ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 7อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 4 / 10อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
พรหมยาจนกถา

               อรรถกถาพรหมยาจนกถา               
               ครั้งนั้นแล พอล่วงเจ็ดวัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น เสร็จกิจทั้งปวงมีประการดังกล่าวแล้วนั้นแล ออกจากโคนต้นไม้เกต เสด็จเข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธแม้อีก.
               สองบทว่า ปริวิตกฺโก อุทปาทิ มีความว่า ความรำพึงแห่งใจนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประพฤติกันมาเป็นอาจิณ เกิดขึ้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พอประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธนั้นเท่านั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ความรำพึงแห่งใจนี้จึงเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์?
               ตอบว่า เพราะทรงพิจารณาข้อที่พระธรรมเป็นคุณใหญ่ เป็นคุณเลิศลอย เป็นของหนัก และเพราะเป็นผู้ใคร่จะทรงแสดงตามคำที่พรหมทูลวิงวอน.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงทราบว่า เมื่อพระองค์ทรงรำพึงอย่างนั้น พรหมจักมาทูลเชิญแสดงธรรม ทีนั้นสัตว์ทั้งหลายจักให้เกิดความเคารพในธรรม เพราะว่า โลกสันนิวาสเคารพพรหม. ความรำพึงนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒ ประการนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า อธิคโต โข มยายํ ตัดบทว่า อธิคโต โข เม อยํ ความว่า ธรรมนี้อันเราบรรลุแล้วแล.
               บทว่า อาลยรามา มีความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมพัวพันในกามคุณ ๕ อย่าง เพราะเหตุนั้น กามคุณ ๕ เหล่านั้น ท่านจึงเรียกว่าอาลัย หมู่สัตว์ย่อมรื่นรมย์ด้วยกามคุณเป็นที่พัวพันเหล่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย. หมู่สัตว์ยินดีแล้วในกามคุณเป็นที่พัวพันทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าผู้ยินดีในอาลัย. หมู่สัตว์เพลินด้วยดีในกามคุณเป็นที่พัวพันทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าผู้เพลินในอาลัย.
               บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต ความแห่งบทว่า ยทิทํ นั้นหมายเอาฐานะ พึงเห็นอย่างนี้ว่า ยํ อิทํ หมายเอาปฏิจจสมุปบาท พึงเห็นอย่างนี้ว่า โย อยํ.
               บทว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท มีอรรถวิเคราะห์ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ ชื่อ อิทปฺปจฺจยา อิทปฺปจฺจยา นั่น ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตา ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้นั้น เป็นธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ เป็นธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น.
               ข้อว่า โส มมสฺส กิลมโถ มีความว่า ขึ้นชื่อว่าเทศนาแก่เหล่าชนผู้ไม่รู้ พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยแก่เรา พึงเป็นความลำบากแก่เรา.
               บทว่า ภควนฺตํ แปลว่า แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า อนจฺฉริยา ได้แก่ ที่เป็นอัศจรรย์นักหนา.๑-
____________________________
๑- แปลเอาความตามนัยฎีกา สารตฺถทีปนี ภาค ๑ หน้า ๕๓๐ ซึ่งแก้ได้ว่า อนุอจฺฉริยาติ สวนกาเล อุปรปริ วิมฺหยกราติ อตฺโถ.

               บทว่า ปฏิภํสุ มีความว่า ได้เป็นอารมณ์แห่งญาณกล่าวคือปฏิภาณ คือถึงความเป็นคาถาอันพระองค์พึงรำพึง. อักษรใน บทว่า หลํ นี้ สักว่าเป็นนิบาต ความว่า ไม่ควร.
               บทว่า ปกาสิตุํ ได้แก่ เพื่อแสดง.
               มีคำอธิบายว่า บัดนี้ไม่ควรแสดงธรรมที่เราบรรลุได้โดยยากนี้.
               บาทคาถาว่า นายํ ธมฺโม สุสมฺพุทฺโธํ มีความว่า ธรรมนี้ทำได้ง่ายๆ เพื่อจะตรัสรู้หามิได้ อธิบายว่า การที่จะรู้มิใช่ทำได้ง่ายๆ
               บทว่า ปฏิโสตคามึ มีความว่า ให้ถึงนิพพานที่ท่านเรียกว่าธรรมอันทวนกระแส.
               บทว่า ราคฺรตฺตา มีความว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้อันเครื่องย้อมคือกาม เครื่องย้อมคือภพ และเครื่องย้อมคือทิฏฐิย้อม (ใจ) แล้ว.
               บทว่า น ทกฺขนฺติ ได้แก่ ย่อมไม่เห็น.
               สองบทว่า ตโมกฺขนฺเธน อาวุฏา มีความว่า ผู้อันกองแห่งอวิชชาปกคลุมไว้แล้ว.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺกตาย มีความว่า เพื่อความเป็นผู้ไม่ประสงค์จะแสดง เพราะค่าที่เป็นผู้ปราศจากความขวนขวาย.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม มีความว่า ในโลกชื่อใด.
               บทว่า ภควโต ปุรโต ปาตุรโหสิ มีความว่า ท้าวสหัมบดีพรหมได้พามหาพรหมทั้งหลายในหมื่นจักรวาล มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลวิงวอนให้ทรงแสดงธรรม.
               บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา มีอรรถวิเคราะห์ว่า ธุลี คือราคะโทสะโมหะน้อยในจักษุ ที่แล้วด้วยปัญญา เป็นปกติแห่งตนของสัตว์เหล่านี้ เหตุนั้น สัตว์เหล่านี้ชื่อผู้มีชาติแห่งสัตว์ผู้มีธุลีน้อยในจักษุ.
               บทว่า ภวิสฺสนฺติ ธมฺมสฺส ได้แก่ ธรรมคือสัจจะ ๔.
               บทว่า อญฺญาตาโร ได้แก่ ผู้ตรัสรู้.
               บทว่า ปาตุรโหสิ ได้แก่ มีปรากฏ.
               สองบทว่า สมเลหิ จินฺติโต มีความว่า อันครูทั้งหกผู้มีมลทินมีราคะเป็นต้น คิดแล้ว.
               บทว่า อปาปุเรตํ มีความว่า ขอจงเปิดประตูนั้น.
               สองบทว่า อมตสฺส ทฺวารํ มีความว่า อริยมรรคเป็นประตู แห่งนิพพานซึ่งเป็นธรรมไม่ตาย.
               บาทพระคาถาว่า สุณนฺตุ ธมฺมํ วิมเลนานุพุทฺธํ มีความว่า สัตว์เหล่านี้จงฟังธรรมคือสัจจะ ๔ ที่พระสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ปราศจากมลทิน เพราะไม่มีมลทินมีราคะเป็นต้น ตรัสรู้สมควรแล้ว.
               บาทพระคาถาว่า เสเล ยถาปพฺพตมุทฺธนิฏฺฐิโต มีความว่า
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มีดวงตานั้น ยืนบนยอดภูเขาซึ่งล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นเทือกเดียวกัน จะพึงเห็นประชุมชนได้รอบด้านฉันใด. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีเมธาดี คือผู้มีปัญญาดี ผู้มีพระจักษุรอบคอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ แม้พระองค์เสด็จขึ้นสู่ปราสาทซึ่งแล้วด้วยธรรม คือล้วนด้วยพระปัญญา พระองค์เองปราศจากความโศกแล้ว ขอจงทรงแลดู คือทรงพิจารณาประชุมชนผู้คับคั่งด้วยความโศก ถูกความเกิดและความแก่ครอบงำแล้ว ฉันนั้นเถิด. ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อจะทรงวิงวอนให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปเพื่อทรงแสดงธรรม จึงทูลว่า ขอจงเสด็จลุกขึ้นเถิด.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า วีร เป็นต้น ดังนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่าวีระ เพราะทรงมีความเพียร ทรงพระนามว่าวิชิตสงคราม เพราะทรงชำนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร กิเลสมารและอภิสังขารมาร ทรงพระนามว่าสัตถวาหะ เพราะทรงสามารถช่วยหมู่สัตว์ให้พ้นจากกันดารมีชาติกันดารเป็นต้น ทรงพระนามว่าผู้ไม่มีหนี้ เพราะไม่มีหนี้ คือกามฉันท์.
               บทว่า อชฺเฌสนํ ได้แก่ คำวิงวอน.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา คือ ด้วยอินทริยปโรปริยัติญาณและอาสยานุสยญาณ.
               จริงอยู่ คำว่า พุทธจักขุ เป็นชื่อแห่งพระญาณ ๒ อย่างนี้.
               บทว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้น มีความว่า
               ธุลีมีราคะเป็นต้นในปัญญาจักขุของสัตว์เหล่าใดมีน้อย สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีธุลีในจักษุน้อย. ของสัตว์เหล่าใดมีมาก สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้มีธุลีในจักษุมาก. อินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นของสัตว์เหล่าใดกล้า สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีอินทรีย์กล้า, ของสัตว์เหล่าใดอ่อน สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีอินทรีย์อ่อน. อาการมีศรัทธาเป็นต้นของสัตว์เหล่าใดดี สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีอาการดี, ของสัตว์เหล่าใดไม่ดี สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีอาการชั่ว. สัตว์เหล่าใดกำหนดเหตุที่ท่านกล่าวได้ คือเป็นผู้ที่สามารถจะให้รู้ได้โดยง่าย สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้ที่จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย. สัตว์เหล่าใดไม่เป็นอย่างนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้ที่จะพึงสอนให้รู้โดยยาก. สัตว์เหล่าใดเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย สัตว์เหล่านั้นชื่อผู้มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย.
               บทว่า อุปฺปลินิยํ ได้แก่ ในกออุบล.
               แม้ในบทนอกจากนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนุโตนิมุคฺคโปสินี ได้แก่ ดอกบัวที่ยังจมอยู่ภายในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้.
               บทว่า สโมทกฏฺฐิตานิ ได้แก่ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ.
               หลายบทว่า อุทกํ อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺฐนฺติ ได้แก่ ตั้งอยู่พ้นน้ำ.
               บทว่า อปารุตา ได้แก่ เปิดแล้ว.
               สองบทว่า อมตสฺส ทฺวารา ได้แก่ อริยมรรค.
               จริงอยู่ อริยมรรคนั้นเป็นประตูแห่งพระนิพพาน กล่าวคืออมตธรรม.
               สองบทว่า ปมุญฺจนฺตุ สทฺธํ มีความว่า ชนทั้งปวงจงปล่อย คือจงสละความเชื่อของตน. ในสองบทข้างท้าย มีเนื้อความดังนี้นี่เอง เพราะว่า เราเป็นผู้มีความสำคัญว่าจะต้องลำบากกายวาจา จึงไม่ได้แสดงธรรมที่อุดมประณีตนี้ แม้ที่เป็นไปดีแคล่วคล่องสำหรับตนในหมู่มนุษย์ คือในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

               อรรถกถาพรหมยาจนกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ พรหมยาจนกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 7อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 4 / 10อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=209&Z=258
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=276
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=276
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :