ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๒. มหาชนกชาดก๑- (๕๓๙)
ว่าด้วยพระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
(เทพธิดากล่าวว่า) [๑๒๓] ใครกันนี่ ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ก็ยังเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามเต็มที่อยู่อย่างนี้ (พระโพธิสัตว์ตอบว่า) [๑๒๔] เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลก และอานิสงส์ของความพยายาม เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง เราจึงเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร @เชิงอรรถ : @ มหาชนกชาดก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออก @บรรพชาครั้งใหญ่ (ในอดีต) จึงได้ตรัสเรื่องพระมหาชนกนี้โดยทรงยกคาถาแรกของเรื่องที่นางเทพธิดา @กล่าวกับพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำข้ามทะเลอยู่ว่า “ใครกันนี่ ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งก็ยังพยายาม @(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร ” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๓-๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(เทพธิดากล่าวว่า) [๑๒๕] ฝั่งสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ยังไม่ปรากฏ ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์ ยังไม่ทันจะถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตายแน่ (พระโพธิสัตว์ตอบว่า) [๑๒๖] บุคคลผู้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่ จะไม่ถูกหมู่ญาติ เทวดา และพรหมทั้งหลายนินทา ทั้งจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง (เทพธิดากล่าวว่า) [๑๒๗] การงานที่ให้ถึงฝั่งไม่ได้ ปราศจากผล ก่อให้เกิดความลำบาก และความตาย ย่อมมีได้เพราะทำการงานใด ประโยชน์อะไรด้วยความพยายาม ในการงานนั้น (พระโพธิสัตว์ตอบว่า) [๑๒๘] เทพธิดา บุคคลใดรู้ว่า งานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น [๑๒๙] เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้ พิจารณาเห็นผลแห่งความมุ่งประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที [๑๓๐] เทพธิดา ท่านกำลังเห็นผลงานที่ประจักษ์แก่ตนเองแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ พากันจมน้ำแล้ว เราคนเดียวเท่านั้นพยายามข้ามอยู่ และยังเห็นท่านอยู่ใกล้เรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๓๑] เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถ จักไปให้ถึงฝั่งสมุทร จักทำความเพียรอย่างลูกผู้ชาย (ต่อมา พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติในเมืองมิถิลาแล้ว ทรงระลึกถึงผลแห่ง ความเพียรชอบของพระองค์ ทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติว่า) [๑๓๒] ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่หาประมาณมิได้เห็นปานนี้ด้วยการกระทำ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ท่านชอบใจเถิด ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุม๑- นี้ คือ ๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น ๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก ๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก ๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น ๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง @เชิงอรรถ : @ ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมที่พระเจ้าโปลชนกทรงฝังไว้ อธิบายโดยย่อ ดังนี้ @๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น หมายถึงที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า @๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก หมายถึงที่ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับ @๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในประตูใหญ่พระราชวัง @๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอกประตูใหญ่พระราชวัง @๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายใต้ธรณีประตู @๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น หมายถึงขุมทรัพย์ตรงที่ลาดบันได เวลาเสด็จขึ้นช้างมงคล @๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงที่เสด็จลงจากคอช้าง @๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔ @๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ชั่วแอก (หนึ่งวา) รอบที่บรรทม @๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายงาทั้ง ๒ ของช้างมงคลในโรงช้างมงคล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔ ๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒ ๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง ๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ ๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน บัลลังก์สี่เหลี่ยม ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี [๑๓๓] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา [๑๓๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว [๑๓๕] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา [๑๓๖] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว @เชิงอรรถ : @๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายหางของช้างมงคลในโรงช้างมงคล @๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในสระโบกขรณีมงคล @๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้ต้นรังใหญ่ในพระราชอุทยาน เวลาเที่ยงวันเงาจะอยู่ @ที่โคนต้น จึงให้ขุดทรัพย์ที่นั้น ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน หมายถึงธนูที่ใช้แรงคนโก่งหนึ่งพันคน แต่ @พระมหาชนกโก่งได้โดยง่ายเหมือนธนูดีดฝ้ายของสตรี บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ทรงทราบด้านศีรษะของ @บัลลังก์ให้พระนางสีวลีเอาปิ่นปักพระเกศาวาง ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี หมายถึงพระนางสีวลี @ยินดีกับชายใด ชายนั้นจะได้ครองราชย์ พระมหาชนกเป็นที่โปรดปรานของพระนางสีวลีตั้งแต่แรกพบ @ถึงกับยื่นพระหัตถ์ให้เกาะ ท้าวเธอก็ทรงเกาะพระหัตถ์พระนางขึ้นสู่ปราสาท @(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๓๒/๖๔-๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๓๗] คนมีปัญญาแม้ถูกทุกข์กระทบแล้ว ก็ไม่พึงทำลายความหวัง เพื่อการมาถึงแห่งความสุข เพราะสัมผัสมีมากอย่างทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ผู้ไม่นึกถึงประโยชน์ย่อมเข้าถึงความตาย [๑๓๘] สิ่งที่ไม่ได้คิดกลับเป็นไปได้ สิ่งที่คิดแล้วกลับพินาศไป ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของหญิงหรือชาย หาได้สำเร็จด้วยความคิดไม่ (ชาวเมืองกล่าวกันว่า) [๑๓๙] ท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งปวง เป็นใหญ่ในทิศ ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อนหนอ วันนี้ ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ ไม่ทรงใส่พระทัยในการขับร้อง [๑๔๐] ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์ พระองค์ทรงประทับนิ่งเฉยเหมือนคนใบ้ ไม่ทรงว่าราชการเลย (พระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเปล่งอุทานว่า) [๑๔๑] นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ก้าวล่วงตัณหาเสียได้ ย่อมอยู่ ณ อารามของใครหนอในวันนี้ [๑๔๒] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้นผู้แสวงหาคุณใหญ่ นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลกที่ถึงความขวนขวาย [๑๔๓] นักปราชญ์เหล่านั้นตัดข่ายคือตัณหาอันมั่นคงแห่งมฤตยู ที่มีมายาอย่างยิ่งทำลายด้วยญาณไปอยู่ ใครเล่าจะพึงนำเราไปให้ถึงสถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านี้ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๔๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้ สร้างไว้เป็นสัดส่วนออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๔๕] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรืองกว้างขวาง สว่างไสวทั่วทุกทิศ ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๔๖] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง ซึ่งมีปราการและเสาค่ายเป็นอันมาก ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๔๗] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีป้อมคูและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๔๘] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีถนนหลวงตัดไว้อย่างดี ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๔๙] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีร้านตลาดที่จัดแยกไว้สวยงาม ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๐] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง ซึ่งมีโค ม้า และรถเบียดเสียดกัน ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๑] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีสวนสาธารณะมีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๕๒] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง ที่มีวนอุทยาน มีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๓] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีปราสาทราชมณเฑียร สถานที่และอุทยาน เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีปราการ ๓ ชั้น คับคั่งด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระเจ้าวิเทหะ ผู้เรืองยศพระนามว่าโสมนัสได้ทรงสร้างไว้ ออกบวชได้ การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๕] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง พรั่งพร้อมด้วยการสะสมเสบียง เช่น สะสมทรัพย์และธัญญาหารเป็นต้น ที่พระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยชอบธรรม ออกบวชได้ การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๖] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง ที่พวกปรปักษ์ผจญไม่ได้ ซึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยธรรม ออกบวชได้ การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๗] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้ สร้างไว้เป็นส่วนสัด ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๕๘] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๕๙] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๐] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดจัดจำแนก สร้างไว้เป็นสัดส่วน ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๑] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๒] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด ที่มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๓] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดฉาบทา และประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ ออกบวชได้ การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๖๔] เมื่อไร เราจึงจักละบัลลังก์ทอง ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้ การละบัลลังก์ทองเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๕] เมื่อไร เราจักละบัลลังก์แก้วมณี ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้ การละบัลลังก์แก้วมณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๖] เมื่อไร เราจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน และผ้าขนสัตว์อย่างละเอียด ออกบวชได้ การละผ้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๗] เมื่อไร เราจักละสระโบกขรณีอันรื่นรมย์ มีนกจักรพากส่งเสียงร่ำร้องอยู่ ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม และดอกอุบล ออกบวชได้ การละสระโบกขรณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๖๘] เมื่อไร เราจักละกองช้างพลาย ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีสายรัดทองคำ มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ [๑๖๙] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๗๐] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย๑- ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว @เชิงอรรถ : @ ม้าสินธพชาติอาชาไนย หมายถึงฝูงม้าที่มีชื่อว่าอาชาไนย เพราะเป็นม้าที่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุ (ฝึกง่าย) @โดยกำเนิด (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๗๐/๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๗๑] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๗๒] เมื่อไร เราจักละกองรถที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๗๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๗๔] เมื่อไร เราจักละรถทองคำที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๗๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๗๖] เมื่อไร เราจักละรถเงินที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๗๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเงินเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๗๘] เมื่อไร เราจักละรถม้าที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๗๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๘๐] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๘๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเทียมด้วยอูฐเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๘๒] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๘๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเทียมด้วยโคเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๘๔] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๘๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเทียมด้วยแพะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๘๖] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๘๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเทียมด้วยแกะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๘๘] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๑๘๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้ การละรถเทียมด้วยเนื้อเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๙๐] เมื่อไร เราจักละกองช้างที่ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือโตมรและขอ ออกบวชได้ การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๑] เมื่อไร เราจักละกองม้าที่ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้ การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๒] เมื่อไร เราจึงจักละกองรถที่ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้ การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๓] เมื่อไร เราจักละกองธนูที่ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ออกบวชได้ การละกองธนูเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๔] เมื่อไร เราจักละพวกราชบุรุษผู้ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะอันวิจิตร แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ ออกบวชได้ การละพวกราชบุรุษเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๕] เมื่อไร เราจักละหมู่พราหมณ์ผู้บำเพ็ญพรต ประดับตกแต่งแล้ว ทาตัวด้วยกระแจะจันทน์เหลือง ครองผ้ากาสิกพัสตร์เนื้อดี ออกบวชได้ การละหมู่พราหมณ์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๑๙๖] เมื่อไร เราจักละหมู่อำมาตย์ผู้ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า เดินไปข้างหน้ามีระเบียบเรียบร้อยดี ออกบวชได้ การละหมู่อำมาตย์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๗] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ออกบวชได้ การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๘] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้ละมุนละไมสะโอดสะอง ออกบวชได้ การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๑๙๙] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้เชื่อฟัง พูดไพเราะ ออกบวชได้ การละพระสนมกำนัลในผู้น่ารักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๐] เมื่อไร เราจักละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ จำหลักลวดลายเป็นร้อย ออกบวชได้ การละถาดทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้น จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๑] เมื่อไร กองช้างพลายที่ประดับ ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีสายรัดทองคำ มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๐๒] มีนายคราญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ ที่เคยขี่ติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๓] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว [๒๐๔] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๕] เมื่อไร กองรถที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๐๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๗] เมื่อไร รถทองคำที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๐๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๐๙] เมื่อไร รถเงินที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๑๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๑๑] เมื่อไร รถม้าที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๑๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๑๓] เมื่อไร รถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๑๔] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๑๕] เมื่อไร รถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๑๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๑๗] เมื่อไร รถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๑๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๑๙] เมื่อไร รถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๒๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๑] เมื่อไร รถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ [๒๒๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๓] เมื่อไร กองช้างที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือโตมรและของ้าว ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๔] เมื่อไร กองม้าที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือแส้และธนู ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๕] เมื่อไร กองรถที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๒๖] เมื่อไร กองธนูที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๗] เมื่อไร พวกราชบุตรผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะอันวิจิตร แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๘] เมื่อไร หมู่พราหมณ์ผู้มีพรตประดับแล้ว ทาตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ใช้ผ้าเนื้อดีจากแคว้นกาสี ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๒๙] เมื่อไร หมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า เดินนำไปข้างหน้าอย่างเป็นระเบียบ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๐] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๑] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๓๒] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๓] เมื่อไร เราจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๔] เมื่อไร เราจักทรงผ้าสังฆาฏิที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล ที่เขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๕] เมื่อไร เมื่อมีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน เราจึงมีจีวรเปียกชุ่มเที่ยวไปบิณฑบาต ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๖] เมื่อไร เราจักได้เที่ยวจาริกไปตามต้นไม้น้อยใหญ่ ตามป่าน้อยใหญ่ตลอดทั้งคืนและวัน โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๗] เมื่อไร เราจักละความกลัวและความขลาดเสียได้ ไปที่ซอกเขาและลำธารได้ตามลำพัง ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๘] เมื่อไร เราจักทำจิตให้ตรงได้เหมือนคนดีดพิณ ดีดพิณทั้ง ๗ สายให้มีเสียงน่ารื่นรมย์จับใจ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ [๒๓๙] เมื่อไร เราจักตัดกามสังโยชน์ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ได้เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(เมื่อพระมหาชนกทรงรำพึงอย่างนี้แล้ว ทรงถือเพศบรรพชา เสด็จลงจาก ปราสาทไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเสียงคร่ำครวญของสตรีเหล่านั้นว่า) [๒๔๐] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ต่างประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน [๒๔๑] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ ร้องคร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน [๒๔๒] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น ล้วนเป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉันเสีย [๒๔๓] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ถูกพระราชาทรงละทิ้งไว้แล้ว เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช [๒๔๔] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช [๒๔๕] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช [๒๔๖] ทรงละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ จำหลักลวดลายตั้งร้อย ทรงอุ้มบาตรดิน นั้นเป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(พระนางสีวลีกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า) [๒๔๗] เปลวไฟน่ากลัว ไหม้ท้องพระคลังตามลำดับ คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มากมาย [๒๔๘] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ผ้า จันทน์เหลือง หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็กเป็นอันมากที่ไฟไหม้ ข้าแต่พระราชา มาเถิดพระเจ้าข้า เชิญพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิด พระราชทรัพย์ของพระองค์อย่าได้พินาศเสียหายเลย (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๔๙] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญ เรามิได้มีอะไรจะไหม้ (พระนางสีวลีกราบทูลว่า) [๒๕๐] พวกโจรป่าเกิดขึ้น ปล้นแคว้นของพระองค์ มาเถิดพระเจ้าค่ะ ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับเถิด แคว้นนี้อย่าได้พินาศเสียหายเลย (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๕๑] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ เมื่อแคว้นถูกพวกโจรปล้น เรามิได้มีอะไรจะให้ปล้นเลย [๒๕๒] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ เราจักมีปีติเป็นอาหารเหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหม๑- @เชิงอรรถ : @ เหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหมมีปีติเป็นอาหารให้เวลาผ่านไปด้วยความสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๕๑/๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(นารทดาบสกล่าวว่า) [๒๕๓] เสียงอึกทึกกึกก้องอะไรกันนั่น ใครกันหนอเล่นกันเหมือนอยู่ในบ้าน ท่านสมณะ อาตมภาพขอถาม มหาชนนั้นติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๕๔] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามาในที่นี้ ผู้ล่วงเขตแดนคือกิเลสไป เพื่อบรรลุถึงโมเนยยธรรม คือญาณของพระมุนี แต่ยังเจือปนด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่ พระคุณเจ้าก็รู้อยู่จะถามไปทำไม (นารทดาบสกล่าวว่า) [๒๕๕] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระ (เพศนักบวช) นี้ อย่าได้เข้าพระทัยว่า “เราข้ามเขตแดนคือกิเลสแล้ว” กรรมคือกิเลสนี้จะพึงข้ามได้ด้วยเพศแห่งบรรพชิตก็หาไม่ เพราะอันตรายทั้งหลายยังมีอยู่มาก (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๕๖] อันตรายอะไรหนอ จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (นารทดาบสกล่าวว่า) [๒๕๗] อันตรายเป็นอันมากทีเดียว คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความเหนื่อยหน่าย ความเมาอาหารที่มีอยู่ในสรีระของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๕๘] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ (นารทดาบสกล่าวว่า) [๒๕๙] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ โดยโคตรว่า กัสสปะ อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี [๒๖๐] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด [๒๖๑] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม๑- และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด [๒๖๒] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน [๒๖๓] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๖๔] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ พระญาติอะไรๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหนๆ โดยอธรรมเลย แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม @เชิงอรรถ : @ คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ @คำว่า ธรรม ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๖๑/๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๖๕] ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสกัดกร่อน ถูกกิเลสทำให้เป็นดุจเปือกตม จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นจำนวนมากย่อมเดือดร้อน และย่อมถูกฆ่า ในกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ นะท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ (นารทดาบสกล่าวว่า) [๒๖๖] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกธรรมคำสั่งสอนพระองค์ คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร ท่านผู้เป็นจอมทัพ เพราะบอกเจาะจงถึงดาบสผู้เป็นกรรมวาที หรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา นักปราชญ์ไม่เรียกผู้ประพฤติวัตรว่า เป็นสมณะ เหมือนการก้าวล่วงทุกข์ได้เลย [๒๖๗] ท่านผู้ครองหนังสัตว์ แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะหรือพราหมณ์โดยส่วนเดียว แต่ไม่เคยเข้าไปใกล้ไต่ถามอะไรๆ ในกาลไหนๆ เลย (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๖๘] ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสิริไปยังพระราชอุทยาน ด้วยอานุภาพใหญ่ ขณะที่เพลงขับที่เขาขับร้อง ดนตรีที่ไพเราะกำลังบรรเลงอยู่ [๒๖๙] ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงที่กำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง ถูกพวกมนุษย์ผู้ที่ต้องการผลฟาดอยู่ ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๗๐] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์ ข้าพเจ้านั้นละทิ้งสิรินั้นเสียแล้วลงจากยาน เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงทั้งที่มีผลและไม่มีผล [๒๗๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วง อันมีผลถูกฟาดกระจัดกระจายย่อยยับ ส่วนมะม่วงอีกต้นหนึ่งสีเขียวชะอุ่มน่าพอใจ [๒๗๒] ศัตรูทั้งหลายจักกำจัดแม้พวกเรา ผู้เป็นอิสระ ผู้มีเสี้ยนหนามมาก เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว [๒๗๓] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีที่อยู่ ที่ไม่มีความคุ้นเคย ต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผลทั้ง ๒ ต้นนั้นเป็นครูของข้าพเจ้า (พระนางสีวลีกราบทูลว่า) [๒๗๔] ชนทั้งปวง คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ ต่างก็ตกใจว่า พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว [๒๗๕] ขอพระองค์ได้ทรงปลอบชุมชนให้เบาใจ ทรงวางหลักปกครอง ทรงอภิเษกพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติแล้ว จึงจักทรงผนวชในภายหลัง (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๗๖] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติทั้งหลายแล้ว พระราชโอรสของชาวแคว้นวิเทหะ และคนผู้มีอายุยืน ผู้จักผดุงรัฐให้เจริญก็มีอยู่ เธอเหล่านั้นจักครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา นะปชาบดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

[๒๗๗] จงมาเถิด เราจะตามสอนเธอด้วยวาจาที่ชอบ เธอจะไปสู่ทุคติด้วยกาย วาจา และใจ เพราะบาปใด เมื่อเธอครองราชสมบัติก็จักทำบาปทุจริตนั้นเป็นอันมาก [๒๗๘] ผู้ที่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่นนี้ นั่นเป็นธรรมของนักปราชญ์ (พระนางสีวลีกราบทูลว่า) [๒๗๙] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้คนใดไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔ ๑- จะพึงตายอย่างน่าอนาถเพราะความหิว กุลบุตรผู้ฉลาดนั้นก็ไม่พึงบริโภคก้อนข้าว ที่เปื้อนฝุ่น ซึ่งไม่ดีมิใช่หรือ กิริยาของพระองค์นี้ไม่ดี ไม่งามเลย ข้าแต่พระชนก พระองค์พึงเสวยก้อนเนื้อที่เป็นเดนสุนัข (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๘๐] พระนางสีวลี บิณฑบาตใด เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือน หรือสุนัขสละแล้ว บิณฑบาตนั้นชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมภาพก็หามิได้ ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ได้มาโดยธรรม ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ (พระโพธิสัตว์ตรัสกับเด็กหญิงว่า) [๒๘๑] กุมาริกาผู้นอนแนบมารดา ผู้ประดับอยู่เป็นนิตย์ เพราะเหตุไร กำไลมือข้างหนึ่งของเธอจึงมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง @เชิงอรรถ : @ คำว่า ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔ พระนางสีวลีตรัสหมายถึงว่า ถ้าบุคคลเราไม่บริโภคอาหาร @มื้อสุดท้าย จะพึงตายไปเพราะความหิว ผู้นั้นพึงเป็นสัตบุรุษเชื้อสายกุลบุตร จึงไม่พึงเสวยอาหารนั้น @เพราะทรงรังเกียจเนื้อที่เป็นเดนสุนัขที่พระมหาชนกนำมาย่างเสวย (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๗๙/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(เด็กหญิงกราบทูลว่า) [๒๘๒] ท่านสมณะ กำไลมือ ๒ วงที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้ เพราะทั้ง ๒ วงกระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง คติของคน ๒ คนก็เป็นเช่นนี้ [๒๘๓] ท่านสมณะ กำไลมือวงหนึ่งที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้ ไม่มีอันที่ ๒ จึงไม่มีเสียงดังเหมือนมุนีสงบนิ่งอยู่ [๒๘๔] คนมีคู่จึงถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด (พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า) [๒๘๕] พระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ นางกุมาริกาเป็นสาวใช้มาติเตียนเรา มันเป็นคติของคนคู่เท่านั้น [๒๘๖] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้ เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว บรรดาทางทั้ง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง [๒๘๗] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ ตรัสข้อความนี้แล้วต่างก็เสด็จเข้าไปยังถูณนคร [๒๘๘] เมื่อจวนเวลาอาหาร พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ ณ ซุ้มประตูของช่างศร และ ณ ที่นั้น ช่างศรนั้นหลับตาลงข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด ซึ่งตนดัดให้ตรงด้วยตาอีกข้างหนึ่ง (พระโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๒๘๙] ช่างศร ท่านจงฟังอาตมภาพ ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์หรือหนอ ที่ท่านหลับตาข้างหนึ่งลง เล็งดูลูกศรที่คดด้วยตาอีกข้างหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๒. มหาชนกชาดก (๕๓๙)

(ช่างศรกราบทูลว่า) [๒๙๐] ท่านสมณะ การเล็งดูด้วยตาทั้ง ๒ ย่อมปรากฏกว้างไป เพราะเห็นไม่ถึงส่วนที่คดข้างหนึ่ง การดัดให้ตรงจึงไม่สำเร็จ [๒๙๑] แต่เมื่อหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูส่วนที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง เพราะเห็นส่วนที่คดข้างหน้า การดัดให้ตรงจึงสำเร็จได้ [๒๙๒] คนที่มีคู่จึงวิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใคร ท่านนั้นปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด (พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า) [๒๙๓] พระนางสีวลี เธอได้ยินคำที่ช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง คนใช้มาติเตียนเรา นั้นเป็นคติของคนคู่เท่านั้น [๒๙๔] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้ เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว บรรดาทาง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง [๒๙๕] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว๑- เธอจงอยู่คนเดียวเถิด พระนางสีวลี
มหาชนกชาดกที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึงหญ้ามุงกระต่ายเส้นเล็กๆ ที่พระองค์ @ถอนขึ้นมาแล้วดึงให้ขาดจากกัน ใครๆ ไม่สามารถต่อกันได้ เป็นการเตือนว่า พระองค์ไม่ปรารถนาจะ @อยู่ร่วมกับพระเทวีอีก เป็นการห้ามไม่ให้ตามไป (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๕/๑๑๑-๑๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๐๒-๒๒๘. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=28&siri=14              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2871&Z=3200                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=442              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=442&items=40              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1078              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=442&items=40              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1078                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja539/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :