ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑๐. ยักขสังยุต]

๑๒. อาฬวกสูตร

๑๒. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์
[๒๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในภพของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กล่าวกับพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ท่านจงออกมา สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านจงออกมา สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านจงออกมา สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้อีกว่า “ท่านจงออกมา สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เราจักไม่ออกไปละ ท่านจะทำอะไรก็จง ทำเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๓๕๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑๐. ยักขสังยุต]

๑๒. อาฬวกสูตร

อาฬวกยักษ์ได้กล่าวว่า “สมณะ เราจักถามปัญหากับท่าน ถ้าท่านไม่ พยากรณ์ตอบแก่เรา เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน จักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้น” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เราไม่เห็นใครเลยในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะพึง ทำจิตของเราให้พลุ่งพล่านได้ ฉีกหัวใจของเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยัง ฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นได้ เชิญท่านถามตามที่ท่านต้องการเถิด” อาฬวกยักษ์ถามว่า อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ที่ประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ อะไรเล่ามีรสล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิต ของผู้เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ที่ประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ ธรรม๑- ที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลมีรสล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิต ของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ว่าประเสริฐสุด @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลธรรม ๑๐ ประการ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรมมีทานและศีล เป็นต้น @(สํ.ส.อ. ๑/๒๔๖/๓๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๓๕๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑๐. ยักขสังยุต]

๑๒. อาฬวกสูตร

อาฬวกยักษ์ถามว่า บุคคลข้ามโอฆะ๑- ได้อย่างไรเล่า ข้ามอรรณพ๑- ได้อย่างไรเล่า ล่วงทุกข์ได้อย่างไรเล่า บริสุทธิ์ได้อย่างไรเล่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา อาฬวกยักษ์ถามว่า บุคคลได้ปัญญาอย่างไรเล่า ทำอย่างไรเล่าจึงจะหาทรัพย์ได้ บุคคลได้เกียรติยศอย่างไรเล่า ทำอย่างไรเล่าจึงจะผูกมิตรไว้ได้ บุคคลละโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรเล่าจึงจะไม่เศร้าโศก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ไม่ประมาท มีความรอบคอบ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา บุคคลผู้ทำการเหมาะเจาะไม่ทอดธุระ ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้เกียรติยศเพราะความสัตย์ บุคคลเมื่อให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ @เชิงอรรถ : @๑-๑ โอฆะ ในที่นี้หมายถึงทิฏโฐฆะ อรรณพ หมายถึงภโวฆะ (ดูคำอธิบาย โอฆะ ในข้อ ๑ หน้า ๑) @(สํ.ส.อ. ๑/๒๔๖/๓๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๓๕๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑๐. ยักขสังยุต]

รวมพระสูตรที่มีในสังยุต

บุคคลอยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรม๑- ธิติ จาคะ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูชิว่า ในโลกนี้มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ๑- ขันติ จาคะ เล่า อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า ทำไมเล่า ข้าพระองค์จึงต้องถามสมณพราหมณ์ เป็นอันมากในบัดนี้ วันนี้ ข้าพระองค์รู้ชัดถึงประโยชน์ในภายหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองอาฬวี เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้ วันนี้ ข้าพระองค์รู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก ข้าพระองค์จักเที่ยวจากบ้านไปยังบ้าน จากเมืองไปยังเมือง นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งมีส่วนชักนำให้เป็นคนดี
อาฬวกสูตรที่ ๑๒ จบ
ยักขสังยุต จบบริบูรณ์
รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ
๑. อินทกสูตร ๒. สักกสูตร ๓. สูจิโลมสูตร ๔. มณิภัททสูตร ๕. สานุสูตร ๖. ปิยังกรสูตร ๗. ปุนัพพสุสูตร ๘. สุทัตตสูตร ๙. ปฐมสุกกาสูตร ๑๐. ทุติยสุกกาสูตร ๑๑. จีราสูตร ๑๒. อาฬวกสูตร @เชิงอรรถ : @๑-๑ ธรรมะ และ ทมะ ในที่นี้มีความหมายว่า ปัญญา เหมือนกัน (สํ.ส.อ. ๑/๒๔๖/๓๑๕-๓๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๓๕๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๓๕๑-๓๕๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=15&siri=246              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6878&Z=6943                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=838              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=838&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=7749              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=838&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=7749                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i801-e.php#sutta12 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn10/sn10.012.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn10/sn10.012.piya.html https://suttacentral.net/sn10.12/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :