ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1193อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1198อ่านอรรถกถา 37 / 1210อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๘ อันตราภวกถา

               อรรถกถาอันตราภวกถา               
               ว่าด้วยอันตราภพ               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องอันตราภพ คือภพที่คั่นในระหว่าง.
               ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายปุพพเสลิยะและสมิติยะทั้งหลายว่า สัตว์หมายถึงผู้จะปฏิสนธิ ผู้ไม่มีทิพพจักขุย่อมเป็นผู้ราวกะมีทิพพจักขุ ผู้ไม่มีฤทธิ์ย่อมเป็นผู้ราวกะผู้มีฤทธิ์ เล็งแลดูอยู่ซึ่งการอยู่ร่วมของบิดามารดา และการมีระดู เขาดำรงอยู่ประมาณ ๗ วัน หรือเกินกว่านั้นในที่ใด ที่นั้นชื่อว่าอันตราภพ เพราะถือเอาบทพระสูตรว่า บุคคลชื่อว่าอันตราปรินิพพายี คือผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงท่ามกลางแห่งอายุขัย โดยไม่พิจารณาดังนี้.
               คำถามของสกวาทีว่า อันตราภพมีอยู่หรือ โดยหมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที เพราะตั้งอยู่ในลัทธิ.
               ลำดับนั้น สกวาที เพื่อจะท้วงปรวาทีนั้นด้วยสามารถแห่งภพทั้ง ๓ เหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วนั้น จึงกล่าวคำว่า เป็นกามภพ เป็นต้น.
               ในปัญหานั้น อธิบายว่า ผิว่า ภพไรๆ ชื่อว่าอันตราภพมีอยู่ตามลัทธิของท่านไซร้ ภพนั้นก็พึงเป็นดุจปัญจโวการภพ ภพใดภพหนึ่งแห่งกามภพทั้งหลายเป็นต้น นั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่า เป็นกามภพ หรือรูปภพ หรืออรูปภพ ชื่อว่าอันตราภพ ตามลัทธิของท่าน.
               ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงปฏิเสธทั้งหมด.
               คำว่า มีอยู่ในระหว่างกามภพ เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อท้วงว่า ถ้าอันตราภพมีอยู่ไซร้ อันตราภพนั้นก็จะพึงเป็นเหมือนกับเขตแดนแห่งเขตแดนทั้ง ๒ ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงปฏิเสธปัญหาทั้งปวง ย่อมปฏิเสธไปเพราะลัทธิอย่างเดียว แต่ย่อมไม่ปฏิเสธตามความเป็นจริง โดยคำนั้นนั่นแหละ สกวาทีจึงกล่าวปฏิเสธกะปรวาทีว่า ท่านก็ต้องไม่กล่าวว่า อันตราภพมีอยู่ แม้คำว่า อันตราภพเป็นกำเนิดที่ ๕ เป็นต้น สกวาทีถามเพื่อท้วงว่า อันตราภพนั้นไม่รวมอยู่ในกำเนิดเป็นต้นตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ อันตราภพนั้นก็จะพึงเป็นภพที่เกินจากกำเนิดจากคติเป็นต้นนั้นๆ.
               คำว่า กรรมอันยังสัตว์ให้เข้าถึงอันตราภพมีอยู่หรือ สกวาทีถามเพื่อท้วงว่า ถ้าอันตราภพแม้นั้นพึงเป็นภพหนึ่งต่างหากไซร้ กรรมที่ยังสัตว์ให้เข้าถึงซึ่งอันตราภพนั้นก็พึงมี ดุจกรรมที่ยังสัตว์ให้เข้าถึงกามภพเป็นต้น ดังคำที่พระศาสดาทรงจำแนกไว้แล้วและแสดงแล้วว่าเป็นกรรมมีอยู่จริง อย่างนี้ ดังนี้.
               อนึ่ง ลัทธิเหล่านั้นในลัทธิของปรวาทีว่า กรรมโดยเฉพาะที่ชื่อว่าอันยังสัตว์ให้เข้าถึงซึ่งอันตราภพไม่มี สัตว์ใดจักเข้าถึงซึ่งภพใดๆ ย่อมเกิดในอันตราภพได้ด้วยกรรมอันยังสัตว์ให้เข้าถึงซึ่งภพนั้นนั่นแหละ เหตุใด เพราะเหตุนั้น ปรวาทีจึงตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               แม้ถูกสกวาทีถามว่า สัตว์ผู้เข้าถึงอันตราภพมีอยู่หรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธตามลัทธิว่า สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้เกิดในกามภพนั่นแหละ. แม้ถูกถามว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดอยู่....ในอันตราภพหรือ ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนาซึ่งความเกิด ความแก่ ความตายและจุติอุปบัติในอันตราภพนั้น จึงตอบปฏิเสธ.
               แม้ถูกถามด้วยสามารถแห่งรูปเป็นต้น ย่อมตอบปฏิเสธ เพราะลัทธิแห่งชนเหล่านั้นว่า รูปของสัตว์ในอันตราภพเห็นไม่ได้ แม้ธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นก็ไม่หยาบเหมือนสัตว์เหล่าอื่น.
               ด้วยเหตุนี้นั่นแหละ พึงทราบการปฏิเสธแม้ในความเป็นแห่งปัญจโวการภพ.
               บัดนี้ คำว่า กามภพ เป็นภพ เป็นคติ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นการเปรียบเทียบภพ.
               ในข้อนี้อธิบายว่า ถ้าภพไรๆ ชื่อว่าอันตราภพพึงมีตามลัทธิของท่านไซร้ ก็บรรดาภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้นมีอยู่ การแตกต่างกันแห่งภพและคติเป็นต้น พึงหยั่งเห็นได้ ฉันใด แม้ในอันตราภพนั้น ก็จะพึงเห็นได้ ฉันนั้น ในอันตราภพหยั่งเห็นไม่ได้ ฉันใด แม้ในกามภพเป็นต้นเหล่านี้ก็หยั่งเห็นไม่ได้ ฉันนั้น เพราะว่า การจำแนกด้วยดีแห่งภพและคตินั่นแหละมีอยู่ในความเป็นแห่งภพที่มีอยู่ มิใช่ในภพนอกจากนี้ก็อะไรเล่า เป็นเหตุแปลกกันระหว่างกามภพเป็นต้นเหล่านั้นกับอันตราภพในที่นี้. ปรวาทีย่อมตอบรับรองและตอบปฏิเสธซึ่งปัญหานั้นๆ ด้วยสามารถสักแต่ว่าลัทธิ.
               ถูกสกวาทีถามว่า อันตราภพมีอยู่สำหรับสัตว์ทั้งปวงทีเดียวหรือ ปรวาทีนั้นไม่ต้องการอันตราภพมีแก่สัตว์ผู้เกิดในนรก อสัญญีสัตว์และอรูปพรหม เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธ. ย่อมตอบรับรองโดยปฏิโลม ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ.
               คำว่า อนันตราภพ มีอยู่สำหรับบุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อจำแนกแสดงภพทั้งหลายโดยนัยที่ปรวาทีนั้นไม่ปรารถนาอันตราภพของสัตว์เหล่าใดเหล่านั้น.
               คำนั้นทั้งหมด บัณฑิตพึงทราบโดยทำนองแห่งพระบาลีพร้อมกับการอ้างพระสูตร แล.

               อรรถกถาอันตราภวกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๘ อันตราภวกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1193อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1198อ่านอรรถกถา 37 / 1210อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=11751&Z=11944
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=5241
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=5241
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :