ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271129อรรถกถาชาดก 271137
เล่มที่ 27 ข้อ 1137อ่านชาดก 271146อ่านชาดก 272519
อรรถกถา สุลสาชาดก
ว่าด้วย ผู้รอบรู้เหตุผลย่อมรอดพ้นศัตรู
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภนางทาสีของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิทํ สุวณฺณกายูรํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในวันที่มีการเล่นมหรสพ วันหนึ่ง เมื่อนางทาสีนั้นจะไปสวนกับหมู่นางทาสี ได้ขอเครื่องแต่งตัวกะนางบุญลักษณเทวีผู้เป็นนายของตน. นางบุญลักษณเทวีได้ให้เครื่องแต่งตัวของตน ซึ่งมีราคาถึงหนึ่งแสนแก่นางทาสีนั้น นางประดับเครื่องแต่งตัวนั้นแล้วไปสวนกับหมู่นางทาสี.
               ครั้งนั้น โจรคนหนึ่งเกิดความโลภในเครื่องแต่งตัวของนางทาสี คิดว่า เราจักฆ่าหญิงนี้แล้ว ขโมยเครื่องแต่งตัวไป ได้เดินเจรจากับนางทาสีไปจนถึงสวน แล้วได้ให้ปลาเนื้อ และสุราเป็นต้นแก่นางทาสี.
               นางทาสีคิดว่า ชะรอยชายผู้นี้จะให้ของด้วยอำนาจกิเลส จึงรับเอาไว้แล้วเที่ยวเล่นในสวน เพื่อจะทดลองดูให้รู้แน่ ในเวลาเย็นได้ปลุกหมู่นางทาสี ที่นอนหลับให้ลุกขึ้น แล้วตนได้ไปสู่สำนักโจรนั้น. โจรนั้นกล่าวว่า น้องรักที่ตรงนี้ไม่มิดชิด เราเดินไปข้างหน้าอีกหน่อยเถิด. นางได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า ที่นี้ก็อาจทำความลับกันได้ แต่ชายผู้นี้ประสงค์จะฆ่าเราขโมยเครื่องแต่งตัวเป็นแน่ เอาเถิดเราจักให้เขาสำนึกให้จงได้ จึงกล่าวว่า นาย ฉันอ่อนเพลียเพราะเมาสุรา ท่านจงหาน้ำดื่มให้ฉันดื่มก่อน แล้วก็พาไปที่บ่อน้ำแห่งหนึ่ง บอกว่า จงตักน้ำจากบ่อนี้มาให้ฉัน แล้วชี้เชือกและหม้อน้ำให้.
               โจรเอาเชือกผูกหม้อน้ำ แล้วหย่อนลงบ่อ. ครั้นโจรก้มหลังจะตักน้ำ นางทาสีผู้มีกำลังมาก จึงใช้มือทั้งสองทุบตะโพก แล้วจับเหวี่ยงลงไปในบ่อ แล้วกล่าวว่า เพียงเท่านี้ ท่านจักยังไม่ตาย จึงได้เอาอิฐแผ่นใหญ่ทุ่มลงไปบนกระหม่อมอีกแผ่นหนึ่ง โจรตายในบ่อนั้นเอง.
               นางทาสีกลับเข้าพระนคร มอบเครื่องแต่งตัวให้แก่นาย แล้วเล่าว่า นายวันนี้ ฉันจวนตายเพราะอาศัยเครื่องแต่งตัวนี้ แล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้นายฟัง. นางบุญลักษณเทวีได้เล่าแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี. อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้กราบทูลพระตถาคต
               พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางทาสีนั้นประกอบไปด้วยปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ แม้ในกาลก่อน นางก็ประกอบไปด้วยปัญญาเหมือนกัน และมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่นางทาสีนั้นฆ่าโจร แม้ในกาลก่อน นางทาสีก็ได้ฆ่าโจรนั้นเหมือนกัน
               อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลให้ตรัสเรื่องราว จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี หญิงนครโสเภณีคนหนึ่งชื่อสุลสา มีนางวรรณทาสีห้าร้อยเป็นบริวาร ผู้ที่จะมาร่วมกับนางต้องเสียเงินพัน.
               ในพระนครนั้นมีโจรชื่อสัตตุกะ มีกำลังเท่าช้างสาร เวลากลางคืนเข้าไปยังเรือนของอิสรชน ปล้นเอาตามใจชอบ. ชาวเมืองประชุมกันร้องทุกข์แด่พระราชา พระราชาทรงบังคับผู้รักษาเมืองให้วางคนไว้เป็นหมู่ๆ ตามที่นั้นๆ รับสั่งให้ช่วยกันจับโจรตัดหัวเสีย. ผู้รักษาเมืองจับโจรนั้นมัดมือไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยหวาย ทีละ ๔ นำไปสู่ตะแลงแกง.
               มีข่าวลือไปทั่วพระนครว่า จับโจรได้แล้ว.
               ครั้งนั้น นางสุลสายืนอยู่ที่หน้าต่าง แลดูระหว่างถนนเห็นโจรเข้าก็มีจิตรักใคร่ คิดว่า ถ้าเราจักสามารถทำบุรุษที่ถูกจับหาว่า เป็นโจรนี้ให้พ้นไปได้ เราจักอยู่ร่วมกับเขาคนเดียวโดยไม่กระทำกรรมที่เศร้าหมอง เช่นที่แล้วมา คิดดังนี้แล้ว นางได้ติดสินบนพันกหาปณะแก่ผู้รักษาเมือง
               ตามนัยที่กล่าวแล้วในกณเวรชาดก ในหนหลัง.
               ให้โจรนั้นหลุดพ้นแล้ว นางได้ร่วมอภิรมย์กับโจรนั้น. ครั้นล่วงมาได้สามสี่เดือน โจรคิดว่า เราไม่อาจอยู่ที่นี้ได้ และก็ไม่อาจจะไปมือเปล่า เครื่องแต่งตัวของนางสุลสานี้มีราคาถึงหนึ่งแสน เราฆ่านางแล้วจักเอาเครื่องแต่งตัวนี้ไป.
               อยู่มาวันหนึ่ง เขากล่าวกะนางว่า น้องรัก เมื่อราชบุรุษเขาจับตัวพี่นำมา พี่ได้บนบานจะถวายพลีกรรมแก่รุกขเทวดาที่ยอดเขาโน้น เมื่อรุกขเทวดาไม่ได้พลีกรรม ก็จะมาเบียดเบียนพี่ส่งไป. โจรกล่าวว่า น้องรัก การส่งไปนั้นไม่สมควรแก่เราทั้งสอง ต้องประดับร่างกายด้วยสรรพาภรณ์ ไปถวายพลีกรรมด้วยบริวารใหญ่. นางกล่าว ดีแล้วพี่ เราจักกระทำตามนั้น.
               ลำดับนั้น โจรให้นางจัดหาของเสร็จตามที่ตกลงกันแล้ว ในเวลาที่เดินทางไปถึงเชิงเขา จึงกล่าวว่า น้องรัก รุกขเทวดาเห็นคนมามากจักไม่รับพลีกรรม เราขึ้นไปถวายกันเพียงสองคนเถิด. โจรนั้นครั้นนางรับคำแล้ว จึงให้นางแบกถาดเครื่องพลี ตนเองเหน็บอาวุธห้าชนิด ขึ้นยอดภูเขาให้นางวางถาดเครื่องพลีที่โคนต้นไม้ซึ่งเกิดที่ปากเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ แล้วกล่าวว่า น้องรัก พี่ไม่ได้มาเพื่อพลีกรรม แต่หมายจะฆ่าเธอแล้วเอาเครื่องแต่งตัวของเธอไป จึงได้มา เธอจงเปลื้องเครื่องแต่งตัวของเธอออกห่อผ้าสาฎก
               นางถามว่า พี่จะฆ่าฉันทำไม?
               โจรกล่าวว่า เพื่อต้องการทรัพย์.
               นางกล่าวว่า พี่จงระลึกถึงคุณที่ฉันทำไว้ ฉันเปลี่ยนแปลงพี่ซึ่งถูกเขามัด นำมาให้เป็นลูกเศรษฐี ให้ทรัพย์มาก ให้ได้ชีวิต แม้ฉันเองจะได้ทรัพย์วันละพันกหาปณะ ก็ยังไม่เหลียวแลชายอื่น ฉันมีอุปการะแก่พี่ถึงเพียงนี้ ขอพี่อย่าได้ฆ่าฉันเลย ฉันจะให้ทรัพย์แก่พี่อีกเป็นจำนวนมาก และจะเป็นคนรับใช้ของพี่ด้วย ดังนี้
               เมื่อจะวิงวอนโจรนั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า :-
               สร้อยคอทองคำนี้ มีแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์เป็นอันมาก ตลอดจนทรัพย์นับเป็นพันทั้งหมด ข้าพเจ้ายกให้ท่าน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงประกาศข้าพเจ้าว่าเป็นทาสีเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายูรํ ได้แก่ สร้อยสำหรับสวมประดับที่คอ.
               บทว่า สาวยา ความว่า ท่านจงประกาศในท่ามกลางมหาชน ยึดข้าพเจ้าเป็นทาสีเถิด.

               ต่อจากนั้น เมื่อโจรสัตตุกะกล่าวคาถาที่สองตามอัธยาศัยของตน ความว่า :-
               แน่ะแม่คนงาม เจ้าจงเปลื้องเครื่องประดับออก อย่ามัวร่ำไรให้มากไปเลย เราไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น เรานำเจ้ามาเพื่อทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น.


               ดังนี้แล้ว นางสุลสาฉุกคิดถึงเหตุที่จะเอาตัวรอดได้ คิดว่า โจรนี้จักไม่ยอมละชีวิตเรา เราจักใช้อุบายนี้ผลักโจรนี้ให้ตกลงในเหว ให้ตายเสียก่อน ดังนี้แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า:-
               ฉันมานึกถึงตัวเอง แต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่ได้รู้จักรักชายอื่น ยิ่งไปกว่าท่านเลย.
               ขอเชิญท่านนั่งลง ฉันจักขอกอดท่านให้สมรัก และจักกระทำประทักษิณแก่ท่านเสียก่อน เพราะว่าต่อแต่นี้ไป การคบหากันระหว่างฉันกับท่าน จะไม่มีอีก.


               สัตตุกโจรรู้ไม่ทันความประสงค์ของนาง จึงกล่าวว่า ดีแล้วน้องรัก จงมากอดรัดฉันเถิด.
               นางสุลสาทำประทักษิณโจร ๓ ครั้งแล้วกอดรัด กล่าวว่า พี่จ๋า ที่นี้ฉันจักไหว้พี่ที่ข้างทั้ง ๔ ด้าน แล้วนางก็ก้มศีรษะลงที่หลังเท้าไหว้ข้างซ้าย ข้างขวา แล้วทำเป็นไปไหว้ข้างหลัง นางเป็นหญิงแพศยามีกำลังเท่าช้างสาร จึงรวบแขนทั้งสองของโจรเข้าไว้ กดหัวลง โยนลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ. โจรได้แหลกละเอียดตายลงในเหวนั้นเอง
               เทวดาที่สิงสถิตอยู่ยอดภูเขาได้เห็นกิริยาอาการนั้น ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ความว่า :-
               ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาด ในที่นั้นๆ ได้.
               ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาดำริเหตุผลได้รวดเร็ว.
               นางสุลสา หญิงแพศยายืนอยู่ ณ ที่ใกล้โจร คิดอุบายจะฆ่าโจร ได้ฆ่าโจรสัตตุกะได้รวดเร็ว เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด ฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้วฉะนั้น.
               ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุผลที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน ผู้นั้นมีปัญญาเขลา ย่อมถูกฆ่าตายเหมือนโจร ถูกฆ่าตายที่ซอกภูเขาฉะนั้น.
               ในโลกนี้ ผู้ใดย่อมรอบรู้เหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้นจากความเบียดเบียนของศัตรูได้ เหมือนนางสุลสาหญิงแพศยาหลุดพ้นไปจากโจรสัตตุกะฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิตา โหติ ความว่า แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาดในที่นั้นๆ ได้. อีกอย่างหนึ่ง แม้หญิงเป็นทั้งบัณฑิตด้วย เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดในที่นั้นๆ ด้วย.
               บทว่า ลหุมตฺถํ วิจินฺติกา ความว่า แม้หญิงก็เป็นบัณฑิตมีปัญญาดำริเหตุผลได้รวดเร็ว.
               บทว่า ลหุญฺจ วต ความว่า ไม่ช้าเลยหนอ.
               บทว่า ขิปฺปญฺจ ความว่า โดยเวลาไม่นานเลย.
               บทว่า นิกฏฺเฐ สมเจตยิ ความว่า นางสุลสายืนอยู่ใกล้โจร คิดอุบายให้โจรนั้นตายได้รวดเร็ว.
               บทว่า ปุณฺณายตเนว ความว่า เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ย่อมฆ่าเนื้อได้โดยว่องไวฉันใด นางสุลสาฆ่าโจรสัตตุกะได้ ก็ฉันนั้น.
               บทว่า โยธ ได้แก่ ในสัตวโลกนี้.
               บทว่า นิพฺโพธติ แปลว่า ย่อมรู้.
               บทว่า สตฺตุกามิว ความว่า ผู้นั้นย่อมพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู ดังนางสุลสาพ้นมือสัตตุกโจรได้ฉะนั้น.

               นางสุลสาฆ่าโจรได้แล้วลงจากภูเขาไปสำนักพวกบริวารชนของตน ถูกถามว่า ลูกเจ้าหายไปไหน? นางตอบว่า อย่าถามถึงมันเลย แล้วขึ้นรถเข้าไปยังพระนครทันที ดังกล่าวมานี้.

               พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงจบลงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               สามีภรรยาทั้งสองในครั้งนั้น ได้มาเป็น สามีภรรยาคู่นี้เอง
               ส่วนเทวดา ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
               จบอรรถกถาสุลสาชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สุลสาชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 271129อรรถกถาชาดก 271137
เล่มที่ 27 ข้อ 1137อ่านชาดก 271146อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4849&Z=4873
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]