ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 38 / 1อ่านอรรถกถา 38 / 220อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 38 / 279อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑
ขันธยมก ปริญญาวาร

               อรรถกถาปริญญาวาระ               
               แม้ในปริญญาวาระ อันมีในลำดับต่อจากปวัตติมหาวาระนั้น มีประเภทแห่งกาล ๖ อย่างเท่านั้น มีนัย ๒ อย่างโดยอนุโลมและปฏิโลม แต่ในวาระทั้ง ๓ คือปุคคลวาระ โอกาสวาระ ปุคคโลกาสวาระ ย่อมได้บุคคลวาระเท่านั้น ไม่ได้วาระนอกนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะมีคำวิสัชชนาอย่างเดียวกัน.
               ก็ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมรอบรู้รูปขันธ์ในที่ใดที่หนึ่งไซร์ ก็ย่อมรอบรู้แม้เวทนาขันธ์ ถ้าว่าย่อมรอบรู้เวทนาขันธ์ไซร์ ก็ย่อมรอบรู้แม้รูปขันธ์ ถ้าว่าบุคคลใดไม่รอบรู้รูปขันธ์ไซร์ ก็ย่อมไม่รอบรู้แม้เวทนาขันธ์ ถ้าว่าไม่รอบรู้ซึ่งเวทนาขันธ์ ก็ย่อมไม่รอบรู้แม้รูปขันธ์ เพราะฉะนั้น ในวาระแม้เหล่านั้น พึงทราบว่า ย่อมไม่ได้วาระ ๒ เหล่านั้น ในปริญญาวาระนี้ เพราะมีคำวิสัชชนาเหมือนกันว่า บุคคลพึงทำการถามด้วยอำนาจคำถามเป็นต้นว่า ยตฺถ รูปกฺขนฺธํ ปริชานาติ ตตฺถ เวทนากฺขนฺธํ ปริชานาติ ดังนี้แล้ว พึงกระทำการวิสัชชนาว่า อามนฺตา - ใช่ นั่นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปุคคลวาระ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วในปริญญาวาระนี้ว่า ชื่อว่าปริญญากิจ ย่อมมีแก่บุคคลเท่านั้นไม่มีแก่โอกาสะ บุคคลเท่านั้นสามารถเพื่อการรอบรู้ ไม่ใช่โอกาสะ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ทรงถือเอาโอกาสวาระ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงถือเอาโอกาสวาระนั้น ปุคคโลกาสวาระที่มีในลำดับแห่งโอกาสวาระนั้น แม้ได้อยู่ ก็ไม่ทรงถือเอา ก็บุคคลวาระนี้ใดทรงถือเอาแล้วในปัจจุบันกาลยมกะ ๑๐ อย่าง ด้วยการถือเอาอีก ในอนุโลมโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังว่า ยมกที่มีรูปขันธ์เป็นมูล ๔ เวทนาขันธ์เป็นมูล ๓ สัญญาขันธ์เป็นมูล ๒ สังขารขันธ์เป็นมูล ๑ ในปฏิโลมนัยอีก ๑๐ จึงรวมเป็นยมก ๒๐ แม้ในการที่เหลือก็อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบการกำหนดพระบาลีในปริญญาวาระนี้ว่า ยมก ๑๒๐ ปุจฉา ๒๔๐ อรรถ ๔๘๐ ย่อมมีในกาลทั้ง ๖ เพราะกระทำกาลหนึ่งๆ ให้เป็น ๒๐.
               ก็ในการวินิจฉัยเนื้อความในปริญญาวาระนี้ อัทธา ๓ คืออดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมไม่ได้ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ เหมือนกันกับปวัตติวาระ แต่ย่อมได้ด้วยอำนาจขณะแห่งจิตในปวัตติเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ในปริญญาวาระนี้ ท่านจึงกระทำการวิสัชชนาว่า ใช่ ในคำถามทั้งหลาย เป็นต้นว่า บุคคลใดกำลังรอบรู้ซึ่งรูปขันธ์ บุคคลนั้นกำลังรอบรู้ซึ่งเวทนาขันธ์หรือ บุคคลรู้อยู่ซึ่งขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ เพราะยังปริญญากิจให้สำเร็จด้วยกิจอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ในโลกุตรมรรค ย่อมกล่าวได้ว่า ย่อมรอบรู้แม้ขันธ์นอกนี้.
               คำว่า ปริชานาติ = ย่อมรอบรู้ ในปริญญาวาระนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ใช่ เพราะทรงหมายเอาความพร้อมเพรียงแห่งมรรคอันเลิศ (อรหัตมรรค) อันถือซึ่งที่สุดแห่งปริญญากิจ ในปัญหาทั้งหลายในอนุโลมนัย แต่ว่าในปฏิโลมนัย คำว่า น ปริชานาติ = ไม่ใช่กำลังรอบรู้ ในปัญหาทั้งหลายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ใช่ เพราะทรงหมายเอาบุคคลทั้งหลายมีปุถุชนเป็นต้น.
               ส่วนในคำนี้ว่า ปริชานิตฺถ = เคยรอบรู้ ในอดีตกาล ได้แก่ บุคคลแม้ดำรงอยู่ในผลอันเลิศในลำดับแห่งมรรค ชื่อว่ารอบรู้แล้วนั่นเทียว เพราะสำเร็จปริญญากิจแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามซึ่งความพร้อมเพรียงแห่งมรรคอันเลิศด้วยปัญหาว่า บุคคลใดกำลังรอบรู้รูปขันธ์ บุคคลนั้นเคยรอบรู้ซึ่งเวทนาขันธ์หรือ ก็เพราะบุคคลนี้ชื่อว่ารู้อยู่ (คือกำลังรู้) ซึ่งขันธ์ ๕ เท่านั้น (ยังไม่เคยรอบรู้) เพราะปริญญากิจที่ตนยังไม่สำเร็จแล้วก่อน เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกระทำการปฏิเสธว่า โน = ไม่ใช่ (หามิได้).
               ส่วนปัญหาที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามซึ่งพระอรหัตต์ว่า ปริชานิตฺถ = รอบรู้แล้วหรือ ก็เพราะปริญญากิจที่ท่านกระทำสำเร็จแล้วไม่มีอยู่ เหตุนั้นชื่อว่ากิจที่ควรกำหนดรู้จึงไม่มีแก่พระอรหัตต์นั้น ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกระทำการปฏิเสธว่า โน = ไม่ใช่ ในการวิสัชนาแห่งปฏิโลมนัยในทุติยปัญหานี้ว่า อรหา รูปกฺขนฺธํ น ปริชานาติ = พระอรหันต์ไม่ใช่กำลังรอบรู้ซึ่งรูปขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะความไม่มีเพื่อการรอบรู้ของพระอรหันต์ หลายบทว่า บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคอันเลิศ (อรหัตตมรรค) ไม่รอบรู้แล้วซึ่งเวทนาขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะบุคคลผู้ดำรงอยู่ในอรหัตตมรรค ยังไม่สำเร็จปริญญากิจ อรหัตตมรรคบุคคลนั้นย่อม (ยัง) ไม่เคยรู้ซึ่งเวทนาขันธ์อย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ แม้ธรรมอย่างหนึ่งก็ไม่เคยรอบรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ด้วยอำนาจคำถาม แม้คำนี้ว่า โน จ รูปกฺขนฺธํ พระองค์ก็ตรัสแล้วด้วยอำนาจคำถามนั่นแหละ ก็อรหัตตมรรคบุคคลนั้นย่อมไม่รอบรู้ซึ่งขันธ์แม้อื่น.
               ปัญหาว่า บุคคลใดกำลังรอบรู้ซึ่งรูปขันธ์ บุคคลนั้นก็จักรอบรู้ซึ่งเวทนาขันธ์หรือ อธิบายว่า เพราะบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรค เป็นผู้มีขณะจิตเดียว (คือมรรคจิตเกิดขณะเดียว) ฉะนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความนับว่า จักรอบรู้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า โน = ไม่ใช่.
               หลายบทว่า เต รูปกฺขนฺธญฺจ น ปริชานิตฺถ = บุคคลเหล่านั้นไม่เคยรอบรู้ซึ่งรูปขันธ์ด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยคำถามที่เสมอกัน อธิบายในปัญหานี้ว่า บุคคลทั้งหลายไม่รู้แล้ว (คือยังไม่รู้) บัณฑิตพึงทราบการวินิจฉัยเนื้อความในที่ทั้งปวงโดยอุบายนี้.

               ปริญญาวาระ จบ.               
               ขันธยมกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๑ ขันธยมก ปริญญาวาร จบ.
อ่านอรรถกถา 38 / 1อ่านอรรถกถา 38 / 220อรรถกถา เล่มที่ 38 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 38 / 279อ่านอรรถกถา 38 / 1564
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=38&A=2272&Z=2341
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=7800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=7800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :