ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

๕. อุปสีวเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปสีวเถระ
(พระอุปสีวเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๐๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออโนมะ เขาได้สร้างอาศรมและสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า [๑๐๑] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลอยู่ มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ มีกอปทุมและกออุบลจำนวนมาก เกิดอยู่ที่ท่าน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ [๑๐๒] ในแม่น้ำนั้น ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน แม่น้ำมีปลาและเต่าชุกชุมไหลอยู่เสมอ [๑๐๓] มีต้นดีหมี ต้นอโศก ต้นเข็ม ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วอาศรมของข้าพเจ้า [๑๐๔] มีต้นอัญชันเขียว ต้นมะลิซ้อน ต้นสาละ ต้นช้างน้าว ต้นจำปา ขึ้นอยู่เป็นหมู่ๆ มากด้วยกัน มีดอกบานสะพรั่ง [๑๐๕] ต้นรกฟ้าขาว ต้นลำดวน ต้นกระท้อน ต้นประดู่ และต้นมะซางหอม มีดอกบานสะพรั่งมีอยู่ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๐๖] ต้นราชพฤกษ์ ต้นหงอนไก่ ต้นคัดเค้า ต้นประยงค์ ต้นมะกล่ำหลวง มีอยู่ดาษดื่นโดยรอบตลอดกึ่งโยชน์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๐๗] ต้นโพธิ์ ต้นชบาซ้อน ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย ต้นปรู ต้นงิ้ว มีดอกบานสะพรั่ง มีอยู่มาก ใกล้แม่น้ำนั้น ต้นกำยาน มีดอกบานสะพรั่ง มีอยู่มากใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น [๑๐๘] เมื่อต้นไม้เหล่านี้มีดอก ต้นไม้จำนวนมากก็งาม อาศรมของข้าพเจ้าโดยรอบ หอมตลบไปด้วยกลิ่นดอกไม้นั้น [๑๐๙] มีต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม และต้นมะปราง มีผลมาก ในที่นั้น [๑๑๐] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด ต้นมะซาง ต้นหมากเม่า ต้นขนุนสำปะลอ ต้นขนุน ต้นกล้วย ต้นจันทน์ มีผลมาก ในที่นั้น [๑๑๑] ต้นมะกอกและต้นเครือเถา มีผลมากในที่นั้น และเผล็ดผลมีรสหวานทุกฤดูกาล อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๑๒] ถั่วดำ ถั่วเหลือง มีฝักดกมาก ต้นไทรย้อย และต้นไม้เลียบ ต้นมะเดื่อ มีผลสุกงอมเต็มต้น [๑๑๓] ดีปลี พริก ต้นไทร ต้นมะขวิด ต้นมะเดื่อ มีผลสุกงอมมากเต็มต้นใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น [๑๑๔] ต้นไม้เหล่านี้และชนิดอื่นอีกมาก กำลังมีผลใกล้อาศรมของข้าพเจ้า แม้ไม้ดอกก็มีมาก มีดอกบานสะพรั่งใกล้อาศรมของข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๑๕] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หอม กระเทียม และคนทา อาลกา ต้นตาล มีอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๑๖] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า มีสระใหญ่ธรรมชาติสระหนึ่ง มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ [๑๑๗] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาบ สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเผื่อน ลมพัดพากลิ่นหอมต่างๆ โชยมา [๑๑๘] ปทุมบางกอ มีดอกตูม บางกอมีดอกบาน บางกอมีเกสรร่วงหล่น คงมีแต่ฝักบัวจำนวนมาก [๑๑๙] น้ำหวานไหลออกจากก้านบัว นมสดและเนยใสไหลออกจากเหง้าบัว อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่างๆ ด้วยกลิ่นหอมนั้นโดยรอบ [๑๒๐] ต้นโกมุท ต้นจงกลนี และต้นตาเสือ ปรากฏมีมากที่ใกล้ขอบสระธรรมชาติ ต้นการะเกดจำนวนมากก็มีดอกบานสะพรั่ง [๑๒๑] ต้นชบามีดอกบานสะพรั่ง สาหร่ายมีกลิ่นหอม จระเข้ ตะโขง นาก เกิดอยู่ในสระนั้น [๑๒๒] ในสระนั้นมีงูหลาม งูเหลือม ปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน จำนวนมาก [๑๒๓] มีปลา เต่า และตะพาบน้ำ นกพิราบ นกเป็ดน้ำ นกกวัก นกกาน้ำ ชุกชุม [๑๒๔] นกต้อยตีวิด นกจักรพาก นกช้อนหอย นกโพระดก กระแต นกเขา เหยี่ยว และนาก มีอยู่มาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๒๕] สุนัขจิ้งจอก ลูกนกแขกเต้า ไก่ป่า จามรี มีอยู่มาก กา เหยี่ยว และเสือดาว ก็อาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต [๑๒๖] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว ลิง กินนร ปรากฏอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๒๗] ข้าพเจ้าสูดกลิ่นหอมเหล่านั้น บริโภคผลไม้ และดื่มน้ำหอม อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า [๑๒๘] ฝูงเนื้อทราย ฝูงสุกร ฝูงเนื้อฟาน นกเขาชวา นกเขาไฟ และนกกะปูด อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๒๙] หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกสาลิกา นกดุเหว่า นกเค้าแมว นกแสก นกหัวขวาน มีอยู่มากในที่นั้น [๑๓๐] พวกปีศาจทานพ (อสูร) กุมภัณฑ์ ผีเสื้อน้ำ ครุฑ งูมีมาก อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๑๓๑] ฤๅษีทั้งหลาย มีอานุภาพมาก มีจิตสงบ มีใจมั่นคง ทั้งหมดล้วนถือคนโทน้ำ นุ่งห่มหนังสัตว์ เพียบพร้อมด้วยชฎาและบริขาร อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า [๑๓๒] ฤๅษีเหล่านั้น ทอดตาดูประมาณชั่วแอก มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ สันโดษตามมีตามได้ อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า [๑๓๓] ฤๅษีเหล่านั้น สลัดผ้าคากรอง เคาะหนังสัตว์อาศัยพลังของตน เหาะไปได้ในอากาศ ในครั้งนั้น [๑๓๔] ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำน้ำหรือฟืนสำหรับก่อไฟมา สิ่งเหล่านั้นสมบูรณ์ขึ้นเอง นี้เป็นผลแห่งปาฏิหาริย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๓๕] ฤๅษีเหล่านั้นนำรางเหล็กมา อยู่ท่ามกลางป่า เปรียบเหมือนช้างกุญชรมหานาค (และ) พญาราชสีห์ผู้ไม่ครั่นคร้ามฉะนั้น [๑๓๖] ฤๅษีเหล่านั้นทราบกำลังของตนแล้ว พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป [๑๓๗] ฤๅษีเหล่านั้น ต่างนำอาหาร จากทวีปนั้นๆ มาบริโภคร่วมกัน เมื่อฤๅษีเหล่านั้นผู้มีเดชแผ่ไป ผู้คงที่ ทั้งหมดหลีกไปอยู่ [๑๓๘] เพราะเสียงหนังสัตว์ของพวกฤๅษี ป่าย่อมมีเสียงดังลั่นในครั้งนั้น ข้าแต่พระมหาวีระ พวกศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้น มีตบะแก่กล้าเช่นนี้ [๑๓๙] ข้าพเจ้ามีฤๅษีเหล่านั้นแวดล้อม อยู่ในอาศรมของตน ฤๅษีเหล่านั้น แม้ถูกแนะนำแล้ว ก็ยินดีด้วยกรรมของตน มาประชุมพร้อมกันแล้ว [๑๔๐] ฤๅษีเหล่านั้น เพลิดเพลินในกรรมของตน เป็นผู้มีศีล มีปัญญารักษาตน และฉลาดในอัปปมัญญา ให้ข้าพเจ้ายินดี [๑๔๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ ทรงทราบถึงการประชุมแล้วเสด็จเข้ามาใกล้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๔๒] ครั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้เอง ผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เป็นพระมุนี จึงประคองบาตร แล้วเสด็จเข้ามาเพื่อภิกษา [๑๔๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จเข้ามา จึงปูลาดเครื่องลาดหญ้าแล้วโปรยด้วยดอกสาละ [๑๔๔] ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งแล้ว ทั้งดีใจและสลดใจ ได้รีบขึ้นไปบนภูเขา แล้วนำกฤษณามา [๑๔๕] ได้เก็บขนุนที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นทิพย์ ผลโตประมาณเท่าหม้อ ยกขึ้นคอแบกมา เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ [๑๔๖] ได้ถวายผลขนุนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ใช้กฤษณาไล้ทา ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้กราบไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด [๑๔๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ฤๅษี ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๑๔๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายผลขนุน กฤษณา และอาสนะแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๑๔๙] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม โภชนาหารดังจะรู้จิตของผู้นี้ จักบังเกิดขึ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๕. อุปสีวเถราปทาน

[๑๕๐] คนผู้นี้บังเกิดในเทวโลกหรือในมนุษยโลกก็ตาม จักให้บริษัทอิ่มเอิบด้วยโภชนาหารและผ้า [๑๕๑] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ในกำเนิดนั้น จักมีโภคะนับไม่ถ้วนเวียนว่ายตายเกิดไป [๑๕๒] จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ [๑๕๓] จักครองเทวสมบัติ ๗๑ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน [๑๕๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๑๕๕] ผู้นี้จักมีนามว่าอุปสีวะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๑๕๖] การที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๕๗] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม โภชนาหารดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า ย่อมมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๖. นันทกเถราปทาน

[๑๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๕๙] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอุปสีวเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปสีวเถราปทานที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๖๘-๖๗๕. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=32&siri=407              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=9060&Z=9157                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=407              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=407&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5427              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=407&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5427                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap407/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :