ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระกัสสปพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงเป็นธรรมราชา มีพระรัศมี [๒] ทรัพย์อันเป็นมรดกของตระกูล ที่สัตว์เป็นอันมากบูชากัน พระองค์ทรงสละให้ทานแก่พวกยาจก @เชิงอรรถ : @ ยกธรรมเจดีย์ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ @อันประดับด้วยแผ่นผ้า หมายถึงประดับด้วยอริยสัจ ๔ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๗/๓๗๗) @ ศิริธรรม ได้แก่ โลกุตตรธรรม (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๘/๓๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

ทำจิตให้เต็ม ทำลายกิเลสดังคอก เหมือนโคอุสภะทำลายคอก ฉะนั้นแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ [๓] เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระผู้นำสัตว์โลก ประกาศพระธรรมจักร เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๒๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๔] ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโลกตลอด ๔ เดือน เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ [๕] ในคราวเมื่อพระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ประกาศพระญาณธาตุ๑- เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๕,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๖] พระชินเจ้าทรงแสดงธรรมที่สุธรรมเทพนคร ที่รื่นรมย์นั้น ทรงทำให้เทวดาประมาณ ๓,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม [๗] ในคราวที่ทรงแสดงธรรมแก่ยักษ์นรเทพ อีกครั้งหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นได้บรรลุธรรมคำนวณนับไม่ได้ [๘] แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพพระองค์นั้น ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ครั้งเดียว [๙] ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป ผู้ล่วงภพ ผู้คงที่ด้วยหิริและศีล มาประชุมกัน [๑๐] ครั้งนั้น เราเป็นมาณพมีชื่อปรากฏว่าโชติปาละ คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท @เชิงอรรถ : @ พระญาณธาตุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕/๓๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

[๑๑] ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะและคัมภีร์อิติหาสะ เป็นผู้ฉลาดในวิชาดูพื้นที่และอากาศ เป็นผู้ใช้วิชา ไม่มีทุกข์ [๑๒] ฆฏิการอุบาสก ผู้เป็นอุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้มีความเคารพยำเกรง เป็นพระอนาคามี [๑๓] ฆฏิการอุบาสกได้พาเราเข้าเฝ้าพระชินเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วจึงบวชในสำนักของพระองค์ [๑๔] เราเป็นผู้ปรารภความเพียร ฉลาดในวัตรน้อยวัตรใหญ่ ไม่เสื่อมในที่ไหนๆ๑- ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ของพระชินเจ้าอย่างสมบูรณ์ [๑๕] เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วทุกอย่าง ช่วยประกาศพระศาสนาของพระชินเจ้าให้งดงาม [๑๖] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเห็นความอัศจรรย์ของเราแล้ว จึงทรงพยากรณ์เราว่า ‘ในภัทรกัปนี้ ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’ [๑๗] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา [๑๘] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา [๑๙] พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว @เชิงอรรถ : @ ไม่เสื่อมในที่ไหนๆ หมายถึงไม่เสื่อมในศีล สมาธิ และสมาบัติเป็นต้น (ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

[๒๐] จากนั้นพระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๒๑] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม [๒๒] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ [๒๓] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรีผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๒๔] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกาจักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี [๒๕] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ [๒๖] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

[๒๗] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคต [๒๘] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด [๒๙] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๓๐] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๓๑] เราระลึกถึงพุทธพยากรณ์อย่างนี้แล้ว งดเว้นความประพฤติเสียหาย ข้าพเจ้าทำกรรมที่ทำได้ยาก เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น [๓๒] กรุงชื่อว่าพาราณสี กษัตริย์พระนามว่ากิกี ตระกูลใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในนครนั้น [๓๓] พรหมทัตตพราหมณ์นั้นเป็นพุทธบิดา นางพราหมณีชื่อว่าธนวดีเป็นมารดา ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๓๔] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๒,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือหังสปราสาท ยสปราสาท และสิริจันทปราสาท [๓๕] มีนางสนมกำนัล ๔๘,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

พระมเหสีพระนามว่าสุนันทา พระราชโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ [๓๖] พระองค์เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกจากปราสาทไปผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน (จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๓๗] พระมหาวีระพระนามว่ากัสสปะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้สูงสุดแห่งนรชน ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน [๓๘] พระติสสเถระและพระภารทวาชเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าสรรพมิตตะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๓๙] พระอนุลาเถรีและพระอุรุเวลาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นไทร [๔๐] สุมังคลอุบาสกและฆฏิการอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก วิชิตเสนาอุบาสิกาและภัททาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๔๑] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๒๐ ศอก มีพระรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้าในอากาศ ดุจดวงจันทร์ทรงกลด [๔๒] พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงมีพระชนมายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์

[๔๓] ทรงสร้างสระน้ำคือธรรมไว้ ทรงประทานเครื่องลูบไล้คือศีล ทรงจัดผ้าคือธรรมไว้๑- เป็นเครื่องนุ่งห่ม ทรงแจกพวงมาลัยคือธรรม๒- [๔๔] ทรงตั้งกระจกเงาที่ไร้มลทินคือธรรมไว้๓- ให้มหาชน ด้วยทรงหวังว่า ชนบางพวกปรารถนานิพพาน จงเห็นเครื่องประดับของเรา [๔๕] ทรงประทานเสื้อคือศีล๔- เกราะหนังคือฌาน ทรงจัดหนังคือธรรมไว้๕- คลุมกาย และเครื่องผูกสอด๖- อย่างดีเลิศ [๔๖] ทรงประทานโล่คือสติปัฏฐาน ๔ หอกคือญาณอันคมกล้า ดาบอย่างดี๗- คือธรรม และศาสตราวุธเครื่องย่ำยีศัตรูคือศีลไว้ให้ [๔๗] ประทานภูษาคือวิชชา ๓ พวงมาลัยสำหรับสวมศีรษะคือผล ๔ เครื่องอาภรณ์คืออภิญญา ๖ และดอกไม้เครื่องประดับคือพระธรรม [๔๘] ร่มขาว๘- คือพระสัทธรรมอันเป็นเครื่องป้องกันบาป ทรงเนรมิตดอกไม้๙- คือความไม่มีเวรภัยไว้ให้เสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน @เชิงอรรถ : @ ทรงจัดผ้าคือธรรมไว้ หมายถึงหิริและโอตตัปปะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ ทรงแจกพวงมาลัยคือธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ กระจกเงาที่ไร้มลทินคือธรรมไว้ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ ทรงประทานเสื้อคือศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ จตุปาริสุทธิศีล (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ หนังคือธรรมไว้ หมายถึงสติสัมปชัญญะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ เครื่องผูกสอด หมายถึงความเพียร (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ ดาบอย่างดี หมายถึงมรรคปัญญา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗) @ ร่มขาว หมายถึงวิมุตติ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๘) @ ดอกไม้ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์

[๔๙] แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีคุณหาประมาณมิได้ กระทบกระทั่งได้ยาก พระธรรมรัตนะนี้ตรัสไว้ดีแล้ว ควรเรียกให้มาดู [๕๐] พระสังฆรัตนะผู้ปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า พระรัตนะทั้ง ๓ นี้ ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๕๑] พระชินศาสดาพระนามว่ามหากัสสปะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสตัพยาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น ที่เสตัพยารามนั้น สูงถึง ๑ โยชน์ ฉะนี้แล
กัสสปพุทธวงศ์ที่ ๒๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๗๑๑-๗๑๘. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=216              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8446&Z=8516                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=205              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=205&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8375              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=205&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8375                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :