ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. จีวรวรรค
๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท
ว่าด้วยคนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร ข้อที่ ๒
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งกล่าวกับบุรุษอีกคน หนึ่งว่า “กระผมจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” แม้บุรุษคนนั้นก็กล่าวว่า “กระผมก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งได้ยินการสนทนาของบุรุษเหล่านั้น จึงเข้าไปหาท่านพระอุปนันทะถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านมีบุญมาก บุรุษคนหนึ่งในที่โน้นกล่าวกับบุรุษอีกคนหนึ่งว่า ‘จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครอง จีวร’ แม้บุรุษคนนั้นก็กล่าวว่า ‘กระผมก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ใช่ ขอรับ บุรุษทั้งสองเป็นอุปัฏฐากของกระผม เอง” ต่อมา ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปหาบุรุษทั้งสองถึงที่อยู่ครั้นถึงแล้วจึงกล่าวว่า “ได้ทราบว่า โยมทั้งสองต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวรหลายผืน จริงหรือ” บุรุษทั้งสองตอบว่า “จริงครับท่าน พวกกระผมมีความคิดจะนิมนต์พระคุณเจ้า อุปนันทะให้ครองจีวร” ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ถ้าท่านทั้งสองต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวร ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้ จีวรที่อาตมาไม่ใช้แม้นิมนต์อาตมาให้ครองก็จะมีประโยชน์ อะไร” บุรุษทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร มักมาก ไม่สันโดษ จะนิมนต์ให้ครองจีวร ก็ทำได้ยาก ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทะ ซึ่งพวกเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงมากำหนดชนิดจีวรเล่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท พระบัญญัติ

พวกภิกษุได้ยินบุรุษทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรซึ่งเขา ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงเข้าไปหาพวกคฤหัสถ์กำหนดจีวรเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น ตำหนิท่านอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ ก่อน แต่เธอไปกำหนดชนิดจีวร จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ คนเหล่านั้นเป็นญาติของ เธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุปนันทะทูลตอบว่า “คนเหล่านั้นไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอ นั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติแล้วกำหนดชนิดจีวร โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่ เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๓๓] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ๒ คน ตระเตรียม ทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืน เจาะจงภิกษุว่า “พวกเราจะซื้อจีวรคนละผืนด้วย ทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้แล้วนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืน” ถ้า ภิกษุนั้นซึ่งพวกเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนดชนิดจีวรในที่ที่เขา เตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านทั้งสองจงรวมกันซื้อจีวรเช่น นั้นเช่นนี้ ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ แล้วนิมนต์อาตมาให้ครองเถิด” ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์
[๕๓๔] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ได้แก่ เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร คำว่า ๒ คน คือ มี ๒ คน ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดา หรือทางบิดา ตลอดเจ็ดชั่วคน ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน ที่ชื่อว่า ทรัพย์เป็นค่าจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วตาแมว แก้วผลึก ผ้า ด้ายหรือฝ้าย คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน คำว่า ให้...ครอง คือ ถวาย คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ ได้แก่ ภิกษุรูปที่เขาทั้งสอง ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้ถวายโดยเฉพาะ คำว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ ทายกทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ก่อนว่า “ท่าน ผู้เจริญ ท่านต้องการจีวรชนิดไหน พวกผมจะซื้อจีวรชนิดไหนถวายท่าน” คำว่า เข้าไป คือ ไปถึงเรือนแล้วเข้าไปหาที่ใดที่หนึ่ง คำว่า กำหนดชนิดจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้เป็นผ้ายาว กว้าง เนื้อแน่น หรือเนื้อละเอียด คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ คำว่า เช่นนั้นเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียด คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

คำว่า จงให้ครอง คือ จงถวาย คำว่า ท่านทั้งสองจงรวมกัน คือ คน ๒ คนร่วมกัน คำว่า เพราะต้องการจีวรดี คือ ต้องการผ้าเนื้อดี หรือผ้าราคาแพง เขาซื้อจีวรผืนยาว กว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียดตามคำภิกษุนั้น ต้องอาบัติ ทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้ ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็น นิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็น นิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท บทภาชนีย์

สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหา คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๓๕] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาพวกคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาพวก คฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไป หาพวกคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้อง อาบัติทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัติทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๓๖] ๑. ภิกษุขอจากคฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ๒. ภิกษุขอจากคฤหัสถ์ที่ปวารณา ๓. ภิกษุขอเพื่อภิกษุรูปอื่น ๔. ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน ๕. ภิกษุผู้เมื่อพวกคฤหัสถ์ต้องการซื้อจีวรราคาแพง ตนเองกลับให้ ซื้อจีวรราคาถูก ๖. ภิกษุวิกลจริต ๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุติยอุปักขฏสิกขาบทที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๗-๖๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=9              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=1340&Z=1481                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=66              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=66&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4241              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=66&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4241                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np9/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :