ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 38 / 1อ่านอรรถกถา 38 / 1220อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 1221อ่านอรรถกถา 38 / 1255อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑
อนุสยยมก อนุสัย ๗ เป็นต้น

               อรรถกถาอนุสยยมก               
               บัดนี้ เป็นการวรรณนาเนื้อความแห่งอนุสยยมกเหมือนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวบรวมเอกเทสแห่งกุศลธรรมเป็นต้นทรงแสดงไว้ในมูลยมกนั้นนั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งการหยั่งเห็นได้แล้วทรงแสดงไว้ในลำดับแห่งสังขารยมก. บัณฑิตพึงทราบการกำหนดบาลี ในอนุสยยมกก่อน เพราะว่า ในอนุสยยมกนี้พระองค์ทรงทำบาลีเทศนาไว้อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนทำเทศนาในขันธยมก เป็นต้น.
               ถามว่า ทำเทศนาอย่างไร?
               ตอบว่า ในเบื้องต้นทำเทศนาแสดงไว้ ๓ วาระ คือปริจเฉทวาระ วาระว่าด้วยการกำหนด. ปริจฉินนุทเทสวาระ วาระว่าด้วยอุทเทสที่กำหนดไว้แล้ว, อัปปัตติฏฐานวาระ วาระว่าด้วยที่เป็นที่เกิดขึ้นก่อน, เพื่อจะให้ศึกษาอนุสัยทั้งหลาย โดยอาการ ๓ อย่าง คือโดยปริจเฉท โดยอุทเทสและโดยอุปปัตติฏฐาน ต่อจากนั้นก็ทรงประกอบอนุสัยทั้งหลายทำยมกเทศนา ด้วยอำนาจแห่งมหาวาระ ๗.
               ในอนุสยยมกนั้น คำว่า สตฺต อนุสยา นี้ ชื่อว่าปริจเฉทวาระ เพราะความที่อนุสัยทั้งหลาย พระองค์กำหนดจำนวนแสดงไว้ว่า อนุสัยนี้มี ๗ เท่านั้น ไม่เกินกว่านี้ ไม่ต่ำกว่านี้ ดังนี้.
               คำว่า กามราคานุสโย ฯเปฯ อวิชฺชานุสโย นี้ ชื่อว่าปริจฉินทุทเทสวาระ เพราะความที่วาระนี้ทรงยกเพียงแต่ชื่อแห่งธรรมที่กำหนดไว้แล้วโดยปริจเฉทวาระนั้น ขึ้นแสดงว่า ชื่อว่าธรรมเหล่านี้เป็นธรรมชนิดนั้น ดังนี้.
               ในข้อนั้น คำว่า กามราคานุสโย อนุเสติ เอตฺถ ฯเปฯ อวิชฺชานุสโดย อนุเสติ นี้ ชื่อว่าอุปปัตติฏฐานวาระ เพราะความที่วาระนี้ ทรงแสดงที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ อย่างนี้ว่า อนุสัยเหล่านี้ย่อมนอนเนื่อง ในวาระทั้งหลายชื่อนี้ ดังนี้.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบอนุสัยทั้งหลายแล้วทำยมกเทศนา ด้วยอำนาจแห่งมหาวาระ ๗ เหล่าใด มหาวาระเหล่านั้น มีชื่อดังนี้ คือ
               ๑. อนุสยวาระ (วาระว่าด้วยอนุสัย)
               ๒. สานุสยาวาระ (วาระว่าด้วยผู้มีอนุสัย)
               ๓. ปชหนวาระ (วาระว่าด้วยการละ)
               ๔. ปริญญาวาระ (วาระว่าด้วยการกำหนดรู้)
               ๕. ปหีนวาระ (วาระว่าด้วยการละได้แล้ว)
               ๖. อุปปัชชนาวาระ (วาระว่าด้วยการเกิด)
               ๗. ธาตุวาระ (วาระว่าด้วยธาตุ)

               อธิบายอนุสยวาระ               
               บรรดามหาวาระเหล่านั้น วาระที่ ๑ ชื่อว่าอนุสยวาระ นั้นมี ๒ นัย คือด้วยสามารถแห่งอนุโลมนัยและปฏิโลมนัย. ในนัยทั้ง ๒ นั้น อนุโลมนัยมีอันตรวาระ ๓ วาระ ด้วยอำนาจแห่งบุคคลและภูมิ คือ.-
               ยสฺส อนุเสติ แปลว่า... กำลังนอนเนื่องแก่บุคคลใด (ปุคคลวาระ)
               ยตฺถ อนุเสติ แปลว่า... กำลังนอนเนื่องในภูมิใด (โอกาสวาระ)
               ยสฺส ยตฺถานุเสติ แปลว่า...กำลังนอนเนื่องแก่บุคคลใดในภูมิใด (ปุคคโลกาสวาระ)
               ในอันตรวาระ ๓ เหล่านั้น ในปุคคลวาระมี ๒๑ ยมก คือมีกามราคานุสัยเป็นมูล ๖ ยมก โดยพระบาลีว่า :-
               ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อนุเสติ
               ยสฺส วาปน ปฏิฆานุสโย อนุเสติ ตสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ฯ
               ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส มานานุสโย....
               ทิฏฐานุสโย...วิจิกิจฉานุสโย...ภวราคานุสโย...อวิชฺชานุสโย อนุเสติ
               ยสฺส วาปน อวิชฺชานุสโย อนุเสติ ตสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ

               ที่มีปฏิฆานุสัยเป็นมูล ๕ ยมก มีมานานุสัยเป็นมูล ๔ ยมก มีทิฏฐานุสัยเป็นมูล ๓ ยมก มีวิจิกิจฉานุสัยเป็นมูล ๒ ยมก มีภวราคานุสัยเป็นมูล ๑ ยมก ด้วยสามารถแห่งการนับแลวไม่นับอีก วาระแม้ทั้งหมดที่มีมูล ๑ จึงรวมเป็น ๒๑ ยมก ด้วยประการฉะนี้.
               ปุคคลวาระอื่นอีก ๑๕ ยมก คือ ที่มีมูล ๒ (ทุกมูล) อันมาแล้วในพระบาลีอย่างนี้ว่า ยสฺส กามราคานุสโย จ ปฏิฆานุสโย จ อนุเสนฺติ ดังนี้ มี ๕ ยมก ที่มีมูล ๓ (ติกมูล) มี ๔ ยมก, ที่มีมูล ๔ (จตุกกมูล) มี ๓ ยมก, ที่มีมูล ๕ (ปัญจกมูล) มี ๒ ยมก, ที่มีมูล ๖ (ฉักกมูล) มี ๑ ยมก. รวมในปุคคลวาระเป็น ๓๖ ยมก คือ ยมกที่มีมูล ๑ มี ๒๑ ยมก ที่มีมูล ๒ เป็นต้นอีก ๑๕ ยมก (๒๑+๑๕=๓๖) ดังนี้.
               ในโอกาสวาระก็เหมือนกัน คือมี ๓๖ ในปุคคโลกาสวาระก็เหมือนกัน คือมี ๓๖ เพราะฉะนั้น อันตรวาระแม้ทั้งหมดในอนุโลมนัย จึงเป็น ๑๐๘ ยมก ในปฏิโลมนัยก็เหมือนกัน (มี ๑๐๘) ดังนั้นในมหาวาระแรก คืออนุสยวาระ จึงรวมเป็น ๒๑๖ ยมก. บัณฑิตพึงทราบคำปุจฉาต้องคูณด้วย ๒ แต่ยมกนั้น เนื้อความคือคำวิสัชนาคูณด้วย ๒ จากคำปุจฉานั้น.
               ก็ในอนุสยวาระนี้ฉันใด พึงทราบการนับยมกหนึ่งๆ แห่งมหาวาระทั้ง ๕ แม้เหล่านี้ สานุสยวาระ ปชหนวาระ ปริญญาวาระ ปหีนวาระและอุปปัชชนวาระว่า คำปุจฉาต้องคูณด้วย ๒ แต่ละยมก เนื้อความคือคำวิสัชนาต้องคูณด้วย ๒ จากคำปุจฉานั้นฉันนั้น.
               แต่ว่าในมหาวาระ ๕ นี้ มีเนื้อความที่แปลกไปจาก ๓ วาระแรก คือในโอกาสวาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสคำว่า ยตฺถ ยตฺถ แต่ทรงทำเทศนาด้วยพระดำรัสว่า ยโต ยโต ดังนี้. คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกันนั่นแหละ.
               ก็ในมหาวาระทั้งหมด วาระสุดท้าย ชื่อว่าธาตุวาระ นั้น ดำรงอยู่ ๒ อย่าง คือปุจฉาวาระและวิสัชนาวาระ
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสในคำปุจฉาวาระแห่งธาตุวาระนั้นว่า เมื่อสัตว์เข้าถึงกามธาตุ แล้วเข้าถึงกามธาตุ ดังนี้ แต่ไม่ตรัสว่า เมื่อสัตว์เข้าถึงกามธาตุ จุติแล้วจากกามธาตุ ดังนี้.
               ตอบว่า เมื่อว่าโดยอรรถแล้วไม่แปลกกัน เพราะคำถามแม้ทั้ง ๒ นี้ มีอรรถอย่างเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสคำปุจฉายมกหนึ่งๆ นั่นแหละ แต่ยมกหนึ่งๆ โดยลำดับในที่สุดแห่งคำถามทั้งหมดแล้วจึงทำคำวิสัชนาไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อสัตว์จุติจากกามธาตุแล้วเข้าถึงกามธาตุ อนุสัย ๗ ย่อมนอนเนื่องแก่ใครบ้าง ดังนี้.
               ในบรรดาคำถามเหล่านั้น อนุโลมปุจฉามีกามธาตุเป็นมูละ ๙ คือ สุทธิกปุจฉา ๖ ยมก โดยพระบาลีว่า เมื่อสัตว์จุติจากกามธาตุ เข้าถึงกามธาตุ...เข้าถึงรูปธาตุ...เข้าถึงอรูปธาตุ...เข้าถึง น กามธาตุ... เข้าถึง น รูปธาตุ เข้าถึง น อรูปธาตุ ดังนี้ และมิสสกปุจฉาอีก ๓ คือ เมื่อสัตว์จุติจากกามธาตุแล้ว เข้าถึง น กามธาตุ น อรูปธาตุ... เข้าถึง น รูปธาตุ น อรูปธาตุ... เข้าถึง นกามธาตุ น รูปธาตุ ดังนี้.
               อนุโลมปุจฉาที่มีรูปธาตุเป็นมูละก็มี ๙ ที่มีรูปธาตุเป็นมูละก็มี ๙ เหมือนกัน รวมเป็นอนุโลมปุจฉา ๒๗ ปฏิโลมปุจฉาที่มี นกามธาตุ นรูปธาตุ และนอรูปธาตุ เป็นมูละก็มี ๒๗ นั่นแหละ. รวมคำถามทั้งหมด คืออนุโลมปุจฉา ๒๗ ปฏิโลมปุจฉา ๒๗ และคำถามที่เป็นทุกมูลอีก ๒๗ ดังพระบาลีว่า น กามธาตุยา น อรูปธาตุยา น รูปธาตุยา น อรูปธาตุยา น กามธาตุยา น รูปธาตุยา ดังนี้ จึงเป็นคำปุจฉา ๑๘. บัณฑิตพึงทำการกำหนดบาลีในธาตุวาระ และพึงทราบการกำหนดบาลี ในอนุสยยมกแม้ทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               ก็คำใดๆ ในอนุสยยมกที่มีเนื้อความอันยาก พึงทราบการวินิจฉัยกถาในที่นั้นๆ ตั้งแต่ต้น.
               ถามว่า คำว่า อนุสยา ชื่อว่าอนุสัยทั้งหลาย เพราะอรรถว่าอย่างไร?
               ตอบว่า ชื่อว่าอนุสัย เพราะอรรถว่านอนเนื่อง.
               ถามว่า อนุสัยนั้น ชื่อว่ามีอรรถว่านอนเนื่อง อย่างไร?
               ตอบว่า ชื่ออย่างนั้น เพราะอรรถว่าละไม่ได้.
               จริงอยู่ กิเลสเหล่านี้ ชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสันดานของสัตว์ เพราะอรรถว่าไม่ได้ ฉะนั้น อาจารย์ทั้งหลายจึงเรียกกิเลสเหล่านั้นว่า อนุสัย.
               คำว่า อนุเสนฺติ แปลว่า ย่อมนอนเนื่อง.
               อธิบายว่า ได้เหตุอันสมควรแล้วจึงเกิดขึ้น. อนึ่ง กิเลสที่มีอาการละไม่ได้ ชื่อว่าอนุสยัฏฐะ อรรถว่านอนเนื่อง พึงมี ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า กิเลสมีอาการละไม่ได้นี้ ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นควรจะกล่าวว่า อนุสัยทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้น ดังนี้.
               คำว่า อนุสยา อุปฺปชฺชนฺติ นี้ ในที่นี้เป็นคำรับรองว่า อนุสัย คือกิเลสที่มีอาการอันละไม่ได้.
               ก็คำว่า อนุสโย พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกกิเลสที่มีกำลัง เพราะอรรถว่าละไม่ได้.
               บัณฑิตพึงทราบว่า อนุสัยนี้เป็นจิตตสัมปยุต เป็นไปกับด้วยอารมณ์ (รู้อารมณ์ได้) เป็นสาเหตุกะเพราะอรรถว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นอกุศลอย่างเดียว เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้าง เป็นปัจจุบันบ้าง เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวว่า อนุสัยย่อมเกิดขึ้น.
               ในที่นี้ พึงทราบคำวินิจฉัยกถานี้ เป็นประมาณ.
               ในอภิธรรม ก่อนท่านปฏิเสธวาทะทั้งหมดไว้ในกถาวัตถุว่า อนุสัยทั้งหลายเป็นอัพยากตะ เป็นอเหตุกะ เป็นจิตตวิปปยุต ดังนี้ (โปรดดูกถาวัตถุ)
               ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านได้กล่าว กระทำคำถามไว้ว่า บุคคลย่อมละกิเลสทั้งหลายที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น คือว่า บุคคลย่อมละอนุสัยคือกิเลสที่มีกำลังได้ เพราะความที่อนุสัยเหล่านั้นเป็นปัจจุบันมีอยู่.
               ในธรรมสังคหะ ท่านกล่าวไว้ในบทภาชนีแห่งโมหะว่า ความเกิดขึ้นแห่งอวิชชานุสัยร่วมกับอกุศลจิตว่า อวิชชานุสัย อวิชชาปริยุฏฐาน อวิชชาลังคิโมหะและอกุศลมูลนี้ มีอยู่ในสมัยใด โมหะก็มีอยู่ในสมัยนั้น ดังนี้.
               ในอนุสยยมกนี้นั่นแหละ ท่านกล่าวไว้ในอุปปัชชนวาระแห่งมหาวาระ ๗ วาระใดวาระหนึ่งว่า กามราคานุสัย กำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม เป็นต้น เพราะฉะนั้น คำใดที่ท่านอธิบายว่า คำว่า นอนเนื่อง คือได้เหตุอันสมควรแล้วจึงเกิดขึ้นนี้ คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ดีแล้วด้วยสามารถแห่งแบบแผนนี้เป็นประมาณ.
               แม้คำที่กล่าวว่า อนุสัยเป็นจิตตสัมปยุต เป็นไปกับด้วยอารมณ์ (คือรู้อารมณ์ได้) แม้คำนั้นท่านก็กล่าวดีแล้วนั่นแหละ ดังนั้น พึงถึงความตกลงในที่นี้ว่า ชื่อว่าอนุสัย นั้นเป็นธรรมสำเร็จแล้ว เป็นจิตตสัมปยุตและเป็นอกุศล ด้วยประการฉะนี้. และพึงทราบวิเคราะห์ในคำทั้งหลายซึ่งมีคำว่า กามราคานุสโย เป็นต้นว่า กามราคะนั้นด้วย เป็นอนุสัยเพราะอรรถว่าละไม่ได้ด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่ากามราคานุสัย.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               บัดนี้ เพื่อประกาศอุปปัตติฏฐานวาระ คือวาระว่าด้วยที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอนุสัย แห่งอนุสัยเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตตฺถ กามราคานุสโย อนุเสติ เป็นต้น.
               คำว่า ตตฺถ กามธาตุยา ทฺวีสุ เวทนาสุ ได้แก่ กามราคานุสัยเกิดในเวทนาทั้ง ๒ คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาในกามาวจรภูมิ.๑-
____________________________
๑- คำว่า กามาวจรภูมิและกามธาตุ มีอรรถอย่างเดียวกัน

               คำว่า เอตฺถ กามราคานุสโย อนุเสติ ได้แก่ กามราคานุสัยย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ เหล่านี้. อธิบายว่า กามราคานุสัยนี้ย่อมนอนเนื่องด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยสามารถแห่งการเกิดร่วมและด้วยสามารถแห่งอารมณ์ในสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาแห่งอกุศลทั้งหลาย.
               ก็อนุสัยนั้นเป็นธรรมเกิดพร้อมกับสุขเวทนาและอุเบกขา เวทนาแห่งอกุศลบ้าง ย่อมทำเวทนาทั้ง ๒ ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นบ้าง และทำเวทนาในกามาวจรกุศล วิบาก กิริยาที่เหลือให้เป็นอารมณ์อย่างนั้นแหละเกิดขึ้นบ้าง.
               อนึ่ง อนุสัยนั้น เมื่อนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ ในกามธาตุ ย่อมนอนเนื่องแม้ในสัญญา สังขารและวิญญาณที่สัมปยุตด้วยเวทนาทั้ง ๒ นั้น. แต่ว่า อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในเวทนาทั้งสอง ไม่อาจเพื่อจะเกิดร่วมกับสัญญาเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยเวทนานั้น หรือว่าไม่กระทำสัญญาเป็นที่สัมปยุตด้วยเวทนานั้นแล้วเกิดขึ้น.
               ก็ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ เวทนาทั้งสองจึงเป็นประธานในสัมปยุตธรรมที่เหลือ เพราะความเกิดขึ้นแห่งกามราคานุสัยเพราะอรรถว่าชอบใจโดยความเป็นสุขที่มีความยินดีและความสงบ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กามราคานุสัยย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้งสองเหล่านี้ เป็นต้น.
               จริงอยู่ สุขเวทนาในเวไนยสัตว์ที่จะรู้ธรรม เพื่อความรู้ธรรมด้วยสามารถแห่งสภาวะที่โอฬาร คืออย่างหยาบ.
               อนึ่ง กามราคานุสัยนี้ เมื่อนอนเนื่องด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้งสอง และในธรรมที่สัมปยุตด้วยเวทนาทั้งสอง เพียงเท่านั้นก็หาไม่ ย่อมนอนเนื่องแม้ในรูปเป็นต้นที่ปรารถนาด้วยทีเดียว แม้คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ในวิภังคปกรณ์ว่า รูปอันใด เป็นที่รัก (ปิยรูปํ) เป็นที่ชอบใจ (สาตรูปํ) มีอยู่ในโลก กามราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องในปิยรูปและสาตรูปนี้ ดังนี้ มิใช่หรือ แม้ในคัมภีร์ยมกนี้ ก็ตรัสไว้ในปฏิโลมนัยแห่งอนุสยวาระว่า กามราคานุสัย ย่อมไม่นอนเนื่องในภูมิใด ทิฏฐานุสัย ก็ย่อมไม่นอนเนื่องในภูมินั้น ใช่ไหม ดังนี้.
               ก็กามราคานุสัยนั้น ย่อมไม่นอนเนื่องในทุกขเวทนา ในรูปธาตุ อรูปธาตุเหล่านี้ แต่ทิฏฐานุสัย ย่อมไม่นอนเนื่องในที่นั้นก็หาไม่ ในที่เป็นที่ไม่เนื่องกับกามราคานุสัยก็ไม่นอนเนื่อง ทิฏฐานุสัยก็ไม่นอนเนื่อง.
               จริงอยู่ ในข้อนี้ กามราคานุสัย เว้นทุกขเวทนาพร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม เว้นรูปารูปาจรธรรมที่เป็นไปในภูมิ และเว้นโลกุตธรรม ๙ เพราะได้ตรัสไว้ว่า กามราคานุสัย ไม่นอนเนื่องในทุกขเวทนา และในรูปธาตุเป็นต้น จึงเป็นอันว่า ย่อมนอนเนื่องในรูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะที่เหลือ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่ตรัสถ้อยคำนั้นในปกรณ์นี้?
               ตอบว่า เพราะความที่สภาวะเหล่านั้นเป็นของละเอียด.
               จริงอยู่ พระองค์ไม่ตรัสว่า กามราคานุสัย ย่อมนอนเนื่องในรูปเหล่านี้ เป็นต้น เพราะความที่เวทนาทั้งสองเท่านั้นเป็นประธาน คือเป็นอารมณ์ชัด และเพราะความที่รูปเหล่านี้เป็นอารมณ์ละเอียด คือปรากฏไม่มาก โดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง แต่ว่า เมื่อว่าโดยอรรถแล้ว ย่อมเป็นได้ ฉะนั้น พึงทราบว่า กามราคานุสัยย่อมนอนเนื่องแม้ในรูปทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละด้วย.
               จริงอยู่ พระศาสดาย่อมไม่ตรัสถึงธรรมทั้งปวงในที่ทั้งปวง เว้นแต่ธรรมใดย่อมหยั่งเห็นได้ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ที่พระองค์ทรงแนะนำเพื่อให้รู้ธรรม ก็ย่อมตรัสธรรมนั้นทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ตรัสในที่บางแห่ง. จริงอย่างนั้นแหละ คำใดที่พระองค์ตรัสปุจฉาว่า ทิฏฐานุสัยย่อมนอนเนื่องในที่ไหน ดังนี้ ย่อมได้คำวิสัชนาอย่างนี้ว่า ทิฏฐานุสัยย่อมนอนเนื่องในธรรมทั้งหลายที่นับเนื่องด้วยสักกายะทั้งปวง ดังนี้ ธรรมทั้งหมดนั้นพระองค์ตรัสไว้แล้ว.
               ในที่อื่นอีก คำใดย่อมได้คำวิสัชนาอย่างนี้ว่า วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัยและทิฏฐานุสัย ย่อมนอนเนื่องในรูปธาตุและอรูปธาตุนี้ และวิจิกิจฉานุสัย กามราคานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย ย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ ในกามธาตุ และวิจิกิจฉานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย อวิชชานุสัย ย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนานี้ ดังนี้ พระองค์มิได้ตรัสคำนั้นทั้งหมด ตรัสเพียงเวทนา ๓ กับรูปธาตุ อรูปธาตุเท่านั้น.
               ก็อรูปธรรมที่สัมปยุตด้วยเวทนา และรูปทั้งหมด มิได้ตรัสไว้. มิได้ตรัสไว้แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นทิฏฐานุสัย ก็ย่อมนอนเนื่องในที่นั้นนั่นแหละ. ข้อนี้ฉันใดในที่นี้มิได้ตรัสอิฏฐารมณ์มีรูปเป็นต้นไว้ ถึงอย่างนั้น กามราคานุสัยก็ย่อมนอนเนื่องในรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ ฉันนั้นนั่นแหละ. บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกามราคานุสัย ดังพรรณนามาฉะนี้ก่อน.
               บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งปฏิฆานุสัยโดยพระบาลีว่า ทุกฺขาย เวทนาย เป็นต้นว่า ได้แก่เวทนาทั้ง ๓ คือ โทมนัสสเวทนา ๒ และทุกขเวทนาที่สัมปยุตด้วยกายวิญญาณ ๑ นี้ ชื่อว่าอนุสยนัฏฐาน คือที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งปฏิฆานุสัย. ก็ปฏิฆานุสัยนั้นย่อมนอนเนื่องในโทมนัสสเวทนา ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นพร้อมกัน และด้วยสามารถแห่งอารมณ์ด้วย และย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนาที่เหลือด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               ก็ปฏิฆานุสัยนั้น เมื่อนอนเนื่องในเวทนาเหล่านั้น ย่อมนอนเนื่องแม้ในสัญญา สังขารและวิญญาณเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยเวทนาเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ปฏิฆานุสัยนี้เกิดร่วมกับเวทนาใด ก็เป็นสภาพเกิดร่วมกับธรรมทั้งหลาย แม้มีสัญญาเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยเวทนานั้นนั่นแหละ หรือว่า ย่อมกระทำเวทนาใดให้เป็นอารมณ์ ก็ย่อมทำแม้ธรรมทั้งหลายมีสัญญาเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยเวทนานั้นเหมือนกัน.
               ก็ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นแม้มีอยู่ ทุกขเวทนาเทียวจึงเป็นใหญ่ในสัมปยุตธรรมที่เหลือ เพราะความเกิดขึ้นแห่งปฏิฆานุสัยโดยอรรถว่าไม่ชอบใจ และเพราะความที่ตนเสวยทุกข์ในธรรมที่ไม่ชอบใจ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสคำนี้ว่า ปฏิฆานุสัยย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนานี้ ดังนี้.
               จริงอยู่ ความสุขคือสุขเวทนา ในเผ่าพันธุ์แห่งสัตว์ที่พระองค์ทรงแนะนำในการรู้ธรรม เพื่อความรู้ธรรมด้วยสามารถแห่งสภาวะที่เป็นโอฬาร มีอยู่.
               อนึ่ง ปฏิฆานุสัย เมื่อนอนเนื่องด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ย่อมไม่นอนเนื่องในทุกขเวทนา และสัมปยุตตธรรมแห่งเวทนาเท่านั้น ย่อมนอนเนื่องแม้ในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ที่ไม่น่าปรารถนาด้วย. ดังคำที่ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ว่า รูปอันใดอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจมีอยู่ในโลก ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องในรูปที่ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจนี้ ดังนี้ มิใช่หรือ.
               แม้ในปกรณ์แห่งยมกนี้ ในปฏิโลมนัยแห่งอนุสยวาระก็ตรัสไว้ว่า ปฏิฆานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องในเวทนาทั้งสองในกามธาตุนี้ แต่กามราคานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องในที่นั้นก็หาไม่ ในรูปธาตุ อรูปธาตุที่ไม่เนื่องกันนี้ ปฏิฆานุสัยก็ไม่นอนเนื่อง กามราคานุสัยก็ไม่นอนเนื่อง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า ปฏิฆานุสัยย่อมนอนเนื่องในธรรมทั้งหลายที่เหลือมีรูปเป็นต้น โดยเว้นเวทนา ๒ คือสุข อุเบกขา พร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม เว้นรูปาวจรธรรมที่เป็นไปในภูมิ และเว้นโลกุตตรธรรม ๙ เพราะความที่เทศนานั้น พระองค์ตรัสว่า ปฏิฆานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องในกามาวจรเวทนาทั้ง ๒ และในรูปธาตุเป็นต้น ดังนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่ตรัสไว้?
               ตอบว่า เพราะเป็นสภาวะละเอียด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปฏิฆานุสัยย่อมนอนเนื่องแก่ธรรมเหล่านี้ เพราะความที่ทุกขเวทนาเป็นใหญ่โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ และในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น เพราะความเป็นธรรมละเอียด ดังนี้ แต่เมื่อว่าโดยอรรถแล้วย่อมเป็นได้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ปฏิฆานุสัยย่อมนอนเนื่องแม้ในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเหล่านี้นั่นแหละ ดังนี้.
               ถามว่า เวทนาทั้งสองนอกนี้ เป็นอิฏฐารมณ์ของปฏิฆะ หรือไม่?
               ตอบว่า เวทนาทั้งสองนอกนี้ ไม่เป็นอารมณ์ของปฏิฆะ ก็หาไม่.
               จริงอยู่ โทมนัสของผู้มีฌานเสื่อมแล้ว ย่อมเกิดเพราะปรารภเวทนาเหล่านั้นอันเป็นไปกับด้วยสัมปยุตตธรรม ด้วยสามารถแห่งความเดือนร้อน คือโทมนัส ย่อมเกิดเพราะตามระลึกถึงความเสื่อมของผู้ได้อิฏฐารมณ์บ้าง ย่อมเกิดเพราะตามระลึกถึงสิ่งที่ไม่ได้ของผู้ไม่ได้อิฏฐารมณ์บ้าง ก็ข้อนี้เป็นเพียงโทมนัสเท่านั้น ไม่เป็นปฏิฆานุสัย เพราะปฏิฆานุสัยนั้นเป็นกิเลสที่มีกำลังเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการกระทบในอนิฏฐารมณ์ ฉะนั้น ปฏิฆะแม้เกิดร่วมกับโทมนัสในที่นี้ ย่อมไม่เป็นปฏิฆานุสัย เพราะไม่ทำปฏิฆกิจของตน ย่อมถึงความเป็นอัพโพหาริก คือถึงการกล่าวอ้างไม่ได้.
               พยาบาทแม้เกิดร่วมกับเจตนาในปาณาติบาต ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นมโนกรรม ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น ไม่เป็นปฏิฆานุสัย คือว่าย่อมถึงการกล่าวอ้างไม่ได้ สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมละปฏิฆะ คือโทมนัสเห็นปานนี้ โดยหมายเอาโทมนัสอันอาศัยเนกขัมมะอันเป็นอิฏฐารมณ์บางอย่างโดยสภาวะนั้น ปฏิฆานุสัย ก็ย่อมไม่นอนเนื่องในที่นั้น ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งปฏิฆานุสัย ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ที่เป็นที่นอนเนื่องแห่งมานานุสัย โดยพระบาลีว่า กามธาตุยา ทฺวีสุ เวทนาสุ เป็นต้นมี ๓ คือกามาวจรเวทนา ๒ รูปธาตุและอรูปธาตุ ๑. บัณฑิตพึงทราบความนอนเนื่องแห่งมานานุสัยอันเป็นสหชาตะเหมือนกามราคานุสัยในอกุศลเวทนาทั้งหลาย. ก็มานานุสัยย่อมนอนเนื่องในกามาวจรแม้ทั้งหมด พร้อมทั้งสัมปยุตตธรรมในสุขทุกข์ อทุกขมสุขเวทนาทั้งหลาย และในรูปธาตุทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งอารมณ์. ในปฏิโลมนัยแห่งอนุสยวาระ มานานุสัยนี้ เว้นทุกขเวทนา และโลกุตตรธรรม ๙ ย่อมนอนเนื่องในรูปและอรูปธาตุที่เหลือเท่านั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กามราคานุสัยย่อมไม่นอนเนื่อง มานานุสัยก็ย่อมไม่นอนเนื่องในธรรมที่เนื่องด้วยทุกขเวทนานี้ ดังนี้. พึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งมานานุสัยดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ย่อมไม่นอนเนื่องในโลกุตตธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แท้จริงยังนอนเนื่องแม้ในธรรมทั้งปวงทีเดียวที่เป็นไปกับภูมิ ๓ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมทั้งหลายที่นับเนื่องด้วยสักกายะทั้งปวง ดังนี้.
               ก็ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพสกฺกายปริยาปนฺเนสุ ได้แก่ ในธรรมทั้งปวงที่นับเนื่องด้วยสักกายะ เพราะอรรถว่าอาศัยสังสารวัฏ ดังนี้. ในข้อนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยเหล่านี้ ย่อมนอนเนื่องในจิตตุปบาท ๕ ดวง คือโลภสัมปยุตตจิต ๔ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ ด้วยสามารถแห่งการนอนเนื่องที่เป็นสหชาตะ.
               ก็หรือว่า ธรรมทั้ง ๒ นั้น ย่อมนอนเนื่องด้วยสามารถแห่งการนอนเนื่องในอารมณ์ในปวัตติกาล เพราะปรารภจิตตุปบาท ๕ เหล่านี้ หรือธรรมอื่นอันเป็นไปกับภูมิ ๓ ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ภวราคานุสัย บัณฑิตพึงกล่าวว่า ย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ ในกามธาตุ เพราะความเกิดขึ้นในทิฏฐิวิปปยุตตจิต ๔ ดวงแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ภวราคานุสัยนั้น เมื่อเกิดกับเวทนาทั้งปวงในกามธาตุ ย่อมได้เฉพาะในรูปาวจร อรูปาวจรเท่านั้น และย่อมไม่ทำธรรมแม้อันหนึ่งซึ่งเนื่องด้วยกามธาตุให้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภวราคานุสัยย่อมนอนเนื่องในรูปธาตุและอรูปธาตุนี้ โดยกำหนดไว้ด้วยสามารถแห่งการนอนเนื่องในอารมณ์ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าราคะนี้ มี ๒ ด้วยสามารถแห่งกามราคะและภวราคะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น กามราคะ ท่านกล่าวว่า ย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ แห่งกามธาตุ ดังนี้.
               ก็ถ้าว่า แม้ภวราคะพึงเป็นดุจกามราคะอย่างนี้ไซร้ การแสดงภวราคะกับด้วยกามราคะก็พึงเป็นเหมือนการคาบเกี่ยวกัน เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงแยกกิเลสมีราคะเป็นต้นไว้ เพื่อต้องการแสดงความแตกต่างกันของกามราคะกับภวราคะแล้ว จึงทรงแสดงเทศนาอย่างนี้. บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งภวราคานุสัย ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็อวิชชานุสัยย่อมนอนเนื่องในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชานุสัยย่อมนอนเนื่องในธรรมทั้งหลายที่นับเนื่องด้วยสักกายะทั้งปวงไว้ในที่นี้ ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบความที่อวิชชานุสัยเป็นธรรมนอนเนื่องอันเป็นสหชาติในจิตตุปบาท ๑๒ ดวง. ก็เมื่อว่าด้วยสามารถแห่งการกระทำอารมณ์แล้ว อวิชชานุสัยไม่ปรารภธรรมอะไรๆ อันเป็นไปในภูมิ ๓ แล้วเป็นไปหามีไม่. บัณฑิตพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอวิชชานุสัย ดังพรรณนามาฉะนี้.
               นี้เป็นวินิจฉัยกถาในปริจเฉทวาระ ปริจฉินนุทเทสวาระ อุปปัตติฏฐานวาระก่อน.

               มหาวาระ ๗               
               ก็ในอนุสยวาระที่หนึ่งแห่งมหาวาระ ๗ คำใดที่กล่าวไว้ว่า กามราคานุสัยกำลังนอนเนื่องแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็กำลังนอนเนื่องแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม ดังนี้ ตอบรับคำว่า อามนฺตา แปลว่า ใช่ ดังนี้. คำนั้น ย่อมปรากฏราวกะว่าให้คำตอบที่ไม่ดี.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะกามราคะและปฏิฆะไม่เกิดในขณะเดียวกัน เหมือนอย่างว่ามนาตนะ ธัมมายตนะ กายสังขาร วจีสังขาร ย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันในคำว่า มนายตนะกำลังเกิดแก่บุคคลใด ธัมมายตนะก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม ดังนี้.
               ท่านตอบรับว่า ใช่ (อามนฺตา) ในขณะแห่งการเกิดขึ้นแห่งอัสสาสะปัสสาสะ กายสังขารของบุคคลเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้น วจีสังขารของบุคคลเหล่านั้นก็กำลังเกิดขึ้น เป็นต้นฉันใด กามราคะและปฏิฆะ ย่อมเกิดฉันนั้นหามิได้. เพราะกามราคะย่อมเกิดในโลภสหคตจิตตุปบาท ๘ ดวง ส่วนปฏิฆะย่อมเกิดในโทมนัสสหคตจิตตุปบาท ๒ ดวง ด้วยประการฉะนี้ ความเกิดขึ้นในขณะเดียวกันของธรรมเหล่านั้น (กามราคะ ปฏิฆะ) จึงไม่มี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทำคำปฏิเสธในที่นี้ว่า โน ดังนี้. ก็ในที่นี้ ท่านไม่ถือเอาโวหารอันกำลังเป็นไป ด้วยสามารถแห่งปัจจุบันขณะราวกะในยมกทั้งหลายในหนหลัง เพราะเนื้อความนั้นไม่ปฏิเสธ ก็ต้องตอบรับรองว่า อามนฺตา ดังนี้ จึงควรถือเอาโดยประการอื่นๆ.
               ถามว่า ควรถือเอาด้วยอาการอย่างไร?
               ตอบว่า ด้วยสามารถแห่งกิเลสที่ละไม่ได้.
               จริงอยู่ โวหารที่กำลังเป็นไปว่า อนุเสติ นี้ ท่านกล่าวหมายเอากิเลสที่ยังละไม่ได้ มิได้หมายเอาความเป็นปัจจุบันขณะ เพราะท่านกล่าวหมายเอากิเลสที่เป็นสภาวะที่ละไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า กามราคานุสัยอันบุคคลใดยังละไม่ได้ แม้ปฏิฆานุสัยของบุคคลนั้นก็ยังละไม่ได้ จึงเป็นสภาวะให้ถึงความเป็นธรรมนอนเนื่อง ในคำปุจฉาว่า กามราคานุสัยกำลังนอนเนื่องแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็กำลังนอนเนื่องแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม ดังนี้.
               อนึ่ง ในอนุสัยเหล่านั้น อนุสัยหนึ่งอันบุคคลใดยังมิได้ละ อนุสัยนอกนี้ของบุคคลนั้นก็ยังละไม่ได้นั่นแหละ ฉะนั้น จึงกล่าวว่า อามนฺตา ดังนี้.
               ผิว่า คำใดท่านรับรองว่า อามนฺตา ในอุปปัชชนวาระข้างหน้า เพราะคำถามอย่างนี้ว่า กามราคานุสัยกำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม ดังนี้. ในข้อนี้พึงถือเอาเนื้อความอย่างไร แม้ในข้อนั้น ท่านก็ถือเอาด้วยสามารถแห่งการที่กิเลสนั้นยังละไม่ได้ ก็หรือ ครั้นเมื่อปัจจัยคือการเกิดขึ้นมีอยู่ ก็พึงถือเอาด้วยสามารถแห่งการไม่ปฏิเสธความเกิด.
               เหมือนอย่างว่า ช่างเขียนเป็นต้น เริ่มจิตกรรมมีการวาดเขียนเป็นต้น เมื่อการงานยังไม่เสร็จ ถูกมิตรสหายเป็นต้นถามว่า ท่านทำอะไรในวันเหล่านี้ที่เราเห็นแล้วๆ แม้ในขณะที่ยังไม่ทำการงานเหล่านั้น ก็ย่อมกล่าวว่า เรากำลังทำจิตกรรม กำลังทำกัฏฐกรรม แม้ขณะนั้นไม่ได้ทำจิตกรรมเป็นต้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ชื่อว่ากำลังทำอยู่นั่นแหละ เพราะอาศัยขณะที่ทำแล้ว และขณะที่ควรจะทำต่อไป ฉันใด อนุสัยทั้งหลายในสันดานใดที่ยังละไม่ได้ ก็ฉันนั้นนั่นแหละ.
               ก็หรือว่า เมื่อปัจจัยให้เกิดอนุสัยเหล่านั้นมีอยู่ในสันดานใด การเกิดขึ้นแห่งอนุสัยเหล่านั้นอันธรรมดามิได้ห้ามไว้ ในข้อนั้นบัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งอนุสัย แม้ในขณะที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่างนี้ว่า กามราคานุสัยกำลังเกิดขึ้นแก่บุคคลใด เพราะอาศัยกาลที่เคยเกิดแล้วด้วย และจะเกิดขึ้นในกาลอื่นด้วย ปฏิฆานุสัยของบุคคลนั้น ก็ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้นนั่นแหละ ดังนี้ ในการวิสัชนาแม้อื่นจากนี้ก็ดี ที่มีรูปอย่างนี้ก็ดี ก็นัยนี้แหละ.
               คำว่า โน จ ตสฺส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะความที่กามราคถและพยาบาทเป็นสภาวะ อันพระอนาคามีละได้แล้วโดยไม่เหลือ.
               คำว่า ติณฺณํ ปุคฺคลานํ ได้แก่ ปุถุชน พระโสดาบันและพระสกทาคามี.
               คำว่า ทฺวินฺนํ ปุคฺคลานํ ได้แก่ พระโสดาบันและพระสกทาคามี. ในฐานะทั้งหลายที่มีรูปอย่างนี้แม้ข้างหน้า ก็นัยนี้แหละ.
               ในคำถามที่หนึ่งและที่สองแห่งโอกาสวาระ ท่านทำการปฏิเสธว่า โน ดังนี้ เพราะกามราคานุสัยย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ แห่งกามธาตุ ปฏิฆานุสัยย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนา ฉะนั้น จึงปฏิเสธว่า โน.
               ในคำถามที่ ๓ ท่านกล่าวรับรองว่า อามนฺตา เพราะการนอนเนื่องแม้แห่งธรรมทั้งสองในเวทนาทั้งสองแห่งกามธาตุ ฐานะคือที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งมานานุสัยในรูปธาตุ อรูปธาตุกับด้วยกามราคานุสัยนั้นเป็นที่ที่ไม่ทั่วไป เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า อนึ่ง กามราคานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องในรูปธาตุนั้น ดังนี้.
               โดยนัยนี้ บัณฑิตพึงตรวจดูวาระว่าด้วยที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอนุสัยทั้งปวง แล้วจะพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอนุสัยทั้งปวง แล้วจะพึงทราบที่เป็นที่เกิดขึ้นอันเป็นสาธารณะและอสาธารณะ.
               ในคำถามที่มีมูล ๒ เพราะกามราคานุสัย ย่อมไม่เกิดในที่เดียวกัน และย่อมไม่ทำธรรมหนึ่งให้เป็นอารมณ์ ฉะนั้น จึงทำปฏิเสธว่า นตฺถิ ดังนี้. ก็ในที่นี้พึงทราบว่า อนุสัยทั้ง ๒ เหล่านี้ พึงนอนเนื่องในที่ใด ที่นั้นย่อมไม่เป็นที่ๆ เดียวกัน เพราะฉะนั้น คำถามนี้ว่า มานานุสัยย่อมนอนเนื่องในที่นั้น ดังนี้ ชื่อว่าย่อมไม่เป็นคำปุจฉาเลย. ในอนุสัยแม้อื่นๆ ที่มีรูปอย่างนี้ ก็นัยนี้แหละ.
               คำว่า จตุนฺนํ ในปุคคโลกาสวาระ ได้แก่ บุคคล ๔ จำพวก คือปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี.
               ในปฏิโลมนัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสถามว่า กามราคานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องแก่บุคคลใด เป็นต้น. ทรงถือเอาพระอนาคามีและพระอรหันต์ จึงตรัสถามว่า กามราคานุสัยย่อมไม่นอนเนื่องแก่บุคคลทั้งสองในภูมิทั้งปวง ดังนี้. บัณฑิตพึงถือเอากามาวจรธรรมแม้ทั้งหมดอันสัมปยุตด้วยเวทนา ในพระบาลีว่า กามธาตุยา ตีสุ เวทนาสุ ดังนี้บ้าง และถือเอาวัตถุและอารมณ์แห่งธรรมเหล่านั้นบ้าง.
               อนุสยาวารกถา จบ.               

               สานุสยวารกถา               
               ก็ในสานุสยวาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า โย กามราคานุสเยน สานุสโย นี้ อธิบายว่า เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีอาพาธด้วยโรคอย่างใดอย่างหนึ่งมิโรคชราอันแน่นอนเป็นต้น ตราบใดโรคทั้งหลายยังไม่พ้นไปจากบุคคลนั้น ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีโรค แม้ในขณะแห่งโรคนั้นยังไม่เกิด ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น อนุสัยทั้งหลายแห่งสัตว์ผู้มีปกติไปตามวัฏฏะ ผู้มีกิเลสยังไม่ถึงการถอนขึ้นด้วยอริยมรรคเพียงใด แม้ในขณะที่อนุสัยทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้เป็นไปกับด้วยอนุสัย คือมีอนุสัยนั่นแหละ เพราะอาศัยความที่สัตว์เป็นผู้มีอนุสัยเห็นปานนี้ จึงรับรองด้วยคำว่า อามนฺตา ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่นี้เช่นกับอนุสยวาระนั่นแหละ.
               ก็ในโอกาสวาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า รูปธาตุยา อรูปธาตุยา เอตฺถ มานานุสเยน สานุสโย อธิบายว่า ในธาตุทั้งหลายเหล่านั้น ความที่บุคคลเป็นไปกับด้วยอนุสัย คือมีอนุสัย พึงปรากฏ แต่ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอนุสัยไม่พึงปรากฏ ก็เพื่อแสดงที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอนุสัยนั้น พระองค์จึงเริ่มวาระนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มานานุสเยน สานุสโย เป็นต้นจากวาระนั้น ฯ ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น จึงตรัสว่า บุคคลผู้เป็นไปกับด้วยมานานุสัย คือมีมานานุสัย เกิดขึ้นแต่ธาตุทั้งสองนั้น ดังนี้. ก็เมื่อพระองค์ไม่ตรัสอรรถแห่งปัญหาแรก ย่อมจะไม่ปรากฏ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสอรรถปัญหาแรก พึงทราบเนื้อความแห่งปัญหานี้ อย่างนี้.
               คำว่า ยโต กามราคานุสเยน ได้แก่ กามราคานุสัยเกิดขึ้นแล้วแต่ที่ใด.
               คำว่า สานุสโย ได้แก่ บุคคลชื่อว่าผู้เป็นไปกับด้วยอนุสัย คือมีอนุสัย แม้ด้วยปฏิฆานุสัยก็เกิดขึ้นแต่ที่นั้น ดังนี้. แต่เพราะอนุสัยทั้งสอง คือกามราคะ ปฏิฆะ นั้นไม่เกิดแต่ที่เดียวกัน ฉะนั้น จึงปฏิเสธว่า โน ดังนี้.
               คำว่า อรหา สพฺพตฺถ นี้ ท่านทำสัตตมีวิภัตติ ในที่แสดงอรรถโดยสิ้นเชิง ด้วยสามารถแห่งอรรถนี้ว่า พระอรหันต์เป็นผู้ไม่มีอนุสัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในธรรมทั้งปวง ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยอรรถในคำทั้งปวงโดยอุบายนี้.
               สานุสยวารกถา จบ.               

               ปชหนวารกถา               
               ในปชหนวาระ บทว่า ปชหติ ได้แก่ ย่อมละอนุสัยด้วยมรรคนั้น คือว่า ย่อมทำให้ถึงความเป็นธรรมชาติที่ไม่เกิดขึ้นต่อไป ด้วยอำนาจแห่งปหานปริญญา.
               คำว่า อามนฺตา เป็นคำรับรอง โดยหมายเอาพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค.
               คำว่า ตเทกฏฐํ ปชหติ นี้ ตรัสหมายเอาความที่บุคคลนั้นเป็นผู้ตั้งอยู่ในปริญญาอันเลิศ คือปหานะ.
               คำว่า โน นี้ ปฏิเสธหมายเอาพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค.
               คำว่า ยโต กามราคานุสยํ ปชหติ ได้แก่ ย่อมละกามราคานุสัยซึ่งเกิดขึ้นแต่ที่ใด.
               คำว่า อฏฺฐมโก ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค โดยนับตั้งแต่พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล เป็นที่หนึ่ง พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั้น จึงชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลที่ ๘.
               จริงอยู่ พระอรหันต์เป็นพระอริยบุคคลที่หนึ่ง เพราะความที่ท่านเป็นพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ โดยการนับตามลำดับพระทักขิไณยบุคคล. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคเป็นที่ ๒ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลเป็นที่ ๓ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคเป็นที่ ๔ ฯลฯ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตตมรรคเป็นที่ ๘. พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตตมรรคนั้น ตรัสว่าเป็นบุคคลที่ ๘.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อฏฺฐมโก นี้ เป็นนามสัญญาของท่าน.
               คำว่า อนาคามิมคฺคสมงฺคิญฺจ อฏฺฐมกญฺจ ฐเปตฺวา อวเสสา ได้แก่ พระเสขะและอเสขะทั้งหลายกับด้วยปุถุชน.
               จริงอยู่ ในบุคคลเหล่านั้น ปุถุชนย่อมละกามราคานุสัยไม่ได้ เพราะความที่ปุถุชนนั้นไม่มีปหานปริญญา. อธิบายว่า เว้นบุคคลที่เหลือ คือผู้ถึงพร้อมด้วยมรรคทั้ง ๒ ได้แก่โสดาปัตติมรรค อนาคามิมรรค เพราะความที่อนุสัยเหล่านั้นท่านละได้แล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งปวง โดยนัยนี้.
               ปชหนวารกถา จบ.               

               ปริญญาวารกถา               
               ในปริญญาวาระ คำว่า ปริชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้แจ้งปริญญาทั้ง ๓ คำที่เหลือในที่นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง. จริงอยู่ แม้วาระนี้ พระองค์ก็ทรงวิสัชนาด้วยอำนาจแห่งพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเท่านั้น ราวกะปชหนวาระ.
               ปริญญาวารกถา จบ.               

               ปหีนวารกถา               
               พระองค์ทรงเริ่มเทศนาในปหีนวาระไว้ ด้วยอำนาจแห่งพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล เพราะว่า อนุสัยเหล่านี้แม้ทั้งสองอันพระอนาคามีละได้แล้ว ฉะนั้น จึงรับรองว่า อามนฺตา ดังนี้.
               ในโอกาสวาระ ท่านกล่าว เพราะคำถามว่า กามราคานุสัยที่ละได้แล้วในภูมิใด ปฏิฆานุสัยก็ละได้แล้วในภูมินั้น ใช่ไหม ดังนี้ ไม่สมควรจะกล่าวคำว่า ละได้แล้ว หรือว่า ละไม่ได้แล้ว ดังนี้
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความที่ภูมินั้นเป็นที่เกิดขึ้นอันไม่ทั่วไป.
               จริงอยู่ ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกามราคานุสัยก็เป็นอย่างหนึ่ง ของปฏิฆานุสัยก็เป็นอย่างหนึ่ง. คือว่า อนุสัยของมรรคบุคคลผู้ไม่เจริญแล้ว ย่อมเกิดขึ้นในภูมิใด ครั้นท่านเจริญมรรคให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ชื่อว่าละได้แล้วในที่นั้นนั่นแหละ. ก็ในบรรดาอนุสัยทั้งสองนั้น ปฏิฆานุสัยย่อมไม่เกิดขึ้นในที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกามราคานุสัย แม้กามราคานุสัยก็ไม่เกิดขึ้นในที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งปฏิฆานุสัย ฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่า อนุสัยนั้น ท่านละได้แล้ว หรือว่าละยังไม่ได้ในที่ (ภูมิ) นั้น เพราะว่า กามราคานุสัยนั้น ท่านละได้แล้วในที่เป็นที่เกิดของตน จึงไม่ควรกล่าวว่า อนุสัยนั้น ท่านละได้แล้วในที่นั้น เพราะความที่ท่านละยังไม่ได้. ที่ใด เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกามราคานุสัย ไม่ควรกล่าวว่า ท่านละไม่ได้แล้วในที่นั้น เพราะความที่กามราคานุสัยนั้นไม่ได้อยู่ในที่นั้น.
               ก็ในคำนี้ว่า ยตฺถ กามราคานุสโย ปหีโน ตตฺถ มานานุสโย ปหีโน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าหมายเอาที่เป็นที่สาธารณะ จึงตรัสว่า อามนฺตา. เพราะว่า กามราคานุสัยย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ ในกามธาตุ มานานุสัยย่อมนอนเนื่องในเวทนาทั้ง ๒ เหล่านั้นด้วย ในรูปธาตุและอรูปธาตุทั้งหลายด้วย แต่มานานุสัยนั้น เว้นที่เป็นที่อสาธารณะ ในที่เป็นที่สาธารณะ ย่อมชื่อว่า ท่านละได้แล้วกับทั้งกามราคานุสัย ฉะนั้น จึงรับรองว่า อามนฺตา ดังนี้.
               บัณฑิตพึงทราบความเป็นผู้ละได้แล้ว และคำอันไม่พึงกล่าวในโอกาสวาระแม้ทั้งปวงโดยนัยนี้.
               ก็คำว่า นตฺถิ ในอนาคตสถานทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยเช่นกับคำที่กล่าวแล้วในหนหลัง. ปุคคโลกาสวาระมีคติอย่างโอกาสวาระนั่นแหละ. ในปฏิโลมนัย คำว่า ยสฺส กามราคานุสโย อปฺปหีโน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามด้วยอำนาจแห่งความเป็นปุถุชน พระโสดาบันและพระสกทาคามี.
               จริงอยู่ อนุสัยทั้ง ๒ เหล่านี้ บุคคล ๖ จำพวก ตั้งแต่ปุถุชนจนถึงพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ละยังไม่ได้ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในที่นี้ ประสงค์เอาพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค เพราะพระบาลีว่า ปรโต ติณฺณํ ปุคฺคลานํ ทฺวินฺนํ ปุคฺคลานํ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า อามนฺตา โดยหมายเอาปุถุชน พระโสดาบันและพระสกทาคามีเท่านั้น.
               คำว่า ทฺวินฺนํ ปุคฺคลานํ ได้แก่ พระโสดาบันและพระสกทาคามี. พึงทราบวินิจฉัยในปุคคลวาระโดยนัยนี้. ก็โอกาสวาระและปุคคลโลกาสวาระ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ปหีนวารกถา จบ.               
               ในอุปปัชชนวาระ เช่นกับอนุสัยวาระนั่นแหละ.               

               ธาตุวารกถา               
               บัณฑิตพึงทราบธาตุวาระก่อนว่า กติ อนุสยา อนุเสนฺติ ได้แก่ อนุสัยเท่าไร ที่เป็นสภาพไปตามสันดานแล้วอาศัยอยู่.
               คำว่า กติ อนุสยา นานุเสนฺติ อนุสัยเท่าไรไม่ไปตามสันดานแล้วอาศัยอยู่.
               คำว่า กติ อนุสยา ภงฺคา ความว่า บัณฑิตพึงจำแนกอย่างนี้ว่า อนุสัยเท่าไรย่อมนอนเนื่อง อนุสัยเท่าไรย่อมไม่นอนเนื่อง ดังนี้. คำที่เหลือในที่นี้คำใดที่ควรกล่าว คำนั้นท่านก็กล่าวแล้วในที่เป็นที่กำหนดพระบาลีในหนหลังนั่นแหละ. แต่ในนิเทสวาระ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งปุถุชนว่า อนุสัย ๗ ย่อมนอนเนื่องแก่ใครดังนี้.
               คำว่า กสฺสจิ ปญฺจ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งพระโสดาบันและพระสกทาคามี.
               จริงอยู่ ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย อันท่านเหล่านั้นละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น อนุสัยทั้ง ๕ เท่านั้น จึงนอนเนื่อง ดังนี้.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในข้อนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเนื้อความในบทว่า อุปฺปชฺชนฺติ แห่งบทว่า อนุเสนฺติ ในอนุสยวาระฉันใด ในธาตุวาระนี้ พึงทราบว่าไม่พึงถือเอาฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความที่อนุสัยนั้นไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลกำลังเข้าถึงกามธาตุ วิบากจิตและรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานย่อมเกิด แต่อกุศลจิตย่อมไม่เกิดในขณะนั้น. ก็อนุสัยทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นในขณะแห่งอกุศลจิต ย่อมไม่เกิดขึ้นในขณะแห่งวิบากจิต เพราะเหตุนั้น เพราะความไม่เกิดในขณะดังกล่าวแล้วนั้นจึงไม่ควรถือเอา.
               ถามว่า พึงถือเอาอย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมหยั่งเห็นได้โดยประการใด ก็พึงถือเอาโดยประการนั้น.
               ถามว่า ย่อมหยั่งเห็นได้อย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมหยั่งเห็นได้ เพราะอรรถว่าเป็นกิเลสที่ยังละไม่ไม้.
               เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกุศลและอัพยากตจิต เพราะความที่ราคะโทสะและโมหะอันตนละยังไม่ได้ ท่านก็เรียกว่าผู้มีราคะโทสะและโมหะ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อนุสัยเหล่านั้นย่อมนอนเนื่องแก่บุคคลนั้นๆ แม้ในขณะแห่งปฏิสนธิ เพราะความที่มรรคภาวนายังมิได้ละ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่า อนุสัยเหล่านั้นย่อมนอนเนื่องอย่างเดียว แต่พึงทราบว่าอนุสัยเหล่านั้น ชื่อว่านอนเนื่องเพราะความเป็นสภาวะที่ยังละไม่ได้นั่นแหละด้วย ดังนี้.
               คำว่า อนุสยา ภงฺคา นตฺถิ อธิบายว่า ก็ชื่อว่าอนุสัย อันบัณฑิตพึงจำแนกอย่างนี้ว่า อนุสัยใดกำลังนอนเนื่องแก่บุคคลใด อนุสัยนั้นเท่านั้นย่อมนอนเนื่อง, อนุสัยใดมิได้กำลังนอนเนื่อง, อนุสัยนั้นเท่านั้น ก็ย่อมไม่นอนเนื่อง, อนุสัยนี้ย่อมนอนเนื่องและย่อมไม่นอนเนื่อง, อนุสัยนี้พึงนอนเนื่องด้วยไม่พึงนอนเนื่องด้วย ดังนี้ ย่อมไม่มี.
               คำว่า รูปธาตุํ อุปปชฺชนฺตสฺส กสฺสจิ ตโย นี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งพระอนาคามี.
               จริงอยู่ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิและวิจิกิจฉานุสัยแม้ทั้ง ๔ ท่านละได้แล้วโดยไม่เหลือ อนุสัย ๓ นอกนี้ท่านยังละไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กสฺสจิ ตโย อนุสยา อนุเสนฺติ แปลว่า อนุสัย ๓ ย่อมนอนเนื่องแก่ใคร ดังนี้.
               คำว่า น กามธาตุ อธิบายว่า เมื่อเข้าถึงธาตุทั้ง ๒ ที่เหลือ เพราะความที่ท่านปฏิเสธกามธาตุ.
               คำว่า สตฺเตว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดแล้วตรัสว่า ชื่อว่า การเกิดในกามธาตุของพระอริยสาวกผู้จุติจากรูปธาตุย่อมไม่มี มีอยู่แต่ปุถุชนเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า สตฺเตว ดังนี้. แม้ในคำว่า สตฺเตว แห่งบุคคลผู้จุติจากอรูปธาตุแล้วเข้าถึงกามธาตุนี้ ก็นัยนี้แหละ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร คำว่า ความเกิดขึ้นในรูปธาตุย่อมไม่มี ดังนี้.
               ตอบว่า เพราะความไม่มีรูปาวจรฌานอันเป็นธรรมให้สำเร็จในการเกิดนั้นไม่มี.
               จริงอยู่ บุคคลนั้นเข้าถึงธาตุนั้น เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น รูปาวจรฌานของท่านจึงไม่มีอยู่ในที่นั้น เพราะความไม่มีรูปาวจรฌานนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า การเกิดขึ้นในรูปธาตุจึงไม่มี ดังนี้.
               ในข้อว่า อรูปธาตุยา จุตสฺส น กามธาตุํ นี้ ทรงประสงค์เอาในอรูปธาตุเท่านั้น. พึงทราบเนื้อความในวิสัชนาทั้งปวง โดยนัยนี้ ดังนี้แล.
               ธาตุวารกถา จบ.               
               อรรถกถาอนุสยยมก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑ อนุสยยมก อนุสัย ๗ เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 38 / 1อ่านอรรถกถา 38 / 1220อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 1221อ่านอรรถกถา 38 / 1255อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=38&A=10846&Z=11635
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=8171
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=8171
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :