ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๙. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงอื่นๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร” ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใคร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ บุคคลนั้นจึงชื่อว่า พราหมณ์” วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร เพราะเหตุดังกล่าวมานี้จึงชื่อว่า พราหมณ์” ภารทวาชมาณพไม่สามารถให้วาเสฏฐมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้ ฝ่าย วาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถให้ภารทวาชมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้เช่นกัน ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้กล่าวเชิงปรึกษากับภารทวาชมาณพว่า “ภารทวาชะ เพื่อนรัก พระสมณโคดมศากยบุตรพระองค์นี้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ อยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านอิจฉานังคละ ก็ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์ อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็น พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารทวาชะเพื่อนรัก เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระ สมณโคดม ณ ที่ประทับกันเถิด แล้วเราจะทูลถามถึงเรื่องนี้กับพระองค์ จะได้จดจำ ข้อความที่พระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา” ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพว่า “อย่างนั้นก็ได้เพื่อน” ต่อจากนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคด้วยคาถาว่า [๖๐๐] ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับยกย่อง และรับรองจากอาจารย์ว่า เป็นผู้ได้ศึกษาจบไตรเพท ข้าพระองค์เป็นหัวหน้าศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ส่วนภารทวาชมาณพนี้เป็นหัวหน้าศิษย์ของตารุกขพราหมณ์ [๖๐๑] ข้าพระองค์ทั้งสอง ศึกษาจบไตรเพท ตามที่อาจารย์ผู้แตกฉานอบรมสั่งสอน เป็นผู้เข้าใจตัวบท ชำนาญไวยากรณ์ ในพระเวทเทียบเท่าอาจารย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นเกิดโต้เถียงกัน ในเรื่องเหตุที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติกำเนิด ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด [๖๐๓] ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพากันมาทูลถามพระองค์ผู้ทรงปรากฏพระนามว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๖๐๔] ข้าพระองค์ทั้งสองประนมมือถวายนมัสการพระองค์ ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก เหมือนชนทั้งหลายประนมมือ น้อมไหว้พระจันทร์วันเพ็ญโดยทั่วถึงกัน [๖๐๕] ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ ผู้เสด็จอุบัติดีแล้วในโลกว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด หรือเพราะกรรมหนอ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ทั้งสอง ผู้ไม่รู้ให้รู้จักพราหมณ์ที่แท้จริงด้วยเถิด (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๖๐๖] วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย ตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๐๗] เธอทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้ แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้ หญ้าและต้นไม้นั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด เพราะธรรมชาติของมันต่างกัน [๖๐๘] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลง ตั๊กแตน ตลอดจนถึงมดดำ มดแดง สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน [๖๐๙] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์สี่เท้า ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน [๖๑๐] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน [๖๑๑] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน [๖๑๒] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน [๖๑๓] ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกันไป ตามกำเนิดมากมาย เหมือนกำเนิดของสัตว์เหล่านี้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๑๔] คือ ไม่มีการกำหนดว่า เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์เป็นต้น ด้วยผม ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว [๖๑๕] คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์ [๖๑๖] มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน ผิวพรรณ หรือเสียง ในหมู่มนุษย์จึงไม่มีรูปร่างสัณฐาน แตกต่างกันตามกำเนิดมากมาย เหมือนในกำเนิดอื่นๆ เลย [๖๑๗] ในหมู่มนุษย์ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวในสรีระของแต่ละคน และในหมู่มนุษย์ การเรียกชื่อต่างกันว่า พราหมณ์ กษัตริย์ เป็นต้น ท่านบัญญัติเรียกเพียงโวหาร [๖๑๘] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๑๙] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพ ด้วยการช่างฝีมืออันเป็นศิลปะต่างๆ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลป์ ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๐] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๑] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๒๒] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการลักทรัพย์ผู้อื่นเลี้ยงชีพ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๓] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศรและศัสตราเลี้ยงชีพ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๔] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า ผู้เป็นที่เคารพบูชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๕] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๖] ผู้ถือกำเนิดจากมารดา (ที่เป็นพราหมณ์) เราไม่เรียกว่า พราหมณ์ เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที เท่านั้น เขายังมีกิเลสเครื่องกังวล แต่เราเรียกผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๑- [๖๒๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้ปราศจากโยคะ เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๒๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ดูธรรมบทข้อ ๓๙๖-๔๒๓ หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๒๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า การฆ่า และการจองจำได้ มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๓๒] ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๓๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง บรรลุประโยชน์สูงสุด เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๔] ผู้ไม่คลุกคลีกับคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และสัตว์ที่มั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๓๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๓๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้ เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๐] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๒] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้ พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ เราเรียกว่า พราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๔๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๑- ทางหล่ม๒- สงสาร และโมหะได้แล้ว ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๕] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สิ้นกามและภพ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๖] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๓- ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๘] ผู้ละทั้งความยินดี๔- และความไม่ยินดี๕- เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส @เชิงอรรถ : @ ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙) @ ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๔๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์ [๖๕๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์ [๖๕๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์ [๖๕๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว เราเรียกว่า พราหมณ์ [๖๕๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ [๖๕๔] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้นๆ [๖๕๕] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้ เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๖๕๖] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้ แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม [๖๕๗] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม [๖๕๘] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น [๖๕๙] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ [๖๖๐] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น [๖๖๑] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑- กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้ [๖๖๒] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓ มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว @เชิงอรรถ : @ ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ สัญญมะ @หมายถึงมีศีล ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๑/๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑๐. โกกาลิกสูตร

วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้ กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๔๔-๖๕๕. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=262              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=9256&Z=9434                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=381              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=381&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=6541              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=381&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=6541                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta9 https://suttacentral.net/snp3.9/en/mills https://suttacentral.net/snp3.9/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :