ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ

๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดว่าด้วยการลงทัณฑ์๑-
๑. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๙] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์ สัตว์ทุกประเภท ย่อมหวาดกลัวความตาย บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า
๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๓๐] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์ สัตว์ทุกประเภท ย่อมรักชีวิต๒- บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า @เชิงอรรถ : @ ลงทัณฑ์ ตามความหมายในวรรคนี้คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น @ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ท่อนไม้ ก้อนดิน และวาจาที่หยาบคายให้ร้ายป้ายสี ตลอดถึงการใช้ @บทบัญญัติ บทลงโทษที่เอื้อประโยชน์ตนเป็นเครื่องมือ (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๔-๖๔) @ ยกเว้นพระขีณาสพ เพราะท่านเป็นผู้วางเฉยได้ในชีวิตหรือความตาย (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๔. โกณฑธานเถรวัตถุ

๓. สัมพหุลกุมารวัตถุ
เรื่องเด็กชายหลายคน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กชายชาวเมืองสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน ที่กำลังตีงูในระหว่างทาง ดังนี้) [๑๓๑] ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย [๑๓๒] ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข๑-
๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
เรื่องพระโกณฑธานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระโกณฑธานเถระ ดังนี้) [๑๓๓] เธออย่าได้กล่าวคำหยาบต่อใครๆ คนที่ถูกเธอว่ากล่าวจะกล่าวโต้ตอบเธอ เพราะว่าถ้อยคำที่โต้เถียงกัน ก่อให้เกิดทุกข์ และการทำร้ายโต้ตอบกันจะมาถึงเธอ [๑๓๔] ถ้าเธอทำตนให้นิ่งเงียบได้ เหมือนกังสดาล๒- ที่ตัดขอบปากออกแล้ว เธอก็จะบรรลุนิพพานได้ การโต้เถียงกันก็จะไม่มีแก่เธอ @เชิงอรรถ : @ ดูอุทานข้อ ๑๓ หน้า ๑๙๓ ในเล่มนี้ @ กังสดาล หมายถึงระฆังวงเดือน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ

๕. อุโปสถิกอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขาและหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล ประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้) [๑๓๕] คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น
๖. อชครเปตวัตถุ
เรื่องเปรตงูเหลือม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๓๖] คนพาลมีปัญญาทราม เมื่อทำบาปกรรมย่อมไม่รู้สึกตัว จึงมักเดือดร้อนเพราะกรรมของตน เหมือนคนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น
๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๓๗] ผู้ใดประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด๑- (และ) คนที่ไม่ประทุษร้าย๒- (ตอบ)ด้วยโทษทัณฑ์ ผู้นั้นย่อมได้รับผลอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง คือ [๑๓๘] (๑) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า (๒) เสื่อมทรัพย์ (๓) ถูกทำร้ายร่างกาย (๔) เจ็บป่วยอย่างหนัก (๕) กลายเป็นคนวิกลจริต @เชิงอรรถ : @ คนที่ไม่มีความผิด หมายถึงพระขีณาสพผู้ปราศจากความผิดทางกาย เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๓) @ คนที่ไม่ประทุษร้าย หมายถึงคนที่ไม่มีความผิดต่อผู้อื่น หรือต่อตนเอง (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๙. สันตติมหามัตตวัตถุ

[๑๓๙] (๖) ต้องราชภัย๑- (๗) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง (๘) เสื่อมญาติ (๙) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ [๑๔๐] (๑๐) บ้านเรือนถูกไฟไหม้ เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก
๘. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้) [๑๔๑] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน การมีกายหมักหมมด้วยธุลี หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่
๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๔๒] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน๒- ประพฤติพรหมจรรย์ ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ๓- ก็ได้ @เชิงอรรถ : @ ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๔) @ สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น @ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้ @เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๕) @ คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง @ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณฑวรรค ๑๑. สุขสามเณรวัตถุ

๑๐. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๔๓] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้ ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป๑- [๑๔๔] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม๒- เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และธัมมวินิจฉัย๓- สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง จักละทุกข์๔- มีประมาณไม่น้อยนี้ได้
๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๔๕] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ ช่างศร ย่อมดัดลูกศร ช่างไม้ ย่อมถากไม้ ผู้มีวัตรดี๕- ย่อมฝึกตน๖-
ทัณฑวรรคที่ ๑๐ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘/๑๖ @ มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ @ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑) @ ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๘) @ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๘) @ ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. ๕/๙๐) @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙/๓๑๐ และดูเทียบธรรมบทข้อ ๘๐ หน้า ๕๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๒-๗๖. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=19              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=618&Z=661                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=20              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=20&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=882              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=20&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=882                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i020-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i020-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.10.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.10.budd.html https://suttacentral.net/dhp129-145/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp129-145/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp129-145/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :