ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270130อรรถกถาชาดก 270131
เล่มที่ 27 ข้อ 131อ่านชาดก 270132อ่านชาดก 272519
อรรถกถา อสัมปทานชาดก
ว่าด้วย การไม่รับของทำให้เกิดการแตกร้าว
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสมฺปทาเนนิตรีตรสฺส ดังนี้.
               ความย่อว่า ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ยกเรื่องขึ้นสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณของพระตถาคต. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตเป็นผู้อกตัญญู แม้ในครั้งก่อนก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระราชามคธพระองค์หนึ่ง เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐี (ในรัชกาล) ของพระราชาพระองค์นั้น มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่าสังขเศรษฐี
               ในพระนครพาราณสี มีเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่าปิลิยเศรษฐี เศรษฐีทั้งสองนั้นเป็นสหายกัน ในเศรษฐีทั้งสองนั้น ปิลิยเศรษฐีในพระนครพาราณสี ประสบภัยอย่างมหันต์ด้วยหน้าที่การงานบางอย่าง ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว กลายเป็นคนขัดสนไร้ที่พำนัก ชวนภรรยาเดินทางไปหมายพึ่งท่านสังขเศรษฐี ออกจากพระนครพาราณสี มุ่งไปสู่พระนครราชคฤห์ด้วยเท้าเปล่า จนถึงนิเวศน์ของท่านสังขเศรษฐี ท่านสังขเศรษฐีเห็นเขาแล้ว กล่าวว่า เพื่อนของเรามาแล้ว ต้อนรับแข็งแรง แสดงความเคารพนับถือ ให้พักอยู่สอง-สามวัน
               วันหนึ่งจึงถามว่า เพื่อนรัก ท่านมาด้วยต้องการอะไร? ปิลิยเศรษฐีตอบว่า เพื่อนยาก ภัยบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ถึงสิ้นเนื้อประดาตัว ช่วยอุดหนุนข้าพเจ้าด้วยเถิด
               ฝ่ายสังขเศรษฐีก็กล่าวว่า ดีละเพื่อน อย่ากลัวไปเลย แล้วสั่งให้เปิดคลัง แบ่งเงินให้ ๔๐ โกฏิ แล้วยังแบ่งครึ่งสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ที่เป็นของตนทุกอย่าง อันเป็นบริวาร ตามกำหนดส่วนที่เหลือให้อีกด้วย ปิลิยเศรษฐีขนสมบัติกลับไปพระนครพาราณสี ตั้งหลักฐานได้.
               ในเวลาต่อมา ภัยเช่นเดียวกันนั่นแหละ ก็เกิดแก่ท่านสังขเศรษฐีบ้าง ท่านสังขเศรษฐีใคร่ครวญถึงที่พำนักของตน คิดได้ว่า เราได้ทำอุปการะอย่างใหญ่หลวงไว้แก่สหาย แบ่งสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง เขาเห็นเราแล้วคงไม่ทอดทิ้ง เราจักไปหาเขา ดังนี้แล้วพาภรรยาเดินทางไปพระนครพาราณสี ด้วยเท้าเปล่า กล่าวว่า นางผู้เจริญ เธอจะเดินไปตามท้องถนนพร้อมกับพี่ดูไม่ควรเลย เธอคอยขึ้นยานที่พี่ส่งมารับไปกับบริวารจำนวนมากภายหลัง จงคอยอยู่ที่นี่จนกว่าพี่จะส่งยานมารับ ดังนี้ แล้วให้นางพักที่ศาลา ตนเองเข้าสู่พระนครไปสู่เรือนเศรษฐี ให้คนบอกท่านเศรษฐีว่า สหายของท่านชื่อสังขเศรษฐีมาจากพระนครราชคฤห์ ปิลิยเศรษฐีให้คนไปเชิญมา ครั้นเห็นสังขเศรษฐีแล้ว ก็มิได้ลุกขึ้นจากที่นั่ง ไม่กระทำปฏิสันถารเลย เอ่ยถามอย่างเดียวว่า ท่านมาทำไม? สังขเศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อพบท่าน ถามว่า ท่านพักที่ไหนล่ะ? ตอบว่า ที่พักของข้าพเจ้ายังไม่มีดอก ข้าพเจ้าให้แม่บ้านหยุดคอยที่ศาลาแล้วมาก่อน ปิลิยเศรษฐีกล่าวว่า ที่พักของท่านที่นี่ก็ไม่มี ท่านจงรับอาหารไปให้เขาหุงต้มกิน ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วพากันไปเสียเถิด อย่ามาพบเราอีกเลย พลางสั่งทาสว่า เจ้าจงตวงข้าวลีบ ๔ ทะนาน ห่อชายผ้าสหายของเราให้ไปเถิด.
               ได้ยินว่า วันนั้น ปิลิยเศรษฐีให้คนฝัดข้าวสาลีสีแดงไว้ประมาณพันเกวียน ขึ้นยุ้งไว้เต็ม ทั้งที่ได้รับทรัพย์ ๔๐ โกฏิมายังเนรคุณ เป็นเหมือนมหาโจร บอกให้ข้าวทะนานเดียวแก่เพื่อนได้ ทาสตวงข้าวลีบ ๔ ทะนานใส่กระเช้าแล้วไปหาพระโพธิสัตว์
               พระโพธิสัตว์คิดว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ได้ทรัพย์ ๔๐ โกฏิจากสำนักของเรา บัดนี้ สั่งให้ข้าวลีบ ๔ ทะนาน เราจะรับหรือไม่รับดีหนอ ครั้นแล้วมีปริวิตกว่า คนผู้นี้เป็นคนเนรคุณ ประทุษร้ายมิตร ทำลายมิตรภาพระหว่างเราเสียแล้วด้วยความเป็นคนตัดรอนอุปการะที่เราทำไว้ ถ้าเราไม่รับข้าวลีบ ๔ ทะนานที่เขาให้ เพราะเป็นของเลวไซร้ ก็จักต้องทำลายมิตรภาพ คนอันธพาลที่ไม่ยอมรับสิ่งของที่ตนได้เล็กน้อย ย่อมยังมิตรภาพให้สลายไป แต่เรารับข้าวลีบที่เขาให้ จักยังดำรงมิตรภาพไว้ได้ด้วยอำนาจของเรา แล้วก็ห่อข้าวลีบ ๔ ทะนาน ที่ชายผ้าลงจากปราสาทไปสู่ศาลา
               ครั้งนั้น ภรรยาถามท่านว่า ท่านเจ้าข้า ท่านได้สิ่งไรมาบ้าง? ตอบว่า ปิลิยเศรษฐีสหายของเราให้ข้าวลีบมา ๔ ทะนาน แล้วสลัดเราเสียในวันนี้เลยทีเดียว นางกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ท่านรับมาทำไม มันสมควรแก่ทรัพย์ ๔๐ โกฏิละหรือ แล้วเริ่มร้องไห้.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า นางผู้เจริญ เธออย่าร้องไห้เลย พี่เกรงจะเสียไมตรีกับเขา จึงรับมาเพื่อดำรงมิตรภาพไว้ด้วยอำนาจของพี่ เธอจะร้องไห้ไปทำไม ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า
               "ไมตรีของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนพาล ย่อมเป็นโทษ ก่อให้เกิดแตกร้าวกัน เพราะไม่รับของไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงรับเอาข้าวลีบกึ่งมานะ(๑) ไว้ด้วยมาคิดว่า ไมตรีของเราอย่าได้ แตกร้าวเสียเลย ขอให้ไมตรีของเรานี้ ดำรงยั่งยืนต่อไปเถิด"
ดังนี้.
____________________________

(๑) มานะ เป็นชื่อมาตรา, ๘ ทะนานเท่ากับ ๑ มานะ, กึ่งมานะเท่ากับ ๔ ทะนาน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺปทาเนน ความว่า เพราะไม่ยอมรับของไว้ เข้าสนธิกันโดยลบสระ ได้ความว่า เพราะไม่ถือเอาสิ่งของไว้.
               บทว่า อิตรีตรสฺส ได้แก่ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้จะเลวหรือไม่เลยก็ตาม.
               บทว่า พาลสฺส มิตฺตานิ กลี ภวนฺติ ความว่า ไมตรีของคนโง่ๆ ไร้ปัญญา ย่อมชื่อว่าเป็นกลี คือเป็นเช่นกับตัวกาฬกรรณี. อธิบายว่า ย่อมทำลายได้.
               ด้วยบทว่า ตสฺมา หรามิ ภุสํ อฑฺฒมมานํ นี้ พระโพธิสัตว์แสดงว่า ด้วยเหตุนั้น พี่จึงหอบหิ้ว คือยอมรับข้าวลีบตุมพะหนึ่ง (๔ ทะนาน) ที่สหายเขาให้. อธิบายว่า มานะหนึ่งเท่ากับ ๘ ทะนาน กึ่งมานะเท่ากับ ๔ ทะนาน และ ๔ ทะนาน ชื่อว่าหนึ่งตุมพะ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปลาปตุมฺพํ.
               บทว่า มา เม มิตฺติ ภิชฺชิตฺถ สสฺสตายํ ความว่า ไมตรีของเรากับสหายอย่าแตกกันเสียเลย ขอให้ไมตรีนี้จงยั่งยืนอยู่ต่อไปเถิด.

               ก็เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอยู่อย่างนี้ ภรรยาคงร้องไห้อยู่นั่นเอง ในขณะนั้น ทาสผู้ทำการงานที่ท่านสังขเศรษฐีมอบให้แก่ปิลิยเศรษฐี ผ่านมาทางประตูศาลา ได้ยินเสียงภรรยาของท่านเศรษฐีร้องไห้ จึงเข้าไปยังศาลา เห็นเจ้านายเก่าของตน ก็หมอบลงแทบเท้า ร้องไห้คร่ำครวญ พลางถามว่า ข้าแต่นาย ท่านพากันมาที่นี่ทำไม? ท่านเศรษฐีก็เล่าเรื่องให้ฟังทั้งหมด ทาสผู้ทำงานจึงปลอบท่านทั้งสองว่า ช่างเถิดนาย ท่านทั้งสองอย่าคิดเลย แล้วพาไปเรือนของตน ให้อาบน้ำหอม ให้บริโภคอาหาร เรียกทาสทั้งหลายที่เหลือมาประชุมกัน แสดงให้รู้ว่า เจ้านายของพวกท่านมาแล้ว รออยู่สอง-สามวัน ก็พาทาสทั้งหมดไปสู่ท้องพระลานหลวง แล้วร้องตะโกนโพนทนาขึ้น
               พระราชารับสั่งให้เรียกมาตรัสถามว่า นี่เรื่องอะไรกัน?
               ทาสเหล่านั้นพากันกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระราชา พระราชาทรงสดับคำของพวกทาสแล้ว รับสั่งให้เรียกเศรษฐีทั้งสองเข้ามาเฝ้า ตรัสถามท่านสังขเศรษฐีว่า มหาเศรษฐี ได้ยินว่า ท่านให้ทรัพย์ ๔๐ โกฏิแก่ปิลิยเศรษฐี จริงหรือ? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า มิใช่แต่ทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น ที่ข้าพระองค์ให้แก่สหายผู้นึกถึงข้าพระองค์ แล้วบ่ายหน้ามาสู่พระนครราชคฤห์ ข้าพระองค์แบ่งสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ที่เป็นสมบัติทุกอย่างออกเป็นสองส่วน แล้วแบ่งเท่าๆ กัน พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสถามปิลิยเศรษฐีว่า ข้อนั้นเป็นความจริงหรือ?
               ปิลิยเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เป็นความจริง พระเจ้าข้า. ตรัสถามต่อไปว่า ก็เมื่อเขานึกถึงท่าน มาหาถึงนี่แล้ว ท่านยังจะได้กระทำสักการะ สัมมานะ อะไรบ้างเล่า? เขานิ่งเสีย. รับสั่งถามต่อไปว่า ยังอีกข้อหนึ่งเล่า เจ้าได้ให้ทาสตวงข้าวลีบตุมพะหนึ่ง ใส่ชายผ้าให้เขาไป ยังจะจริงหรือ? ปิลิยเศรษฐี แม้จะฟังพระดำรัสนั้น ก็คงนิ่งอึ้งอยู่นั่นเอง.
               พระราชาทรงปรึกษากับพวกอำมาตย์ว่า ควรทำอย่างไร ทรงบริภาษปิลิยเศรษฐี แล้วตรัสว่า ไปกันเถิดท่านทั้งหลาย จงไปเอาสมบัติในเรือนของปิลิยเศรษฐีให้แก่สังขเศรษฐีเถิด.
               พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ต้องการสิ่งของของผู้อื่นเลย ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานส่วนที่ข้าพระองค์ให้แก่เขาเท่านั้นเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งให้พระราชทานสมบัติอันเป็นส่วนของพระโพธิสัตว์.
               พระโพธิสัตว์ได้คืนสมบัติที่ตนให้ไปทั้งหมดแล้ว แวดล้อมด้วยทาส กลับไปสู่พระนครราชคฤห์นั่นแหละ ตั้งหลักฐานได้แล้ว กระทำบุญทั้งหลายมีให้ทานเป็นต้น แล้วไปตามยถากรรม.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ปิลิยเศรษฐีในครั้งนั้น ได้มาเป็น เทวทัต
               ส่วนสังขเศรษฐีได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อสัมปทานชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270130อรรถกถาชาดก 270131
เล่มที่ 27 ข้อ 131อ่านชาดก 270132อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=867&Z=874
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๕  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]