ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน

๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๗๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน มีหมู่เทวดาห้อมล้อมประทับอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ [๓๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญานาคมีนามว่าวรุณ เนรมิตรูปได้ตามที่ต้องการ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่ [๓๗๗] ข้าพเจ้าละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารประจำ ให้เริ่มบรรเลงดนตรี ในครั้งนั้น หมู่นางนาคแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พากันประโคมดนตรี [๓๗๘] เมื่อดนตรีประโคมอยู่ เหล่าเทวดาก็ประโคมดนตรี พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงดนตรีของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วก็ทรงทราบ [๓๗๙] ข้าพเจ้านิมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑- แล้วเข้าไปยังภพของตน ปูลาดอาสนะ แล้วจึงกราบทูลเวลา [๓๘๐] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป แวดล้อม (ทรงเปล่งรัศมี) ทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เสด็จเข้าไปยังภพของข้าพเจ้า [๓๘๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าอังคาสพระผู้มีพระภาค ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้องอาจกว่านรชน และหมู่ภิกษุให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ @เชิงอรรถ : @ หมายรวมถึงหมู่พระสาวกด้วย เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๙/๒๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน

[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๓๘๓] บุคคลใดได้บูชาพระสงฆ์ และได้บูชาพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น บุคคลนั้นจักไปเกิดยังเทวโลก [๓๘๔] จักครองเทวสมบัติ ๗๗ ชาติ จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ [๓๘๕] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ชาติ โภคสมบัตินับจำนวนไม่ถ้วนจักเกิดขึ้นแก่เขาในขณะนั้น [๓๘๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๓๘๗] เขาจุติจากนรกแล้วจักมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าโกลิตะ [๓๘๘] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักบวชเป็นสาวกองค์ที่ ๒ ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๓๘๙] เป็นผู้บำเพ็ญเพียร๑- มีใจเด็ดเดี่ยว(เพื่อนิพพาน) ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน [๓๙๐] (พระเถระครั้นกล่าวคำพยากรณ์ที่ตนได้รับแล้ว เมื่อจะประกาศความประพฤติชั่วจึงกล่าวว่า) ข้าพเจ้าคลุกคลีมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ มีใจโกรธเคือง ได้ฆ่ามารดาและบิดาเสียแล้ว @เชิงอรรถ : @ ผู้บำเพ็ญเพียร หมายถึงมีความเพียรในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๘๙/๒๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน

[๓๙๑] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใดๆ คือ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม เพราะเป็นผู้มากด้วยความชั่ว ข้าพเจ้าจึงถูกทุบศีรษะตาย [๓๙๒] นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่ กรรมเช่นนี้จักปรากฏแก่ข้าพเจ้าในเวลาจะตายแม้ในชาตินี้ [๓๙๓] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบความสงัด ยินดีในการเจริญสมาธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๙๔] (เมื่อพระเถระจะประกาศผลแห่งความประพฤติในก่อน จึงกล่าวว่า) ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ พึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าข้างซ้าย เขี่ยแผ่นดินซึ่งทั้งลึกทั้งหนาที่อะไรๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวได้ [๓๙๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นอัสมิมานะ(ถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ข้าพเจ้าไม่มีความถือตัว ข้าพเจ้ากระทำจิตให้มีความเคารพ แม้กระทั่งสามเณร [๓๙๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญกรรมใดไว้ ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมินั้น๑- แล้วบรรลุความสิ้นอาสวะ [๓๙๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ ฉะนี้
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ ภูมินั้น หมายถึงสาวกภูมิ ซึ่งหมายถึงบรรลุพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๙๖/๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๕๙-๖๑. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=32&siri=4              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=676&Z=717                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=4              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=4&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=7155              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=4&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=7155                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap4/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :