ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๙. นารทพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระนารทพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ตามพระโคตร ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีบุคคลเปรียบ [๒] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระเชษฐโอรส ที่ทรงโปรดปรานของพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงสวมใส่อาภรณ์แก้วมุกดา เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

[๓] ในพระราชอุทยานนั้น มีต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาร่มครึ้มสวยงาม พระองค์เสด็จถึงท่ามกลางพระราชอุทยานนั้นแล้ว ประทับนั่งภายใต้ต้นอ้อยช้างใหญ่ [๔] ณ ที่นั้น เกิดพระญาณอันประเสริฐหาที่สุดมิได้ เปรียบด้วยเพชร ทรงพิจารณาสังขาร และพิจารณาสังขารว่าเป็นสภาวะที่เปิดเผย และที่ปกปิด ด้วยพระญาณนั้น [๕] ทรงลอยกิเลสทั้งปวงได้โดยไม่เหลือในที่นั้นเอง ทรงบรรลุพระโพธิญาณทั้งสิ้นและพระพุทธญาณ ๑๔ ๑- [๖] ครั้นทรงบรรลุสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๗] ในกาลนั้นพระมหามุนีทรงกำราบพญานาค ผู้มีลำตัวเท่าเรือโกลนขนาดใหญ่ ได้ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ให้มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกได้เห็นพร้อมกัน [๘] ในกาลที่ทรงประกาศพระธรรมแก่เทวดาและมนุษย์ ครั้งนั้น เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ข้ามความสงสัยทั้งปวงได้ [๙] ในกาลเมื่อพระมหาวีระตรัสสอนพระราชโอรสของพระองค์ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ @เชิงอรรถ : @ พุทธญาณ ๑๔ ได้แก่ มรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕/๒๖๘-๒๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

[๑๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง สาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ [๑๑] ในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธคุณ พร้อมด้วยเหตุ สาวกผู้ปราศจากมลทิน ประมาณ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน [๑๒] ในกาลที่เวโรจนนาคราชถวายทานแด่พระศาสดา สาวกของพระชินเจ้าประมาณ ๘๐ ล้าน มาประชุมกัน [๑๓] สมัยนั้น เราเป็นชฎิลผู้มีตบะแก่กล้า สำเร็จอภิญญา ๕ เหาะไปในอากาศได้ [๑๔] แม้ครั้งนั้น เราก็ได้อังคาสพระศาสดา หาผู้เสมอเหมือนมิได้พร้อมทั้งพระสงฆ์ และบริวารชนให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำแล้ว ได้บูชาด้วยไม้จันทน์หอม [๑๕] ครั้งนั้น แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ พระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ‘ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก’ พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๖] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๗] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำใจให้ยินดีอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๘] กรุงชื่อว่าธัญญวดี กษัตริย์พระนามว่าสุเทพ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าอโนมา เป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๙] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือชิตปราสาท วิชิตปราสาท และอภิรามปราสาท [๒๐] มีนางสนมกำนัล ๔๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าวิชิตเสนา พระราชโอรสพระนามว่านันทุตตระ [๒๑] พระองค์ผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยการเดินเท้า บำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๙. นารทพุทธวงศ์

[๒๒] พระมหาวีระพระนามว่านารทะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ พระอุทยานธนัญชะอันประเสริฐ [๒๓] พระภัททสาลเถระและพระชิตมิตตเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าวาเสฏฐะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๔] พระอุตตราเถรีและพระผัคคุนีเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอ้อยช้างใหญ่ [๒๕] อุคครินทอุบาสกและวสภอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก อินทวรีอุบาสิกาและคัณฑีอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๖] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก ทรงงดงามดังทองคำที่ล้ำค่า ทำหมื่นจักรวาลให้สว่างไสว [๒๗] พระองค์ทรงมีพระวรกายมีรัศมีวาหนึ่ง พระรัศมี(นั้น) แผ่ซ่านไปทั่วทิศ ติดกันไปตลอดโยชน์หนึ่ง ทั้งกลางวันและกลางคืนทุกเมื่อ(ที่ต้องการ) [๒๘] ขณะนั้น ในระยะโยชน์หนึ่งโดยรอบ ใครๆ ไม่ต้องจุดคบเพลิงหรือประทีป(เพราะ)พระพุทธรัศมีแผ่ไปทั่ว [๒๙] สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๙๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๓๐] ศาสนาของพระองค์งดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย เหมือนท้องฟ้างามวิจิตรด้วยหมู่ดาว [๓๑] พระผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นั้น ทรงสร้างสะพานคือธรรมไว้อย่างมั่นคง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์

สำหรับให้คนผู้ปฏิบัติที่เหลือ๑- เดินข้ามกระแสสังสารวัฏแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพาน [๓๒] แม้พระพุทธเจ้าหาผู้เสมอเหมือนมิได้พระองค์นั้น และพระขีณาสพผู้มีเดชหาอะไรเทียบมิได้เหล่านั้น ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๓๓] พระนารทชินเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สุทัสสนนคร พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ ที่สุทัศนนครนั้นสูง ๔ โยชน์ ฉะนี้แล
นารทพุทธวงศ์ที่ ๙ จบ
๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ได้มีพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ ไม่หวั่นไหว เปรียบด้วยสมุทรสาคร [๒] ก็กัปที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นนั้น เป็นมัณฑกัป(กัปที่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ๒ พระองค์) หมู่ชนผู้มีกุศลมากได้เกิดขึ้นในกัปนั้น [๓] ในคราวที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงแสดงธรรมครั้งแรก เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม @เชิงอรรถ : @ คนผู้ปฏิบัติที่เหลือ ในที่นี้ได้แก่ เสกขบุคคลกับกัลยาณปุถุชน (ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๑/๒๗๔-๒๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๓๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๓๓-๖๓๙. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=201              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7659&Z=7719                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=190              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=190&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5908              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=190&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5908                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :