ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 236อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 246อ่านอรรถกถา 40 / 283อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัจจยวาร อนุโลมนัย

               อรรถกถาปัจจยวาระ               
               อรรถกถาปัจจยานุโลมนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในปัจจยวาระต่อไป :-
               คำว่า กุสลํ ธมฺมํ ปจฺจยา คือ เป็นสภาพตั้งอยู่ในกุศลธรรม.
               อธิบายว่า ทำกุศลธรรมให้เป็นปัจจัย เพราะอรรถว่า เป็นที่อิงอาศัย.
               คำว่า กุสลํ เอกํ ขนฺธํ ปจฺจยา มีคำอธิบายว่า ขันธ์ ๓ ทำกุศลขันธ์ ๑ ให้เป็นที่อิงอาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย. ในทุกๆ บท บัณฑิตพึงทราบใจความโดยอุบายนี้เหมือนกัน. คำนี้ว่า ขันธ์ที่เป็นวิปากาพยากตะและกิริยาพยากตะ เกิดขึ้นเพราะอิงอาศัยวัตถุ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจปวัตติกาลในปัญจโวการภพ.
               จริงอยู่ ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพ วัตถุที่เป็นปุเรชาตะเป็นนิสสยปัจจัยแก่ขันธ์ทั้งหลาย. แต่เพราะ ปฏิจฺจ ศัพท์ที่มีความหมายเท่ากับสหชาตะ ในปฏิจจวาระ จึงไม่ได้นัยเช่นนี้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า วตฺถํ ปฏิจฺจ ขนฺธา ขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุ ดังนี้ หมายเอาวัตถุที่เป็นสหชาตะเท่านั้นในปฏิสนธิกาล.
               แม้ในคำว่า ขันธ์ ๓ เกิดขึ้นเพราะอิงอาศัยกุศลขันธ์ ๑ และวัตถุรูปเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบความหมายโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               คำว่า กุศลและอัพยากตะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยอัพยากตธรรม ท่านกล่าวหมายเอาการเกิดพร้อมกันแห่งกุศลและอัพยากตะ ด้วยอำนาจเหตุปัจจัย.
               จริงอยู่ ในขณะกุศลจิตเกิดขึ้น กุศลขันธ์ทั้งหลายอาศัยวัตถุรูปเกิด และอุปาทายรูปซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน อาศัยมหาภูตรูปซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นพร้อมกันด้วยอำนาจเหตุปัจจัย. ถึงเมื่ออัพยากตธรรมที่เป็นปัจจัยจะแตกต่างกัน บัณฑิตพึงทราบว่า คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงการเกิดพร้อมกันแห่งปัจจยุบบัน ด้วยอำนาจเหตุปัจจัย ในฐานอื่นที่เป็นอย่างนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในเหตุปัจจัยนี้ ท่านวิสัชนาปัญหา ๑๗ ข้อ เพราะทำสหชาตะและปุเรชาตะให้เป็นปัจจัย โดยอรรถว่า เป็นที่อิงอาศัยด้วยประการฉะนี้. ในข้อนั้นท่านถือเอาขันธ์ทั้งหลายและมหาภูตรูป ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ถือเอาวัตถุรูปด้วยอำนาจสหชาตปัจจัยและปุเรชาตปัจจัย. ส่วนในปฏิจจวาระย่อมได้ปัจจัยด้วยอำนาจสหชาตะ เพราะฉะนั้น ในที่นั้นท่านจึงวิสัชนาปัญหาไว้ ๙ ข้อเท่านั้น.
               ก็ในปัจจยวาระนั้น ธรรมเหล่าใดมีปัญหา ๑๗ ข้อ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแล้วในธรรมเหล่านั้นมีกุศลเป็นต้น ในการวิสัชนาที่มีบทต้นบทเดียว บทอวสานก็บทเดียว ได้ปัจจยุบบันเป็นอย่างเดียวจากปัจจัยเดียวกัน. ในการวิสัชนาที่มีบทต้นบทเดียว อวสานบท ๒ บท ได้ปัจจยุบบันต่างกันทั้งที่เป็นปัจจัยเดียวกัน. ในการวิสัชนาที่มีบทต้น ๒ บท อวสานบทบทเดียว ได้ปัจจยุบบันเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งที่จากปัจจัยต่างกัน. ในการวิสัชนาที่มีบทต้น ๒ บท บทอวสาน ๒ บท ได้ปัจจยุบบันต่างกันจากปัจจัยที่ต่างกัน (แยกกัน).
               แม้ในอารัมมณปัจจัยเป็นต้น พึงทราบการจำแนกปัญหาและวิสัชนา โดยอุบายนี้เทียว.
               ก็คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอารัมมณปัจจัยว่า ขันธ์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุ คำนั้นท่านหมายเอาเฉพาะวิบากขันธ์ ในปฏิสนธิกาลเท่านั้น, จักขุวิญญาณเป็นต้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่อาศัยอัพยากตะเกิดขึ้น เพราะอารัมมณปัจจัย.
               คำว่า วตฺถํ ปจฺจยา อาศัยวัตถุ พระองค์ตรัสไว้อีกก็เพื่อแสดงการเกิดขึ้นแห่งวิปากาพยากตะ และกิริยาพยากตะในปวัตติกาล. (ว่าอาศัยวัตถุ) คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ในอารัมมณปัจจัย นี้ ท่านวิสัชนาไว้ ๗ ปัญหา เพราะยกสหชาตปัจจัย และปุเรชาตปัจจัยขึ้นเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้. ในปัญหาเหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายท่านถือเอาด้วยอำนาจสหชาตะ วัตถุถือเอาด้วยอำนาจสหชาตะ ปุเรชาตะ จักขวายตนะเป็นต้นถือเอาด้วยอำนาจปุเรชาตะ ส่วนในปฏิจจวาระย่อมได้ปัจจัยด้วยอำนาจสหชาตะเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในวาระนั้นจึงวิสัชนาไว้ ๓ ปัญหาเท่านั้น.
               ในอธิปติปัจจัย พึงทราบว่าได้แก่วิปากาพยากตะที่เป็นโลกุตตระเท่านั้น. อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยเหมือนกับอารัมมณปัจจัย เพราะไม่มีรูป. แม้ในอาเสวนปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย ข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในสหชาตปัจจัย สองบทว่า กฏตฺตารูปํ อุปาทารูปํ ได้แก่ กฏัตตารูป กล่าวคืออุปาทารูป. คำนี้ท่านหมายเอารูปแห่งอสัญญสัตว์พวกเดียว. จักขายตนะเป็นต้น กล่าวด้วยอำนาจปัญจโวการภพ.
               ก็ในอัญญมัญญปัจจัย ท่านกล่าวหมายเอาปัญหาที่มีวิสัชนาเท่ากันว่า เหมือนธรรมที่เกิดเพราะอารัมมณปัจจัย. แต่ในปัจจยุบบันธรรมมีความแตกต่างกัน.
               บทว่า อารมฺมณปจฺจยสทิสํ ในอุนิสสยปัจจัย ท่านกล่าวไว้ เพราะมีวิสัชนาเท่ากันโดยความไม่มีรูปบ้าง. คำว่า วตฺถํ ปุเรชาตปจฺจยา เป็นต้น พึงถือเอาเนื้อความตามนัยที่กล่าวแล้วในปฏิจจวาระ.
               ในกัมมปัจจัย บทว่า ตีณิ บัณฑิตพึงทราบวิสัชนา ๓ ข้ออย่างนี้ คือกุศลเกิดเพราะอาศัยกุศล ๑ อัพยากตะเกิดเพราะอาศัยกุศล ๑ กุศลและอัพยากตะเกิดเพราะอาศัยกุศล ๑. แม้ในอกุศลเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในวิปปยุตตปัจจัย สองบทว่า ขนฺเธ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา ความว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะวิปปยุตตปัจจัย. คำว่า ขนฺธา วตฺถํ วิปฺปยุตฺตปจฺจยา ความว่า ขันธ์ทั้งหลายอาศัยวัตถุเกิดขึ้น เพราะวิปปยุตตปัจจัย. คำที่เหลือพึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เหตุยา สตฺตรส ในเหตุปัจจัยมี ๑๗ วาระ เป็นต้น เพื่อแสดงวิสัชนาตามที่หาได้ด้วยอำนาจการคำนวณ.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เหตุยา สตฺตรส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิสัชนาไว้ ๓ ข้อ คือบทต้น ๑ บท กับบทอวสาน ๑ บท มี ๒ วาระ, บทต้น ๒ บทกับบทอวสาน ๑ บท มี ๑ วาระ ด้วยอำนาจกุศลอย่างนี้ คือกุศลกับกุศล อัพยากตะกับกุศล กุศลและอัพยากตะกับกุศล.
               วิสัชนาด้วยอำนาจของอกุศล ก็เหมือนกันกับกุศล. อัพยากตะกับอัพยากตะ, กุศลกับอัพยากตะ, อกุศลกับอพัยากตะ, กุศลอัพยากตะกับอัพยากตะ, อกุศลอัพยากตะกับอัพยากตะ, กุศลกับกุศลอัพยากตะ อัพยากตะกับกุศลอัพยากตะ, กุศลอัพยากตะกับกุศลอัพยากตะ, อกุศลกับอกุศลอัพยากตะ, อัพยากตะกับอกุศลอัพยากตะ, อกุศลอัพยากตะกับอกุศลอัพยากตะ, บัณฑิตพึงทราบว่าในเหตุปัจจัย มี ๑๗ วาระอย่างนี้.
               ในคำว่า อารมฺมเณ สตฺต ในอารัมมณปัจจัย มี ๗ วาระ ความว่า มีวิสัชนา ๗ วาระ อย่างนี้ คือ กุศลกับกุศล อกุศลกับอกุศล อัพยากตะกับอัพยากตะ กุศลกับอัพยากตะ อกุศลกับอัพยากตะ กุศลกับกุศลอัพยากตะ อกุศลกับอกุศลอัยากตะ.
               บทว่า เอกํ ใน วิปากปัจจัย คืออัพยากตะกับอัพยากตะนั่นเอง.
               การกำหนดวาระ ๓ ประการคือ ๑๗ วาระ ๗ วาระ ๑ วาระ ในอนุโลมนัย ปัจจยาวาระย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
               ในบรรดาวาระเหล่านั้น บัณฑิตกำหนดวาระเหล่านั้นทั้งหมด คือ หมวด ๑๗ วาระมี ๑๒ ปัจจัย หมวด ๗ วาระมี ๑๐ ปัจจัย หมวด ๑ วาระมี ๑ ปัจจัยให้ดี แล้วพึงทราบจำนวนด้วยอำนาจำนวนที่น้อยกว่าในการเทียบเคียงปัจจัย ด้วยอำนาจทุกัตติกะปัฏฐานเป็นต้น ข้างหน้า.
               จริงอยู่ ด้วยวิธีคำนวณนี้ บัณฑิตอาจทราบการกำหนดวาระในนัยทั้งหลาย มีทุกมูลกะนัยเป็นต้นได้ เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงการกำหนดวาระด้วยอำนาจจากการคำนวณเท่านั้น ไม่เท้าความไปถึงวิสัชนาว่า กุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะอิงอาศัยกุศลธรรมอีก พระองค์จึงทรงเริ่มคำว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมเณ สตฺต เพราะเหตุปัจจัย ในอารัมมณปัจจัย มี ๗ วาระเป็นต้น. ในคำนั้นมีอธิบายว่า กุศลธรรมย่อมเกิดเพราะอิงอาศัยกุศลธรรมในเพราะเหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย. บัณฑิตพึงอธิบายวิสัชนาที่ได้ในอารัมมณปัจจัยให้พิสดารออกไป โดยนัยนี้ว่า ขันธ์ ๓ อิงอาศัยกุศลขันธ์ ๑ เกิดขึ้น นัยในอนุโลมนัยเท่านี้ก่อน.

               ปัจจยานุโลมนัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัจจยวาร อนุโลมนัย จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 236อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 246อ่านอรรถกถา 40 / 283อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=2947&Z=3356
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=11064
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=11064
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :