ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 135อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 5 / 146อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ
องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รับจีวรเป็นต้น

               ว่าด้วยเจ้าหน้าที่รับจีวรเป็นต้น               
               วินิจฉัยในข้อว่า โย น ฉนฺทาคตึ คจฺฉติ เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               ในภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร ภิกษุผู้รับของปิยชนทั้งหลายมีญาติเป็นต้นของตน แม้มาทีหลัง ก่อนกว่า, หรือรับแสดงความพอใจในทายกบางคน. หรือน้อมมาเพื่อตน ด้วยความเป็นผู้มีโลภเป็นปกติ, ชื่อว่าถึงความลำเอียง เพราะความชอบพอ.
               ภิกษุใดรับของทายกแม้มาก่อนกว่า ทีหลังด้วยอำนาจความโกรธ หรือรับทำอาการดูหมิ่นในคนจน หรือทำลาภันตรายแก่สงฆ์อย่างนี้ว่า ที่เก็บในเรือนของท่านไม่มีหรือ, ท่านจงถือเอาของๆ ท่านไปเถิด. ภิกษุนี้ชื่อว่าถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง.
               ฝ่ายภิกษุใดหลงลืมสติ ไม่รู้ตัว ภิกษุนี้ ชื่อถึงความลำเอียงเพราะงมงาย.
               ภิกษุผู้รับของอิสรชนทั้งหลาย แม้มาทีหลัง ก่อนกว่า เพราะความกลัว หรือหวาดหวั่นอยู่ว่า ตำแหน่งผู้รับจีวรนี้หนักนัก, ชื่อถึงความลำเอียงเพราะกลัว,
               ภิกษุผู้รู้อยู่ว่า จีวรนี้ด้วย นี้ด้วย เรารับแล้ว และส่วนนี้ เราไม่ได้รับ ชื่อรู้จักจีวรที่รับแล้วและไม่ได้รับ เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดไม่ลำเอียงด้วยอำนาจแห่งฉันทาคติเป็นต้น รับตามลำดับผู้มา ไม่ทำให้แปลกกันในคนที่เป็นญาติและมิใช่ญาติ คนมั่งมีและคนจน, เป็นผู้ประกอบด้วยศีลาจารปฏิบัติ มีสติ มีปัญญา เป็นพหูสูต สามารถเพื่อกระทำอนุโมทนาด้วยบทและพยัญชนะอันเรียบร้อย ด้วยวาจาอันสละสลวย ยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ทายกทั้งหลาย ; ภิกษุเห็นปานนี้สงฆ์ควรสมมติ.
               ก็วินิจฉัยในข้อว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว สมฺมนฺนิตพฺโพ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               สมควรแท้ที่จะสมมติในท่ามกลางสงฆ์ทั้งปวง ภายในวัดก็ได้ ในขัณฑสีมาก็ได้ ด้วยกรรมวาจาตามที่ตรัสนั้นก็ได้ ด้วยอปโลกน์ก็ได้ ก็อันภิกษุซึ่งสงฆ์สมมติแล้วอย่างนั้น ไม่พึงอยู่ในกุฎีที่อยู่หลังสุดท้ายหรือในที่ทำความเพียร. ก็แต่ว่า ชนทั้งหลายผู้มาแล้ว จะพบได้ง่าย ในที่ใด พึงวางพัดไว้ข้างตัว นุ่งห่มเรียบร้อยนั่งในที่แห่งกุฎีอยู่ใกล้เช่นนั้น.
               สองบทว่า ตตฺเถว อุชฺฌิตฺวา มีความว่า ภิกษุเจ้าหน้าที่รับจีวรกล่าวว่า การรับเท่านั้น เป็นธุระของพวกข้าพเจ้า แล้วทิ้งไว้ในที่ซึ่งตนรับนั่นเองแล้วไปเสีย.
               บทว่า จีวรปฏิคฺคาหกํ ได้แก่ ภิกษุผู้รับจีวรซึ่งคหบดีทั้งหลายถวายแก่สงฆ์.
               บทว่า จีวรนิทาหกํ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร.
               ในคำว่า โย น ฉนฺทาคตึ เป็นอาทิ ในอธิการว่าด้วยสมมติเจ้าหน้าที่เก็บจีวรนี้ และในอธิการทั้งปวงนอกจากนี้ พึงทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวนั้นนั่นแล.
               ถึงวินิจฉัยในการสมมติ ก็พึงทราบโดยทำนองดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               วินิจฉัยในคำว่า วหารํ วา เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               ที่อยู่อันใดพลุกพล่านด้วยชนทั้งหลายมีคนวัดและสามเณรเป็นต้น ในท่ามกลางวัด เป็นกุฎีที่อยู่ก็ตาม เป็นเพิงก็ตาม อยู่ในสถานเป็นที่ประชุมของชนทั้งปวง ที่อยู่อันนั้น ไม่พึงสมมติ. อนึ่งเสนาสนะปลายแดน ก็ไม่ควรสมมติ. อันการที่ภิกษุทั้งหลายไปสู่ขัณฑสีมานั่งในขัณฑสีมา สมมติภัณฑาคารนี้ ย่อมไม่ควร ต้องสมมติในท่ามกลางวัดเท่านั้น.
               วินิจฉัยในข้อว่า คุตฺตาคุตฺตญฺจ ชาเนยฺย นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               โทษไรๆ ในสัมภาระทั้งหลายมีหลังคาเป็นต้น แห่งเรือนคลังใดไม่มีก่อน เรือนหลังนั้น ชื่อว่าคุ้มได้ ฝ่ายเรือนคลังใด มีหญ้าสำหรับมุง หรือกระเบื้องสำหรับมุง พังไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือมีช่องในที่บางแห่ง มีฝาเป็นต้น ที่มีฝนรั่วได้ หรือมีทางเข้าแห่งสัตว์ทั้งหลายมีหนูเป็นต้น หรือปลวกขึ้นได้ เรือนคลังนั้นทั้งหมดชื่อว่าคุ้มไม่ได้ พึงตรวจดูเรือนคลังนั้นแล้วซ่อมแซม. ในฤดูหนาวพึงปิดประตูและหน้าต่างให้ดี เพราะว่า จีวรย่อมตกหนาว๑- เพราะความหนาว. ในฤดูร้อน ประตูและหน้าต่าง ควรเปิดเพื่อให้ลมเข้าในระหว่างๆ. ด้วยว่าเมื่อทำอย่างนั้นชื่อว่ารู้จักเรือนคลังที่คุ้มได้และคุ้มไม่ได้.
____________________________
๑- สีที่ละลายออกหรือจางไปในเวลาซักหรือถูกแดดเป็นต้น สีตก เรียกว่าตกหนาว.

               ก็เจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ นี้ มีเจ้าหน้าที่รับจีวรเป็นต้น ต้องรู้จักวัตรของตน.
               บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ นั้น ผ้าทุกชนิดที่ชนทั้งหลายถวายว่า กาลจีวร ก็ดี ว่า อกาลจีวร ก็ดี ว่า อัจเจกจีวร ก็ดี ว่า วัสสิกสาฏิกา ก็ดี ว่า ผ้านิสีทนะ ก็ดี ว่า ผ้าปูลาด ก็ดี ว่า ผ้าเช็ดหน้า ก็ดี อันเจ้าหน้าที่รับจีวรไม่ควรรับปนรวมเป็นกองเดียวกัน พึงรับจัดไว้เป็นแผนกๆ แล้วบอกอย่างนั้นแล มอบแก่เจ้าหน้าที่เก็บจีวร. เจ้าหน้าที่เก็บจีวรเล่า เมื่อจะมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง พึงบอกมอบหมายว่า นี่กาลจีวร ฯลฯ นี่ผ้าเช็ดหน้า.
               ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง พึงทำเครื่องหมายเก็บไว้เป็นแผนกๆ อย่างนั้นเหมือนกัน. ภายหลังเมื่อสงฆ์สั่งว่า จงนำกาลจีวรมา พึงถวายเฉพาะกาลจีวร ฯลฯ เมื่อสงฆ์สั่งว่า จงนำผ้าเช็ดหน้ามา พึงถวายเฉพาะผ้าเช็ดหน้าเท่านั้น.
               เจ้าหน้าที่รับจีวร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่เก็บจีวร ทรงอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง ก็ทรงอนุญาตแล้ว เพื่อความเป็นผู้มักมากหามิได้ เพื่อความไม่สันโดษหามิได้ โดยที่แท้ ทรงอนุญาตแล้ว เพื่ออนุเคราะห์สงฆ์ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายจะพึงถือเอาจีวรที่ทายกนำมาแล้วๆ แบ่งกันไซร้ เธอทั้งหลายจะไม่ทราบจีวรที่ทายกนำมาแล้ว ไม่พึงทราบจีวรที่ทายกยังมิได้นำมา ไม่พึงทราบจีวรที่ตนให้แล้วไม่พึงทราบจีวรที่ตนยังไม่ได้ให้ ไม่พึงทราบจีวรที่ภิกษุได้แล้ว ไม่พึงทราบจีวรที่ภิกษุยังไม่ได้ ; จะพึงถวายจีวรที่ทายกนำมาแล้วๆ ในเถรอาสน์ หรือจะพึงตัดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ถือเอา. เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้สอยจีวรที่ไม่เหมาะ ย่อมมีได้ ทั้งไม่เป็นอันได้ทำความสงเคราะห์ทั่วถึงกัน. ก็แต่ว่า ภิกษุทั้งหลายเก็บจีวรไว้ในเรือนคลังแล้ว ในคราวมีจีวรมาก จักให้จีวรแก่ภิกษุรูปละไตรบ้าง รูปละ ๒ ผืนๆ บ้าง รูปละผืนๆ บ้าง เธอทั้งหลายจักทราบจีวรที่ภิกษุได้แลัวและยังไม่ได้ ครั้นทราบความที่จีวรซึ่งภิกษุยังไม่ได้ จักสำคัญเพื่อทำความสงเคราะห์กันฉะนี้.

               ว่าด้วยบุคคลที่ไม่ควรให้ย้าย               
               วินิจฉัยในข้อว่า น ภิกฺขเว ภณฺฑาคาริโก วุฏฺฐาเปตพฺโพ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               พึงรู้จักภิกษุที่ไม่ควรให้ย้ายแม้อื่นอีก จริงอยู่ ไม่ควรให้ย้ายภิกษุ ๔ พวก คือ ภิกษุผู้แก่กว่า ๑ ภิกษุเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ๑ ภิกษุผู้อาพาธ ๑ ภิกษุได้เสนาสนะจากสงฆ์ ๑.
               ในภิกษุ ๔ พวกนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า อันภิกษุผู้อ่อนกว่า ไม่พึงให้ย้าย เพราะท่านเป็นผู้แก่กว่าตน, ภิกษุเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ไม่พึงให้ย้าย เพราะเรือนคลังอันสงฆ์สมมติมอบให้, ภิกษุผู้อาพาธ ไม่พึงให้ย้าย เพราะค่าที่เธอเป็นผู้อาพาธ, แต่ว่า สงฆ์มอบที่อยู่อันสำราญกระทำให้เป็นสถานที่ไม่ต้องให้ย้าย แก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีอุปการะมาก ด้วยอุทเทสและปริปุจฉาเป็นต้น ผู้ช่วยภาระ, เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เป็นพหูสูตนั้น ไม่พึงให้ย้าย เพราะค่าที่เธอเป็นผู้มีอุปการะ และเพราะค่าที่เสนาสนะเป็นของอันเธอได้จากสงฆ์ ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้รับจีวรเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 135อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 5 / 146อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=3734&Z=3818
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4693
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4693
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :