ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๒ / ๑๒.

               จบ ปัญหาของทารก ๗ ข้อ

               หัวข้อว่า ท่อนไม้ มีความว่า วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลองมโหสถบัณฑิต จึงให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา ให้ตัดเอาเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึงกลึงให้ดีแล้ว ให้ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาอาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างนี้ปลายข้างนี้โคน ถ้าไม่มีใครรู้ จะปรับพันกหาปณะ. ชาวบ้านประชุมกัน เมื่อไม่อาจจะรู้ได้ จึงบอกแก่ท่านสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางทีมโหสถบัณฑิตจะรู้ ขอให้เรียกเขามาถาม. ท่านมหาเศรษฐีให้เรียก มโหสถบัณฑิตมาแต่สนามเล่น. บอกเนื้อความนั้นแล้วถามว่า พวกเราไม่อาจจะรู้ปัญหานี้ พ่ออาจจะรู้บ้างไหม. พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาจะต้องพระประสงค์ ด้วยปลายหรือโคนของไม้ตะเคียนท่อนนี้ ก็หาไม่. ประทานไม้ตะเคียนท่อนนี้มาเพื่อจะทดลองเรา. จึงกล่าวว่า นำมาเถิดพ่อ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้น. ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีให้นำท่อนไม้ตะเคียน มาให้แก่มโหสถบัณฑิต. พระโพธิสัตว์รับท่อนไม้ตะเคียนนั้นด้วยมือเท่านั้นก็รู้ได้ว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. แม้รู้อยู่ก็ให้นำภาชนะน้ำมา เพื่อกำหนดใจของมหาชน. แล้วเอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ตะเคียน ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ พอวางเท่านั้น โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก. แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้โคนหนัก หรือปลายหนัก. เมื่อมหาชนตอบว่า โคนหนัก. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ส่วนของไม้ตะเคียนท่อนนี้จมลงก่อน จึงเป็นโคน. แล้วบอกปลายและโคนด้วยสัญญานี้. ชาวบ้านส่งข่าวทูลพระราชาว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. พระราชาทรงยินดี ตรัสถามว่า ใครรู้. เมื่อชาวบ้านกราบทูลว่า มโหสถบัณฑิตบุตรสิริวัฒกเศรษฐี พระเจ้าข้า. ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาหรือยัง. เสนกอาจารย์ทูลว่า รอไว้ก่อน เราจักทดลองด้วยอุบายอื่นอีก. พระราชาตรัสว่า ดีแล้ว ท่านเสนกะ.
               หัวข้อว่า ศีรษะ มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำศีรษะ ๒ ศีรษะ คือศีรษะหญิงและศีรษะชายมา. แล้วส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ทำนายพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงรู้ว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย. ถ้าไม่รู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์พอเห็นเท่านั้นก็รู้. รู้ได้อย่างไร คือแสกในศีรษะชายตรง แสกในศีรษะหญิงคด. มโหสถบัณฑิตแจ้งว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย ด้วยความรู้ยิ่งนี้. ชาวบ้านก็ส่งข่าวกราบทูลแด่พระราชาอีก. ข้อความที่เหลือเหมือนนัยอันมีในก่อน นั่นเอง.
               หัวข้อว่า งู มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำงูตัวผู้และงูตัวเมียมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงรู้ว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย. เมื่อไม่มีใครรู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตนั้นพอเห็นเท่านั้นก็รู้ ด้วยว่าหางของงูตัวผู้ใหญ่ หางของงูตัวเมียเรียว. หัวของงูตัวผู้ใหญ่ หัวของงูตัวเมียเรียวยาว. นัยน์ตาของงูตัวผู้ใหญ่ ของงูตัวเมียเล็ก. ลวดลายของงูตัวผู้ติดต่อกัน ลวดลายของงูตัวเมียขาด. มโหสถบัณฑิตแจ้งแก่ชาวบ้านว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย ด้วยความรู้ยิ่งเหล่านี้. ข้อความที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล.
               หัวข้อว่า ไก่ มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชส่งข่าวไปแก่ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งโคตัวผู้อันเป็นมงคล ขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่หัว ร้องไปล่วง ๓ เวลา มาแก่เรา. ถ้าไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า พระราชาให้สั่งไก่ขาวทั้งตัวไปถวายนั่นเอง เพราะว่าไก่นั้น ชื่อว่ามีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้า. ชื่อว่ามีโหนกที่หัว เพราะมีหงอนที่หัว. ชื่อว่าร้องไม่ล่วง ๓ เวลา เพราะขัน ๓ ครั้ง ฉะนั้น. ท่านทั้งหลายจงส่งไก่มีลักษณะอย่างนี้ไปถวาย. ชาวบ้านเหล่านั้นก็ส่งไปถวายแด่พระราชา พระราชาทรงยินดี.
               หัวข้อว่า แก้วมณี มีความว่า ดวงแก้วมณีที่ท้าวสักกเทวราชประทานแก่พระเจ้ากุสราชมีอยู่. ดวงแก้วมณีนั้นมีโค้งในที่ ๘ แห่ง ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครจะสามารถนำด้ายเก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป. วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวไปถึงชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน. ถ้าร้อยไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านไม่สามารถจะนำด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทนได้. เมื่อไม่สามารถ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าวิตกไปเลย แล้วให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้งสองข้าง ให้ฟั่นด้วยขนสัตว์เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายนั้น ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก. เหล่ามดแดงพากัน ออกจากที่อยู่ของมันมากินด้ายเก่าในแก้วมณี. แล้วไปคาบปลายด้ายขนสัตว์ใหม่ คร่าออกมาทางข้างหนึ่ง. มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ด้ายนั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้แก่ชาวบ้าน ให้ถวายแด่พระราชา. พระราชามีพระดำรัสถาม ทรงสดับอุบายวิธีให้ด้ายนั้นเข้าไปได้ ทรงยินดี.
               หัวข้อว่า ให้โคตัวผู้ตกลูก มีความว่า ได้ยินว่า วันหนึ่งพระราชาตรัสสั่งให้ ราชบุรุษให้โคตัวผู้ เป็นมงคลเคี้ยวกินกุมมาสเป็นอันมาก จนท้องโต. ให้ชำระล้างเขาทั้งสอง แล้วทาด้วยน้ำมัน. ให้เอาน้ำขมิ้นรดตัวส่งไปยังชาวบ้านนั้น ด้วยพระราชาณัติว่า ได้ยินว่า พวกท่านเป็นนักปราชญ์ โคตัวผู้มงคลของพระราชานี้ตั้งครรภ์. ท่านทั้งหลายจงให้โคตัวผู้นี้ตกลูก แล้วส่งกลับไปพร้อมด้วยลูก. เมื่อไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านปรึกษากันว่า พวกเราไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ จักทำอย่างไร. จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงถามว่า พวกท่านจักอาจหา คนที่แกล้วกล้าสามารถทูลกับพระราชาได้หรือ. ชาวบ้านตอบว่า เรื่องนั้น ไม่หนักใจเลย ท่านบัณฑิต. ถ้าเช่นนั้น จงเรียกเขามา. ชาวบ้านเหล่านั้นเรียกเขามาแล้ว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ กล่าวกะเขาว่า ท่านจงสยายผมของท่านไว้ข้างหลัง แล้วคร่ำครวญใหญ่มีประการต่างๆ ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ใครถามอย่าตอบ คร่ำครวญเรื่อยไป. พระราชาตรัสเรียกมาถาม เหตุที่เทวนาการ จงถวายบังคม. แล้วทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ บิดาของข้าพระองค์ไม่อาจจะคลอดบุตร วันนี้เป็นวันครบ ๗. ขอสมมติเทพทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์. โปรดทรงทำอุบายที่จะคลอดบุตร แก่บิดาของข้าพระองค์. เมื่อพระราชาตรัสว่า คนคลั่งอะไรข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ. ธรรมดาบุรุษคลอดบุตร มีหรือ. จงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าว่าอย่างนี้มีไม่ได้. เมื่อเป็นเช่นนั้น ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จะยังมงคลอุสภให้ตกลูกได้อย่างไร. บุรุษนั้นรับคำจะทำตามที่สั่งนั้นได้ ก็ได้ทำไปอย่างนั้น. พระราชาทรงสดับคำบุรุษนั้น ตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ได้ทรงทราบว่า มโหสถบัณฑิตคิด ก็โปรดปราน.
               หัวข้อว่า ข้าว มีความว่า ในวันอื่นอีก พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองมโหสถ. จึงให้ส่งข่าวไปว่า ได้ยินว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นคนฉลาด. ชาวบ้านนั้นจงหุงข้าวเปรี้ยว ให้ประกอบด้วยองค์ ๘ มาให้เรา. องค์ ๘ นั้น คือ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว ไม่ให้หุงด้วยไฟ ไม่ให้หุงด้วยฟืน ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา ไม่ให้นำมาส่งโดยทาง. พวกนั้นส่งมาไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกชาวบ้านหารู้เหตุไม่ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าตกใจไปเลย แล้วชี้ให้เห็นว่า ให้หุงด้วยข้าวแหลก อันไม่ชื่อว่าข้าวสาร. ให้หุงด้วยน้ำค้าง อันไม่ชื่อว่าน้ำปกติ. ให้หุงด้วยภาชนะดินใหม่ อันไม่ชื่อว่าหม้อข้าว. ให้ตอกตอไม้ตั้งภาชนะนั้นหุง อันไม่ชื่อว่าหุงด้วยเตา. ให้หุงด้วยไฟที่สีกันเกิดขึ้น อันไม่ชื่อว่าไฟปกติ. ให้หุงด้วยใบไม้ อันไม่ชื่อว่าฟืน ชื่อว่าหุงข้าวเปรี้ยว. แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ ผูกด้วยด้ายประทับตรา. อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กระเทยยกไป. ไปโดยทางน้อยละทางใหญ่เสีย อันชื่อว่าไม่มาโดยทาง. ส่งข้าวเห็นปานดังนี้ ไปถวายพระราชา. ชาวบ้านได้ทำตามนัยนั้น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น จึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครรู้ ทรงทราบว่า มโหสถรู้ ก็โปรดปราน.
               หัวข้อว่า ชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย มีความว่า ในวันนั้นอีก พระราชาให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย. ถ้าส่งมาถวายไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา พูดเอาใจชาวบ้าน ไม่ให้วิตก แล้วเรียกคนฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้ไปทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบประมาณแห่งเชือกนั้นว่า เล็กใหญ่เท่าไร. ขอสมมติเทพโปรด ให้ส่งท่อนแต่เชือกทรายเส้นเก่าสักหนึ่งคืบ หรือสี่นิ้วเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านเห็นประมาณนั้นแล้ว จักได้ฟั่นเท่านั้น. ถ้าพระราชารับสั่งแก่ท่านทั้งหลายว่า เชือกทรายในพระราชฐานของเราไม่เคยมีแต่ไหนมา. ท่านทั้งหลายจงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เชือกทรายตัวอย่างนั้นไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า. ชาวบ้านเหล่านั้นไปทำตามมโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็ทรงยินดี.
               หัวข้อว่า สระน้ำ มีความว่า ในวันอื่นอีก พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวแก่ชาวบ้านเหล่านั้นเพื่อจะทดลองมโหสถว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงเล่นน้ำ. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งสระโบกขรณี อันดาดาษด้วยบัวเบญจพรรณมา. ถ้าพวกชาวบ้านนั้นไม่ส่งมา จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงสั่งให้เรียก คนผู้ฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้พูด. แล้วส่งไปให้ทูลว่า ท่านทั้งหลายจงเล่นน้ำจนตาแดง ทั้งผมทั้งผ้ายังเปียกตัวเปื้อนโคลน ถือเชือกก้อนดินและท่อนไม้ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ให้กราบทูลความที่มายืนคอยเฝ้าพระราชา ได้โอกาสแล้วเข้าเฝ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะทรงส่งข่าวไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ส่งสระโบกขรณีมาถวาย. ก็แต่สระโบกขรณีนั้น เห็นพระนครอันมีกำแพง คูประตู หอรบ ก็กลัว ตัดเชือกหนีเข้าป่าไป เพราะเคยอยู่ในป่า. พวกข้าพระองค์โบยตีด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ก็ไม่สามารถจะให้กลับ. ขอพระองค์โปรดพระราชทาน สระโบกขรณีเก่าของพระองค์ที่นำมาแต่ป่า. พวกข้าพระองค์จักผูก ควบเข้ากับสระโบกขรณีใหม่นำมาถวาย. เมื่อพระราชารับสั่งว่า สระโบกขรณีของเราที่นำมาแต่ป่า ไม่เคยมีมาแต่กาลไหนๆ เราไม่เคยส่งสระโบกขรณีไปเพื่อผูกกับอะไรๆ นำมาฉะนี้. จงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเมื่ออย่างนี้ ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักส่งสระโบกขรณีมาถวายอย่างไรได้. ชาวบ้านที่รับคำแนะนำของมโหสถ ก็ไปทำตามทุกประการ. พระราชาทรงทราบว่า มโหสถรู้ปัญหานี้ ก็ทรงยินดี.
               หัวข้อว่า อุทยาน มีความว่า อีกวันหนึ่ง โปรดให้ส่งข่าวไปอีก โดยพระราชาณัติว่า พระองค์ใคร่จะทรงเล่นอุทยาน ก็แต่ราชอุทยานต้นไม้เก่าหักโค่นเสียหมด. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงส่งอุทยานใหม่ ให้ดาดาษไปด้วยดรุณรุกขชาติ ทรงดอกบานงามเข้ามาถวาย. ถ้าไม่ส่งเข้ามาตามพระราชประสงค์ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ ก็นำความแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงเรียกคนทั้งหลายมาสั่งไปโดยนัย อันมีในก่อนนั่นแล. คนเหล่านั้นก็ไปทำตามสั่ง. พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาละกระมัง. อาจารย์เสนกะกราบทูล ด้วยความตระหนี่ลาภสักการะว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. ขอได้ทรงรอไปก่อน พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกบัณฑิต แล้วมีพระดำริว่า มโหสถบัณฑิตแก้ปัญหาแห่งทารกทั้ง ๗ ข้อถูกใจเรา. การพยากรณ์ในการทดลองปัญหาลึกลับ และในการย้อนปัญหาเห็นปานนี้ของมโหสถนั้น เป็นดุจของพระพุทธเจ้า. อาจารย์เสนกะไม่ให้นำบัณฑิตเห็นปานนี้มาในที่นี้ เราจะต้องการอะไร ด้วยเสนกะคัดค้าน. เราจักนำมโหสถบัณฑิตนั้นมา. พระเจ้าวิเทหราชก็เสด็จไป สู่บ้านนั้นด้วยบริวารใหญ่. เมื่อพระราชาทรงม้ามงคลเสด็จไป กีบของม้ากระทบพื้นระแหงก็แตก. พระราชาก็เสด็จกลับแต่ที่นั้นเข้าพระนคร. ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะเข้าเฝ้าพระราชาทูลถามว่า พระองค์เสด็จไปบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อนำมโหสถบัณฑิตมาหรือ พระเจ้าข้า. ครั้นได้ฟังกระแสรับสั่งว่าเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทึกทักเอาข้าพระองค์ว่า เป็นผู้ใคร่ความพินาศ ก็ทรงพิจารณ์เห็นหรือยัง. ในเมื่อข้าพระองค์ทัดทานให้ทรงรอไว้ก่อน ก็บังเอิญกีบม้ามงคลรีบด่วนออกไปแตก ด้วยไปครั้งแรกทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงฟังคำของเสนกะ ก็ทรงดุษณีภาพ.
               อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษากับเสนกะว่า เราจะนำมโหสถมา. เสนกะทูลว่า พระองค์อย่าเสด็จไปเอง ส่งทูตไปยังมโหสถว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่สำนักเธอ กีบม้าที่นั่งแตก เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา. ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง. แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย. ปัญหาของเรานี้แหละจักถึงที่สุด. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงส่งราชทูตไปดังว่านั้น. มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำราชทูต จึงคิดว่า พระราชาทรงใคร่จะพบเราและบิดาของเรา จึงไปหาบิดา. ไหว้แล้วกล่าวว่า พระราชาทรงใคร่จะพบบิดาและข้าพเจ้า. ขอบิดาจงพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่ง เป็นบริวารไปเฝ้าก่อน. เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า จงเอาผอบไม้จันทน์ เต็มด้วยเนยใสใหม่ไปด้วย. พระราชาจักตรัสปฏิสันถารกับบิดา ตรัสเรียกให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสน์อันสมควร. บิดาจงรู้อาสน์อันสมควรแล้วนั่ง เมื่อบิดานั่งแล้ว ข้าพเจ้าจักไป. พระราชาจักตรัสทักทายข้าพเจ้า ตรัสสั่งให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสนะอันสมควร. แต่นั้นข้าพเจ้าจักแลดูบิดา บิดาจงลุกจากอาสน์ด้วยสัญญานั้น กล่าวว่า แน่ะพ่อมโหสถ พ่อจงนั่ง ณ อาสน์นี้. ปัญหาอย่างหนึ่งจักถึงที่สุดในวันนี้. สิริวัฒกเศรษฐีรับจะทำตามนั้น แล้วก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้ทูลความที่ตนมายืนรออยู่ ที่พระทวารแด่พระราชา. ครั้นได้พระราชานุญาตแล้วจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงทักทายปราศรัยตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ไหน. เศรษฐีทูลตอบว่า มาภายหลัง. พระราชาทรงทราบดังนี้ ก็ดีพระหฤทัย. ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงดูอาสน์ควรแก่ตนนั่ง เศรษฐีนั้นก็นั่ง ณ อาสน์ที่ควรแก่ตน ในที่ส่วนหนึ่ง.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประดับตกแต่งตัวแล้ว มีเด็กพันหนึ่งห้อมล้อมนั่งรถที่ประดับแล้ว. เมื่อเข้าสู่พระนคร เห็นฬาตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ที่หลังคู บังคับบริวารที่มีกำลังว่า เจ้าจงผูกฬาตัวหนึ่งที่ปาก อย่าให้ร้องได้. แล้วห่อด้วยเสื่อลำแพน ให้นอนในเครื่องลาดแบกมา บริวารเหล่านั้นก็ทำตามสั่ง. พระโพธิสัตว์เข้าสู่พระนครด้วยบริวารมาก. มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์มาดังนั้น ก็พากันชมเชยดูพระโพธิสัตว์ไม่รู้อิ่มว่า บุตรแห่งสิริวัฒกเศรษฐีนี้ชื่อว่า มโหสถบัณฑิต. เมื่อเธอเกิดมาก็ถือแท่งโอสถมาด้วย เธอรู้เปรียบเทียบปัญหาที่ทดลอง มีประมาณเท่านี้ได้. มโหสถไปถึงทวารพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาทรงสดับว่ามโหสถมา ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า มโหสถบุตรเรา จงรีบมาเถิด. มโหสถพร้อมด้วยเด็กพันหนึ่งเป็นบริวาร ขึ้นสู่ปราสาทถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง. พระราชาทอดพระเนตร เห็นมโหสถก็ทรงพระปราโมทย์. ตรัสปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงรู้อาสน์ที่สมควรนั่งเถิด.
               กาลนั้น พระโพธิสัตว์แลดูเศรษฐีผู้บิดา. ลำดับนั้น บิดาของมโหสถก็ลุกจากอาสน์ ด้วยสัญญาที่บุตรแลดูแล้ว. กล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงนั่งที่อาสน์นี้. มโหสถก็นั่งที่อาสน์นั้น เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ และชนเหล่าอื่นผู้โฉดเขลา ก็พากันตบมือสรวลเสเฮฮาเยาะเย้ยว่า คนทั้งหลายพากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่า บัณฑิต การเรียกผู้ที่ให้บิดาลุกจากอาสน์ แล้วตนนั่งเสียเองนี้ว่า บัณฑิต ไม่สมควร. พระราชามีพระพักตร์เศร้าหมอง ทรงเสียพระหฤทัย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลถามพระราชาว่า พระองค์เสียพระราชหฤทัยหรือ พระเจ้าข้า. พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า เออ ข้าเสียใจ เพราะได้ฟังความเป็นไปของเจ้า ก็เป็นที่ยินดี แต่พอได้เห็นความเป็นไปของเจ้าก็เกิดเสียใจ เพราะว่าเจ้าให้บิดาของเจ้าลุกจากอาสน์ แล้วเจ้านั่งเสียเอง. มโหสถจึงทูลถามว่า ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทั่วไปหรือ. ครั้นตรัสตอบว่า เข้าใจอย่างนั้น. จึงกราบทูลว่า พระองค์พระราชทานข่าวไปว่า ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดร หรือม้าประเสริฐกว่า ม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือ พระเจ้าข้า. กราบทูลดังนี้แล้ว ลุกจากอาสน์ให้ทีแก่บริวารให้นำฬาที่นำมานั้น มาให้นอนแทบพระบาทยุคลแห่งพระเจ้าวิเทหราช แล้วกราบทูล ถามว่า ฬานี้ราคาเท่าไร พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสตอบว่า ถ้ามันมีอุปการะราคามัน ๘ กหาปณะ. มโหสถทูลถามต่อไปว่า ก็ม้าอัสดรอาศัยฬานี้ เกิดในท้องนางม้าสามัญ หรือนางฬาอันเป็นแม่ม้าอาชาไนย ราคาเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า. ครั้นพระราชาตรัสตอบว่า หาค่ามิได้ซิ เจ้าบัณฑิต. ดังนี้ จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไรตรัสดังนั้น. ก็พระองค์ตรัสเมื่อกี้นี้ว่า บิดาอุดมกว่าบุตร ในที่ทุกสถานมิใช่หรือ. ถ้าพระราชดำรัสนั้นจริง ฬาก็อุดมกว่าม้าอัสดรของพระองค์. พระองค์จงทรงรับฬานั้นไว้. ถ้าว่าม้าอัสดรอุดมกว่าฬาทั้งหลาย พระองค์จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้. ก็เป็นอย่างไร บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์ จึงไม่สามารถจะรู้เหตุเท่านี้ พากันตบมือหัวเราะเฮฮา โอ บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์บริบูรณ์ด้วยปัญญา พวกนั้นพระองค์ได้มาแต่ไหน. ทูลฉะนี้ กล่าวเยาะเย้ยบัณฑิต ๔ คน แล้วทูลพระราชาด้วยคาถาในเอกนิบาตว่า
               ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตร ฬาของพระองค์นี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร เพราะว่าฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร.

               คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง. ฬาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าแม้ม้าอัสดรของพระองค์ เพราะเหตุไร เพราะฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร. ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็กราบทูลว่า ถ้าบิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้. ถ้าบุตรประเสริฐกว่าบิดา ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น ก็ทรงโสมนัส. ราชบริษัททั้งปวงก็แซ่ซ้องสาธุการว่า มโหสถบัณฑิตกล่าวปัญหาดีแล้ว เสียงปรบมือและการยกแผ่นผ้าเป็นพันๆ ได้เป็นไปแล้ว. บัณฑิต ๔ คนต่างมีหน้าเศร้าหมองซบเซาไปตามๆ กัน.
               ปุจฉาว่า บุคคลผู้รู้คุณแห่งบิดามารดา เช่นกับพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีมิใช่หรือ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงทำอย่างนี้.
               วิสัชนาว่า พระโพธิสัตว์นั้นได้ทำอย่างนั้น เพื่อประสงค์จะดูหมิ่นบิดาก็หาไม่. ก็แต่พระราชาส่งข่าวไปว่า ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวาย. เพราะฉะนั้น จึงทำอย่างนี้ เพื่อจะทำปัญหานั้นให้แจ่มแจ้ง เพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะทำอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ให้หมดรัศมี.
               จบ ปัญหาฬา

               พระเจ้าวิเทหราชทรงยินดี จับพระเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอม ทรงหลั่งน้ำนั้นลงในมือสิริวัฒกเศรษฐี. พระราชทานให้ปกครองปาจีนยวมัชฌคาม แล้วตรัสว่า เหล่าอนุเศรษฐีจงบำรุงสิริวัฒกเศรษฐี แล้วให้ส่งเครื่องสรรพาลังการ พระราชทานแก่นางสุมนาเทวีมารดาพระโพธิสัตว์. ทรงเลื่อมใสในปัญหาฬา จึงตรัสกะเศรษฐีเพื่อจะทรงรับ พระโพธิสัตว์ไว้เป็นราชบุตรที่รักของพระองค์ว่า ดูก่อนคฤหบดีผู้เจริญ ท่านจงให้มโหสถบัณฑิตไว้เป็นราชบุตรแห่งเรา. เศรษฐีทูลค้านว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถบุตรของข้าพระองค์นี้ยังเด็กนัก. จนถึงวันนี้ กลิ่นน้ำนมในปากของเธอยังได้กลิ่นอยู่. ต่อในกาลเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงอยู่ในราชสำนัก. พระราชาตรัสว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านอย่าห่วงใยในมโหสถเลย. มโหสถนี้จักเป็นราชบุตรของเราแต่วันนี้ไป. เราพอจะเลี้ยงบุตรของท่านได้ ท่านจงกลับบ้านเถิด. ตรัสฉะนี้ แล้วมีพระราชานุญาตให้เศรษฐีกลับบ้าน. เศรษฐีถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วสวมกอดมโหสถให้นอนแนบอก จุมพิตศีรษะ ให้โอวาทแก่มโหสถว่า แน่ะพ่อดุจดวงใจ ดุจดวงตาอันประเสริฐ พ่อมโหสถผู้บัณฑิต พ่ออย่าทำให้บิดาหาที่พึ่งมิได้. จำเดิมแต่นี้ไป พ่อจงบำรุงพระราชาของเราทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาทเถิด. มโหสถไหว้บิดาแล้วกล่าวว่า บิดาอย่าวิตกเลย แล้วส่งให้บิดากลับเคหสถานแห่งตน.
               พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนใน หรือข้าหลวงเรือนนอก. พระโพธิสัตว์คิดว่า บริวารของเรามีมาก ควรเราจักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. ลำดับนั้น พระราชาจึงพระราชทานเคหสถานอันสมควร แล้วพระราชทานเสบียงและเครื่องอุปโภคทั้งปวง ตลอดถึงบริวารพันหนึ่ง. ตั้งแต่นั้นมา มโหสถบัณฑิตก็บำรุงพระราชา. ฝ่ายพระราชาก็ทรงใคร่จะทดลองมโหสถนั้นต่อไป.
               ก็กาลนั้น แก้วมณีได้มีอยู่ในรังกาบนต้นตาลต้นหนึ่งที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ไม่ไกลประตูเบื้องทักษิณแห่งพระนคร. เงาของแก้วมณีนั้น ปรากฏในสระโบกขรณี. ชนทั้งหลายทูลแด่พระราชาว่า แก้วมณีมีอยู่ในสระโบกขรณี. พระราชาตรัสเรียกเสนกะมาตรัสถามว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ได้ยินว่า มณีรัตนะปรากฏในสระโบกขรณี. ทำอย่างไร จึงจะถือเอาแก้วมณีนั้นได้. ครั้นเสนกทูลว่า ควรวิดน้ำถือเอา. จึงควรมอบการทำนั้นให้เป็นภาระของเสนกนั้น. อาจารย์เสนกให้คนเป็นอันมากประชุมกัน วิดน้ำโกยตมออกจากสระโบกขรณี. แม้ขุดถึงพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณี เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เสนก แม้ทำดังนั้นอีก ก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้นเลย. ต่อนั้น พระราชาตรัสเรียกมโหสถบัณฑิตมาตรัสว่า แก้วมณีดวงหนึ่งปรากฏในสระโบกขรณี. อาจารย์เสนกให้นำน้ำและโคลนออกจากสระโบกขรณี กระทั่งขุดพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้น. เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เจ้าสามารถจะให้เอาแก้วมณีนั้นมาได้หรือ. มโหสถกราบทูลสนองว่า ข้อนั้นหาเป็นการหนักไม่ พระเจ้าข้า. เชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จักแสดงแก้วมณีนั้นถวาย. พระเจ้าวิเทหราชได้สดับดังนั้น ก็ทรงดีพระหฤทัย ทรงคิดว่า วันนี้เราจักเห็นกำลังปัญญาของมโหสถบัณฑิต ก็เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปสู่ฝั่งโบกขรณี. พระมหาสัตว์ยืนที่ฝั่ง แลดูมณีรัตนะก็รู้ว่า แก้วมณีนี้ไม่มีในสระโบกขรณี มีอยู่บนต้นตาล. จึงกราบทูลว่า แก้วมณีไม่มีในสระโบกขรณี พระเจ้าข้า. ครั้นรับสั่งว่า แก้วมณีปรากฏในน้ำไม่ใช่หรือ. จึงให้นำภาชนะสำหรับขังน้ำมาใส่น้ำเต็ม. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทอดพระเนตร แก้วมณีนี้หาได้ปรากฏในสระโบกขรณี แต่แห่งเดียวไม่. แม้ในภาชนะน้ำก็ปรากฏ. ครั้นตรัสถามว่า เจ้าบัณฑิต ก็แก้วมณีมีอยู่ที่ไหน จึงกราบทูลสนองว่า ข้าแต่สมมติเทพ เงาปรากฏในสระโบกขรณีบ้าง ในภาชนะน้ำบ้าง แก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่แก้วมณีมีอยู่ในรังกาบนต้นตาล. โปรดให้ราชบุรุษขึ้นไปนำลงมาถวายเถิด. พระราชาก็ตรัสให้ราชบุรุษขึ้นไปนำแก้วมณีลงมา. มโหสถบัณฑิตรับแก้วมณีจากราชบุรุษ แล้ววางในพระหัตถ์ของพระราชา. มหาชนให้สาธุการแก่มโหสถบัณฑิต. บริภาษอาจารย์เสนก ชมเชยมโหสถว่า แก้วมณีอยู่บนต้นตาล เสนกโง่ให้คนมากมายขุดสระ ทำลายสระโบกขรณี. แต่มโหสถบัณฑิตไม่ทำเช่นนั้น. แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงโสมนัส พระราชทานสร้อยมุกดาหาร เครื่องประดับพระศอของพระองค์แก่มโหสถ. พระราชทานสร้อยมุกดาวลีแก่เด็กผู้เป็นบริวารพันหนึ่ง. ทรงอนุญาตพระโพธิสัตว์ พร้อมบริวารให้ปฏิบัติราชการ โดยทำนองนี้.
               จบปัญหา ๑๙ ข้อ

               อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถบัณฑิต. กาลนั้น มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายเสาค่าย. มันเห็นพระราชา เสด็จมาก็ลงจากเสาค่ายหมอบอยู่ที่พื้นดิน. พระราชาทอดพระเนตร เห็นกิริยาของกิ้งก่านั้น. จึงตรัสถามว่า แน่ะบัณฑิต กิ้งก่าตัวนี้ทำอะไร. มโหสถทูลตอบว่า กิ้งก่าตัวนี้ถวายตัว พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า การถวายตัวของกิ้งก่าอย่างนี้ ไม่มีผลก็หามิได้. ท่านจงให้โภคสมบัติแก่มัน. มโหสถกราบทูลว่า กิ้งก่านี้หาต้องการทรัพย์ไม่ ควรพระราชทานเพียงแต่ของกินก็พอ. ครั้นตรัสถามว่า มันกินอะไร. ทูลตอบว่า มันกินเนื้อ. แล้วตรัสซักถามว่า มันควรได้ราคาเท่าไร. ทูลว่า ราคาราวกากณึกหนึ่ง. จึงตรัสสั่งราชบุรุษหนึ่งว่า รางวัลของหลวง เพียงกากณึกหนึ่งไม่ควร. เจ้าจงนำเนื้อราคากึ่งมาสกมาให้มันกินเป็นนิตย์. ราชบุรุษรับพระราชโองการ ทำดังนั้นจำเดิมแต่นั้นมา. วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. ราชบุรุษนั้นไม่ได้เนื้อ จึงเจาะเหรียญกึ่งมาสกนั้น เอาด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับที่คอมัน. ลำดับนั้น ความถือตัวก็เกิดขึ้นแก่กิ้งก่านั้น อาศัยมันมีกึ่งมาสกนั้น. วันนั้น พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน. กิ้งก่านั้นเห็นพระราชาเสด็จมา. ก็ทำตนเสมอพระราชาด้วย เหมือนจะเข้าใจว่า พระองค์มีพระราชทรัพย์มากหรือ. ตัวเราก็มีมากเหมือนกัน ด้วยอำนาจความถือตัว อันอาศัยทรัพย์กึ่งมาสกนั้นเกิดขึ้น. ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบ ยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่าย นั่นเอง. พระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็น กิริยาของมัน. เมื่อจะตรัสถามว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต วันนี้ มันไม่ลงมาเหมือนในก่อน เหตุเป็นอย่างไรหรือ. จึงตรัสคาถานี้ว่า
               กิ้งก่านี้ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบเหมือนในก่อน เจ้าจงรู้กิ้งก่ากระด้างด้วยเหตุไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุนฺนมติ ความว่า วันนี้ กิ้งก่าไม่ลงหมอบ ยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่ายนั่นเอง ฉันใด. กิ้งก่าไม่ลงมาหมอบอย่างในก่อน ฉันนั้น. บทว่า เกน ถทฺโธ ความว่า ถึงความกระด้างด้วยเหตุไร.
               ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ในวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. มันอาศัยกึ่งมาสกที่ราชบุรุษผูกไว้ที่คอ เพราะหาเนื้อให้กินไม่ได้. ความถือตัวของมันจึงเกิดขึ้น ดังนี้. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               กิ้งก่าได้กึ่งมาสกซึ่งไม่เคยได้ จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา.

               พระราชาตรัสให้เรียกราชบุรุษนั้นมาตรัสถาม ก็ได้ความสมจริงดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ. ด้วยเห็นว่า อัธยาศัยของกิ้งก่า มโหสถไม่ได้ถามอะไรๆ ก็รู้ได้ ดังพระสัพพัญญูพุทธเจ้ารู้อัธยาศัยเวไนยสัตว์ ฉะนั้น. จึงพระราชทานส่วยที่ประตูทั้ง ๔ แก่มโหสถบัณฑิต. แต่กริ้วกิ้งก่า ทรงปรารภจะให้ฆ่าเสีย. มโหสถทูลทัดทานพระราชาว่า ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานหาปัญญามิได้. ขอพระองค์โปรดยกโทษให้มันเถิด ขอเดชะ.
               จบ ปัญหากิ้งก่า

               ครั้งนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ปิงคุตตระ. เป็นชาวมิถิลาไปกรุงตักกสิลา เรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนได้รวดเร็ว. มาณพนั้นให้ทรัพย์เครื่องตอบคุณ แล้วลาอาจารย์กลับบ้าน. ก็ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ถ้าธิดาในสกุลนั้นเป็นผู้เจริญวัย อาจารย์ต้องยกให้แก่ศิษย์ผู้ใหญ่. อาจารย์นั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่ง มีรูปงามเปรียบด้วยเทพอัปสร. ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะปิงคุตตรมาณพนั้นว่า เราให้ธิดาแก่เจ้า เจ้าจงพาไปด้วย. แต่มาณพนั้นไม่ใช่ผู้มีบุญ เป็นคนกาลกรรณี. ส่วนนางกุมาริกาเป็นผู้มีบุญมาก. จิตของปิงคุตตรมาณพมิได้ปฏิพัทธ์เพราะเห็นนางกุมาริกานั้น. มาณพนั้น แม้ไม่ปรารถนานางกุมาริกา ก็ต้องรับด้วยคิดว่า เราจักไม่ทำลายคำของอาจารย์. พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้ให้ธิดาแก่มาณพนั้น. มาณพนั้นนอน ณ ที่นอน อันมีสิริที่ตกแต่งแล้วในเวลาราตรี. ให้ละอายใจใน เพราะนางกุมารีนั้นมาขึ้นนอนด้วย. ก็ลงจากที่นอนนอนที่ภาคพื้น. ฝ่ายนางกุมาริกาก็ลงมานอนใกล้ๆ มาณพนั้น. มาณพก็ลุกขึ้นไปบนที่นอน. นางกุมาริกานั้นก็ขึ้นไปยังที่นอนอีก. พอนางกุมาริกาขึ้นไป มาณพก็ลงจากที่นอน นอนที่ภาคพื้นอีก. ชื่อว่ากาลกรรณี ย่อมไม่ร่วมกับสิริ. นางกุมาริกานอนที่ที่นอน มาณพนั้นนอนที่ภาคพื้น. มาณพนั้นยังกาลให้ล่วงไปอย่างนี้ สิ้นสัปดาห์หนึ่ง. ก็พานางกุมาริกานั้นไหว้อาจารย์ออกจากพระนครตักกสิลา. ในระหว่างทางมิได้พูดจาปราศรัยกันเลย ชนทั้งสองมิได้มีความปรารถนากัน ได้มาถึงกรุงมิถิลา.
               ฝ่ายปิงคุตตรมาณพเห็น ต้นมะเดื่อต้นหนึ่งเต็มไปด้วยผล ในที่ใกล้พระนคร. ถูกความหิวเบียดเบียน ก็ขึ้นต้นไม้นั้น. เคี้ยวกินผลมะเดื่อ. ฝ่ายนางกุมาริกานั้นก็หิวโหย จึงไปที่โคนต้นไม้กล่าวว่า ข้าแต่นาย จงทิ้งผลลงมาให้ข้าพเจ้าบ้าง. มาณพนั้นตอบว่า มือตีนของเจ้าไม่มีหรือ เจ้าจงขึ้นมาเก็บกินเอง. นางก็ขึ้นไปเก็บเคี้ยวกิน. มาณพรู้ว่านางขึ้นมา ก็รีบลงล้อมต้นมะเดื่อด้วยหนามแล้วกล่าวว่า เราพ้นจากหญิงกาลกรรณี แล้วหนีไป. นางกุมาริกานั้น เมื่อไม่อาจลง ก็นั่งอยู่บนนั้นนั่นเอง. วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงเล่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้นแล้ว. เมื่อประทับนั่งบนคอช้าง เสด็จเข้าพระนครในเวลาเย็น. ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในนาง. จึงตรัสสั่งให้ถามว่า นางมีผู้หวงแหนหรือหาไม่. นางแจ้งว่า สามีของนางที่สกุลตบแต่งมีอยู่ แต่เขาให้ ข้าพเจ้านั่งบนนี้ ทิ้งเสียแล้วหนีไป. อมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของหลวง. จึงให้รับนางลง แล้วให้ขึ้นคอช้างนำไปราชนิเวศน์. อภิเษกสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่รัก เป็นที่ชอบพระหฤทัยแห่งพระราชา. ชนทั้งหลายกำหนดรู้ พระนามของพระนางว่า อุทุมพรเทวี เพราะพระราชาได้พระนางมาแต่อุทุมพรพฤกษ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ยังชาวบ้านใกล้ประตูเมืองให้แผ้วถางทาง. เพื่อประโยชน์ในการเสด็จพระราชดำเนินสู่สวนหลวง. ปิงคุตตรมาณพเมื่อทำการจ้าง โจงกระเบน มั่นถางทางด้วยจอบ. เมื่อทางยังไม่แล้ว พระราชาประทับบนรถที่นั่งกับด้วยพระนางอุทุมพรเทวีเสด็จออกจากพระนคร. พระนางอุทุมพรเทวีได้ทอดพระเนตร เห็นปิงคุตตรมาณพผู้กาลกรรณีนั้นแผ้วถางอยู่. เมื่อทอดพระเนตรมาณพนั้น ด้วยนึกในพระหฤทัยว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ ก็ทรงพระสรวล. พระราชาทอดพระเนตร เห็นพระนางทรงพระสรวลก็กริ้ว. ตรัสถามว่า หัวเราะอะไร. พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษผู้ถางทางนี้เป็นสามีคนเก่าของข้าพระบาท ยังข้าพระบาทให้ขึ้นต้นมะเดื่อ แล้วเอาหนามสะวงไว้แล้วไป. ข้าพระบาทแลดูเขาแล้วคิดว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ จึงหัวเราะ. พระราชาตรัสว่า เธอกล่าวมุสา เธอเห็นอะไรอื่น เราจักฆ่าเธอ. ตรัสฉะนี้ แล้วทรงจับพระแสงดาบ. พระนางมีความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายก่อน. พระราชาจึงตรัสถามเสนกว่า ท่านเชื่อหรือ. เสนกทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อ ชายอะไรจะละสตรีเห็นปานดังนี้ไป พระเจ้าข้า. พระนางอุทุมพรได้ทรงสดับคำของเสนก ยิ่งกลัวพระราชอาญาเหลือเกิน. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เสนกจะรู้อะไร เราจักถามมโหสถ.
               เมื่อจะตรัสถามมโหสถ จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีรูปงาม และนางสมบูรณ์ด้วยอาจารมารยาท บุรุษไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อหรือ.


               บทว่า สีลวตี ในคาถานั้น ความว่า ถึงพร้อมด้วยอาจารมรรยาท.

               มโหสถบัณฑิตได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อบุรุษผู้หาบุญมิได้ พึงมี. สิริและกาลกรรณีย่อมร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สเมนฺติ ความว่า ย่อมเข้าหากันไม่ได้ เหมือนฟากข้างนี้กับฟากข้างโน้นของทะเล เหมือนท้องฟ้ากับพื้นดิน.
               พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้นตามคำของมโหสถ หายกริ้ว ทรงยินดีต่อมโหสถ. ตรัสว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ข้าจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ เห็นปานดังนี้. ด้วยถ้อยคำของเสนกผู้โฉดเขลา. ข้าได้นางนี้ไว้เพราะอาศัยเจ้า. ตรัสชมฉะนี้แล้ว พระราชทานกหาปณะแสนหนึ่งบูชามโหสถ. ฝ่ายพระเทวีถวายบังคมพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ได้ชีวิต เพราะอาศัยมโหสถบัณฑิต. ข้าพระองค์ปรารถนาพระพร เพื่อให้มโหสถบัณฑิตนี้ตั้งอยู่ในที่เป็นน้องชาย. ขอพระองค์โปรดประทานเถิด. พระเจ้าวิเทหราชก็พระราชทานพรแก่พระนางว่า ดีแล้วพระเทวี เธอจงรับพร เราให้พรแก่เธอ. พระนางจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า จำเดิมแต่วันนี้ ข้าพระองค์จะไม่บริโภคอะไรๆ มีรสอร่อย เว้นน้องชาย. ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จงได้เพื่อให้เปิดประตูในเวลาหรือมิใช่เวลา ส่งของมีรสอร่อยไปให้น้องชายนั้น. ข้าพระองค์ขอรับพระพรนี้. พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า ดีแล้ว นางผู้เจริญ เธอจงรับพรนี้.
               จบปัญหาสิริกับกาลกรรณี

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]