ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 624อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 625อ่านอรรถกถา 40 / 628อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ จำนวนอนุโลมแห่งปัญหาวาร เหตุมูลกนัยเป็นต้น

               อธิบายการนับวาระในอนุโลม               
               ในฆฏนานัยแห่งปัญหาวาระ               
               เหตุมูลกนัย               
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิสัชนาตามที่ได้ในปัญหาวาระนี้ ด้วยอำนาจการนับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส คำว่า เหตุยา สตฺต ในเหตุปัจจัยมี ๗ วาระเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺต คือ มีวิสัชนา ๗ วาระอย่างนี้ คือวิสัชนา ๓ วาระ คือกุศลกับกุศล, อัพยากตะกับกุศล, กุสลาพยากตะกับกุศล. อกุศลมี ๓ วาระ เช่นเดียวกับกุศล, อัพยากตะกับอัพยากตะ มี ๑ วาระเท่านั้น.
               สองบทว่า อารมฺมเณ นว คือ ในอารัมมณปัจจัยมีวิสัชนา ๙ วาระ ซึ่งแต่ละวาระมีบทต้น ๑ บท บทอวสาน ๑ บท.
               สองบทว่า อธิปติยา ทส คือ ในอธิปติมีวิสัชนา ๑๐ วาระอย่างนี้คือ วิสัชนา ๔ วาระ อันมีกุศลเป็นมูล คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล โดยสหชาตปัจจัยและอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยแก่กุศลโดยอารัมมณปัจจัยเท่านั้น เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยเป็นสหชาตปัจจัยและโดยอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยแก่กุสลาพยากตะ โดยเป็นสหชาตปัจจัยเท่านั้น.
               วิสัชนา ๓ ข้อซึ่งมีอกุศลเป็นมูล คืออกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลโดยสหชาตปัจจัยและอารัมมปัจจัย เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยสหชาตปัจจัยเท่านั้น เป็นปัจจัยแก่อกุสลาพยากตะโดยเป็นสหชาตปัจจัยเท่านั้น (และ) วิสัชนา ๓ ข้อซึ่งมีอัพยากตะเป็นมูล คืออัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยสหชาตปัจจัยและอารัมมปัจจัย เป็นปัจจัยแก่กุศลโดยอารัมปัจจัยเท่านั้น เป็นปัจจัยแก่อกุศลโดยอารัมปัจจัยเหมือนกัน ก็ในอธิปปัจจัยนี้ย่อมได้อารัมมณาธิปติ ๗ วาระและสหชาตาธิปติ ๗ วาระเหมือนกัน.
               สองบทว่า อนนฺตเร สตฺต ได้แก่ ในอนันตรปัจจัยมีวิสัชนา ๗ วาระ อย่างนี้คือ วิสัชนา ๒ วาระมีกุศลเป็นมูล วิสัชนา ๒ วาระมีอกุศลเป็นมูล วิสัชนา ๓ วาระมีอัพยากตะเป็นมูล. แม้ในสมนันตรปัจจัยก็มีวิสัชนา ๗ วาระเหล่านี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า สหชาเต นว ความว่า ในสหชาตปัจจัยมีวิสัชนา ๙ วาระ อย่างนี้คือ วิสัชนามีกุศลเป็นมูล ๓ วาระ มีอกุศลเป็นมูล ๓ วาระ มีอัพยากตะเป็นมูล ๑ วาระ มีกุสลาพยากตะเป็นมูล ๑ วาระ มีอกุสลาพยากตะเป็นมูลอีก ๑ วาระ.
               สองบทว่า อญฺญมญฺเญ ตีณิ ได้แก่ ในอัญญมัญญปัจจัยมีวิสัชนา ๓ วาระ อย่างนี้ คือกุศลกับกุศล ๑ วาระ อกุศลกับอกุศล ๑ วาระ อัพยากตะกับอัพยากตะ ๑ วาระ.
               สองบทว่า นิสฺสเย เตรส ความว่า ในนิสสยปัจจัยมีวิสัชนา ๑๓ วาระ อย่างนี้คือ วิสัชนาที่มีกุศลเป็นมูล ๓ วาระ มีอกุศลเป็นมูล ๓ วาระ มีอัพยากตะเป็นมูล ๓ วาระโดยสหชาตปัจจัยนั่นเอง.
               ก็ในวิสัชนามีอัพยากตะเป็นมูลนี้ ย่อมได้ปุเรชาตปัจจัยด้วย.
               จริงอยู่ อัพยากตะกับอัพยากตะเป็นสหชาตะกันก็ได้ เป็นปุเรชาตะก็ได้. อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศลโดยปุเรชาตะเท่านั้น เป็นปัจจัยแก่อกุศลก็เหมือนกัน. กุสลาพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศลโดยสหชาตะและปุเรชาตะ เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยสหชาตะเท่านั้น. อกุสลาพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศลโดยสหชาตะและปุเรชาตะ เป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยเป็นสหชาตะอย่างเดียว.
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย นว ความว่า ในอุปนิสสยปัจจัยมีวิสัชนา ๙ วาระ ทุกวาระมีบทต้น ๑ บท และอวสานบท ๑.
               ในวิภังค์แห่งปัจจัยเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงประเภทไว้ ๒๓ วาระ บรรดาวาระเหล่านั้น อารัมมณูปนิสสยปัจจัยมี ๗ วาระ อนันตรูปนิสสยปัจจัยมี ๗ วาระ ปกตูปนิสสยปัจจัยมี ๙ วาระ.
               สองบทว่า ปุเรชาเต ตีณิ ความว่า ในปุเรชาตปัจจัยมีวิสัชนา ๓ วาระ อย่างนี้คือ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               สองบทว่า ปจฺฉาชาเต ตีณิ ความว่า ในปัจฉาชาตปัจจัยมีวิสัชนา ๓ วาระ อย่างนี้คือ กุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               สองบทว่า อาเสวเน ตีณิ คือ ในอาเสวนปัจจัยมีวิสัชนา ๓ วาระ เหมือนกับอัญญมัญญปัจจัย.
               สองบทว่า กมฺเม สตฺต คือ ในกัมมปัจจัยมีวิสัชนา ๗ วาระเหมือนเหตุปัจจัย บรรดาวิสัชนา ๗ วาระเหล่านั้น นานักขณิกกัมมปัจจัยมาในวิสัชนา ๒ วาระ. ใน ๕ วาระ (ที่เหลือ) มาได้เฉพาะสหชาตปัจจัยเท่านั้น.
               สองบทว่า วิปาเก เอกํ ได้แก่ วิปากปัจจัยมี ๑ วาระ คืออัพยากตะกับอัพยากตะ.
               ในอาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย ฌานปัจจัยและมัคคปัจจัย มีวิสัชนาปัจจัยละ ๗ วาระ เหมือนกับเหตุปัจจัยนั้นเอง ก็ในอธิการนี้ อินทริยปัจจัยมาแล้ว ด้วยอำนาจสหชาตะและปุเรชาตะ.
               สองบทว่า สมฺปยุตฺเต ตีณิ ในสัมปยุตตปัจจัยมี ๓ วาระ ได้แก่ ในสัมปยุตตปัจจัยมีวิสัชนา ๓ วาระเช่นเดียวกับอัญญมัญญปัจจัย.
               สองบทว่า วิปฺปยุตฺเต ปญฺจ ความว่า ในวิปปยุตตปัจจัยมีวิสัชนา ๕ วาระ อย่างนี้คือ วิสัชนาที่มีกุศลเป็นมูล ๑ วาระ มีอกุศลเป็นมูล ๑ วาระ มีอัพยากตะเป็นมูล ๓ วาระ คืออัพยากตะกับกุศล และอัพยากตะกับอกุศล เป็นปัจจัยโดยสหชาตะและปัจฉาชาตะ อัพยากตะกับอัพยากตะ เป็นปัจจัยโดยสหชาตะ ปุเรชาตะและปัจฉาชาตะ กุศลกับอัพยากตะและอกุศลกับอัพยากตะ เป็นปัจจัยโดยวัตถุปุเรชาตะ.
               สองบทว่า อตฺถิยา เตรส ความว่า ในอัตถิปัจจัยมีวิสัชนา ๑๓ วาระ อย่างนี้คือ มีกุศลเป็นมูล ๓ วาระ คือกุศลกับกุศลเป็นปัจจัยโดยสหชาตะ อัพยากตะกับกุศลเป็นปัจจัยโดยสหชาตะและปัจฉาชาตะ กุสลาพยากตะกับกุศลเป็นปัจจัยโดยสหชาตะอย่างเดียว ที่มีอกุศลเป็นมูลก็มี ๓ วาระเหมือนกัน แต่อัพยากตะกับอัพยากตะเป็นปัจจัยโดยสหชาตะ ปุเรชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัย กุศลและอัพยากตะ และอกุศลกับอัพยากตะ เป็นปัจจัยโดยวัตถารัมมณปุเรชาตปัจจัย, กุศลและอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศลโดยสหชาตะและปุเรชาตะ อกุศลและอัพยากตะนั้นนั่นเทียวเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะก็เหมือนกัน โดยสหชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัย อกุศลและอัพยากตะ เป็นปัจจัยแก่อกุศลโดยสหชาตะ ปุเรชาตะ และอกุศลและอัพยากตะนั้นนั่นเทียวเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะโดยสหชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาระและอินทริยปัจจัย.
               ในนัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัยมีวิสัชนา ๗ วาระ เหมือนวิสัชนา ๑ วาระ ๓ วาระ ๕ วาระ ๗ วาระ ๙ วาระ ๑๐ วาระ ๑๓ วาระ. ในจำนวนวิสัชนา ๗ อย่างเหล่านั้น วิสัชนา ๑ วาระมี ๑ ปัจจัยเท่านั้นด้วยอำนาจของวิปากปัจจัย.
               วิสัชนา ๓ วาระมี ๕ ปัจจัย ด้วยอำนาจของอัญญมัญญปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย อาเสวนปัจจัยและสัมปยุตตปัจจัย.
               วิสัชนา ๕ วาระมี ๑ ปัจจัยเท่านั้น ด้วยอำนาจของวิปปยุตตปัจจัย.
               วิสัชนา ๗ วาระมี ๑๐ ปัจจัย ด้วยอำนาจของเหตุปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย กัมมปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย ฌานปัจจัย มัคคปัจจัย นัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย.
               วิสัชนา ๙ วาระมี ๓ ปัจจัย ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย สหชาตปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย.
               วิสัชนา ๑๐ วาระมี ๑ ปัจจัย ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย.
               วิสัชนา ๑๓ วาระมี ๓ ปัจจัย ด้วยอำนาจของนิสสยปัจจัย อัตถิและอวิคตปัจจัย.
               ฉะนั้น ผู้ศึกษากำหนดวาระทั้งหลายที่แสดงไว้ในปัจจัยนั้นๆ ดังได้ชี้แจงมานี้ ด้วยอำนาจแห่งจำนวนให้ดี แล้วพึงทราบจำนวนในการเทียบเคียงปัจจัยในทุกมูลและติกมูลเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเหล่านั้น.
               บัณฑิตไม่ควรประกอบปัจจัยที่เป็นวิสภาคะกัน หรือที่ขัดแย้งกันไว้ด้วยกัน.
               คืออย่างไร.
               คือ อธิบดีที่เหลือเว้นวีมังสาธปติ และในอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย กัมมปัจจัย อาเสวนปัจจัย อาหารปัจจัย ฌานปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย เป็นวิสภาคะแห่งเหตุปัจจัยก่อน. สหชาตปัจจัยเป็นต้นเป็นสภาคะแห่งเหตุปัจจัยนั้น. เพราะเหตุใด. เพราะมีสภาพเหมือนกัน.
               จริงอยู่ เหตุปัจจัยเป็นปัจจัยโดยเหตุแก่ธรรมเหล่าใด ก็เป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้นแก่ธรรมเหล่านั้นด้วย แต่หาเป็นอารัมมณปัจจัยเป็นต้นแก่ธรรมเหล่านั้นไม่ เหตุนั้นอารัมมณปัจจัยเป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นวิสภาคะแก่เหตุปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยนั้นจึงไม่ควรประกอบไว้กับอารัมมณปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้น หรือว่าไม่ควรประกอบอารัมมณปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้นไว้กับเหตุปัจจัยนั้น.
               แม้ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย วิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคปัจจัยและอวิคตปัจจัย ก็ขัดแย้งกันและกัน จึงไม่ควรประกอบไว้ด้วยกันอีก.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ผู้ศึกษาจะได้วาระเหล่าใดในการประกอบกับธรรมที่เข้ากันได้ เว้นธรรมที่เข้ากันไม่ได้เสีย เพื่อจะแสดงวาระเหล่านั้นโดยสังเขป พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหตุปจฺจยา อธิปติยา จตฺตาริ เป็นต้น (ในเพราะเหตุปัจจัยอธิปติปัจจัย มี ๔ วาระ).
               บรรดาวาระเหล่านั้น เพราะการเทียบเคียงเหตุปัจจัยกับอธิปติปัจจัย (เพราะเอาเหตุปัจจัยรวมกับอธิปติปัจจัย) ได้ ๗ วาระ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่น้อยกว่าก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะในบรรดาอธิบดีทั้งหลาย วีมังสาธิบดีเท่านั้นเป็นเหตุปัจจัย นอกนี้หาเป็นไม่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเว้นธรรมที่เป็นวิสภาคะ (เข้ากันไม่ได้) เสียแล้ว ตรัสว่า จตฺตาริ ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่เป็นสภาคะกัน.
               วิสัชนา ๔ วาระเหล่านั้น ผู้ศึกษาถึงทราบอย่างนี้ คือกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมด้วยอำนาจของเหตุปัจจัย ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย, คือวีมังสาที่เป็นกุศล เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่สัมปยุต กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม ด้วยอำนาจของเหตุปัจจัย ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย คือวีมังสาธิบดีที่เป็นกุศล เป็นปัจจัยแก่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมและอัพยากตธรรม ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย คือวีมังสาธิบดีที่เป็นกุศล เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่สัมปยุตและรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, อัพยากตธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม ด้วยอำนาจของเหตุปัจจัย ด้วยอำนาจของอธิปติปัจจัย คือวีมังสาธิบดีที่เป็นวิปากาพยากตะและกิริยาพยากตะ เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่สัมปยุตและรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ก็ในที่นี้พึงถือเอาวิปากาพยากตะจากโลกุตตธรรมเท่านั้น ส่วนอารัมมณปัจจัยและอนันตรปัจจัยเป็นต้น ท่านไม่ประกอบไว้ เพราะเป็นวิสภาคะกัน ผู้ศึกษาครั้นทราบวาระที่มีได้และไม่ได้ในปัจจัยทั้งหมดโดยอุบายนี้แล้ว พึงอธิบายวาระด้วยอำนาจที่มีได้.
               สองบทว่า สหชาเต สตฺต ความว่า ในสหชาตปัจจัยมี ๗ วาระที่ได้แล้วในเหตุปัจจัย.
               สองบทว่า อญฺญมญฺเญ ตีณิ ได้แก่ ในอัญญมัญญปัจจัยมี ๓ วาระ คือวิสัชนาที่ได้ในสุทธิกอัญมัญปัจจัย (อัญญมัญญปัจจัยล้วน) นั่นเอง.
               สองบทว่า นิสฺสเย สตฺต ได้แก่ ในนิสสยปัจจัยมี ๗ วาระ คือวิสัชนาที่ได้ในเหตุปัจจัย.
               สองบทว่า วิปาเก เอกํ คือ ๑ วาระที่ได้ในวิบากปัจจัยล้วนๆ.
               คำว่า อินฺทริยมคฺเคสุ จตฺตาริ ในอินทริยปัจจัยและมัคคปัจจัยมี ๔ วาระ มีนัยดังที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นเอง.
               สองบทว่า สมฺปยุตฺเต ตีณิ ได้แก่ ในสัมปยุตตปัจจัยมี ๓ วาระ คือวิสัชนาที่ได้ในสุทธิกสัมยุตปัจจัยนั่นเอง.
               สองบทว่า วิปฺปยุตฺเต ตีณิ ได้แก่ ในวิปปยุตตปัจจัยมี ๓ วาระ ผู้ศึกษาพึงทราบวิสัชนาที่ยกเอารูป มีกุศลจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานขึ้นเป็นปัจจยุบบัน.
               สองบทว่า อตฺถิอวิคเตสุ สตฺต ในอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยมี ๗ วาระ คือวิสัชนาที่ได้ในเหตุปัจจัยนั่นเอง ด้วยประการดังพรรณนามาแล้วนี้.
               เหตุปัจจัย ได้การประกอบอธิบายร่วมกับปัจจัยสิบเอ็ด มีอธิปติปัจจัยเป็นต้นเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงวิธีนับในทุมูลกนัยด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเหล่านั้นแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิธีนับในติมูลกนัยเป็นต้น จึงทรงตั้งข้อกำหนดตรัสว่า เหตุสหชาตนิสฺสยอตฺถิ อวิคตนฺติ สตฺต ในเพราะปัจจัย ๕ คือเหตุ สหชาตะ นิสสยะ อัตถิและอวิคตปัจจัย มี ๗ วาระ เป็นต้นด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในคัมภีร์ทั้งหลาย พระอาจารย์เขียนชื่อปัจจัยมีอักขระตกไปอย่างนี้ คือ นิสฺส อุปนิสฺส อธิปาติ คำนั้นท่านเขียนด้วยอำนาจลืมใส่ใจ เพราะฉะนั้น ในฐานะเช่นนั้นจึงควรเติมบาลีเสียให้ครบ ก็ข้อกำหนดที่ท่านตั้งไว้นั้นย่อมแสดงถึงอรรถนี้ว่า เหตุปัจจัยนี้ย่อมได้วิสัชนา ๗ วาระที่ได้ในวิภังค์ของตนเท่านั้น เพราะรวมเข้ากับปัจจัย ๔ มีสหชาตปัจจัยเป็นต้น. ก็ถ้าหากรวมอัญญมัญญปัจจัยลงในอธิการนี้ ย่อมได้วิสัชนา ๓ วาระ ในอัญญมัญญปัจจัย, ถ้ารวมสัมปยุตตปัจจัยเข้าด้วยก็คงได้วิสัชนา ๓ วาระเหล่านั้นเอง. ในเหตุวิปปยุตตทุกะ ถ้ารวมวิปปยุตตปัจจัยเข้าไปด้วยกันก็ได้วิสัชนา ๓ วาระ. ถ้ารวมวิปากปัจจัยด้วย ย่อมได้วิสัชนาวาระเดียวเท่านั้น เพราะเทียบเคียงปัจจัยทั้งหมดที่เป็นสภาคะกับวิบาก. ก็ถ้ารวมอินทริยปัจจัยและมัคคปัจจัยเข้าไปในที่นี้ด้วย ย่อมได้วิสัชนา ๔ วาระที่ได้ในทุมูลกนัย กับด้วยอินทริยะและมัคคปัจจัยเหล่านั้น.
               ถ้ารวมอัญญมัญญปัจจัยทั้งสองนั้น ให้นำวิสัชนาออกเสีย ๒ วาระ คือกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมและอัพยากตะ. ในบรรดาวิสัชนา ๔ วาระที่แสดงไว้ในเหตาธิปติทุกะ ย่อมได้วิสัชนา ๒ วาระที่เหลือ ถึงจะเพิ่มสัมปยุตตปัจจัยเข้าไปในที่นั้นอีก ก็คงได้วิสัชนา ๒ วาระเหล่านั้นเอง. ก็ถ้าเพิ่มวิปปยุตตปัจจัยเข้าไป จะได้วิสัชนา ๒ วาระนอกจากนั้นด้วย ถ้าเพิ่มวิปากปัจจัยเข้าไปในปัจจัยเหล่านั้น ย่อมได้วิสัชนาวาระเดียวในที่ทุกแห่ง. ก็เมื่อไม่ผนวกปัจจัยที่มีวิธีคำนวณได้น้อยกว่าเหตาธิปติทุกะกับอธิปติปัจจัย ย่อมได้วิสัชนา ๔ วาระเท่านั้น. เมื่อผนวกเข้าไปด้วย ย่อมได้วิสัชนา ๒ วาระและ ๑ วาระ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเหล่านั้นแล.
               ผู้ศึกษาครั้นทราบจำนวนที่ได้อยู่ในการประกอบร่วมกันแห่งปัจจัยนั้นๆ ดังพรรณนามานี้แล้ว พึงขยายจำนวน (วิธีนับ) ในติมูลกนัยเป็นต้นต่อไป.
               ก็บรรดาฆฏนาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจเหตุปัจจัย อันมี ๙ ฆฏนาโดยสามัญ ฆฏนา ๔ ฆฏนาก่อนฆฏนาทั้งปวงเป็นอวิปากฆฏนาเท่านั้น (คือยังไม่มีวิปากปัจจัยที่ร่วมด้วย) แต่ในตอนวิสัชนาอัพยากตะกับอัพยากตะ ย่อมได้วิบากเหตุในที่นี้ด้วย.
               ฆฏนา ๕ ฆฏนาต่อจากนั้นตรัสไว้ด้วยอำนาจเหตุที่เป็นวิบาก. วิบากที่เป็นสหชาตะและรูปที่เป็นสหชาตะกับวิบากทั้งหมด ก็ตรัสไว้ในที่นั้นด้วย บรรดาฆฏนาเหล่านั้น วิบาก และรูปที่มีวิบากนั้นเป็นสมุฏฐาน ย่อมได้ในฆฏนาที่ ๑.
               วิบากและวัตถุรูปในปฏิสนธิกาลได้ในฆฏาที่ ๒.
               ในฆฏาที่ ๓ ได้เฉพาะอรูปธรรมอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๔ ได้เฉพาะรูปที่มีวิบากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๕ ได้เฉพาะวัตถุรูปเท่านั้น.
               ฆฏนา ๑๕ ต่อจากนั้น เกี่ยวข้องกับอินทรีย์ ตรัสไว้ด้วยอำนาจอโมหเหตุ. ในบรรดาฆฏนา ๑๕ เหล่านั้น พวกแรกมี ๙ ฆฏนาไม่มีอธิบดี. พวกหลังมี ๖ ฆฏนามีอธิบดี. แม้ในบรรดาฆฏาที่ไม่มีอธิบดี ๔ ฆฏนาแรก ในที่ทุกแห่งตรัสด้วยอโมหเหตุเหมือนกันหมดโดยสามัญ. ๕ ฆฏนาหลังตรัสด้วยอำนาจอโมหเหตุที่เป็นวิบาก.
               บรรดาฆฏนาที่ไม่มีอธิบดีเหล่านั้น ฆฏนาแรก ทรงแสดงไว้ในเหตาธิปติทุกะในหนหลังว่า มี ๔ วาระ.
               ในฆฏนาที่ ๒ ขาดรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ในฆฏนาที่ ๓ ไม่มีวัตถุรูป.
               ในฆฏนาที่ ๔ ได้กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่จิตตชรูป อัพยากตะ ย่อมได้รูปที่มีอัพยากตะเป็นสมุฏฐานเท่านั้น (จิตตชรูปและปฏิสนธิกัมมชรูป).
               ฆฏนาที่ ๕ ที่ประกอบด้วยวิบาก นอกจากนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง. บรรดาฆฏนาที่มีอธิบดี ๓ ฆฏนาข้างต้น ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งเหตุทั้งที่เป็นวิบากและไม่เป็นวิบากโดยสามัญ.
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ในฆฏนาที่ ๑ มี ๔ วาระ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ในฆฏนาที่ ๒ ไม่มีรูป.
               ในฆฏนาที่ ๓ ไม่มีอรูป. ๓ ฆฏนานอกจากนั้นตรัสไว้ด่วยอำนาจแห่งเหตุฝ่ายวิบาก.
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ ๑ ได้ทั้งรูปและนาม.
               ฆฏนาที่ ๒ ได้แต่นามเท่านั้น.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้เฉพาะรูปแล.
               ผู้ศึกษา ครั้นทราบวิธีคำนวณที่ได้ในการประกอบร่วมแห่งปัจจัยนั้นๆ ดังพรรณนามาแล้ว พึงขยายวิธีคำนวณในติมูลกนัยเป็นต้นต่อไป.
               เหตุมูลกนัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อารัมมณมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีอารมณ์เป็นมูล ต่อไป.
               ปัจจัย ๗ มีอธิปติปัจจัยเป็นต้น ในสภาคะกับอารัมมณปัจจัย ที่เหลือ ๑๖ ปัจจัยเป็นวิสภาคะ เพราะฉะนั้น อย่าประกอบปัจจัย ๑๖ เหล่านั้น (กับอารัมมณปัจจัย) ประกอบเฉพาะ ๗ ปัจจัยเท่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า อธิปติยา สตฺต ความว่า ในอธิปติปัจจัยมีวิสัชนา ๗ วาระ คือวิสัชนา ๓ วาระ ที่มีกุศลเป็นมูลอย่างนี้ คือกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ๑ แก่อกุศลธรรม ๑ แก่อัพยากตธรรม ๑, วิสัชนา ๑ วาระมีอกุศลเป็นมูล, วิสัชนา ๓ วาระมีอัพยากตะเป็นมูล.
               สองบทว่า นิสฺสเย ตีณิ คือ วิสัชนา ๓ วาระ มีอัพยากตะเป็นมูลด้วยอำนาจแห่งวัตถุนั่นเอง.
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย สตฺต เหมือนที่กล่าวไว้ในหนหลัง.
               สองบทว่า ปุเรชาเต ตีณิ คือ วิสัชนา ๓ วาระ ที่มีอัพยากตะเป็นมูลด้วยอำนาจวัตถุและอารมณ์.
               สองบทว่า วิปฺปยุตฺเต ตีณิ คือ วิสัชนา ๓ วาระที่มีอัพยากตะเป็นมูลด้วยอำนาจวัตถุอย่างเดียว.                สองบทว่า อตฺถิอวิคเตสุ ตีณิ คือ วิสัชนา ๓ วาระ ที่มีอัพยากตะเป็นมูลด้วยอำนาจวัตถุที่เป็นอารมณ์. เหมือนอย่างในเหตุมูลกนัย ท่านตั้งฆฏนาไว้เพื่อแสดงข้อกำหนด ฉันใด แม้ในอารัมมณมูลกนัยเป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ในฆฏนา ๕ ที่ท่านตั้งไว้ในอารัมมณมูลกนัยนี้ก่อน บรรดาฆฏนาเหล่านั้น
               ฆฏนาที่ ๑ มีอธิบดีด้วยอำนาจอารัมณาธิปติปัจจัย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺต คือ วิสัชนาที่ได้ในอารัมมณาธิปติทุกะนั่นเอง.
               ฆฏนาที่ ๒ ไม่มีอธิบดี. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตีณิ คือวิสัชนาที่มีอัพยากตะเป็นมูล ด้วยอำนาจแห่งวัตถุและอารมณ์หรืออารมณ์อย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๓ ประกอบในนิสสยปัจจัย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตีณิ คือ มีอัพยากตะเป็นมูลด้วยอำนาจวัตถุ.
               ฆฏนาที่ ๔ และฆฏนาที่ ๕ มีอธิบดี ในสองข้อนั้น บทว่า เอกํ ในฆฏนาที่ ๔ ได้แก่ อกุศลที่มีอัพยากตะเป็นมูล ด้วยอำนาจวัตถุและอารมณ์หรือด้วยอำนาจอารมณ์.
               บทว่า เอกํ ในฆฏนาที่ ๕ ได้แก่ อกุศลที่มีอัพยากตะเป็นมูลโดยเป็นนิสสยปัจจัย.
               ผู้ศึกษาพึงทราบวิธีนับในติมูลกนัยเป็นต้น ด้วยอำนาจปัจจัยที่ได้อยู่ในอธิการนี้ ดังพรรณนามาแล้ว. แม้ในนัยที่มีอธิปติปัจจัยเป็นมูลก็เหมือนกัน. แต่สำหรับข้าพเจ้าจะไม่ขอกล่าวอธิบายอย่างพิสดาร ด้วยอำนาจอารัมมณะ อินทรีย์และวิปากปัจจัย จะกล่าวเฉพาะที่สมควรกล่าวในที่นั้นๆ เท่านั้น.

               อธิปติมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิปติมูลกนัย ต่อไป.
               สองบทว่า สหชาเต สตฺต ในสหชาตปัจจัยมี ๗ วาระ ได้วิสัชนา ๗ วาระ คือวิสัชนา ๓ วาระมีกุศลเป็นมูลด้วยอำนาจสหชาตาธิปติปัจจัย, วิสัชนา ๓ วาระมีอกุศลเป็นมูล, วิสัชนาอีก ๑ วาระมีอัพยากตะเป็นมูล. ก็อารัมมณธิปติปัจจัยย่อมไม่ได้สหชาตปัจจัย และสหชาตปัจจัยก็ย่อมไม่ได้อารัมมณาธิปติปัจจัย.
               สองบทว่า อญฺญมญฺเญ ตีณิ ในอัญญมัญญปัจจัยมี ๓ วาระ คือมีวิสัชนา ๓ วาระ ด้วยอำนาจสหชาตธิปติปัจจัยเท่านั้น.
               สองบทว่า นิสฺสเย อฏฺฐ ในนิสสยปัจจัยมี ๘ วาระ คือมีกุศลเป็นมูล ๓ วาระ, มีอกุศลเป็นมูล ๓ วาระ, มีอัพยากตะเป็นมูล ๒ วาระ.
               จริงอยู่ อธิบดีที่เป็นอัพยากตะ ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งอัพยากตธรรม โดยเป็นสหชาตปัจจัยและอารัมมณปัจจัย เป็นที่อาศัยแห่งอกุศล โดยเป็นอารัมมณปัจจัยอย่างเดียว แต่ไม่เป็นที่อาศัยแห่งกุศลธรรมโดยประการทั้งสอง วิสัชนาที่มีอัพยากตะเป็นมูลมี ๒ วาระเท่านั้น รวมเป็นวิสัชนา ๘ วาระ ด้วยอธิบายมานี้.
               วิสัชนา ๗ วาระ ในอุปนิสสยปัจจัยเหมือนกับอารัมมณปัจจัยนั้นเอง.
               สองบทว่า ปุเรชาต เอกํ ในปุเรชาตปัจจัย มี ๑ วาระ อัพยากตาธิบดีเป็นปัจจัยแก่อกุศล ด้วยอำนาจอารมณ์.
               สองบทว่า วิปาเก เอกํ ในวิปากปัจจัย มี ๑ วาระ คือ โลกุตตรอัพยากตะกับอัพยากตะ. วิสัชนา ๗ วาระ ในอาหารปัจจัยเป็นต้น ได้แล้วในเอกมูลกนัยในหนหลังนั่นเอง.
               สองบทว่า วิปฺปยุตฺเต จตฺตาริ ในวิปปยุตตปัจจัยมี ๔ วาระ คืออัพยากตะกับกุศล, อัพยากตะกับอกุศล, อัพยากตะกับอัพยากตะ, และกุศลกับอัพยากตะ. วิสัชนา ๘ วาระในอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยเช่นเดียวกับนิสสยปัจจัยนั่นเอง.
               ก็ในอธิการนี้ ฆฏนาทั้งหลายท่านไม่ประกอบกัยอารัมมณปัจจัยเป็นต้นตามลำดับ ประกอบกับอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยก่อน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะรวมอธิบดีทั้งสองปัจจัย ไว้ด้วยกัน.
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ในฆฏนาต้นได้วัตถุที่เป็นอารมณ์ (วัตถารัมมณะ) ด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๒ ได้วัตถุอย่างเดียว สำหรับบุคคลผู้ยินดีอย่างหนักด้วยอำนาจเป็นที่อาศัย (สำหรับบุคคลผู้ทำให้หนักด้วยอำนาจเป็นที่อาศัยแล้วยินดีอยู่).
               ในฆฏนาที่ ๓ ได้ธรรมมีกุศลเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่รูปทั้งหลายด้วยอำนาจของสหชาตาธิปติปัจจัย. ได้วัตถุเป็นปัจจัยแก่อกุศล ด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               ฆฏนา ๓ ข้อ นอกจากนั้นตรัสไว้ด้วยอำนาจอารัมมณาธิปติปัจจัย. บรรดาฆฏนาเหล่านั้น วิสัชนา ๗ วาระ ในฆฏาที่ ๑ ข้าพเจ้ากล่าวไว้เรียบร้อยแล้วในหนหลัง.
               บทว่า เอกํ ในฆฏนาที่ ๒ คือ วัตถุที่เป็นอารมณ์ที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยแก่อกุศล. ในฆฏนาที่ ๓ วัตถุเท่านั้นเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               ฆฏนา ๓ ข้อต่อจากนั้น ทั่วไปแก่ธรรมทั้งที่เป็นวิบากและมิใช่วิบาก ตรัสไว้ด้วยอำนาจสหชาตาธิปติปัจจัย. บรรดาฆฏนาเหล่านั้นในฆฏนาที่ ๑ ได้ทั้งรูปละอรูป.
               ฆฏนาที่ ๒ ได้เฉพาะอรูปอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้รูปเท่านั้น.
               ฆฏนา ๓ ข้อนอกจากนั้น ตรัสไว้ด้วยอำนาจวิปากาธิปติปัจจัย.
               แม้บรรดา ๓ ฆฏนานั้น ฆฏนาที่ ๑ ได้ทั้งรูปและอรูป.
               ฆฏนาที่ ๒ ได้อรูป.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้เฉพาะรูปเท่านั้น.
               ฆฏนา ๖ นอกจากนั้นประกอบด้วยอาหาระและอินทริยปัจจัย ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งจิตตาธิปติปัจจัย. บรรดาฆฏนา ๖ ฆฏนาเหล่านั้นไม่มีวิบาก ๓ ฆฏนา มีวิบาก ๓ ฆฏนา. วิธีคำนวณในฆฏนาเหล่านั้นแจ่มแจ้งแล้วแล. ฆฏนา ๖ ฆฏนานอกจากนั้นตรัสไว้ด้วยอำนาจวิริยาธิปติ.
               ถามว่า ก็เมื่อว่าตามลำดับอธิบดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสฆฏนาด้วยอำนาจวิริยาธิปติไว้เป็นอันดับแรกมิใช่หรือ (แต่) ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ตรัสอย่างนั้น.
               แก้ว่า เพราะฆฏนาเหล่านั้นเหมือนกับฆฏนาที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจเหตุข้างหน้า.
               จริงอยู่ ฆฏนาที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจเหตุข้างหน้าเกี่ยวเนื่องด้วยมรรค เพราะอโมหเหตุเป็นวีมังสาธิปดี และเพราะวีมังสาธิปติเป็นตัวสัมมาทิฏฐิ. อนึ่ง แม้วิริยะก็จัดเป็นมรรค เพราะเป็นสัมมาวายามะ และมิจฉาวายามะ เพราะฉะนั้น ฆฏนาทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสหมุนเวียนไปกับวิริยะนั้นว่า เหมือนกันกับฆฏนาที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งเหตุข้างหน้า. วิธีคำนวณแม้ในฆฏนาเหล่านั้นแจ่มแจ้งแล้วแล.

               อนันตร-สมนันตรมูลกนัย               
               บทว่า สตฺต ในฆฏนาที่มีอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยเป็นมูล ความว่า มีวิสัชนา ๗ วาระอย่างนี้ คือ กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลและแก่อัพยากตะ, อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลและแก่อัพยาตะ, อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศลแก่อกุศล และแก่อัพยากตะแม้ทั้ง ๓.
               สองบทว่า กมฺเม เอกํ ในกัมมปัจจัยมี ๑ วาระ คือกุศลมัคคเจตนาเป็นปัจจัยแก่วิปากาพยากตะของตน ก็ในปัจจัยเหล่านั้นมีฆฏนา ๓ เท่านั้น ฆฏนาเหล่านั้นประกอบตามลำดับวิสัชนาที่มีวาระมาก.
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัยและนิสสยปัจจัยเป็นมูลต่อไป.
               ปัจจัยใดๆ ที่ตรัสไว้ในทุมูลกนัย ปัจจัยนั้นเป็นสภาคะกับปัจจัยที่อยู่ข้างต้น เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาครั้นทราบวิธีคำนวณในทุมูลกนัยแล้ว พึงทราบวิธีคำนวณในฆฏนาทั้งหลายในที่ทุกแห่งด้วยอำนาจปัจจัยที่คำนวณได้น้อยกว่าในบรรดาปัจจัย ที่นำมาเชื่อมข้างปลาย.

               สหชาตมูลกนัย               
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่มีสหชาตปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนา ในฆฏนา ๑๐ นั้นที่เป็นอวิปากฆฏนามี ๕ ฆฏนา เป็นสวิปากฆฏนามี ๕ ฆฏนา.
               ในสองอย่างนั้น ที่เป็นอวิปากฆฏนาก่อน ในฆฏนาที่ ๑ มีวิสัชนา ๙ วาระอย่างนี้ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล, แก่อัพยากตะและแก่กุสลาพยากตะ, กุสลาพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ รวมเป็น ๔ วาระ. อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล แก่อัพยากตะ แก่อกุสลาพยากตะ, อกุสลาพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัยพากตะเท่านั้น. บรรดาวิสัชนาเหล่านั้นในวิสัชนา ๘ วาระ มีกุศลและอกุศลเป็นต้น ได้ทั้งอรูป (นาม) และรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ในอัพยากตะได้วัตถุรูป. บรรดารูปทั้งหลาย วัตถุรูปเท่านั้นมีได้ในวิสัชนาฝ่ายอัพยากตะในฆฏนาที่ ๒.
               บรรดาฆฏนาแม้ทั้ง ๓ อรูปเท่านั้นมีได้ในฆฏนาที่ ๓.
               ในฆฏนาที่ ๔ ได้เฉพาะรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น.
               ในฆฏนาที่ ๕ ได้อรูปธรรมกับวัตถุรูปในปฏิสนธิกาล.
               ในสวิปากฆฏนา ในฆฏนาที่ ๑ ได้วิบากจิตและรูปที่มีวิบากจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ฆฏนาที่ ๒ ได้วิบากและวัตถุรูป.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้วิบากอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๔ ได้รูปที่มีวิบากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๕ ได้เฉพาะวัตถุรูป.

               อัญญมัญญมูลกนัย               
               ในอัญญมัญญมูลกนัยมีฆฏนา ๖ บรรดาฆฏนา ๖ เหล่านั้น ๓ ฆฏนาแรกเป็นอวิปากฆฏนา ๓ ฆฏนาท้ายเป็นสวิปากฆฏนา วิธีคำนวณในฆฏนาเหล่านั้นแจ่มแจ้งแล้ว.

               นิสสยมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในนัยที่มีนิสสยปัจจัยเป็นมูล ต่อไป.
               คำว่า นิสฺสยปจฺจยา อารมฺมเณ ตีณิ เพราะนิสสยปัจจัย ในอารัมมณปัจจัยมี ๓ วาระ ผู้ศึกษาพึงทราบวิสัชนา ๓ วาระ ด้วยอำนาจแห่งกุศลเป็นต้น ที่ยกวัตถุขึ้นเป็นอารมณ์เป็นไป (เป็นไปโดยเอาวัตถุเป็นอารมณ์).
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย เอกํ ในอุปนิสสยปัจจัยมี ๑ วาระ คืออกุศลที่ยึดวัตถุเป็นอารัมมณูปนิสสัยเกิดขึ้น.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในทุกะมูลกนัยในหนหลัง.
               ก็ในนิสสยปัจจัยนี้มีฆฏนา ๒๐ ฆฏนา. บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ๖ ฆฏนาข้างต้น ตรัสไว้ด้วยอำนาจสหชาตะและปุเรชาตะ. ๔ ฆฏนานอกจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจปุเรชาตะอย่างเดียว. ต่อไป ๑๐ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจสหชาตะอย่างเดียว.
               ในบรรดาฆฏนาเหล่านั้น คำว่า เตรส ๑๓ ในฆฏนาที่ ๑ ได้แก่วิสัชนา ๑๓ วาระที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั่นเทียว ในนิสสยปัจจยวิภังค์.
               คำว่า อฏฺฐ ๘ ในฆฏนาที่ ๒ ได้แก่วิสัชนา ๘ วาระ คือวิสัชนา ๗ วาระด้วยอำนาจแห่งสหชาตาธิปติปัจจัย และ ๑ วาระที่อกุศลกระทำวัตถุให้หนัก.
               คำว่า สตฺต ๗ วาระ ในฆฏนาที่ ๓ คือวิสัชนา ๗ วาระที่ได้แล้วในอินทริยปัจจัยนั่นเทียว.
               คำว่า ปญฺจ ๕ วาระ ในฆฏนาที่ ๔ คือวิสัชนา ๕ วาระที่ได้แล้วในวิปปยุตตปัจจัยนั่นเทียว.
               คำว่า จตฺตาริ ๔ วาระ ในฆฏนาที่ ๕ ได้แก่ วิสัชนาที่มีกุศลเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน และวัตถุเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               คำว่า ตีณิ ๓ วาระ ในฆฏนาที่ ๖ คือกุศลเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ในบรรดาฆฏนา ๔ ฆฏนาด้วยสามารถอย่างปุเรชาตปัจจัย. คำว่า ตีณิ ๓ วาระ ใน ฆฏนาที่ ๑ วัตถุเป็นปัจจัยแก่กุศลเป็นต้น และวัตถุมีจักขุเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               ในฆฏนาที่ ๒ วัตถุเท่านั้น เป็นปัจจัยแก่กุศลเป็นต้น.
               ในฆฏนาที่ ๓ คำว่า เอกํ คือ วัตถุเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               ในฆฏนาที่ ๔ วัตถุมีจักขุเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่หมวด ๕ แห่งวิญญาณจิต (คือทวิปัญจวิญญาณ). ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้าจำนแกฆฏนา ๑๐ ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือสวิปากฆฏนาและอวิปากฆฏนา ด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย แล้วกล่าวไว้ในสหชาตมูลกนัย.

               อุปนิสสยมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีอุปนิสสยปัจจัยเป็นมูล ต่อไป.
               สองบทว่า อารมฺมเณ สตฺต ในอารัมมณปัจจัยมี ๗ วาระ คือวิสัชนาที่ได้ในอารัมมณูปนิสสยปัจจัย. คำว่า อธิปติยา สตฺต ในอธิปติปัจจัยมี ๗ วาระ ก็ได้แก่วาระเหล่านั้นเหมือนกัน.
               บรรดาอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย วิสัชนาเหล่านั้นแหละได้ในอนันตรรูปนิสสยปัจจัยด้วย.
               สองบทว่า นิสฺสเย เอกํ ในนิสสยปัจจัยมี ๑ วาระ คือวัตถุเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               สองบทว่า ปุเรชาเต เอกํ ในปุเรชาตปัจจัยมี ๑ วาระ ได้แก่วัตถุหรืออารมณ์เป็นปัจจัยแก่อกุศลนั้นนั่งเอง.
               สองบทว่า อาเสวเน ตีณิ ในอาเสวนปัจจัยมี ๓ วาระ ตรัสไว้ด้วยอำนาจอนันตรูปนิสสยปัจจัย.
               สองบทว่า กมฺเม เทฺว ในกัมมปัจจัยมี ๒ วาระ ตรัสไว้ด้วยอำนาจปกตูปนิสสยปัจจัย.
               แต่ว่า โลกุตตรกุศลเจตนา ย่อมเป็นแม้อนันตรูปนิสสยปัจจัย.
               สองบทว่า วิปฺปยุตฺเต เอกํ ในวิปปยุตตปัจจัยมี ๑ วาระ ตรัสไว้ด้วยอำนาจอารัมมณูปนิสสัย. ในอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยก็เหมือนกัน.
               วิสัชนา ๗ วาระในนัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย เหมือนกับอนันตรปัจจัย.
               ก็ฆฏนาที่มีอุปนิสสยปัจจัยเป็นมูล มี ๗ ฆฏนา บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ๓ ข้อข้างต้น ตรัสด้วยอำนาจอารัมมณูปนิสสยปัจจัย. ใน ๓ ฆฏนานั้น ในฆฏนาที่ ๑ บทว่า สตฺต ๗ วาระ ความว่า มีวิสัชนา ๗ อย่างนี้ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลเป็นต้น อัพยากตะก็เหมือนกัน (รวมเป็น ๖) อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลอย่างเดียว.
               บทว่าเอกํ ๑ วาระ ในฆฏนาที่ ๒ ความว่า อัพยากตะมีจักขุเป็นต้น เป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               ในฆฏนาที่ ๓ ได้แก่ วัตถุเป็นปัจจัยแก่อกุศล. ๒ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสไว้ด้วยอำนาจอนันตรรูปนิสสยปัจจัย. การคำนวณในฆฏนาเหล่านั้นแจ่มแจ้งแล้ว.
               ต่อจากนั้นอีก ๒ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจอนันตรูปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย.
               ใน ๒ ฆฏนานั้นโลกิยกุศลและอกุศลเจตนา ท่านถือเอาโดยความเป็นปัจจัยในฆฏนาที่ ๑ ส่วนในฆฏนาที่ ๒ ถือเอาแต่โลกุตตรกุศลอย่างเดียว.

               ปุเรชาตมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีปุเรชาตปัจจัยเป็นมูล ต่อไป.
               สองบทว่า อารมฺมเณ ตีณิ ในอารัมมณปัจจัยมี ๓ วาระ คืออัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศลเป็นต้น.
               สองบทว่า อธิปติยา เอกํ ในอธิปติปัจจัยมี ๑ วาระ คืออัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               ในฆฏนาที่เหลือก็นัยเดียวกันนี้.
               ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๗ หมวด ในฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ ๑ ตรัสไว้ด้วยอำนาจวัตถุและอารมณ์.
               ฆฏนาที่ ๒ ตรัสไว้ด้วยอำนาจวัตถุ.
               ฆฏนาที่ ๓ ตรัสด้วยอำนาจอารมณ์.
               ฆฏนาที่ ๔ ตรัสด้วยอำนาจแห่งเวลาที่วัตถุเป็นอารมณ์.
               ฆฏนาที่ ๕ ตรัสด้วยอำนาจอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               ฆฏนาที่ ๖ ตรัสด้วยอำนาจแห่งเวลาที่วัตถุเป็นอารัมมณาธิปติ.
               ฆฏนาที่ ๗ ตรัสด้วยอำนาจจักขุวัตถุเป็นต้น.

               ปัจฉาชาตมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีปัจฉาชาตปัจจัยเป็นมูล ต่อไป.
               ปัจจัย ๒๐ ย่อมประกอบไม่ได้ ประกอบได้เฉพาะ ๓ ปัจจัยเท่านั้น ในนัยนี้มีฆฏนา ๑ เท่านั้นเอง ฆฏนานั้นพึงทราบด้วยอำนาจกุศลเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่กาย. แม้ในนัยที่มีอาเสวนปัจจัยเป็นมูลก็มีฆฏนา ๑ เหมือนกัน.

               กัมมมูลกนัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในฆฏนาที่มีกัมมปัจจัยเป็นมูล ต่อไป.
               สองบทว่า อนนฺตเร เอกํ ในอนันตรปัจจัยมี ๑ วาระ ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจเจตนาในมรรค.
               ในคำว่า อญฺญมญฺเญ ตีณิ ในอัญญมัญญปัจจัยมี ๓ วาระ พึงถือเอาแม้วัตถุในปฏิสนธิกาลด้วย.
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย เทฺว ในอุปนิสสยปัจจัยมี ๒ วาระ คือวาระ ๒ ที่กล่าวไว้ในหนหลังด้วยอำนาจอนันตรูปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย. แม้ฆฏนาที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังดังนี้แล. ก็ในนัยมีฆฏนา ๑๑ หมวด บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ๒ ฆฏนาแรกตรัสด้วยอำนาจนานักขณิกกัมมปัจจัย โดยแบ่งเป็นปกตูปนิสสัยและอนันตรูปนิสสัย นอกจากนั้นอีก ๔ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจเอกขณิกกัมปัจจัยจากธรรมทั้งที่เป็นสวิบากและอวิบาก.
               ในฆฏนา ๔ ข้อเหล่านั้น
               ฆฏนาที่ ๑ ได้จิตตชรูปพร้อมกันอรูป.
               ฆฏนาที่ ๒ ได้วัตถุพร้อมกับอรูป.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้เฉพาะอรูปอย่างเดียว.
               ฆฏนาที่ ๔ ได้เฉพาะจิตตชรูป ส่วนกฏัตตารูปได้ในปฏิสนธิกาล.
               ฆฏนา ๕ ฆฏนาอื่นจากนั้นเป็นสวิปากะ มีนัยอันข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.

               วิปากมูลกนัย               
               ฆฏนา ๕ ฆฏนา ในนัยที่มีวิปากปัจจัยเป็นมูล มีเนื้อความกระจ่างแล้ว.

               อาหารมูลกนัย               
               คำว่า สตฺต ๗ วาระเป็นต้น ในนัยที่มีอาหารปัจจัยเป็นมูล มีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วเหมือนกัน. ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๓๔ ฆฏนา. บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ๕ ฆฏนาแรก ท่านกล่าวไว้โดยเป็นทั้งสวิปากฆฏนาและอวิปากฆฏนา เหมือนกัน.
               ในฆฏนานั้น อาหารทั้ง ๔ ย่อมได้ในฆฏนาที่ ๑.
               เฉพาะนามอาหาร ๓ เท่านั้นได้ในฆฏนาที่ ๒.
               ฆฏนาที่ ๓ มีวัตถุเป็นปัจจยุบบันด้วย.
               ฆฏนาที่ ๔ ไม่มีวัตถุ.
               ฆฏนาที่ ๕ มีรูปเท่านั้นเป็นปัจจยุบบัน. ฆฏนา ๕ ฆฏนาอื่นต่อจากนั้น มีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งอาหาร คือเจตนา (มโนสัญเจตนาหาร), ๙ ฆฏนานอกจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจวิญญาณาหารที่ไม่มีอธิบดี, ๖ ฆฏนานอกจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจวิญญาณาหารที่มีอธิบดี, ใน ๖ ฆฏนานั้น ๓ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจธรรมทั้งที่เป็นสวิปากฆฏนาและอวิปากฆฏนาเหมือนกัน (หรือรวมกัน) อีก ๓ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจสวิปากฆฏนาอย่างเดียว ใน ๓ ฆฏนานั้นไม่มีวัตถุรูป เพราะไม่มีโลกิยวิบาก.

               อินทริยมูลกนัย               
               คำว่า ปุเรชาเต เอกํ ในปุเรชาตปัจจัยมี ๑ วาระ ในนัยที่มีอินทริยปัจจัยเป็นมูล มีฆฏนา ๑ คืออัพยากตะกับอัพยากตะ ด้วยอำนาจแห่งจักขุนทรีย์เป็นต้น. ฆฏนาที่มีมูล ๒ ที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง. ก็ในนัยนี้ มีฆฏนา ๗๖ ฆฏนา.
               บรรดาฆฏนา ๗๖ ฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ ๑ ได้อินทรีย์ทั้งหมดโดยอรรถว่าเป็นปัจจัย.
               ฆฏนาที่ ๒ ไม่มีรูปชีวิตินทรีย์ เพราะว่ารูปชีวิตินทรีย์แม้นั้น ย่อมไม่เป็นที่อิงอาศัย.
               ฆฏนาที่ ๓ ได้แก่ อรูปอินทรีย์เป็นปัจจัยแก่รูป.
               ฆฏนาที่ ๔ ได้แก่ จักขุนทรีย์เป็นต้นเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณเป็นต้น.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจอรูปอินทรีย์ที่เกิดพร้อมกัน.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาถัดจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจอินทรีย์ที่เป็นตัวมรรค.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจอินทรีย์ที่เป็นองค์ฌาน.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจอินทรีย์ที่เป็นทั้งฌานและมรรค.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจมนินทรีย์อย่างเดียว.
               ฆฏนา ๖ ฆฏนาต่อจากนั้น มีอธิบดี.
               ฆฏนา ๖ ฆฏนาต่อจากนั้น ประกอบด้วยมรรค ด้วยอำนาจวิริยาธิปติและวีมังสาธิปติ.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ไม่มีอธิบดี ด้วยอำนาจมโมหเหตุ.
               ฆฏนา ๖ ฆฏนามีอธิบดี ในบรรดาฆฏนาทั้งหมดเหล่านั้น ฆฏนาทั้งที่ไม่ประกอบและประกอบด้วยวิปากปัจจัย พึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

               ฌานมูลนัย               
               แม้ในฆฏนาที่มีฌานปัจจัยเป็นมูล ฆฏนาที่มีมูล ๒ พึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังเหมือนกัน. ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๓๖ ฆฏนา บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ๙ ฆฏนาแรก ตรัสด้วยอำนาจองค์ฌานทั่วไป ไม่มุ่งถึงความเป็นอินทรีย์หรือมรรค.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยองค์ฌานที่เป็นตัวมรรค.
               ฆฏนา ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจองค์ฌานที่เป็นทั้งอินทรีย์และมรรค.
               อนึ่ง บรรดาหมวด ๙ สี่หมวดเหล่านี้ ฆฏนา ๔ ฆฏนาข้างต้นทั่วไปแก่วิบากและอวิบาก.
               ฆฏนา ๕ ฆฏนา ในที่สุดได้วิบากเท่านั้น. ฆฏนาเหล่านั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังเหมือนกัน.

               มัคคมูลกนัย               
               ฆฏนาที่มีมูล ๒ ในนัยที่มีมัคคปัจจัยเป็นมูล พึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วนั่นเทียว. ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๕๗ ฆฏนา บรรดาฆฏนาเหล่านั้น.
               ๙ ฆฏนาแรก ตรัสด้วยองค์มรรคล้วนไม่รวมถึงความเป็นอินทรีย์และฌาน.
               ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจมรรคที่เป็นอินทรีย์.
               ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจมรรคที่เป็นฌาน.
               ๙ ฆฏนา ตรัสด้วยอำนาจมรรคที่เป็นทั้งอินทรีย์และฌาน.
               ๖ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยมรรคที่เป็นอธิบดี.
               ๙ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจมรรคและเหตุที่ไม่เป็นอธิบดี.
               ๖ ฆฏนาต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจมรรคและเหตุที่เป็นอธิบดี.
               ในหมวดที่มีฆฏนา ๙ ฆฏนามีอยู่ ๕ หมวด เป็นสวิปากฆฏนาหมวดละ ๕ ฆฏนา, ในหมวดที่มีฆฏนา ๖ ฆฏนา เป็นสิวปากฆฏนาหมวดละ ๓ ฆฏนา. ที่เหลือเป็นสาธารณะ. ฆฏนาเหล่านั้นมีนัยดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.

               สัมปยุตตมูลกนัย               
               ฆฏนาที่มีมูล ๒ ในนัยที่มีสัมปยุตตปัจจัยเป็นมูล ชัดเจนแล้ว. ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๒ ฆฏนาเท่านั้น ใน ๒ ฆฏนานั้น ฆฏนา ๑ ตรัสด้วยอำนาจธรรมทั่วไป ฆฏนา ๑ ตรัสด้วยอำนาจแห่งวิบาก.

               วิปปยุตตมูลกนัย               
               แม้ในนัยที่มีวิปปยุตตปัจจัยเป็นมูล ฆฏนาที่มีมูล ๒ ชัดเจนแล้ว.
               ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๑๓ ฆฏนา. บรรดาฆฏนาเหล่านั้น คำว่า ปญฺจ ๕ วาระในฆฏนาที่ ๑ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ ส่วนอัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล อกุศลและอัพยากตะทั้ง ๓.
               ในนัยนี้มีวิปปยุตตปัจจัยเป็นต้นเหล่านั้น เกิดพร้อมกันก็มี เกิดภายหลังและเกิดก่อนก็มี.
               ในฆฏนาที่ ๒ เฉพาะที่เป็นปุเรชาตะและสหชาตะเท่านั้น.
               ปัจจัยเหล่านั้นนั่นเอง ตรัสไว้ในฆฏนาที่ ๓ ด้วยอำนาจแห่งอธิบดี. บรรดาปัจจัยเหล่านั้นได้วาระ ๔ อย่างนี้ คือกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ แต่อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะและแก่อกุศล ด้วยอำนาจแห่งอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               บทว่า ตีณิ ๓ วาระ ในฆฏนาที่ ๔ คือกุศลเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ. ก็ในนัยนี้ได้ทั้งรูปอินทรีย์และนามอินทรีย์.
               ในฆฏนาที่ ๕ นามเท่านั้นเป็นปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๖ รูปคือวัตถุรูปเป็นปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๗ รูปเป็นปัจจัยแก่กุศลและอัพยากตะ ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา. หทัยวัตถุเท่านั้นเป็นปัจจัยแก่อกุศล ด้วยอำนาจเป็นที่ยินดี.
               ในฆฏนาที่ ๘ หทัยวัตถุนั้นเองเป็นปัจจัยแก่อกุศล.
               ในฆฏนาที่ ๙ จักขุเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ.
               ในฆฏนาที่ ๑๐ กุศลเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ในฆฏนาที่ ๑๑ วัตถุเป็นปัจจัยแก่ขันธ์ทั้งหลายในปฏิสนธิกาล.
               ในฆฏนาที่ ๑๒ ขันธ์ทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กฏัตตารูปในปฏิสนธิกาล.
               ในฆฏนาที่ ๑๓ ขันธ์ทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่วัตถุรูปในปฏิสนธิกาล.

               อัตถิมูลกนัย               
               ในนัยที่มีอัตถิปัจจัย เป็นมูล.
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย เอกํ ในอุปนิสสยปัจจัย มี ๑ วาระ คือ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศลด้วยอำนาจอารัมมณูปนิสสยะ.
               ฆฏนาที่เหลือในทุมูลกนัยตื้นทั้งนั้น. ก็ในนัยนี้มีฆฏนา ๒๙ ฆฏนา. บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ ๑ ได้สหชาตปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย และปัจฉาชาตปัจจัย ด้วยอำนาจอรูป, วัตถุอารมณ์, มหาภูตรูป, อินทรีย์, และอาหาร.
               ในฆฏนาที่ ๒ ได้กพฬีการาหารและรูปชีวิตินทรีย์ที่เกิดในภายหลัง.
               ฆฏนาที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้นกับอธิปติปัจจัย ท่านจัดเป็นฆฏนาที่ ๓ และฆฏนาที่ ๔ ในฆฏนาต่อไป.
               เฉพาะฆฏนาที่ ๑ กับอาหาร ๔ จัดไว้เป็น ฆฏนาที่ ๕.
               ฆฏนาที่ ๑ กับรูปชีวิตินทรีย์จัดเป็น ฆฏนาที่ ๖ กับรูปและอรูปอินทรีย์จัดไว้เป็นฆฏนาที่ ๗ อีก.
               ก็หรือว่าเฉฑาะฆฏนาที่ ๒ เท่านั้น กับอินทรีย์ทั้งหลายจัดเป็นฆฏนาที่ ๗.
               เฉพาะฆฏนาที่ ๑ และ ๒ กับวิปปยุตตปัจจัยจัดเป็นฆฏนาที่ ๘ และฆฏนาที่ ๙.
               บรรดาฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ ๙ กับอธิปติปัจจัยจัดเป็นฆฏนาที่ ๑๐.
               ต่อจากนั้น เอาวัตถุรูปออก ด้วยอำนาจเป็นปัจจัยในฆฏนาที่ ๑๑.
               อรูปธรรมทั้งหลายเท่านั้น เป็นปัจจัยในฆฏนาที่ ๑๒.
               ในฆฏนาที่ ๑๓ มีวัตถุที่เป็นอารมณ์เป็นปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๑๔ มีวัตถุเท่านั้นเป็นปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๑๕ มีอารมณ์เท่านั้นเป็นปัจจัย.
               ในฆฏนาที่ ๑๖ มีวัตถุเท่านั้นเป็นอารมณ์.
               ในฆฏนาที่ ๑๗ วัตถุนั้นเองเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจเป็นอารัมมณาธิปติ.
               ในฆฏนาที่ ๑๘ วัตถุนั้นเองเป็นอารมณ์ด้วยอำนาจอารัมมณูปนิสสยปัจจัย.
               จักขุเป็นต้นเท่านั้นเป็นปัจจัย ในฆฏนาที่ ๑๙.
               ฆฏนาที่ ๑๙ เหล่านี้ ชื่อว่าปกิณณกฆฏนา อันพระองค์ตรัสไว้โดยไม่ถือเอาซึ่งสหชาตะ. ๑๐ ฆฏนา ต่อจากนั้น ตรัสด้วยอำนาจสหชาตฆฏนา.

               นัตถิ-วิคตมูลกนัย               
               ในนัยที่มีนัตถิและวิคตปัจจัยเป็นมูล มีฆฏนา ๓ ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัยและกัมมปัจจัย เหมือนในนัยที่มีอนันตระและสมนันตรปัจจัยเป็นมูล.

               อวิคตมูลกนัย               
               ฆฏนาที่มีอวิคตปัจจัยเป็นมูล เหมือนกับที่มีอัตถิปัจจัยเป็นมูลนั่นเอง.
               ก็ฆฏนาที่กล่าวไว้ในปัญหาวาระนี้ทั้งหมด มี ๒ อย่างเท่านั้น คือปกิณณกฆฏนาและสหชาตฆฏนา.
               บรรดาปกิณณกฆฏนาและสหชาตฆฏนาเหล่านั้น ฆฏนาที่ท่านกล่าวไว้ตั้งต้นแต่ฆฏนาที่มีอารัมปัจจัยเป็นมูล เป็นต้นทั้งหมด ไม่รวมสหชาตะ ชื่อปกิณณกฆฏนา.
               ปกิณณกฆฏนาเหล่านั้น แม้ในฆฏนาที่มีอารัมมณปัจจัยเป็นมูลมี ๕ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีอธิปติปัจจัยเป็นมูลมี ๖ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีอนันตรปัจจัยเป็นมูลมี ๓ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีสมนันตรปัจจัยเป็นมูลมี ๓ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีนิสสยปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีอุปนิสสยปัจจัยเป็นมูลมี ๗ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีปุเรชาตปัจจัยเป็นมูลมี ๗ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีปัจฉาชาตปัจจัยเป็นมูล และอาเสวนปัจจัยเป็นมูลมีอย่างละ ๑ ฆฏนาเท่านั้น.
               ในฆฏนาที่มีกัมมปัจจัยเป็นมูลมี ๒ ฆฏนา.
               ที่มีอาหารเป็นมูลมี ๑ ฆฏนา.
               ที่มีอินทรีย์เป็นมูลมี ๔ ฆฏนา. ที่มีวิปปยุตตปัจจัยเป็นมูลมี๙ ฆฏนา. ที่มีอัตถิปัจจัยเป็นมูลมี ๑๙ ฆฏนา. ที่มีนัตถิปัจจัยเป็นมูล และวิคตปัจจัยเป็นมูลมี ๓ ฆฏนา. ที่มีอวิคตปัจจัยเป็นมูลมี ๑๙ ฆฏนา.
               ฉะนั้น ปกิณณกฆฏนาทั้งหมดจึงมี ๑๐๓ ฆฏนา. ก็ฆฏนาเหล่านี้ทั้งหมด เรียกว่าปกิณณกฆฏนา เพราะไม่มีการกำหนดด้วยสหชาตปัจจัย.
               ก็ฆฏนาที่ได้สหชาตะ ท่านเรียกว่าสหชาตฆฏนา ฆฏนาเหล่านั้นย่อมไม่ได้ในฆฏนาที่มีอารัมมณปัจจัยเป็นมูล ในฆฏนาที่มีอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย อาเสวนปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัยเป็นมูล เพราะว่าปัจจัยเหล่านั้นย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดพร้อมกัน.
               อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดพร้อมกัน ฉันใด ก็ย่อมไม่เป็นเหตุปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย วิปากปัจจัย ฌานปัจจัย มัคคปัจจัยและสัมปยุตตปัจจัย แก่ธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน ฉันนั้น.
               เพราะฉะนั้น ฆฏนา ๒๔ ทั้งหมด ในฆฏนาที่มีเหตุปัจจัยเป็นมูล จึงชื่อว่าสหชาตฆฏนา เท่านั้น.
               ในฆฏนาที่มีอธิปติปัจจัยเป็นมูล มี ๒๔ ฆฏนา.
               ในฆฏนาที่มีสหชาตปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนา.
               ที่มีอัญญมัญญปัจจัยเป็นมูล มี ๖ ฆฏนา.
               ที่มีนิสสยปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนา.
               ที่มีกัมมปัจจัยเป็นมูล มี ๙ ฆฏนา.
               ที่มีวิปากปัจจัยเป็นมูล มี ๕ ฆฏนา.
               ที่มีอาหารปัจจัยเป็นมูล มี ๓๓ ฆฏนา.
               ที่มีอินทริยปัจจัยเป็นมูล มี ๗๒ ฆฏนา.
               ที่มีฌานปัจจัยเป็นมูล มี ๓๖ ฆฏนา.
               ที่มีมัคคปัจจัยเป็นมูล มี ๕๗ ฆฏนา. ที่มีสัมปยุตตปัจจัยเป็นมูล มี ๒ ฆฏนา. ที่มีวิปปยุตตปัจจัยเป็นมูล มี ๔ ฆฏนา. ที่มีอัตถิปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนา. ที่มีอวิคตปัจจัยเป็นมูล มี ๑๐ ฆฏนาดังนี้แล.
               สหชาตฆฏนาทั้งหมดจึงมี ๓๑๒ ฆฏนา.
               ฆฏนา ๔๑๕ ทั้งหมด คือปกิณณกฆฏนาข้างต้น ๑๐๓ ฆฏนาและสหชาตฆฏนาเหล่านี้อีก ๓๑๒ ฆฏนา มาแล้วในปัญหาวาระ ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาปัจจัยเหล่านั้น ปัจจัยธรรมเหล่าใดไม่ปรากฎด้วยอำนาจชื่อ แต่รู้กันได้ แม้เหล่านั้นพึงแสดงในฆฏนาทั้งหลาย ที่ท่านกล่าวไว้โดยทั่วไปแก่ธรรมที่เป็นวิบากและมิใช่วิบาก ตั้งแต่นัยที่มีเหตุเป็นมูลเป็นต้น เป็นต้นไป.
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านี้ คือเหตุ ๑๒ อารมณ์ ๖ อธิบดี ๔ อาหาร ๔ อินทรีย์ ๒๐ องค์ฌาน ๗ องค์มรรค ๑๒ ชื่อว่าปัจจัยธรรม.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใดๆ เป็นกุศลโดยส่วนเดียว เป็นอกุศลโดยส่วนเดียว วิบากของกุศลโดยส่วนเดียว วิบากของอกุศลโดยส่วนเดียว วิบากโดยส่วนเดียว ไม่ใช่วิบากโดยส่วนเดียว บัณฑิตกำหนดธรรมเหล่านั้นๆ ให้ดีแล้ว พึงประกอบธรรมที่เป็นวิบาก เข้าในฆฏนาที่เป็นวิบาก พึงประกอบธรรมที่มิใช่วิบาก เข้าในฆฏนาที่มิใช่วิบาก ตามสมควรที่จะประกอบได้แล.

               อนุโลมคณนาในฆฏนาแห่งปัญหาวาระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ จำนวนอนุโลมแห่งปัญหาวาร เหตุมูลกนัยเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 624อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 625อ่านอรรถกถา 40 / 628อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=6773&Z=6854
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=11692
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=11692
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :