ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 5อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 4 / 7อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
ราชายตนกถา

               อรรถกถาราชายตนกถา               
               บทว่า มุจฺจลินฺทมูลา ได้แก่ จากโคนต้นไม้จิก ซึ่งตั้งอยู่ในแถบทิศปราจีนแต่มหาโพธิ์.
               บทว่า ราชายตนํ มีความว่า เสด็จเข้าไปยังโคนไม้เกต ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศทักษิณ.
               ข้อว่า เตน โข ปน สมเยน มีคำถามว่า โดยสมัยไหน?
               ตอบว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งด้วยการนั่งขัดสมาธิอย่างเดียวตลอด ๗ วันที่โคนต้นไม้เกต ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่า ต้องมีกิจเนื่องด้วยพระกระยาหาร จึงทรงน้อมถวายผลสมอเป็นพระโอสถ ในเวลาอรุณขึ้น ณ วันที่ทรงออกจากสมาธิทีเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยผลสมอพระโอสถนั้น พอเสวยเสร็จเท่านั้น ก็ได้มีกิจเนื่องด้วยพระสรีระ ท้าวสักกะได้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้วประทับนั่งที่โคนต้นไม้นั้นนั่นแล. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในเมื่ออรุณขึ้นแล้ว ด้วยประการอย่างนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล.
               สองบทว่า ตปุสฺสภลฺลิกา วาณิชา ได้แก่ พานิชสองพี่น้อง คือตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑.
               บทว่า อุกฺกลา ได้แก่ จากอุกกลชนบท.
               สองบทว่า ตํ เทสํ มีความว่า สู่ประเทศเป็นที่เสด็จอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในประเทศไหนเล่า?
               ตอบว่า ในมัชฌิมประเทศ.
               เพราะฉะนั้น ในคำนี้จึงมีเนื้อความดังนี้ สองพานิชนั้นเป็นผู้เดินทางไกล เพื่อไปยังมัชฌิมประเทศ.
               สองบทว่า ญาติสาโลหิตา เทวตา ได้แก่ เทวดาผู้เคยเป็นญาติของสองพานิชนั้น.
               สองบทว่า เอตทโวจ มีความว่า
               ได้ยินว่า เทวดานั้นได้บันดาลให้เกวียนทั้งหมดของพานิชนั้นหยุด. ลำดับนั้น เขาทั้งสองมาใคร่ครวญดูว่า นี่เป็นเหตุอะไรกัน? จึงได้ทำพลีกรรมแก่เทวดาผู้เป็นเจ้าทางทั้งหลาย. ในเวลาทำพลีกรรมของเขา เทวดานั้นสำแดงกายให้เห็น ได้กล่าวคำนี้.
               สองบทว่า มนฺเถน จ มธุปิณฺฑิกาย จ ได้แก่ ข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อน ปรุงด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิมาเนถ ได้แก่ จงบำรุง.
               สองบทว่า ตํ โว มีความว่า ความบำรุงนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน.
               สองบทว่า ยํ อมฺหากํ มีความว่า การรับอันใดจะพึงมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เหล่าข้าพระองค์ตลอดกาลนาน.
               สองบทว่า ภควโต เอตทโหสิ มีความว่า
               ได้ยินว่า บาตรใดของพระองค์ได้มีในเวลาทรงประกอบความเพียร บาตรนั้นได้หายไปแต่เมื่อนางสุชาดามาถวายข้าวปายาส. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้ทรงมีพระรำพึงนี้ว่า บาตรของเราไม่มี. ก็แลพระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆ ไม่ทรงรับด้วยพระหัตถ์เลย. เราจะพึงรับข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนปรุงน้ำผึ้งด้วยอะไรเล่าหนอ?
               บทว่า ปริวิตกฺกญฺญาย มีความว่า กระยาหารที่นางสุชาดาถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในกาลก่อนแต่นี้ ยังคงอยู่ด้วยอำนาจที่หล่อเลี้ยงโอชะไว้ ความหิว ความกระหาย ความเป็นผู้มีกายอิดโรยหาได้มีไม่ ตลอดกาลเท่านี้ ก็บัดนี้พระรำพึงโดยนัยเป็นต้นว่า นโข ตถาคตา ได้เกิดขึ้น ก็เพราะพระองค์ใคร่จะทรงรับพระกระยาหาร. ทราบพระรำพึงในพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเกิดขึ้นอย่างนั้นด้วยใจของตน.
               บทว่า จตุทฺทิสา คือ จาก ๔ ทิศ.
               สองบทว่า เสลมเย ปตฺเต ได้แก่ บาตรที่แล้วด้วยศิลามีพรรณคล้ายถั่วเขียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับบาตรนี้แล.
               คำว่าบาตรแล้วด้วยศิลา ท่านกล่าวหมายเอาบาตรเหล่านั้น. ก็ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้น้อมถวายบาตรแล้วด้วยแก้วอินทนิล๑- ก่อน. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรับบาตรเหล่านั้น ลำดับนั้น จึงน้อมถวายบาตรแล้วด้วยศิลา มีพรรณดังถั่วเขียวทั้ง ๔ บาตรนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรับทั้ง ๔ บาตรเพื่อต้องการจะรักษาความเลื่อมใสของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ไม่ใช่เพราะความมักมาก. ก็แลครั้นทรงรับแล้ว ได้ทรงอธิษฐานบาตรทั้ง ๔ ให้เป็นบาตรเดียว ผลบุญแห่งท้าวเธอทั้ง ๔ ได้เป็นเช่นเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนปรุงน้ำผึ้งด้วยบาตรศิลามีค่ามาก ที่ทรงอธิษฐานให้เป็นบาตรเดียวด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- มีพรรณเขียวเลื่อมประภัสสร ดังแสงปีกแมลงทับ ในตำหรับไสยศาสตร์ ชื่อว่าแก้วมรกต.

               บทว่า ปจฺจคฺเฆ คือ มีค่ามาก. อธิบายว่า แต่ละบาตรมีค่ามาก.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปจฺจคฺเฆ ได้แก่ ใหม่เอี่ยม คือเพิ่งระบมเสร็จ.
               ความว่า เกิดในขณะนั้น. เขาชื่อว่ามีวาจาสอง เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ได้เป็นผู้มีวาจาสอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า สองพานิชนั้นถึงความเป็นอุบาสกด้วยวาจาสอง. สองพานิชนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสกอย่างนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทีนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาทและยืนรับใครเล่า พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร. พระเกศาติดพระหัตถ์ ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้นแก่เขาทั้งสอง ด้วยตรัสว่าท่านจงรักษาผมเหล่านี้ไว้.
               สองพานิชนั้นได้พระเกศธาตุราวกะได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป.

               อรรถกถาราชายตนกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ราชายตนกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 5อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 4 / 7อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=160&Z=186
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=228
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=228
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :