ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑๘. ปัญญาสนิบาต
๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ว่าด้วยพระราชธิดานฬินิกา
(พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้เรียกพระราชธิดานฬินิกามาแล้ว ตรัสว่า๑-) [๑] ลูกหญิงนฬินิกา ชนบทกำลังเดือดร้อน แม้แคว้นก็กำลังพินาศ มาเถิด ลูกจงไปนำพราหมณ์นั้นมาให้พ่อ (พระราชธิดานฬินิกาสดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า) [๒] ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่เคยทนทุกข์ลำบาก ทั้งไม่ฉลาดในหนทางไกล หม่อมฉันจักไปยังป่าที่มีช้างอาศัยอยู่ได้อย่างไร (พระราชาตรัสว่า) [๓] ลูกหญิงนฬินิกา ลูกจงไปยังชนบท ที่มั่งคั่ง ด้วยช้าง ด้วยรถ และด้วยยาน ที่สร้างด้วยไม้๒- โดยวิธีนี้เถิด @เชิงอรรถ : @ ในวงเล็บนี้และทุกวงเล็บที่ปรากฏตลอดคัมภีร์เล่มนี้ ยกมาจากอรรถกถาของชาดกเรื่องนั้นๆ เริ่มจาก @ขุ.ชา.อ. ๘-๑๐ เป็นลำดับไป @ ยานที่สร้างด้วยไม้ ในที่นี้หมายถึงเรือ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓/๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

[๔] ลูกจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบไป ลูกจักนำพราหมณ์มาสู่อำนาจได้ เพราะผิวพรรณและรูปของลูก (นายพรานป่าชี้ไปที่อาศรม แล้วกราบทูลพระราชธิดานฬินิกาว่า) [๕] อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของอิสิสิงคดาบสปรากฏอยู่นั่น ซึ่งมีต้นกล้วยปรากฏเป็นทิวแถว แวดล้อมไปด้วยป่าแสม [๖] นั่นแสงไฟยังโพลงเห็นประจักษ์อยู่ นั่นควันไฟยังปรากฏอยู่ เข้าใจว่า อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากจะยังไม่เลิกบูชาไฟ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า) [๗] อิสิสิงคดาบสมองเห็นพระราชธิดานั้น สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณีกำลังเสด็จมา เกิดความกลัว จึงเข้าไปยังอาศรมที่มุงด้วยใบไม้ [๘] ที่ใกล้ประตูอาศรมของดาบสนั้น พระราชธิดานั้นก็ทรงแสดงให้เห็นอวัยวะของลับ และส่วนที่ปรากฏ ขณะเล่นลูกข่างอยู่ [๙] ฝ่ายชฎิลดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา ครั้นเห็นพระราชธิดานั้นทรงเล่นอยู่ จึงออกมาจากอาศรมแล้วกล่าวคำนี้ว่า [๑๐] พ่อมหาจำเริญ ต้นไม้ของท่านชื่ออะไรที่มีผลเป็นอย่างนี้ ถึงท่านจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งท่านไป (พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า) [๑๑] ท่านพราหมณ์ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ณ ภูเขาคันธมาทน์ ต้นไม้ชนิดนั้นที่มีผลเป็นอย่างนี้มีอยู่มาก ถึงข้าพเจ้าจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งข้าพเจ้าไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

(อิสิสิงคดาบสเมื่อจะทำการปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า) [๑๒] เชิญท่านผู้เจริญเข้าไปยังอาศรมนี้เถิด จงรับน้ำมันทาเท้าและภักษาหาร ข้าพเจ้าจักให้ นี้อาสนะ เชิญท่านผู้เจริญนั่งบนอาสนะนี้ เชิญท่านผู้เจริญขบฉันเหง้ามันและผลไม้ ณ ที่นี้เถิด [๑๓] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้ง ๒ ของท่านนี้เป็นอะไร สวยเรียบดี ปรากฏเป็นเพียงสีดำ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า อวัยวะส่วนปลายยอด๑- ของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือ (พระราชธิดานฬินิกาลวงดาบสว่า) [๑๔] ข้าพเจ้ากำลังเที่ยวแสวงหารากไม้และผลไม้อยู่ในป่า ได้ขว้างหมีร้ายกาจตัวหนึ่ง มันวิ่งปราดเข้าถึงตัวข้าพเจ้าโดยฉับพลัน ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้วกัดอวัยวะส่วนปลายยอดไป [๑๕] แผลนี้ มันรบกวนและเกิดอาการคันขึ้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับความสำราญตลอดเวลา ท่านผู้เจริญพอจะกำจัดอาการคันนี้ได้หรือ ข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้เจริญ โปรดบำเพ็ญประโยชน์แก่พราหมณ์ด้วยเถิด (อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า) [๑๖] แผลของท่านมีสีแดง ค่อนข้างลึกและใหญ่ แต่ไม่เน่า มีกลิ่นนิดหน่อย ข้าพเจ้าจะปรุงยาน้ำฝาดให้ท่านขนานหนึ่ง เท่าที่ท่านผู้เจริญจะพึงมีบรมสุขได้ @เชิงอรรถ : @ อวัยวะส่วนปลายยอด หมายถึงเครื่องหมายเพศ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓/๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า) [๑๗] ท่านพรหมจารี การเสกมนต์ การปรุงยาน้ำฝาด และโอสถทั้งหลายก็บำบัดไม่ได้ ขอท่านพึงใช้องคชาตอันอ่อนนุ่มเสียดสีกำจัดอาการคัน เท่าที่ข้าพเจ้าจะพึงมีบรมสุขได้เถิด (อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า) [๑๘] อาศรมของท่านผู้เจริญอยู่ทางทิศไหนจากที่นี้หนอ ท่านผู้เจริญย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าหรือ มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอหรือ สัตว์ร้ายทั้งหลายไม่เบียดเบียนท่านผู้เจริญหรือ (พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า) [๑๙] จากที่นี้ตรงไปทางทิศเหนือ มีแม่น้ำชื่อเขมาเกิดจากป่าหิมพานต์ อาศรมที่น่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง [๒๐] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ออกดอกบานสะพรั่ง ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง ซึ่งมีพวกกินนรขับกล่อมอยู่โดยรอบ [๒๑] ต้นตาล เหง้าตาล และผลตาล ณ ที่นั้น มีสีสันงดงามและมีกลิ่นหอม ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง ซึ่งประกอบไปด้วยภูมิภาคอันงดงามนั้นบ้าง [๒๒] ผลไม้และเผือกมันซึ่งมีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอมและมีรสอร่อย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

ที่อาศรมของข้าพเจ้านั้นมีอยู่เพียงพอ และพวกนายพรานพากันมายังที่นั้นแล้ว ขออย่าได้ลักมูลผลาหาร๑- จากอาศรมของข้าพเจ้านั้นไปเลย (อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า) [๒๓] ขณะนี้ บิดาของข้าพเจ้าไปแสวงหามูลผลาหาร จะกลับมาในตอนเย็น เราทั้ง ๒ จะไปยังอาศรมนั้น ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร (พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า) [๒๔] ฤๅษีและพระราชฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีเหล่าอื่น มีจำนวนมากอยู่ตามทาง ท่านจงถามฤๅษีเหล่านั้นถึงอาศรมของข้าพเจ้าเถิด ฤๅษีเหล่านั้นจักนำท่านไป ณ สถานที่อยู่ของข้าพเจ้าเอง (พระดาบสโพธิสัตว์กลับมาจากป่าแล้วถามว่า) [๒๕] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ก่อไฟ เพราะเหตุไรหนอ เจ้าจึงเหงาหงอยซบเซาอยู่ [๒๖] แน่ะลูกผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อน ฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็บูชา แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดแจงไว้ ตั่งเจ้าก็ตั้งไว้ น้ำเจ้าก็ตักไว้เพื่อพ่อ ลูกยังประพฤติพรหมจรรย์รื่นรมย์อยู่หรือ [๒๗] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ก่อไฟ มิได้หุงต้มโภชนาหาร วันนี้ ลูกยังมิได้ทักทายพ่อเลย สิ่งของอะไรหายหรือ หรือว่าลูกมีทุกข์ใจอะไร @เชิงอรรถ : @ มูลผลาหาร คือ อาหารที่ได้จากรากไม้กล่าวคือเหง้า (เหง้าบัว,หัวเผือก,หัวมัน) และผลไม้ทั้งหลายที่มี @สีและกลิ่นเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๒/๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า) [๒๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้มาที่นี่ รูปร่างของเธอสวยงาม น่าชม ไม่สูงเกินไปและไม่เตี้ยเกินไป มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ศีรษะของเธอผู้เจริญดำสวยงาม เพราะปกคลุมด้วยผมอันดำสนิทเป็นเงางาม [๒๙] ไม่มีหนวด บวชได้ไม่นาน ก็เธอมีเครื่องประดับเช่นกับเชิงบาตรอยู่ที่คอ และมีปุ่ม ๒ ปุ่มเกิดที่อกอย่างงดงาม ทั้งคู่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังผลมะพลับทองคำ [๓๐] อนึ่ง ใบหน้าของเธอน่าทัศนายิ่งนัก กรรเจียกจอนก็ห้อยอยู่ที่หูทั้ง ๒ เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็เปล่งประกายแวววาว สายรัดชฎาที่ประดับก็โชติช่วงชัชวาล [๓๑] และเครื่องประดับอย่างอื่นอีก ๔ อย่างของมาณพนั้น มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็แกว่งไกวไปมา เหมือนหมู่นกติรีฏิ ยามเมื่อฝนตก [๓๒] ก็เธอมิได้คาดสายรัดเอวที่ทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย เปลือกปอ และหญ้าปล้อง สายรัดเอวนั้นปลิวสะบัดเหมือนสายฟ้าในอากาศ โชติช่วงอยู่ระหว่างสะเอวกับสะโพก [๓๓] อนึ่ง ผลไม้ทั้งหลายไม่มีใบ ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอว ใต้สะดือ ไม่กระทบกันเลย ส่ายได้เป็นนิจ พ่อ ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลของต้นไม้อะไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

[๓๔] ก็แหละชฎา๑- ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม จัดรูปทรงแบ่งศีรษะเป็นสองส่วนได้อย่างงดงาม ขอให้ชฎาของเราเป็นเช่นนั้นเถิด [๓๕] ก็คราวใดชฎิลนั้นสยายชฎา ที่ประกอบด้วยสีและกลิ่นเหล่านั้น คราวนั้นอาศรมนี้ก็หอมอบอวล เหมือนดอกอุบลเขียวที่ต้องลม [๓๖] เปือกตมที่เรือนร่างชฎิลนั้นก็น่าดูยิ่งนัก หาเป็นเช่นกับกายของเราไม่ พอถูกลมโชยพัดก็หอมฟุ้ง เหมือนป่าไม้มีดอกบานสะพรั่งปลายฤดูร้อน [๓๗] ชฎิลนั้นตีผลไม้มีรูปอันวิจิตรงดงามน่าดูลงบนพื้นดิน และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของชฎิลนั้นอีก พ่อ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ [๓๘] อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ขาว เรียบเสมอ เปรียบได้กับสังข์ที่ขัดดีแล้ว เมื่อเธอยิ้ม ย่อมทำใจให้ผ่องใส ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่ [๓๙] คำพูดของเธอไม่หยาบคาย ไม่คลาดเคลื่อน นุ่มนวล อ่อนหวาน ซื่อตรง ไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน เมื่อเปล่งออกมา น้ำเสียงของเธอทำให้ฟูใจ ไพเราะจับใจ ดุจเสียงนกการเวก ทำให้ใจของลูกกำหนัดยิ่งนัก @เชิงอรรถ : @ ชฎาในที่นี้หมายถึงสายผม (เส้นผมหลายเส้นที่ร้อยในลูกปัด) ที่เอาแก้วแซมผูกไว้มีทรงคล้ายชฎา @(ขุ.ชา.อ. ๘/๓๔/๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

[๔๐] เธอมีน้ำเสียงหยดย้อย ไม่เป็นถ้อยคำที่น่ารังเกียจ และไม่ประกอบด้วยเสียงอันพึมพำ ลูกปรารถนาที่จะได้พบเธออีก เพราะชฎิลหนุ่มได้เป็นมิตรกับลูกมาก่อน [๔๑] แผลนี้เชื่อมต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาทุกส่วน อูมใหญ่ตั้งอยู่อย่างเหมาะเจาะ งามพร้อมคล้ายกับกลีบบัว ชฎิลหนุ่มขึ้นคร่อมลูกด้วยแผลนั้นนั่นแหละ ใช้บั้นเอวดันขาอ่อนให้เปิดไว้ [๔๒] รัศมีที่แผ่ซ่านจากกายของเธอ เปล่งปลั่งผุดผ่องสว่างไสว เหมือนสายฟ้าในอากาศ แม้แขนทั้ง ๒ ของเธอก็อ่อนนุ่ม มีขนเช่นกับขนดอกอัญชัน นิ้วของเธอก็กลมกลึงวิจิตรงดงาม [๔๓] เธอมีร่างกายไม่ระคายเคือง มีขนไม่ยาว แต่มีเล็บยาว ปลายเล็บเป็นสีแดง ชฎิลหนุ่มรูปงามกอดรัดลูกด้วยลำแขนทั้งหลาย อันอ่อนนุ่ม บำรุงบำเรอให้รื่นรมย์ [๔๔] มือทั้งหลาย ของเธออ่อนนุ่ม คล้ายกับปุยนุ่น งามเปล่งปลั่ง มีผิวพรรณงดงาม กลมกลึงเหมือนแผ่นทองคำอันงดงาม เธอสัมผัสลูกด้วยมือเหล่านั้นแล้วไปจากที่นี่ เพราะสัมผัสนั้น มันจึงเผาลูกให้เร่าร้อนอยู่ นะท่านพ่อ [๔๕] ชฎิลหนุ่มนั้นไม่ได้หาบคอนแน่นอน มิได้หักฟืนเองแน่นอน มิได้โค่นต้นไม้ด้วยขวานแน่นอน เพราะที่ฝ่ามือทั้งหลายของเธอไม่กระด้างเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

[๔๖] ส่วนเจ้าหมีได้ทำให้ชฎิลหนุ่มนั้นเป็นแผล ชฎิลหนุ่มนั้นได้กล่าวกับลูกว่า ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขด้วยเถิด ลูกได้ช่วยทำให้เธอนั้นมีความสุข เพราะการกระทำนั้น ความสุขก็มีแก่ลูกด้วย ท่านผู้ประเสริฐ ก็เธอได้พูดกับลูกว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว [๔๗] เครื่องปูลาดใบเถาย่านทรายของท่านพ่อนี้ กระจัดกระจายไปเพราะลูกกับเธอ เราทั้ง ๒ มีความเหน็ดเหนื่อย จึงรื่นรมย์กันในน้ำ แล้วพากันเข้ากระท่อมใบไม้อยู่บ่อยๆ [๔๘] ท่านพ่อ วันนี้มนต์ทั้งหลายของลูกไม่แจ่มแจ้งเลย การบูชาไฟและแม้การบูชายัญก็ไม่แจ่มแจ้ง ตราบใดที่ลูกยังไม่พบพรหมจารีนั้น ตราบนั้นลูกจะไม่ยอมบริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อ [๔๙] ท่านพ่อ ท่านต้องรู้จักแน่ว่า พรหมจารีอยู่ ณ ทิศใด ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิดพ่อ ขอลูกอย่าได้ตายในอาศรมของท่านเลย [๕๐] อนึ่ง ลูกได้ฟังมาว่า ป่าไม้ผลิดอกบานสะพรั่ง วิจิตรสวยงาม กึกก้องไปด้วยเสียงนก มีฝูงนกอยู่อาศัย ท่านพ่อ ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงป่านั้นโดยเร็วเถิด ก่อนที่ลูกจะต้องละชีวิตทิ้งไว้ในอาศรมของท่าน (พระดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า) [๕๑] ในราวป่าที่มีรัศมีโชติช่วงนี้ ซึ่งมีหมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรสถิตอยู่ เป็นที่อยู่ของฤๅษีทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่ควรถึงความไม่ยินดีเช่นนี้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

[๕๒] สัตว์ทั้งหลายเป็นมิตรก็มี ไม่เป็นมิตรก็มี พวกเขาทำความรักใคร่ในญาติและมิตรทั้งหลาย ส่วนเจ้ามิคสิงคดาบสนี้จัดว่าเป็นคนเลว เพราะตนเองยังไม่รู้เลยว่า “เรามาจากไหน” กลับไว้ใจ(มาตุคามด้วยสำคัญว่าเป็นมิตร)เพราะเหตุไร [๕๓] เพราะว่า ขึ้นชื่อว่ามิตรย่อมเชื่อมติดต่อกันได้ เพราะการอยู่ร่วมกันบ่อยๆ มิตรนั้นนั่นเองของบุคคลผู้ไม่สมาคมกัน ย่อมเสื่อมไปเพราะการไม่ได้อยู่ร่วมกัน [๕๔] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารี จะได้เจรจากับพรหมจารี ลูกจะละทิ้งคุณคือตบะนี้โดยเร็วพลัน ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป [๕๕] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารีอีก ได้เจรจากับพรหมจารีอีก ลูกก็จะละทิ้งเดชแห่งสมณะนี้โดยเร็วพลัน ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป [๕๖] ลูกเอ๋ย ก็ภูต๑- เหล่านี้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก ด้วยการแปลงรูปต่างๆ คนมีปัญญาไม่ควรคบหาภูตเหล่านั้น พรหมจารีบุคคลย่อมพินาศไปเพราะเกี่ยวข้องกับภูตนั้น
นฬินิกาชาดกที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ภูต ในที่นี้หมายถึงพวกนางยักษิณี ที่เที่ยวแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อหลอกจับมนุษย์กิน @(ขุ.ชา.อ. ๘/๕๖/๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๑-๑๐. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=28&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1&Z=140                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=1&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=1&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja526/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :