ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270350อรรถกถาชาดก 270352
เล่มที่ 27 ข้อ 352อ่านชาดก 270355อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สังกัปปราคชาดก
ว่าด้วย ลูกศรคือกิเลส
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สงฺกปฺปราคโธเตน ดังนี้.
               ได้ยินว่า มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง บวชถวายชีวิตในศาสนาของพระศาสดา วันหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองสาวัตถี ได้เห็นหญิงคนหนึ่งตกแต่งประดับประดาสวยงาม เกิดความกำหนัดรักใคร่ ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์.
               อาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น ได้เห็นอาการดังนั้น จึงถามถึงเหตุที่ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ครั้นทราบว่า เธอมีความประสงค์จะสึก จึงพากันกล่าวว่า นี่แน่ะคุณ ธรรมดาว่าพระบรมศาสดาทรงสังหารกิเลสมีราคะเป็นต้น ทรงทรมานแล้วประกาศอริยสัจ ประทานโสดาปัตติมรรคเป็นต้น มาเถิดคุณ พวกเราจะพาไปเฝ้าพระศาสดา แล้วได้พาไป
               และเมื่อพระบรมศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุผู้ไม่มีแก่ใจมาทำไมหรือ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ. พระบรมศาสดาตรัสถามว่า ได้ยินว่าเธอกระสันจะสึกจริงหรือภิกษุ? เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสถามว่า เพราะเหตุไร? ภิกษุนั้นจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.
               ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาว่า สตรีทั้งหลายนี้ได้เคยทำความเศร้าหมองให้เกิดแม้แก่สัตว์ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายผู้ที่ข่มกิเลสได้ด้วยกำลังฌาน เหตุไฉน จักไม่ทำบุคคลผู้ไร้คุณสมบัติเช่นเธอให้เศร้าหมองเล่า ท่านผู้บริสุทธิ์ยังเศร้าหมองได้ ทั้งท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอุดมยศก็ยังถึงความเสื่อมยศได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้ไม่บริสุทธิ์เล่า ลมที่พัดภูเขาสิเนรุให้หวั่นไหว ไฉนจักไม่พัดขยะใบใม้เก่าให้กระจัดกระจายเล่า กิเลสนี้ยังก่อกวนสัตว์ผู้นั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ กำลังจะตรัสรู้ได้ ไฉนจักไม่ก่อกวนคนเช่นเธอเล่า.
               ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ครั้นเจริญวัยแล้ว ไปเล่าเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกสิลา เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ก็กลับมายังเมืองพาราณสี อยู่ครองเรือนมีบุตรภรรยา ครั้นบิดามารดาล่วงลับไป ก็ได้กระทำกิจเกี่ยวกับการตายของบิดามารดา เมื่อกระทำการตรวจตราในข้อที่ลี้ลับ จึงรำพึงว่า ทรัพย์ที่บิดามารดารวบรวมไว้ยังปรากฎอยู่ แต่บิดามารดาไม่ปรากฎ จึงมีความสลดใจ เหงื่อไหลออกจากร่างกาย เขาอยู่ครองเรือนเป็นเวลานาน ได้ให้ทานมากมาย ละกามทั้งหลาย ละหมู่ญาติผู้มีหน้านองด้วยน้ำตา เข้าป่าหิมพานต์ สร้างบรรณศาลาอยู่ในที่อันน่ารื่นรมย์ เที่ยวแสวงหารากไม้และผลไม้ในป่าเลี้ยงชีพ ไม่นานเท่าไร ก็ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น เล่นฌานอยู่มาช้านาน จึงคิดได้ว่า เราไปยังถิ่นมนุษย์จักได้เสพรสเค็มและรสเปรี้ยว เมื่อเป็นเช่นนั้น ร่างกายของเราจักแข็งแรง และจักได้เป็นการพักผ่อนของเราไปด้วย ทั้งชนเหล่าใดจักให้ภิกษาหรือจักกระทำการอภิวาทเป็นต้นแก่ผู้มีศีลเช่นกับเรา ชนเหล่านั้นจักได้ไปเกิดบนสวรรค์.
               ครั้นคิดแล้ว จึงออกจากป่าหิมพานต์ เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองพาราณสี ในเวลาใกล้ค่ำ จึงเที่ยวเลือกหาที่พักอาศัย แลเห็นพระราชอุทยานจึงคิดว่า ที่นี้สมควรแก่การหลีกเร้น เราจักพักอยู่ในที่นี้ ครั้นคิดแล้วจึงเข้าไปยังพระราชอุทยาน นั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทำเวลาราตรีให้หมดไปด้วยความสุขในฌาน.
               วันรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชำระสรีระกายแล้ว จัดแจงผูกชฎาห่มหนังเสือ และนุ่งผ้าเปลือกไม้ ถือภาชนะสำหรับภิกขาจาร สำรวมอินทรีย์สงบระงับ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ทอดจักษุดูไปชั่วแอก มีรูปสิริของตนสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง อาจดึงเอาสายตาของชาวโลกให้แลดู เดินเข้าพระนคร เที่ยวภิกขาจารไปจนถึงประตูพระราชนิเวศน์.
               พระราชากำลังเสด็จดำเนินอยู่ที่ท้องพระโรง ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทางช่องพระแกล ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของเธอ ทรงพระดำริว่า ถ้าธรรมอันสงบระงับมีอยู่ ก็คงจะมีในภายในจิตของท่านผู้นี้ จึงดำรัสสั่งอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า เจ้าจงไปนำพระดาบสนั้นมา.
               อำมาตย์นั้นไปไหว้แล้วขอรับเอาภาชนะสำหรับภิกขาจารแล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระราชารับสั่งนิมนต์ท่าน. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ พระราชาไม่ทรงรู้จักกับอาตมา อำมาตย์จึงเรียนว่า ถ้ากระนั้น ขอนิมนต์พระคุณเจ้ายับยั้งอยู่ที่นี้จนกว่ากระผมจะกลับมา แล้วกลับไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ.
               พระราชารับสั่งว่า พระดาบสรูปอื่นผู้ที่จะเข้าไปยังราชตระกูลของเรายังไม่มี เจ้าจงไปนิมนต์พระดาบสนั้นมา. ฝ่ายพระองค์เองก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไหว้ทางช่องพระแกล ตรัสว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอนิมนต์มาทางพระราชนิเวศน์นี้เถิด. พระโพธิสัตว์จึงมอบภาชนะสำหรับภิกขาจารให้อำมาตย์ถือไป แล้วก็เดินขึ้นสู่ท้องพระโรง.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงไหว้พระโพธิสัตว์นั้นแล้ว นิมนต์ให้นั่งบนราชบัลลังก์ แล้วอังคาสเลี้ยงดูด้วยข้าวยาคูของขบเคี้ยวและภัตตาหารที่เจ้าพนักงานจัดไว้สำหรับพระองค์ พระโพธิสัตว์ฉันเสร็จแล้ว จึงตรัสถามปัญหา ทรงพอพระราชหฤทัยการพยากรณ์ปัญหาของพระโพธิสัตว์ยิ่งนัก จึงนมัสการแล้วตรัสถามว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าอยู่ที่ไหน และมาจากไหน พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพอยู่ป่าหิมพานต์ และมาจากป่าหิมพานต์ จึงตรัสถามอีกว่า มาเพราะเหตุอะไร จึงทูลว่า มหาบพิตร ในฤดูกาลฝนควรจะได้การอยู่ประจำที่ ทรงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ขอนิมนต์พระคุณเจ้าพักอยู่ในพระราชอุทยาน พระคุณเจ้าจักไม่ลำบากด้วยปัจจัยทั้ง ๔ และโยมก็จักได้บุญอันจะนำตนให้ไปเกิดในสวรรค์
               ครั้นทรงทำความตกลงแล้ว และเสวยพระกระยาหารแล้ว ได้เสด็จไปพระราชอุทยานพร้อมกับพระโพธิสัตว์ รับสั่งให้ให้สร้างบรรณศาลา สร้างที่จงกรม จัดเสนาสนะที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้น ให้พร้อมเสร็จแล้ว มอบถวายบริขารสำหรับบรรพชิต แล้วตรัสว่า ขอพระคุณเจ้าจงอยู่โดยความสุขสำราญเถิด แล้วมอบนายอุทยานบาลให้ดูแล.
               ตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ได้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นเป็นเวลา ๑๒ ปี ต่อมาภายหลัง ประเทศชายแดนของพระราชาเกิดการกำเริบ พระราชามีพระประสงค์จะเสด็จไประงับเหตุการณ์นั้น จึงตรัสเรียกพระเทวีมาแล้วตรัสว่า น้องนางผู้เจริญ เจ้าควรยับยั้งอยู่ยังพระนครก่อน. พระเทวีทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ เพราะอาศัยเหตุอะไร พระองค์จึงตรัสอย่างนี้ พระราชาตรัสว่า เพราะอาศัยพระดาบสผู้มีศีล ซิน้องนางผู้เจริญ. พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักไม่ประมาทในพระดาบสนั้น การปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์เป็นภาระของหม่อมฉัน ขอพระองค์อย่าทรงกังวล จงเสด็จเถิด. พระราชาจึงเสด็จออกไป.
               ฝ่ายพระเทวีก็ตั้งใจอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์เหมือนอย่างเดิม ฝ่ายพระโพธิสัตว์หลังจากพระราชาเสด็จไปแล้ว ก็มิได้ไปตามเวลาที่เคยมา ได้ไปยังพระราชนิเวศน์กระทำภัตตกิจตามเวลาที่ตนชอบใจ. อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ชักช้าอยู่ยังไม่มา พระราชเทวีจัดแจงขาทนียโภชนียาหารทุกอย่างเสร็จแล้ว จึงโสรจสรงพระองค์ประดับพระวรกาย แล้วให้นางพนักงานแต่งเตียงน้อย บรรทมคอยดูการมาของพระโพธิสัตว์ โดยทรงนุ่งพระภูษาเนื้อเกลี้ยงอย่างหย่อนๆ.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์กำหนดว่าได้เวลาแล้ว ก็ถือภิกขาภาชนะเหาะมาจนถึงช่องพระแกลใหญ่. พระเทวีได้ทรงสดับเสียงผ้าเปลือกไม้กรองของพระโพธิสัตว์ก็เสด็จลุกขึ้นโดยพลัน พระภูษาเนื้อเกลี้ยงที่ทรงนุ่งนั้นก็หลุดลุ่ยลงทันที พระโพธิสัตว์ได้เห็นวิสภาคารมณ์มิได้สำรวมอินทรีย์ ตะลึงแลดูด้วยสามารถแห่งความงาม.
               ลำดับนั้น กิเลสของพระโพธิสัตว์ซึ่งสงบนิ่งด้วยกำลังฌานก็กำเริบขึ้น เหมือนอสรพิษที่ถูกขังอยู่ในข้อง พอออกจากข้องได้ก็แผ่พังพานขึ้นฉะนั้น. พระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้มีอาการเหมือนเวลาที่ต้นยางถูกกรีดด้วยมีดฉะนั้น. องค์ฌานทั้งหลายเสื่อมไปพร้อมกับระยะที่กิเลสเกิดขึ้น. อินทรีย์ทั้งหลายก็มิได้บริบูรณ์ ตนเองได้มีสภาพเหมือนกาปีกขาดฉะนั้น. พระโพธิสัตว์นั้นมิอาจที่จะนั่งกระทำภัตตกิจเหมือนแต่ก่อนได้ แม้พระเทวีจะตรัสบอกให้นั่งก็ไม่นั่ง.
               ลำดับนั้น พระเทวีจึงทรงใส่ขาทนียะโภชนียาหารทุกอย่างลงในภิกขาภาชนะของพระโพธิสัตว์ ก็วันนั้น พระโพธิสัตว์ไม่อาจไปเหมือนในวันก่อนๆ ซึ่งกระทำภัตตกิจแล้วก็เหาะออกไปทางสีหบัญชร ได้แต่รับภัตตาหารแล้ว เดินลงทางบันไดใหญ่ไปยังพระราชอุทยาน แม้พระเทวีก็ทรงทราบว่า พระดาบสมีจิตปฏิพัทธ์ในพระองค์.
               พระโพธิสัตว์นั้นไปถึงพระราชอุทยานแล้ว ไม่บริโภคภัตตาหารเลย เอาวางไว้ใต้เตียง นอนรำพันว่า พระหัตถ์เห็นปานนี้ของพระเทวีงาม พระบาทก็งาม นั้นพระองค์เห็นปานนี้ ลักษณะของพระอูรุเห็นปานนี้ ดังนี้เป็นต้น นอนบ่นเพ้ออยู่ถึง ๗ วัน ภัตตาหารบูด มีหมู่แมลงวันหัวเขียวตอมกันสะพรั่ง.
               ฝ่ายพระราชาทรงระงับปัจจันตชนบทได้แล้ว ก็เสด็จกลับมา ทรงกระทำประทักษิณพระนคร ซึ่งชาวเมืองตกแต่งประดับประดาไว้รับเสด็จ แต่หาได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ไม่ ได้เสด็จไปยังพระราชอุทยาน ด้วยหวังพระทัยว่าจักเยี่ยมพระโพธิสัตว์ ได้ทอดพระเนตรเห็นอาศรมบทรกรุงรังด้วยหยากเยื่อ ทรงสำคัญว่า พระดาบสจักหนีไปแล้ว จึงทรงเปิดประตูบรรณศาลา เสด็จเข้าไปข้างใน ทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นนอนอยู่ จึงทรงดำริว่า ชะรอยจะมีความไม่ผาสุกบางประการ จึงรับสั่งให้ทิ้งภัตตาหารบูด ชำระปัดกวาดบรรณศาลา แล้วตรัสถามว่า พระคุณเจ้า ท่านไม่สบายไปหรือ?
               พระดาบสทูลตอบว่า มหาบพิตร อาตมภาพถูกลูกศรเสียบแทง.
               พระราชาเข้าพระทัยว่า ชะรอยพวกปัจจามิตรของเราไม่ได้โอกาสในตัวเรา จึงมายิงพระดาบสนี้ โดยคิดว่า จักทำฐานะอันเป็นที่รักของพระราชานั้น ให้ทุรพลภาพ จึงทรงพลิกร่างกายตรวจดูรอยที่ถูกยิง ก็ไม่เห็นรอยที่ยิง จึงตรัสถามว่า ท่านถูกเขายิงที่ไหนหรือ พระคุณเจ้า.
               พระโพธิสัตว์ตรัสว่า มหาบพิตร อาตมภาพมิได้ถูกคนอื่นยิง แต่อาตมภาพยิงตัวของตัวเองแหละที่หัวใจ
               ครั้นทูลแล้ว จึงลุกขึ้นนั่งกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               อาตมภาพถูกแทงที่หัวใจ ด้วยลูกศรนั้นอันกำซาบด้วยราคะเกิดจากความดำริ อันลับด้วยวิตกคือความดำริ อันนายช่างมิได้ตกแต่งให้เรียบร้อย
               อันนายช่างศรมิได้ทำ ยังไม่พ้นหมวกหู ทั้งยังไม่ติดขนนกยูง แต่ทำความเร่าร้อนให้ทั่วสรรพางค์กาย
               อาตมภาพไม่เห็นรูแผลที่เลือดไหลออก ลูกศรนั้นแทงจิตที่ไม่แยบคายได้มั่นเหมาะ ความทุกข์นี้อาตมภาพนำมาด้วยตนเอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺกปฺปราคโธเตน ความว่า กำซาบด้วยราคะอันประกอบพร้อมด้วยความดำริตริตรึกในกาม.
               บทว่า วิตกฺกนิสิเตน ความว่า อันลับด้วยหินคือความดำริ ด้วยน้ำคือราคะนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า เนวาลงฺกตภทฺเรน ความว่า อันนายช่างมิได้ทำให้เกลี้ยงเกลา.
               บทว่า น อุสุการกเตน จ ความว่า แม้ช่างศรทั้งหลายก็ยังมิได้ดัด.
               บทว่า น กณฺณายตมุตฺเตน ความว่า ยังไม่ดึงสายมาให้พ้นหมวกหูขวาเป็นกำหนด.
               บทว่า น ปิ โมรุปเสวินา ความว่า ยังมิได้ทำการติดขนปีกนกยูง และขนปีกนกแร้งเป็นต้น.
               บทว่า เตนมฺหิ หทเย วิทฺโธ ความว่า ถูกลูกศรคือกิเลสนั้นเสียบแทงที่หัวใจ.
               ด้วยบทว่า สพฺพงฺคปริฬาหินา นี้ ท่านแสดงว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพถูกแทงที่หัวใจด้วยลูกศรคือกิเลสนั้น อันสามารถทำให้อวัยวะทั้งปวงเร่าร้อน ตั้งแต่เวลาที่อาตมภาพถูกลูกศรนั้นแทงแล้ว อวัยวะทุกส่วนของอาตมภาพเร่าร้อน เหมือนไฟติดไปทั่วฉะนั้น.
               บทว่า อาเวธญฺจ น ปสฺสามิ ความว่า อาตมภาพไม่เห็นที่ที่ลูกศรแทง.
               บทว่า ยโต รุหิรมสฺสเว ความว่า เลือดของอาตมภาพไหลออกจากรูแผลใด อาตมภาพไม่เห็นแผลนั้น.
               ศัพท์ว่า ยาว ในบทว่า ยาว อโยนิโส จิตฺตํ นี้เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่ามั่นคง. อธิบายว่า ลูกศรแทงจิตที่คิดโดยไม่แยบคายได้อย่างมั่นเหมาะเหลือเกิน.
               บทว่า สยํ เม ทุกฺขมาภตํ ความว่า อาตมภาพนำทุกข์มาให้แก่ตนด้วยตนเองทีเดียว.

               พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมแก่พระราชาด้วยคาถา ๓ คาถานี้อย่างนี้แล้ว จึงทูลให้พระราชาเสด็จออกประทับภายนอกบรรณศาลา แล้วกระทำกสิณบริกรรมทำฌานที่เสื่อมให้เกิดขึ้นแล้ว ออกจากบรรณศาลา เหาะขึ้นไปนั่งอยู่กลางอากาศ โอวาทพระราชาเสร็จแล้วทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพจักไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม แม้พระราชาจะตรัสว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ อย่าไปเลย ก็ทูลชี้แจงว่า มหาบพิตร เพราะอาตมภาพอยู่ในที่นี้ จึงได้รับอาการอันผิดแผกเห็นปานนี้ บัดนี้ ไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ต่อไป ทั้งๆ ที่พระราชาทรงอ้อนวอนอยู่นั่นเอง ก็เหาะไปป่าหิมพานต์ดำรงอยู่จนตลอดอายุ ในเวลาสิ้นสุดอายุก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก.
               ในเวลาจบสัจจกถา ภิกษุผู้กระสันจะสึก ก็ได้ดำรงอยู่ในพระอรหัต บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี.
               พระราชาในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนดาบสคือ เราตถาคต ฉะนี้แล.
               จบ อรรถกถาสังกัปปราคชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังกัปปราคชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270350อรรถกถาชาดก 270352
เล่มที่ 27 ข้อ 352อ่านชาดก 270355อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1986&Z=1998
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]