ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 15อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 5 / 24อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ
เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ

               เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ               
               บทว่า กุรรฆเร ได้แก่ ในเมืองมีชื่ออย่างนั้น. โคจรคามของพระมหากัจจายนะนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวด้วยบทว่า กุรรฆเร นั้น.
               สองบทว่า ปปาเต ปพฺพเต ได้แก่ ที่ภูเขาปปาต. สถานเป็นที่อยู่ของท่าน พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวด้วยสองบทว่า ปปาเต ปพฺพเต นั้น.
               คำว่า โสณะ เป็นชื่อของอุบาสกนั้น. ก็และอุบาสกนั้นทรงเครื่องประดับหูมีราคาโกฏิหนึ่ง. เพราะฉะนั้นจึงเรียกกันว่า กุฏิกัณณะ ความว่า โกฏิกัณณะ.
               บทว่า เอกเสยฺยํ ได้แก่ การนอนของบุคคลผู้เดียว. ความว่า พรหมจรรย์ประกอบด้วยการเป็นที่ประกอบความเพียรเนืองๆ.
               บทว่า ปาสาทิกํ ได้แก่ ให้เกิดความเลื่อมใส.
               บทว่า ปสาทนียํ นี้เป็นคำกล่าวซ้ำเนื้อความของบทว่า ปาสาทิกํ นั้นแล.
               บทว่า อุตฺตมทมถสมถํ ได้แก่ ความฝึกและความสงบคือปัญญาและสมาธิอันอุดม. ความว่า ความสงบกายและสงบจิตดังนี้ก็ได้.
               บทว่า ทนฺตํ มีความว่า ชื่อว่าผู้ทรมานแล้ว เพราะกิเลสเครื่องดิ้นรนซึ่งเป็นข้าศึกทั้งปวงเป็นของเด็ดขาดไปแล้ว. อธิบายว่า ผู้สิ้นกิเลสแล้ว.
               บทว่า คุตฺตํ ได้แก่ ผู้คุ้มครองแล้วด้วยความป้องปก คือความระวัง.
               บทว่า ยตินฺทฺริยํ ได้แก่ ทรงชนะอินทรีย์แล้ว.
               บทว่า นาคํ ได้แก่ ผู้เว้นจากบาป. ความว่า ผู้ปราศจากกิเลส.
               หลายบท ติณฺณํ เม วสฺสานํ อจฺจเยน มีความว่า ต่อล่วงไปสามเดือนจำเดิมแต่วันบรรพชาของข้าพเจ้า.
               สองบทว่า อุปสมฺปทํ อลตฺถํ ความว่า ข้าพเจ้าจึงได้อุปสมบท.
               บทว่า กณฺหุตฺตรา ได้แก่ มีดินดำยิ่งนัก. ความว่า มีดินดำเป็นก้อนนูนขึ้น.
               บทว่า โคกณฺฏกหตา คือ เป็นภาคพื้นที่ถูกทำให้เสียด้วยระแหงกีบโคซึ่งตั้งขึ้นจากพื้นที่ถูกกีบโคเหยียบ. ได้ยินว่า รองเท้าชั้นเดียวไม่อาจกันระแหงกีบโคเหล่านั้นได้, พื้นแผ่นดินเป็นของแข็งขรุขระด้วยประการดังนี้.
               ติณชาติมีอยู่ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ เอรคุ คือหญ้าตีนกา ๑ โมรคุ คือหญ้าหางนกยูง ๑ มัชชารุ คือหญ้าหนวดแมว ๑ ชันตุ คือหญ้าหางช้าง ๑ ชนทั้งหลายย่อมทำเสื่อลำแพนและเสื่ออ่อนด้วยหญ้าเหล่านี้.
               บรรดาติณชาติ ๔ ชนิดนั้น หญ้าเอรคุนั้นได้แก่หญ้าทราย, หญ้าทรายนั้นเป็นของหยาบ. หญ้าโมรคุมียอดสีแดงละเอียดอ่อน มีสัมผัสสบาย. เสื่อที่ทำด้วยหญ้าโมรคุนั้น เมื่อนอนแล้วพอลุกขึ้นเป็นของฟูขึ้นอีกได้. ชนทั้งหลายย่อมทำแม้ซึ่งผ้าสาฎกด้วยหญ้ามัชชารุ. หญ้าชันตุมีสีคล้ายแก้วมณี.
               สองบทว่า เสนาสนํ ปญฺญาเปสิ มีความว่า พระอานนท์ผู้มีอายุได้ปูฟูกหรือเสื่อลำแพน. ก็แลครั้นปูแล้วจึงบอกแก่พระโสณะว่า ผู้มีอายุ พระศาสดามีพระประสงค์จะอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวกับท่าน, เสนาสนะสำหรับท่าน เราจัดไว้แล้ว ในพระคันธกุฎีนั่นเอง.
               หลายบทว่า ปฏิภาตุ ตํ ภิกฺขุ ธมฺโม ภาสิตุํ มีความว่าธรรมจงรับหน้าที่ต่อญาณ กล่าวคือปฏิญาณ เพื่อสวด.
               บทว่า อฏฺฐกวคฺคิกานิ๑- มีความว่า พระโสณะผู้มีอายุได้สวดพระสูตร ๑๖ สูตรมีกามสูตรเป็นต้น ที่ว่าเป็นอัฏฐกวัคคิกะ๒- เหล่านั้น.
               บทว่า วิสฺสฏฺฐาย คือ มีอักขระอันสละสลวย.
               บทว่า อเนลคลาย มีความว่า ความเป็นวาจาประกอบด้วยโทษ ย่อมไม่มี.
               สองบาทคาถาว่า อริโย น รมตี ปาเป, ปาเป น รมตี สุจิ๓- มีความว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คนสะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป เพื่อแสดงเนื้อความวิเศษว่า จริงอยู่ บุคคลใดประกอบด้วยคุณธรรมเครื่องเป็นผู้สะอาดทางกายวาจาและใจ, บุคคลนั้นย่อมไม่ยินดีในบาป เพราะฉะนั้น เฉพาะพระอริยเจ้า ชื่อว่าไม่ยินดีในบาป.
               หลายบทว่า อยํ ขฺวสฺส กาโล ความว่า เวลานี้แลพึงเป็นกาล.
               บทว่า ปริทสฺสิ ได้แก่ สั่งมาแล้ว.
               ในคำนี้ว่า อยํ ขฺวสฺส กาโล ... ปริทสฺสิ มีคำอธิบายดังนี้ว่า
               อุปัชฌาย์ของเราให้เรารับทราบคำสั่งอันใดมาว่า เธอพึงทูลเรื่องนี้ด้วย เรื่องนี้ด้วย, เวลานี้พึงเป็นกาลแห่งคำสั่งนั้น, เอาเถิด เราจะทูลคำสั่งนั้นเดี๋ยวนี้.
               บทว่า วินยธรปญฺจเมน คือ มีอาจารย์ผู้สวดประกาศเป็นที่ ๕.
               วินิจฉัยในข้อว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว สพฺพปจฺจนฺติเมสุ ชนปเทสุ คณงฺคณุปาหนํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               รองเท้าที่ทำด้วยหนังชนิดใดชนิดหนึ่ง เว้นหนังมนุษย์เสีย ย่อมควรแม้ในถุงรองเท้า ฝักมีดและฝักกุญแจ ก็นัยนี้แล.
____________________________
๑- อฏฺฐกวคฺคิกานีติ : อฏฺฐกวคฺคภูตานิ กามสุตฺตาทีนิ โสฬสสุตฺตานีติ สารตฺถทีปนี.
๒- เป็นวรรคที่ ๔ แห่งสุตตนิบาต ขุททกนิกาย ๓๙๓.
๓- มหาวคฺค. ทุติย. ๓๔.

               ว่าด้วยหนัง               
               ก็แลวินิจฉัยในคำว่า จมฺมานิ อตฺถรณานิ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุจะปูหนังแกะและหนังแพะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนอนหรือนั่งก็ควร.
               วินิจฉัยในหนังมฤค พึงทราบดังนี้ :-
               หนังแห่งมฤคชาติ คือเนื้อทราย เนื้อสมัน เนื้อฟาน กวาง เนื้อถึก ละมั่งเหล่านี้เท่านั้นควร. ส่วนหนังแห่งสัตว์เหล่าอื่นไม่ควร.
               ลิง ค่าง นางเห็น ชะมดและสัตว์ร้ายเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรดามี หนังของสัตว์เหล่านั้นไม่ควร.
               ในสัตว์เหล่านั้น ที่ชื่อว่าสัตว์ร้าย ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว. แต่จะไม่ควรเฉพาะสัตว์เหล่านี้พวกเดียวเท่านั้น หามิได้ อันหนังของสัตว์เหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าไม่ควร เว้นสัตว์เหล่านั้นเสีย สัตว์ทั้งหลายที่เหลือชั้นที่สุดแม้โค กระบือ กระต่าย แมวเป็นต้น รวมทั้งหมด พึงทราบว่า สัตว์ร้ายเหมือนกันในอรรถนี้. จริงอยู่ หนังของสัตว์ทุกๆ ชนิดไม่ควร.
               ข้อว่า น ตํ ตาว คณนูปคํ, ยาว น หตฺถํ คจฺฉติ มีความว่า
               จีวรซึ่งชนทั้งหลายนำมาแล้วแต่ยังมิได้ถวายก็ดี จีวรที่เขาฝากไปให้ แต่ยังมิได้บอกว่า จีวรเกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว ดังนี้ก็ดี เพียงใด จีวรนั้นยังไม่ต้องนับวัน คือไม่ควรเพื่ออธิษฐาน.
               อธิบายว่า ยังไม่เข้าถึงความถือเอาที่ควรอธิษฐานเพียงนั้น. แต่จีวรที่เขานำมาถวายแล้วก็ดี จีวรที่เขาฝากไปให้และบอกแล้วก็ดี จีวรที่ภิกษุได้ฟังว่า เกิดแล้วก็ดีในกาลใด จำเดิมแต่กาลนั้นไป ภิกษุย่อมได้บริหาร ๑๐ วันเท่านั้นฉะนี้แล.

               อรรถกถาจัมมขันธกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 15อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 5 / 24อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=545&Z=695
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3809
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3809
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :