ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280020อรรถกถาชาดก 280052
เล่มที่ 28 ข้อ 52อ่านชาดก 280066อ่านชาดก 281045
อรรถกถา มหาโพธิชาดก
ว่าด้วย ปฏิปทาของผู้นำ

หน้าต่างที่   ๒ / ๒.

               เมื่อจะทำลายวาทะของอเหตุกวาทีของอำมาตย์นั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นไปตามคติที่ดี และตามสภาพ สัตว์กระทำกรรม ที่ไม่ควรทำบ้าง ที่ควรทำบ้าง เพราะความไม่ใคร่ในกรรมที่สัตว์กระทำ สัตว์อะไรในโลกนี้ จะเปื้อนด้วยบาปเล่า
               ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่านนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงามไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทีรณา แปลว่า ถ้อยคำ.
               บทว่า สงฺคตฺยา ได้แก่ ทางไปที่ดี คือด้วยการเข้าถึงอภิชาตินั้นๆ ในบรรดาอภิชาติทั้ง ๖ อย่าง.
               บทว่า ภาวายมนุวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปตามภาวะ เป็นสัมปทานะ ใช้ในอรรถแห่งกรณะ.
               บทว่า อกามา คือ ไม่มีความปรารถนา ไม่มีความอยากได้.
               บทว่า อกรณียํ วา ได้แก่ ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ.
               บทว่า กรณียํ วา ได้แก่ กุศลเป็นสิ่งที่ควรทำ.
               บทว่า กุพฺพติ แปลว่า ย่อมกระทำ.
               คำว่า กฺวิธ ตัดบทเป็น โก อิธ แปลว่า ใครในโลกนี้.
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               ท่านเป็นอเหตุวาที เป็นผู้มีความเห็นเป็นต้นว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ จึงกล่าวว่า โลกนี้ย่อมเปลี่ยนไป คือ ย่อมแปรไปตามคติที่ดี และตามสภาพ เสวยสุขและทุกข์ในที่นั้นๆ และสัตว์ผู้ไม่มีความใคร่ ย่อมทำบาปบ้าง บุญบ้าง ด้วยว่า คำของท่านนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อบาปที่สัตว์ทำด้วยไม่มีความใคร่ (ในบาป) มีอยู่ หากเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของตน สัตว์อะไรในโลกนี้ย่อมเปื้อนด้วยบาป. ก็ถ้าสัตว์ย่อมเปื้อนด้วยบาปที่ตนมิได้กระทำแล้ว ใครๆ ไม่พึงเปื้อนด้วยบาปไม่มีเลย.
               บทว่า โส เจ อธิบายว่า เนื้อความแห่งภาษิตของท่าน คือวาทะที่ว่าไม่มีเหตุนั้น ถ้าเป็นเนื้อความที่มีประโยชน์ ส่องถึงประโยชน์ เป็นธรรมเป็นเนื้อความที่ดีไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านผู้เจริญที่ว่า สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง ย่อมเสวยสุขและทุกข์เอง นี้เป็นความจริง วานรก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว โทษอะไรในข้อนี้จะพึงมีแก่เรา.
               บทว่า วิชานิย ความว่า ดูก่อนสหาย ก็ถ้าท่านพึงรู้ถึงความผิดแห่งวาทะของตนไซร้ ท่านก็ไม่พึงติเตียนเรา
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะว่า วาทะของท่านผู้เจริญเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ท่านพึงสรรเสริญเราว่า ผู้นี้ทำตามวาทะของเรา แต่เมื่อไม่รู้วาทะของตน ก็ย่อมติเตียนเรา.

               พระมหาสัตว์ข่มปราบอำมาตย์นั้น ได้ทำให้เป็นคนหมดปฏิภาณ ด้วยประการฉะนี้. แม้พระราชาพระองค์นั้นก็ทรงเก้อเขินในท่ามกลางบริษัท ประทับนั่งพระศอตกอยู่.
               แม้พระมหาสัตว์พอทำลายวาทะแห่งอเหตุวาทีอำมาตย์นั้นแล้ว จึงเรียกอิสรกรณวาทีอำมาตย์มาแล้ว ซักถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ถ้าว่าท่านแสดงวาทะว่า สิ่งทั้งปวง พระเป็นเจ้าสร้างให้โดยความเป็นสาระ ดังนี้แล้ว.
               จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               ถ้าว่า พระเป็นเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความพินาศ สร้างกรรมดี และกรรมชั่วให้แก่ชาวโลกทั้งหมดไซร้ บุรุษผู้กระทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้า ก็ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าย่อมเปื้อนด้วยบาปนั้นเอง
               ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่าน เป็นอรรถ เป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปฺเปติ ชีวิตํ ความว่า ถ้าว่า พระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่น จะจัดแจงตรวจตราชีวิตให้แก่ชาวโลกทั้งหมดอย่างนี้ว่า ท่านจงเลี้ยงชีพด้วยการไถนา ท่านจงเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงโค ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อิทฺธึ พฺยสนภาวญฺจ อธิบายว่า ถ้าพระเป็นเจ้าสร้าง คือทำฤทธิ์ต่างประเภทมีความเป็นใหญ่เป็นต้น สร้างความพินาศ มีความพินาศแห่งหมู่ญาติเป็นต้น และสร้างกรรมดีกรรมชั่วที่เหลือทั้งหมด.
               บทว่า นิทฺเทสการี ความว่า ถ้าว่าบุรุษคนใดคนหนึ่งที่เหลือ กระทำตามคำสั่ง คือคำบังคับของพระเป็นเจ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ ก็ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าเท่านั้นย่อมรับบาปนั้นเสียเอง เพราะพระเป็นเจ้ากระทำบาปนั้น.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อน.
               อนึ่ง พึงทราบข้อความในที่ทั้งหมดเหมือนในที่นี้เถิด.

               พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายอิสรกรณวาทะได้ด้วยอิสรกรณะนั้นนั่นแล ดุจบุคคลเอากิ่งมะม่วงขว้างผลมะม่วงให้หล่นลงมาจากต้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงเรียกหาให้ปุพเพกตวาทีอำมาตย์เข้ามาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ถ้าท่านสำคัญว่า ปุพเพกตวาทะเป็นความจริง ดังนี้แล้ว.
               จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               ถ้าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่กระทำไว้แล้วในปางก่อน กรรมเก่าที่กระทำไว้แล้ว เขาย่อมเปลื้องหนี้นั้นได้ ทางพ้นจากหนี้เก่ามีอยู่ ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป
               ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่าน เป็นอรรถเป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพกตเหตุ ได้แก่ เพราะเหตุที่ได้กระทำกรรมไว้ในปางก่อน คือ เพราะการกระทำกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้ว ในภพก่อนแน่นอน.
               บทว่า ตเมโส มุญฺจเต อิณํ ความว่า ผู้ใดย่อมถึงความทุกข์โดยการถูกฆ่าและถูกจองจำเป็นต้น ถ้าผู้นั้นย่อมเปลื้องหนี้ คือบาปเก่าที่เขาได้ทำไว้แล้วนั้นในบัดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เราก็มีทางพ้นจากหนี้เก่านั้น ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป เปรียบเหมือนเราเป็นลิงถูกลิงตัวนั้น ซึ่งเป็นปริพาชกมาก่อนฆ่ากินเสีย ปริพาชกนั้นกลับมาเป็นลิงในอัตภาพนี้ ก็จักถูกเราผู้กลับมาเป็นปริพาชกฆ่ากินเสียเหมือนกัน ฉะนั้น.

               พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะของปุพเพกตวาทีอำมาตย์แม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงเรียกอุจเฉทวาทีอำมาตย์มาตรงหน้าแล้ว กล่าวขู่ว่า
               ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ดังนี้และยังสำคัญอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมขาดสูญในโลกนี้เท่านั้น ขึ้นชื่อว่า สัตว์ผู้ไปสู่ปรโลกไม่มีเลย ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ดังนี้แล้ว
               จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               รูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ได้ เพราะอาศัยธาตุ ๔ เท่านั้น ก็รูปเกิดจากสิ่งใด ย่อมเข้าถึงในสิ่งนั้นอย่างเดิม ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละไปแล้ว ย่อมพินาศในโลกหน้า โลกนี้ขาดสูญ เมื่อโลกขาดสูญอยู่อย่างนี้ ชนเหล่าใด ทั้งที่เป็นพาล ทั้งที่เป็นบัณฑิต ชนเหล่านั้น ย่อมขาดสูญทั้งหมด ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป
               ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุนฺนํ ได้แก่ ภูตรูปทั้ง ๔ มีปฐวีธาตุเป็นต้น.
               บทว่า รูปํ ได้แก่ รูปขันธ์.
               บทว่า ตตฺเถว ความว่า รูปนั้นย่อมเกิดขึ้นจากสิ่งใด แม้ในเวลาดับ ก็ย่อมกลับไปเป็นสิ่งนั้นอย่างเดิมแล. พระมหาสัตว์ทำความเห็นของอุจเฉทวาทีอำมาตย์นั้นให้ตั้งขึ้นอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ กระทำกาละลงในเวลาใด ร่างกายที่เป็นส่วนดินก็กลับกลายเป็นดินไป ส่วนที่เป็นน้ำก็กลายเป็นน้ำไป ส่วนที่เป็นไฟก็กลายเป็นไฟไป และร่างกายที่เป็นส่วนลมก็กลับกลายเป็นลมไป บุรุษทั้งหลายผู้มีเก้าอี้ยาวเป็นที่ ๕ ย่อมถือเอาซากที่ตายแล้วล่วงอินทรีย์ทั้งหลาย กลับกลายเป็นอากาศหมด ตราบใดที่รอยเท้าในป่าช้าปรากฏอยู่ กระดูกนกพิราบมีอยู่ ทานของชนเหล่านั้นมีเถ้าเป็นเครื่องบูชา อันพวกคนเซอะบัญญัติไว้ บุคคลที่กล่าววาทะว่า มี ชื่อว่าเป็นคนเปล่าและกล่าวเท็จ จะเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิตก็ตาม เมื่อกายแตกตายทำลายไป ก็ย่อมขาดสูญ คือพินาศ ได้แก่ไม่ปรากฏตราบนั้น.
               บทว่า อิเธว ความว่า ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น.
               บทว่า เปจฺจ เปจฺจ วินสฺสติ ความว่า สัตว์ที่บังเกิดในปรโลก ก็มิได้กลับมาในโลกนี้อีกด้วยอำนาจแห่งคติ ย่อมพินาศขาดสูญไปในโลกนั้นทีเดียว เมื่อโลกขาดสูญอยู่อย่างนี้ ใครเล่าจะเปื้อนด้วยบาปในโลกนี้.

               พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะแม้แห่งอุจเฉทวาทีอำมาตย์นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงเรียกขัตตวิชชวาทีอำมาตย์เข้ามาแล้ว กล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านเที่ยวยกลัทธินี้ว่า บุคคลควรฆ่าแม้มารดาบิดาแล้ว ทำประโยชน์แก่ตน ดังนี้ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ดังนี้แล้ว.
               จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               อาจารย์ทั้งหลายผู้มีวาทะว่า การฆ่ามารดาบิดาเป็นกิจที่ควรทำ ได้กล่าวไว้แล้วในโลก พวกคนพาลผู้สำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต พึงฆ่ามารดา บิดา พึงฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าบุตรและภรรยา ถ้าว่า ประโยชน์เช่นนั้นพึงมี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺตวิธา ได้แก่ ผู้มีความรู้ว่าการฆ่ามารดาบิดาเป็นสิ่งที่ควรทำ. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               คำว่า ขตฺตวิชฺชา นี้ เป็นชื่อของอาจารย์ผู้มีความรู้ว่า การฆ่ามารดาบิดาเป็นสิ่งที่ควรทำ.
               บทว่า พาลา ปณฺฑิตมานิโน ความว่า ชนทั้งหลายที่เป็นคนพาล สำคัญอยู่ว่า พวกเราเป็นบัณฑิต จักประกาศว่าตนเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีความสำคัญว่าเป็นบัณฑิต จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อตฺโถ เจ ความว่า อาจารย์กล่าวว่า ถ้าประโยชน์สักนิดหนึ่งมีรูปเห็นปานนั้น จะพึงมีแก่ตนไซร้ บุคคลไม่พึงเว้นอะไรๆ ไว้เลย พึงฆ่าเสียทั้งหมด ดังนี้ แม้ท่านก็เป็นคนใดคนหนึ่งในบรรดาอาจารย์ผู้มีวาทะเช่นนั้น.

               พระมหาสัตว์แสดงลัทธิของขัตตวิชชวาทีอำมาตย์นั้นอย่างนี้แล้ว
               เมื่อจะประกาศลัทธิของตน จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็ควรถอนไปแม้ทั้งราก แม้ประโยชน์ที่จะมีต่อเรามาก วานรเป็นอันเราฆ่าดีแล้ว
               ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่าน เป็นอรรถเป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง วานรเป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.


               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า
               ดูก่อนขัตตวิชชวาทีอำมาตย์ผู้เจริญ ก็อาจารย์ของพวกเราพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า บุคคลไม่ควรหัก กิ่งหรือใบของต้นไม้ ที่ตนได้อาศัยร่มเงา.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะบุคคลผู้ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นคนเลว แต่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็ให้ถอนไปแม้กระทั่งราก ก็เราได้มีความต้องการเสบียง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราฆ่าวานรนี้แล้ว ประโยชน์พึงมีแก่เรามากจริงอย่างนั้น วานรก็เป็นอันเราฆ่าแล้วด้วยดี.
               พระมหาสัตว์นั้นได้ทำลายวาทะของขัตตวิชชวาทีอำมาตย์แม้นั้น อย่างนี้แล้ว เมื่ออำมาตย์ทั้ง ๕ คนเหล่านั้นหมดปฏิภาณนั่งนิ่งเฉยอยู่ จึงเรียกพระราชามาแล้ว ทูลให้ทราบว่า
               ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ย่อมพาเอามหาโจรผู้ปล้นแว่นแคว้นทั้ง ๕ คนเหล่านี้ ตามเสด็จไป น่าอนาถใจจริง พระองค์เป็นคนโง่เขลา ด้วยว่า บุรุษพึงถึงความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ทั้งในภพนี้และภพหน้า เพราะการคลุกคลีกับพวกคนพาลเห็นปานนี้ ดังนี้แล้ว.
               เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               บุรุษผู้มีวาทะว่าหาเหตุมิได้ ๑ ผู้มีวาทะว่าพระเจ้าสร้างโลก ๑ ผู้มีวาทะว่าสุขและทุกข์เกิด เพราะกรรมที่ทำมาก่อน ๑ ผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ๑ คนที่มีวาทะว่าฆ่ามารดาบิดาเป็นกิจที่ควรทำ ๑
               คนทั้ง ๕ คนนี้ เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลีกับอสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาทิโส ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร บุรุษผู้เช่นเดียวกันกับบุรุษผู้มีทิฏฐิและคติทั้ง ๕ คนเหล่านี้ พึงกระทำบาปแม้ด้วยตนเองก็ได้ พึงทำการชักชวนคนอื่น ที่เชื่อฟังถ้อยคำของเขาให้ทำบาปก็ได้.
               บทว่า ทุกฺกโฏ ความว่า ความคลุกคลีกับอสัตบุรุษทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นความชั่วร้าย และมีความเดือดร้อนเป็นกำไร ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า.
               เพื่อจะประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้ง พึงนำพระสูตรเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ภัยเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นจากคนพาล ดังนี้มาแสดง หรือพึงนำข้อความเรื่องโคธชาดก สัญชีวชาดกและอกิตติชาดกเป็นต้นมาแสดงก็ได้.

               บัดนี้ พระมหาสัตว์ เมื่อจะเพิ่มพูนพระธรรมเทศนาให้เจริญด้วยมุ่งแสดงถึงข้ออุปมา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

               ในปางก่อน มีนกยางตัวหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายแกะ พวกแกะไม่รังเกียจ เข้าไปยังฝูงแกะ ฆ่าแกะทั้งตัวเมียตัวผู้ ครั้นฆ่าแล้ว ก็บินหนีไปด้วยอาการอย่างใด สมณพราหมณ์บางพวก ก็มีอาการเหมือนอย่างนั้น กระทำการปิดบังตัว เที่ยวหลอกลวงพวกมนุษย์ บางพวกประพฤติไม่กินอาหาร บางพวกนอนบนแผ่นดิน บางพวกทำกิริยาขัดถูธุลีในตัว บางพวกตั้งความเพียรเดินกระโหย่งเท้า บางพวกงดการกินอาหารชั่วคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ เป็นผู้มีอาจาระอันเลวทรามเที่ยวพูดอวดว่า เป็นพระอรหันต์.
               คนเหล่านี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญว่า ตนเป็นบัณฑิต คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำบาปก็ได้ ความคลุกคลีด้วยอสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร.
               พวกคนที่กล่าวว่า ความเพียรไม่มี และพวกที่กล่าวหาเหตุ ติเตียนการกระทำของผู้อื่นบ้าง กล่าวสรรเสริญการกระทำของตนบ้าง และพูดเปล่าๆ บ้าง คนเหล่านี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนให้ผู้อื่นให้กระทำบาปก็ได้ ความคลุกคลีด้วยอสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร.
               ก็ถ้าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีไซร้ พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงพวกช่างไม้ แม้นายช่างก็ไม่พึงกระทำยนต์ทั้งหลายให้สำเร็จได้ แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วมีอยู่ เพราะฉะนั้น นายช่างทำยนต์ทั้งหลายให้สำเร็จ พระราชาจึงทรงชุบเลี้ยงนายช่างไม้ไว้.
               ถ้าฝนไม่พึงตก น้ำค้างไม่พึงตกตลอดร้อยปี โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์ก็พึงพินาศ แต่เพราะฝนก็ตก และน้ำค้างก็ยังโปรยอยู่ เพราะฉะนั้น ข้าวกล้าจึงสุก และเลี้ยงชาวเมืองให้ดำรงอยู่ได้นาน.
               ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงเดินไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงเดินไปคด โคเหล่านั้นทั้งหมด ก็ย่อมเดินไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชน นอกนี้เล่า ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงดำรงอยู่ในธรรม.
               ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงเดินไปตรง เมื่อโคผู้นำฝูงเดินไปตรง โคเหล่านั้นทั้งหมด ก็ย่อมเดินไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมุติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ไม่จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม.
               เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้นย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศไป รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชาพระองค์นั้น ก็ย่อมพินาศไป.
               เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บเอาผลสุกๆ มา ผู้นั้นย่อมรู้รสแห่งผลไม้นั้น และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้น ก็ไม่พินาศไป รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยธรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงทราบรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชาพระองค์นั้น ก็ไม่พินาศไป.
               อนึ่ง ขัตติยราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบท โดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้น ย่อมทรงคลาดจากพระโอสถทั้งปวง.
               อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนชาวนิคม ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะ และพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์ พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนนายพราน ผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียดเบียนทหาร ผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากพลนิกาย.
               อนึ่ง กษัตริย์ผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมคลาดจากสวรรค์ อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ดำรงอยู่ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสบบาปอย่างหนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย.
               พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรส และพระชายา พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พกาสุ ปุพฺเพ ได้แก่ ในปางก่อนนกยาง.
               คำว่า อสุ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               พระมหาโพธิปริพาชกกล่าวคำอธิบายไว้ว่า
               ดูก่อนมหาบพิตร ในกาลก่อน มีนกยางตัวหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายแกะ หางของมันยาวมาก และมันเอาหางนั้นซุกซ่อนไว้ในระหว่างขา เข้าไปต่อสู้กับฝูงแกะด้วย รูปร่างคล้ายแกะ ไล่ฆ่าแกะทั้งตัวผู้และตัวเมียในที่นั้นแล้ว ก็บินหนีไปด้วยอาการอย่างใด.
               บทว่า ตถาวิเธเก ความว่า สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายบางพวก ก็มีอาการอย่างนั้น ทำการปกปิด คือปิดบังตัวเองด้วยเพศบรรพชิต ทำเป็นทีเหมือนหวังประโยชน์ เที่ยวหลอกลวงชาวโลกด้วยวาจาอันอ่อนหวานเป็นต้น.
               บทว่า อนาสกา เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ เพื่อจะแสดงกิริยาอาการปกปิดของพวกสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               จริงอยู่ สมณพราหมณ์บางพวกย่อมพากันหลอกลวงพวกมนุษย์ว่า พวกเราถือการไม่กินอาหารเป็นวัตร จึงไม่ต้องให้พวกท่านไปนำอาหารอะไรๆ มาเลย. บางพวกก็หลอกลวงว่า พวกเราถือการนอนบนแผ่นดินเป็นวัตร. แต่สำหรับบางพวกก็ถือเอาการขัดฟอกธุลีเป็นเครื่องปิดบัง. บางพวกก็ถือการตั้งความเพียรด้วยการเดินกระโหย่งเท้าเป็นวัตร.
               อธิบายว่า
               พวกเขาเหล่านั้น เมื่อเวลาเดินไปก็เขย่งตัวขึ้นแล้ว กระโหย่งเท้าเดินไป. บางพวกปิดบังตัวด้วยการงดกินอาหารโดยปริยาย คืออดไป ๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง จึงบริโภคสักครั้งหนึ่งเป็นต้น บางพวกเป็นผู้ไม่ยอมดื่มน้ำ พากันกล่าวว่า พวกเราไม่ดื่มน้ำดอก.
               บทว่า อรหนฺโต วทานา ความว่า บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีความประพฤติเลวทราม พากันเที่ยวพูดอยู่ว่า พวกเราเป็นพระอรหันต์.
               บทว่า เอเต ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร ชนทั้ง ๕ คนเหล่านี้ หรือชนเหล่าอื่นที่ชื่อว่ามีทิฏฐิและคติเหมือนอย่างนี้ ชนเหล่านี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่าเป็นอสัตบุรุษ.
               บทว่า ยมาหุ ตัดบทเป็น เย อาหุ แปลว่า พวกคนที่กล่าวว่า.
               บทว่า สเจ หิ วิริยํ นาสฺส ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร หากว่าความเพียรที่เป็นไปทางกายและทางใจอันสัมปยุตด้วยญาณ ไม่พึงมีไซร้.
               บทว่า กมฺมํ ความว่า ถ้าแม้กรรมดีและกรรมชั่ว ไม่พึงมีไซร้.
               บทว่า น ภเร ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระราชาไม่ควรทรงชุบเลี้ยงนายช่างไม้ หรือว่าพวกข้าราชการเหล่าอื่นไว้เลย.
               บทว่า นปิ ยนฺตานิ ความว่า แม้นายช่างไม้ก็ไม่พึงทำยนต์ทั้งหลายมีปราสาท ๗ ชั้นเป็นต้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะไม่มีความเพียรและการงาน
               บทว่า อุจฺฉิชฺเชยฺย ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่าฝนไม่ตก น้ำค้างก็ไม่ตกตลอดกาลเพียงเท่านี้ ถัดจากนั้น โลกนี้ก็พึงขาดสูญ ดุจกาลเป็นที่ตั้งแห่งกัป แต่ขึ้นชื่อว่า ความขาดสูญย่อมไม่มี โดยทำนองที่อุจเฉทวาทีอำมาตย์กล่าวแล้ว.
               บทว่า ปาลยเต แปลว่า ย่อมเลี้ยง.
               พระมหาสัตว์กล่าวคาถา ๔ คาถามีคำเริ่มต้นว่า ควญฺเจ ตรมานานํ ดังนี้ ก็เพื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชาเท่านั้น. พระมหาสัตว์กล่าวคาถามีคำเริ่มต้นว่า มหารุกฺขสฺส ดังนี้เป็นอาทิ ก็เพื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชาเหมือนกัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหารุกฺขสฺส ได้แก่ ต้นมะม่วงที่มีรสอร่อย.
               บทว่า อธมฺเมน ได้แก่ โดยตั้งอยู่ในอคติ.
               บทว่า รสญฺจสฺส น ชานาติ ความว่า พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่รู้จักรส คือ โอชะแห่งรัฐ ได้แก่ ย่อมไม่ได้ความสมบูรณ์ด้วยความเจริญ.
               บทว่า วินสฺสติ แปลว่า ย่อมขาดสูญไป มนุษย์ทั้งหลายย่อมพากันทิ้งบ้านและนิคมแล้ว ไปอาศัยสถานที่อันไม่ราบเรียบ คือ ภูเขาอันตั้งอยู่ในที่สุดแดน. ทางแห่งความเจริญทั้งหมด ก็ย่อมขาดสูญไป.
               บทว่า สพฺโพสธีภิ ความว่า พระราชาย่อมทรงคลาดจากพระโอสถทั้งหมดมีรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้และผลไม้เป็นต้น และพระโอสถมีเนยใสและเนยข้นเป็นต้น ได้แก่ พระโอสถเหล่านั้นย่อมไม่ถึงพร้อม. ด้วยว่า แผ่นดินของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมเป็นแผ่นดินที่ปราศจากโอชะ. เพราะแผ่นดินนั้นปราศจากโอชะเสียแล้ว โอชะแห่งโอสถทั้งหลายจึงไม่มี ได้แก่โอสถเหล่านั้นไม่อาจจะรักษาโรคให้หายได้. พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้คลาดจากพระโอสถเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เนคเม ความว่า พระราชาทรงเบียดเบียน คือทรงบีบคั้นพวกกุฏุมพีผู้อยู่ในนิคม.
               บทว่า เย ยุตฺตา ความว่า อนึ่ง ทรงเบียดเบียนพวกพ่อค้าทางบก และพวกพ่อค้าทางน้ำ ผู้ประกอบการค้าขาย มุ่งหน้าสู่ความเจริญงอกงาม.
               บทว่า โอชทานพลีกาเร ความว่า ผู้กระทำการถวายโอชะ ด้วยอำนาจการนำภัณฑะมาและการถวายส่วย แต่ชนบทนั้นๆ และกระทำพลีกรรมอันต่างชนิดเป็นต้นว่าแบ่งเป็น ๖ ส่วนและ ๑๐ ส่วน.
               บทว่า ส โกเสน ความว่า พระราชาพระองค์นั้นทรงเบียดเบียนประชาชนเหล่านี้อยู่ จึงชื่อว่าเป็นพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชื่อว่าย่อมเสื่อมจากทรัพย์และธัญญาหาร คลาดจากส่วนแห่งพระราชทรัพย์.
               บทว่า ปหาวรเขตตญญู ความว่า นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดีอย่างนี้ว่า ควรจะยิงไปในที่ตรงนี้ ดังนี้.
               บทว่า สงคาเม กตนิสสเม คือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ผู้เสร็จจากการรบในยุทธภูมิ.
               บทว่า อุสสิเต คือ มหาอำมาตย์ผู้เลิศลอย คือมีชื่อเสียงโด่งดัง.
               บทว่า หึสยํ ได้แก่ ทรงเบียดเบียนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียนก็ดี ซึ่งคนทั้งหลายเห็นปานนี้.
               บทว่า พเลน ได้แก่ หมู่แห่งกำลัง.
               จริงอยู่ เหล่าทหารแม้ที่เหลือก็ย่อมละทิ้งพระราชาผู้ทรงประพฤติอย่างนั้น ด้วยคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงเบียดเบียน แม้กระทั่งประชาชนผู้มอบราชสมบัติให้แก่พระองค์ซึ่งเป็นผู้มีอุปการะมากมาย ไฉนจะไม่ทรงเบียดเบียนพวกเราเล่า. พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่าย่อมผิดพลาดจากหมู่พลด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตเถว อิสฌย หึสํ ความว่า พระราชาผู้ไม่ประพฤติธรรม ทรงเบียดเบียนบรรพชิต ผู้แสวงหาคุณงามความดี ด้วยการด่าและการประหารเป็นต้น เหมือนทรงเบียดเบียนชาวบ้านเป็นต้น ฉะนั้น เมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายแน่นอน คือไม่อาจจะไปบังเกิดในสวรรค์ได้ ดังนั้น พระราชาพระองค์นั้นจึงชื่อว่า ย่อมคลาดจากสวรรค์ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ภริยํ หนติ อทูสกํ ความว่า พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพวกโจร ผู้เป็นมิตรเทียม แล้วให้ฆ่าพระชายาผู้มีศีล ผู้เจริญพร้อมด้วยบุตรและธิดา ซึ่งเจริญแล้วในร่มเงาแขนของตน.
               บทว่า ลุททํ ปสวเต ปาปํ ความว่า พระราชาพระองค์นั้นย่อมประสบ คือย่อมสำเร็จผลซึ่งการเข้าถึงนรกของตนเอง.
               บทว่า ปุตเตหิ จ ความว่า พระราชาพระองค์นั้นย่อมผิดพลาดจาก พระโอรสทั้งหลายของพระองค์ในอัตภาพนี้ทีเดียว.

               พระมหาสัตว์นั้นกล่าวถึงเรื่องที่พระราชาพระองค์นั้นทรงเชื่อถือถ้อยคำของชนทั้ง ๕ คนเหล่านั้น แล้วจึงให้ฆ่าพระเทวีเสีย และกล่าวถึงเรื่องที่พระราชาพระองค์นั้นทรงผิดพระทัยกับพระโอรสทั้งหลาย ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระราชาพระองค์นั้นอย่างนี้ เหมือนจับโจรที่มวยผม ฉะนั้น.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์หวังจะข่มขี่พวกอำมาตย์เหล่านั้น หวังจะแสดงธรรม และหวังจะเปิดเผยเรื่องที่พระเทวีถูกพวกอำมาตย์เหล่านั้นฆ่าตาย จึงได้นำเอาถ้อยคำมาถือโอกาสกล่าวเป็นเนื้อความนี้ไว้โดยลำดับ. พระราชาทรงได้สดับคำของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงทราบชัดถึงความผิดของพระองค์.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงได้ทูลพระราชาให้ทรงทราบว่า ดูก่อนมหาบพิตร ตั้งแต่วันนี้ไป พระองค์อย่าได้ทรงเชื่อถ้อยคำของพวกคนชั่วพวกนี้แล้วกระทำอย่างนี้อีกเลย ดังนี้
               เมื่อจะกล่าวสอนพระราชา จึงกล่าวคาถาเป็นต้นว่า ธมฺมญฺจเร ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมญฺจเร ความว่า ธรรมดาว่า พระราชาไม่ควรเบียดเบียนชาวชนบท ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม แต่ควรประพฤติธรรมในชาวชนบท ไม่ควรทำเจ้าของทรัพย์ ให้กลายเป็นคนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ แต่พึงประพฤติธรรมในชาวบ้านทั้งหลาย ไม่ควรลำบากในที่มิใช่ฐานะ แต่พึงประพฤติธรรมในหมู่พลทั้งหลาย ควรหลีกเว้นการฆ่า การจองจำ การด่าและการเสียดสี และให้แต่ปัจจัยแก่บรรพชิตเหล่านั้น ไม่ควรเบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณธรรม ควรสถาปนาพระธิดาไว้ในตำแหน่งที่สมควร มุ่งให้พระโอรสทั้งหมดศึกษาเล่าเรียนสรรพศิลปะ ทรงอุปการะเลี้ยงดูโดยชอบธรรม ทรงอนุเคราะห์พระชายาด้วยการทรงมอบความเป็นใหญ่ให้ หาเครื่องประดับตกแต่งให้ และทรงยกย่องให้ทัดเทียมเป็นต้น พึงประพฤติให้สม่ำเสมอ ทั้งในพระโอรสและในพระชายา.
               บทว่า ส ตาทิโส ความว่า พระราชาผู้เป็นเช่นนั้น ไม่ยอมทำลายพระราชประเพณี เสวยพระราชสมบัติโดยธรรม ย่อมทำประชาชนผู้อยู่ใกล้เคียงให้หวั่นไหว ให้สะดุ้ง ให้สะเทือน ด้วยพระราชอาชญา และพระเดชานุภาพของพระองค์.
               คำว่า อินโทว นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อเป็นคำอุปมา.
               อธิบายว่า พระราชาพระองค์นั้นย่อมทำประชาชนผู้อยู่ใกล้เคียงให้หวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้ถึงการนับว่า เป็นเจ้าแห่งอสูร ตั้งแต่เวลาที่ทรงรบชนะ แล้วครอบครองพวกอสูรอยู่ ย่อมทำพวกอสูรผู้เป็นข้าศึกของพระองค์ให้หวั่นไหวอยู่ ฉะนั้น.
               พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแก่พระราชาอย่างนั้นแล้ว จึงไปทูลเชิญพระกุมารทั้ง ๔ พระองค์มาสั่งสอนแล้ว ประกาศถึงกรรมที่ทรงกระทำแล้วแด่พระราชา ให้พระราชาทรงยกโทษให้แล้ว ถวายโอวาทแก่ชนทั้งหมดว่า ดูก่อนมหาบพิตร จำเดิมแต่นี้ไป พระองค์ยังไม่ทันพิจารณาก่อนแล้ว อย่าได้ทรงถือเอาถ้อยคำของพวกคนผู้มุ่งทำลาย แล้วทำกรรมอันสาหัส เห็นปานนี้อีกเลย ดูก่อนพระกุมารทั้งหลาย แม้พวกท่านก็อย่าได้ประทุษร้ายต่อพระราชาเลย.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าผิดในพวกพระโอรส และพระเทวี เพราะได้อาศัยอำมาตย์เหล่านี้ มัวแต่เชื่อฟังถ้อยคำของพวกมัน จึงได้กระทำบาปกรรมถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าจะฆ่าอำมาตย์ทั้ง ๕ คนเหล่านี้เสีย.
               พระมหาสัตว์ชี้แจงถวายว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์อย่าได้กระทำถึงอย่างนั้นเลย.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะให้ตัดมือและเท้าของพวกมันเสีย.
               พระมหาสัตว์ทูลว่า แม้กรรมอย่างนี้ ก็ไม่ควรกระทำอีก.
               พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ทรงรับสั่งให้ริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดเหล่านั้น แล้วทรงให้โกนผมเอาไว้แหยม ๕ แหยม จองจำด้วยขื่อคาและลาดด้วยโคมัยแล้ว ให้ขับไล่ออกไปจากแว่นแคว้น.
               แม้พระโพธิสัตว์พักอยู่ในที่นั้นสองสามวันแล้ว ถวายโอวาทแด่พระราชาว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้ว ก็กลับไปยังหิมวันต์ตามเดิม ทำฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว เจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชีวิต พอสิ้นชีพก็ได้เข้าถึงพรหมโลก.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อน ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญา ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำข่มขี่ของผู้อื่นเสียได้เหมือนกัน ดังนี้แล้ว.
               ทรงประชุมชาดกว่า
               อำมาตย์เจ้าความเห็นทั้ง ๕ คน ในกาลนั้น ได้เป็นปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ ปกุธกัจจานะ อชิตเกสกัมพล และนิครนถ์นาฏบุตรในกาลนี้
               สุนัขสีเหลืองได้เป็น พระอานนท์
               ส่วนพระมหาโพธิปริพาชก ก็คือ เราตถาคต นั้นเองฉะนี้แล.
               จบอรรถกถามหาโพธิชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               
               รวมชาดกในปัญญาสนิบาตนั้นมี ๓ ชาดก คือ
               ๑. นฬินิกาชาดก ว่าด้วย ราชธิดาทำลายตบะของดาบส
               ๒. อุมมาทันตีชาดก ว่าด้วย เสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา
               ๓. มหาโพธิชาดก ว่าด้วย ปฏิปทาของผู้นำ
               สุภกถาพระชินเจ้าตรัสแล้วเป็น ๓ ชาดก.
               จบ ปัญญาสนิบาตชาดก.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาโพธิชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280020อรรถกถาชาดก 280052
เล่มที่ 28 ข้อ 52อ่านชาดก 280066อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=321&Z=451
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๐  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]