ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 954อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 965อ่านอรรถกถา 8 / 979อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
เอกุตตริกะ หมวด ๔

               [พรรณนาหมวด ๔]               
               [ว่าด้วยประเภทของอาบัติ]               
               วินิจฉัยในหมวด ๔ พึงทราบดังนี้ :-
               ข้อว่า สกวาจาย อาปชฺชติ ปรวาจาย วุฏฺฐาติ มีความว่า ภิกษุต้องอาบัติต่างโดยชนิดมีปทโสธัมมาบัติเป็นอาทิ เนื่องด้วยวจีทวาร ถึงสถานที่ระงับด้วยติณวัตถารกะแล้ว ย่อมออกด้วยกรรมวาจาของภิกษุอื่น.
               ข้อว่า ปรวาจาย อาปชฺชติ สกวาจาย วุฏฺฐาติ มีความว่า ภิกษุต้องด้วยกรรมวาจาของภิกษุอื่น เพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก เมื่อแสดงในสำนักของบุคคล ชื่อว่าออกด้วยวาจาของตน.
               ข้อว่า สกวาจาย อาปชฺชติ สกวาจาย วุฏฺฐาติ มีความว่า ภิกษุต้องอาบัติต่างโดยชนิดมีปทโสธัมมาบัติเป็นอาทิ เนื่องด้วยวจีทวารด้วยวาจาของตน แม้เมื่อแสดงแล้วออกเสียเอง ชื่อว่าออกด้วยวาจาของตน.
               ข้อว่า ปรวาจาย อาปชฺชติ ปรวาจาย วุฏฺฐาติ มีความว่า ภิกษุต้องสังฆาทิเสส มีสวดสมนุภาสน์เพียงครั้งที่ ๓ ด้วยกรรมวาจาของผู้อื่น แม้เมื่อออก ชื่อว่าย่อมออกด้วยกรรมวาจามีปริวาสกัมมวาจาเป็นต้นของภิกษุอื่น.
               วินิจฉัยในจตุกกะเหล่าอื่นจากปฐมจตุกกะนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุต้องอาบัติที่เป็นไปทางกายทวาร ด้วยกาย เมื่อแสดงเสียชื่อว่าออกด้วยวาจา.
               ต้องอาบัติที่เป็นไปทางวจีทวาร ด้วยวาจา ชื่อว่าย่อมออกด้วยกาย เพราะติณวัตถารกสมถะ.
               ต้องอาบัติที่เป็นไปทางกายทวาร ด้วยกาย ชื่อว่าย่อมออกจากอาบัติที่เป็นไปทางกายทวารนั้นแล ด้วยกาย เพราะติณวัตถารกสมถะ.
               ต้องอาบัติที่เป็นไปทางวจีทวาร ด้วยวาจา เมื่อแสดงอาบัตินั้นแลเสีย ชื่อว่าออกด้วยวาจา.
               ภิกษุผู้หลับ ย่อมต้องอาบัติที่จะพึงต้องตามจำนวนแห่งขน เพราะกาย ถูกเตียงของสงฆ์ที่ไม่ลาดด้วยเครื่องลาดของตน และอาบัติที่จะพึงต้องเพราะนอนในเรือนร่วมกัน. และเมื่อตื่นแล้วรู้ว่าตนต้องแล้วแสดงเสีย ชื่อว่าตื่นแล้วออก แต่เมื่อตื่นอยู่ ต้องแล้ว นอนในสถานที่ระงับด้วยติณวัตถารกะ ชื่อว่ากำลังตื่นต้อง หลับไป ออก. แม้ ๒ บทเบื้องหลัง ก็พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ภิกษุผู้ไม่มีความตั้งใจ ชื่อว่าย่อมต้องอาบัติที่เป็นอจิตตกะ. เมื่อแสดงเสียในภายหลัง ชื่อว่ามีความตั้งใจออก.
               ภิกษุผู้มีความตั้งใจ ชื่อว่าย่อมต้องอาบัติที่เป็นสจิตตกะ. เธอนอนอยู่ในสถานที่ระงับด้วยติณวัตถารกะ ชื่อว่าไม่มีความตั้งใจออก. แม้ ๒ บทที่เหลือ ก็พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ภิกษุใด แสดงสภาคาบัติ ภิกษุนี้ชื่อว่าแสดงอาบัติ อย่างใดอย่างหนึ่งมีปาจิตตีย์เป็นต้น ต้องทุกกฏ เพราะการแสดงเป็นปัจจัย. จริงอยู่ เมื่อแสดงอาบัตินั้น ย่อมต้องทุกกฏ. แต่เมื่อต้องทุกกฏนั้น ชื่อว่าย่อมออกจากอาบัติปาจิตตีย์เป็นต้น. เมื่อออกจากอาบัติมีปาจิตตีย์เป็นต้น ชื่อว่าย่อมต้องทุกกฏนั้น. จตุกกะนี้ว่า อตฺถิ อาปชฺชนฺโต เทเสติ ดังนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาประโยคอันหนึ่งเท่านั้น ของบุคคลผู้หนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.

               [วินิจฉัยในกัมมจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในกัมมจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุต้องอาบัติเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก ด้วยกรรม, เมื่อแสดงเสีย ชื่อว่าออกด้วยมิใช่กรรม.
               ต้องอาบัติเพราะปล่อยสุกกะเป็นต้น ด้วยมิใช่กรรม, ย่อมออกด้วยกรรม มีปริวาสเป็นอาทิ.
               ต้องอาบัติเพราะสมนุภาสน์ ด้วยกรรมเท่านั้น ย่อมออกด้วยกรรม.
               ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ ด้วยมิใช่กรรม ย่อมออกด้วยมิใช่กรรม.

               [วินิจฉัยในปริกขารจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในปริกขารจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               บริขารของตนเป็นที่ ๑. บริขารของสงฆ์เป็นที่ ๒. บริขารของเจดีย์เป็นที่ ๓. บริขารของคฤหัสถ์เป็นที่ ๔. ก็ถ้าว่า บริขารของคฤหัสถ์นั้น เป็นของที่เขานำมา เพื่อประโยชน์แก่บาตร จีวร นวกรรมและเภสัช. ภิกษุจะให้กุญแจ และให้บริขารนั้นอยู่ข้างในก็ควร.

               [วินิจฉัยในสัมมุขจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในสัมมุขจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุต้องอาบัติเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก ต่อหน้าสงฆ์แท้, แต่ในเวลาออกไม่มีกิจที่สงฆ์จะต้องทำ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าออกลับหลัง.
               ต้องอาบัติ เพราะปล่อยสุกกะเป็นต้น ลับหลัง ย่อมออกต่อหน้าสงฆ์.
               ต้องอาบัติสมนุภาสน์ต่อหน้าสงฆ์เท่านั้น ย่อมออกต่อหน้า.
               ย่อมต้องอาบัติที่เหลือต่างโดยชนิด มีสัมปชานมุสาวาทเป็นต้นลับหลังและออกก็ลับหลัง.
               อชานันตจตุกกะ เหมือนกับอจิตตกจตุกกะ.

               [ว่าด้วยเพศกลับ]               
               บทว่า ลิงฺคปาตุภาเวน มีความว่า เมื่อเกิดเพศกลับแก่ภิกษุหรือภิกษุณีผู้นอนแล้วเท่านั้น จึงเป็นอาบัติเพราะนอนร่วมเรือนกัน.
               คำว่า ลิงฺคปาตุภาเวน นี้แล ท่านกล่าวเจาะจงอาบัติ เพราะนอนร่วมเรือนกันนั้น.
               ก็อาบัติที่ไม่ทั่วไป แก่ภิกษุและภิกษุณีทั้ง ๒ ฝ่าย ย่อมออกเพราะความปรากฎแห่งเพศ.

               [วินิจฉัยในสหปฏิลาภจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในสหปฏิลาภจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               เพศของภิกษุใด ย่อมเปลี่ยนไป, ภิกษุนั้น พร้อมกับได้เพศ (ใหม่) ย่อมละเพศบุรุษเดิมเสีย ด้วยอำนาจแห่งเพศที่เกิดขึ้นก่อน และด้วยความเป็นเพศประเสริฐ ตั้งอยู่ในเพศสตรีอันเกิด ณ ภายหลัง. กายวิญญัตติและวจีวิญญัตติ ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งจริตของบุรุษและอาการของบุรุษเป็นต้น ย่อมระงับไป บัญญัติที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ภิกษุก็ดี บุรุษก็ดี ย่อมดับไป. ก็สิกขาบท ๔๖ เหล่าใด อันไม่ทั่วไปด้วยภิกษุณีทั้งหลาย, ไม่เป็นอาบัติ เพราะสิกขาบทเหล่านั้นเลย.
               ก็วินิจฉัยในจตุกกะที่ ๒ พึงทราบดังนี้ :-
               เพศของภิกษุณีใด ย่อมเปลี่ยนไป, ภิกษุณีนั้น ย่อมละเพศสตรีที่นับว่าเกิดภายหลัง เพราะเกิดขึ้นภายหลังบ้าง เพราะความเป็นเพศทรามบ้าง ตั้งอยู่ในเพศบุรุษ ที่นับว่าเกิดก่อน โดยประการดังกล่าวแล้ว. วิญญัตติซึ่งแผกจากที่กล่าวแล้ว ย่อมระงับไป. บัญญัติที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ภิกษุณีก็ดี สตรีก็ดี ย่อมดับไป. สิกขาบท ๑๓๐ เหล่าใด อันไม่ทั่วไปด้วยภิกษุทั้งหลาย, ไม่เป็นอาบัติ เพราะสิกขาบทเหล่านั้นเลย.
               สองบทว่า จตฺตาโร สามุกฺกํสา ได้แก่ มหาปเทส ๔. จริงอยู่ มหาปเทส ๔ นั้น ท่านกล่าวว่า สามุกฺกํสา เพราะเป็นข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรื้อขึ้น คือยกขึ้นตั้งไว้เอง ในเมื่อยังไม่เกิดเรื่องขึ้น.
               บทว่า ปริโภคา ได้แก่ กลืนของที่ควรกลืน.
               ส่วนน้ำ เพราะไม่เป็นกาลิก ไม่ได้รับประเคน ก็ควร.
               ยาวกาลิกเป็นต้น ที่ไม่ได้รับประเคน ไม่ควรกลืน.
               ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง เพราะเป็นของเฉพาะกาล ควรกลืนในกาลที่ตรัสไว้อย่างไร.
               สองบทว่า อุปาสโก สีลวา ได้แก่ ผู้ครองศีล ๕ หรือศีล ๑๐.

               [วินิจฉัยในอาคันตุกาทิจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในอาคันตุกาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุผู้กางร่มสวมรองเท้า คลุมศีรษะเข้าสู่วิหารและเที่ยวไปในวิหารนั้น เฉพาะเป็นอาคันตุกะจึงต้อง เป็นเจ้าถิ่นไม่ต้อง.
               ฝ่ายภิกษุผู้ไม่ทำอาวาสิกวัตร เป็นเจ้าถิ่น จึงต้อง เป็นอาคันตุกะไม่ต้อง. ทั้ง ๒ พวก ย่อมต้องอาบัติที่เป็นทางกายทวารและวจีทวารที่เหลือ. ทั้งอาคันตุกะ ทั้งเจ้าถิ่น ย่อมไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน).
               วินิจฉัยแม้ในคมิยจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุผู้ไม่ยังคมิยวัตรให้เต็มไปเสีย เป็นผู้เตรียมจะไป จึงต้อง, เป็นเจ้าถิ่น ไม่ต้อง.
               เมื่อไม่ทำอาวาสิกวัตร เป็นเจ้าถิ่น จึงต้อง ผู้เตรียมจะไป ไม่ต้อง. ทั้ง ๒ พวก ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ. ทั้ง ๒ พวก ไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน).

               [วินิจฉัยในวัตถุนานัตตตาทิจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในวัตถุนานัตตตาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ความที่ปาราชิก ๔ มีวัตถุต่างๆ กันและกันแล ย่อมมี, ความที่ปาราชิก ๔ มีอาบัติต่างกันและกันหามีไม่. จริงอยู่ อาบัติปาราชิกนั้นทั้งหมด คงเป็นอาบัติปาราชิกเหมือนกัน. แม้ในสังฆาทิเสสเป็นต้นก็นัยนี้แล.
               ส่วนโยชนาในคำว่า อาปตฺตินานตฺตตา น วตฺถุนานตฺตตา นี้ พึงทราบโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ความเป็นต่างกันแห่งอาบัติแล ย่อมมีอย่างนี้ คือ เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุ เป็นปาราชิกแก่ภิกษุณี เพราะเคล้าคลึงกันและกันด้วยกาย แห่งภิกษุและภิกษุณี, ความเป็นต่างกันแห่งวัตถุหามีไม่, ความเคล้าคลึงกันด้วยกายแล เป็นวัตถุแห่งอาบัติแม้ทั้ง ๒,
               อนึ่ง เพราะฉันกระเทียม เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุณี เป็นทุกกฏแก่ภิกษุ.
               พึงทราบความที่ปาราชิก ๔ กับสังฆาทิเสส ๑๓ มีวัตถุต่างกัน และมีอาบัติต่างกัน.
               พึงทราบความที่สังฆาทิเสสเป็นต้น กับอนิยตเป็นต้น มีวัตถุต่างกันและมีอาบัติต่างกันอย่างนั้น.
               ความที่วัตถุเป็นของต่างกัน (และ) ความที่อาบัติเป็นของต่างกัน ไม่มีแก่ภิกษุและภิกษุณีผู้ต้องปาราชิก ๔ ข้างต้น พ้องกัน.
               ในภิกษุและภิกษุณีผู้ต้องอาบัติต่างกันก็ตาม ในภิกษุและภิกษุณีผู้ต้องอาบัติที่ทั่วไป (แก่กันและกัน) ที่เหลือก็ตาม มีนัยเหมือนกัน.

               [วินิจฉัยในวัตถุสภาคาทิจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในวัตถุสภาคาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               เพราะภิกษุกับภิกษุณีเคล้าคลึงกันด้วยกาย มีความที่วัตถุเป็นสภาคกัน ไม่มีความที่อาบัติเป็นสภาคกัน.
               ในปาราชิก ๔ มีความที่อาบัติเป็นสภาคกัน ไม่มีความที่วัตถุเป็นสภาคกัน. ในสังฆาทิเสสเป็นอาทิ มีนัยเหมือนกัน.
               ในปาราชิก ๔ ของภิกษุและภิกษุณี มีความที่วัตถุเป็นสภาคกันด้วย มีความที่อาบัติเป็นสภาคกันด้วย. ในอาบัติที่ทั่วไปทั้งปวงก็นัยนี้.
               ในอาบัติที่ไม่ทั่วไป ความที่วัตถุเป็นสภาคกันก็ไม่มี และความที่อาบัติเป็นสภาคกันก็ไม่มี.
               ก็ปัญหาที่ ๑ ในจตุกกะต้น เป็นปัญหาที่ ๒ ในจตุกกะนี้, และปัญหาที่ ๒ ในจตุกกะต้นนั้น เป็นปัญหาที่ ๑ ในจตุกกะนี้. ไม่มีความทำต่างกันในปัญหาที่ ๓ และที่ ๔

               [วินิจฉัยในอุปัชฌายจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในอุปัชฌายจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ก็เพราะไม่ทำวัตรที่อุปัชฌาย์พึงทำแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌาย์ต้องอาบัติ, สัทธิวิหาริกไม่ต้อง.
               เมื่อไม่ทำวัตรอันสัทธิวิหาริกพึงทำแก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกย่อมต้องอาบัติ, อุปัชฌาย์ไม่ต้อง.
               สัทธิวิหาริกและอุปัชฌาย์ทั้ง ๒ ฝ่าย ย่อมต้องอาบัติที่เหลือ. ทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป. แม้ในอาจริยจตุกกะ ก็นัยนี้แล.

               [วินิจฉัยในอาทิยันตจตุกกะเป็นอาทิ]               
               วินิจฉัยในอาทิยันตจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้บาท ๑ หรือเกินกว่าบาทด้วยมือของตน ต้องอาบัติหนัก. ใช้ผู้อื่นด้วยสั่งบังคับว่า ท่านจงถือเอาทรัพย์หย่อนกว่าบาท ต้องอาบัติเบา. ๓ บทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยนี้.
               วินิจฉัยในอภิวาทนารหจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               สำหรับภิกษุณีทั้งหลายก่อน ในโรงฉัน แม้อุปัชฌาย์อยู่ถัดจากภิกษุณีองค์ที่ ๙ ไป ก็เป็นผู้ควรอภิวาท แต่ไม่ควรลุกรับ. และสำหรับภิกษุผู้กำลังฉันค้าง ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ย่อมเป็นผู้ควรอภิวาท แต่ไม่ควรลุกรับโดยไม่แปลกกัน.
               ภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น ไปถึงสำนักแล้ว เป็นผู้ควรลุกรับ แต่ไม่ควรอภิวาท ของภิกษุผู้อยู่ปริวาส แม้มีพรรษา ๖๐.
               ในสถานที่ไม่ทรงห้าม ภิกษุที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ควรอภิวาทและควรลุกรับของภิกษุใหม่. ฝ่ายภิกษุใหม่ เป็นผู้ไม่ควรอภิวาท ไม่ควรลุกรับ ของภิกษุผู้ใหญ่.
               บทที่ ๑ แห่งอาสนารหจตุกกะ กับบทที่ ๒ ในจตุกกะก่อน และบทที่ ๒ แห่งอาสนารหจตุกกะ กับบทที่ ๑ ในจตุกกะก่อน เหมือนกันโดยใจความ.

               [วินิจฉัยในกาลจตุกกะเป็นอาทิ]               
               วินิจฉัยในกาลจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุเมื่อห้าม (โภชนะ) แล้วฉัน ชื่อว่าต้องในกาล ไม่ต้องในวิกาล.
               เมื่อต้องอาบัติเพราะวิกาลโภชน์ ชื่อว่าต้องในวิกาล ไม่ต้องในกาล.
               เมื่อต้องอาบัติที่เหลือ ชื่อว่าต้องทั้งในกาลและในวิกาล. เมื่อไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน) ชื่อว่าไม่ต้องทั้งในกาลทั้งในวิกาล.
               วินิจฉัยในปฏิคคหิตจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               อามิสที่รับประเคนก่อนภัตกาล ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล.
               น้ำปานะ ควรในวิกาล ไม่ควรในกาลในวันรุ่งขึ้น.
               สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ควรทั้งในกาลและในวิกาล.
               กาลิก ๓ มียาวกาลิกเป็นต้น ที่ล่วงกาลของตนๆ และอกัปปิยมังสะ เป็นอุคคหิตก์และอาหารที่รับประเคน (ค้าง) ไว้ ไม่ควรทั้งในกาลและในวิกาล.
               วินิจฉัยในปัจจันติมจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               เมื่อผูกสีมาในทะเล ชื่อว่าต้องในปัจจันติมชนบท ไม่ต้องในมัชฌิมชนบท.
               เมื่อให้อุปสมบทด้วยคณะปัญจวรรค และเมื่อทรงไว้ซึ่งรองเท้า ๔ ชั้น อาบน้ำเป็นนิตย์และเครื่องปูลาดหนัง ชื่อว่าต้องในมัชฌิมชนบท ไม่ต้องในปัจจันติมชนบท.
               แม้ภิกษุผู้กล่าวอยู่ว่า ๔ วัตถุนี้ ไม่ควรในปัจจันติมชนบทนี้ ชื่อว่าต้องในปัจจันติมชนบท.
               ฝ่ายภิกษุผู้กล่าวอยู่ว่า ๔ วัตถุนี้ ควรในมัชฌิมชนบทนี้ ชื่อว่าต้องในมัชฌิมชนบท.
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติที่เหลือ ในมัชฌิมชนบทและในปัจจันติมชนบทแม้ทั้ง ๒. ไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน) ในที่ไหนๆ.
               วินิจฉัยในจตุกกะที่ ๒ พึงทราบดังนี้ :-
               วัตถุทั้ง ๔ ประการ มีอุปสมบทด้วยคณะปัญจวรรคเป็นต้น ควรในปัจจันติมชนบท.
               แม้การที่ภิกษุแสดงว่า นี้ควร ก็ควรในปัจจันติมชนบทนั้นเหมือนกัน แต่ไม่ควรในมัชฌิมชนบท.
               ส่วนการที่ภิกษุแสดงว่า นี้ไม่ควร ควรในมัชฌิมชนบท ไม่ควรในปัจจันติมชนบท. วัตถุที่เหลืออันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือ ๕ ชนิด เป็นต้น, วัตถุนั้นควรในชนบททั้ง ๒. ส่วนวัตถุใด ทรงห้ามว่า ไม่ควร, วัตถุนั้นไม่ควรในชนบทแม้ทั้ง ๒.

               [วินิจฉัยในอันโตอาทิจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในอันโตอาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติเพราะนอนเบียดเป็นต้น ในภายใน ไม่ต้องในภายนอก.
               เมื่อวางเสนาสนะมีเตียงของสงฆ์เป็นต้น ไว้กลางแจ้งแล้วหลีกไปเสีย ชื่อว่าต้องในภายนอก ไม่ต้องในภายใน. ที่เหลือชื่อว่าต้องทั้งภายในและภายนอก. อาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน) ชื่อว่าไม่ต้องทั้งภายในทั้งภายนอก.
               วินิจฉัยในอันโตสีมาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุอาคันตุกะ เมื่อไม่ยังวัตรให้เต็ม ชื่อว่าต้องในภายในสีมา.
               ภิกษุผู้เตรียมจะไป เมื่อไม่ยังวัตรให้เต็ม ชื่อว่าต้องในภายนอกสีมา.
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติเพราะมุสาวาทเป็นต้น ทั้งภายในสีมาและภายนอกสีมา. ย่อมไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน) ในที่ไหนๆ.
               วินิจฉัยในคามจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติที่ทรงตั้งไว้ควรศึกษา อันเนื่องเฉพาะด้วยละแวกบ้าน ในบ้าน, ไม่ต้องในป่า.
               ภิกษุณีเมื่อให้อรุณขึ้น ย่อมต้องในป่า, ไม่ต้องในบ้าน.
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติเพราะมุสาวาทเป็นต้น ทั้งในบ้านและในป่า ย่อมไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน) ในที่ไหนๆ.

               [วินิจฉัยในปุพพกิจจาทิจตุกกะ]               
               สองบทว่า จตฺตาโร ปุพฺพกิจฺจา มีความว่า พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า กรรม ๔ อย่างนี้คือ การปัดกวาด ตามประทีป ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ พร้อมทั้งปูลาดอาสนะ เรียกว่า ปุพพกรณ์. ส่วนกิจ ๔ อย่างนี้คือ นำฉันทะ ปาริสุทธิ บอกฤดู นับภิกษุและสอนภิกษุณี พึงทราบว่า ปุพพกิจ.
               สองบทว่า จตฺตาโร ปตฺตกลฺลา มีความว่า วันอุโบสถ ๑ ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าไร เธอเป็นผู้มาแล้ว ๑ สภาคาบัติไม่มี ๑ บุคคลควรเว้นไม่มีในหัตถบาสสงฆ์นั้น ๑ รวมเรียกว่าปัตตกัลละ ฉะนี้แล.
               สองบทว่า จตฺตาริ อนญฺญปาจิตฺติยานิ มีความว่า ปาจิตตีย์ ๔ สิกขาบทนี้คือ สิกขาบทว่าด้วยสำเร็จการนอนเบียด, สิกขาบทที่ว่า เอหาวุโส คามํ วา นิคมํ วา เป็นอาทิ, สิกขาบทว่าด้วยแกล้งก่อความรำคาญ, สิกขาบทว่าด้วยแอบฟัง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัยหาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.
               สองบทว่า จตสฺโส ภิกฺขุสมฺมติโย มีความว่า สมมติในที่อื่น พ้นจากสมมติ ๑๓ ที่มาแล้วอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรี ๑ เว้นเสียแต่ภิกษุได้สมมติ, ถ้าภิกษุ ... พึงให้ทำสันถัตอื่นใหม่ เว้นแต่ภิกษุได้สมมติ, ถ้าเธออยู่ปราศจากยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, พึงบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ.

               [วินิจฉัยในคิลานจตุกกะ]               
               วินิจฉัยในคิลานจตุกกะ พึงทราบดังนี้ :-
               เมื่อออกปากขอเภสัชอื่น ด้วยความเป็นผู้ละโมบ ในเมื่อมีกิจที่จะต้องทำด้วยเภสัชอื่น ภิกษุผู้อาพาธต้อง (อาบัติ).
               เมื่อออกปากขอเภสัช ในเมื่อมีกิจที่จะต้องทำด้วยของมิใช่เภสัช ภิกษุไม่อาพาธต้อง.
               ภิกษุผู้อาพาธและไม่อาพาธทั้ง ๒ ย่อมต้องอาบัติเพราะมุสาวาทเป็นต้น. ทั้ง ๒ ไม่ต้องอาบัติที่ไม่ทั่วไป (แก่ตน)
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               พรรณนาหมวด ๔ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 954อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 965อ่านอรรถกถา 8 / 979อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=7851&Z=8061
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=10270
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=10270
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :