ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 408อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 426อ่านอรรถกถา 37 / 437อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
สติปัฏฐานกถา

               อรรถกถาสติปัฏฐานกถา               
               ว่าด้วยสติปัฏฐาน               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องสติปัฏฐาน.
               ในเรื่องนั้น ลัทธิแห่งชนเหล่าใดว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะถือเอาธรรมทั้งหลายมีกายเป็นต้นเป็นอารมณ์ด้วยสติ โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสติปัฏฐานสังยุตว่า จตุนฺนํ สติปฏฺฐานานํ ภิกฺขเว สมุทยญฺจ อตฺถงฺคมญฺจ เทสิสฺสามิ ดังนี้ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุเกิดขึ้น และความดับไปแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดุจลัทธินิกายอันธกะทั้งหลายในขณะนี้.
               นิกายเหล่านี้คือ ปุพพเสลิยะ อปรเสลิยะ ราชคิริยะและสิทธัตถิกะทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่า นิกายอันธกะซึ่งเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในภายหลัง. คำถามเพื่อตำหนิลัทธิแห่งชนเหล่านั้นเป็นของสกวาที คำตอบรับรองเป็นของปรวาที.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยคำว่าสติปัฏฐาน ดังนี้ :-
               ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าย่อมตั้งมั่นในธรรมทั้งหลายมีกายเป็นต้น ถามว่าอะไรย่อมตั้งมั่น ตอบว่า สติ. การตั้งมั่นแห่งสติทั้งหลายแม้มีสติเป็นอารมณ์ก็ย่อมตั้งมั่นด้วยอรรถนี้ว่า สติยา ปฏฺฐานา สติปฏฺฐานา แปลว่า การตั้งมั่นแห่งสติชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การตั้งมั่นแห่งสติเหล่านั้นจึงชื่อว่า ปัฏฐาน
               ถามว่า ปัฏฐานอะไรย่อมตั้งมั่น ตอบว่า สติย่อมตั้งมั่น.
               ปัฏฐาน คือสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน ย่อมได้ด้วยอรรถว่า สติยา ว ปฏฺฐานา สติปฏฺฐานา แปลว่า ปัฏฐาน คือสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน นี้ เหตุใด เพราะเหตุนั้น วาทะแม้ทั้ง ๒ คือวาทะของสกวาทีและปรวาที ย่อมถูกต้องโดยปริยาย.
               อนึ่ง ชนเหล่าใดละปริยายนี้แล้วย่อมกล่าวว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน โดยส่วนเดียวเท่านั้น คำถามของสกวาทีหมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองด้วยสามารถแห่งอารมณ์เป็นของปรวาที. แต่เมื่อสกวาทีซักว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติ เป็นต้น ปรวาทีก็ตอบปฏิเสธเพราะความที่ธรรมทั้งปวงไม่เป็นสติทั้งหมด.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยคามี เป็นเหตุให้ถึงความสิ้นไป เป็นต้น เป็นชื่อพิเศษแห่งมรรค.
               จริงอยู่ เอกายนมรรคชื่อว่า ขยคามี เพราะอรรถว่าบรรลุพระนิพพานอันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งหลาย. ชื่อว่า โพธคามี เป็นเหตุให้ถึงการตรัสรู้เพราะอรรถว่าถึงการตรัสรู้สัจจะ ๔. ชื่อว่า อปจยคามี เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน เพราะอรรถว่าถึงการทำลายวัฏฏะ.
               สกวาทีถามด้วยบทเหล่านี้โดยหมายเอาอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นเอกายนมรรคมีอยู่ตามลัทธิของท่าน อย่างนี้หรือ คำทั้งหลายแม้มีคำว่า ธรรมอันไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ อันไม่เป็นอารมณ์ของสังโยชน์ เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อต้องการถามโดยความเป็นโลกุตตระ.
               คำทั้งหลายว่า พุทธานุสสติ เป็นต้น ท่านกล่าวโดยคำที่แยกประเภท จากโลกุตตระ. คำเป็นต้นว่า จักขายตนะ เป็นสติปัฏฐาน ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งคำถามอันเป็นประเภทแห่งธรรมทั้งปวง. ในปัญหาทั้งปวงแม้เหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า คำตอบปฏิเสธมีอยู่ ด้วยสามารถแห่งสติ คำตอบรับรองมีอยู่ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               การชำระพระสูตรมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้แล.

               อรรถกถาสติปัฏฐานกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ สติปัฏฐานกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 408อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 426อ่านอรรถกถา 37 / 437อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=5051&Z=5181
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=4022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=4022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :