ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๗. โคทัตตสูตร

๗. โคทัตตสูตร
ว่าด้วยพระโคทัตตะ
[๓๔๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระโคทัตตะอยู่ที่อัมพาฏกวัน เขตเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ครั้งนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาท่านพระโคทัตตะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามจิตตคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ธรรมเหล่านี้ คือ (๑) อัปปมาณาเจโตวิมุตติ (๒) อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ๑- (๓) สุญญตาเจโตวิมุตติ (๔) อนิมิตตาเจโตวิมุตติ๒- มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ เท่านั้น” จิตตคหบดีตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถ ต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นมีอยู่ อนึ่ง เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้ จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้นมีอยู่ ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะ ต่างกัน เหตุนั้นเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศ ที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๓- ทิศเบื้องล่าง๔- ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว ทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๙ ประการ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔ @อากิญจัญญายตนะชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเป็นอารมณ์ มรรคและผลชื่อว่า @อากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลคือกิเลสเครื่องย่ำยีและกิเลสเครื่องผูก (๓/๓๔๙/๑๖๐) @ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๓ ประการ คือ วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔ @(สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑) @ ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๕/๔๓๕) @ ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๕/๔๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๗. โคทัตตสูตร

มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ นี้เรียกว่า อัปปมาณาเจโตวิมุตติ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เรียกว่า อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ สุญญตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าบ้าง ไปสู่โคนไม้บ้าง ไปสู่เรือนว่างบ้าง ย่อม พิจารณาเห็นวิมุตติว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา’ นี้เรียกว่า สุญญตาเจโตวิมุตติ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอนิมิตตเจโตสมาธิเพราะไม่กำหนดนิมิตทั้งปวงอยู่ นี้เรียกว่า อนิมิตตาเจโตวิมุตติ ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกันและมี พยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นเป็นอย่างนี้แล ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกัน แต่พยัญชนะเท่านั้น คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อัปปมาณาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าว ว่า เลิศกว่าอัปปมาณาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจากราคะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๘. นิคัณฐนาฏปุตตสูตร

ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลส เป็นเครื่องกังวล โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้ แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าว ว่า เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจาก ราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต โทสะ ชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกระทำนิมิต กิเลส เหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อนิมิตตาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าไร เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าอนิมิตตาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้นว่างจากราคะ ว่าง จากโทสะ ว่างจากโมหะ ฯลฯ ท่านผู้เจริญ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึง มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ เหตุนั้นเป็นอย่างนี้แล” ท่านพระโคทัตตะกล่าวว่า “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้วที่ ปัญญาจักษุของท่านหยั่งลงในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง”
โคทัตตสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๘๕-๓๘๗. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=18&siri=263              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=7525&Z=7578                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=571              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=571&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3487              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=571&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3487                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i537-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn41/sn41.007.than.html https://suttacentral.net/sn41.7/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :