ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 1อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 5 / 13อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ
ทรงอนุญาตรองเท้าเป็นต้น

               ว่าด้วยรองเท้า               
               บทว่า เอกปลาสิกํ ได้แก่ ชั้นเดียว.
               วินิจฉัยในคำว่า อสีติสกฏวาเห นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               สองเล่มเกวียน พึงทราบว่าเป็นหนึ่งวาหะ.
               วินิจฉัยในคำว่า สตฺตหตฺถิกญฺจ อนีกํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ปริมาณนี้ คือช้างพัง ๖ เชือก กับช้างพลาย ๑ เชือก เป็นอนีกะหนึ่ง ๗ อนีกะเช่นนี้ ชื่อว่า สัตตหัตถิกอนีกะ.
               บทว่า ทิคุณา ได้แก่ ๒ ชั้น.
               บทว่า ติคุณา ได้แก่ ๓ ชั้น รองเท้ามีชั้นตั้งแต่ ๔ ชั้นขึ้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า รองเท้าหลายชั้น.
               บทว่า สพฺพนีลกา ได้แก่ เขียวล้วนทีเดียว.
               แม้ในสีต่างๆ มีเหลืองล้วนเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ก็บรรดารองเท้าสีเหล่านั้น รองเท้าเขียวครามมีสีคล้ายสีดอกผักตบ รองเท้าเหลืองมีสีคล้ายดอกกรรณิการ์ รองเท้าแดงมีสีคล้ายดอกชบา รองเท้าแดงสำลาน คือแดงอ่อน มีสีคล้ายฝาง รองเท้าดำมีสีคล้ายสีลูกประคำดีควาย รองเท้าแดงเข้มมีสีคล้ายหลังตะขาบ รองเท้าแดงกลายๆ มีสีเจือกัน คล้ายสีใบไม้เหลือง, แต่ในกุรุนทีแก้ว่ามีสีคล้ายดอกบัวหลวง.
               บรรดารองเท้าเหล่านี้ ภิกษุได้ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว เอาผ้าเช็ดน้ำยาทำลายสีเสียแล้วสวม ควรอยู่. แม้ทำลายสีเสียเพียงเล็กน้อย ก็ควรเหมือนกัน.
               บทว่า นีลวทฺธิกา ได้แก่ รองเท้าที่มีหูเท่านั้นเขียว.
               แม้ในสีทั้งปวงมีสีเหลืองเป็นต้น มีนัยเหมือนกัน.
               แม้รองเท้าที่มีหูเขียวเป็นต้นเหล่านั้น ก็พึงทำลายสีเสียแล้วจึงค่อยสวม.
               บทว่า ขลฺลกพทฺธา ได้แก่ รองเท้าที่ทำติดแผ่นหนังที่พื้นขึ้นมาเพื่อปิดส้น. รองเท้าของชาวโยนกเรียกว่า รองเท้าหุ้มเป็นกระบอกได้แก่รองเท้าที่ปิดเท้าทั้งหมดจนถึงแข้ง.
               บทว่า ปาลิคุณฺฐิมา ได้แก่ รองเท้าที่หุ้มหลังเท้า ปิดแต่เพียงบนหลังเท่านั้น ไม่ปิดแข้ง.
               บทว่า ตูลปุณฺณิกา ได้แก่ รองเท้าที่ทำยัดด้วยปุยนุ่น.
               บทว่า ติตฺติรปตฺติกา ได้แก่ รองเท้าที่มีหูงดงาม เช่นกับปีกนกกระทา.
               บทว่า เมณฺฑวิสาณวทฺธิกา ได้แก่ รองเท้าที่ทำประกอบหูมีสัณฐานคล้ายเขาแกะ ที่ปลายเชิงงอน แม้ในรองเท้าที่มีหูดังเขาแพะเป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               บทว่า วิจฺฉิกาฬิกา ได้แก่ รองเท้าที่ทำประกอบหูมีสัณฐานดังหางแมงป่อง ที่ปลายเชิงงอนนั้นเอง.
               บทว่า โมรปิญฺชปริสิพฺพิตา ได้แก่ รองเท้าที่เย็บที่พื้นก็ดี ที่หูก็ดี ด้วยขนปีกนกยูงต่างด้าย.
               บทว่า จิตฺรา ได้แก่ รองเท้าที่งดงามต่างๆ แม้ในรองเท้าเหล่านี้ ภิกษุได้ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นของที่อาจเอาสิ่งที่ไม่ควรเหล่านั้น เป็นต้นว่า หนังหุ้มส้นออกเสียได้ พึงเอาออกเสียแล้วใช้เถิด. แต่เมื่อสิ่งที่ไม่ควรมีหนังหุ้มส้นเป็นต้นนั้น ยังมีอยู่ เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ใช้. รองเท้าที่ทำประกอบหนังราชสีห์ที่ริมโดยรอบเหมือนติดอนุวาตในจีวร ชื่อว่า รองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์.
               บทว่า อุลูกจมฺมปริกฺขตา ได้แก่ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้าแมว ถึงในรองเท้าเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่ง พึงเอาหนังนั้นออกแล้วสวมเถิด.
               บทว่า โอมุกฺกํ ได้แก่ สวมแล้วถอดออก.
               บทว่า นวา ได้แก่ ยังมิได้ใช้.
               บทว่า อภิชีวนิกสฺส มีความว่า คฤหัสถ์ทั้งหลายย่อมเป็นอยู่เฉพาะ คือสำเร็จการเลี้ยงชีวิต ด้วยศิลปะใด มีความเคารพในอาจารย์เพราะเหตุแห่งศิลปะนั้น.
               ในคำว่า อิธ โข ตํ ภิกฺขเว นี้. บทว่า ตํ เป็นเพียงนิบาต ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...พึงงามในธรรมวินัยนี้แล.
               สองบทว่า ยํ ตุมฺเห ได้แก่ เย ตุมฺเห อีกอย่างหนึ่ง. มีคำอธิบายว่า ยทิ ตุมฺเห จริงอยู่ นิบาต คือ ยํ ใช้ในอรรถแห่ง ยทิ ศัพท์.
               วินิจฉัยในคำว่า อาจริเยสุ เป็นอาทิ เฉพาะอาจารย์ ๔ พวกนี้ คือบรรพชาจารย์ อุปสัมปทาจารย์ นิสสยาจารย์ อุทเทสาจารย์ จัดเป็นอาจารย์แท้ในบทว่า อาจริเยสุ นี้.
               ภิกษุมีพรรษา ๖ พอเป็นอาจารย์ของภิกษุผู้ไม่มีพรรษาได้. ด้วยว่า ภิกษุผู้ไม่มีพรรษานั้นจักอาศัยเธออยู่ในกาลที่ตนมีพรรษา ๔, ด้วยประการอย่างนี้ แม้ภิกษุเหล่านี้จัดว่าผู้พอเป็นอาจารย์ได้แท้ คือภิกษุผู้มีพรรษา ๗ พอเป็นอาจารย์ของภิกษุพรรษาเดียวได้, ผู้มีพรรษา ๘ พอเป็นอาจารย์ผู้มีพรรษา ๒ ได้, ผู้มีพรรษา ๙ พอเป็นอาจารย์ของผู้มีพรรษา ๓ ได้, ผู้มีพรรษา ๑๐ พอเป็นอาจารย์ของผู้มีพรรษา ๔ ได้ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเพื่อนเห็น เพื่อนคบของอุปัชฌาย์ก็ดี, ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่า ๑๐ พรรษาก็ดี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าผู้ปูนอุปัชฌาย์; เมื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ไม่สวมรองเท้าก้าวเดินอยู่ ย่อมเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สวมรองเท้าก้าวเดิน. ที่ชื่อว่าอาพาธเป็นหน่อที่เท้าได้แก่เนื้อคล้ายเดือย เป็นของยื่นออกจากพื้นเท้า.

               ว่าด้วยเขียงเท้า               
               บทว่า ติณปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้าที่ทำด้วยหญ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า หินฺตาลปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้าที่ทำด้วยใบเป้ง เขียงเท้าที่ทำแล้ว แม้ด้วยใบเต่าร้าง ไม่ควรเหมือนกัน.
               บทว่า กมลปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้าที่ทำด้วยหญ้าที่ชื่อว่า กมลวรรณ พระอาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขียงเท้าที่ทำด้วยแฝก ดังนี้ก็มี.
               บทว่า กมฺพลปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้าที่ทำด้วยขนเจียม.
               บทว่า อสงฺกมนียาโย ได้แก่ เขียงเท้าที่ตั้งไว้เป็นอันดีบนพื้นไม่คลอน เคลื่อนที่ไม่ได้.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ ทรงอนุญาตรองเท้าเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 1อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 5 / 13อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=224&Z=427
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3718
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3718
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :