเป็นอสังขัยกัปหนึ่ง.
               อนึ่ง ขัยอายุของมนุษย์ที่ลดลงและเพิ่มขึ้นระยะนั้น เรียกว่า อายุกัป.


               คำว่า ฑยฺหนเวลา อสฺสาติ ฌายนกาโล ภเวยย เวลาเป็นที่ไหม้ของกัปนั้นมีอยู่ เพราะฉะนั้นกัปนั้น จึงชื่อว่า ฌายนกาโล แปลว่า มีกาลเป็นที่ไหม้.
               คำว่า "เนว ตาว" ความว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคนี้ (มคฺคสมงฺคีปุคฺคโล) ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งพระโสดาปัตติผลเพียงใด กัปก็ยังไม่ถูกไฟไหม้เพียงนั้น แม้กัปกำลังไหม้อยู่ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคนั้นไม่ไหม้เลย พึงดำรงอยู่ได้.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่ากัปวินาศเป็นวิกาลใหญ่ เป็นมหาปโยคะ เป็นมหาโลกวินาศ ด้วยสามารถแห่งการไหม้ตลอดแสนโกฏิจักรวาล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาวินาศนี้ พึงปรากฏอยู่อย่างนี้ทีเดียว แต่เมื่อพระศาสนายังทรงอยู่ ชื่อว่ากัปวินาศก็ยังไม่มี ทั้งศาสนาก็ย่อมไม่มีในเวลาที่กัปพินาศ. แต่ชื่อว่ากัปวินาศ ย่อมมีในเวลาอันถึงที่สุดแล้ว. แม้เมื่อความเป็นอย่างนั้น พระศาสดาทรงนำเหตุนี้มาเพื่อจะแสดงความไม่มีอันตราย. แม้เหตุนี้จะพึงมี แต่อันตรายทั้งหลายแห่งผลจิตของมรรคบุคคล อันอะไรๆ ก็ไม่อาจจะกระทำได้ดังนี้.
               ถามว่า ก็บุคคลนี้แม้ให้กัปตั้งอยู่ได้ พึงตั้งอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่าไร.
               ตอบว่า การออกจากมรรคย่อมมีในวาระใด ท่านก็พึงตั้งอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านั้น.
               คำว่า "อถ ภวงฺคํ อาวชฺเชนฺตํ มโนทฺวาราวชฺชนํ อุปฺปชฺชติ ตโต ตีณิ อนุโลมานิ เอกํ โคตฺรภูจิตฺตํ เอกํ มคฺคจิตฺตํ เทฺว ผลจิตฺตานิปญฺจ ปจฺจเวกฺขณญาณานิ"
               อธิบายว่า เมื่อภวังคจิตดับแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็พิจารณา ต่อจากนั้น อนุโลมญาณก็เกิดขึ้น ๓ ขณะ โคตรภูจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มรรคจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ผลจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ ปัจจเวกขณญาณเกิดขึ้น ๕ ครั้ง บุคคลนี้พึงตั้งอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้.
               อนึ่ง เพื่อจะแสดงเนื้อความนี้ด้วยข้ออุปมาที่มีในภายนอก พระอาจารย์ทั้งหลาย ท่านแสดงเรื่องนี้ไว้ อย่างนี้ว่า
               ก็ถ้าบุคคลพึงเอาเชือก ๓ เกลียว ผูกแท่งศิลาหนาทึบเป็นอันเดียวกัน มีประมาณโยชน์หนึ่ง ห้อยไว้บนศีรษะของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค เมื่อเชือกเกลียวหนึ่งขาดแล้ว แท่งศิลาก็ยังห้อยอยู่ด้วยเชือก ๒ เกลียว เมื่อเกลียวที่สองขาดแล้ว ก็ยังห้อยอยู่ด้วยเชือกเพียงเกลียวเดียว ครั้นเชือกเกลียวเดียวนั้นขาดแล้ว แท่งศิลานั้นก็ลอยอยู่บนอากาศเหมือนความหลอกลวงของก้อนเมฆลอยอยู่ ศิลานั้นหาได้ทำอันตรายแก่บุคคลผู้มีมัคคานันตระ คือผู้ไม่มีอะไรคั่นระหว่างมรรคกับผลนั้นไม่. การแสดงนี้เป็นการแสดงเพียงเล็กน้อย การแสดงครั้งก่อนนั่นแหละเป็นการแสดงใหญ่.
               ก็บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเท่านั้น ชื่อว่าตั้งอยู่ตลอดกัปอย่างเดียวก็หาไม่ แม้ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคนอกจากนี้ก็ตั้งอยู่ตลอดกัปเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชักเอาบุคคลที่พระองค์ทรงถือเอาและไม่ทรงถือเอาหนหลัง แล้วยกขึ้นสู่แบบแผนนี้ พร้อมกับปิฏฐิวัฏฏกบุคคลทั้งหลาย. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคแม้ทั้งหมด ชื่อว่าฐิตกัปปี ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัป ดังนี้.
               จบอรรถกถาฐิตกัปปีบุคคล.               

               อรรถกถาอริยบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระอริยบุคคล.
               ชื่อว่าอริยะ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งหลาย. ชื่อว่าอริยะ เพราะประเสริฐกว่าโลกพร้อมทั้งเทวโลก. บุคคลผู้มีความบริสุทธิ์เป็นอรรถ ชื่อว่าอรรถแห่งอริยะ เพราะฉะนั้น แม้เพราะอรรถว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงชื่อว่าอริยะ. เหล่าชนทั้งหลายที่เหลือไม่ชื่อว่าอริยะ เพราะความเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์.
               จบอรรถกถาอริยบุคคล.               

               อรรถกถาเสขกบุคคลและอเสกขบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระเสกขบุคคล.
               บุคคลเหล่าใดถึงพร้อมด้วยอริยมรรคในขณะแห่งมรรคจิตด้วย ถึงพร้อมด้วยอริยผลในขณะแห่งผลจิตด้วย ชนเหล่านี้ยังศึกษาสิกขาทั้ง ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า เสกฺขา แปลว่า ผู้ยังศึกษาอยู่.
               ส่วนพระอรหันต์ ท่านศึกษาสิกขาทั้ง ๓ ในขณะแห่งอรหัตผล กิจคือการศึกษาย่อมไม่มีแก่ท่านอีก เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่า อเสกฺขา แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา.
               พระอริยบุคคล ๗ จำพวก ท่านกำลังศึกษาอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เสกฺขา. พระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า สิกฺขิตาเสกฺขา แปลว่า อเสกขบุคคลที่ศึกษาเสร็จแล้วจากบุคคลอื่น เป็นเพราะความที่ศีลเป็นต้นท่านศึกษาแล้วในสำนักแห่งบุคคลอื่น พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า อสิกฺขิตาเสกฺขา แปลว่า อเสกขบุคคลที่ไม่ศึกษาจากสำนักบุคคลอื่น เพราะความที่ท่านเป็นสยัมภู คือเป็นผู้ตรัสรู้เอง.
               บุคคลทั้งหลายที่เหลือ กำลังศึกษาก็ไม่ใช่ ศึกษาแล้วก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เนวเสกฺขานาเสกฺขา.
               จบอรรถกถาเสกขบุคคลและอเสกขบุคคล.               

               อรรถกถาเตวิชชบุคคลและฉฬภิญญบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งเตวิชชบุคคล.
               บุคคลผู้ยังบุพเพนิวาสและทิพยจักขุญาณให้เกิดขึ้นแล้วบรรลุพระอรหัตในภายหลังก็ดี ผู้บรรลุพระอรหัตก่อน แล้วยังบุพเพนิวาสและทิพยจักขุญาณให้เกิดขึ้นก็ดี ชื่อว่าผู้มีวิชชา ๓ ทั้งสิ้น (เตวิชฺโช).
               ก็ข้อกำหนดในการบรรลุเป็นธุระในที่นี้ว่า "ก็ถ้อยคำที่กล่าวไว้ในพระสูตรเป็นการแสดงโดยอ้อม ถ้อยคำที่กล่าวในพระอภิธรรมเป็นการแสดงโดยตรง" เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ยังวิชชา ๒ ให้เกิดขึ้นก่อนแล้วบรรลุพระอรหัตในภายหลังนั่นแหละ พระองค์ทรงพระประสงค์เอาในเตวิชชนิทเทสนี้.
               แม้ในบุคคลผู้มีอภิญญา ๖ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาเตวิชชบุคคลและฉฬภิญญบุคคล.               

               อรรถกถาสัมมาสัมพุทธบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งสัมมาสัมพุทธบุคคล.
               คำว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ" ได้แก่ ในธรรมอันไม่เคยสดับมาก่อนในสำนักแห่งบุคคลอื่น ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้สัจธรรมในปัจฉิมภพ. ก็ในภพก่อนๆ แต่ภพนั้น พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา เรียนพระไตรปิฏกทั้ง ๓ แล้วยกขึ้นสู่คตปัจจาคตวัตร คือวัตรที่นำกรรมฐานไปและนำกลับมา เริ่มตั้งกรรมฐานจนจดอนุโลมและโคตรภูญาณ. เพราะฉะนั้น คำว่า "สัมมาสัมพุทโธ" นี้ ท่านกล่าวหมายเอาความเป็นผู้ไม่มีใครๆ เป็นอาจารย์ในปัจฉิมภพ คือภพสุดท้ายเท่านั้น.
               จริงอย่างนั้น พระตถาคตเจ้าทรงตรัสรู้สัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยพระองค์เอง ด้วยญาณอันประจักษ์แก่พระองค์ว่า "อิทํ ทุกฺขํ ฯลฯ อิทํ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ ในสังขตธรรมทั้งหลายที่ไม่ได้สดับมาในสำนักแห่งบุคคลอื่น เพราะความที่พระองค์เป็นผู้มีบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว.
               คำว่า "ตตฺถ" ได้แก่ อรหัตมรรค กล่าวคือปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้สัจธรรมทั้ง ๔ นั้น.
               คำว่า "พเลสุ วสีภาวํ" ได้แก่ ย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในการประพฤติพระสัพพัญญุตญาณและทศพลญาณทั้งหลาย. ก็กิจอื่น ชื่อว่าควรกระทำย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จำเดิมแต่การบรรลุพระสัพพัญญุตญาณและพระทศพลญาณ. เหมือนอย่างว่า อิสริยยศทั้งหมดใครๆ ไม่ควรกล่าวว่า ชื่อว่าอิสริยยศนี้ไม่มาถึงแก่ขัตติยกุมารผู้อุภโตสุชาติ จำเดิมแต่การได้อภิเษก อิสริยยศนี้ย่อมเป็นธรรมชาติมาแล้วทั้งสิ้น ฉันใด ชื่อว่าคุณนี้อันใครๆ ไม่ควรกล่าวว่า ไม่มาถึงแล้วแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย, พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่แทงตลอดแล้ว, และไม่ประจักษ์แก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จำเดิมแต่การบรรลุอรหัตมรรค คุณคือพระสัพพัญญุตญาณแม้ทั้งปวง ชื่อว่ามาแล้ว พระพุทธเจ้าได้แทงตลอดแล้ว กระทำให้ประจักษ์แล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ ได้แก่บุคคลผู้มีสัพพัญญูคุณอันแทงตลอดแล้วด้วยอริยมรรค โดยอานุภาพแห่งความสำเร็จแล้ว ด้วยบารมีอันบริบูรณ์ด้วยประการฉะนี้ ท่านจึงเรียกว่า "สัมมาสัมพุทโธ".
               จบอรรถกถาสัมมาสัมพุทธบุคคล.               

               อรรถกถาปัจเจกสัมพุทธบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งปัจเจกสัมพุทธบุคคล.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งบทว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ" โดยนัยที่กล่าวไว้ในกาลก่อนนั่นแหละ. แท้จริงพระปัจเจกพุทธเจ้า ในปัจฉิมภพ ก็ไม่มีใครๆ เป็นอาจารย์ ท่านแทงตลอดสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยอัตตุกกังสิกญาณ คือญาณที่รู้เฉพาะตนเองนั่นแหละ แต่หาได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณและทศพลญาณไม่.
               จบอรรถกถาปัจเจกสัมพุทธบุคคล.               

               อรรถกถาอุภโตภาควิมุตตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งอุภโตภาควิมุตตบุคคล.
               คำว่า "อฏฺฐ วิโมกฺเข กาเยน วิหรติ" ความว่า ได้สมาบัติ ๘ ด้วยสหชาตนามกายแล้วอยู่.
               คำว่า "ปญฺญาย จสฺส ทิสฺวา" ความว่า อาสวะทั้ง ๔ สิ้นแล้ว เพราะเห็นความเป็นไปแห่งสังขารด้วยวิปัสสนาปัญญา เห็นสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยมรรคปัญญา.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อุภโตภาควิมุตตบุคคล.
               ก็บุคคลนี้พ้นวิเศษแล้วจากส่วนทั้ง ๒ สิ้น ๒ ครั้ง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อุภโตภาควิมุต แปลว่า ผู้พ้นวิเศษแล้วจากส่วนทั้ง ๒ สิ้น ๒ ครั้ง.
               ข้อนี้ เถรวาทกล่าวไว้เป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้
               พระจุลนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฏก กล่าวไว้ก่อนว่า บุคคลใดพ้นแล้วด้วยวิกขัมภนวิโมกขสมาบัติ และพ้นแล้วด้วยสมุจเฉทวิโมกขมรรค เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อุภโตภาควิมุตตบุคคล.
               พระมหาธรรมรักขิตตเถระ ผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้นี้อาศัยนาม แล้วกล่าวว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน อุปสีวะ เปลวไฟถูกกำลังลมพัดแล้ว ย่อมดับไป ไม่เข้าถึงการนับได้ ฉันใด มุนีผู้หลุดพ้นวิเศษแล้วจากนามกายย่อมดับไป คือย่อมอุปาทาปรินิพพาน ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งการนับว่า เป็นคนเป็นสัตว์ได้ ฉันนั้น" ครั้นนำพระสูตรเรื่องอุปสีวมาณวปัญหาที่ ๖ ในโสฬสปัญหามาแล้ว จึงกล่าวว่า ชื่อว่าอุภโตภาควิมุตตบุคคล เพราะหลุดพ้นวิเศษแล้วจากนามกายและรูปกาย.
               ส่วนพระจูฬภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก กล่าวไว้ว่า บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยวิกขัมภนวิโมกขสมาบัติสิ้นวาระหนึ่ง พ้นวิเศษแล้วด้วยสมุจเฉทวิโมกขมรรคสิ้นวาระหนึ่ง จึงเรียกว่าอุภโตภาควิมุตบุคคล. ก็พระเถระทั้ง ๓ รูปนี้เป็นบัณฑิต ท่านตั้งวาทะไว้ให้เป็นแบบด้วยการใคร่ครวญว่า "เหตุในวาทะทั้ง ๓ ย่อมเห็นได้" ก็เมื่อกล่าวโดยสังเขป บุคคลใดพ้นวิเศษแล้วจากรูปกาย ด้วยอรูปสมาบัติ พ้นวิเศษแล้วจากนามกาย ด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่าอุภโตภาควิมุตตบุคคล เพราะหลุดพ้นวิเศษแล้วจากส่วนทั้งสอง.
               บุคคลที่ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต นั้นมี ๕ จำพวก คือ บุคคลผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ ออกจากรูปสมาบัติแล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้วจึงบรรลุพระอรหัต เป็น ๔ จำพวก และพระอนาคามีผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วบรรลุพระอรหัต ๑. บรรดาพระอริยะทั้ง ๕ นั้น ๔ พวกแรก ท่านไม่เข้านิโรธ อันมีสมาบัติเป็นประธาน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอุภโตภาควิมุตโดยปริยาย ท่านพระอนาคามีผู้ได้สมาบัตินั้นแล้ว เมื่อออกจากสมาบัติก็เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอุภโตภาควิมุตตเสฏฐบุคคล โดยนิปปริยาย.
               ถามว่า อรูปาวจรฌานก็ดี รูปาวจรจตุตถฌานก็ดี มีองค์ ๒ คืออุเบกขาและเอกัคคตา เพราะเหตุนั้น บุคคลกระทำรูปาวจรจตุตถฌานซึ่งมีองค์ ๒ นั้นให้เป็นปทัฏฐานแล้วบรรลุพระอรหัต ก็พึงเป็นผู้ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ไม่พึงเป็นเช่นนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความที่ผู้นั้นยังไม่พ้นแล้วจากรูปกาย. ด้วยว่า รูปาวจรจตุตถฌานนั้น พ้นจากกิเลสกายเท่านั้น หาได้พ้นจากรูปกายไม่ ฉะนั้น ผู้ออกจากสมาบัตินั้นแล้วบรรลุพระอรหัต จึงไม่ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต. ส่วนอรูปาวจรฌานพ้นแล้วจากนามกายด้วย จากรูปกายด้วย ฉะนั้น ผู้กระทำอรูปาวจรฌานนั้นให้เป็นบาทแล้วบรรลุพระอรหัต พึงทราบว่า ชื่อว่าอุภโตภาควิมุตบุคคล ดังนี้.
               จบอรรถกถาอุภโตภาควิมุตตบุคคล.               

               อรรถกถาปัญญาวิมุตตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งปัญญาวิมุตตบุคคล.
               ผู้ใดหลุดพ้นวิเศษแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น จึงชื่อว่าปัญญาวิมุตตบุคคล. ปัญญาวิมุตตบุคคลนั้นมี ๕ จำพวก คือพระอรหัตสุกขวิปัสสก ๑ บุคคลผู้ออกจากฌานทั้ง ๔ แล้วบรรลุพระอรหัตอีก ๔ จำพวก. ก็บรรดาพระอรหันต์เหล่านั้น แม้องค์หนึ่งที่ได้วิโมกข์ ๘ หามีไม่. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "น เหว โข อฏฺฐวิโมกฺเข" ดังนี้ แต่บรรดาอรูปาวจรฌานทั้งหลาย เมื่อมีอยู่สักหนึ่งฌาน ก็ชื่อว่าอุภโตภาควิมุตตบุคคล ได้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาปัญญาวิมุตตบุคคล.               

               อรรถกถากายสักขีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งกายสักขีบุคคล.
               คำว่า "เอกจฺเจ อาสวา" ได้แก่ อาสวะบางอย่างที่ประหานด้วยมรรค ๓ เบื้องต่ำ.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ได้แก่ บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่ากายสักขี.
               ก็บุคคลนั้นชื่อว่ากายสักขี ก็เพราะกระทำให้แจ้งซึ่งวิโมกข์อันตนถูกต้องแล้ว. บุคคลใดถูกต้องผลอันเกิดจากฌานก่อนแล้ว กระทำนิโรธคือนิพพานให้แจ้งในภายหลัง บุคคลแม้นี้ก็ชื่อว่ากายสักขี. กายสักขีบุคคลนี้มี ๖ จำพวก นับตั้งแต่พระโสดาปัตติผลจนถึงพระอรหัตมรรค ดังนี้.
               จบอรรถกถากายสักขีบุคคล.               

               อรรถกถาทิฏฐิปัตตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งทิฏฐิปัตตบุคคล.
               คำว่า "อิทํ ทุกฺขํ" ได้แก่ ทุกข์มีประมาณเท่านี้ ไม่เกินจากนี้ไป.
               แม้ในเหตุให้เกิดทุกข์เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำว่า "ยถาภูตํ ปชานาติ" ความว่า เว้นตัณหาเสียแล้ว ย่อมรู้ทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ๕ โดยกิจตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกขสัจจะ. ก็ตัณหาย่อมยังทุกข์ให้ตั้งขึ้น ให้เกิด ให้บังเกิด คือให้เป็นไปทั่ว ทุกข์นี้ย่อมเกิดจากตัณหานั้น เพราะเหตุนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งตัณหานั้น ตามความเป็นจริงว่า "อยํ ทุกฺขสมุทโย" แปลว่า นี้เป็นแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์.
               ก็เพราะเหตุที่ทุกข์นี้ด้วย สมุทัยนี้ด้วย ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมดับไป ย่อมสงบระงับ คือย่อมถึงความไม่ต้องเป็นไป เพราะฉะนั้น ย่อมรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้นตามความเป็นจริงว่า "อยํ ทุกฺขนิโรโธ" แปลว่า นี้เป็นที่ดับไปแห่งทุกข์.
               อนึ่ง มรรคใดประกอบด้วยองค์ ๘ เกิดขึ้น ทุกข์นี้ย่อมถึงซึ่งความดับไปด้วยมรรคนั้น เพราะฉะนั้น ย่อมรู้ทั่วซึ่งมรรคนั้นตามความเป็นจริงว่า "อยํ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา" แปลว่า นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
               บัดนี้เพื่อจะแสดงอริยสัจจะทั้ง ๔ ในขณะเดียวกัน พระองค์จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "ตถาคตปฺปเวทิตา" แปลว่า ธรรมอันพระตถาคตแทงตลอดแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "ตถาคตปฺปเวทิตา" ความว่า สัจธรรมทั้ง ๔ ที่พระตถาคตประทับ ณ มหาโพธิมณฑลทรงแทงตลอดแล้ว คือทรงทราบแล้ว ได้แก่กระทำให้ปรากฏแล้ว.
               บทว่า "ธมฺมา" ได้แก่ ธรรม คืออริยสัจทั้ง ๔.
               คำว่า "โว ทิฏฺฐา โหนฺติ" ได้แก่ ธรรมอันตนเห็นดีแล้ว.
               คำว่า "โว จริตา" ได้แก่ ประพฤติดีแล้ว ในธรรมเหล่านั้น.
               อธิบายว่า ได้แก่ ปัญญาที่ตนประพฤติดีแล้ว.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ได้แก่ บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า ทิฏฐิปัตโต. ก็บุคคลนี้บรรลุธรรมที่ตนเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทิฏฐิปัตโต.
               ญาณ คือปัญญาว่า "ทุกฺขา สงฺขารา สุโข นิโรโธ" แปลว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ นิโรธเป็นสุขอันบุคคลนั้นเห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ทิฏฺฐิปตฺโต. ทิฏฐิปัตตบุคคลนี้ก็มี ๖ จำพวกเหมือนพระอริยบุคคลผู้ชื่อว่ากายสักขี.
               จบอรรถกถาทิฏฐิปัตตบุคคล.               

               อรรถกถาสัทธาวิมุตตบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่ง สัทธาวิมุตตบุคคล.
               ข้อว่า "โน จ โข ยถา ทิฏฺฐิปตฺตสฺส" อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายของสัทธาวิมุตตบุคคล เป็นธรรมชาติสิ้นไป มิได้เหมือนกันกับทิฏฐิปัตตบุคคล.
               ถามว่า ความต่างกันในการละกิเลสแห่งพระอริยบุคคลทั้งสองนั้น มีอยู่หรือ?
               ตอบว่า ไม่มี.
               ถามว่า ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร สัทธาวิมุตตบุคคลจึงไม่ถึงทิฏฐิปัตตบุคคล.
               ตอบว่า เพราะความแตกต่างกันแห่งธรรมอันท่านพึงบรรลุมีอยู่. ก็ทิฏฐิปัตตบุคคล ท่านข่มกิเลสได้ด้วยการบรรลุไม่ลำบากเลย สามารถเพื่อข่มกิเลสทั้งหลายโดยไม่ลำบาก ไม่ยาก. แต่สัทธาวิมุตตบุคคล เป็นผู้ลำบากอยู่ด้วยความทุกข์ยาก จึงสามารถข่มกิเลสทั้งหลายได้ ฉะนั้น ท่านจึงไม่ถึงทิฏฐิปัตตบุคคล.
               อีกอย่างหนึ่ง ความแตกต่างกันแม้ด้วยปัญญาของท่านทั้ง ๒ นั้นก็มีอยู่ด้วย. อันวิปัสสนาญาณแห่งมรรค ๓ เบื้องบนของทิฏฐิปัตตะเป็นคุณชาติคม, กล้า, ผ่องใส เป็นไป. วิปัสสนาญาณของสัทธาวิมุตตะ ไม่คม, ไม่กล้า, ไม่ผ่องใส เป็นไป. แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่ถึงทิฏฐิปัตตบุคคล.
               เหมือนอย่างว่า ชายหนุ่ม ๒ คน เมื่อจะแสดงศิลปะ คนหนึ่งมีดาบอันคมกล้าอยู่ในมือ คนหนึ่งมีดาบทื่อ ต้นกล้วยเมื่อถูกตัดด้วยดาบที่คมกล้า ย่อมไม่ได้ยินเสียง แต่เมื่อถูกตัดด้วยดาบที่ทื่อ ย่อมส่งเสียงดัง "กฏะ กฏะ" ดังนี้ฉันใด ในข้อนั้น บัณฑิตพึงทราบคำอุปมัยดังนี้ว่า
               ความที่วิปัสสนาญาณแห่งมรรค ๓ ของทิฏฐิปัตตบุคคล เป็นคุณชาติคมกล้าและผ่องใสวิเศษแล้ว พึงทราบว่า เหมือนกับการตัดต้นกล้วยที่ไม่ได้ยินเสียงด้วยดาบอันคมกล้า ฉันนั้น และความที่วิปัสสนาญาณแห่งมรรคทั้ง ๓ ของสัทธาวิมุตตบุคคล เป็นคุณชาติไม่คม ไม่กล้าและไม่ผ่องใสวิเศษแล้ว พึงทราบว่า เหมือนกับการเอาดาบที่ทื่อตัดต้นกล้วย มีเสียงดังเกิดขึ้น ฉันนั้น.
               ก็ท่านอาจารย์ห้ามนัยนี้ว่า โน แล้วท่านทำการสันนิษฐานว่า สัทธาวิมุตตบุคคลไม่ถึงทิฏฐิปัตตบุคคล เพราะญาณอันท่านพึงบรรลุแตกต่างกันนั่นเทียว ก็ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาที่มาทั้งหลายแล้ว.
               จริงอยู่ ในท่านทั้งสองนั้น การสิ้นกิเลสของสัทธาวิมุตตบุคคล ย่อมมีในขณะแห่งมรรคอันเป็นบุพภาคส่วนเบื้องต้น ดุจบุคคลผู้กำลังเชื่ออยู่ หยั่งลงอยู่และน้อมใจเชื่ออยู่. ญาณเป็นเครื่องตัดกิเลสของทิฏฐิปัตตบุคคล ย่อมมีในขณะแห่งมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น ไม่ชักช้า เป็นของคมกล้าเป็นไป. เพราะฉะนั้นท่านจึงอุปมาว่า เปรียบเหมือนเอาดาบที่ไม่คมกล้าตัดต้นกล้วย ที่เป็นที่ถูกตัดนั้นย่อมไม่เกลี้ยง ดาบย่อมไม่ผ่านไปโดยรวดเร็ว จึงทำให้ได้ยินเสียง คือต้องใช้ความพยายามมาก ฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของสัทธาวิมุตตบุคคลเห็นปานนี้ ย่อมมีฉันนั้น.
               ญาณ คือปัญญาของทิฏฐิปัตตบุคคลนั้น เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลเอาดาบอันคมกล้าตัดต้นกล้วย ที่เป็นที่ถูกตัดย่อมเรียบเกลี้ยง ดาบผ่านไปได้รวดเร็วทำให้ไม่ได้ยินเสียง เขาไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ฉันใด พึงทราบว่า มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของทิฏฐิปัตตบุคคลผู้เห็นปานนี้ ก็ฉันนั้น ดังนี้.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า สทฺธาวิมุตฺโต.
               จริงอยู่ สัทธาวิมุตตบุคคลนี้ กำลังเชื่ออยู่ ชื่อว่าได้หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สทฺธาวิมุตฺโต. ก็สัทธาวิมุตตบุคคลนี้มี ๖ จำพวกเหมือนกับกายสักขีบุคคล.
               จบอรรถกถาสัทธาวิมุตตบุคคล.               

               อรรถกถาธัมมานุสารีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งธัมมานุสารีบุคคล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ด้วยบทนี้ว่า "ปฏิปนฺนสฺ".
               บทว่า "อธิมุตฺตํ" ได้แก่ มีกำลัง. ผู้ใดย่อมนำมาซึ่งปัญญา เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่าปัญญาวาหี แปลว่า ผู้มีปกตินำมาซึ่งปัญญา.
               อธิบายว่า ปัญญาย่อมนำบุคคลนี้ไป. ท่านกล่าวว่า "ปัญญาวาหี" ดังนี้ก็มีบ้าง.
               คำว่า "ปญฺญฺา ปุพฺพงฺคมํ" ได้แก่ กระทำปัญญาให้เป็นปุเรจาริก คือกระทำปัญญาให้เป็นหัวหน้า.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่าธัมมานุสารี. ก็บุคคลใดย่อมระลึก คือย่อมตามระลึกด้วยธรรม กล่าวคือปัญญา เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าธัมมานุสารี.
               คำว่า "ธมฺมานุสารี" นี้ เป็นชื่อแห่งบุคคลผู้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติมรรค แต่เมื่อท่านบรรลุผล ชื่อว่าทิฏฐิปัตตบุคคล.
               จบอรรถกถาธัมมานุสารีบุคคล.               

               อรรถกถาสัทธานุสารีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งสัทธานุสารีบุคคล.
               ผู้ใดย่อมนำมาซึ่งศรัทธา เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่าสัทธาวาหี แปลว่าผู้นำมาซึ่งศรัทธา.
               อธิบายว่า ศรัทธานำบุคคลนี้มา. ท่านกล่าวว่า "สุทธาวาหี" ดังนี้บ้างก็มีเหมือนกัน.
               บทว่า "สทฺธาปุพฺพงฺคมํ" ได้แก่ กระทำศรัทธาให้เป็นปุเรจาริก คือให้เป็นหัวหน้า.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า สัทธานุสารี. บุคคลใดย่อมระลึก คือย่อมตามระลึกถึงด้วยศรัทธา เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าสัทธานุสารี.
               คำว่า "สทฺธานุสารี" นี้เป็นชื่อของพระโสดาปัตติมรรค. แต่เมื่อท่านบรรลุผลจิตแล้ว ชื่อว่าสัทธาวิมุต. ก็ชื่อว่าธุระ ๒ อย่าง, ชื่อว่าอภินิเวส ๒ อย่าง, และชื่อว่าสีสะ ๒ อย่างของท่านผู้ยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้นมีอยู่.
               บรรดาธุระเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าธุระ มี ๒ อย่างคือสัทธาธุระ ๑ ปัญญาธุระ ๑.
               ชื่อว่าอภินิเวส คือการอาศัย ๒ อย่างคือ ภิกษุรูปหนึ่งย่อมอยู่ด้วยความสามารถแห่งการอาศัยสมถะ (สมถาภินิเวส) อีกรูปหนึ่ง ย่อมอยู่ด้วยความสามารถแห่งการอาศัยวิปัสสนา (วิปัสสนาภินิเวส).
               และชื่อว่าสีสะ คือที่สุด เหล่านี้ก็มี ๒ อย่าง คือภิกษุรูปหนึ่งบรรลุธรรมถึงที่สุดแล้ว ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ภิกษุรูปหนึ่งบรรลุธรรมถึงที่สุดแล้วมีชื่อว่าปัญญาวิมุต.
               อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นทั้งหมดย่อมกระทำธรรม ๒ อย่างนี้ คือศรัทธาและปัญญา ให้เป็นธุระ อาศัยฐานะทั้ง ๒ เหล่านี้คือสมถาภินิเวสและวิปัสสนาภินิเวส และย่อมหลุดพ้นด้วยสีสะทั้ง ๒ เหล่านี้คืออุภโตภาควิมุตตสีสะและปัญญาวิมุตตสีสะ.
               บรรดาท่านเหล่านั้น ภิกษุรูปใดได้สมาบัติ ๘ กระทำปัญญาให้เป็นธุระ อาศัยอำนาจสมถะกระทำอรูปสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นปทัฏฐานแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต ภิกษุรูปนั้นในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าธัมมานุสารี แต่ในฐานะ ๖ ข้างหน้า คือตั้งแต่โสดาปัตติผลถึงอรหัตมรรค ชื่อว่ากายสักขี. เมื่อบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต.
               อีกรูปหนึ่งทำปัญญาอย่างเดียวเท่านั้นให้เป็นธุระ อาศัยอำนาจวิปัสสนาพิจารณาสุทธสังขาร หรือรูปาวจรฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรลุพระอรหัต. ภิกษุแม้นี้ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าธัมมานุสารี แต่ในฐานะ ๖ ข้างหน้า คือตั้งแต่โสดาปัตติผลถึงอรหัตมรรค ชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ. เมื่อบรรลุพระอรหัตผล ชื่อว่าปัญญาวิมุต.
               ชื่อ ๒ อย่างคือปัญญาวิมุตและทิฏฐิปัตตะ ไม่เคยมีในที่นี้ และรวมกับชื่อก่อนๆ อีก ๓ ชื่อ คือธัมมานุสารี กายสักขีและอุภโตภาควิมุต จึงเป็น ๕ ชื่อด้วยกัน.
               อีกรูปหนึ่ง ท่านได้สมาบัติ ๘ กระทำศรัทธาให้เป็นธุระ อาศัยอำนาจสมถะ กระทำอรูปสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นปทัฏฐาน เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต. ภิกษุนี้ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าสัทธานุสารี แต่ในฐานะ ๖ ข้างหน้า ชื่อว่ากายสักขีนั่นแหละ. เมื่อบรรลุพระอรหัตผลแล้วจึงชื่อว่าอุภโตภาควิมุต นั่นเทียว. ชื่ออย่างเดียวเท่านั้น คือสัทธานุสารี ไม่เคยมีในที่นี้ รวมกับชื่อ ๕ ชื่อข้างต้น ก็เป็น ๖ ชื่อด้วยกัน.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งกระทำศรัทธานั่นแหละให้เป็นธุระ อาศัยอำนาจวิปัสสนาพิจารณาสังขารล้วน หรือรูปาวจรฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วบรรลุพระอรหัต. ภิกษุแม้นี้ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าสัทธานุสารี ในฐานะ ๖ ข้างหน้า คือตั้งแต่โสดาปัตติผลถึงอรหัตมรรค ชื่อว่าสัทธาวิมุต เมื่อท่านบรรลุอรหัตผลแล้วจึงชื่อว่าปัญญาวิมุต. ชื่ออย่างเดียวเท่านั้น คือสัทธาวิมุต ไม่เคยมีในที่นี้ แล้วรวมกับชื่อ ๖ ชื่อข้างต้น ก็เป็น ๗ ชื่อด้วยกัน. พระอริยบุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศในโลก.
               จบอรรถกถาสัทธานุสารีบุคคล.               

               อรรถกถาสัตตักขัตตุปรมบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งสัตตักขัตตุปรมบุคคล.
               คำว่า "สตฺตกฺขตฺตุํ" ได้แก่ สิ้น ๗ ครั้ง.
               การเกิดขึ้นในภพ กล่าวคือการถือเอาซึ่งอัตภาพมี ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่งของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า สตฺตกฺขตฺตุปรโม แปลว่า ผู้มี ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านไม่ถือเอาภพที่ ๘ จากภพที่ ๗ นั้นไป.
               อริยมรรค ชื่อว่า "โสโต" แปลว่า กระแส ในคำนี้ว่า "โสตาปนฺโน โหติ" บุคคลผู้ประกอบด้วยมรรคที่ชื่อว่าโสโตนั้น ชื่อว่าโสดาบัน.
               เหมือนอย่างคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "ก็สารีบุตร เรากล่าวคำนี้ว่า "โสโต โสโต" ดังนี้ สารีบุตร "โสโต" เป็นไฉน?" พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะนี้ คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เท่านั้น ชื่อว่าโสโต."
               พระองค์ตรัสถามว่า "สารีบุตร เราเรียกว่าโสดาบัน สารีบุตร โสดาบันนั้นเป็นไฉน?
               พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลใดประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะนี้ บุคคลนี้นั้นชื่อว่าพระโสดาบัน แม้ในขณะแห่งมรรคอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ มีชื่ออย่างนี้ หรือมีโคตรอย่างนี้ ก็ชื่อของผลอันมรรคให้แล้ว เพราะเหตุนั้น พระโสดาบัน พระองค์จึงทรงประสงค์เอาในขณะแห่งผล.
               บทว่า "อวินิปาตธมฺโม" ได้แก่ ภาวะคือการไม่ไปสู่อบาย กล่าวคือวินิปาตด้วยสามารถแห่งอันเกิดขึ้น. บทว่า "นิยโต" ได้แก่ ชื่อว่านิยตะ คือเที่ยงด้วยนิยามแห่งมรรค. บทว่า "สมฺโพธิปรายโน" ได้แก่ ความเป็นผู้มีการตรัสรู้อันจะเป็นไปในภายหน้า. แท้จริง พระโสดาบันนั้นย่อมตรัสรู้ด้วยมรรคอันตนได้เฉพาะแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าสัมโพธิปรายโน.
               อีกอย่างหนึ่ง พระโสดาบันนั้นจักตรัสรู้ด้วยมรรคเบื้องบนทั้ง ๓ โดยแน่แท้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าสัมโพธิปรายโน.
               สองบทว่า "เทเว จ มนุสฺเส จ" ได้แก่ เทวโลกและมนุษยโลก.
               สองบทว่า "สนฺธาวิตฺวา สํสริตฺวา" ได้แก่ การไปๆ มาๆ ด้วยอำนาจปฏิสนธิ.
               สองบทว่า "ทุกฺขสฺสนฺตํ กโรติ" ได้แก่ การทำหนทางอันเป็นที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกชื่อว่าสัตตักขัตตุปรโม แปลว่า ผู้มี ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง. ก็สัตตักขัตตุปรมบุคคลนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยภพที่ปะปนกันด้วยสามารถแห่งเทวโลกและมนุษยโลก ตามกาลอันสมควร.
               จบอรรถกถาสัตตักขัตตุปรมบุคคล.               

               อรรถกถาโกลังโกลบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งโกลังโกลบุคคล.
               บุคคลใดย่อมไปจากตระกูลสู่ตระกูล เหตุนั้นผู้นั้นจึงชื่อว่าโกลังโกละ. อธิบายว่า ก็ชื่อว่าการเกิดในตระกูลต่ำจำเดิมแต่การกระทำให้แจ้งซึ่งพระโสดาปัตติผลไปแล้ว ย่อมไม่มี ท่านย่อมเกิดในตระกูลที่มีโภคะมากอย่างเดียวเท่านั้น.
               คำว่า "เทฺว วา ตีณิ วา กุลานิ" ได้แก่ ไปสู่ ๒ ภพหรือ ๓ ภพด้วยอำนาจการเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์. โกลังโกลบุคคลแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยสามารถแห่งมิสสกภพ คือภพที่ปะปนกันนั่นเทียว.
               ก็ในคำว่า "เทฺว วา ตีณิ วา" สักว่าเป็นเทศนาเท่านั้น. โกลังโกลบุคคลนั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยวไปจนถึงภพที่ ๖ จึงกระทำทางคือมรรคอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งวัฏฏทุกข์ได้.
               จบอรรถกถาโกลังโกลบุคคล.               

               อรรถกถาเอกพีชีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งเอกพีชีบุคคล.
               ชื่อว่าพืช คือขันธ์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ก็พระโสดาบันองค์ใดมีพืช คือขันธ์ครั้งเดียวเท่านั้น คือมีการถือเอาอัตภาพครั้งเดียว พระโสดาบันนั้นชื่อว่าเอกพีชี.
               ก็คำว่า "มานุสฺสกํ ภวํ" นี้สักว่าเป็นเทศนาในที่นี้เท่านั้น. แต่จะกล่าวว่า "ยังเทวภพให้เกิด" ดังนี้บ้างก็สมควรเหมือนกัน. ก็ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อแห่งพระอริยบุคคลเหล่านั้น ด้วยสามารถแห่งชื่อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาแล้วนั่นเทียว.
               จริงอยู่ พระโสดาบันผู้ไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมบุคคล ผู้ไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าโกลังโกลบุคคล ผู้ไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเอกพีชีบุคคล ฉะนั้น ชื่อพระโสดาบันเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงถือเอาแล้ว. แต่ว่า โดยกำหนดแน่นอน (โดยนิยม) คำว่า พระโสดาบันรูปนี้เป็นสัตตักขัตตุปรมะ รูปนี้เป็นโกลังโกละ รูปนี้เป็นเอกพีชี ย่อมไม่มี.
               ถามว่า ก็ใครกำหนดประเภทพระอริยบุคคลเหล่านั้นได้.
               วิสัชนาว่า พระเถระบางพวกกล่าวไว้ก่อน ว่า "ปุพฺพเหตุ นิยเมติ" แปลว่า บุพเหตุ ย่อมกำหนดแน่นอน. บางพวกกล่าวว่า "ปฐมมคฺโค นิยเมติ" แปลว่า มรรคที่หนึ่งกำหนดแน่นอน. บางพวกกล่าวว่า "อุปริตโย มคฺคา นิยเมนฺติ" แปลว่า มรรคเบื้องบน ๓ กำหนดแน่นอน. บางพวกกล่าว "ติณฺณํ มคฺคานํ วิปสฺนา นิยเมติ" แปลว่า วิปัสสนาแห่งมรรคทั้ง ๓ กำหนดแน่นอน.
               บรรดาวาทะแห่งพระเถระเหล่านั้น วาทะว่า "ปุพฺพเหตุ นิยเมติ" ย่อมหมายความว่า อุปนิสัยแห่งปฐมมรรค ย่อมเป็นคุณชาตอันบุพเหตุกระทำแล้ว มรรคเบื้องบน ๓ ปราศจากอุปนิสัยเกิดขึ้น ในวาทะว่า "ปฐมมคฺโค นิยเมติ" หมายความว่า มรรค ๓ เป็นธรรมชาติไร้ประโยชน์.
               ในวาทะว่า "อุปริ ตโย มคฺคา นิยเมนฺติ" หมายความว่า เมื่อปฐมมรรคยังไม่เกิดขึ้นนั่นแหละ มรรคเบื้องบน ๓ เกิดขึ้นแล้ว. ก็วาทะว่า "ติณฺณํ มคฺคานํ วิปสฺสนา นิยเมติ" ซึ่งแปลว่า วิปัสสนาแห่งมรรคทั้ง ๓ กำหนดแน่นอน ย่อมถูกต้อง.
               ก็ถ้าวิปัสสนาแห่งมรรคทั้ง ๓ มีกำลัง พระโสดาบันก็ชื่อว่าเอกพีชี. ถ้าอ่อนกว่าวิปัสสนาของเอกพีชี ก็ชื่อว่าโกลังโกละ ถ้าอ่อนกว่าวิปัสสนาของโกลังโกละนั้น ก็ชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระโสดาบันบางองค์มีอัชฌาสัยในวัฏฏะ เป็นผู้ยินดีในวัฏฏะ ย่อมท่องเที่ยวไปในวัฏฏะบ่อยๆ นั่นเทียว ปรากฏอยู่. ก็ชนเหล่านี้มีประมาณเท่านี้ คือ
                         ๑. อนาถบิณฑิกเศรษฐี
                         ๒. วิสาขา อุบาสิกา
                         ๓. จูลรถเทวบุตร
                         ๔. มหารถเทวบุตร
                         ๕. อเนกวรรณเทวบุตร
                         ๖. ท้าวสักกเทวราช
                         ๗. นาคทัตตเทวบุตร.
               ทั้งหมดนี้ มีอัธยาศัยในวัฏฏะ เกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ตั้งแต่ต้นชำระจิตให้สะอาดในเทวโลกนั่นแหละ แล้วจึงตั้งอยู่ในอกนิฏฐภพ จึงจักปรินิพพาน ชนเหล่านี้ พระองค์มิได้ทรงถือเอาในที่นี้ ก็ชนเหล่านี้พระองค์มิได้ทรงถือเอาเท่านั้นก็หาไม่ พระโสดาบันองค์ใด บังเกิดในมนุษยโลกทั้งหลาย ท่องเที่ยวไปแล้วในมนุษยโลกนั่นแหละสิ้น ๗ ครั้ง แล้วจึงบรรลุพระอรหันต์ก็ดี พระโสดาบันองค์ใดบังเกิดในเทวโลกทั้งหลายท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในเทวโลกนั่นแหละสิ้น ๗ ครั้ง แล้วบรรลุพระอรหันต์ก็ดี พระโสดาบันแม้เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงถือเอา.
               แต่ว่าพึงทราบว่า ในที่นี้พระองค์ทรงถือเอาพระโสดาบัน ที่ชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะกับโกลังโกละ ด้วยสามารถแห่งภพอันเจือกัน และพระโสดาบันผู้บังเกิดในภพของมนุษย์เท่านั้นที่ชื่อว่าเอกพีชี.
               ในพระโสดาบันเหล่านั้นองค์หนึ่งๆ ย่อมถึงภาวะ ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่งทุกขาปฏิปทาเป็นต้น. ว่าด้วยสัทธาธุระ พระโสดาบันมี ๑๒ จำพวก คือชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ ๔ จำพวก ชื่อว่าโกลังโกละ ๔ จำพวก ชื่อว่าเอกพีชี ๔ จำพวก.
               ว่าด้วยปัญญาธุระ ก็ถ้าพระโสดาบันพึงอาจยังโลกุตตรธรรมให้เกิดด้วยปัญญา กระทำปัญญาให้เป็นธุระอย่างนี้ว่า เราจักให้โลกุตตรธรรมเกิดขึ้น แม้บรรลุเป็นพระโสดาบันผู้ชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะเป็นต้น ด้วยอำนาจปฏิปทา ๔ อย่าง ก็เป็นพระโสดาบัน ๑๒ จำพวกเหมือนกันนั่นแหละ ฉะนั้นพระโสดาบันทั้ง ๒๔ จำพวกเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในฐานะนี้ ด้วยสามารถแห่งพระอริยะผู้เข้าไปเพ่งธรรมอันตั้งอยู่ด้วยศรัทธาหรือ ปัญญา ในที่นี้นั่นเทียว.
               จบอรรถกถาเอกพีชีบุคคล.               

               อรรถกถาสกทาคามีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งสกทาคามีบุคคล.
               บุคคลใด ย่อมมาอีกครั้งเดียวด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่าสกทาคามี แปลว่า ผู้มาปฏิสนธิอีกครั้งเดียว.
               บทว่า "สกิเทว" ได้แก่ ครั้งหนึ่งเท่านั้น.
               บรรดาพระสกทาคามี ๕ จำพวก ๔ จำพวกพระองค์ไม่ทรงประสงค์เอา แต่ทรงประสงค์เอาเพียงพวกเดียวเท่านั้นในที่นี้ ด้วยบทว่า "อิมํ โลกํ อาคนฺตฺวา" เพราะว่า พระสกทาคามีบางพวกบรรลุสกทาคามิผลในโลกนี้ ย่อมปรินิพพานในโลกนี้นั่นแหละ บางพวกบรรลุสกทาคามิผลในโลกนี้ ปรินิพพานในเทวโลก บางพวกบรรลุในเทวโลกปรินิพพานในเทวโลกนั่นแหละ บางพวกบรรลุในเทวโลกแล้วเกิดขึ้นในโลกนี้แล้วจึงปรินิพพาน รวมพระสกทาคามีทั้ง ๔ จำพวกดังกล่าวมานี้ พระองค์มิได้ทรงประสงค์เอาในสกทาคามีนิสเทสนี้.
               แต่พระสกทาคามีพวกใดบรรลุในโลกนี้ แล้วดำรงชีวิตอยู่ในเทวโลกตลอดอายุ แล้วก็เกิดขึ้นในโลกนี้อีกจึงปรินิพพาน พระสกทาคามีพวกเดียวนี้เท่านั้น พึงทราบว่า พระองค์ทรงถือเอาในสกทาคามีนิทเทสนี้.
               คำใดที่ยังเหลืออยู่ในที่นี้ ข้าพเจ้ายังมิได้กล่าว คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในโลกุตตรกุศลนิทเทส ในอรรถกถาแห่งธรรมสังคหะในหนหลัง.
               ถามว่า ก็พระสกทาคามีนี้มีการกระทำที่แตกต่างกันกับพระโสดาบันที่ชื่อว่าเอกพีชี อย่างไรบ้าง?
               ตอบว่า พระโสดาบัน ผู้ชื่อว่าเอกพีชี ท่านมีปฏิสนธิครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนพระสกทาคามีท่านมีปฏิสนธิ ๒ ครั้ง ข้อนี้เป็นการกระทำที่แตกต่างกันระหว่างพระอริยะทั้งสองเหล่านั้น.
               จบอรรถกถาสกทาคามีบุคคล.               

               อรรถกถาอนาคามีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งอนาคามีบุคคล.
               กามธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า โอรํ แปลว่า ต่ำ ในคำว่า "โอรมฺภาคิยานํ สญฺโญนานํ" เครื่องผูกทั้ง ๕ เหล่านี้อันบุคคลใดยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้นบุคคลนั้นแม้บังเกิดในภวัคคภูมิ ก็ยังถูกเครื่องผูกเหล่านั้นดึงให้ตกไปในกามธาตุนั่นเทียว เหมือนปลาที่กลืนกินเบ็ดและเหมือนนกกาที่เขาเอาเชือกยาวผูกเท้าไว้ เพราะฉะนั้น เครื่องผูกทั้ง ๕ ท่านจึงเรียกว่า โอรัมภาคิยะ.
               อธิบายว่า โอรัมภาคิยะนี้เป็นของเบื้องต่ำ คือเป็นส่วนเบื้องต่ำ.
               บทว่า "ปริกฺขยา" ได้แก่ เพราะสิ้นไปรอบแห่งเครื่องผูกเหล่านั้น
               บทว่า "โอปปาติโก" ได้แก่ ผู้มีกำเนิดเป็นโอปปาติกะ. หมายความว่า การนอนในครรภ์ของพระอนาคามีนั้น ท่านพ้นเสียแล้วด้วยบทว่า "โอปปาติโก" นี้.
               คำว่า "ตตฺถ ปรินิพฺพายิ" ได้แก่ พระอนาคามีผู้ปรินิพพานในสุทธาวาสเทวโลกนั้น.
               คำว่า "อนาวตฺติธมฺโม ตสฺมา โลกา" ความว่า ได้แก่ การไม่มาจากพรหมโลกแล้วกลับมาสู่กามโลกนี้ ด้วยอำนาจถือปฏิสนธิเป็นสภาวะ. ก็การมาของพระอนาคามีนั้น เพื่อประโยชน์แก่การเห็นพระพุทธเจ้า พระเถระและสดับฟังพระสัทธรรมอันธรรมดามิได้ห้ามไว้.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้มีสภาวะอย่างนี้ ท่านเรียกว่าพระอนาคามี เพราะไม่กลับมาอีก ด้วยอำนาจปฏิสนธิ.
               จบอรรถกถาอนาคามีบุคคล.               

               อรรถกถาอันตราปรินิพพายีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระอนาคามี ผู้ชื่อว่าอันตราปรินิพพายีบุคคล.
               คำว่า "อุปฺปนฺนํ วา สมนนฺตรา" ความว่า เป็นกาลติดต่อกันกับการเกิดขึ้นบ้าง.
               คำว่า "อปฺปตฺตํ วา เวมชฺฌํ อายุปฺปมาณํ" ความว่า ยังไม่ถึงประมาณท่ามกลางอายุบ้าง.
               อธิบายว่า ยังไม่ถึงท่ามกลางอายุ ท่านย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นแล้ว แล้วปรินิพพาน.
               ก็เนื้อความว่า "เวมชฺฌํ ปตฺตํ" แปลว่า ถึงท่ามกลางบ้าง บัณฑิตพึงทราบโดยการกำหนดด้วย "วา" ศัพท์. พระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ๓ จำพวก เป็นอันสำเร็จแล้วด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า "อุปริฏฺมานํ สญฺโญชนานํ" ได้แก่ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เบื้องบน หรือได้แก่กิเลส ๘.
               บทว่า "ปหานาย" ได้แก่ ยังมรรคให้เกิดขึ้นเพื่อต้องการละสังโยชน์เหล่านั้น.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่าอันตราปรินิพพายี เพราะปรินิพพานในระหว่างท่ามกลางแห่งอายุนั่นเทียว.
               จบอรรถกถาอันตราปรินิพพายีบุคคล.               

               อรรถกถาอุปหัจจปรินิพพายีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระอนาคามี ผู้ชื่อว่าอุปหัจจปรินิพพายีบุคคล.
               คำว่า "อติกฺกมิตฺวา เวมชฺฌํ อายุปฺปมาณํ" ได้แก่ ก้าวล่วงเลยท่ามกลางประมาณแห่งอายุ.
               คำว่า "อุปหจฺจ วา กาลกิริยํ" ได้แก่ ใกล้จะทำกาลกิริยา. อธิบายว่า จวนจะสิ้นอายุแล้ว.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่าอุปหัจจปรินิพพายี เพราะก้าวล่วงเลยท่ามกลาง ๕๐๐ มหากัปแห่งอายุอันมี ๑,๐๐๐ มหากัป เป็นประมาณในอวิหาภูมิทั้งหลายก่อน แล้วจึงตั้งอยู่ในกัปที่ ๖๐๐ มหากัปหรือที่ ๗๐๐ มหากัปหรือที่ ๘๐๐ มหากัปหรือที่ ๙๐๐ มหากัปหรือที่ ๑,๐๐๐ มหากัปอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแหละแล้วจึงบรรลุพระอรหัต และปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพาน.
               จบอรรถกถาอุปหัจจปรินิพพายีบุคคล.               

               อรรถกถาอสังขารปรินิพพายีและสสังขารปรินิพพายีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระอนาคามี ผู้ชื่อว่าอสังขารปรินิพพายีและสสังขารปรินิพพายีบุคคล.
               พระอนาคามีรูปใดไม่กระทำความเพียรอย่างแรงกล้า โดยไม่รวบรัด รีบเร่ง มีทุกข์น้อย บรรลุพระอรหัตแล้ว ปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานตามธรรมดา ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี แปลว่า ผู้ปรินิพพานตามธรรมดา โดยมิได้กระทำความเพียรอย่างแรงกล้า.
               ส่วนรูปใดกระทำความเพียรอย่างแรงกล้า โดยรีบด่วนไม่ชักช้า มีความทุกข์ยาก บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ด้วยกิเลสปรินิพพานตามธรรมดา ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าสสังขารปรินิพพายี แปลว่า ผู้ปรินิพพานตามธรรมดาด้วยการกระทำความเพียรอย่างแรงกล้า.
               จบอรรถกถาอสังขารปรินิพพายีและสสังขารปรินิพพายีบุคคล.               

               อรรถกถาอุทธังโสโตอกนิฏฐคามีบุคคล               
               วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระอนาคามี ผู้ชื่อว่าอุทธังโสโตบุคคล.
               ตณฺหาโสตํ กระแสคือตัณหา หรือ วฏฺฏโสตํ กระแสคือวัฏฏะของพระอนาคามีนั้นมีอยู่ในเบื้องบน เพราะเป็นธรรมชาตินำไปในเบื้องบน ฉะนั้นท่านจึงชื่อว่า อุทฺธํโสโต แปลว่า ผู้มีกระแส คือตัณหา หรือวัฏฏะในเบื้องบน.
               อีกอย่างหนึ่ง มคฺคโสตํ กระแส คือมรรคของพระอนาคามีนั้นมีอยู่ในเบื้องบน เพราะท่านไปสู่ภพเบื้องบนแล้วจึงได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า อุทฺธํโสโต แปลว่า ผู้มีกระแส คือมรรคในเบื้องบน.
               สองบทว่า "อกนิฏฺฐํ คจฺฉติ" ได้แก่ ผู้มีปกติไปสู่อกนิฏฐภพ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "อวิหาโต จุโต อตปฺปํ คจฺฉติ" เป็นต้นดังนี้ว่า
               พระอนาคามีเมื่ออยู่ในอวิหาภูมิตลอด ๑,๐๐๐ มหากัป ไม่อาจบรรลุอรหัต จึงไปสู่สุทัสสีภูมิ. เมื่อท่านแม้อยู่ในสุทัสสีภูมิตลอด ๘,๐๐๐ มหากัป ก็ไม่อาจบรรลุพระอรหัต ย่อมไปสู่อกนิฏฐภูมิ.
               อธิบายว่า เมื่อท่านอยู่ในอกนิฏฐภูมินั้น ย่อมให้อริยมรรคเกิดได้.
               อนึ่ง เพื่อต้องการทราบประเภทของพระอนาคามีเหล่านี้ นักศึกษาพึงทราบหมวด ๔ แห่งพระอนาคามี ผู้ชื่อว่า อุทฺธํโสโตอกนิฏฺฐคามี.
               บรรดาพระอนาคามีเหล่านั้นองค์ใดชำระเทวโลกทั้ง ๔ ให้สะอาด จำเดิมแต่อวิหาภูมิ และไปสู่อกนิฏฐภูมิจึงปรินิพพาน องค์นี้ชื่อว่า อุทฺธํโสโตอกนิฏฺฐคามี.
               ก็องค์ใดชำระเทวโลกทั้ง ๓ เบื้องต่ำให้สะอาด แล้วดำรงอยู่ในสุทัสสีเทวโลก จึงปรินิพพาน องค์นี้ชื่อว่า อุทฺธํโสโต น อกนิฏฺฐคามี แปลว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน แต่ไม่ไปสู่อกนิฏฐภูมิ.
               องค์ใดไปสู่อกนิฏฐภูมินั่นแหละ จากสุทัสสีเทวโลกนี้แล้ว จึงปรินิพพาน องค์นี้ชื่อว่า นอุทฺธํโสโตอกนิฏฺคามี ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่มีกระแสในเบื้องบน แต่ไปสู่อกนิฏฐภูมิ.
               ก็องค์ใดดำรงอยู่ ในเทวโลกทั้ง ๔ เบื้องต่ำย่อมปรินิพพานในที่นั้นๆ นั่นแหละ องค์นี้ชื่อว่า นอุทฺธํโสโต นอกนิฏฺฐคามี แปลว่า ผู้ไม่มีกระแสในเบื้องบนและไม่ไปสู่อกนิฏฐภูมิ.
               เพราะฉะนั้นเมื่อรวมพระอนาคามีเหล่านั้น จึงมี ๔๘ จำพวกด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า พระอนาคามี มี ๔๘ จำพวก เป็นไฉน?
               ตอบว่า ในอวิหาภูมิก่อน พระอนาคามีผู้เป็นอันตราปรินิพพายี ๓ จำพวก ผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี ๑ จำพวก ผู้เป็นอุทธังโสโต ๑ จำพวก, พระอนาคามีเหล่านั้นรวมเป็น ๑๐ จำพวก คือเป็นอสังขารปรินิพพายี ๕ จำพวก เป็นสสังขารปรินิพพายี ๕ จำพวก, ในอตัปปา สุทัสสาและสุทัสสีภูมิก็เหมือนกัน คือมี ๔ ภูมิๆ ละ ๑๐ จำพวก รวมเป็น ๔๐ จำพวก, แต่พระอนาคามีผู้ชื่อว่าอุทธังโสโต ไม่มีในชั้นอกนิฏฐภูมิ มีแต่พระอนาคามีผู้ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ๓ จำพวก อุปหัจจปรินิพพายี ๑ จำพวก พระอนาคามีเหล่านั้นเป็น ๘ จำพวก คือเป็นอสังขารปรินิพพายี ๔ จำพวก เป็นสสังขารปรินิพพายี ๔ จำพวก จึงรวมเป็นพระอนาคามี ๔๘ จำพวกด้วยประการฉะนี้.
               พระอนาคามีเหล่านั้นทั้งปวง อันบัณฑิตแสดงเปรียบเทียบแล้วด้วยประกายไฟที่เกิดจากเหล็ก ดังอุทาหรณ์ต่อไปนี้.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งปลายเหล็กแหลม ของมีดพับและมีดตัดเล็บที่ร้อนตลอดวันที่แท่งเหล็ก ประกายไฟเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฉันใด พระอนาคามีที่เห็นปานนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี พวกที่ ๑ ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะกิเลสดับไปไม่เหลือ ในลำดับที่เกิดขึ้นนั้นแหละ.
               เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งปลายเหล็กแหลมเป็นต้นที่ร้อนตลอดวัน อันใหญ่กว่านั้น ที่แท่งเหล็ก ประกายไฟก็พุ่งขึ้นสู่อากาศแล้วก็ดับไป ฉันใด พระอนาคามีที่เห็นปานนี้ พึงทราบว่าชื่อว่าอันตราปรินิพพายี พวกที่ ๒ ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะท่านมีอายุยังไม่ถึงท่ามกลางก็ปรินิพพาน.
               เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งปลายเหล็กแหลมเป็นต้นที่ร้อนตลอดวัน อันใหญ่กว่านั้น (หมายถึงใหญ่ขึ้นไปตามลำดับ) ที่แท่งเหล็ก ประกายไฟพุ่งขึ้นสู่อากาศแล้ววกกลับลงมาสู่พื้นดินแต่ยังมิทันกระทบก็ดับไป ฉันใด พระอนาคามีที่เห็นปานนี้ พึงทราบว่าชื่อว่าอันตราปรินิพพายี พวกที่ ๓ ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะถึงท่ามกลางแห่งอายุแล้ว ยังไม่ใกล้จะทำกาลกิริยา ก็ปรินิพพาน.
               เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งปลายเหล็กแหลมเป็นต้นที่ร้อนตลอดวัน อันใหญ่กว่านั้นที่แท่งเหล็ก ประกายไฟพุ่งขึ้นสู่อากาศแล้วตกลงยังพื้นดินแต่พอกระทบกับพื้นดินแล้วก็ดับไป ฉันใด พระอนาคามีเห็นปานนี้ พึงทราบว่าชื่อว่าอุปหัจจปรินิพพายี ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะเข้าใกล้การกระทำกาลกิริยาแล้ว ได้ยังความเป็นไปแห่งอายุให้สิ้นไปแล้ว จึงปรินิพพาน.
               เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งปลายเหล็กแหลมเป็นต้น ที่ร้อนตลอดวัน อันใหญ่กว่านั้นที่แท่งเหล็ก สะเก็ดไฟกระเด็นตกไปที่หญ้า หรือที่ไม้เล็กน้อยแล้ว ก็เผาหญ้าหรือไม้เล็กน้อยแล้วก็ดับไปฉันใด พระอนาคามีที่เห็นปานนี้พึงทราบว่าชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะปรินิพพาน ด้วยการประกอบความเพียรมีประมาณเล็กน้อย คือด้วยการดำเนินไปอย่างสบาย.
               เมื่อช่างเหล็กตีอยู่ซึ่งเหล็กแหลมเป็นต้นที่ร้อนตลอดวัน อันใหญ่กว่านั้นที่แท่งเหล็ก สะเก็ดไฟก็กระเด็นตกไปที่กองไม้ หรือหญ้ากองใหญ่แล้วไหม้กองไม้ หรือหญ้ากองใหญ่นั้นหมดแล้ว จึงดับไป ฉันใด พระอนาคามีผู้เห็นปานนี้พึงทราบว่า ชื่อว่าสสังขารปรินิพพายี ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะปรินิพพานด้วยการทำความเพียรอย่างแรงกล้า คือดำเนินไปอย่างหนักแน่น.
               สะเก็ดไฟอื่นอีก ย่อมตกไปที่กองไม้และกองหญ้าอันใหญ่นั้น ครั้นเมื่อกองไม้หรือกองหญ้าอัน ใหญ่นั้นถูกไฟไหม้อยู่ ถ่านที่ปราศจากเปลวไฟก็ดี เปลวไฟก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็เผาไหม้โรงของนายช่างเหล็ก แล้วก็ลามไปไหม้บ้าน หมู่บ้าน เมืองและแว่นแคว้น จดฝั่งสมุทรจึงดับไป ฉันใด พระอนาคามีผู้เห็นปานนี้พึงทราบว่า ชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะท่านกระทำการแผ่ขยายพืชในภพเป็นอเนกแล้วจึงกระทำให้สิ้นสุดลงด้วยการบรรลุธรรมที่ถูกต้องแล้วจึงปรินิพพาน.
               ก็แผ่นเหล็กนั่นแหละมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง อันต่างด้วยปลายเหล็กแหลมเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในพระสูตร ในวาระทั้งหมดว่า "อโยกปลฺลํ" แผ่นเหล็ก ดังนี้.
               เหมือนอย่างคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "ก็ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งอุเบกขา คือความวางเฉยว่า อุเบกขาไม่พึงมี และจะไม่พึงมีแก่เรา ไม่ได้มีแล้วและจักไม่มีแก่เรา สิ่งใดมีอยู่ เราย่อมละสิ่งนั้น เธอนั้นย่อมไม่ยินดีในภพ ย่อมไม่ยินดีในการเกิด ลำดับนั้น เธอย่อมเห็นบทอันยิ่งอันสงบแล้ว ด้วยสัมมัปปัญญา (ปัญญาอันชอบ) ก็บทนั้นนั่นแล อันเธอกระทำให้แจ้งแล้วซึ่งสิ่งทั้งปวงโดยประการทั้งปวง แต่เธอยังละมานานุสัยทั้งปวงไม่ได้โดยประการทั้งปวง ยังละภวราคานุสัยทั้งปวงโดยประการทั้งปวงไม่ได้ ยังละอวิชชานุสัยทั้งปวงโดยประการทั้งปวงไม่ได้ เธอนั้นชื่อว่าอันตราปรินิพพายี เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กอันร้อนตลอดวัน ประกายไฟเกิดขึ้นแล้วก็พึงดับไป แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ฯลฯ ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กอันร้อนตลอดทั้งวัน ประกายไฟเกิดแล้ว บังเกิดแล้ว ก็พึงดับไปแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กทั้งหลายที่ร้อนตลอดทั้งวัน สะเก็ดไฟบังเกิดแล้ว ยังไม่ทันกระทบพื้นดินก็พึงดับไปแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ย่อมชื่อว่าอันตราปรินิพพายี ฉันนั้นนั่นเทียว.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าอุปหัจจปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กที่ร้อนตลอดทั้งวัน สะเก็ดไฟบังเกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้วกระทบกับพื้นดินแล้วพึงดับไปฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมชื่อว่าอุปหัจจปรินิพพายี.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กที่ร้อนตลอดวัน สะเก็ดไฟบังเกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้วพึงกระเด็นไปตกอยู่ที่กองหญ้า หรือกองไม้เล็กน้อย สะเก็ดไฟนั้นพึงให้ไฟเกิดบ้างให้ควันเกิดบ้างในที่นั้น ครั้นให้ไฟเกิดแล้วก็ดี ให้ควันเกิดแล้วก็ดี แล้วก็ไหม้กองไม้กองหญ้าเล็กน้อยนั้นนั่นแหละจนหมดสิ้นแล้วพึงดับไปเองเพราะสิ้นเชื้อ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมชื่อว่า อสังขารปรินิพพายี เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลทุบแผ่นเหล็กที่ร้อนตลอดวัน ประกายสะเก็ดไฟบังเกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้ว พึงตกไปที่กองหญ้าและกองไม้อันไพบูลย์แล้วพึงให้ไฟเกิดขึ้นบ้าง ให้ควันเกิดขึ้นบ้าง ฯลฯ แล้วก็ไหม้กองหญ้าและกองไม้อันไพบูลย์นั้นนั่นแหละจนสิ้นแล้วก็พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ชื่อว่าสสังขารปรินิพพายี.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลทุบอยู่ซึ่งแผ่นเหล็กอันร้อนตลอดวัน ประกายสะเก็ดไฟบังเกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้ว พึงตกไปที่กองหญ้าหรือกองไม้อันใหญ่แล้ว พึงให้ไฟเกิดบ้างให้ควันเกิดบ้าง ฯลฯ แล้วก็ไหม้กองหญ้า กองไม้อันใหญ่นั้นนั่นแหละ และพึงลามไปไหม้กอไม้บ้าง ป่าไม้บ้าง ครั้นไหม้แล้วก็มาสู่ภาคพื้นอันเป็นพืชสด หรือถึงหนทาง หรือถึงศิลา หรือถึงน้ำ หรือถึงสถานอันเป็นที่รื่นรมย์แล้วก็ดับไป เพราะขาดเชื้อฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอุทธัง โสโตอกนิฏฐคามี ฉันนั้นเหมือนกัน.
               นิเทศแห่งพระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติในการกระทำโสดาปัตติผลให้แจ้งเป็นต้นมีเนื้อความตื้นเทียว.
               คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่าพระอรหันต์.
               ก็คำว่า พระอรหันต์ในที่นี้ พึงทราบว่ามี ๑๒ จำพวก.
               ถามว่า มี ๑๒ จำพวก อย่างไร.
               ตอบว่า ก็วิโมกข์มีอยู่ ๓ อย่าง คือสุญญตวิโมกข์ ๑ อนิมิตตวิโมกข์ ๑ อัปปณิหิตวิโมกข์ ๑ บรรดาวิโมกข์เหล่านั้น พระขีณาสพผู้หลุดพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์มี ๔ จำพวก ด้วยอำนาจปฏิปทา ๔ อย่าง และพระขีณาสพผู้หลุดพ้น ด้วยอนิมิตตวิโมกข์หรืออัปปณิหิตวิโมกข์ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระอรหันต์จึงมี ๑๒ จำพวก ด้วยประการฉะนี้.
               ก็บุคคลเหล่านี้ มีประมาณเท่านี้ คือพระสกทาคามี ๑๒ จำพวกซึ่งเหมือนพระอรหันต์ ๑๒ จำพวก พระโสดาบัน ๒๔ จำพวก คือพระโสดาบัน ๑๒ จำพวก คูณด้วยธุระ ๒ คือสัทธาธุระ ๑ ปัญญาธุระ ๑ และพระอนาคามี ๔๘ จำพวกทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อท่านพ้นจากโลกนี้แล้ว ย่อมไม่เกิดในลัทธิภายนอกพระศาสนา ย่อมเกิดขึ้นในพระศาสนาแห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้านั่นเทียว ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาเอกกนิทเทส ว่าด้วยบุคคล ๑ จำพวกแต่เพียงนี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ บุคคลบัญญัติ เอกกนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 16อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 36.2 / 58อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=2734&Z=2939
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=729
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=729
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :