ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๗. โจทนาสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้เป็นโจทก์๑-
[๑๖๗] ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วจึงโจทผู้อื่น ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เราจักกล่าวในกาลอันควร จักไม่กล่าวในกาลอันไม่ควร ๒. เราจักกล่าวถ้อยคำจริง จักไม่กล่าวถ้อยคำไม่จริง ๓. เราจักกล่าวถ้อยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวถ้อยคำหยาบ ๔. เราจักกล่าวถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวถ้อยคำ อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. เราจักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว @เชิงอรรถ : @ ผู้เป็นโจทก์ ในที่นี้หมายถึงผู้โจทก์ด้วยเรื่องสำหรับโจท ๔ อย่าง คือ (๑) วัตถุสันทัสสนา แสดงเรื่องที่ต้องอาบัติ @(๒) อาปัตติสันทัสสนา แสดงอาบัติที่ล่วงละเมิด (๓) สังวาสัปปฏิกเขปะ ห้ามสังวาสคือไม่ร่วมสังฆกรรม @มีอุโบสถกรรมและปวารณากรรมเป็นต้น (๔) สามีจิปฏิกเขปะ ไม่ทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น @(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๖๗/๖๕, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๖๗-๙-๖/๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๗๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. อาฆาตวรรค ๗. โจทนาสูตร

ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการนี้ ไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ถูกผู้อื่นโจทในกาล อันไม่ควร ไม่ถูกโจทในกาลอันควร ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ไม่ถูก โจทด้วยถ้อยคำจริง ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยถ้อยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำ อ่อนหวาน ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยถ้อยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจท ด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่ถูก โจทด้วยเมตตาจิต ก็โกรธ ภิกษุพึงให้อวิปปฏิสาร (ความไม่ร้อนใจ) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็น ธรรม โดยอาการ ๕ คือ ๑. ท่านถูกโจทในกาลอันไม่ควร ไม่ถูกโจทในกาลอันควร ท่านจึงควร มีอวิปปฏิสาร ๒. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำจริง ท่านจึง ควรมีอวิปปฏิสาร ๓. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ๔. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วย ถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ๕. ท่านถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงควรมี อวิปปฏิสาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุพึงให้มีอวิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็น ธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ภิกษุพึงให้วิปปฏิสาร(ความร้อนใจ)เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ ๑. ท่านโจทในกาลอันไม่ควร ไม่โจทในกาลอันควร ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๒. ท่านโจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ไม่โจทด้วยถ้อยคำจริง ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๗๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. อาฆาตวรรค ๗. โจทนาสูตร

๓. ท่านโจทด้วยถ้อยคำหยาบ ไม่โจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ท่านจึง ควรมีวิปปฏิสาร ๔. ท่านโจทด้วยถ้อยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยถ้อยคำ อันประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๕. ท่านโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่โจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุพึงให้วิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุแม้รูปอื่น ไม่พึงเข้าใจว่า ควรโจท ด้วยถ้อยคำไม่จริง ข้าพเจ้าเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ถูกโจทในกาลอันควร ไม่ถูกโจทใน กาลอันไม่ควร ก็โกรธ ถูกโจทด้วยถ้อยคำจริง ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ก็โกรธ ถูกโจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำหยาบ ก็โกรธ ถูกโจทด้วยถ้อย คำอันประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ก็โกรธ ภิกษุพึงให้วิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม โดยอาการ ๕ คือ ๑. ท่านถูกโจทในกาลอันควร ไม่ถูกโจทในกาลอันไม่ควร ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๒. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำจริง ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๓. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยถ้อยคำหยาบ ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๔. ท่านถูกโจทด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วย ถ้อยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร ๕. ท่านถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ท่านจึงควรมีวิปปฏิสาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๗๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. อาฆาตวรรค ๗. โจทนาสูตร

ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุพึงให้วิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม โดย อาการ ๕ นี้ ภิกษุพึงให้อวิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์โดยธรรม โดยอาการ ๕ คือ ๑. ท่านโจทในกาลอันควร ไม่โจทในกาลอันไม่ควร ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ๒. ท่านโจทด้วยถ้อยคำจริง ไม่โจทด้วยถ้อยคำไม่จริง ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ๓. ท่านโจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ไม่โจทด้วยถ้อยคำหยาบ ท่านจึง ควรมีอวิปปฏิสาร ๔. ท่านโจทด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยถ้อยคำ อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ๕. ท่านโจทด้วยเมตตาจิต ไม่โจทด้วยการเพ่งโทษ ท่านจึงควรมีอวิปปฏิสาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุพึงให้อวิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์โดยธรรม โดยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุแม้รูปอื่นพึงเข้าใจว่าควรโจทด้วย ถ้อยคำจริง บุคคลผู้ถูกโจทพึงตั้งมั่นในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริง และความไม่ โกรธว่า ‘ถ้าผู้อื่นพึงโจทเรา ด้วยธรรม ๕ ประการ คือ ๑. พึงโจทในกาลอันควรหรือในกาลอันไม่ควร ๒. พึงโจทด้วยถ้อยคำจริงหรือด้วยถ้อยคำไม่จริง ๓. พึงโจทด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือด้วยถ้อยคำหยาบ ๔. พึงโจทด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์หรือด้วยถ้อยคำอันไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. พึงโจทด้วยเมตตาจิตหรือด้วยการเพ่งโทษ แม้เราก็จะตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริงและความไม่โกรธ ถ้าเรา พึงทราบว่าธรรมนั้นมีในเรา ก็จะพึงกล่าวว่า ‘มีอยู่’ และว่า ‘ปรากฏในเรา’ ถ้าพึง ทราบว่า ธรรมนั้นไม่มีในเรา ก็จะพึงกล่าวว่า ‘ไม่มี’ และกล่าวว่า ‘ไม่ปรากฏในเรา’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๘๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. อาฆาตวรรค ๗. โจทนาสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เรื่องพึงเป็นอย่างนั้น แต่โมฆบุรุษบางพวก ในธรรมวินัยนี้ เมื่อถูกกล่าวสอน ย่อมไม่รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดไม่มี ศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต มิใช่มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้ โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ ไม่คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่ ไม่มุ่งหวังความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา เป็น ผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม๑- ทอดธุระในปวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรต่ำ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง มีปัญญา ทราม เป็นคนเซอะ๒- คนเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมไม่ รับฟังโอวาทโดยเคารพ ส่วนกุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มี มารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่ มุ่งหวังความเป็นสมณะ มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภ ความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นคนเซอะ กุลบุตรเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมรับฟังโอวาทโดยเคารพ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร บุคคลเหล่าใด ไม่มีศรัทธา ต้องการ เลี้ยงชีวิต ไม่มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ไม่มุ่งหวังความ @เชิงอรรถ : @ โอกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) @(๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา @(ความลังเลสังสัย) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑๑๒ (ปัจฉาสมณสูตร) หน้า ๑๙๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๘๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. อาฆาตวรรค ๘. สีลสูตร

เป็นสมณะ ไม่มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรต่ำ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง มีปัญญาทราม เป็นคนเซอะ บุคคล เหล่านั้น จงยกไว้ สารีบุตร ส่วนกุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ้าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่ มุ่งหวังความเป็นสมณะ มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศ กายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็น คนเซอะ สารีบุตร เธอพึงว่ากล่าวกุลบุตรเหล่านั้น จงกล่าวสอนเพื่อนพรหมจารี ทั้งหลาย จงพร่ำสอนเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายด้วยหวังว่า ‘เราจักยกเพื่อนพรหมจารี ทั้งหลายขึ้นจากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม’ สารีบุตร เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
โจทนาสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๒๗๗-๒๘๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=22&siri=167              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=4544&Z=4634                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=167              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=167&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1445              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=167&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1445                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i161-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/an5.167/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :