ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 92อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 122อ่านอรรถกถา 37 / 165อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
ปุคคลกถา กัลยาณวรรค

               อรรถกถาปุริสการานุโยค               
               ว่าด้วยการซักถามการกระทำของบุคคล               
               บัดนี้ เป็นการซักถามถึงการทำของบุคคล.
               ในปัญหานั้น คำถามด้วยลัทธิว่า เมื่อกรรมมีอยู่ แม้ผู้ทำกรรมนั้นก็ต้องมีแน่นอน ดังนี้ เป็นของปรวาที.
               คำตอบรับรองว่าใช่ เป็นของพระสกวาที เพราะความที่กรรมทั้งหลายเช่นนั้นมีอยู่.
               คำถามอีกว่า ผู้ทำ ผู้ให้ทำกรรม เป็นของสกวาที.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ผู้ทำ ได้แก่ ผู้ทำกรรมทั้งหลายเหล่านั้น. คำว่า ผู้ให้ทำกรรม ได้แก่ ผู้ให้ทำกรรมด้วยอุบายทั้งหลาย มีการสั่งและการแสดงให้ทราบ เป็นต้น.
               ในบัดนี้ ปรวาทีหมายเอาบุคคลจึงถามถึงผู้ทำ ไม่ถามเหตุ สักว่าการกระทำ เพราะฉะนั้น สกวาทีจึงตอบปฏิเสธ. ในคำนี้ว่า ผู้ทำ ผู้ให้ทำกรรมนั้น อธิบายว่า สกวาทีถามว่า ถ้าว่า ท่านหยั่งเห็นกรรมใดๆ ท่านก็หยั่งเห็นบุคคลผู้ทำกรรมนั้นๆ ย่อมหยั่งเห็นบุคคลตามลัทธิของท่านนั่นแหละ ก็ท่านหยั่งเห็นบุคคลอื่นผู้ทำด้วย ผู้ให้ทำกรรมนั้นด้วยหรือ ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงตอบปฏิเสธ เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นลัทธิแห่งพระเจ้าสร้างโลก.
               เมื่อถามซ้ำอีก ปรวาทีก็ตอบรับรองเพราะหมายเอาเนื้อความนี้ว่า มารดาบิดาย่อมให้บุคคลเกิด ย่อมตั้งชื่อ ย่อมเลี้ยงดู เพราะฉะนั้น มารดาบิดาเหล่านั้นจึงชื่อว่าผู้ทำ ส่วนกัลยาณมิตรหรืออาจารย์เหล่าใดย่อมให้ศิษย์ศึกษาวิชาการ และเรียนศิลปะทั้งหลายนั้นๆ กัลยาณมิตรหรืออาจารย์เหล่านั้นชื่อว่าผู้ให้ทำ ดังนี้.
               ท่านอธิบายว่า กรรมเก่าเท่านั้นท่านประสงค์เอาว่า เป็นผู้ทำเป็นผู้ให้ทำกรรมนั้นๆ ท่านกล่าวคำนี้ว่า ถ้าว่า ผู้ทำของผู้ทำกรรมทั้งหลายมีอยู่ไซร้ ผู้ทำแม้แก่ผู้นั้นต่อๆ กันมาก็มีอยู่นั่นแหละ ด้วยคำนี้ว่า แก่บุคคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ บุคคลผู้เกิดก่อนๆ ก็พึงทำบุคคลผู้เกิดภายหลังโดยแท้ๆ แม้ด้วยคำนี้ บุคคลผู้ทำกรรมเหล่านั้น พึงทำบุคคลอื่นๆ ต่อไป. แม้บุคคลนั้นก็พึงทำบุคคลอื่นๆ.
               สกวาทีถามว่า นิพพานใด คือการทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ไม่มี การตัดวัฏฏะไม่มี ความดับรอบอันไม่มี ปัจจัยก็ไม่มี นิพพานนั้นไม่มี แก่บุคคลนั้นๆ เพราะความไม่มีปัจจัย เพราะความไม่มีทุกข์อื่นเนื่องด้วยปัจจัยหรือ?
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า แก่บุคคลนั้นๆ นั่นแหละ อธิบายว่า ถ้าว่า ความสืบเนื่องกันมาของบุคคลมีอยู่อย่างนี้ว่า กรรมสักว่าการกระทำไม่มี มีแต่บุคคลผู้ทำบุคคล แม้นั้นๆต่อๆ กันมา ดังนี้ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ การกล่าวว่า การทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์เพราะเหตุอันไม่ให้ความเป็นไปแห่งกัมมวัฏฏะอันใดนี้นั้น ก็ไม่มีแก่บุคคลนั้นๆ ดังนี้. ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนาคำนั้น จึงปฏิเสธ.
               คำว่า ผู้ทำ ผู้ให้ทำ ในคำถามแห่งผู้ทำทั้งหลายตามคำสามัญที่หยั่งเห็นได้ แม้ในปัญหาอื่นอีกจากนี้ ท่านก็หมายเอาเฉพาะบุคคลเท่านั้น มิได้กล่าวมุ่งหมายเอาปัจจัยทั้งหลายเลย. แท้จริงปัจจัยแห่งสิ่งทั้งปวง เช่น มหาปฐพี เป็นต้นจะไม่มีก็หามิได้.
               ปัญหาที่สกวาทีถามว่า ผู้ทำกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลาย ก็เป็นอื่นหรือ ปัญหานั้นปรวาทีตอบปฏิเสธแล้ว เพราะกลัวเป็นทิฏฐิว่า บุคคลมีสังขารหรือมีอัตตาเป็นต้น.
               คำเป็นต้นว่า ท่านหยั่งเห็นวิบากหรือ เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อทำลายลัทธิผู้แสดงบุคคล ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เสวยวิบาก.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ผู้เสวยวิบาก เป็นคำซักถามของปรวาที. คำปฏิเสธเป็นของสกวาที เพราะความไม่มีผู้เสวยอื่นนอกจากความเป็นไปแห่งวิบาก.
               คำถามอีกเป็นของสกวาที คำตอบรับรองเป็นของปรวาที.
               คำว่า บุคคลเป็นผู้เสวยวิบากนั้น ได้แก่ ผู้เสวยของวิบากนั้นๆ ก็วิบาก ชื่อว่าพึงเสวย บุคคลมิใช่วิบาก ฉะนั้น ปรวาทีจึงปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวว่า บุคคลเป็นผู้เสวย. ถูกสกวาทีถามซ้ำอีก ก็ตอบรับรองว่า บุคคลเป็นผู้เสวยวิบาก เพราะความตั้งอยู่ในผลแห่งบุญ โดยหมายเอามารดาที่ปล่อยวางสละบุตร หรือภรรยาที่ปล่อยวางสละสามีเป็นผู้เสวยวิบาก ซึ่งเป็นการเสวยบุคคลเช่นนั้น.
               คำถามว่า การทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ไม่มี ฯลฯ แก่บุคคลนั้นๆ อธิบายว่า ถ้าว่า ความสืบเนื่องกันของบุคคลเป็นมาอย่างนี้ว่า วิบากที่สักแต่ความเป็นวิบากไม่มี มีแต่บุคคลเป็นผู้เสวยผลแห่งกรรมนั้นๆ ต่อๆ กันมา ดังนี้ไซร้ ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ การกล่าวว่า การทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์โดยเหตุ อันไม่เป็นไปแห่งวิปากวัฏนี้นั้น ก็ย่อมไม่มีดังนี้.
               ต่อจากนั้น พึงทราบเนื้อความในคำถามถึงผู้เสวยด้วยคำอันเป็นธรรมดาที่ว่า ท่านหยั่งเห็นได้ ข้างหน้านี้ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ปัญหาที่สกวาทีถามว่า บุคคลเสวยวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็เป็นอื่นหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะกลัวแต่ลัทธิอันเห็นผิดว่า บุคคลมีเวทนา หรือบุคคลมีอัตตา. คำว่า สุขอันเป็นทิพย์ เป็นต้น เป็นคำอันปรวาทีเริ่มจำแนกผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วด้วยสามารถแห่งลัทธิ.
               คำนั้นทั้งหมด พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               อนึ่ง ในคำถามที่ปรวาทีถามว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลผู้เสวยสุขอันเป็นทิพย์หรือ นี้ พึงทราบว่า สกวาทีตอบปฏิเสธว่า บุคคลไม่เป็นผู้เสวยเท่านั้น ไม่ปฏิเสธวิปากขันธ์ที่เสวยสุขอันเป็นทิพย์.
               จริงอยู่ ความเกิดขึ้นแห่งวิบากทั้งหลายที่ผู้ทำกรรมฐานทั้งหลาย กระทำมหาปฐพีเป็นต้นให้เป็นอารมณ์แล้วเสวยผล ย่อมเป็นการสำเร็จที่เปรียบไม่ได้. คำว่า ผู้ทำ ผู้ให้ทำเป็นผู้เสวยผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว เป็นต้น เป็นคำที่ท่านกล่าวปรารภนัยที่เจือกัน คือมีทั้งบัญญัติและปรมัตถะ.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า บุคคลนั้นกระทำ เป็นคำซักถามของสกวาทีว่า ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ทำกรรมใด และผู้เสวยกรรมใด บุคคลนั้นนั่นแหละกระทำ บุคคลนั้นเองเป็นผู้เสวยหรือ? คำปฏิเสธเป็นของปรวาที เพราะกลัวผิดจากพระสูตร ฯ
               ถูกถามอีก ก็ตอบรับรองด้วยสามารถแห่งพระสูตรว่า บุคคลย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกหน้า เป็นต้น ดังนี้
               ลำดับนั้น สกวาทีเมื่อจะปฏิเสธโอกาสคำที่จะกล่าวของปรวาทีนั้น จึงกล่าวคำว่า สุขทุกข์อันตนทำเองหรือ ในคำเหล่านั้น คำว่า ผู้อื่นกระทำ สกวาทีกล่าวด้วยสามารถแห่งความเป็นอื่นแห่งผู้ทำและผู้เสวย. จากนั้น ปรวาทีจึงปฏิเสธโอกาสที่จะพูดเพราะกลัวผิดพระสูตร.
               ถูกถามอีก เมื่อมีความสำคัญว่า บุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์แล้วเกิดเป็นเทวดาแล้วย่อมเสวย ดังนี้ จึงตอบรับรอง. ก็ถูกถามด้วยสามารถแห่งวาทะอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์อันบุคคลอื่นทำแล้วย่อมปรากฏหรือ ดังนี้ ก็ปฏิเสธอีก. คำว่า บุคคลนั้นทำ บุคคลอื่นเสวย สกวาทีกล่าวด้วยสามารถแห่งคำถามถึงความเป็นบุคคลคนเดียวกัน และความเป็นแห่งบุคคลอื่นของผู้ทำและผู้เสวย.
               ลำดับนั้น ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะกลัวผิดจากพระสูตร ถูกถามอีก ก็ตอบรับรองเพราะรวมนัยแม้ทั้ง ๒ ก่อนๆ เข้าด้วยกัน. ก็ถูกถามด้วยสามารถแห่งปัญหานั้นของผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า สุขทุกข์อันตนเองทำด้วย อันบุคคลอื่นทำด้วยย่อมปรากฏหรือ ก็ตอบปฏิเสธอีก.
               คำว่า ไม่ใช่ผู้อื่นทำ เป็นคำอันสกวาทีกล่าวด้วยสามารถแห่งการปฏิเสธในความเป็นบุคคลคนเดียวกันทำ หรือผู้อื่นทำของผู้ทำและผู้เสวย. ลำดับนั้น ปรวาทีตอบปฏิเสธด้วยสามารถแห่งคำที่ผิดจากพระสูตรนั่นเทียว ถูกถามอีก เมื่อมีความสำคัญอยู่ว่า มนุษย์ทำกรรมไว้ เพราะการเกิดขึ้นในเทวโลก มนุษย์นั้นจึงไม่ได้เสวย ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ผู้อื่นเสวยก็หาไม่ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นนั่นแหละจึงมิใช่ผู้เสวยเพราะเป็นผู้กระทำ ทั้งบุคคลอื่นก็มิได้เสวย ดังนี้ จึงตอบรับรอง. คำนั้นสักว่าเป็นลัทธิเท่านั้น.
               ถูกถามด้วยสามารถแห่งปัญหานั้นของผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ก็สุขทุกข์ อันมิใช่การกระทำของตน มิใช่การกระทำของผู้อื่น เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุย่อมปรากฏหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธอีก.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในมิสสกนัยนี้จำเดิมแต่ต้น ด้วยนัยแม้นี้.
               จริงอยู่ ผู้มีวาทะว่าบุคคลมีอยู่นี้ ย่อมปรารถนาบุคคลผู้ทำกรรมทั้งหลายด้วย บุคคลผู้เสวยด้วย เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงปรากฏอย่างนี้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ทำกรรม ผู้นั้นเท่านั้นพึงเป็นผู้เสวย หรือผู้อื่นเสวย หรือแม้ทั้ง ๒ เป็นผู้เสวย หรือว่าแม้ทั้ง ๒ ไม่พึงเป็นผู้เสวย ดังนี้. สกวาทีถามประกอบคำซักถามปัญหาอันปรากฏอย่างนี้นั่นแหละแล้วจึงกล่าวถึงปัญหาที่ควรถามแม้ทั้ง ๔ อย่างมีคำว่า ไม่ใช่บุคคลนั้นเป็นผู้ทำ เป็นต้น.
               คำที่เหลือมีประการดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว. ก็ในที่สุด ได้ถามปัญหาแม้ทั้ง ๔ รวมกัน. ในปัญหานั้นการปฏิเสธ การตอบรับรอง และการถึงโทษมีคำว่า กระทำเองเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ. เบื้องหน้าแต่นี้ นัยที่กล่าวแล้วในหนหลังไม่ได้กล่าวคำว่า กรรมดีและกรรมชั่ว ท่านแสดงปัญหาที่ควรกำหนดไว้เป็นต้น กรรมมีอยู่เท่านั้น. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลายแม้เหล่านั้น ด้วยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               คำว่า แม้กัลยาณวรรค ดังนี้ เป็นชื่อของปุริสการานุโยคนั้นนั่นแล.

               อรรถกถาปุริสการานุโยค จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปุคคลกถา กัลยาณวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 92อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 122อ่านอรรถกถา 37 / 165อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=1364&Z=1732
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3407
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3407
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :