ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
๔. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่พระสุภูติ
[๑๔] ครั้งนั้น ท่านพระสุภูติกับภิกษุผู้มีศรัทธาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติ ดังนี้ว่า “สุภูติ ภิกษุนี้๒- ชื่อไร” @เชิงอรรถ : @ ภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุต หมายถึงพระขีณาสพผู้หลุดพ้นด้วยอสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่ขึ้นต่อสมัย @หรือชั่วคราวคือยั่งยืนเรื่อยไป) หมายถึงอริยผลโดยเฉพาะอรหัตตผลเป็นโลกุตตรวิมุตติ บางแห่งใช้คำว่า @อสมยวิโมกข์ ตรงกันข้ามกับสมยวิมุตติ หรือสมยวิโมกข์ ซึ่งหมายถึงสมาบัติ ๘ เป็นโลกิยวิมุตติ @(องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๓/๓๘๔) และดู ม.มู. ๑๒/๓๑๑/๒๗๘-๒๘๐ @ หมายถึงภิกษุผู้เป็นบุตรของอนาถบิณฑิกคหบดี ซึ่งมีศรัทธาออกบวชในสำนักของท่านพระสุภูติเถระผู้เป็นอาว์ @ต่อมาพระเถระนำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้พระองค์จะทรงทราบดีว่า ภิกษุนี้เป็นใคร ชื่ออะไร แต่ก็ทรง @ตรัสถามเพื่อปรารภเหตุที่จะแสดงพระธรรมเทศนา (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๔/๓๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร

ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า “ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าข้า” “สุภูติ ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตด้วยศรัทธา เห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือ” “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระ ภาคโปรดตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์ก็จักทราบ ณ บัดนี้ ว่า ภิกษุนี้จะเห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาหรือไม่” “สุภูติ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ท่านพระสุภูติทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า สุภูติ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๒. ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ แม้การที่ภิกษุ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐินี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้ มีศรัทธา ๓. ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๔. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย ธรรมเป็นเครื่องที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร

๕. ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง และงานต่ำ๑- ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็น เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถ ทำได้ สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่จะ ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ฯลฯ สามารถทำได้ สามารถจัดได้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๖. ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มี ปราโมทย์(ความบันเทิงใจ)อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย แม้การที่ภิกษุ เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์ อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัยนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๗. ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธา ของผู้มีศรัทธา ๘. ภิกษุเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความ ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธา ของผู้มีศรัทธา ๙. ภิกษุระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก บ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามี ชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๔๒๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร

อย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่อ อย่างนั้น มีตะกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้การที่ภิกษุระลึกชาติ ก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะ ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๑๐. ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็น หมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดี และเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรมอย่างนี้แล แม้การที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมนี้ก็เป็นลักษณะ แห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ๑๑. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แม้การที่ภิกษุทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ฯลฯ เข้าถึง อยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสุภูติได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสแล้วนี้ มีอยู่พร้อมแก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ก็เห็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มี ศรัทธาเหล่านี้ คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๔๒๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร

๑. ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย ๒. ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ๓. ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ๔. ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็น ผู้อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ ๕. ภิกษุนี้เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง และงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ ๖. ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มี ปราโมทย์อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัยอยู่ ๗. ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๘. ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ๙. ภิกษุนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ๑๐. ภิกษุนี้เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัด ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๕. เมตตาสูตร

๑๑. ภิกษุนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไป ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้เหล่านี้ มีอยู่พร้อมแก่ภิกษุนี้และภิกษุนี้ก็เห็น ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละๆ สุภูติ ถ้าเช่นนั้น เธอพึงอยู่กับภิกษุชื่อว่ามี ศรัทธานี้เถิด สุภูติ แต่เมื่อใด เธอหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคต เมื่อนั้น เธอกับภิกษุ ชื่อว่ามีศรัทธานี้พึงมาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด”
สุภูติสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๔๒๐-๔๒๕. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=24&siri=210              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=8187&Z=8296                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=221              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=221&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8608              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=221&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8608                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i218-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an11.14/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :