ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. มัตตาเปติวัตถุ
เรื่องนางมัตตาเปรต
(นางติสสาถามนางเปรตตนหนึ่งว่า) [๑๓๔] แน่ะนางเปรตผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ ณ ที่นี้ @เชิงอรรถ : @ ที่อยู่ของเปรต, แดนเกิดเป็นเปรต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๓. มัตตาเปติวัตถุ

(นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๓๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก (นางติสสาถามว่า) [๑๓๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๓๗] ฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย ริษยา ตระหนี่ และมักโอ้อวด ได้กล่าววาจาชั่วต่อเธอ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก (นางติสสาถามว่า) [๑๓๘] เรื่องนั้นเป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร แต่อยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไร เธอจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๓๙] เธอกับฉันพากันอาบน้ำชำระร่างกายแล้ว เธอได้นุ่งห่มผ้าสะอาด ประดับตกแต่งร่างกายแล้ว ส่วนฉันประดับตกแต่งเรียบร้อยยิ่งกว่าเธอมากนัก [๑๔๐] เมื่อฉันนั้นกำลังจ้องมองดูเธอคุยอยู่กับสามี ทีนั้นฉันจึงเกิดความริษยาและความโกรธเป็นอันมาก [๑๔๑] ทันใดนั้น ฉันได้กวาดตะล่อมฝุ่นแล้วเอาฝุ่นโปรยรดเธอ เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น (นางติสสาถามว่า) [๑๔๒] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๓. มัตตาเปติวัตถุ

(นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๔๓] เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า เธอหายามาได้ ส่วนฉันนำหมามุ่ยมา [๑๔๔] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของเธอจนทั่ว เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นหิด (นางติสสาถามว่า) [๑๔๕] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอโปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของฉันจนทั่ว แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหญิงเปลือยกาย (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๔๖] (วันหนึ่ง) ได้มีการประชุมมิตรสหายและญาติทั้งหลาย เธอได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งร่วมสามีกับเธอไม่มีใครเชิญเลย [๑๔๗] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้ลักขโมยผ้าเธอไป เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงเป็นหญิงเปลือยกาย (นางติสสาถามว่า) [๑๔๘] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอลักขโมยผ้าฉันไป แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงมีกลิ่นกายเหม็นดังกลิ่นคูถ (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๔๙] ฉันได้ทิ้งห่อของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ซึ่งมีราคาแพงของเธอลงส้วม ฉันทำบาปชั่วช้านั้นไว้แล้ว เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงมีกายเหม็นดังกลิ่นคูถ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๓. มัตตาเปติวัตถุ

(นางติสสาถามว่า) [๑๕๐] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอทำบาปนั้นไว้แล้ว แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นคนยากจน (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๕๑] ที่เรือนของเราทั้งสองได้มีทรัพย์อยู่เท่ากัน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตน เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นคนยากจน [๑๕๒] ครั้งนั้น เธอได้กล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำกรรมชั่วว่า เธอจะไม่มีทางได้สุคติ เพราะกรรมชั่ว (นางติสสากล่าวว่า) [๑๕๓] เธอไม่เชื่อเรา ที่แท้กลับริษยาเรา เชิญเธอดูผลกรรมชั่ว [๑๕๔] เมื่อก่อน ที่เรือนของเธอได้มีนางทาสีและเครื่องประดับเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้ นางทาสีเหล่านั้นพากันรับใช้คนอื่น โภคะทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน [๑๕๕] บัดนี้ กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา จักกลับจากตลาดมายังบ้านนี้ เธออย่าเพิ่งรีบไปจากที่นี่เสียก่อนละ บางทีเขากลับมาจะพึงให้อะไรแก่เธอบ้าง (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๕๖] ฉันเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น การเปลือยกายและการมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวนี้ เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับหญิงทั้งหลาย กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรอย่าได้เห็นฉันเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๓. มัตตาเปติวัตถุ

(นางติสสากล่าวว่า) [๑๕๗] ว่ามาเถอะ ฉันจะให้หรือทำอะไรแก่เธอ ที่เป็นเหตุให้เธอมีความสุข สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง ฉันจะให้หรือกระทำแก่เธอ (นางเปรตนั้นตอบว่า) [๑๕๘] ขอเธอจงนิมนต์ภิกษุ ๔ รูปจากสงฆ์ นิมนต์เจาะจงอีก ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหารแล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อนั้น ฉันจักได้รับความสุข สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง [๑๕๙] นางติสสานั้นรับว่า ได้จ้ะ แล้วนิมนต์ภิกษุ ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตรจีวร แล้วอุทิศส่วนบุญให้นางเปรตนั้น [๑๖๐] ในลำดับที่นางติสสาอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา [๑๖๑] ทันใดนั้น นางเปรตมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม เข้าไปหานางติสสาซึ่งเป็นหญิงร่วมสามี (นางติสสาจึงถามว่า) [๑๖๒] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค]

๔. นันทาเปติวัตถุ

[๑๖๓] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้ และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ [๑๖๔] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามว่า สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ (นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า) [๑๖๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก [๑๖๖] ฉันบันเทิงอยู่เพราะทานที่เธออุทิศให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน คุณน้อง ขอเธอพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด จงเข้าถึงสถานที่ที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี มีความสำราญซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววสวัตดี [๑๖๗] เธอผู้มีรูปงาม เธอประพฤติธรรม ให้ทานในโลกนี้ กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งเหตุได้แล้ว ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้ จงเข้าถึงโลกสวรรค์
มัตตาเปติวัตถุที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๘๙-๑๙๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=26&siri=100              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3363&Z=3458                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=100              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=100&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=1955              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=100&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=1955                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pv15/en/kiribathgoda



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :