ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๑๒. ปริณามนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๘. สหธรรมิกวรรค
๑๒. ปริณามนสิกขาบท
ว่าด้วยการน้อมลาภที่เป็นของสงฆ์ไปเพื่อบุคคล
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สมาคมหนึ่งในกรุงสาวัตถี เตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรไว้ถวายสงฆ์ด้วยตั้งใจว่า “พวกเราจักนิมนต์ภิกษุให้ฉัน แล้วให้ครองจีวร” ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปหาสมาคมนั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้ กล่าวกับสมาคมนั้นดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านโปรดถวายจีวรแก่ภิกษุ เหล่านี้” สมาคมนั้นกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ พวกเราจะไม่ถวาย พวกเราจัดภิกษาหาร พร้อมกับจีวรไว้ถวายสงฆ์เป็นประจำทุกปี” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ทายกของสงฆ์มีหลายคน ภัตตาหารของสงฆ์ก็มีจำนวนมาก ภิกษุเหล่านี้อาศัยพวกท่าน เห็นแก่พวกท่าน จึงอยู่ที่นี้ ถ้าพวกท่านไม่ถวายแก่ภิกษุเหล่านี้แล้ว คราวนี้ ใครเล่าจะถวายแก่ภิกษุ เหล่านี้ พวกท่านโปรดถวายจีวรแก่ภิกษุเหล่านี้เถิด” ลำดับนั้น เมื่อถูกพวกภิกษุฉัพพัคคีย์รบเร้า สมาคมนั้นจึงถวายจีวรตามที่จัด ไว้แล้วแก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แล้วประเคนสงฆ์เฉพาะภัตตาหาร พวกภิกษุที่ทราบว่า “สมาคมจัดภัตตาหารพร้อมกับจีวรไว้ถวายสงฆ์” แต่ ไม่ทราบว่า “พวกเขาถวายพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปแล้ว” จึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ทั้งหลาย พวกท่านจงน้อมถวายจีวรแก่สงฆ์เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๑๒. ปริณามนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

สมาคมนั้นกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ไม่มีจีวรตามที่เคยจัดไว้ พระคุณเจ้า ฉัพพัคคีย์น้อมไปเพื่อพระคุณเจ้าฉัพพัคคีย์ด้วยกันแล้ว” บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่จึงน้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์ไปเพื่อบุคคลเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ น้อมลาภ ที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์ไปเพื่อบุคคล จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่จึงน้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์ไป เพื่อบุคคลเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๙๐] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์ไปเพื่อบุคคล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๙๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๑๒. ปริณามนสิกขาบท บทภาชนีย์

คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือคนนั้นบอก ที่ชื่อว่า เป็นของจะถวายสงฆ์ ได้แก่ เป็นของที่เขาถวายหรือบริจาคแล้วแก่สงฆ์ ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร โดยที่สุดกระทั่งก้อนจุรณ ไม้สีฟัน หรือด้ายชายผ้า ที่ชื่อว่า น้อมไว้ คือ เขาเปล่งวาจาว่า “เราจะถวาย จะกระทำ” ภิกษุน้อม ลาภนั้นไปเพื่อบุคคล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๔๙๒] ลาภที่เขาน้อมไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาน้อมไว้แล้ว น้อมไปเพื่อบุคคล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ลาภที่เขาน้อมไว้แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ น้อมไปเพื่อบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ ลาภที่เขาน้อมไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้น้อมไว้แล้ว น้อมไปเพื่อบุคคล ไม่เป็นอาบัติ ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อสงฆ์ ภิกษุน้อมไปเพื่อสงฆ์หมู่อื่นหรือเพื่อเจดีย์ ต้อง อาบัติทุกกฏ ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมไปเพื่อเจดีย์อื่น เพื่อสงฆ์ หรือเพื่อบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อบุคคล ภิกษุน้อมไปเพื่อบุคคลอื่น เพื่อสงฆ์ หรือเพื่อเจดีย์ ต้องอาบัติทุกกฏ ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาน้อมไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขายังไม่ได้น้อมไว้ ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสหธรรมิกวรรค

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๔๙๓] ๑. ภิกษุถูกทายกถามว่า “จะถวายที่ไหน” จึงแนะนำว่า “ไทยธรรม ของพวกท่านพึงได้รับการใช้สอย ได้รับการปฏิสังขรณ์ หรืออยู่ นานในที่ใด หรือท่านมีจิตเลื่อมใสในที่ใด จงถวายในที่นั้นเถิด” ๒. ภิกษุวิกลจริต ๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปริณามนสิกขาบทที่ ๑๒ จบ
สหธรรมิกวรรคที่ ๘ จบ
รวมสิกขาบทที่มีในสหธรรมิกวรรค
สหธรรมิกวรรคมี ๑๒ สิกขาบท คือ ๑. สหธรรมิกสิกขาบท ว่าด้วยการกล่าวตักเตือนผู้ร่วมประพฤติธรรมโดยชอบธรรม ๒. วิเลขนสิกขาบท ว่าด้วยความยุ่งยากแห่งสิกขาบท ๓. โมหนสิกขาบท ว่าด้วยการทำให้ผู้อื่นหลง ๔. ปหารสิกขาบท ว่าด้วยการทำร้ายเพื่อนภิกษุ ๕. ตลสัตติกสิกขาบท ว่าด้วยการเงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้นทำทีว่าจะทำร้าย ๖. อมูลกสิกขาบท ว่าด้วยการใส่ความด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล ๗. สัญจิจจสิกขาบท ว่าด้วยการจงใจก่อความรำคาญ ๘. อุปัสสุติสิกขาบท ว่าด้วยการแอบฟังภิกษุทะเลาะกัน ๙. กัมมปฏิพาหนสิกขาบท ว่าด้วยการคัดค้านกรรมที่ถูกต้อง ๑๐. ฉันทอทัตวาคมนสิกขาบท ว่าด้วยการไม่ให้ฉันทะแล้วไปเสีย ๑๑. ทัพพสิกขาบท ว่าด้วยการถวายจีวรแก่พระทัพพมัลลบุตร ๑๒. ปริณามนสิกขาบท ว่าด้วยการน้อมลาภที่เป็นของสงฆ์ไปเพื่อบุคคล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๘๑-๕๘๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=118              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=13966&Z=14046                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=727              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=727&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10124              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=727&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10124                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc82/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc82/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :