ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270808อรรถกถาชาดก 270813
เล่มที่ 27 ข้อ 813อ่านชาดก 270818อ่านชาดก 272519
อรรถกถา มูสิกชาดก
ว่าด้วย ควรเรียนทุกอย่างแต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรู จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กุหึ คตา กตฺถ คตา ดังนี้
               เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารมาแล้วใน ถุสชาดก ในหนหลังนั่นแล.
               ส่วนในชาดกนี้ พระศาสดาทรงเห็นพระราชาทรงหยอกเล่นกับพระโอรสพลาง ทรงฟังธรรมพลางอย่างนั้น ทรงทราบว่า ภัยจักเกิดขึ้นแก่พระราชา เพราะอาศัยพระโอรสนั้น จึงตรัสว่า มหาบพิตร พระราชาครั้งเก่าก่อนทั้งหลายทรงรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ ได้ทรงกระทำโอรสของพระองค์ไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยทรงดำริว่า พระโอรสจงครองราชสมบัติในเวลาเราแก่ชราตามัว.
               แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ในเมืองตักกสิลา ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์.
               โอรสของพระเจ้าพาราณสี พระนามว่ายวกุมาร ได้เรียนศิลปะทุกอย่างในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น แล้วให้การซักถาม คือทดสอบวิชาแล้ว ประสงค์จะกลับมาบ้านเมือง จึงอำลาอาจารย์นั้น.
               อาจารย์รู้ได้ด้วยอำนาจวิชาดูอวัยวะว่า อันตรายจักมีแก่กุมารนี้ เพราะอาศัยบุตรเป็นเหตุ คิดว่าเราจักบำบัดอันตรายของพระกุมารนั้น จึงเริ่มไตร่ตรองหาข้อเปรียบเทียบสักข้อหนึ่ง.
               ก็ในกาลนั้น ม้าของอาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้นมีอยู่ตัวหนึ่งแผลเกิดขึ้นที่เท้าของม้านั้น. พวกคนเลี้ยงม้าจึงกระทำม้าตัวนั้นไว้เฉพาะในเรือน เพื่อจะตามรักษาแผล. ในที่ไม่ไกลเรือนนั้นมีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่ง ครั้งนั้น หนูตัวหนึ่งออกจากเรือนกัดแผลที่เท้าของม้า. ม้าไม่สามารถจะห้ามมันได้.
               วันหนึ่ง ม้านั้นไม่อาจอดกลั้นเวทนาได้ จึงเอาเท้าดีดหนูซึ่งมากัดกินแผลให้ตายตกลงไปในบ่อน้ำ. พวกคนเลี้ยงม้าไม่เห็นหนูมาจึงกล่าวกันว่า ในวันอื่นๆ หนูมากัดแผล บัดนี้ไม่ปรากฏ มันไปเสียที่ไหนหนอ. พระโพธิสัตว์กระทำเหตุนั้นให้ประจักษ์แล้ว กล่าวว่าคนอื่นๆ ไม่รู้ จึงพากันกล่าวว่า หนูไปเสียที่ไหน แต่เราเท่านั้นย่อมรู้ว่า หนูถูกม้าฆ่าแล้วดีดลงไปในบ่อน้ำ.
               พระโพธิสัตว์นั้นจึงกระทำเหตุนี้นั่นแหละให้เป็นข้อเปรียบเทียบแล้วประพันธ์เป็นคาถาที่หนึ่งมอบให้แก่พระราชกุมาร.
               พระโพธิสัตว์นั้นไตร่ตรองหาข้อเปรียบเทียบข้ออื่นอีก ได้เห็นม้าตัวนั้นแหละมีแผลหายแล้ว ออกไปที่ไร่ข้าวเหนียวแห่งหนึ่ง แล้วสอดปากเข้าไปทางช่องรั้ว ด้วยหวังว่าจักกินข้าวเหนียว จึงกระทำเหตุนั้นแหละให้เป็นข้อเปรียบเทียบ แล้วประพันธ์เป็นคาถาที่ ๒ มอบให้แก่พระราชกุมารนั้น.
               ส่วนคาถาที่ ๓ พระโพธิสัตว์ประพันธ์โดยกำลังปัญญาของตน มอบคาถาที่ ๓ แม้นั้นให้แก่พระราชกุมารนั้น แล้วกล่าวว่า ดูก่อนพ่อ เธอดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว เวลาเย็นเมื่อจะไปสระโบกขรณีสำหรับสรงสนาน พึงเดินท่องบ่นคาถาที่ ๑ ไปจนถึงบันใดอันใกล้ เมื่อจะเข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่อยู่ของเธอ พึงเดินท่องบ่นคาถาที่ ๒ ไปจนถึงที่ใกล้เชิงบันใด ต่อจากนั้นไป พึงเดินท่องบ่นคาถาที่ ๓ ไปจนถึงหัวบันใด ครั้นกล่าวแล้วจึงส่งพระกุมารไป.
               พระกุมารนั้น ครั้นไปถึงแล้วได้เป็นอุปราช เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว ได้ครองราชสมบัติ. โอรสองค์หนึ่งของพระองค์ประสูติแล้ว พระโอรสนั้นในเวลามีพระวัสสา ๑๖ ปี คิดว่าจักปลงพระชนม์พระบิดา เพราะความโลภในราชสมบัติ จึงตรัสกะอุปัฏฐาก (มหาดเล็ก) ทั้งหลายว่า พระบิดาของเรายังหนุ่ม เราคอยเวลาถวายพระเพลิงพระบิดานี้ จักเป็นคนแก่คร่ำคร่าเพราะชรา ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติแม้ที่ได้ในกาลเช่นนั้น.
               อุปัฏฐากเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ไม่อาจไปยังประเทศชายแดน แล้วกระทำความเป็นโจร พระองค์จงปลงพระชนม์พระบิดาของพระองค์ด้วยอุบายบางอย่าง แล้วยึดเอาราชสมบัติ. พระโอรสนั้นรับว่าได้ แล้วไปยังที่ใกล้สระโบกขรณีสำหรับสรงสนานตอนเย็นของพระราชา ในภายในพระราชนิเวศน์ ได้ถือพระขรรค์ยืนอยู่ด้วยตั้งใจว่า จักฆ่าพระบิดานั้น ณ ที่นี้.
               ในเวลาเย็น พระราชาทรงสั่งนางทาสีชื่อหนูไปด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงไปชำระหลังสระโบกขรณีให้สะอาด แล้วจงมา เราจักอาบน้ำ. นางทาสีนั้นไปชำระหลังสระโบกขรณีอยู่ เห็นพระกุมาร. พระกุมารจึงฟันนางทาสีนั้นขาด ๒ ท่อน แล้วทิ้งให้ตกลงไปในสระโบกขรณี เพราะกลัวว่า กรรมของตนจะปรากฏขึ้น.
               พระราชาได้เสด็จไปเพื่อจะสรงสนาน. ชนที่เหลือกล่าวว่า แม้จนวันนี้นางหนูผู้เป็นทาสียังไม่กลับมา นางหนูไปไหน ไปที่ไร.
               พระราชาตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               คนพร่ำบ่นอยู่ว่า นางหนูไปไหน นางหนูไปไหน เราคนเดียวเท่านั้นรู้ว่า นางหนูตายอยู่ในบ่อน้ำดังนี้.


               พระองค์ได้เสด็จไปถึงฝั่งสระโบกขรณี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุหึ คตา กตฺถ คตา เป็นคำไวพจน์ของกันและกัน.
               บทว่า อิติ ลาลปฺปตี ได้แก่ บ่นเพ้ออยู่อย่างนั้น. ดังนั้น คาถานี้แสดงเนื้อความนี้แก่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบเลยแหละว่า ชนผู้ไม่รู้ย่อมพร่ำบ่นว่า นางหนูผู้เป็นทาสีไปไหน แต่เราผู้เดียวเท่านั้นรู้ว่า นางหนูถูกพระราชกุมารฟันขาดสองท่อน แล้วโยนให้ตกลงในสระโบกขรณี.

               พระราชาได้เสด็จดำเนินตรัสคาถาที่ไปถึงฝั่งสระโบกขรณี พระกุมารคิดว่า พระบิดาของเราได้ทรงทราบกรรมที่เรากระทำไว้จึงกลัวหนีไปบอกเรื่องนั้นแก่พวกอุปัฏฐาก.
               พอล่วงไป ๗-๘ วัน อุปัฏฐากเหล่านั้นจึงทูลพระกุมารนั้นอีกว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าพระราชาจะทรงทราบไซร้ จะไม่ทรงนิ่งไว้ ก็คำนั้นคงจะเป็นคำที่พระราชานั้นตรัสโดยทรงคาดคะเนเอา พระองค์จงปลงพระชนม์พระบิดานั้นเถิด.
               วันรุ่งขึ้น พระกุมารนั้นถือพระขรรค์ประทับยืนที่ใกล้เชิงบันใด ในเวลาพระราชาเสด็จมา ทรงมองหาโอกาสที่จะประหารไปรอบด้าน.
               พระราชาได้เสด็จดำเนินสาธยายคาถาที่ ๒ ว่า :-
               เหตุใดท่านจึงคิดอย่างนี้ และมองหาโอกาสจะประหารทางโน้นทางนี้ แล้วกลับไปเสมือนลา เพราะฉะนั้น เราจึงรู้ว่า ท่านฆ่าทาสีชื่อว่านางหนูตายทิ้งไว้ในบ่อน้ำ วันนี้ยังปรารถนาจะบริโภคโภชนะข้าวเหนียวอีกหรือ.


               แม้คาถานี้ก็แสดงเนื้อความนี้ สำหรับพระราชาผู้ไม่ทรงทราบเลยว่า เพราะเหตุที่นั้นคิดอย่างนี้ และมองหาโอกาสจะประหารอยู่ทางโน้นทางนี้ แล้วกลับไปเสมือนลาฉะนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงรู้จักท่านว่า วันก่อนท่านฆ่าทาสีชื่อนางหนูที่สระโบกขรณี*(ตรงนี้น่าจะเป็นว่า “วันนี้ ยังปรารถนาจะฆ่าพระเจ้ายวราชอีก”) วันนี้ ยังปรารถนาจะบริโภคโภชนะข้าวเหนียวอีก.*

               พระกุมารสะดุ้งพระทัยหนีไปด้วยคิดว่า พระบิดาเห็นเราแล้ว. พระกุมารนั้นให้เวลาล่วงไปประมาณกึ่งเดือนแล้วคิดว่า จักเอาท่อนไม้ประหารพระราชาให้ตาย จึงถือท่อนไม้สำหรับประหารท่อนหนึ่งมีด้ามยาวแล้วได้ยืนกุมอยู่.
               พระราชาตรัสว่า :-
               แน่ะเจ้าผู้โง่เขลา เจ้ายังเป็นเด็กอ่อน ตั้งอยู่ในปฐมวัย มีผมดำสนิท มายืนถือท่อนไม้ยาวนี้อยู่ เราจะไม่ยอมยกชีวิตให้แก่เจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฐมุปฺปตฺติโต*(บาลี เป็น ปฐมุปฺปตฺติโก) ได้แก่ อุบัติ คือประกอบด้วยปฐมวัย. อธิบายว่า ตั้งอยู่ในปฐมวัย.
               บทว่า สุสู แปลว่า ยังเป็นหนุ่ม.
               บทว่า ทีฆํ ได้แก่ ท่อนไม้สำหรับประหารมีด้ามยาว.
               บทว่า สมาปชฺช ความว่า เจ้ามายืนถือกุมไว้.
               คาถาแม้นี้ก็ข่มขู่พระกุมาร แสดงเนื้อความนี้สำหรับพระราชาผู้ไม่รู้นั่นแลว่า เจ้าคนโง่เจ้าจักไม่ได้บริโภคข้าวเหนียวของตน บัดนี้ เราจักไม่ให้ชีวิตแก่เจ้าผู้ไม่มีความละอาย เราจักฆ่าตัดให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ แล้วให้เสียบไว้บนหลาวนั่นแหละ.

               พระราชาทรงสาธยายคาถาที่ ๓ พลางขึ้นถึงหัวบันใด. วันนั้น พระกุมารนั้นไม่อาจหลบหนี กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์โปรดประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า แล้วหมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระราชา.
               พระราชาทรงคุกคามพระกุมารนั้นแล้ว ให้จองจำด้วยโซ่ตรวน แล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ ทรงนั่งเหนือราชอาสน์ที่ประดับประดา ณ ภายใต้เศวตฉัตร ทรงดำริว่า พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้อาจารย์ของเรา เห็นอันตรายนี้แก่เรา จึงได้ให้คาถา ๓ คาถานี้ จึงร่าเริงยินดี.
               เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงได้ตรัสคาถาที่เหลือว่า :-
               เราเป็นผู้อันบุตรปรารถนาจะฆ่าเสีย จะพ้นจากความตายเพราะภพในอากาศ หรือเพราะบุตรที่รักเปรียบด้วยอวัยวะก็หาไม่ เราพ้นจากความตายเพราะคาถาที่อาจารย์ผูกให้.
               บุคคลควรเรียนวิชาที่ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเลว ดี หรือปานกลาง บุคคลควรรู้ประโยชน์ของวิชาที่เรียนทั้งหมด แต่ไม่ควรประกอบใช้ทั้งหมด ศิลปะที่ศึกษาแล้วนำประโยชน์มาให้ในเวลาใด แม้เวลาเช่นนั้นย่อมจะมีแท้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานฺตลิกฺขภวเนน ความว่า ทิพยวิมานเรียกว่าภพในอากาศ วันนี้ เรามิได้ขึ้นแม้สู่ภพในอากาศ เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้พ้นจากความตายในวันนี้ แม้เพราะภพในอากาศ.
               บทว่า นางฺคปุตฺตสิเรน วา ความว่า หรือว่า เรามิได้พ้นจากความตาย แม้เพราะบุตรอันเห็นเสมอด้วยอวัยวะ.
               บทว่า ปุตฺเตน หิ ปฏฺฐยิโต ความว่า ก็เราอันบุตรของตนเองปรารถนาจะฆ่าในวันนี้.
               บทว่า สิโลเกหิ ปโมจิโต ความว่า เรานั้นเป็นผู้พ้นจากความตาย เพราะคาถาทั้งหลายที่อาจารย์ของตนประพันธ์ให้มา.
               บทว่า สุตํ ได้แก่ ปริยัติการเล่าเรียน.
               บทว่า อธีเยถ ได้แก่ พึงเรียน คือศึกษาเอา.
               ด้วยบทว่า หีนมุกฺกฏฺฐมชฺฌิมํ นี้ ท่านแสดงว่า วิชาที่เรียนไม่ว่าจะต่ำ ปานกลาง หรือชั้นสูงก็ตาม บุคคลควรเรียนทั้งหมด.
               บทว่า น จ สพฺพํ ปโยชเย ความว่า ไม่ควรประกอบใช้มนต์ชั้นต่ำ หรือศิลปะชั้นกลาง ควรประกอบใช้แต่ชั้นสูงเท่านั้น.
               บทว่า ยตฺถ อตฺถาวหํ สุตํ ความว่า ศิลปะที่ได้ศึกษาแล้วชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่นการปั้นหม้อของมโหสถบัณฑิต ย่อมนำประโยชน์มาให้ในกาลใด กาลแม้นั้นย่อมจะมีทีเดียว.

               ในกาลต่อมา เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว พระกุมารก็ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               ก็อาจารย์ทิศาปาโมกข์ในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
               จบ อรรถกถามูสิกชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มูสิกชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270808อรรถกถาชาดก 270813
เล่มที่ 27 ข้อ 813อ่านชาดก 270818อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3760&Z=3776
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]