ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ

๒๕. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
๑. ปัญจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕ รูป ผู้สำรวมทวาร(ช่องตามร่างกาย) รูปละทวาร ดังนี้) [๓๖๐] การสำรวมตา เป็นการดี การสำรวมหู เป็นการดี การสำรวมจมูก เป็นการดี การสำรวมลิ้น เป็นการดี [๓๖๑] การสำรวมกาย เป็นการดี การสำรวมวาจา เป็นการดี การสำรวมใจ เป็นการดี การสำรวมทวารทั้งปวง เป็นการดี ภิกษุผู้สำรวมทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑-
๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ฆ่าหงส์ ดังนี้) [๓๖๒] บุคคลผู้สำรวมมือ๒- สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน ยินดีธรรมภายใน๓- มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ภิกษุ @เชิงอรรถ : @ ทุกข์ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๕) @ สำรวมมือ หมายถึงไม่คะนองมือ หรือไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยมือ แม้เท้า วาจา ก็มีนัยเดียวกันนี้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔) @ ยินดีธรรมภายใน หมายถึงยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน @(ขุ.ธ.อ. ๘/๕๕, ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ

๓. โกกาลิกวัตถุ
เรื่องพระโกกาลิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๖๓] ภิกษุรูปใดสำรวมปาก พูดโดยใช้มันตา๑- เสมอ ไม่ฟุ้งซ่าน แสดงแต่อรรถ๒- และธรรม๓- เท่านั้น ภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ
๔. ธัมมารามเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้ยินดีในธรรม
[๓๖๔] ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี๔- ยินดีแล้วในธรรม พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๕-
๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้คบฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ดังนี้) [๓๖๕] ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนอื่น เมื่อภิกษุปรารถนาลาภของคนอื่น ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๖- @เชิงอรรถ : @ มันตา หมายถึงปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๘) @ อรรถ หมายถึงเนื้อความแห่งภาษิต (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๘) @ ธรรม หมายถึงธรรมเทศนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๘) @ ธรรมเป็นที่มายินดี ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๙-๖๐) @ สัทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๐) @และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๕๐๙ @ สมาธิ หมายถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ

[๓๖๖] ถ้าภิกษุแม้จะมีลาภน้อย แต่ไม่ดูหมิ่นลาภของตน เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล ว่าเป็นผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
๖. ปัญจัคคทายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ถวายทานอันเลิศ ๕ อย่าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ และนางพราหมณีผู้ถวายทาน อันเลิศ ๕ อย่าง ดังนี้) [๓๖๗] ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป ว่าเป็นของเรา โดยประการทั้งปวง และไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปแปรผันไป ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ๑-
๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๖๘] ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพุทธศาสนา ก็จะพึงบรรลุสันตบท๒- อันเป็นที่ระงับสังขารเป็นสุข [๓๖๙] ภิกษุ เธอจงวิดเรือ๓- นี้ เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว เธอตัดราคะ โทสะได้แล้ว ต่อจากนั้น ก็จักบรรลุนิพพาน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๙๕๗ หน้า ๗๒๙ ในเล่มนี้ (บาทคาถาที่ ๔ ต่างกัน) @ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๓) @ เรือ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ

[๓๗๐] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕ และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ ๑- ได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้๒- [๓๗๑] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก) อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง [๓๗๒] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน [๓๗๓] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง๓- มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป [๓๗๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์ ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย [๓๗๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ และความสำรวมในปาติโมกข์ เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้ @เชิงอรรถ : @ กิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔, ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔) @ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๕/๖, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘, ๖๓๓/๔๔๙ @ เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๙. สันตกายเถรวัตถุ

[๓๗๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์ จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น
๙. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๗๘] ภิกษุผู้มีกายสงบ๑- มีวาจาสงบ๒- มีใจสงบ๓- มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว และเป็นผู้ละโลกามิสได้ เราเรียกว่าผู้สงบระงับ @เชิงอรรถ : @ มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๙) @ มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๙) @ มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๑๑. วักกลิเถรวัตถุ

๑๐. นังคลกูฏเถรวัตถุ
เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๗๙] ภิกษุ เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง จงพิจารณาดูตนด้วยตนเอง ถ้าเธอคุ้มครองตนเองได้แล้ว มีสติ เธอก็จักอยู่เป็นสุข [๓๘๐] ตนแล เป็นที่พึ่งของตน ตนแล เป็นคติ๑- ของตน เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน๒- ให้ดี เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น
๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
เรื่องพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระวักกลิเถระ ดังนี้) [๓๘๑] ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท๓- อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข๔- @เชิงอรรถ : @ เป็นคติ หมายถึงเป็นที่พำนัก หรือเป็นสรณะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๘๒) @ สงวนตน หมายถึงป้องกันการเกิดอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดในตน (ขุ.ธ.อ. ๘/๘๒) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้ @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑/๓๐๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ

๑๒. สุมนสามเณรวัตถุ
เรื่องสุมนสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๘๒] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๑- เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๒-
ภิกขุวรรคที่ ๒๕ จบ
๒๖. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๘๓] พราหมณ์๓- เธอจงพยายามตัดกระแส๔- ให้ขาด จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้ เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้๕- @เชิงอรรถ : @ หมายถึงให้โลกคือขันธ์ ๕ สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๐) @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๓/๔๘๔ @ พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา @พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ ๓๙๒ หน้า ๑๕๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) @ กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) @ สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๔๖-๑๕๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=34              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=35              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=35&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=949              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=35&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=949                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i035-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i035-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.25.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.25.budd.html https://suttacentral.net/dhp360-382/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp360-382/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp360-382/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :