ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 178อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 199อ่านอรรถกถา 9 / 239อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
กูฏทันตสูตร

               อรรถกถากูฏทันตสูตร               
               กูฏทันตสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ฯเปฯ มคเธสูติ กูฏทนฺตสุตฺตํ.
               ในกูฏทันตสูตรนั้นมีการพรรณนาตามลำดับบท ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ในมคธชนบท ความว่า ราชกุมารทั้งหลาย ผู้มีปกติอยู่ในชนบท มีชื่อว่า มคธะ ชนบทแม้ชนบทเดียวอันเป็นที่อยู่ของราชกุมารเหล่านั้น ท่านเรียกว่า มคธา ด้วยศัพท์ที่เพิ่มเข้ามา. ในชนบท ในแคว้นมคธนั้น.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป มีนัยดังกล่าวแล้วในสูตรทั้งสองเบื้องต้นนั่นแหละ.
               สวนอัมพลัฏฐิกาก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตร.
               คำว่า กูฏทันตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.
               บทว่า เตรียมการ คือ จัดแจง.
               บทว่า วจฺฉตรสตานิ คือ ลูกโคผู้หลายร้อย. แพะตัวเล็กๆ ท่านเรียกว่า อุรัพภะ. สัตว์เหล่านั้นมีมาในพระบาลีเพียงแค่นี้เท่านั้น. แต่เนื้อและนกเป็นอันมากอย่างละ ๗๐๐ แม้มิได้มีมาในพระบาลี ก็พึงทราบว่า ท่านประมวลเข้ามาด้วยเหมือนกัน.
               ได้ทราบว่า กูฏทันตพราหมณ์นั้นมีประสงค์จะบูชายัญอย่างละ ๗๐๐ ทุกอย่าง.
               บทว่า ถูกเขานำไปผูกไว้ที่หลัก คือ ถูกเขานำเข้าไปสู่หลัก กล่าวคือหลักยัญเพื่อต้องการจะผูกวางไว้.
               บทว่า พักอยู่ คือ พวกพราหมณ์ทั้งหลายพักอยู่ เพื่อต้องการบริโภคของที่เขาให้เป็นทาน.
               บทว่า สามอย่าง ความว่า การตั้งไว้ คือการแต่งตั้ง ท่านเรียกว่า วิธ ในคำนี้. บทว่า มีบริขาร ๑๖ คือ มีบริวาร ๑๖

               มหาวิชิตราชยญฺญกถาวณฺณนา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงบุรพจริตที่ภพปกปิดไว้เหมือนคนขุดขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ในดิน แล้วกระทำให้เป็นกองไว้ต่อหน้า จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว ดังนี้.
               บทว่า มีพระนามว่า มหาวิชิตะ ความว่า ได้ยินว่า พระราชานั้นทรงชำนะปฐพีมณฑล ซึ่งมีทะเลเป็นที่สุด เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงถึงความนับว่า มหาวิชิตราช เพราะปฐพีมณฑลที่พระองค์ทรงชำนะแล้วใหญ่.
               ในบทว่า มั่งคั่ง เป็นต้น ความว่า ใครก็ตาม เป็นคนมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติอันเป็นของตน. แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชนี้หาเป็นผู้มั่งคั่งอย่างเดียวเท่านั้นไม่ พระองค์ยังเป็นผู้ชื่อว่ามีทรัพย์มาก คือถึงพร้อมด้วยทรัพย์มากมาย คือ นับไม่ถ้วน. ชื่อว่ามีโภคสมบัติมาก เพราะมีโภคสมบัติมากมาย คือยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจแห่งกามคุณห้า. ชื่อว่ามีทองและเงินมากมาย เพราะความที่ทองและเงินเป็นแท่งๆ และด้วยอำนาจเป็นมาสกทองคำและมาสกเงินเป็นต้น. อธิบายว่า ถึงพร้อมด้วยทองและเงินนับด้วยโกฏิเป็นอันมาก.
               บทว่า ความปลื้มใจ คือ ความยินดี.
               เครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจ ชื่อวิตตูปกรณะ ความว่า เหตุแห่งความยินดี. ผู้ชื่อว่ามีเครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจมากมาย เพราะเขามีเครื่องอุปกรณ์แห่งความปลื้มใจมากมากหลายประเภท เป็นต้นว่า เครื่องประดับนานาชนิดและภาชนะทองเงินเป็นต้น. ผู้ชื่อว่ามีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เพราะทรัพย์ กล่าวคือแก้ว ๗ ประการที่ฝังเก็บไว้และข้าวเปลือกอันรวมตลอดถึงบุพพัณชาติและอปรัณชาติทั้งปวงมีมากมาย. อีกนัยหนึ่ง บทนี้ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจการให้และการรับทรัพย์สินทุกวันของเขา ด้วยอำนาจทรัพย์ และข้าวเปลือกที่แลกเปลี่ยนกัน.
               บทว่า มีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์ ความว่า คลังที่เก็บสิ่งของ ท่านเรียกว่าคลัง. อธิบายว่า มีคลังเต็มบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ที่ฝังเก็บไว้ มีฉางเต็มบริบูรณ์ด้วยข้าวเปลือก.
               อีกนัยหนึ่ง คลังมี ๔ อย่าง คือช้าง ม้า รถ ทหารราบ. ฉางมี ๓ อย่าง คือฉางเก็บทรัพย์ ฉางเก็บข้าวเปลือก ฉางเก็บผ้า. ทุกสิ่งทุกอย่างแม้ทั้งหมดนั้นของเขาบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น เขาจึงชื่อว่ามีท้องพระคลังและฉางเต็มบริบูรณ์.
               บทว่า ได้เกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นแล้ว.
               ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง พระราชานี้เสด็จออกไปเที่ยวตรวจดูรัตนะ. พระองค์ตรัสถามผู้รักษาคลังเก็บสิ่งของว่า แน่ะพ่อ ทรัพย์มากมายอย่างนี้ ใครเก็บสะสมมา. ภัณฑาคาริกทูลว่า พระราชบิดาและพระเจ้าปู่เป็นต้นของพระองค์สะสมมาตลอดชั่ว ๗ ตระกูล. พระราชาตรัสถามว่า ก็ชนเหล่านั้นสะสมทรัพย์นี้ไว้แล้ว ไปที่ไหนกัน. ภัณฑาคาริกทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียวไปสู่อำนาจของความตาย. พระราชาตรัสถามว่า พวกเขาไม่ถือเอาทรัพย์ของตนไปด้วยหรือ. ภัณฑาคาริกทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ตรัสอะไร พวกเขาต้องละทิ้งทรัพย์นั้นไปโดยแท้ ถือเอาไปไม่ได้.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จกลับมาแล้วประทับนั่งในห้องอันมีสิริ ทรงดำริว่า เราครอบครองโภคสมบัติมากมายดังนี้เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ได้เกิดปริวิตกทางใจอย่างนี้ ดังนี้.
               บทว่า ตรัสเรียกพราหมณ์ ถามว่า เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกมา.
               ได้ยินว่า พระราชานี้ทรงดำริอย่างนี้ว่า ธรรมดาคนที่จะให้ทาน ได้ปรึกษากับบัณฑิตสักคนหนึ่งก่อนแล้วให้ จึงจะควร เพราะกรรมที่มิได้ปรึกษา กระทำลงไป ย่อมทำความเดือดร้อนในภายหลัง ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกมา.
               ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า พระราชานี้มีพระราชประสงค์จะถวายมหาทาน และในชนบทของพระองค์ยังมีโจรมากมาย โจรเหล่านั้นก็ยังไม่สงบ เมื่อพระองค์ถวายทานอยู่ บ้านเรือนของเหล่าชนผู้นำเครื่องสัมภาระแห่งทานมีนมสด นมส้มและข้าวสารเป็นต้นมา ย่อมไม่มีคนเฝ้า โจรเหล่านั้นก็จักปล้น ชนบทก็จะเกลื่อนกล่นไปด้วยโจรภัย. ทีนั้น ทานของพระราชาก็จักไม่ดำเนินไปได้นาน แม้พระทัยของพระองค์ก็จักไม่แน่วแน่ เอาเถอะ เราจะให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ ดังนี้.
               ลำดับนั้น เขาเมื่อจะยังพระองค์ให้ทรงเข้าพระทัยเนื้อความนั้น จึงกล่าวคำว่า ชนบทของพระราชาผู้เจริญ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มีเสี้ยนหนาม คือ ยังมีเสี้ยนหนามด้วยเสี้ยนหนามคือโจร.
               บทว่า ปณฺฐทุหนา แปลว่า การปล้นในทางเปลี่ยว. ความว่า การฆ่ากันในทางเปลี่ยว.
               บทว่า พึงเป็นผู้กระทำกิจที่ไม่ควรทำ ความว่า พึงเป็นผู้กระทำกิจที่ไม่พึงกระทำ คือพึงเป็นผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม.
               บทว่า ทุสฺสุขีลํ แปลว่า เสี้ยนหนามคือโจร.
               บทว่า ด้วยการฆ่า คือ ด้วยการให้ตาย หรือด้วยการทุบ.
               บทว่า ด้วยการจองจำ คือ ด้วยการจองจำมีการจองจำด้วยขื่อเป็นต้น.
               บทว่า ด้วยการปรับไหม คือ ด้วยการเสียทรัพย์. อธิบายว่า ด้วยอาชญาเป็นไปอย่างนี้ว่า พวกท่านจงเรียกเอา ๑๐๐ จงเรียกเอา ๑,๐๐๐.
               บทว่า ด้วยการตำหนิโทษ คือ ด้วยให้ได้รับการตำหนิโทษ กระทำโทษเป็นต้นอย่างนี้ คือทำให้มี ๕ แกละ โกนหัวให้โล้น เอามูลโครดและจองจำด้วยคาที่คอ.
               บทว่า ด้วยการเนรเทศ คือ ด้วยการขับออกจากแว่นแคว้น.
               บทว่า จักปราบปราม คือ เราจักกำจัดให้หมดไปโดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยนัย โดยการณ์อันควร.
               บทว่า ที่เหลือจากกำจัดแล้ว คือ ที่เหลือจากตายแล้ว.
               บทว่า ขยันขันแข็ง คือ กระทำความอุตสาหะ. บทว่า จงเพิ่มให้ ความว่า เมื่อสิ่งที่พระราชทานแล้วไม่เพียงพอ โปรดพระราชทานพืชภัตรและสิ่งของที่เป็นเครื่องมือในการกสิกรรม แม้อย่างอื่นทุกอย่างอีก. บทว่า จงเพิ่มให้ซึ่งต้นทุน ความว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งของต้นทุนด้วยอำนาจตัดขาดเงินต้นไปเลย ไม่ต้องทำพยานหลักฐาน ไม่ต้องลงบัญชี. ก็คำว่า ต้นทุน นี้ เป็นชื่อของสิ่งของอันเป็นทุนเดิม.
               เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         คนมีปัญญา มีวิจารณญาณ ย่อมตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์
                         อันเป็นต้นทุนแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนคนเริ่มก่อ
                         ไฟกองน้อยก่อน ฉะนั้น ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๔

               บทว่า เบี้ยเลี้ยงรายวันและค่าจ้าง คือ ค่าอาหารประจำวันและทรัพย์สินมีเงินมาสกเป็นต้น. ความว่า จงพระราชทานพร้อมกับพระราชทานฐานันดร บ้านและนิคมเป็นต้น โดยสมควรแก่ตระกูล การงานและความกล้าหาญของเขาๆ.
               บทว่า ผู้ขวนขวายในการงานของตน คือ เป็นผู้เพียรกระทำ ได้แก่ใฝ่ใจกระทำในการงานของตนมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น.
               บทว่า กอง คือ กองแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก. บทว่า ตั้งอยู่ในความเกษม คือ ดำรงอยู่ด้วยความปลอดโปร่ง คือไม่มีภัย. บทว่า ไม่มีเสี้ยนหนาม คือ เว้นจากเสี้ยนหนามคือโจร.
               บทว่า โมทา โมทมานา แปลว่า ต่างชื่นชมยินดีต่อกัน. อีกประการหนึ่ง คำนี้นี่แหละเป็นพระบาลี. อธิบายว่า ต่างมีจิตพลอยยินดีซึ่งกันและกัน.
               บทว่า ไม่ต้องปิดประตูเรือน ความว่า เพราะไม่มีพวกโจร จึงไม่ต้องปิดประตูเรือน เปิดประตูเรือนไว้ได้.
               บทว่า ได้ตรัสพระดำรัสนี้ คือ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทราบความที่บ้านเมืองมั่งคั่ง และเจริญโดยอาการทั้งปวงแล้ว จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้.
               บทว่า เตนหิ ภวํ ราชา ความว่า ได้ยินว่า พราหมณ์คิดว่า พระราชานี้เกิดพระอุตสาหะยิ่งนักที่จะถวายมหาทาน แต่ถ้าพระองค์ไม่ทรงปรึกษาเหล่ากษัตริย์ประเทศราชเป็นต้นแล้วถวาย กษัตริย์ประเทศราชเป็นต้นเหล่านั้นของพระองค์ จักน้อยพระทัย เราจักกระทำโดยประการที่จะมิให้กษัตริย์เหล่านั้นน้อยพระทัยได้ ณ บัดนี้ ดังนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงกราบทูลว่า ถ้ากระนั้น พระราชา ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาวนิคม คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในนิคม.
               บทว่า ชาวชนบท คือ ผู้อาศัยอยู่ในชนบท.
               บทว่า จงทรงปรึกษา คือ จงทรงหารือ ได้แก่จงทรงบอกกล่าวให้ทราบ.
               บทว่า ยํ มม อสฺส คือ การร่วมมือของพวกท่าน พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เรา. บทว่า อมจฺจา แปลว่า สหายผู้สนิท. บทว่า ปาริสชฺชา คือ ผู้ที่เป็นลูกน้อยที่เหลือ.
               บทว่า ยชตํ ภวํ ราชา แปลว่า ขอเดชะ ขอพระราชาจงทรงบูชายัญเถิด.
               ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นยินดีว่า พระราชานี้ไม่ทรงข่มขืนถวายทาน ด้วยคิดว่า เราเป็นใหญ่ ยังทรงเรียกพวกเรามาปรึกษา น่าอัศจรรย์จริง พระองค์ทรงกระทำดีแล้ว ดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น. แต่เมื่อพวกเขามิได้รับเชิญมา พวกเขาก็ไม่พึงมาแม้เพื่อจะดูที่จะบูชายัญ ของพระราชานั้น.
               บทว่า ข้าแต่มหาราช เป็นกาลควรแล้วที่จะบูชายัญ ความว่า พวกเขาเมื่อจะแสดงว่า ก็เมื่อไทยธรรมไม่มี ถึงในเวลาแก่แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะให้ทานเห็นปานนี้ได้ แต่ท่านรุ่มรวย และยังหนุ่มแน่น เพราะเหตุนั้น จึงเป็นกาลสมควรที่จะบูชายัญของท่านแล้ว ดังนี้ จึงได้กล่าวขึ้น.
               บทว่า ชนผู้ที่เห็นชอบ คือ ฝ่ายที่เห็นด้วย. อธิบายว่า ผู้ให้ความยินยอม.
               บทว่า เป็นบริขาร คือ เป็นบริวาร. แต่ในคำนี้ว่า๒- รถมีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ ดังนี้ เครื่องประดับท่าน เรียกว่าบริขาร.
____________________________
๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๔

               อฏฺฐปริกฺขารวณฺณนา               
               บทว่า ด้วยองค์ ๘ คือ ด้วยองค์ ๘ มีอุภโตสุชาต เป็นต้น.
               บทว่า ด้วยพระยศ คือ ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะลงอาญาได้.
               บทว่า มีศรัทธา คือ เชื่อว่า ผลของทานมีอยู่.
               บทว่า เป็นผู้ให้ คือ เป็นผู้กล้าหาญในการให้. อธิบายว่า มิใช่ดำรงอยู่แต่เพียงมีศรัทธาเท่านั้น แต่สามารถที่จะสละด้วย.
               บทว่า เป็นนายของทาน คือ เป็นนายของทานที่ตนให้ไม่เป็นทาส ไม่เป็นสหาย.
               อธิบายว่า
                                   ก็ผู้ใดบริโภคของอร่อยด้วยตนเอง ให้ของไม่อร่อย
                         แก่ผู้อื่น ผู้นั้นจัดว่าเป็นทาสแห่งไทยธรรมกล่าวคือทานให้
                                   ผู้ใดบริโภคสิ่งใดด้วยตนเอง ก็ให้สิ่งนั้นนั่นแหละ
                         ผู้นั้นจัดว่าเป็นสหายให้
                                   ส่วนผู้ใดตนเองยังชีพด้วยอาการตามมีตามเกิด แต่
                         ให้ของอร่อยแก่ผู้อื่น ผู้นั้นจัดว่าเป็นนาย คือเป็นเจ้าของผู้
                         ยิ่งใหญ่ให้ พระเจ้ามหาวิชิตราชนี้ทรงเป็นเช่นนั้น ดังนี้
.
               ในบทนี้ว่า แก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก ความว่า ผู้มีบาปอันสงบแล้ว ชื่อว่าสมณะ. ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ชื่อว่าพราหมณ์. ผู้เข็ญใจ คือคนที่ยากจน ชื่อว่าคนกำพร้า.
               บทว่า อทฺธิกา แปลว่า ผู้เดินทางไกล.
               ชนเหล่าใดเที่ยวสรรเสริญคุณแห่งทานโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านผู้เจริญ ผู้ให้ทานน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่มีโทษ ตามกาลอันควร ทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว จงไปสู่พรหมโลก ดังนี้ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าวณิพก.
               ชนเหล่าใดกล่าวคำเป็นต้นว่า ขอท่านจงให้สักฟายมือหนึ่งเถิด ขอท่านจงให้สักขันหนึ่งเถิด เที่ยวขอเขาไป ชนเหล่านั้น ชื่อว่ายาจก.
               บทว่า เป็นดุจบ่อที่ลงดื่ม คือ ดุจบ่อน้ำ. อธิบายว่า เป็นดุจสระโบกขรณีที่เขาขุดไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง เป็นที่บริโภคทั่วไปของคนทั้งปวง.
               ในบทว่า แห่งข้อที่ทรงศึกษาแล้ว นี้คือ ข้อที่ทรงศึกษาแล้วนั่นแหละ ชื่อว่าทรงศึกษาแล้ว.
               ในบทว่า สามารถที่จะทรงคิดอรรถอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ พึงทราบใจความว่า พระองค์เมื่อทรงคิดได้อย่างนี้ว่า เพราะเหตุที่เราได้ทำบุญไว้ในอดีตนั่นเอง เราจึงมีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นอดีต. เมื่อทรงคิดได้ว่า เราทำบุญในบัดนี้ นี่แหละสามารถที่จะได้รับสมบัติในอนาคต ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นอนาคต. เมื่อทรงคิดได้ว่า ชื่อว่ากรรมอันเป็นบุญนี้เป็นอาจิณกรรมของสัตบุรุษ แม้โภคทรัพย์ของเราก็มีอยู่ ทั้งจิตคิดจะให้ก็มีอยู่ เอาเถอะ เราจะทำบุญ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงสามารถคิดอรรถอันเป็นปัจจุบัน ดังนี้.
               บทว่า องค์เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ คือ องค์เหล่านี้ตามที่กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ได้ยินว่า มหาชนจากทิศทั้งปวงย่อมเข้าไปหาทานของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๘ เหล่านี้. บางคนคิดเห็นเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้นี้เกิดไม่ดีแล้ว จักให้ทานไปนานสักเท่าไร บัดนี้เอง เขาก็เดือดร้อนแล้ว จักตัดขาดเสีย ดังนี้แล้ว ย่อมไม่สำคัญถึงทานว่าควรจะเข้าไปหา เพราะฉะนั้น องค์ทั้ง ๘ เหล่านี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นบริขาร.
               บทว่า ผู้รับการบูชา คือ ผู้ถือทัพพีให้ทานในที่ที่รับการให้ทานอย่างใหญ่.
               บทว่า ด้วยองค์ ๔ เหล่านี้ คือ ด้วยองค์มีเกิดดีแล้ว เป็นต้นเหล่านี้. เหล่าชนผู้ที่กล่าวคำเป็นต้นว่า เมื่อองค์มีการเกิดดีแล้วเป็นต้นมีอยู่ ทานที่เป็นไปด้วยการจัดแจงของผู้ที่เกิดไม่ดีแล้ว อย่างนี้ จักเป็นไปนานสักเท่าไร ดังนี้ จะไม่เข้าไปหาเลย แต่จะเข้าไปหาเพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงติเตียนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น องค์แม้เหล่านี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นบริขาร.
               บทว่า แสดงยัญวิธี ๓ ประการ คือ แสดงการตั้งมั่น ๓ อย่าง.
               ได้ยินว่า เขาคิดว่า ธรรมดาผู้ให้ทานอยู่ย่อมหวั่นไหวในฐานะใดฐานะหนึ่ง บรรดาฐานะทั้ง ๓ นั้น เอาเถอะ เราจะกระทำพระราชานี้มิให้ทรงหวั่นไหวในฐานะเหล่านี้ ก่อนอื่นใดทีเดียว ดังนี้แล้ว จึงแสดงยัญวิธี ๓ อย่างแก่พระราชานั้น.
               คำนี้ว่า โส โภโต รญฺโญ เป็นฉัฏฐีวิภัติลงในอรรถตติยาวิภัติ. อีกนัยหนึ่ง บาลีว่า โภตา รญฺญา ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ไม่ควรทำความวิปฏิสาร ท่านแสดงว่า ไม่ควรทำความเดือดร้อนในภายหลังอันมีความสิ้นเปลืองไปแห่งโภคสมบัติเป็นเหตุ แต่บุรพเจตนาควรให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เพราะทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยประการฉะนี้.
               ในฐานะ ๒ อย่างแม้นอกนี้ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               ก็เจตนาที่กำลังบริจาคก็ดี เจตนาที่ตามระลึกถึงในภายหลังก็ดี ควรกระทำมิให้หวั่นไหว เมื่อไม่กระทำเช่นนั้น ทานย่อมไม่มีผลมาก ทั้งจิตก็จะไม่น้อมไปในโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ เหมือนทานของเศรษฐีคฤหบดีผู้ไปเกิดในมหาโรรุวนรก ฉะนั้น.
               บทว่า ด้วยอาการ ๑๐ คือ ด้วยเหตุ ๑๐.
               ได้ยินว่า พราหมณ์ปุโรหิตนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพระราชานี้ทรงเห็นผู้ทุศีลแล้วคิดว่า ทานของเราจักฉิบหายแน่ คนทุศีลเห็นปานนี้บริโภคทานของเรา ดังนี้ แม้ในคนผู้มีศีล ก็จักให้เกิดความวิปฏิสารได้ ทานก็จักไม่มีผลมาก ก็ธรรมดาความวิปฏิสารย่อมเกิดขึ้นแก่พวกทายก เพราะปฏิคาหกโดยแท้ เอาเถอะ เราจะบรรเทาความวิปฏิสารนั้นของพระองค์เป็นอันดับแรกทีเดียว ดังนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงบรรเทาความวิปฏิสาร แม้ในตัวปฏิคาหกที่ควรจะตัดให้ขาดด้วยอาการ ๑๐ อย่าง.
               บทว่า เตสํเยว เตน ท่านแสดงว่า ผลอันไม่พึงปรารถนา เพราะบาปนั้นจักมีแก่เขาเหล่านั้นเท่านั้น จักไม่มีแก่คนอื่น.
               บทว่า ยชตํ ภวํ แปลว่า ขอพระองค์จงพระราชทานเถิด. บทว่า สชฺชตํ แปลว่า ขอจงทรงเสียสละเถิด. บทว่า อนฺตรํ แปลว่า ในภายใน.
               ในบทนี้ว่า แสดงให้จิตเห็นจริงด้วยอาการ ๑๖ พราหมณ์ปรารภการอนุโมนามหาทานของพระราชา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า แสดงให้เห็นจริง คือ กล่าวแสดงแล้วแสดงอีกว่า ผู้ให้ทานนี้จักได้สมบัติเห็นปานฉะนี้ ดังนี้. บทว่า ให้ยึดถือมั่น คือ กล่าวให้ยึดถือใจความนั้นโดยชอบ. บทว่า ให้อาจหาญ คือ ทำให้จิตใจของพระราชานั้นผ่องใส ด้วยการบรรเทาความวิปฏิสาร. บทว่า ให้ร่าเริง คือ กล่าวสรรเสริญว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เมื่อถวายทานอยู่ทรงกระทำดีแล้ว ดังนี้. บทว่า ผู้กล่าวโดยธรรมไม่มี คือ ผู้กล่าวโดยธรรม คือโดยชอบ ได้แก่โดยเหตุไม่มี.
               บทว่า ไม่ตัดต้นไม้เพื่อต้องการทำหลักยัญ ไม่ตัดหญ้าแพรกเพื่อต้องการเบียดเบียนผู้อื่น พราหมณ์แสดงว่า ชนเหล่าใดให้ตั้งเสาใหญ่ที่มีชื่อว่าเสายัญ แล้วเขียนชื่อว่า พระราชาโน้น อำมาตย์โน้น พราหมณ์โน้น ย่อมบูชามหายัญเห็นปานนี้ดังนี้แล้ว ตั้งไว้และเกี่ยวหญ้าแพรกแวดวงศาลายัญโดยสังเขปว่า เป็นละเมาะป่าหรือลาดบนพื้นดิน ชนแม้เหล่านั้นมิได้ตัดต้นไม้ มิได้เกี่ยวหญ้าแพรก ก็พวกเขาจักฆ่าวัวหรือสัตว์มีแพะเป็นต้น ทำไมกัน ดังนี้.
               บทว่า ทาส คือ ทาสมีทาสที่เกิดภายในเรือนเป็นต้น. ชนเหล่าใดถือเอาทรัพย์ก่อนแล้วจึงทำการงานให้ ชนเหล่านั้นชื่อว่าคนรับใช้. ชนเหล่าใดรับเบี้ยเลี้ยงรายวันและค่าจ้างทำการงานให้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ากรรมกร. ชนผู้ที่เขาถือท่อนไม้และไม้ค้อนเป็นต้น คุกคามอย่างนี้ว่า จงทำงาน จงทำงาน ชื่อว่าผู้ถูกอาญาคุกคาม. ชนผู้ที่เขาคุกคามด้วยภัยอย่างนี้ว่า ถ้าเจ้าทำงาน ข้อนั้นก็ดีไป หากไม่ทำ เราจักตัดหรือจักจำจองหรือจักฆ่าเสีย ดังนี้ ชื่อว่าผู้ถูกภัยคุกคาม.
               แต่ชนเหล่านั้นมิได้ถูกอาญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม มิได้มีน้ำตานองหน้าร้องไห้รำพันอยู่. โดยที่แท้ พวกเขาต่างทำงาน ทักทายปราศรัยกันด้วยคำทักทายที่น่ารักทีเดียว เพราะในชนเหล่านั้น พวกเขาไม่เรียกทาสว่าเป็นทาส คนรับใช้ว่าเป็นคนรับใช้ คนงานว่าเป็นกรรมกร แต่กลับเรียกกันด้วยคำทักทายที่น่ารักตามความชอบใจ ต่างแสดงการงานตามสมควรที่เป็นหญิงเป็นชาย มีกำลังและทุพพลภาพ ต่างพูดกันว่า พวกท่านจงทำงานนี้ๆ แม้เขาเหล่านั้นก็กระทำด้วยอำนาจความชอบใจของตน.
               เพราะเหตุ นั้นท่านจึงกล่าวว่า
               ชนเหล่าใดชอบใจ ชนเหล่านั้นก็กระทำ ชนเหล่าใดไม่ชอบใจ ชนเหล่านั้นก็ไม่กระทำ ชอบใจสิ่งใดก็กระทำสิ่งนั้น ไม่ชอบใจสิ่งใดก็ไม่กระทำสิ่งนั้น ดังนี้.
               บทว่า ยัญนั้นได้ถึงความสำเร็จได้ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้งและน้ำอ้อย. ความว่า ได้ยินว่า พระราชารับสั่งให้สร้างโรงทานใหญ่ขึ้นในที่ ๕ แห่ง คือที่ประตูนอกนคร ๔ แห่ง และตรงกลางภายในนคร ๑ แห่ง ที่โรงทานแต่ละแห่ง ทรงตั้งงบประมาณไว้แห่งละแสนๆ ทรงสละทรัพย์วันละห้าแสนๆ.
               จำเดิมแต่พระอาทิตย์ขึ้น ทรงถือทัพพีทองด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ให้มหาชนอิ่มหนำด้วยข้าวต้ม ของขบเคี้ยว ข้าวสวย กับข้าวและแกงเป็นต้น รวมด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้น อันประณีตตามควรแก่เวลานั้นๆ สำหรับผู้ที่มีประสงค์จะถือเอาไป ก็ทรงให้โดยทำนองนั้นนั่นแหละ จนเต็มภาชนะ.
               แต่ในเวลาเย็น ทรงบูชาด้วยผ้าของหอมและดอกไม้เป็นต้น ส่วนตุ่มใหญ่สำหรับใส่เนยเป็นต้น ก็ให้ใส่ให้เต็มแล้วตั้งไว้ในที่หลายร้อยแห่ง ด้วยตั้งพระทัยว่าผู้ใดมีประสงค์จะบริโภคสิ่งใด ผู้นั้นจงบริโภคสิ่งนั้นเถิด ดังนี้.
               ท่านหมายเอาเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ยัญนั้นได้ถึงความสำเร็จได้ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้งและน้ำอ้อยดังนี้.
               บทว่า นำเอาทรัพย์มามากมาย คือ ถือเอาทรัพย์มามากล้น.
               ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นคิดว่า พระราชานี้มิได้ทรงให้นำเนยใสและน้ำมันเป็นต้นมาจากชนบท ทรงนำสิ่งของอันเป็นส่วนของพระองค์เท่านั้น ออกมาให้เป็นมหาทาน การที่พวกเราจะนิ่งเสียด้วยคิดว่า ก็พระราชาไม่ทรงให้พวกเรานำสิ่งใดมาดังนี้ หาควรไม่ ดังนี้ เพราะว่า ทรัพย์ในเรือนของพระราชาจะไม่หมดไม่สิ้นไปเป็นธรรมดาก็หาไม่ ก็เมื่อพวกเราไม่ให้อยู่ ใครอื่นจักถวายแด่พระราชา เอาเถอะ เราจะรวบรวมทรัพย์มาถวายแด่พระองค์. พวกเขาจึงรวบรวมทรัพย์ตามส่วนของบ้าน ตามส่วนของนิคม และตามส่วนของนคร บรรทุกจนเต็มเกวียนแล้ว นำไปถวายแด่พระราชา.
               ท่านหมายเอาทรัพย์นั้น จึงกล่าวคำว่า "ทรัพย์มากมาย" เป็นต้น.
               บทว่า ทางด้านทิศบูรพาแห่งหลุมยัญ คือ ในส่วนแห่งทิศบูรพาของโรงทานที่ประตูนครทางทิศบูรพา ชนทั้งหลายตั้งทานไว้ในที่ที่เหมาะเจาะ โดยประการที่พวกชนผู้มาจากทิศบูรพา ดื่มข้าวยาคูในโรงทานของกษัตริย์แล้ว บริโภคในโรงทานของพระราชา ก็เข้าไปสู่ตัวเมืองได้.
               บทว่า ทางด้านทิศใต้แห่งหลุมยัญ ความว่า ชนทั้งหลายตั้งทานไว้ในส่วนทิศใต้ตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ของโรงทานที่ประตูนคร ทางทิศใต้ แม้ในทิศตะวันตกและทิศเหนือ ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ยัญ โอ ยัญสมบัติ ความว่า พวกพราหมณ์ได้ฟังการถึงความสำเร็จของยัญด้วยเนยใสเป็นต้น ต่างมีจิตยินดีว่า สิ่งใดมีรสอร่อยในโลก พระสมณโคดมตรัสถึงสิ่งนั้น เอาเถอะ พวกเราจะสรรเสริญยัญของพระองค์ ดังนี้ เมื่อจะสรรเสริญจึงได้กราบทูลดังนั้น.
               บทว่า กูฏทันตพราหมณ์ นั่งนิ่งเฉยอยู่ คือ เขากำลังคิดเนื้อความที่จะพึงกล่าวต่อไป จึงนั่งนิ่งเงียบเสียงเสีย.
               พราหมณ์ เมื่อจะทูลถามโดยเลี่ยงถาม จึงกราบทูลคำนี้ว่า ก็พระโคดมผู้เจริญย่อมทรงทราบชัดหรือ ดังนี้. เพราะเขาเมื่อจะถามโดยประการอื่นตรงๆ อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในกาลนั้น พระองค์ได้เป็นพระราชา หรือว่าพราหมณ์ปุโรหิต ดังนี้ก็จะเป็นเหมือนว่า ไม่เคารพ.

               นิจฺจทานอนุกุลยญฺญวณฺณนา               
               พราหมณ์ เมื่อจะทูลถามเนื้อความนี้ว่า การที่จะลุกขึ้นแล้วลุกขึ้นเล่าให้ทาน เป็นของหนักของชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นและชาวชนบททั้งสิ้น เมื่อไม่ทำการงานของตนก็จักพินาศ ยัญอย่างอื่นจากยัญนี้ที่มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่าของพวกข้าพระองค์ มีอยู่หรือไม่หนอแล ดังนี้ จึงกราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็มีอยู่หรือ ดังนี้.
               บทว่า นิจทาน คือ ทานประจำ ได้แก่ นิตยภัตร.
               บทว่า อนุกูลยัญ คือ ทานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขากระทำด้วยคิดว่า พ่อและปู่เป็นต้นของพวกเราเคยทำมาแล้ว ดังนี้ แม้เขาจะเป็นคนเข็ญใจในภายหลังก็ควรให้ทำต่อไป ตามที่สืบต่อกันมาของตระกูล.
               ได้ยินว่า ทานที่ถวายเจาะจงท่านผู้มีศีลเป็นประจำ เห็นปานนี้ แม้พวกยากจนในตระกูล ย่อมไม่ตัดเสีย.
               ในข้อนี้มี เรื่องดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า ในเรือนของอนาถปิณฑิกะ ชนทั้งหลายถวายนิตยภัตร ๕๐๐ ที่ได้มีสลากทำด้วยงา ๕๐๐ อัน. ต่อมา ตระกูลนั้นถูกความยากจนครอบงำโดยลำดับ เด็กหญิงคนหนึ่งในตระกูลนั้นไม่สามารถถวายยิ่งไปกว่าสลากอันหนึ่งได้. แม้เด็กหญิงนั้นภายหลังถึงรัชสมัยของพระเจ้าเสตวาหนะก็ได้ถวายสลากนั้นด้วยข้าวเปลือกที่ล้างลานได้มา. พระเถระรูปหนึ่งได้ถวายพระพรแด่พระราชา. พระราชาทรงพานางมาแล้วตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี. จำเดิมแต่กาลนั้น นางก็ได้ถวายสลากภัตร ๕๐๐ ที่อีก.
               บทว่า การประหารด้วยท่อนไม้ ความว่า การประหารด้วยท่อนไม้บ้าง การจับที่คอบ้าง ที่เขากล่าวคำเป็นต้นว่า พวกเจ้าจงยืน พวกเจ้าจงยืนตามลำดับ ดังนี้. และว่า พวกเจ้าจงจับ พวกเจ้าจงจับ ทำให้ตรงดังนี้ ให้อยู่ ยังปรากฏอยู่.
               ในบทนี้ว่า พราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ ฯลฯ มีอานิสงส์มากกว่า ความว่า ความต้องการด้วยคนที่จะทำการช่วยเหลือ หรือด้วยเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมากมิได้มีในสลากภัตรนี้ เหมือนในมหายัญ เพราะฉะนั้น ทานนั้นจึงชื่อว่า ใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า.
               การเตรียมการ กล่าวคือ การเบียดเบียนด้วยอำนาจการตัดรอนแห่งกรรมของชนหมู่มากในทานนี้ ไม่มี เพราะเหตุนั้น ทานนี้จึงชื่อว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า.
               อนึ่ง ทานนี้ เขาถวายคือบริจาคแก่สงฆ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่ายัญ. ก็ทานนี้มิใช่เป็นของที่จะทำได้ง่ายนัก เพื่อกระทำการกะกำหนดผลอันหลั่งไหลมาของบุญแห่งทักษิณาอันประกอบพร้อมด้วยองค์ ๖ เหมือนน้ำในมหาสมุทร ใครจะกะประมาณมิได้ ฉะนั้น ทานนี้ก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ทานนั้นพึงทราบว่ามีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่า.
               พราหมณ์ได้ฟังคำนี้แล้วคิดว่า เมื่อบุคคลลุกขึ้นแล้วลุกขึ้นเล่า ถวายนิตยภัตรแม้นี้ทุกวันๆ การงานของบางคนก็จะเสีย จะต้องปลูกฝังความอุตสาหะใหม่ๆ ขึ้นเรื่อย ยัญอย่างอื่นแม้จากนี้ ที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่าและมีการตระเตรียมน้อยกว่า มีอยู่หรือไม่หนอ เพราะฉะนั้น เขาจึงกราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ ... มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้.
               ในทานเหล่านั้น ในสลากภัตรไม่มีที่สิ้นสุดแห่งกิจที่จะพึงทำ บางคนจะต้องลุกขึ้นแล้วลุกขึ้นเล่าไม่ต้องทำงานอย่างอื่น จัดแจงแต่สลากภัตรเท่านั้น. ส่วนในวิหารทาน มีที่สิ้นสุดแห่งกิจที่จะพึงทำ.
               จริงอยู่ การสร้างบรรณศาลาหรือการสละทรัพย์สักโกฏิหนึ่งสร้างมหาวิหาร เขาทำการบริจาคทรัพย์ครั้งเดียวสร้างขึ้นไว้ ก็จะคงยืนไปได้ ๗-๘ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ๑,๐๐๐ ปีบ้างทีเดียว จะต้องกระทำบ้างก็เพียงปฏิสังขรณ์ในที่ที่ทรุดโทรม และชำรุดอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น วิหารทานนี้จึงใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าสลากภัตรทาน.
               ก็ในวิหารทานนี้ ท่านกล่าวอานิสงส์ไว้ ๙ ประการมีว่า เพียงเพื่อกำจัดความหนาวเป็นต้น โดยปริยายแห่งพระสูตร๑- แต่โดยปริยายแห่งขันธกะ ท่านกล่าวอานิสงส์ไว้ถึง ๑๗ ประการว่า
                         การถวายวิหารแก่พระสงฆ์ ย่อมกำจัดเสียได้ซึ่งความ
                         หนาวความร้อน ต่อนั้นก็สัตว์ร้าย งู ยุง ทั้งน้ำค้าง ฝน
                         ต่อนั้นก็กำจัดเสียได้ซึ่งลมและแดดอันกล้า ซึ่งเกิดขึ้น
                         ทั้งเป็นไปเพื่อเป็นที่หลีกเร้น เพื่อความสุข เพื่อบำเพ็ญ
                         ฌานและเพื่อเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง
                         สรรเสริญว่าเป็นยอดทาน เพราะเหตุนั้นแล คนผู้ฉลาด
                         เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงให้สร้างวิหารอันน่า
                         รื่นรมย์ถวายให้ภิกษุพหูสูตอาศัยอยู่ในวิหารนั้น และ
                         พึงถวายข้าวน้ำ ผ้า และเสนาสนะแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่ง
                         เป็นผู้ตรงด้วยน้ำใจที่เลื่อมใส ภิกษุเหล่านั้นจะแสดง
                         ธรรม เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา ซึ่งเขารู้แจ้ง
                         แล้ว จะเป็นผู้หมดอาสวะ ปรินิพพานดังนี้.๒-
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๑๓   ๒- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๒๐๓

               เพราะฉะนั้น วิหารทานนี้ พึงทราบว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่าสลากภัตรทาน. แต่ท่านเรียกว่ายัญ เพราะเป็นทานที่เขาบริจาคแก่สงฆ์.
               พราหมณ์ฟังแม้ข้อนี้แล้ว คิดว่า ขึ้นชื่อว่า การทำการบริจาคทรัพย์แล้วสร้างวิหารถวายกระทำได้ด้วยยาก เพราะเงินเพียงกากณึกหนึ่งที่เป็นของตน ยากที่จะบริจาคให้ผู้อื่น เอาเถอะ เราจะทูลถามยัญที่ใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และที่มีการตระเตรียมน้อยกว่าแม้วิหารทานนี้ ดังนี้.
               ลำดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามยัญนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ ... มีอยู่หรือ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบรรดาทานเหล่านั้น วิหารถึงจะบริจาคแล้วคราวเดียว ก็ยังมีกิจที่จะพึงทำเกี่ยวกับการมุงหลังคา และการปฏิสังขรณ์สิ่งที่ปรักหักพังเป็นต้นบ่อยๆ ส่วนสรณะที่รับแล้วครั้งเดียวในสำนักของภิกษุรูปเดียว หรือของสงฆ์หรือของคณะ ก็ยังนับว่ารับอยู่ตลอดไป เพราะไม่มีกิจที่จะต้องทำในสรณะนั้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้น สรณะนั้นจึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่าวิหารทาน.
               อนึ่ง ชื่อว่า การถึงสรณะเป็นบุญกรรมที่สำเร็จด้วยการบริจาคชีวิตแก่พระรัตนตรัย ย่อมให้สมบัติทุกประการ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่า. ก็การถึงสรณะนี้ ท่านเรียกว่ายัญ เพราะเกี่ยวกับการบริจาคชีวิตแก่พระรัตนตรัย.
               พราหมณ์ได้ฟังคำนี้แล้ว คิดว่า การที่จะบริจาคชีวิตของตนแด่พระรัตนตรัย ทำได้ด้วยยาก ยัญที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แม้กว่าสรณคมน์นี้ ยังมีอยู่หรือ.
               ลำดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามถึงยัญนั้น จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ ... มีอยู่หรือ ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทมีบทว่า การงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น การงดชื่อว่าการเว้น
               การงดนั้นมี ๓ อย่างคือ สัมปัตตวิรัติ, สมาทานวิรัติ, เสตุฆาตวิรัติ.
               ในบรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น ผู้ใดแม้มิได้รับสิกขาบทเลย แต่ระลึกถึงชาติโคตร ตระกูล และประเทศเป็นต้นของตนอย่างเดียวว่า การกระทำนี้ไม่สมควรแก่เรา ดังนี้ แล้วไม่กระทำปาณาติบาตเป็นต้น หลีกเลี่ยงวัตถุที่มาถึงเฉพาะหน้า เว้นจากวัตถุนั้น การวิรัตินั้นของผู้นั้น พึงทราบว่า เป็นสัมปัตตวิรัติ.
               ส่วนวิรัติของผู้รับสิกขาบทอย่างนี้ว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตก็ดี ข้าพเจ้าจะเว้นจากปาณาติบาตก็ดี ข้าพเจ้าขอสมาทานการงดเว้นก็ดี พึงทราบว่า เป็นสมาทานวิรัติ.
               ส่วนการเว้นที่สัมปยุตด้วยมรรคของพระอริยสาวกทั้งหลาย ชื่อว่า เสตุฆาตวิรัติ.
               ในวิรัติทั้ง ๓ นั้น ๒ วิรัติแรกกระทำวัตถุมีชีวิตินทรีย์เป็นต้นที่จะพึงละเมิดด้วยอำนาจการปลงลงเป็นต้นให้เป็นอารมณ์เป็นไป. วิรัติหลังมีนิพพานเป็นอารมณ์.
               ก็ในวิรัติเหล่านี้ ผู้ได้รับสิกขาบททั้ง ๕ รวมกัน เมื่อสิกขาบทหนึ่งทำลาย สิกขาบทของผู้นั้นย่อมทำลายไปทั้งหมด. ผู้ใดรับทีละข้อ ผู้นั้นล่วงละเมิดข้อใด ข้อนั้นเท่านั้นทำลาย.
               ส่วนสำหรับเสตุฆาตวิรัตินี้ ขึ้นชื่อว่า การทำลายไม่มีเลย. เพราะพระอริยสาวกย่อมไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ทั้งไม่ดื่มน้ำเมาด้วย. แม้ถ้าชนผสมสุราและน้ำนมแล้ว เทเข้าไปในปากของพระอริยสาวกนั้น น้ำนมเท่านั้นเข้าไป สุราหาเข้าไปไม่.
               เหมือนอะไร.
               ได้ยินว่า เหมือนน้ำนมที่เจือด้วยน้ำ นมเท่านั้นเข้าไปในปากของนกกระเรียน น้ำหาเข้าไปไม่ ข้อนี้พึงทราบว่า สำเร็จตามกำเนิด และข้อนี้ก็พึงทราบว่า สำเร็จโดยธรรมดา.
               ก็ในสรณคมน์ ชื่อว่าการกระทำความเห็นให้ตรง เป็นของหนัก แต่ในการสมาทานสิกขาบทเป็นเพียงการงดเว้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสมาทานสิกขาบทนั้นจึงใช้ทรัพย์สินน้อยกว่า และมีการตระเตรียมน้อยกว่า สำหรับผู้ที่รับพอประมาณบ้าง ผู้ที่รับอย่างดีบ้าง. ก็ในการสมาทานสิกขาบทนี้ พึงทราบว่า มีผลมากและมีอานิสงส์มาก เพราะขึ้นชื่อว่า ทานเช่นกับศีล ๕ ไม่มี.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
               ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ อย่างเหล่านี้ จัดเป็นมหาทาน ที่รู้กันมาว่าเลิศ รู้จักมานมนาน รู้กันมาตามวงศ์ตระกูล เป็นของเก่าแก่ ไม่มีใครรังเกียจแล้ว ไม่เคยมีใครรังเกียจ อันใครๆ ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ผู้ที่รู้ดีไม่ดูแคลน
               ทาน ๕ อย่างเป็นไฉน
               ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ละปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
               ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้อภัย ให้ความไม่มีเวร ให้ความไม่เบียดเบียนกัน แก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ครั้นให้อภัย ให้ความไม่มีเวร ให้ความไม่เบียดเบียนกันแก่สัตว์ทั้งหลาย หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอภัย แห่งความไม่เบียดเบียนกันอันหาประมาณมิได้
               ภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นข้อที่หนึ่ง เป็นมหาทาน รู้กันมาว่าเลิศ รู้กันมานมนาน รู้กันมาตามวงศ์สกุล เป็นของเก่าแก่ ไม่มีใครรังเกียจแล้ว ไม่เคยมีใครรังเกียจ อันใครๆ ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ผู้รู้ดีไม่ดูแคลน
               ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกละอทินนาทาน ฯลฯ ละกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ ละมุสาวาท ฯลฯ ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯลฯ
               ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการเหล่านั้นแลจัดเป็นมหาทาน ที่รู้กันมาว่าเลิศ ฯลฯ ผู้รู้ดี ดังนี้.
____________________________
๓- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๒๙

               ก็แลศีล ๕ นี้ ท่านเรียกว่ายัญ เพราะต้องสมาทานด้วยคิดว่า เราจักสละความเยื่อใยในตนและความเยื่อใยในชีวิต รักษา. บรรดาศีลและสรณคมน์นั้น สรณคมน์นั่นและเป็นใหญ่กว่าศีล ๕ แม้โดยแท้ แต่ศีล ๕ นี้ ท่านกล่าวว่ามีผลมากกว่าด้วยอำนาจแห่งศีลที่บุคคลตั้งอยู่ในสรณะแล้วรักษา.
               พราหมณ์ได้ฟังแม้ข้อนี้แล้วก็ยังคิดว่า การที่รักษาศีล ๕ ก็ยังหนักอยู่ สิ่งอะไรอย่างอื่นทำนองนี้แหละที่มีการใช้ทรัพย์สินน้อยกว่าและมีผลมากกว่าศีล ๕ นี้มีอยู่หรือหนอ.
               ลำดับนั้น เขาเมื่อจะทูลถามถึงข้อนั้น จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ ... มีอยู่หรือ ดังนี้เป็นต้น
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงแสดงความที่ยัญมีปฐมฌานเป็นต้น ของผู้ที่ดำรงอยู่ในความบริบูรณ์ด้วยศีล ๓ ประการ เป็นของใช้ทรัพย์สินน้อยกว่าและมีผลมากกว่า แก่พราหมณ์นั้น ทรงเริ่มพระธรรมเทศนา จำเดิมแต่การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงตรัสพระดำรัสว่า พราหมณ์ ... ในโลกนี้ ดังนี้เป็นต้น.
               ในข้อนั้น บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยคุณตามที่กล่าวมาแล้วตอนต้น ดำรงอยู่ในปฐมฌานเป็นต้นแล้วทำทุติยฌานเป็นต้นให้เกิดอยู่ ย่อมไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น ฌานเหล่านั้นจึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย. ก็ในฌานเหล่านี้ ปฐมฌานย่อมให้อายุในพรหมโลก ๑ กัป ทุติยฌาน ๘ กัป ตติยฌาน ๖๔ กัป จตุตถฌาน ๕๐๐ กัป จตุตถฌานนั้นนั่นและอันบุคคลเจริญแล้วด้วยอำนาจแห่งสมาบัติมีอากาสานัญจายตนะเป็นต้น ย่อมให้อายุตลอด ๒๐,๐๐๐ กัป ๔๐,๐๐๐ กัป และ ๘๔,๐๐๐ กัป เพราะฉะนั้น ฌานจึงมีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่า.
               ก็ฌานนั้น พึงทราบว่าเป็นยัญ เพราะสละเสียได้ซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น.
               แม้วิปัสสนาญาณ เพราะบุคคลตั้งอยู่แล้วในคุณทั้งหลาย มีจตุตถฌานเป็นปริโยสาน ให้เกิดขึ้นอยู่ ก็ไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น จึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย ก็วิปัสสนาญาณนี้มีผลมาก เพราะไม่มีสุขใดที่เสมอเหมือนด้วยสุขอันเกิดจากวิปัสสนา ท่านเรียกว่ายัญ เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นข้าศึก.
               แม้มโนมยิทธิ บุคคลตั้งอยู่แล้วในวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นอยู่ ก็ไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น มโนมยิทธิจึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย ชื่อว่ามีผลมาก เพราะสามารถเนรมิตรูปเช่นรูปของตนได้. ชื่อว่ายัญ เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นข้าศึกของตน.
               แม้ญาณมีอิทธิวิธญาณเป็นต้น บุคคลตั้งอยู่แล้วในมโนมยญาณเป็นต้น ให้เกิดขึ้นอยู่ก็ไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น อิทธิวิธญาณเป็นต้นจึงมีการใช้ทรัพย์สินน้อย มีการตระเตรียมน้อย. ชื่อว่ายัญ เพราะละกิเลสอันเป็นข้าศึกของตนๆ เสียได้.
               ก็ในญาณเหล่านี้ อิทธิวิธญาณ พึงทราบว่ามีผลมาก เพราะสามารถแสดงการกระทำแปลกๆ มีอย่างต่างๆ.
               ทิพยโสต พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถฟังเสียงของเทวดาและมนุษย์ได้.
               เจโตปริยญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถรู้จิต ๑๖ อย่างของผู้อื่นได้.
               บุพเพนิวาสานุสสติญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถตามระลึกถึงสถานที่ที่ตนปรารถนา และปรารถนาได้.
               ทิพยจักษุ พึงทราบว่ามีผลมาก เพราะสามารถมองเห็นรูปที่ตนต้องการและต้องการได้.
               อาสวักขยญาณ พึงทราบว่า มีผลมาก เพราะสามารถยังสุขอันเกิดจากโลกุตรมรรคอันประณีตยิ่งให้สำเร็จได้.
               ก็ขึ้นชื่อว่ายัญอย่างอื่นที่ประเสริญกว่าพระอรหัต ไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยสุดยอด คือพระอรหัต จึงตรัสว่า พราหมณ์นี้แล ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต แปลว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว กูฏทันตพราหมณ์เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา มีประสงค์จะถึงสรณะ จึงได้กล่าวคำนี้มีว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ดังนี้ เป็นต้น.
               บทว่า จงพัด ความว่า ขอลมเย็นอ่อนๆ ที่จะระงับความกระวนกระวายในร่างกายได้ จงพัดโชยมาต้องกาย. ก็แลพราหมณ์ ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว จึงส่งคนไปด้วยพูดว่า แน่ะพ่อ ท่านจงไป เข้าไปสู่หลุมยัญแล้ว จงปล่อยสัตว์เหล่านั้นทั้งปวงจากเครื่องจองจำ.
               บุรุษนั้นรับคำว่า ดีแล้ว กระทำตามนั้นแล้วกลับมาบอกว่า ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นไปหมดแล้ว ดังนี้.
               พราหมณ์ยังไม่ได้ยินความเป็นไปนั้น ตราบใด พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ทรงแสดงธรรม ตราบนั้น. เพราะในจิตของพราหมณ์ยังมีความยุ่งเหยิงอยู่. แต่พอได้ยินว่า สัตว์มากมายเทียวหนอ ข้าพเจ้าปล่อยหมดแล้วดังนี้ วารจิตของพราหมณ์ก็ผ่องใส.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์มีใจผ่องใสแล้ว จึงทรงเริ่มพระธรรมเทศนา. ท่านหมายเอาพระธรรมเทศนานั้น จึงกล่าวคำว่า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น.
               คำเป็นต้นว่า จิตสมควร ท่านกล่าวหมายเอาความที่นิวรณ์ถูกข่มไว้ได้ด้วยอานุภาพแห่งอนุปุพพิกถา.
               คำที่เหลือมีใจความตื้นทั้งนั้นด้วยประการฉะนี้แล.
               อรรถกถากูฏทันตสูตรในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินีจบแล้วด้วยประการฉะนี้

               จบอรรถกถากูฏทันตสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค กูฏทันตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 178อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 199อ่านอรรถกถา 9 / 239อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=3478&Z=4398
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=6929
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=6929
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :