ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๑๕. อัตตทัณฑสูตร๒-
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้) [๙๔๒] ความกลัวเกิดจากโทษของตน เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว [๙๔๓] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา [๙๔๔] โลกทั้งหมด๓- ไม่มีแก่นสาร สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ @เชิงอรรถ : @ ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๖๙/๔๗๘) @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๔๘๐-๕๓๔ @ โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ @โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสูตร

[๙๔๕] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร๑- ที่เห็นได้ยาก อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว [๙๔๖] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม [๙๔๗] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน [๙๔๘] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว [๙๔๙] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน [๙๕๐] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ความถือตัว และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน @เชิงอรรถ : @ ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี ๗ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๔/๔๙๒-๔๙๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๕/๔๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสูตร

[๙๕๑] นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง [๙๕๒] เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา เรียกอารมณ์๑- ว่า ความหวั่นไหว เปือกตมคือกาม เป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก [๙๕๓] มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก มุนีสลัดสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ [๙๕๔] มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้ว ก็ไม่อาศัย๒- มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่หาใครๆ ในโลกนี้ [๙๕๕] ผู้ใดข้ามกามและกิเลสเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้ ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ เป็นผู้ตัดกระแสได้ ไม่มีเครื่องผูก [๙๕๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป @เชิงอรรถ : @ ความติดใจ ความโลดแล่น อารมณ์ หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๐/๕๑๔) @ ไม่อาศัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๒/๕๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

๑๕. อัตตทัณฑสูตร

[๙๕๗] ความยึดถือว่า เป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่า เป็นของเรา ผู้นั้นแลชื่อว่า ย่อมไม่เสื่อมในโลก๑- [๙๕๘] กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความยึดถือว่า เป็นของเรา ย่อมไม่เศร้าโศกว่า สิ่งของของเราไม่มี [๙๕๙] บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น [๙๖๐] อภิสังขารไรๆ ไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง [๙๖๑] มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่ชนที่เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย มุนีนั้นเป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเทียบธรรมบทข้อ ๓๖๗ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๒๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๒๖-๗๒๙. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=280              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10675&Z=10734                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=422              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=422&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=9223              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=422&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=9223                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i408-e.php#sutta15 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.4.15.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.4.15.olen.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.4.15.irel.html https://suttacentral.net/snp4.15/en/mills https://suttacentral.net/snp4.15/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :