ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 6 / 28อ่านอรรถกถา 6 / 682
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ กัมมขันธกะ
ตัชชนียกรรมที่ ๑ เรื่องภิกษุพวกพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะเป็นต้น

               จุลวรรค               
               กัมมักขันธกวรรณนา               
               ตัชชนียกรรม               
               วินิจฉัยในกัมมักขันธกะเป็นที่ ๑ แห่งจุลวรรค พึงทราบก่อนดังนี้ :-
               บทว่า ปณฺฑุกโลหิตกา ได้แก่ ชน ๒ ในพวกฉัพพัคคีย์ คือ ปัณฑุกะ ๑ โลหิตกะ ๑ แม้นิสิตทั้งหลายของเธอทั้ง ๒ ก็ปรากฏชื่อว่า ปัณฑุกะและโลหิตกะเหมือนกัน.
               สามบทว่า พลวา พลวํ ปฏิมนฺเตถ มีความว่า ท่านทั้งหลายจงโต้ตอบให้ดี ให้แข็งแรง.
               บทว่า อลมตฺถตรา จ คือเป็นผู้สามารถกว่า.
               ในองค์ ๓ มี อสมฺมุขา กตํ เป็นต้น มีความว่า กรรมที่ทำคือฟ้องร้องไม่พร้อมหน้าสงฆ์ ธรรมวินัยและบุคคล, ไม่สอบถามก่อนทำ, ทำด้วยไม่ปฏิญญาแห่งบุคคลนั้นแล.
               บทว่า อเทสนาคามินิยา ได้แก่ ทำด้วยอาบัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส.
               บรรดาติกะเหล่านี้ ๙ บท ใน ๓ ติกะต้น ทรงผสมทีละบทๆ กับ ๒ บทนี้ คือ อธมฺเมน กตํ วคฺเคน กตํ ตรัสเป็น ๙ ติกะ.
               รวมทั้งหมดจึงเป็น ๑๒ ติกะ ด้วยประการฉะนี้.
               ๑๒ ติกะนี้แล ตรัสไว้แม้ในสุกกปักษ์ ด้วยอำนาจแห่งฝ่ายเป็นข้าศึกกัน.
               สองบทว่า อนนุโลมิเกหิ คิหิสํสคฺเคหิ มีความว่า ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ มีความเป็นผู้มีความเศร้าโศกกับเขาเป็นต้น ซึ่งไม่สมควรแก่บรรพชิต.
               ข้อว่า น อุปสมฺปาเทตพฺพํ เป็นต้น มีความว่า เป็นอุปัชฌาย์อยู่แล้ว ไม่พึงให้กุลบุตรอุปสมบท, ไม่พึงให้นิสัยแก่ภิกษุอาคันตุกะ, ไม่พึงรับสามเณรอื่นไว้.
               สองบทว่า อญฺญา วา ตาทิสิกา ได้แก่อาบัติที่เสมอกัน.
               บทว่า ปาปิฏฐฺตรา ได้แก่ อาบัติที่หนักกว่า.
               กรรมนั้น ได้แก่ ตัชชนียกรรม.
               กรรมอันภิกษุเหล่าใดทำแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า ผู้ทำกรรม.
               ข้อว่า น สวจนียํ กาตพฺพํ มีความว่า ตนอันภิกษุใดโจทแล้วอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจะฟ้องท่านเป็นจำเลยในคดีนี้ และท่านอย่าก้าวออกจากอาวาสนี้แม้ก้าวเดียว ตลอดเวลาที่อธิกรณ์นั้นยังระงับไม่เสร็จ ภิกษุนั้นอันตนไม่พึงทำให้เป็นผู้ให้การ.
               บทว่า น อนุวาโท มีความว่า ไม่พึงรับตำแหน่งหัวหน้าในวัด.
               บทว่า น โอกาโส มีความว่า ไม่พึงให้ภิกษุอื่นทำโอกาสอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าเป็นผู้ใคร่จะพูดกะท่าน.
               ข้อว่า น โจเทตพฺโพ มีความว่า ไม่พึงโจทภิกษุอื่นด้วยวัตถุหรืออาบัติ, คือไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การด้วยคำว่า นี้เป็นโทษของท่านหรือ?
               ข้อว่า นํ สมฺปโยเชตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงช่วยกันและกันให้ทำความทะเลาะ.
               คำว่า ติณฺณํ ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงว่า สงฆ์สมควรลงตัชชนียกรรม ด้วยองค์แม้อันหนึ่งๆ.
               จริงอยู่ ความเป็นผู้ทำความบาดหมาง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นองค์พิเศษ สำหรับภิกษุผู้ควรขู่, ความเป็นผู้มีอาบัติเนืองๆ ตรัสไว้เป็นองค์พิเศษ สำหรับภิกษุควรไร้ยศ, ความเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล ตรัสไว้เป็นองค์พิเศษ สำหรับภิกษุผู้ควรขับไล่, แต่สงฆ์สมควรจะทำกรรมแม้ทั้งหมด ด้วยองค์อันใดอันหนึ่งใน ๓ องค์นี้.
               หากจะมีคำท้วงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในจัมเปยยักขันธกะว่า สงฆ์ทำนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรจะลงตัชชนียกรรม, ฯลฯ อัพภานผู้ควรอุปสมบท, อุบาลี กรรมไม่เป็นธรรมและกรรมไม่เป็นวินัย ย่อมมีอย่างนี้แล ก็แลเมื่อเป็นอย่างนั้น สงฆ์ย่อมเป็นผู้มีโทษ ดังนี้ ย่อมแย้งกับคำว่า ติณฺณํ ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ เป็นต้นนี้.
               เฉลยว่า อันคำนี้จะแย้งกันหามิได้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะใจความแห่งคำต่างกัน.
               จริงอยู่ กรรมสันนิษฐานเป็นใจความแห่งคำนี้ว่า ตชฺชนีย กมฺมารหสฺส เป็นต้น. สภาพแห่งองค์เป็นใจความแห่งคำ เป็นต้นว่า ติณฺณํ ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ ดังนี้. เพราะเหตุนั้น สงฆ์ประชุมกันทำกรรม สันนิษฐานว่า จะทำกรรมชื่อนี้แก่ภิกษุนี้ ดังนี้ ในกาลใด, ในกาลนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่าควรแก่กรรม เพราะเหตุนั้นโดยลักษณะนี้ พึงเข้าใจว่ากระทำนิยสกรรมเป็นต้น แก่ภิกษุผู้ควรแก่ตัชชนียกรรมเป็นต้น เป็นกรรมผิดธรรม และเป็นกรรมผิดวินัย.
               ก็ในองค์ทั้งหลาย มีความเป็นผู้ทำความบาดหมางเป็นต้น องค์อันใดอันหนึ่งมีแก่ภิกษุใด, สงฆ์ปรารถนาจะทำแก่ภิกษุนั้น พึงกำหนดกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยองค์อันใดอันหนึ่ง ในองค์ และกรรมทั้งหลายตามที่ทรงอนุญาตไว้แล้ว พึงทำภิกษุนั้นให้เป็นผู้ควรแก่กรรมแล้วทำกรรมเถิด. วินิจฉัยในคำทั้ง ๒ นี้เท่านี้ เมื่อถือเอาวินิจฉัยอย่างนี้ คำหลังกับคำต้นย่อมสมกัน.
               ในบาลีนั้น กรรมวาจาในตัชชนียกรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ทำความบาดหมาง แม้โดยแท้, ถึงกระนั้น เมื่อจะทำตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้เป็นพาล ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก สงฆ์พึงทำกรรมวาจาด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้เป็นพาล ไม่ฉลาด.
               จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้น กรรมเป็นอันทำแล้วด้วยวัตถุที่มี, และไม่เป็นอันทำด้วยวัตถุแห่งกรรมอื่น.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่า แม้ตัชชนียกรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ทำด้วยวัตถุ กล่าวคือความเป็นผู้พาล เป็นผู้ไม่ฉลาด ดังนี้แล. ในกรรมทั้งปวงมีนัยเหมือนกัน.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาวัตถุแห่งความประพฤติชอบ ๑๘ อย่าง ในปาริวาสิกักขันธกะ.
               สองบทว่า โลมํ ปาเตนฺติ มีความว่า เป็นผู้หายเย่อหยิ่ง.
               อธิบายว่า ประพฤติตามภิกษุทั้งหลาย.
               สองบทว่า เนตฺถารํ วตฺตนฺติ มีความว่า วัตรนี้เป็นของภิกษุทั้งหลายผู้ออก เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า วัตรของผู้ออก.
               อธิบายว่า ตนสามารถจะออกจากนิสสารณาด้วยวิธี ๑๘ อย่างใด ย่อมประพฤติวิธี ๑๘ อย่างอันนั้นโดยชอบ.
               ถามว่า ภิกษุผู้ถูกนิสสารณา บำเพ็ญวัตรสิ้นกาลเท่าไร?
               ตอบว่า ๑๐ วัน หรือ ๒๐ วันก็ได้.
               จริงอยู่ ในกัมมักขันธกะนี้ วัตรเป็นของที่ภิกษุพึงบำเพ็ญโดยวันเท่านี้เท่านั้น.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ กัมมขันธกะ ตัชชนียกรรมที่ ๑ เรื่องภิกษุพวกพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะเป็นต้น จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 6 / 28อ่านอรรถกถา 6 / 682
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=6&A=1&Z=274
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5650
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5650
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :