ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270205อรรถกถาชาดก 270207
เล่มที่ 27 ข้อ 207อ่านชาดก 270209อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สตธรรมชาดก
ว่าด้วย สตธรรมมาณพ
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเป็นต้นว่า ตญฺจ อปฺปญฺจ อุจฺฉิฏฺฐํ ดังนี้.
               เรื่องพิสดารมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ภิกษุเป็นอันมากสำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง เป็นต้นว่าการเป็นหมอ การเป็นทูต การส่งข่าว การรับใช้ การให้ไม้สีฟัน การให้ไม้ไผ่ การให้ดอกไม้ การให้ผลไม้ การให้จุณสำหรับทา การให้ครุภัณฑ์ การให้ยา การให้ของบิณฑบาต.
               การแสวงหาไม่ควรนั้น จักมีแจ้งในสาเกตชาดก.
               พระศาสดาทรงทราบการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น ทรงพระดำริว่า บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมากสำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาไม่ควร ครั้นสำเร็จชีวิตอย่างนี้แล้ว จักไม่พ้นความเป็นยักษ์ ความเป็นเปรต จักเกิดเป็นโคเทียมแอก จักเกิดในนรก เราควรกล่าวธรรมเทศนาสักอย่างหนึ่งอันเป็นอัธยาศัยของตน เป็นปฎิภาณของตน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของพวกเธอ แล้วรับสั่งให้หมู่ภิกษุประชุมกัน
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ควรให้ปัจจัยเกิดขึ้นด้วยการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง เพราะบิณฑบาตที่เกิดขึ้นด้วยการแสวงหาไม่ควร เป็นเช่นกับก้อนทองแดงร้อน เปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง.
               จริงอยู่ การแสวงหาไม่ควรนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ติเตียน คัดค้าน เมื่อภิกษุบริโภคบิณฑบาต อันเกิดขึ้นด้วยการแสวงหาอันไม่ควร จะไม่มีความร่าเริงหรือโสมนัสเลย เพราะว่า บิณฑบาตอันเกิดขึ้นอย่างนี้ เป็นเช่นกับอาหารเดนของคนจัณฑาลในศาสนาของเรา การบริโภคบิณฑบาตนั้น ย่อมเป็นเหมือนการบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล ชื่อสตธรรมมาณพ
               แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล ครั้นเจริญวัย ได้ตระเตรียมข้าวสารเป็นเสบียงและห่อข้าว เดินทางไปทำกรณียกิจอย่างหนึ่ง. ในกาลนั้น ในกรุงพาราณสีมีมาณพคนหนึ่ง ชื่อสตธรรม เกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาลอุทิจจโคตร. เขามิได้ตระเตรียมข้าวสารหรือห่อข้าวเดินทางไปด้วยกรณียกิจอย่างหนึ่ง ทั้งสองได้มาพบกันที่ทางใหญ่.
               มาณพจึงถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านเป็นชาติอะไร. มาณพบอกว่า เราเป็นคนจัณฑาล แล้วถามมาณพว่า ก็ท่านเล่าเป็นชาติอะไร เขาบอกว่า เราเป็นพราหมณ์อุทิจจโคตร ดีแล้วเราไปด้วยกัน ทั้งสองก็เดินทางร่วมกันไป. ได้เวลาอาหารเช้า พระโพธิสัตว์จึงนั่งในที่ที่หาน้ำง่าย ล้างมือแก้ห่อข้าวแล้วกล่าวว่า มาณพบริโภคข้าวกันเถิด. มาณพตอบว่า ไม่มีเสียละเจ้าคนจัณฑาลที่เราจะต้องการอาหารของท่าน.
               พระโพธิสัตว์จึงว่าตามใจ แล้วแบ่งอาหารเพียงพอสำหรับตนไว้ในใบไม้อื่น ไม่ทำอาหารในห่อให้เป็นเดน มัดห่อวางไว้ข้างหนึ่ง บริโภค ดื่มน้ำ จากนั้นก็ล้างมือล้างเท้า ถือเอาข้าวสารและอาหารที่เหลือ กล่าวว่าไปกันเถิดมาณพ แล้วก็เดินทางต่อไป.
               เขาพากันเดินทางไปตลอดวันยังค่ำ ในตอนเย็นทั้งสองพากันลงอาบน้ำในที่ที่น้ำบริบูรณ์แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็ขึ้น. พระโพธิสัตว์นั่งในที่สำราญ แล้วแก้ห่ออาหาร ไม่ได้เชิญมาณพ เริ่มบริโภค. มาณพเหน็ดเหนื่อยเพราะการเดินทางมาตลอดวัน เกิดความหิวโหย ได้แต่ยืนมองด้วยคิดว่า หากเขาให้อาหารเรา เราก็จักบริโภค. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็มิได้พูดอะไรบริโภคท่าเดียว. มาณพคิดว่า เจ้าคนจัณฑาลนี้ไม่พูดกับเราเลย บริโภคจนหมด เราควรยึดเอาก้อนอาหารไว้ ทิ้งเศษอาหารข้างบนเสีย แล้วบริโภคส่วนที่เหลือ. มาณพได้ทำดังนั้น แล้วบริโภคอาหารเดน.
               ครั้นบริโภคเสร็จแล้วเท่านั้น ก็เกิดความร้อนใจอย่างแรงว่า เราทำกรรมอันไม่สมควรแก่ชาติ โคตร ตระกูลและประเทศของตน เราบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล.
               ทันใดนั้นเอง อาหารปนโลหิต ก็พุ่งออกจากปากของมาณพนั้น เขาคร่ำครวญ เพราะความโศกใหญ่หลวงเกิดขึ้นว่า เราทำกรรมอันไม่สมควร เพราะเหตุอาหารเพียงเล็กน้อย แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-
               อาหารที่เราบริโภคน้อยด้วย เป็นเดนด้วย อนึ่ง เขาให้แก่เราโดยยากเย็นเต็มที เราเป็นชาติพราหมณ์บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้น อาหารที่เราบริโภคเข้าไปแล้ว จึงกลับออกมาอีก.


               ในคาถานั้นมีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               เราบริโภคอาหารใดอาหารนั้นน้อยด้วยเป็นเดนด้วย คนจัณฑาลนั้นมิได้ให้อาหารแก่เราด้วยความพอใจของตน ที่แท้ถูกเรายึดจึงได้ให้ด้วยความยาก คือด้วยความลำบาก เราเป็นพราหมณ์มีชาติบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนั้น อาหารที่เราบริโภค จึงพลุ่งออกมาพร้อมกับโลหิต.

               มาณพคร่ำครวญอยู่อย่างนี้แล้วจึงคิดว่า เราทำกรรมอันไม่สมควรถึงอย่างนี้แล้ว จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม จึงเข้าป่าไปไม่แสดงตนแก่ใครๆ ถึงแก่กรรมลงอย่างน่าอนาถ.

               พระศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตนี้แล้วตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสตธรรมมาณพบริโภคอาหารเดนของคนจัณฑาล เป็นการบริโภคอาหารที่ไม่สมควรแก่ตน จึงมิได้เกิดความร่าเริงยินดีฉันใด ผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ ก็ฉันนั้น สำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร บริโภคปัจจัยตามที่ได้ ความร่าเริงยินดีมิได้เกิดแก่ผู้นั้น เพราะเขามีชีวิตเป็นอยู่ที่น่าตำหนิ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงคัดค้าน
               ครั้นทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว จึงตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ภิกษุใดละทิ้งธรรมเสีย หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นก็ย่อมไม่เพลินด้วยลาภ แม้ที่ตนได้มาแล้ว เปรียบเหมือนสตมาณพ ฉะนั้น.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรม คืออาชีวปาริสุทธิศีล.
               บทว่า นิรงฺกตฺวา ได้แก่ นำไปทิ้งเสีย.
               บทว่า อธมฺเมน ได้แก่ มิจฉาชีพ กล่าวคือการแสวงหาไม่สมควร ๒๑ อย่าง อย่างนี้.
               บทว่า สตธมฺโม เป็นชื่อของมาณพนั้น. บาลีเป็น สุตธมฺโม บ้าง.
               บทว่า น นนฺทติ ความว่า มาณพสตธรรมไม่ยินดีด้วยลาภนั้นว่า เราได้อาหารเดนของคนจัณฑาล ฉันใด กุลบุตรผู้บวชในศาสนานี้ก็ฉันนั้น บริโภคลาภที่ได้มาด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดี ถึงความโทมนัสว่า เราเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่สำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ควรเข้าป่าตายเสียอย่างอนาถดีกว่า เหมือนสตธรรมมาณพฉะนั้น.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔ ทรงประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจ ภิกษุเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               บุตรคนจัณฑาลในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ในครั้งนี้แล.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สตธรรมชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270205อรรถกถาชาดก 270207
เล่มที่ 27 ข้อ 207อ่านชาดก 270209อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1285&Z=1292
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]