ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. นันทกเปตวัตถุ๑-
เรื่องนันทกเปรต
(เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า) [๖๕๘] มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคลกะ เป็นใหญ่แห่งชาวสุรัฏฐวิสัย เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าโมริยะแล้ว กลับมาถึงทางที่จะไปยังสุรัฏฐวิสัยอีก [๖๕๙] เสด็จมาถึงทางโค้ง ในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาร้อน ได้ทอดพระเนตรเห็นทางที่น่ารื่นรมย์ เป็นทางทรายที่เปรตเนรมิตไว้นั้น @เชิงอรรถ : @ เรื่องนี้เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๒๐๐ ปี (ขุ.เป.อ. ๑๒๓/๒๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๖๖๐] จึงตรัสบอกนายสารถีว่า “ทางนี้น่ารื่นรมย์ ปลอดภัย สะดวก ปลอดโปร่ง สารถี พวกเราตรงไปทางนี้แหละ จากที่นี้ไปไม่ไกลก็จะถึงสุรัฏฐประเทศ” [๖๖๑] พระเจ้าสุรัฏฐ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทางนั้น พร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า บุรุษคนหนึ่งตกใจกลัวได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฏฐ์ ดังนี้ว่า [๖๖๒] “พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัว น่าขนพองสยองเกล้า เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ [๖๖๓] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา ข้าพระองค์ได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว” [๖๖๔] พระเจ้าสุรัฏฐ์ทรงตกพระทัย ตรัสกับนายสารถีดังนี้ว่า “พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า ทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ [๖๖๕] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา เราได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว” [๖๖๖] จึงเสด็จขึ้นคอช้าง ทอดพระเนตรไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ ทรงเห็นต้นไทรย้อยต้นหนึ่ง มีร่มหนาทึบดี เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ [๖๖๗] จึงรับสั่งกับนายสารถีว่า “ป่าใหญ่เขียวชอุ่มดุจสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานคล้ายเมฆ ปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม” (นายสารถีกราบทูลว่า) [๖๖๘] “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า นั้นต้นไทรย้อย มีร่มหนาทึบดี เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๖๖๙] พระเจ้าสุรัฏฐ์เสด็จพระราชดำเนินไปจนถึงป่าใหญ่ ซึ่งเขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ ปรากฏอยู่ [๖๗๐] เสด็จลงจากคอช้างแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ต้นไม้ ประทับนั่งที่โคนต้น พร้อมทั้งหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร ได้ทอดพระเนตรเห็นขันน้ำเต็มและขนมที่ถูกพระทัย [๖๗๑] บุรุษผู้มีรูปลักษณ์ดั่งเทพ ประดับอาภรณ์พร้อมสรรพ เข้าไปเฝ้าพระเจ้าสุรัฏฐ์แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า [๖๗๒] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว และก็มิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงกำจัดศัตรู เชิญพระองค์ผู้ประเสริฐเสวยน้ำ และเสวยขนมเถิด [๖๗๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์พร้อมด้วยอำมาตย์และข้าราชบริพาร พากันดื่มน้ำและกินขนมแล้ว จึงตรัสถามว่า [๖๗๔] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ พวกเราไม่รู้จักจึงขอถามท่าน พวกเราจะพึงรู้จักท่านได้อย่างไร (นันทกเปรตกราบทูลว่า) [๖๗๕] ข้าพระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ ข้าพระองค์เป็นเปรต มาจากถิ่นสุรัฏฐวิสัย มาอยู่ที่นี้ (พระราชาตรัสถามว่า) [๖๗๖] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในสุรัฏฐวิสัย มีปกตินิสัยอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร เพราะความดีอะไร ท่านจึงมีอานุภาพอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

(นันทกเปรตกราบทูลว่า) [๖๗๗] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น อำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพราหมณ์ ปุโรหิต ก็เชิญสดับด้วย [๖๗๘] ขอเดชะ(เมื่อก่อน) ข้าพระองค์เป็นบุรุษ อยู่ในสุรัฏฐวิสัย เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ๑- ทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย [๖๗๙] เมื่อชนเหล่าอื่นกำลังทำบุญให้ทาน ข้าพเจ้าก็ทำอันตรายเสีย ซ้ำยังห้ามหมู่ชนว่า [๖๘๐] ผลทานไม่มี ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน ใครผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ไม่มี ใครเล่าจักฝึกฝนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกฝนได้ [๖๘๑] สัตว์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจึงไม่ต้องมี กำลังหรือความเพียรก็ไม่ต้องมี ความพากเพียรของบุรุษจักมีแต่ที่ไหน [๖๘๒] ธรรมดาผลทานย่อมไม่มี ใครจะทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดด้วยทานไม่ได้ สัตว์ย่อมได้สุขหรือทุกข์ที่ควรได้เอง สุขหรือทุกข์ที่เกิดจากการแปรผัน สัตว์นำมาเอง [๖๘๓] มารดาไม่มี บิดาไม่มี พี่ชายไม่มี น้องชายไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล การบูชาก็ไม่มีผล ทานและการบูชาที่ตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล @เชิงอรรถ : @ แสดงความเห็นผิดว่า การทำบุญ การให้ทานเป็นต้นไม่มีผล (ขุ.เป.อ. ๖๗๘/๒๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๖๘๔] คนแม้ฆ่าคน (หรือ) ตัดคอคนอื่น ก็ไม่ชื่อว่าใครฆ่าใคร เป็นแต่ศัสตรา เสียบเข้าไปในระหว่างช่องกายทั้ง ๗ ช่อง๑- [๖๘๕] ชีวะ๒- ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ถูกตัด ไม่ถูกทำลาย บางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย บางคราวสูง ๕๐๐ โยชน์ ใครเล่าสามารถจะตัดชีวะให้ขาดได้ [๖๘๖] เหมือนเมื่อกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างไป กลุ่มด้ายนั้นย่อมคลายกลิ้งไปได้ ฉันใด ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแหวกหนีออกไปจากร่างได้ [๖๘๗] เหมือนบุคคลออกจากบ้านหนึ่ง เข้าสู่บ้านหนึ่ง ฉันใด ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง [๖๘๘] เหมือนบุคคลออกจากเรือนหลังหนึ่ง เข้าสู่อีกเรือนหลังหนึ่ง ฉันใด ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง [๖๘๙] ครั้นสิ้นกำหนด ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป สัตว์ทั้งหลายจะเป็นพาลหรือบัณฑิตก็ตาม จักยังสังสารวัฏให้สิ้นไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง [๖๙๐] สุขและทุกข์ เหมือนตักตวงได้ด้วยทะนานและกระบุง พระชินเจ้าย่อมรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง [๖๙๑] เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ จึงได้เป็นคนหลง ถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย [๖๙๒] ภายใน ๖ เดือน ข้าพระองค์จักตาย จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส @เชิงอรรถ : @ คำว่า กายทั้ง ๗ ในลัทธินี้ หมายถึงสภาวะ ๗ กอง ได้แก่ กองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทุกข์และชีวะ @(ดู ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายตนะ ใน ที.สี. ๙/๑๗๓) @ คำว่า ชีวะ ในที่นี้ เทวดากล่าวหมายถึง ดวงชีพ ตรงกับอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๖๙๓] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วนๆ ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก [๖๙๔] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล [๖๙๕] ล่วงไป ๑๐๐,๐๐ ปี ในกาลนั้น ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอื้ออึง (ว่า เพื่อนยากทั้งหลายเมื่อพวกท่านไหม้อยู่ในนรกนี้ กาลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีล่วงไปแล้ว) ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ๑๐๐ โกฏิปีเป็นกำหนดของนรก [๖๙๖] ชนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล และติเตียนพระอริยะ ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิปี [๖๙๗] ข้าพระองค์จักเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นเป็นเวลายาวนาน นี้เป็นผลกรรมอันชั่วช้าของข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกอย่างหนัก [๖๙๘] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น ขอความเจริญจงมีแด่ข้าพระองค์และอุตตราธิดาของข้าพระองค์ [๖๙๙] นางทำแต่กรรมดี ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ และยินดีในทาน [๗๐๐] เป็นสะใภ้ตระกูลอื่นก็ยังคงรักษาศีลไม่บกพร่องอยู่เป็นนิตย์ และเป็นอุบาสิกาของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ [๗๐๑] ภิกษุรูปหนึ่ง มีศีลสมบูรณ์ สำรวมตา มีสติ คุ้มครองอินทรีย์ สำรวมระวังเป็นอันดี เข้ามาบิณฑบาตยังหมู่บ้าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๗๐๒] เดินไปตามลำดับตรอก ได้มาถึงบ้านนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ นางอุตตราได้เห็นภิกษุนั้นแล้ว [๗๐๓] นางได้ถวายน้ำดื่มเต็มขันและขนมอย่างวิจิตรแล้ว อุทิศว่า ขอผลทานที่ดิฉันถวายแล้วนี้ จงสำเร็จแก่บิดาของดิฉันซึ่งตายไปแล้วเถิด เจ้าค่ะ [๗๐๔] ในขณะที่นางอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง วิบากก็เกิดขึ้น ข้าพระองค์สำเร็จความประสงค์ดังปรารถนา บริโภคกามสุขอยู่ เหมือนท้าวเวสวัณมหาราช [๗๐๕] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์จงทรงสดับความนั้น บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศของโลก พร้อมทั้งเทวโลก ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรส และพระอัครมเหสี ทรงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า เป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด [๗๐๖] ชนทั้งหลายย่อมบรรลุอมตบทด้วยมรรคมีองค์ ๘ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราช ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี จงทรงถึงพระธรรมนั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด [๗๐๗] พระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยมรรค ๔ และพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในอริยผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติตรง มีศีล สมาธิและปัญญา ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี ทรงถึงพระสงฆ์นั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๗๐๘] ขอพระองค์ทรงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์ ไม่ตรัสคำเท็จ ไม่เสวยน้ำจัณฑ์เถิด (พระราชาตรัสว่า) [๗๐๙] เทวดาผู้ควรบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เราจะทำตามคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของเรา [๗๑๐] เราขอถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๗๑๑] เราจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก ยินดีเฉพาะภรรยาของตน จะไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา [๗๑๒] เราจะผ่อนคลายความเห็นชั่ว เหมือนโปรยแกลบให้ลอยไปตามลมแรง หรือเหมือนทิ้งเศษไม้ใบหญ้าลงกระแสน้ำเชี่ยว และยินดีในพระพุทธศาสนา [๗๑๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงงดเว้นจากความเห็นชั่ว ทรงนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จทรงรถพระที่นั่ง บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
นันทกเปตวัตถุที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๘๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๒๗๖-๒๘๓. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=26&siri=123              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4590&Z=4708                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=123              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=123&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5808              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=123&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5808                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :