ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1143อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1161อ่านอรรถกถา 8 / 1165อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
อุปาลิปัญจกะ อนิสสิตวรรคที่ ๑

               อุปาลิปัญจกวัณณนา               
               [ว่าด้วยองค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ถือนิสัย]               
               วินิจฉัยในอุบาลิปัญหา พึงทราบดังนี้ :-
               คำถามที่ว่า กตีหิ นุ โข ภนฺเต มีสัมพันธ์ ดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พระเถระอยู่ในที่ลับ มานึกถึงหมวด ๕ เหล่านี้ทั้งหมด จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า บัดนี้เราจักทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้พระองค์ทรงวางแบบแผน เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุเหล่านี้ มีภิกษุผู้ถือนิสัยอยู่เป็นต้น แล้วทูลถามปัญหา โดยนัยมีคำว่า กตีหิ นุ โข ภนฺเต เป็นอาทิ.
               วินิจฉัยในคำวิสัชนาปัญหาเหล่านั้น พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า อุโปสถํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักอุโบสถ ๙ อย่าง.
               สองบทว่า อุโปสถกมฺมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักอุโบสถกรรม ๔ อย่าง ต่างโดยกรรมเป็นวรรคโดยอธรรมเป็นต้น.
               สองบทว่า ปาฏิโมกฺขํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักมาติกา ๒.
               สองบทว่า ปาฏิโมกฺขุทฺเทสํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักปาฏิโมกขุทเทส ๙ อย่าง คือ ของภิกษุ ๕ อย่าง ของภิกษุณี ๔ อย่าง.
               สองบทว่า ปวารณํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักปวารณา ๙ อย่าง
               สองบทว่า ปวารณากมฺมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักปวารณากรรม ๔ อย่าง ต่างโดยชนิดมีกรรมเป็นวรรคโดยอธรรมเป็นต้น.
               สองบทว่า อาปตฺตานาปตฺตึ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้อาบัติและอนาบัติ ที่ทรงแสดงในสิกขาบทนั้นๆ.
               สองบทว่า อาปนฺโน กมฺมกโต มีความว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้ว, กรรมย่อมเป็นกิจอันสงฆ์ทำแล้ว เพราะการต้องนั้นเป็นปัจจัย.

               [ว่าด้วยกรรมของภิกษุไม่ควรระงับ]               
               สองบทว่า กมฺมํ น ปฏิปฺปสฺสมฺเภตพฺพํ มีความว่า กรรมของภิกษุนั้น อันสงฆ์ไม่พึงให้ระงับ เพราะเหตุที่เธอประพฤติ โดยคล้อยตามพรรคพวก. อธิบายว่า เหมือนบุคคลที่ถูกล่ามไว้ด้วยเชือก อันตนจะพึงแก้เสียฉะนั้น.

               [ว่าด้วยองค์ ๕ ของภิกษุผู้เข้าสงคราม]               
               หลายบทว่า สเจ อุปาลิ สงฺโฆ สมคฺคกรณียานิ กมฺมานิ กโรติ มีความว่า ถ้าว่าสงฆ์กระทำกรรมมีอุโบสถเป็นต้น อันภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกันพึงกระทำ, อันความอุดหนุน (แก่การทะเลาะ) อันภิกษุไรๆ ไม่พึงให้ ในเมื่อกรรมสามัคคีมีอุโบสถและปวารณาเป็นต้น ต้องงดไว้. ก็ถ้าว่า สงฆ์ให้แสดงโทษล่วงเกินแล้วกระทำสังฆสามัคคีก็ดี กระทำการระงับอธิกรณ์ด้วยตินวัตถารกวินัย แล้วกระทำอุโบสถและปวารณาก็ดี, กรรมเห็นปานนี้ จัดเป็นกรรมที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงพึงกระทำ.
               บทว่า ตตฺร เจ มีความว่า ถ้าว่าในกรรมเช่นนั้น ไม่ชอบใจแก่ภิกษุไซร้, พึงกระทำความเห็นแย้งก็ได้ ควบคุมความพร้อมเพรียงเห็นปานนั้นไว้. ความถือผิดอย่างนั้น ไม่ควรถือไว้. ก็ในกรรมใด ภิกษุทั้งหลายแสดงพระศาสนานอกธรรมนอกวินัย ในกรรมนั้นความเห็นแย้ง ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สงฆ์พึงห้ามเสียแล้วหลีกไป.

               [ว่าด้วยองค์ ๕ ของภิกษุผู้กล่าวไม่เป็นที่รัก]               
               บทว่า อุสฺสิตมนฺตี จ มีความว่า ผู้มีความรู้มากมักกล่าววาจา ซึ่งหนาแน่นด้วยโลภะ โทสะและมานะ มีวาจาโสมม ไม่แสดงประโยชน์.
               บทว่า นิสฺสิตชปฺปิ มีความว่า ไม่สามารถจะกล่าวถ้อยคำให้สมแก่ความมีความรู้มากโดยธรรมดาของตน. โดยที่แท้ย่อมอ้างผู้อื่นกล่าวอย่างนี้ว่า พระราชาได้ตรัสกับเราอย่างนี้, มหาอำมาตย์โน้น กล่าวอย่างนี้, อาจารย์หรืออุปัชฌาย์ของเราชื่อโน้น กล่าวอย่างนี้, พระเถระผู้ทรงไตรปิฎก พูดกับเราอย่างนี้.
               บทว่า น จ ภาสานุสนฺธิกุสโล มีความว่า เป็นผู้ไม่ฉลาดในถ้อยคำที่เป็นเงื่อนของเรื่องราว และในถ้อยคำที่เป็นเงื่อนของคำวินิจฉัย.
               สองบทว่า น ยถาธมฺเม ยถาวินเย มีความว่า ไม่เป็นผู้โจทเตือนให้ระลึกถึงอาบัติด้วยวัตถุที่เป็นจริง.
               สองบทว่า อสฺสาเทตา โหติ มีความว่า ย่อมยกบางคนขึ้นอ้างโดยนัยเป็นต้นว่า อาจารย์ของข้าพเจ้า เป็นผู้ทรงไตรปิฏกอย่างใหญ่ เป็นธรรมกถึกอย่างเยี่ยม.
               วินิจฉัยในทุติยบท พึงทราบดังนี้ :-
               ย่อมรุกรานบางคน โดยนัยเป็นต้นว่า เขาจะรู้อะไร.
               สองบทว่า อธมฺมํ คณฺหาติ ได้แก่ ยึดถือธรรมที่เป็นฝ่ายไม่นำออกจากทุกข์.
               สองบทว่า ธมฺมํ ปฏิพาหติ ได้แก่ ค้านธรรมที่เป็นฝ่ายนำออกจากทุกข์
               หลายบทว่า สมฺผญฺจ พหุํ ภาสติ ได้แก่ กล่าวถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์มากมาย.
               หลายบทว่า ปสยฺห ปวตฺตา โหติ มีความว่า เป็นผู้อันพระสังฆเถระมิได้เชิญ เมื่อภาระอันท่านมิได้มอบให้ อาศัยความทะนงตัวอย่างเดียว บังอาจกล่าวในกาลมิใช่โอกาส.
               สองบทว่า อโนกาสกมฺมํ การาเปตฺวา มีความว่า เป็นผู้ไม่ให้ภิกษุอื่นให้โอกาสเสียก่อนก็กล่าว.
               หลายบทว่า น ยถาทิฏฺฐิยา พฺยากตา โหติ มีความว่าเป็นผู้ไม่พยากรณ์ยืนยันความเห็นของตน กลับเป็นผู้งดความเห็น (ส่วนตัว) เสีย มีความเห็นว่าเป็นธรรมเป็นต้น ในอธรรมเป็นอาทิ กล่าวไม่ตรงตามจริง.

               [ว่าด้วยองค์ของภิกษุผู้ไม่ควรพูดในสงฆ์]               
               หลายบทว่า อาปตฺติยา ปโยคํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อาบัตินี้เป็นกายประโยค, อาบัตินี้เป็นวจีประโยค.
               หลายบทว่า อาปตฺติยา วูปสมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อาบัตินี้ระงับด้วยการแสดง, อาบัตินี้ระงับด้วยการออก, อาบัตินี้ไม่ระงับด้วยการแสดง ไม่ระงับด้วยการออก.
               หลายบทว่า น อาปตฺติยา วินิจฺฉยกุสโล โหติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อาบัตินี้ มีในวัตถุนี้ คือ ไม่อาจเพื่อยกอาบัติขึ้นยืนยันตามสมควรแก่โทษ.
               สองบทว่า อธิกรณสมุฏฺฐานํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อธิกรณ์นี้ อาศัยเภทกรวัตถุ ๑๘ ตั้งขึ้น, อธิกรณ์นี้ อาศัยวิบัติ ๔ ตั้งขึ้น, อธิกรณ์นี้ อาศัยกองอาบัติ ๕ หรือ ๗ ตั้งขึ้น, อธิกรณ์นี้ อาศัยสังฆกิจ ๔ อย่างตั้งขึ้น.
               สองบทว่า ปโยคํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อธิกรณ์นี้ มีประโยคเป็นต้นเค้า ๑๒, อธิกรณ์นี้ มีประโยคเป็นต้นเค้า ๑๔, อธิกรณ์นี้ มีประโยคเป็นต้นเค้า ๖, อธิกรณ์นี้ มีประโยคเป็นต้นเค้า ๑. อธิบายว่า จริงอยู่ ต้นเค้าตามที่เป็นของตนนั่นเองแห่งอธิกรณ์ทั้งหลาย จัดเป็นประโยค, ไม่รู้จักประโยคแม้ทั้งปวงนั้น.
               สองบทว่า วูปสมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๒, อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๔, อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๓ อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๑.
               หลายบทว่า น อธิกรณสฺส วินิจฺฉยกุสโล โหติ ได้แก่ ไม่รู้เพื่อวินิจฉัยอธิกรณ์ให้ถึงความระงับ.
               สองบทว่า กมฺมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักกรรม ๗ อย่างมีตัชชนียกรรมเป็นต้น.
               หลายบทว่า กมฺมสฺส กรณํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า กรรมนี้ควรทำโดยอุบายนี้.
               หลายบทว่า กมฺมสฺสวตฺถุ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า นี้เป็นวัตถุแห่งตัชชนียกรรม, นี้เป็นวัตถุแห่งนิยสกรรมเป็นต้น.
               หลายบทว่า กมฺมสฺส วตฺตํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักวัตร ๑๘ ประการแห่งกรรม ๔ ในหนหลัง ในกรรม ๗ ชนิด และวัตร ๔๓ ประการแห่งอุกเขปนียกรรม ๓ อย่าง.
               หลายบทว่า กมฺมสฺส วูปสมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า ภิกษุใดประพฤติวัตรแล้วขอ กรรมของภิกษุนั้น อันสงฆ์ควรให้ระงับ, โทษอันสงฆ์พึงให้แสดง.
               สองบทว่า วตฺถุํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักวัตถุแห่งกองอาบัติ ๗.
               สองบทว่า นิทานํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ว่า สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติในนครนี้, สิกขาบทนี้ ทรงบัญญัติในนครนี้.
               สองบทว่า ปญฺญตฺตึ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักบัญญัติทั้ง ๓ อย่าง ด้วยอำนาจบัญญัติ อนุบัญญัติ และอนุปปันนบัญญัติ.
               สองบทว่า ปทปจฺฉาภฏฺฐํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักบทที่ควรจัดไว้ข้างหน้า, คือเมื่อตนควรจะกล่าวว่า พุทฺโธ ภควา กลับประกอบให้สับหน้าสับหลังกันเสียว่า ภควา พุทฺโธ.
               หลายบทว่า อกุสโล จ โหติ วินเย ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในบาลีและอรรถกถาแห่งวินัย.
               หลายบทว่า ญตฺตึ น ชานาติ มีความว่า ก็โดยย่อ ญัตติมี ๒ อย่าง คือ ญัตติที่แสดงอย่างนี้ว่า เอสา ญตฺติ ๑ ญัตติที่ไม่แสดง ๑. ในญัตติ ๒ อย่างนั้น ญัตติใด ไม่แสดงอย่างนั้น, ญัตตินั้น จัดเป็นกรรมญัตติ. ญัตติใดแสดง, ญัตตินั้น จัดเป็นกรรมปาทญัตติ, ไม่รู้จักญัตตินั้น โดยประการทั้งปวง.
               หลายบทว่า ญตฺติยา กรณํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักการกระทำกรรมญัตติ ใน ๙ สถาน, ไม่รู้จักการกระทำกรรมปาทญัตติ ใน ๒ สถาน.
               สองบทว่า ญตฺติยา อนุสาวนํ ได้แก่ ไม่รู้ว่า ญัตตินี้ มีอนุสาวนา ๑ ญัตตินี้ มีอนุสาวนา ๓.
               หลายบทว่า ญตฺติยา สมถํ น ชานาติ มีความว่า สมถะ ๔ อย่างนี้ใด คือ สติวินัย อมูฬหวินัย ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ ไม่เว้นจากญัตติ, ไม่รู้จักสมถะนั้นว่า ระงับด้วยญัตติ.
               หลายบทว่า ญตฺติยา วูปสมํ น ชานาติ มีความว่า อธิกรณ์ใด ระงับด้วยญัตติสมถะ ๔ อย่างนี้ ไม่รู้จักความระงับนั้นแห่งอธิกรณ์นั้นว่า ความระงับนี้ ทำด้วยญัตติ.
               สองบทว่า สุตฺตํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักอุภโตวิภังค์.
               สองบทว่า สุตฺตานุโลมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักมหาปเทส ๔.
               สองบทว่า วินยํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักขันธกะและบริวาร.
               สองบทว่า วินยานุโลมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักมหาปเทส นั่นเอง.
               สองบทว่า น จ ฐานาฐานกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในเหตุและมิใช่เหตุ.
               สองบทว่า ธมฺมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักปิฏก ๒ ที่เหลือ นอกจากวินัยปิฏก.
               สองบทว่า ธมฺมานุโลมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักมหาปเทส ๔ ฝ่ายสุตตันตะ.
               สองบทว่า วินยํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักขันธกะและบริวารนั่นเอง.
               สองบทว่า วินยานุโลมํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักมหาปเทส ๔.
               ก็อุภโตวิภังค์ เป็นอันท่านไม่สงเคราะห์ ในข้อว่า ไม่รู้จักวินัย นี้. เพราะเหตุนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ในกุรุนทีว่า บทว่า วินยํ ได้แก่ ไม่รู้จักวินัยปิฎกทั้งสิ้น คำนั้นควรถือเอา.
               สองบทว่า น จ ปุพฺพาปรกุสโล โหติ ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง นับว่าตื้นทั้งนั้น เพราะเป็นคำที่ควรทราบโดยปฏิปักขนัยต่อคำที่กล่าวแล้ว และเพราะเป็นคำที่ได้เปิดเผยแล้วในหนหลัง ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาอนิสสิตวัคค์ นปฏิปปัสสัมภนวัคค์ และโวหารวัคค์.               

               [ว่าด้วยทำความเห็นแย้ง]               
               วินิจฉัยในทิฏฐาวิกัมมวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               การทำความเห็นให้แจ้ง ชื่อว่าทำความเห็นแย้ง.
               คำว่า ทิฏฺฐาวิกมฺม นี้ เป็นชื่อของวินัยกรรม กล่าวคือการแสดงอาบัติ ซึ่งประกาศลัทธิ.
               บทว่า อนาปตฺติยา ทิฏฺฐึ อาวิกโรติ มีความว่า แสดงอนาบัติแท้ๆ ว่าเป็นอาบัติ.
               บทว่า อเทสนาคามินิยา ได้แก่ ทำความเห็นแย้งในครุกาบัติ. อธิบายว่า แสดงอาบัติสังฆาทิเสสและปาราชิก.
               บทว่า เทสิตาย ได้แก่ ทำความเห็นแย้งแม้ในลหุกาบัติที่แสดงแล้ว. อธิบายว่า แสดงอาบัติที่แสดงแล้วซ้ำอีก.
               สองบทว่า จตูหิ ปญฺจหิ ได้แก่ ทำความเห็นแย้ง อย่างที่ภิกษุ๔-๕ รูปทำความเห็นแย้งกัน. อธิบายว่า ๔-๕ คนแสดงอาบัติพร้อมกัน.
               บทว่า มโนมานเสน มีความว่า ทำความเห็นแจ้งด้วยนึกไว้ในใจ กล่าวคือคิดไว้ ได้แก่ แสดงอาบัติด้วยจิตเท่านั้น หาได้ลั่นวาจาไม่.
               บทว่า นานาสํวาสกสฺส มีความว่า ทำความเห็นแจ้ง คือแสดงอาบัติ ในสำนักภิกษุผู้มีสังวาสก์ต่างกันโดยลัทธิ หรือภิกษุผู้มีสังวาสก์ต่างกันโดยกรรม.
               บทว่า นานาสีมาย มีความว่า ทำความเห็นแจ้ง ในสำนักภิกษุแม้ผู้เป็นสมานสังวาสก์ แต่ตั้งอยู่ในต่างสีมา. จริงอยู่ การที่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในมาฬกสีมา แสดงอาบัติแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในสีมันตริกก็ดี การที่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในสีมันตริก แสดงอาบัติแก่ภิกษุแม้ผู้ตั้งอยู่ในอวิปปวาสสีมาก็ดี ไม่ควร.
               บทว่า อปกตตฺตสฺส มีความว่า แสดงในสำนักแห่งภิกษุผู้อันสงฆ์ยกวัตร หรือภิกษุผู้ถูกสงฆ์งดอุโบสถและปวารณาเสีย.

               [ว่าด้วยโอกาสกรรม]               
               หลายบทว่า นาลํ โอกาสกมฺมํ กาตุํ มีความว่า ไม่ควรเพื่อกระทำ. อธิบายว่า อันภิกษุไม่พึงกระทำ.
               ภิกษุผู้อันสงฆ์ยกวัตร และภิกษุผู้ถูกสงฆ์งดอุโบสถและปวารณา ชื่อว่าภิกษุมิใช่ผู้ปกตัตต์ แม้ในโอกาสกรรมนี้.
               บทว่า จาวนาธิปฺปาโย ได้แก่ ผู้ใคร่จะให้เคลื่อนจากศาสนา.

               [ว่าด้วยถามปัญหา]               
               สองบทว่า มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา มีความว่า เพราะความเป็นผู้โง่ เพราะความเป็นผู้งมงาย จึงไม่สามารถทั้งเพื่อจะแก้ ทั้งเพื่อจะรู้ จะ ประกาศความที่ตนเป็นผู้งมงายอย่างเดียวเท่านั้น จึงถามคล้ายคนบ้า.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ ได้แก่ ถามด้วยความปรารถนาลามกว่า ชนจักสรรเสริญเรา ด้วยอุบายอย่างนี้.
               บทว่า ปริภวา ได้แก่ เป็นผู้ใคร่จะยกความดูหมิ่นจึงถาม. แม้ในอัญญพยากรณ์ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.
               ทิฏฐาวิกัมมวัคควัณณา จบ.               

               คำใดที่จะพึงกล่าวในอัตตาทานวัคค์และธุตังควัคค์, คำนั้นทั้งหมดได้กล่าวแล้วในหนหลังแล.

               [ว่าด้วยมุสาวาท]               
               วินิจฉัยในมุสาวาทวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               มุสาวาทที่จัดเป็นปาราชิกคามี เพราะอรรถว่า ถึงปาราชิก. อธิบายว่า ถึงความเป็นอาบัติปาราชิก. แม้ในมุสาวาทนอกนี้ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ในมุสาวาท ๕ อย่างนั้น มุสาวาทที่เป็นไปโดยอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มี (ในตน) เป็นปาราชิกคามี, มุสาวาทที่เป็นไปโดยตามกำจัด ด้วยปาราชิกไม่มีมูล เป็นสังฆาทิเสสคามี, มุสาวาทที่ภิกษุกล่าว (อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มี) โดยปริยายแก่บุคคลผู้เข้าใจความ เป็นต้นว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน เป็นถุลลัจจัยคามี, มุสาวาทที่ภิกษุกล่าวโดยปริยายแก่บุคคลผู้ไม่เข้าใจความ เป็นทุกกฏคามี, มุสาวาทที่มาว่า เป็นปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเท็จทั้งรู้ พึงทราบว่า เป็นปาจิตติยคามี.

               [ว่าด้วยอาการเป็นเหตุต้องอาบัติ]               
               บทว่า อทสฺสเนน ได้แก่ ไม่เห็นพระวินัยธร. จริงอยู่ ภิกษุเมื่อเกิดความรังเกียจในของที่ควรและไม่ควรขึ้น ได้พบพระวินัยธรแล้ว สอบถามถึงความที่เป็นของควรและไม่ควรแล้ว จะพึงละของที่ไม่ควรเสีย ทำแต่ที่ควร แต่เมื่อไม่พบพระวินัยธรนั้นกระทำ แม้ซึ่งสิ่งที่ไม่ควร ด้วยสำคัญว่าควร ก็ย่อมต้องอาบัติ. อาบัติที่จะพึงต้องด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุไม่ต้อง เพราะพบพระวินัยธร, ต้องเพราะไม่พบเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะไม่เห็น.
               บทว่า อสฺสวเนน มีความว่า อันภิกษุผู้อยู่แม้ในวิหารเดียวกันไปสู่ที่บำรุงของพระวินัยธร ไม่ถามถึงสิ่งที่ควรและไม่ควร หรือไม่ฟังสิ่งที่ควร และไม่ควร ซึ่งท่านกล่าวแก่ภิกษุเหล่าอื่น ย่อมต้องอาบัติแท้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะไม่ฟัง.
               บทว่า ปสุตฺตตา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้หลับเสีย. จริงอยู่ ภิกษุย่อมต้องอาบัติเพราะนอนร่วมเรือน เพราะความเป็นผู้หลับก็ได้.
               อนึ่ง ภิกษุเมื่อต้องอาบัติ เพราะความเป็นผู้มีความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร ชื่อว่ามีความสำคัญนั้น ต้องอาบัติ.
               เพราะลืมสติ ภิกษุย่อมต้องอาบัติที่จะพึงต้องด้วยอำนาจแห่งเหตุมีก้าวล่วงราตรี ๑ เป็นต้น.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.
               มุสาวาทวัคควัณณนา จบ.               

               [ว่าด้วยองค์เป็นเหตุลงโทษ]               
               วินิจฉัยในภิกขุนีวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า อลาภาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การไม่ได้ปัจจัย ๔. อธิบายว่า ภิกษุย่อมขวนขวาย คือพยายาม โดยประการที่ภิกษุณีทั้งหลายไม่ได้ปัจจัย.
               บทว่า อตฺถาย ได้แก่ ขวนขวาย บอกข่าวที่ให้โทษอันก่อให้เกิดความเสียหาย.
               บทว่า อนาวาสาย ได้แก่ เพื่อต้องการจะไม่ให้อยู่. อธิบายว่า เพื่อต้องการกำจัดออกเสียจากคามเขตเป็นที่อยู่.
               บทว่า สมฺปโยเชติ ได้แก่ ชักสื่อเพื่อประโยชน์แก่การเสพอสัทธรรม.
               พระอุบาลีเถระหมายเอากรรม ๗ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทูลถามว่า ภิกษุสงฆ์พึงทำกรรมแก่ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไรพระเจ้าข้า?
               บทว่า น สากจฺฉาตพฺโพ มีความว่า ไม่ควรกล่าวเรื่องราวต่างโดยเรื่องควรไม่ควร กำหนดนาม รูป สมถะและวิปัสสนาเป็นอาทิ. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุผู้ขีณาสพหาแกล้งกล่าวให้ผิดไม่ ท่านเป็นเจ้าของเรื่องราวเห็นปานนั้นกล่าว ภิกษุนอกนั้นหาได้เป็นเจ้าของไม่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงห้ามในปัญจกะที่ ๑ ว่า นาเสกฺเขน แล้วตรัสในปัญจกะที่ ๒ ว่า อเสกฺเขน เป็นอาทิ.
               บทว่า น อตฺถปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต มีความว่า เป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา คือเป็นผู้บรรลุญาณอันถึงความแตกฉาน ในอรรถกถาหามิได้.
               บทว่า น ธมฺมปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต มีความว่า เป็นผู้บรรลุญาณอันแตกฉาน ในธรรมคือบาลี หามิได้.
               บทว่า น นิรุตฺติปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต มีความว่า เป็นผู้บรรลุญาณอันแตกฉาน ในภาษาคือโวหารที่จะพึงกล่าว หามิได้.
               บทว่า น ปฏิภาณปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต มีความว่า มิได้เป็นผู้บรรลุความแตกฉาน ในญาณทั้งหลายมีอัตถปฏิสัมภิทาญาณเป็นต้น ที่นับว่าปฏิภาณ (คือไหวพริบ).
               สองบทว่า ยถาวิมุตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ มีความว่า เป็นผู้มิได้ใช้สติเครื่องพิจารณา ๑๙ ประเภท พิจารณาจิตตามที่พ้นแล้วด้วยอำนาจผลวิมุตติ ๔ อย่าง.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.
               ภิกขุนีวัคควัณณนา จบ.               

               [ว่าด้วยองค์แห่งภิกษุผู้ควรแก่อุพพาหิกา]               
               วินิจฉัยในอุพพาหิกวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า น อตฺถกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในอรรถกถา คือเป็นผู้ไม่เฉียบแหลมในการถอดใจความ.
               บทว่า น ธมฺมกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในบาลี คือเป็นผู้ไม่อาจหาญในบาลี เพราะไม่เรียนจากปากอาจารย์.
               บทว่า น นิรุตฺติกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในการกล่าวด้วยภาษาอื่น.
               บทว่า น พฺยญฺชนกุสโล มีความว่า เป็นผู้ไม่ฉลาดในการใช้พยัญชนะให้กลมกล่อม เนื่องด้วยสิถิลและธนิตเป็นต้น. อธิบายว่า เป็นผู้ไม่เชี่ยวชาญในกระบวนอักษร.
               บทว่า น ปุพฺพาปรกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ไม่ฉลาดในเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งอรรถ ในเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งธรรม ในเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งนิรุตติ ในเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งพยัญชนะ และในคำต้นและคำหลัง.
               บททั้งหลายมีบทว่า โกธโน เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะมีเหตุที่ภิกษุผู้อันความโกรธเป็นต้นครอบงำแล้ว ย่อมไม่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุ ไม่สามารถจะตัดสินได้.
               หลายบทว่า อปสาเรตา โหติ โน สาเรตา มีความว่า เป็นผู้ให้งมงาย คือไม่เตือนให้เกิดสติขึ้น. อธิบายว่า เคลือบคลุม คือปกปิดถ้อยคำของโจทก์และจำเลยเสีย ไม่เตือนให้ระลึก.
               คำที่เหลือในอุพพาหิกวัคค์นี้ ตื้นทั้งนั้นแล.
               อุพพาหิกวัคควัณณนา จบ.               

               [ว่าด้วยผู้หนัก]               
               วินิจฉัยในอธิกรณวูปสมวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า ปุคฺคลครุ โหติ มีความว่า ภิกษุผู้คิดถึงเหตุว่า ผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ของเรา, ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา ดังนี้เป็นต้น หวังความชำนะแก่บุคคลนั้น จึงแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม.
               สองบทว่า สงฺฆครุ โหติ มีความว่า เมื่อวินิจฉัยไม่ละธรรมและวินัยเสีย ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าหนักในสงฆ์.
               เมื่อถือเอาปัจจัยมีจีวรเป็นต้นวินิจฉัย ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าหนักในอามิส.
               เมื่อไม่ถือเอาปัจจัยมีจีวรเป็นต้นเหล่านั้น วินิจฉัยตามธรรม ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าหนักในสัทธรรม.

               [ว่าด้วยสังฆเภท]               
               หลายบทว่า ปญฺจหิ อุปาลิ อากาเรหิ มีความว่า สงฆ์ย่อมแตก เพราะเหตุ ๕.
               วินิจฉัยในคำว่า กมฺเมน อุทฺเทเสน โวหรนฺโต อนุสาวเนน สลากคาเหน นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า กมฺเมน ได้แก่ กรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรรม ๔ อย่างมีอปโลกนกรรมเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺเทเสน ได้แก่ อุทเทสอย่างใดอย่างหนึ่ง ในปาฏิโมกขุทเทส ๕.
               บทว่า โวหรนฺโต ได้แก่ ชี้แจง คือกล่าว. อธิบายว่า แสดงเรื่องก่อความแตกกัน ๑๘ อย่าง มีแสดงอธรรมว่าธรรมเป็นอาทิ เพราะอุปัตติเหตุเหล่านั้นๆ.
               บทว่า อนุสาวเนน ได้แก่ การลั่นวาจาประกาศใกล้หู โดยนัยเป็นต้นว่า พวกท่านรู้ไหม? ว่าเราออกบวชจากสกุลสูง และว่าเราเป็นพหูสูต, ควรแก่พวกท่านละหรือ ที่ยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า บุคคลอย่างเรานะ จะพึงให้ถือเอาสัตถุศาสนานอกธรรมนอกวินัย สำหรับเราอเวจีจะเย็นคล้ายสระนีลุบลเทียวหรือ? เราจะไม่กลัวอบายหรือ?
               บทว่า สลากคาเหน ได้แก่ การที่ประกาศอย่างนั้น พยุงจิตของภิกษุเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้ไม่หวนกลับเป็นปกติแล้ว ให้จับสลากว่า พวกท่านจงจับสลากนี้.
               ก็ในอาการ ๕ อย่างนี้ กรรมเท่านั้น หรืออุทเทส เป็นสำคัญ. ส่วนการแถลงการประกาศและการให้จับสลาก เป็นส่วนเบื้องต้น. จริงอยู่ เมื่อแถลงด้วยอำนาจแสดง เรื่อง ๑๘ ประการ ประกาศเพื่อปลุกให้เกิดความพอใจในคำแถลงนั้น ให้จับสลากแล้วก็ดี สงฆ์ก็หาเป็นอันเธอได้ทำลายไม่, แต่เมื่อใด เธอให้ภิกษุ ๔ รูปหรือเกินกว่าจับสลากอย่างนั้นแล้ว ทำกรรม หรืออุทเทสแผนกหนึ่ง, เมื่อนั้นสงฆ์เป็นอันเธอได้ทำลายแล้วแท้.
               ด้วยประการอย่างนี้ เป็นอันข้าพเจ้าได้ประกาศเนื้อความที่ตนเองได้กล่าวไว้ ในสังฆเภทขันธกวัณณนา อย่างนี้ว่า ครั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายแสดงวัตถุอันใดอันหนึ่งแม้วัตถุเดียว ในวัตถุ ๑๘ แล้ว ให้ภิกษุทั้งหลายหมายรู้ด้วยเหตุนั้นๆ ว่า ท่านทั้งหลายจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้, ดังนี้ ให้จับสลากแล้วทำสังฆกรรมแผนกหนึ่ง สงฆ์ย่อมเป็นอันแตกกัน. ส่วนในคัมภีร์บริวาร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อุบาลี สงฆ์ย่อมแตกกันด้วยอาการ ๕ เป็นอาทิ, คำนั้นกับลักษณะแห่งสังฆเภทนี้ ที่ตรัสในสังฆเภทขันธกะนี้ โดยใจความ ไม่มีความแตกต่างกัน, และข้าพเจ้าจักประกาศข้อที่ไม่แตกต่างกันแห่งคำนั้นๆ ในคัมภีร์บริวารนั้นแล.

               [ว่าด้วยสังฆราชี]               
               บทว่า ปญฺญตฺเตตํ มีความว่า วัตรนั่น เราบัญญัติแล้ว, บัญญัติไว้ที่ไหน? ในวัตตขันธกะ. จริงอยู่ วัตร ๑๔ หมวด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว ในวัตตขันธกะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า อุบาลี อาคันตุกวัตรนั่น อันเราบัญญัติแล้วสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้อาคันตุกะ เป็นอาทิ.
               หลายบทว่า เอวํปิ โข อุปาลิ สงฺฆราชิ โหติ โน จ สงฺฆเภโท มีความว่า จริงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ย่อมมีแต่เพียงความร้าวรานแห่งสงฆ์เท่านั้น, ความแตกแห่งสงฆ์ยังไม่มีก่อน ; ก็แต่ว่าความร้าวรานแห่งสงฆ์นี้ เมื่อขยายตัวออกโดยลำดับ ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกแห่งสงฆ์ได้.
               บทว่า ยถารตฺตํ ความว่า สมควรแก่ปริมาณแห่งราตรี คือ ตามลำดับพระเถระ.
               สองบทว่า อาเวณิภาวํ กริตฺวา ได้แก่ ทำความกำหนดไว้แผนกหนึ่ง.
               สองบทว่า กมฺมากมฺมานิ กโรนฺติ มีความว่า ย่อมกระทำกรรมทั้งหลายทั้งเล็กทั้งใหญ่ จนชั้นสังฆกรรมอื่นๆ อีก.
               คำที่เหลือในอธิกรณวูปสมวัคค์แม้นี้ ตื้นทั้งนั้น.

               [ว่าด้วยภิกษุผู้ทำลายสงฆ์]               
               วินิจฉัยในสังฆเภทวัคค์ทั้ง ๒ พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า วินิธาย ทิฏฺฐึ กมฺเมน มีความว่า ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นในอธรรมเป็นต้นเหล่านั้นอย่างนี้เทียวว่า เหล่านี้ เป็นอธรรมเป็นต้น ยืนยันความเห็นนั้น แสดงอธรรมเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยอำนาจธรรมเป็นต้นแล้วแยกกระทำกรรม.
               ภิกษุทำกรรมที่ยืนยันความเห็นอันใด, พร้อมกับกรรมที่ยืนยันความเห็น ที่เธอกระทำแล้วอย่างนั้นๆ ย่อมมีองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้.
               พระบาลีที่ว่า อิเมหิ โข อุปาลิ ปญฺจหงฺเคหิ นี้ เป็นคำประกอบเนื้อความ ในปัญจกะ ๑. ปัญจกะทั้งปวง พึงทราบโดยนัยนี้.
               อนึ่ง องค์ ๓ มีการแถลงเป็นต้น แม้ในสังฆเภทวัคค์นี้ ตรัสแล้วด้วยอำนาจองค์เป็นบุพภาคเหมือนกัน. แต่ความเป็นผู้เยียวยาไม่ได้ พึงทราบด้วยอำนาจกรรมและอุทเทสนั่นแล.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น.
               คำน้อยหนึ่ง ซึ่งมีนัยอันข้าพเจ้ามิได้กล่าวแล้วในหนหลัง มิได้มีเลยในสังฆเภทวัคค์นี้.
               วินิจฉัยในอาวาสิกวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า ยถาภตํ นิกฺขิตฺโต มีความว่า (บริขารของสงฆ์) อันตนนำมาตั้งไว้ ฉันใด.
               บทว่า วินยพฺยากรณา ได้แก่ แก้ปัญหาวินัย.
               บทว่า ปริณาเมติ ได้แก่ ย่อมกำหนด คือ ย่อมแสดง ย่อมกล่าว.
               คำที่เหลือในวัคค์นี้ ตื้นทั้งนั้นแล.

               [ว่าด้วยบุคคลที่ไม่ควรไหว้]               
               วินิจฉัยในกฐินัตถารวัคค์ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า โอตมสิโก ได้แก่ ผู้อยู่ในที่มืด, จริงอยู่ เมื่อภิกษุไหว้บุคคลผู้อยู่ในที่มืดนั้น หน้าผากจะพึงกระทบที่เท้าเตียงเป็นต้นเข้าก็ได้.
               บทว่า อสมนฺนาหรนฺโต ได้แก่ ผู้ไม่เอาใจใส่การไหว้ เพราะเป็นผู้ขวนขวายในกิจการ.
               บทว่า สุตฺโต ได้แก่ ผู้หยั่งลงสู่ความหลับ.
               บทว่า เอกาวตฺโต มีความว่า บุคคลผู้เวียนมาข้างเดียว คือตั้งอยู่ในฝ่ายข้าศึก ได้แก่ บุคคลไม่ถูกส่วนกัน เป็นไพรีกัน บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าไม่ควรไหว้. เพราะว่า บุคคลนี้ อันภิกษุไหว้อยู่ จะพึงประหารเอาด้วยเท้าก็ได้.
               บทว่า อญฺญาวิหิโต ได้แก่ ผู้กำลังคิดเรื่องอื่น.
               บทว่า ขาทนฺโต ได้แก่ ผู้กำลังฉันขนมและของเคี้ยวเป็นต้นอยู่.
               บุคคลผู้กำลังถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ชื่อว่าอันภิกษุไม่ควรไหว้ เพราะเป็นผู้อยู่ในโอกาสไม่สมควร.
               บทว่า อุกฺขิตฺตโก มีความว่า บุคคลผู้อันสงฆ์ยกวัตร ด้วยอุกเขปนียกรรม แม้ทั้ง ๓ อย่าง ไม่ควรไหว้.
               แต่บุคคล ๔ จำพวก อันสงฆ์ลงโทษด้วยตัชชนียกรรมเป็นต้น ควรไหว้. แม้อุโบสถปวารณา ย่อมได้กับบุคคลเหล่านั้น.
               ก็ในบรรดาบุคคลที่ไม่ควรไหว้ ที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้น เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไหว้อยู่ ซึ่งบุคคลผู้เปลือยกาย และบุคคลผู้อันสงฆ์ยกวัตรเท่านั้น, ส่วนการไหว้บุคคลนอกจากนั้น อันท่านห้าม ก็เพราะผลคือไม่สมควร และเพราะเหตุที่กล่าวแล้วในระหว่าง.
               ต่อนี้ไป บุคคลแม้ทั้ง ๑๐ จำพวก มีผู้อุปสมบทภายหลังเป็นต้นจัดเป็นผู้ไม่ควรไหว้ เพราะเป็นวัตถุแห่งอาบัติโดยตรง. จริงอยู่ ย่อมเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไหว้อยู่ซึ่งบุคคลเหล่านั้น โดยวินัยกำหนดทีเดียว.
               ในปัญจกะ ๕ เหล่านี้ เป็นอนาบัติแก่ภิกษุผู้ไหว้ ซึ่งชน ๑๓ จำพวก เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไหว้ชน ๑๒ จำพวก ด้วยประการฉะนี้.
               สองบทว่า อาจริโย วนฺทิโย มีความว่า อาจารย์ทั้ง ๕ จำพวกนี้ คือ ปัพพชาจารย์ อุปสัมปทาจารย์ นิสสยาจารย์ อุทเทสาจารย์ โอวาทาจารย์ อันภิกษุควรไหว้.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               กฐินัตถารวัคควัณณนา จบ               
               และอุปาลิปัญจกวัณณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร อุปาลิปัญจกะ อนิสสิตวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1143อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1161อ่านอรรถกถา 8 / 1165อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=10476&Z=10662
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11571
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11571
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :