ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 210อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 214อ่านอรรถกถา 4 / 224อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ วัสสูปนายิกขันธกะ
อันตรายของภิกษุผู้จำพรรษาเป็นต้น

               อรรถกถาอันตรายเป็นเหตุหลีกไป               
               บทว่า ปริปาเตนฺติปิ ความว่า พาลมฤคทั้งหลายมาแล้วโดยรอบ ย่อมให้หนีไปบ้าง ยังความกลัวให้เกิดขึ้นบ้าง ปลงเสียจากชีวิตบ้าง.
               บทว่า อาวิสนฺติ คือ ปีศาจทั้งหลาย ย่อมเข้าสิงสรีระ.
               วินิจฉัยในข้อว่า เยน คาโม เตนคนฺตุํ เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               ถ้าชาวบ้านเขาไปตั้งอยู่ไม่ไกล ภิกษุพึงเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้นแล้ว กลับมายังวัด จำพรรษาเถิด. ถ้าชาวบ้านไปไกล ก็พึงรับอรุณในวัดโดยวาระ ๗ วัน ถ้าไม่สามารถเพื่อจะรับอรุณในวัดโดยวาระ ๗ วันได้ ก็พึงอยู่ในที่แห่งภิกษุผู้เป็นสภาคกันในบ้านนั้นเถิด.
               ถ้าว่ามนุษย์ทั้งหลายถวายสลากภัตเป็นต้นตามที่เคยมา พึงบอกกะเขาว่า เรามิได้อยู่ในวัดนั้น. แต่เมื่อเขาพากันกล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้ถวายแก่วัดหรือแก่ปราสาท พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าก็นิมนต์ฉันเถิด ดังนี้ ภิกษุพึงฉันได้ตามสบาย ภัตนั้นย่อมถึงพวกเธอแท้. ก็เมื่อทายกเขากล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงแจกกันฉันในที่อยู่ของพระผู้เป็นเจ้าเถิด ดังนี้ ภิกษุอยู่ ณ ที่ใด พึงนำไป ณ ที่นั้น แล้วพึงแจกกันตามลำดับพรรษาฉันเถิด.
               ถ้าพวกทายกถวายผ้าจำนำพรรษา ในเวลาที่ภิกษุปวารณาเสร็จแล้ว ผิว่าภิกษุทั้งหลายรับอรุณโดยวาระ ๗ วัน พึงรับเถิด. แต่ภิกษุผู้พรรษาขาด พึงบอกว่า เราทั้งหลายมิได้จำพรรษาในวัดนั้น เราขาดพรรษา ถ้าเขากล่าวว่า เสนาสนะของพวกข้าพเจ้า ท่านให้ถึงแก่พระผู้เป็นเจ้าเหล่าใด พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นจงรับเถิด ดังนี้ ภิกษุควรรับ.
               ส่วนของควรแจกกันได้มีจีวรเป็นต้น ที่ภิกษุขนย้ายมาที่ในสถานใหม่นี้ด้วยคิดว่า เก็บไว้ในวัดจะฉิบหายเสีย ควรไปอปโลกน์แจกกันในวัดเดิมนั้น. นัยแม้ในของสงฆ์อันเกิดขึ้นในวัดนั้นเป็นต้นว่า นาและสวนที่ทายกมอบให้ไว้แก่กัปปิยการกทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงถวายปัจจัย ๔ แก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจากมูลค่าแห่งนาและสวนนี้. ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ของสงฆ์ที่ควรแจกกันได้ จะอยู่ในภายในวัดหรือภายนอกสีมาก็ตามที ของที่ควรแจกกันได้นั้น ไม่ควรอปโลกน์แจกแก่ภิกษุ ผู้ตั้งอยู่ภายนอกสีมา. แต่ของสงฆ์ซึ่งเป็นของควรแจกกันได้ อันตั้งอยู่ในเขตทั้ง ๒ สมควรแท้ที่จะอปโลกน์แจกแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในภายในสีมา.
               วินิจฉัยในข้อว่า สงฺโฆ ภินฺโน นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว กิจที่ควรไปทำย่อมไม่มี แต่คำว่า แตกกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาสงฆ์ที่ภิกษุระแวงว่า จะแตกกัน.
               วินิจฉัยในข้อว่า สมฺพหุลาหิ ภิกฺขุนีหิ สงฺโฆ ภินฺโน นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               บัณฑิตไม่พึงเห็นว่า สงฆ์อันภิกษุณีทั้งหลายทำลายแล้ว.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ว่า ดูก่อนอุบาลี ภิกษุณีทำลายสงฆ์หาได้ไม่. ความระแวงมีอยู่ว่า อันภิกษุทั้งหลายพึงอาศัยภิกษุณีเหล่านั้น กระทำพวกเธอให้เป็นกำลังอุดหนุนแล้ว พึงทำลายสงฆ์หมู่ใด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสงฆ์หมู่นั้น ตรัสคำนี้ว่า สงฆ์อันภิกษุณีเป็นอันมากทำลายแล้ว.
               สถานที่อยู่ของนายโคบาลทั้งหลาย ชื่อว่าพวกโคต่าง.
               วินิจฉัยในข้อว่า เยน วโช นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุไปกับพวกโคต่างไม่เป็นอาบัติเพราะพรรษาขาด.
               บทว่า อุปกฏฺฐาย คือใกล้เข้ามาแล้ว.
               วินิจฉัยในข้อว่า สตฺเถ วสฺสํอุปคนฺตุํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ในวันเข้าพรรษา ภิกษุนั้นพึงบอกพวกอุบาสกว่า อาตมาได้กระท่อม จึงจะควร.
               ถ้าอุบาสกทำถวาย พึงเข้าไปในกระท่อมนั้น แล้วกล่าวว่า อิธ วสฺสํ อุเปมิ เราเข้าพรรษาในที่นี้ ดังนี้ ๓ ครั้ง.
               ถ้าเขาไม่ทำถวายไซร้ พึงเข้าจำพรรษาในภายใต้เกวียน ที่ตั้งอยู่โดยท่วงทีอย่างศาลา. เมื่อไม่ได้แม้ซึ่งที่เช่นนั้น พึงทำความอาลัยเถิด. แต่จะเข้าจำพรรษาในหมู่เกวียนไม่ควร. เพียงจิตตุปบาทที่คิดว่า เราจักจำพรรษาในที่นี้ ก็จัดว่าอาลัย.
               ถ้าว่าหมู่เกวียนยังเดินทางอยู่ ถึงวันปวารณาเข้า พึงปวารณาในหมู่เกวียนนั้นนั่นแล.
               ถ้าหมู่เกวียนถึงที่ที่ภิกษุปรารถนาแล้วในภายในพรรษาแล้วเลยไป ภิกษุพึงอยู่ในที่ที่ตนปรารถนา แล้วปวารณากับภิกษุทั้งหลายในที่นั้นเถิด.
               ถ้าแม้หมู่เกวียนหยุดอยู่ในบ้านแห่งหนึ่งก็ดี แยกกันไปก็ดี ในระหว่างทางภายในพรรษานั้นเอง ก็พึงอยู่กับภิกษุทั้งหลายในบ้านนั้นแล แล้วปวารณาเถิด. ยังไม่ได้ปวารณา จะไปต่อไปจากที่นั้นไม่ควร.
               แม้เมื่อจะจำพรรษาในเรือ ก็ควรเข้าจำในประทุนเหมือนกัน เมื่อหาประทุนไม่ได้ พึงทำความอาลัยเถิด.
               ถ้าเรืออยู่เฉพาะในทะเลตลอดภายใน ๓ เดือน ก็พึงปวารณาในเรือนั้นเถิด.
               ลำดับนั้นถ้าเรือถึงฝั่งเข้า ฝ่ายภิกษุนี้เป็นผู้ต้องการจะไปต่อไป จะไป ไม่ควร. พึงอยู่ในบ้านที่เรือจอดนั้นแล แล้วปวารณากับภิกษุทั้งหลายเถิด.
               ถ้าแม้ว่าเรือจะไปในที่อื่นตามริมฝั่งเท่านั้น แต่ภิกษุอยากจะอยู่ในบ้านที่เรือถึงเข้าก่อนนั้นแล เรือจงไปเถิด ภิกษุพึงอยู่ในบ้านนั้นแล แล้วปวารณากับภิกษุทั้งหลายเถิด.
               ใน ๓ สถาน คือในพวกโคต่าง ในหมู่เกวียน ในเรือ ไม่มีอาบัติ เพราะขาดพรรษา ทั้งได้เพื่อปวารณาด้วยปวารณาฉะนี้แล.
               ส่วนในเรื่องทั้งหลาย มีเรื่องว่า ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้เดือดร้อนด้วยสัตว์ร้ายเป็นต้น มีสังฆเภทเป็นที่สุด ซึ่งมีมาแล้วในหนหลัง ไม่เป็นอาบัติอย่างเดียว แต่ภิกษุไม่ได้เพื่อปวารณา.
               บทว่า ปิสาจิลฺลิกา คือ ปีศาจนั่นเอง ชื่อว่าปีศาจิลลิกา.
               วินิจฉัยในข้อว่า น ภิกฺขเว รุกฺขสุสิเร นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               จะจำพรรษาในโพรงไม้ล้วนเท่านั้นไม่ควร. แต่จะทำกุฎีมุงบังด้วยแผ่นกระดานติดประตูสำหรับเข้าออกในภายในโรงโพรงไม้ใหญ่แล้ว จำพรรษา ควรอยู่. แม้จะตัดต้นไม้ สับฟากปูเรียบไว้ ทำกระท่อมมีกระดานมุงบังบนตอไม้แล้วจำพรรษาก็ควรเหมือนกัน.
               วินิจฉัยแม้ในข้อว่า รุกฺขวิฏปิยา นี้ พึงทราบดังนี้ว่า :-
               จะจำพรรษาสักว่าบนค่าคบไม้ล้วนไม่ควร. แต่ว่าพึงผูกเป็นร้านบนค่าคบไม้ที่ใหญ่ แล้วทำให้เป็นห้องมุงบังด้วยกระดานบนร้านนั้นแล้วจำพรรษาเถิด.
               บทว่า อเสนาสนิเกน ความว่า เสนาสนะที่มุงแล้วด้วยเครื่องมุง ๕ ชนิด๑- ชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดประตูสำหรับเปิดปิดได้ของภิกษุใดไม่มี ภิกษุนั้นไม่ควรจำพรรษา.
____________________________
๑- ฎีกาสารตฺถทีปนีว่า ปญฺจนฺนํ ฉทนานนฺติ ติณปณฺณอิฏฺ ฐกสิลาสุธาสงฺขาตานํ ปญฺจนฺนํ ฉทนานํ.

               วินิจฉัยในข้อว่า น ภิกฺขเว ฉวกุฏิกาย นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               กระท่อมต่างชนิดมีเตียงมีแม่แคร่เป็นต้น ชื่อกระท่อมผี. จะจำพรรษาในกระท่อมผีนั้นไม่ควร. ก็แต่ว่าจะทำกระท่อมชนิดอื่นในป่าช้า แล้วจำพรรษา ควรอยู่.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในข้อว่า น ภิกฺขเว ฉตฺเต นี้ ดังนี้ :-
               จะปักร่มไว้ใน ๔ เสา ทำฝารอบ ติดตะปูไว้แล้ว จำพรรษาก็ควร. กุฎีนั้นชื่อกุฎีร่ม.
               วินิจฉัยแม้ในบทว่า จาฏิยา นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               จะทำกุฎีด้วยกระเบื้องอย่างใหญ่ ตามนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องร่ม จำพรรษาก็ควร.
               เนื้อความแม้ในข้อว่า เอวรูปา กติกา นี้ มีดังนี้ :-
               กติกาแม้อื่นที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้อันใด กติกานั้นไม่ควรทำ. ลักษณะแห่งกติกานั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในมหาวิภังค์.
               ข้อว่า วสฺสาวาโส ปฏิสฺสุโต โหติ ปุริมิกาย มีความว่า พระอุปนนทศากยบุตรได้ทำปฏิญญาว่า เราจักจำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้น ณ อาวาสของท่านทั้งหลาย.
               ข้อว่า ปุริมิกา จ น ปญฺญายติ ความว่า การจำพรรษาในอาวาสซึ่งได้ปฏิญญาไว้หาปรากฏไม่.
               วินิจฉัยในข้อว่า ปฏิสฺสเว จ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ย่อมเป็นอาบัติเพราะรับคำนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงจำพรรษาในที่นี้ตลอด ๓ เดือนนี้ ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ ย่อมเป็นอาบัติทุกกฎ เพราะรับคำนั้นๆ แม้โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรับภิกษาตลอด ๓ เดือนนี้ ข้าพเจ้าแม้ทั้ง ๒ จักอยู่ในที่นี้ จักให้แสดงรวมกัน. ก็ปฏิสสวทุกกฎนั้นแล ย่อมมีเพราะเหตุคือแกล้งกล่าวให้คลาดในภายหลัง ของภิกษุผู้มีจิตบริสุทธิ์ในชั้นต้น. แต่สำหรับภิกษุผู้มีจิตไม่บริสุทธิ์ในชั้นเดิม ควรปรับทุกกฎกับปาจิตตีย์ คือทุกกฎเพราะรับคำ ปาจิตตีย์เพราะแกล้งกล่าวให้คลาด.
               วินิจฉัยในข้อทั้งหลายมีข้อว่า โส ตทเหว อกรณีโย เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               ถ้าว่าภิกษุไม่เข้าจำพรรษา หลีกไปเสียก็ดี เข้าจำพรรษาแล้วยัง ๗ วันให้ล่วงไปภายนอกอาวาสก็ดี วันเข้าพรรษาต้นของเธอไม่ปรากฏด้วย เธอต้องอาบัติเพราะรับคำด้วย. แต่ว่าไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้ว ไม่ทันให้อรุณขึ้น แม้หลีกไปด้วยสัตตากรณียะในวันนั้นทีเดียว กลับมาภายใน ๗ วัน ก็ถ้อยคำที่ควรกล่าวอะไร จะพึงมีแก่ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ๒-๓ วัน สัตตาหะไปเสียแล้วกลับมาภายใน ๗ วัน.
               วินิจฉัยแม้ในข้อว่า ทฺวิหติหํ วิสตฺวา นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               พึงทราบว่า ขาดพรรษาเพราะล่วงอุปจาระไป ด้วยทอดอาลัยไปเสีย ไม่คิดกลับเท่านั้น. ถ้ายังมีความอาลัยว่า เราจักอยู่ ณ ที่นี้ แต่ไม่เข้าพรรษา เพราะระลึกไม่ได้ เสนาสนะที่เธอถือเอาแล้ว ก็เป็นอันถือเอาด้วยดี เธอไม่ขาดพรรษา ย่อมได้เพื่อปวารณาแท้.
               วินิจฉัยในข้อว่า สตฺตาหํ อนาคตาย ปวารณาย นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ย่อมควรเพื่อจะไป จำเดิมแต่วันขึ้น ๙ ค่ำ จะกลับมาก็ตาม ไม่กลับมาก็ตาม ไม่เป็นอาบัติ.
               คำที่เหลือเป็นคำตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               อรรถกถาวัสสูปนายิกขันธก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ วัสสูปนายิกขันธกะ อันตรายของภิกษุผู้จำพรรษาเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 210อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 214อ่านอรรถกถา 4 / 224อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=5971&Z=6281
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3348
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3348
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :